อย่าควานหาอะไรในที่มืด
จะตึ๋งหนืดฝืดใจไม่ไปไหน
หัวจะมึนตาจะมัวสลัวใน
ไม่แจ่มใสใจไม่หยุดหงุดหงิดฟรี
เหมือนคั้นนํ้าจากหินหรือดินเหนียว
จะแห้งเหี่ยวหัวโตหมดราศี
เลิกเถิดนะอย่าทำลูกคนดี
ทำตามที่พ่อแนะนำฉ่ำใจเอย
ตะวันธรรม
วิธีแก้ กดลูกนัยน์ตา
ศุกร์ที่
๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ / เสาร์ที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 1 |EP.20| : วิธีแก้กดลูกนัยน์ตา - YouTube
ทีนี้สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการเอาลูกนัยน์ตากดลงไปดูในท้อง
เพราะว่ารักษากฎเกณฑ์มากเกินไปว่า จะต้องทำอย่างนี้
ผิดจากนี้มีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ แต่วิธีการมองทำไม่เป็น ก็กดลูกนัยน์ตาไปดู ทำให้ตึงเครียดขึ้นในระบบประสาทและกล้ามเนื้อตึงไปหมด
#สายตึง
พอตึงเครียดเข้า นั่งก็เมื่อย ไม่มีความสุข ออกมาก็ไม่สบายเหนื่อย
เมื่อย ยิ่งได้ยินคนอื่นเขานั่งแล้วได้ผล ยิ่งกลุ้มใจ บางครั้งก็น้อยใจว่า
เราคงไม่มีบุญวาสนาในการเข้าถึงธรรมแน่ แต่น้อยใจก็ยังทำอยู่ด้วยวิธีการเดิม เกร็งๆ
เครียดๆ
เพราะฉะนั้นถ้าหากติดตรงนี้มาหลายปีนะ ให้ทิ้งกฎเกณฑ์ทั้งหมดไปก่อน
ลืมไปเลยว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ตรงไหน ลืมไปก่อนนะลูกนะ ลืมไปเลย
ไม่ผิดวิธีหรอก หลวงพ่ออยู่ทั้งคน
เดี๋ยวจะตะล่อมให้เข้ากลางให้ได้ ไม่ต้องกลัว ลืมไปเลย
หลับตาให้สบายๆ
ไม่นึกว่าเราจะเห็นอะไร ไม่คิดอะไรทั้งสิ้น คลี่คลายระบบประสาทของเราเสียก่อนสบายๆ
ใจไปอยู่ตรงไหนก็ช่างมัน แล้วให้มันนิ่งๆ นุ่มๆ สบายๆ จะอยู่ตรงไหนก็ได้
ไม่ผิดวิธีนะลูกนะ ให้มันสบายๆ ซะก่อน
แล้วก็สมมติว่า
ขอบฟ้าทั้งหมดรอบตัวเรากลมๆ นั่นแหละ คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
และตัวเราใสเหมือนกับเพชรอยู่กลางพอดีเลย คิดเพียงแค่นี้คิดทีเดียว อย่าลืมนะ คิด
๑ ที หรือทีเดียว แล้วก็นั่ง เฉยๆ นิ่งๆ
จะภาวนา สัมมาอะระหัง เป็นเพื่อนก็ได้ ไม่ภาวนาก็ไม่เป็นไร แล้วก็อย่าไปปรารถนาที่จะเห็นภาพอะไรนะ
มันยังไม่ถึงเวลา เราก็ต้องยอมรับว่ามันยังไม่ถึงเวลา
นิ่งๆ เฉยๆ
#ความใจเย็น
สมมติว่า เวลานี้มันเป็นเวลาตี ๑ หรือเป็นเวลาเที่ยงคืน เราดับไฟหมด ไม่มีแสงที่เกิดจากไฟที่ทำด้วยมนุษย์เลย
บรรยากาศรอบตัวเรามันก็มืดสนิท ก็อย่าไปกลุ้มใจว่า เอ๊ะ ทำไมดวงอาทิตย์
ไม่โผล่มาให้เราเห็นเลย อย่าลืมว่านี่ประเทศไทยไม่ใช่นอร์เวย์
เขามีพระอาทิตย์เที่ยงคืน เราก็ต้องยอมรับว่าคือเที่ยงคืนมันต้องมืด ตี ๑ ก็มืด ตี
๒ ก็มืด ตี ๓ ตี ๔ ก็ยังมืดอีก
