นั่งมาตั้งนาน
ทำไมไม่ได้ผลสักที
อาทิตย์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 1 |EP.4| :นั่งตั้งนานทำไมยังไม่ได้ผล
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ
ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวเราเดินได้สะดวก
จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยกัน จัดท่านั่งให้ถูกส่วน แล้วมันจะไม่ค่อยเมื่อย
ขยับให้ดีทีเดียว ของใครของมันนะ ปรับให้ดี
แล้วก็เริ่มต้นอย่างง่าย ๆ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ
ก็ให้สังเกตดูหรือใช้เวลาสัก ๑ นาที สังเกตทั้งท่านั่ง ทั้งการหลับตา
การวางมือของเราที่ซ้อนกัน มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเราเกร็งหรือตึงบ้างไหม
ให้สังเกตสักนาทีหนึ่งนะ
เพราะทุกส่วนของร่างกายต้องผ่อนคลายจึงจะถูกหลักวิชชา ต้องผ่อนคลาย ใจต้องสบาย
เบิกบาน
คำว่า “สบาย” ในที่นี้อาจจะยังไม่ถึงกับมีความสุขที่เกิดจากสมาธิ
แต่รู้สึกว่ามันผ่อนคลาย ไม่สุขแต่ก็ไม่ทุกข์ ให้สังเกตนะ
สำหรับผู้ที่ทำมาตั้งนาน แต่ยังไม่ได้ผลสักทีก็ดี
หรือเพิ่งมาใหม่ก็จะได้ฝึกกันไปพร้อม ๆ กัน มาปรับปรุงแก้ไขวิธีการตรงนี้
เรายอมที่จะเริ่มต้นใหม่ในทุก ๆ ครั้งนะ เพราะว่าถ้าทำถูกวิธีแล้วมันง่าย
สมาธิไม่ใช่ยากเกินไป มันอยู่ในระดับที่ทุกคนสามารถทำได้ ยกเว้นคนมีความผิดปกติทางด้านจิตใจนั่นแหละ
คนป่วยไม่มีแขน ไม่มีขา นอนป่วยอยู่ยังทำได้ เรามีทุกอย่างพร้อมแต่เราทำไม่ได้
แปลว่าเราคงยังทำไม่ถูกวิธี
เราต้องย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ตรงนี้อย่างง่าย ๆ
ยอมกลับมาสู่จุดเริ่มต้นในการฝึกใจให้หยุดนิ่งเพื่อให้ใจเป็นสมาธิใหม่นะ เรายอมตรงนี้
ตอนนี้เราได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เราต้องการนั้น
ไม่ว่าจะเป็นความสุขที่แท้จริง แสงสว่างภายใน ดวงธรรม กายในกาย รวมถึงพระธรรมกาย
หรือพระรัตนตรัยมีอยู่ในตัวของเราหมด หนทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน
เพื่อการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ดับทุกข์ได้นั้นก็อยู่ในกลางตัวเรา
นี่เราได้เรียนรู้กันมายาวนานกันแล้ว
แต่ทำไมเราจึงยังทำไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
ตรงนี้เราก็ต้องย้อนกลับมาศึกษาดูว่า
เราได้ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจครบถ้วนไหมหรือสักแต่ว่านั่ง ๆ ไปอย่างนั้นเอง
อย่างหลวงพ่อบอกว่าให้ผ่อนคลาย ให้หลับตาเบา ๆ แต่เราหลับตาปี๋เลย
ปิดสนิท ไปบีบเปลือกตา กดลูกนัยน์ตาลงไปเพื่อจะมองดูในท้อง
แล้วจะเค้นภาพขึ้นมาเพื่อจะให้มันชัด เหมือนเราลืมตา มองดูภาพภายนอก
พอเราอยากจะให้ชัด เราก็ต้องหยี ๆ ตาเราติดนิสัยตรงนี้
เราคงเข้าใจว่าเอาวิธีการอย่างนี้มาใช้ในการหาพระรัตนตรัยในตัวคงจะได้เหมือนกันมั้ง
เพราะคิดเอาเองอย่างนี้แหละจ้ะ เราจึงเลื่อนการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวไปเป็นเดือน
เป็นปี เป็นหลาย ๆ ปี
เพราะฉะนั้นตอนนี้เราต้องมาปรับวิธีการให้ถูกต้องมาปรับกันใหม่นะลูกนะ
วันเวลาผ่านไป อายุเราเพิ่มขึ้น แต่ความแข็งแรงสดชื่นของร่างกายเรามันลดลง
เรามีเวลาเหลือกันอีกไม่มากแล้ว มาปรับวิธีการกัน
โดยเริ่มต้นแบบนักเรียนอนุบาลนี่แหละ
เรายอมตนเป็นนักเรียนอนุบาลที่แท้จริง เหมือนนักเรียนอนุบาลที่อยู่ทางโลก
คุณครูแนะนำให้ทำอะไรเราก็ทำอย่างนั้นด้วยใจที่อินโนเซ้นท์ นี่ก็เช่นเดียวกัน
เรามายอมตรงนี้กันสักนิดหนึ่ง มาปรับการนั่ง ปรับการวางมือ ปรับการวางเปลือกตา
ปรับการวางใจ
ใจที่เหมาะสมที่จะเข้าถึงธรรมนั้นจะต้องไม่ผูกพันกับคนสัตว์ สิ่งของใด
ๆ ทั้งสิ้น ต้องไม่ผูกพัน ที่เราได้ยินได้ฟังว่า
อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเราฟังกันจนชิน แต่เราก็ยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง
ที่ท่านสอนไม่ให้ไปยึดมั่นถือมั่น ให้ปลดปล่อยวาง
เพราะไปผูกพันไปนึกถึงในสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลามันไม่เกิดประโยชน์
แล้วเราก็ยึดมั่นถือมั่นมายาวนาน ตั้งแต่เราเกิดมาจนกระทั่งบัดนี้
มันก็ไม่ได้ช่วยให้เรามีชีวิตที่สมบูรณ์ มีความสุขที่แท้จริง เพราะฉะนั้นท่านถึงสอนให้ปลดปล่อยวางในคนสัตว์สิ่งของ
แม้โลกใบนี้ก็ยังถึงกาลจะต้องเสื่อมสลายด้วยกัปวินาศแม้ร่างกายของเรานี้ก็จะต้องไปสู่จุดสลายสักวันหนึ่ง
ท่านสอนให้ปลดปล่อยวาง วางแม้กระทั่งความคิดว่า
เราจะต้องเอาให้ได้อย่างจริงจัง แล้วคาดหวังว่าวันนี้เราจะนั่งได้ดีกว่าเมื่อวาน
ดีกว่าทุก ๆ วัน ความคิดชนิดนี้ แม้เป็นกุศลธรรมก็ไม่ควรคิดอีกเหมือนกัน
ก็แปลว่าเราก็ไม่ต้องไปคิดเรื่องอะไร ไม่ว่าจะบวกหรือลบ ให้หยุดตรงกลาง ๆ
แต่แม้เราหยุดตรงกลาง ๆ แต่ความคิดมันก็ผ่านมาในใจอยู่ตลอดเวลา
เราก็ต้องใช้สองคำว่า “ช่างมัน”
เราต้องยอมรับว่าในชีวิตประจำวันทุก ๆ
วันที่ผ่านมาเราเก็บประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นภาพ มันก็สั่งสมอยู่ในใจ
ถึงคราวที่มันจะคลี่คลายก็จะมาฉายให้เราเห็นเป็นภาพ ถ้าหากว่าเราไปผูกพันกับมัน
มันก็ฟุ้งซ่าน ถ้าไปต่อต้านไม่ให้คิด มันก็อึดอัด ทุรนทุราย
เพราะฉะนั้นให้ทำตัวเหมือนท่อนํ้า คืออยู่เฉย ๆ ปล่อยให้นํ้ามันผ่านไป
ท่อธารของใจก็เช่นเดียวกัน เราก็ปล่อยให้ความคิดเหล่านี้ผ่านไป
โดยเราไม่ต้องไปคิดต่อ ทำเฉย ๆ นิ่ง ๆ ตรงนั้น
เราได้รับคำแนะนำว่าให้นึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นเพชรสักเม็ดหรือองค์พระใส
ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็นึกไป แล้วก็ประคองใจด้วยคำภาวนา สัมมา อะระหัง ก็ทำไป