ถามว่า เมื่อเราไม่เห็นดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงคืน ตี ๑ ตี ๒ ตี ๓
เราควรกลุ้มไหม ถามตัวเองนะลูกนะ เราควรกลุ้มไหม หรือเราควร ทำใจเย็นๆ นิ่งๆ สงบๆ
รอเวลาให้ถึง ๖ โมงเช้า ยอมรับสภาพว่า ตี ๑ มันต้องมืด ตี ๒ มันก็มืด ตี ๓ ตี ๔
มันมืดทั้งนั้น ยอมรับตรงนี้ก่อน แล้วใจจะสบายไปกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์
แล้วก็ทำใจเย็นๆ ไม่เห็นภาพก็ไม่เป็นไร นิ่งเฉยๆ
พอถึงเวลา ๖ โมงเช้า จะเห็นเอง แสงเงินแสงทองก็เรืองรองขึ้นมาเป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ใจเย็นพอ
รอคอยดวงตะวันที่ขึ้นมาจากขอบฟ้าได้ จะได้ยินเสียงนกเสียงกาแซ่ซ้องสรรเสริญว่า เออ
คนใจเย็นบัดนี้เขาสมหวังแล้ว เวลา ๖ โมงเช้า เขาได้เห็นแสงเงินแสงทองจากขอบฟ้า
ยอมรับนะลูกนะว่า เมื่อยังไม่ถึงเวลา
มันก็คือยังไม่ถึงเวลาแต่อย่าเอาไปเทียบกับเวลาที่ผ่านมา
และเวลาที่เหลืออยู่อีกไม่มาก เพราะเวลาที่ผ่านมาเราทำไม่ถูกวิธี
เวลาที่เหลืออยู่นี้มันเท่ากันทุกคน
คือ เรามีเวลาของชีวิตอยู่เพียงวินาทีเดียวเท่ากันทุกคนที่เป็นเวลาของเรา พรุ่งนี้ยังไม่ใช่
มะรืนนี้ก็ไม่ใช่ เพราะเราจะมีเวลาที่มีชีวิตอยู่ถึงพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้หรือเปล่าไม่ทราบ
เวลาในอนาคตไม่ต้องพูดถึง เวลาผ่านไปในอดีตก็ดีดมันไปซะ
ยอมรับว่า เราจะต้องรอคอยด้วยใจที่เยือกเย็น
ด้วยใจที่สงบที่หยุดที่นิ่งๆ พอยอม ใจก็หยุด พอหยุดมันก็เย็น พอเย็นก็ใส
ไม่ช้าก็เห็นภาพขึ้นมาเอง ทำอย่างนี้นะลูกนะ
ให้ลืมกฎเกณฑ์ที่ได้แนะนำเข้าตามฐานต่างๆ ไปหยุดในกลางท้องฐานที่ ๗
ลืมไปก่อนนะลูกนะ ลืมไปก่อนชั่วคราว ไม่ใช่นิจนิรันดร์ ลืมไปชั่วคราว
อย่างนี้เดี๋ยวจะสบ๊าย สบาย สบายคือ ต้นทางที่จะเข้ากลางได้
มันก็จะเป็นไปเองนะลูกนะ
เพราะฉะนั้นใครทำผิดวิธีมานาน
วันนี้หมดกรรมแล้ว ทำอย่างที่หลวงพ่อแนะนำนะลูกนะ
หลับตาเป็นจะเห็นภาพภายใน
#การหลับตา
ธรรมะเราจะเข้าถึงได้เมื่อใจของเราสบายที่สุด จับหลักตรงนี้ให้ดีนะ
เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมทุกครั้ง เราจะต้องไม่ลืมสิ่งนี้ คือ
ทำทุกอย่างให้สบาย ให้ปลอดโปร่งทั้งกายและใจ
หลับตาก็ต้องหลับตาให้เป็น ให้พอดีๆ แค่ผนังตาแตะเบาๆ
อย่าไปเม้มตาแน่น อย่าไปบีบหัวตา อย่าไปกดลูกนัยน์ตา
การที่ตาของเราแตะเบาๆ แสดงว่าใจของเรากำลังวางอยู่อย่างสบาย
ไม่เพ่งนิมิตเกินไป ไม่ตั้งใจด้วยความทะยานอยากมากเกินไป อยากเห็นเร็วๆ เป็นเร็วๆ
มันหมดไป ผนังตาจึงแตะเพียงเบาๆ ไม่ใช่ปิดเสียสนิทเลย