ถึงจุด ๆ หนึ่ง เราไม่อยากจะภาวนา ก็ไม่ต้องภาวนา
ไม่อยากจะนึกถึงภาพเราก็ไม่ต้องไปนึกหรือนึกแล้วมันชัดได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน
เราก็ต้องทำอย่างง่าย ๆ อย่างนี้แหละ แต่เรามักจะฟังผ่าน ๆ พอฟังผ่าน
ชีวิตเราก็ทุกข์ทรมาน เหมือนนั่งฟรีกันไปทุกครั้ง เมื่อยฟรี นั่งฟรี
ได้แต่ขันติบารมี มันหมดเวลาที่เราจะต้องสูญเสียไปกับ
อย่างนั้นแล้ว
เรามาปรับวิธีการใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ บอกไปทุกครั้งที่เจอกัน
นั่งให้นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ สบาย ๆ ไม่ต้องไปควานหาอะไรในที่มืด ใจนิ่ง ๆ เฉย ๆ
ให้ใจอยู่กับตัว
มันแปลกนะ ถ้าใจมาอยู่ภายในตัว กายจะเบาสบาย มันจะโล่ง มันจะโปร่ง
แต่ถ้าใจไปนึกถึงสิ่งข้างนอก ไม่ว่าจะนึกถึงนกที่บินไปในอากาศ
ตัวมันก็ไม่เบาเหมือนนก
จะนึกเหมือนสำลีปุยนุ่นที่โดนแรงลมพัดแล้วมันล่องลอยไปบนท้องฟ้าในอากาศ
กายมันก็ไม่เบาจะนึกถึงเมฆที่เลื่อนลอยไปบนท้องฟ้ามันก็ยังไม่เบาอยู่ดี
นึกถึงเครื่องบินบินได้บนท้องฟ้า นึกยังไงมันก็ไม่เบา
นี่มันแปลกนะลูกนะไปนึกเรื่องข้างนอกนี่ยากที่จะทำให้กายเบา ใจเบา มันยากมาก
วิธีที่จะให้ใจเบา ๆ มันต้องเอาใจเรากลับมาอยู่ในตัว
ตั้งแต่ปากช่องจมูก หัวตา กลางกั๊กศีรษะเพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก
กลางท้องระดับสะดือ อยู่เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ดีที่สุดคืออยู่ในกลางท้องนิ่ง
ๆ แล้วอยู่ระดับนั้นไปเรื่อย ๆ แล้วมันจะถูกส่วนของมันไปเอง
เวลาถูกส่วนนี่ มันก็จะมีปรากฏการณ์ขึ้นที่ร่างกาย
คือตัวจะโล่งโปร่งเบาสบาย แม้ยังไม่เห็นอะไรก็เป็นรางวัลสำหรับการนั่งในแต่ละครั้ง
แล้วเราก็จะมีความรู้สึกพึงพอใจว่า เออ แม้ยังไม่เห็นอะไรก็รู้สึกนั่งแล้วดีนะ
มีรางวัล มันโล่ง โปร่ง เบา สบายแต่เดิมมีความรู้สึกว่า เราต้องฝืน
ต้องพยายามที่จะนั่งสมาธิ เพราะตั้งใจเอาไว้แล้วบ้าง
รับปากกับพระอาจารย์ไว้บ้างอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น แต่พอเราทำถูกวิธีการแล้วได้ผล
คือ ตัวโล่ง โปร่ง เบา สบาย ความสมัครใจหรืออยากนั่งมันจะเกิดขึ้นมาเอง มันจะมีความพึงพอใจว่า
เออ ดีจัง แล้วพอถึงตรงนั้นเราไม่คำนึงถึงเรื่องการเห็นแล้ว เราอยากจะนั่งนุ่ม ๆ
เบา ๆ ไปนาน ๆ ก็ให้เราพึงพอใจในระดับนี้ไปก่อน แม้ไม่มีภาพอะไรให้เราเห็น
แม้ไม่มี ปรากฏการณ์อะไรใหม่ ๆ ให้เราดู
แม้ได้ยินเพื่อนนักเรียนเขามีผลการปฏิบัติก้าวหน้ากว่านี้
เราก็ยังรักษาความสงบของใจได้ ไม่เร่าร้อน ยังสงบได้ อย่างนี้จึงจะถูกหลักวิชชา
แล้วก็ฝึกให้ชำนาญให้ไปสู่จุดนี้บ่อย ๆ นิ่ง นุ่มนานขึ้น จนกระทั่งมันนิ่งแน่น
แน่นในที่นี้ไม่ได้แปลว่าอึดอัด แต่หมายถึง
มันนิ่งติดแน่นในกลางกายมากเข้า ๆ และจะรู้สึกกายขยาย เปลี่ยนสภาวะจากของหยาบมาเป็นของละเอียดคล้าย
ๆ วัตถุเปลี่ยนจากของแข็งมาเป็นของเหลว จากของเหลวมาเป็นไอเป็นแก๊สอย่างนั้น
เปลี่ยนสภาวะด้วยการนำใจมาหยุดนิ่ง ๆ อย่างนี้ จากหยาบก็ไปสู่ความละเอียดไปเรื่อย
ๆ
แล้วเราก็ฝึกไปในทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ฝึกไปเรื่อย ๆ มันก็จะมาถึงตรงนี้ได้เร็วขึ้น
นานขึ้น
จนกระทั่งถึงระดับที่เราเริ่มสัมผัสกระแสแห่งความสุขภายในที่แตกต่างจากความสุขในภายนอก
ซึ่งเราจะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน
กระแสแห่งความสุขนี้ก็จะยิ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากนั่งไปอย่างนี้นาน
ๆ โดยไม่อิ่มไม่เบื่อเลย เมื่อความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น
ก็เป็นสัญญาณว่าไม่ช้าเราจะเข้าถึงแสงสว่างภายในจิตจะบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น
ความสว่างจะเกิดขึ้น เป็นแสงสว่างภายในที่นุ่มเนียนตาละมุนใจ
และจะทำให้เราเห็นภาพภายในวอบ ๆ แวบ ๆ เกิดขึ้น
ซึ่งเราก็ต้องอย่าไปคิดอะไรมาก มาให้เห็นแล้วก็ดูไป หายก็ช่างมัน
คือต้องทำความเข้าใจแล้วจำทุกถ้อยคำนะลูกนะ เพราะจะได้ไม่ช้า
แสงสว่างเกิดขึ้นแวบหนึ่งเราก็เฉย ๆ แวบมาแล้วก็แวบไป เราก็เฉย ๆ จะมาข้างหน้า
ข้าง ๆ ข้างหลัง ข้างไหนก็ช่างเถิด เรานิ่งอยู่ตรงกลางท้องของเราที่เดียว
ไม่ต้องไปชำเลืองดู หรือหวงแหนภาพนั้น ยิ่งหวงแหน ก็ยิ่งหนีหายไปเลย
ใจเราจะต้องอยู่ที่เดียวที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ในกลางท้องนั้น เฉย ๆ
มันก็แวบไปแวบมาให้เห็นได้นานขึ้น นานขึ้นไปเรื่อย ๆ
เมื่อเรามีชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่ง ชั่วโมงกลางเพิ่มขึ้น
ไม่ช้าเราก็จะควบคุมมันได้ เหมือนเราเป็นสารถีชั้นดีที่ควบคุมการขับรถ
จะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ไปข้างหน้า ข้างหลัง หรือหยุดนิ่งได้
จะควบคุมเหมือนควบคุมม้าพยศ เหมือนสัตว์เลี้ยงได้ เราก็ฝึกไปเรื่อย ๆ
ใจหยุดนิ่งเดี๋ยวก็มีประสบการณ์ภายในใหม่ ๆ มาให้เราดู
เพราะฉะนั้น มันจะยากตอนช่วงแรก ๆ ดังนั้นเรายอมตนเป็นนักเรียนอนุบาลทุก
ๆ วัน ให้เริ่มต้นใหม่อย่างง่าย ๆ อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วมันก็จะค่อย ๆ
ละเอียดลุ่มลึกขึ้นไปตามลำดับ จะรู้เห็นอะไรไปตามความเป็นจริง
จะได้เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วภายใน นี่ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องปรับปรุงตัวนะ
นำอธิษฐานจิตและอุทิศส่วนกุศล
คราวนี้
เราก็นึกถึงบุญทุกบุญที่เราทำผ่านมานับภพนับชาติไม่ถ้วนมาจนกระทั่งถึงวันนี้
มารวมอยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วก็อธิษฐานจิต