ถ้าเปลือกตาปิดสนิท แสดงว่าเราเริ่มเพ่งนิมิต เอาลูกนัยน์ตากดลงไปดู ผลออกมาคือความเครียด
แล้วไม่ได้อะไร และจะทำให้เราเบื่อหน่ายท้อแท้ เพราะทำผิดวิธี
จนกระทั่งเกิดอาการน้อยอกน้อยใจไปโทษบุญโทษบารมีว่า เราคงมีบุญบารมีมีวาสนาน้อย
ความจริงแล้วเราทำผิดวิธี เพราะฉะนั้นเราจะต้องสังเกตตัวเอง และปรับให้ถูกวิธี
ดังนั้นขอให้ทุกคนอย่าฟังผ่าน ในการที่เราจะปรับปรุงวิธีให้ถูกต้อง
แม้ว่าเราอาจจะปฏิบัติธรรมมานานแล้วหลายๆ เดือนหลายๆ ปี จนมีความรู้สึกว่า
สิ่งที่หลวงพ่อแนะไปนี่เป็นขั้นอนุบาลขั้นเริ่มต้น ก็ขอให้ทำใจให้ได้
เรามาเริ่มต้นเรียนอนุบาลกันใหม่ ทำให้ถูกวิธีเสียตั้งแต่ต้น เมื่อจบอนุบาลของหลวงพ่อก็จบดอกเตอร์
คือเข้าถึงพระธรรมกายอย่างรวดเร็ว
มันยากตอนแรกที่เราจะต้องฝึกใจของเราให้ฟันฝ่าอุปสรรคเข้าไปถึงศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ให้ได้มันยากอยู่ที่ตรงนี้
#ศูนย์กลางกาย
ที่จริงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ มีดวงธรรมอยู่แล้ว
แต่ว่าเป็นของละเอียดอ่อน เราจะเข้าถึงได้จะต้องฝึกใจของเราให้ละเอียดอ่อนเท่ากับดวงธรรมภายใน
ถ้ามันละเอียดเท่ากัน ใจของเราไปแตะอยู่ที่ดวงธรรมตรงนั้น
ถูกส่วนเข้าเราก็จะเห็นความสว่างขึ้นมาเป็นดวงใสๆ
หรือดวงธรรมภายในที่โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ ซึ่งมีอยู่แล้ว และศูนย์กลางกายตรงนี้ มันเป็นช่องว่างๆ เป็นอากาศธาตุว่างๆ
โล่งๆ เล็กนิดเดียวอยู่ตรงกลาง เป็นทางไปสู่พระนิพพาน สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้ว
เหลือแต่ปรับใจของเราให้ละเอียดอ่อนให้เท่ากับสภาวธรรมภายใน
ใจจะละเอียดได้ ใจต้องเป็นกลางๆ ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ถ้าตึงไปมันก็เครียด
หย่อนไปมันก็เคลิ้ม
ความเครียดเกิดขึ้นเพราะความทะยานอยาก เราอยากได้ เร็วๆ เห็นเร็วๆ
เป็นเร็วๆ เราจึงวางใจแรงเกินไป จึงทำให้เกิดความเครียด
#สายหย่อน
ความเคลิ้ม เกิดจากการไม่มีสติ
ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปคิดในเรื่องราวต่างๆ มันก็หย่อนไป
#ทางสายกลาง
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราปรับ ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไปไม่เครียด แล้วก็ไม่เคลิ้ม
ใจก็จะเป็นกลางๆ ถูกวัตถุประสงค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านให้วางใจเป็นกลางๆ
ไม่ตึงแล้วก็ไม่หย่อน พอไม่ตึงไม่หย่อน
ใจที่เป็นกลางนั้นเป็นใจที่ปลอดโปร่งว่างเปล่า สบาย
ใจสบายเท่านั้นจึงจะถึงพระธรรมกายได้
วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2565