ให้บุญนี้ขจัดสิ่งที่เป็นมลทินของใจให้หมดสิ้นไป
แล้วให้เป็นผังสำเร็จติดไปในภพเบื้องหน้า ให้เราสมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ
คุณสมบัติ ลาภยศสรรเสริญสุข มรรคผลนิพพาน วิชชาธรรมกาย
เกิดมาให้ระลึกชาติได้ เห็นธรรมะกันตั้งแต่เยาว์วัย
สร้างบารมีเรื่อยไปจนหมดอายุขัยไปทุกภพทุกชาติตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
ให้เราได้เกิดในร่มเงาพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย
ในครอบครัวธรรมกายที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อการสร้างบารมี
พวกพ้องบริวารหมู่ญาติให้เป็นบัณฑิต เป็นนักปราชญ์คนภัยคนพาลก็ให้ห่างไกล
ให้เรามีสมบัติใหญ่ไหลมาเทมา เอาไว้สำหรับสร้างบารมี
มีแล้วก็ไม่ให้ตระหนี่
ให้มีปฏิคาหกผู้เป็นเนื้อนาบุญมารองรับทานที่เราตั้งใจทำไว้ด้วยดี ให้เราได้เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญคํ้าจุนพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย
แล้วก็ให้บุญนี้ถึงแก่หมู่ญาติ บรรพบุรุษ บุพการี ญาติสนิท มิตรสหาย
หรือสัมพันธชนที่ละโลกไปแล้ว จะไปอยู่ในภพภูมิใดก็ตาม
ให้บุญนี้ไปถึงกับท่านเหล่านั้น ที่มีทุกข์มากก็ให้ทุกข์น้อยที่มีทุกข์น้อยก็ให้พ้นทุกข์
ที่มีสุขน้อยก็ให้สุขมาก มีสุขมากแล้วก็มากเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ
คู่กรรมคู่เวรที่เราเคยไปเบียดเบียนเขาเอาไว้ในยามที่อกุศลเข้าสิงจิตให้กระทำความผิดด้วยกาย
ด้วยวาจา ด้วยใจ แล้วก็มีวิบากกรรมติดมา ก็ให้บุญนี้อุทิศไปให้กับท่านเหล่านั้น
จะได้ไม่มีเวรต่อกัน วิบากกรรมก็ให้หนักเป็นเบา เบาเป็นหาย
ให้ท่านเหล่านี้ที่มีทุกข์มากก็ให้ทุกข์น้อย ที่มีทุกข์น้อยก็ให้พ้นทุกข์
สุขน้อยก็ให้สุขมาก สุขมากแล้วก็มากเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ
ให้บุญนี้ถึงแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ ตลอดแสนโกฏิจักรวาล
อนันตจักรวาล ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ในกำเนิดทั้ง ๔ ทั้ง อัณฑชะ ชลาพุชะ สังเสทชะ
และโอปปาติกะ ให้ได้มีส่วนแห่งบุญที่เราได้ทำเอาไว้อย่างดีแล้ว
มีทุกข์มากก็ให้ทุกข์น้อยมีทุกข์น้อยก็ให้พ้นทุกข์ มีสุขน้อยก็ให้สุขมาก
มีสุขมากแล้วก็ให้มากเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ
แล้วสิ่งใดที่เป็นกุศลธรรม ขอให้เราได้ทำได้สำเร็จเป็นอัศจรรย์ในทุกบุญ
จะไปชักชวนผู้มีบุญใดมาสร้างบารมี ก็ให้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์มีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพ
พูดจาชนะใจคน ใครได้ยินได้ฟังธรรมก็ให้เกิดกุศลศรัทธามาสร้างบารมีกับเรา
อธิษฐานจิตกันไปให้ดี
วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565