สิ่งที่สำคัญที่สุด
วันอาทิตย์ที่ ๒๕
กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ (๑๓.๓๐ -
๑๕.๓๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะจ๊ะ
หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ อย่าถึงกับปิดเปลือกตาสนิท หลับพอสบาย ๆ หลับตาสำคัญ
แล้วก็ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายเรา
ถ้าเราหลับตาเป็นมันก็จะผ่อนคลายตั้งแต่ใบหน้า แล้วก็จะผ่อนคลายไปทั้งตัวเลย
มันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ
วางใจ
แล้วก็รวมใจหยุดไป
นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ สบาย ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือ
หรือประมาณเอาอยู่แถว ๆ กลางท้องตรงนั้น ทำความรู้สึกอยู่ในกลางท้อง
บริกรรมนิมิต
แล้วก็นึกถึงบริกรรมนิมิต เอาไว้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเราที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ นึกอย่างเบา ๆ ต่อเนื่องสบาย ๆ จะเป็นองค์พระแก้วใส ๆ หรือดวงแก้วใส ๆ หรือรูปพระเดชพระคุณหลวงปู่ของเรา
ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เอาอย่างเดียว นึกให้ต่อเนื่องกันไปอย่างสบาย
ไม่ชัดก็ไม่เป็นไร
เพราะวัตถุประสงค์ต้องการให้ใจของเรานี้
กลับมาหยุดนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ส่วนบริกรรมนิมิตกับบริกรรมภาวนา แค่เป็นหลักยึดของใจ
และประคองใจให้อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เท่านั้น ให้ทำอย่างนี้เรื่อยไปเลยในทุกอิริยาบถ
ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ต้องทำความคุ้นเคยกับตรงนี้เอาไว้ให้ดี
ฐานที่ ๗ เป็นที่มาเกิด-ไปเกิด
ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ เป็นที่เกิด ที่ดับ
ที่หลับ ที่ตื่น แล้วก็เป็นต้นทางไปสู่อายตนนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย
ท่านเริ่มหยุดใจที่ตรงนี้
ที่เกิด คือ ที่มาเกิด
เมื่อเราเป็นกายละเอียด ไม่ว่าจะมาจากที่ไหน เวลาจะมาเกิดเป็นกายมนุษย์หยาบ ก็จะต้องอาศัยธาตุหยาบของบิดามารดา
ประกอบธาตุธรรมส่วนหยาบไว้ห่อหุ้มกายละเอียดของเรา
โดยเริ่มต้นที่ฐานที่ ๑ ปากช่องจมูกของบิดามารดา ของบิดาก่อน
หญิงซ้าย ชายขวา
แล้วก็เริ่มไปฐานที่ ๒ คือ หัวตา หญิงซ้าย ชายขวา
แล้วไปฐานที่ ๓ ที่กลางกั๊กศีรษะ ในระดับเดียวกับหัวตา
แล้วก็มาฐานที่ ๔ ที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก
แล้วก็มาฐานที่ ๕ ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก
แล้วก็ไปฐานที่
๖ ในกลางท้องตรงที่เส้นด้ายตัดกัน จากสะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย
แล้วก็ถอยหลังขึ้นมาสองนิ้วมือ
มาอยู่ที่ฐานที่
๗ แล้วก็ดึงดูดให้ไปหามารดา เพื่อประกอบธาตุธรรมส่วนหยาบ ธาตุธรรมส่วนหยาบเชื้อของบิดาครึ่ง
มารดาครึ่งหนึ่งผสมกัน ถูกส่วนก็ดึงดูดกายละเอียดของเราไปที่มารดา เข้าทางปากช่องจมูก
แล้วก็ไปอยู่ที่ฐานที่ ๗ ของมารดา ตรงกลางธาตุหยาบที่หุ้มไว้
เป็นจุดกำเนิดเดิมของปฐมวิญญาณ ตรงนั้น
แม้การผสมเทียมก็ตาม
ถ้าหากว่าธาตุส่วนหยาบของบิดามารดารองรับไว้ ไม่ว่าอยู่ในครรภ์มารดาถูกส่วนก็จะดูดกายละเอียดเข้าทางมารดานั่นแหละ
ไปอยู่ตรงนั้น แล้วก็ก่อกำเนิดกายหยาบขึ้นมาด้วยธาตุหยาบ หล่อเลี้ยง เจริญวัยขึ้น
กระทั่งถึงเวลาที่เคลื่อนออกจากครรภ์มารดา
ไปเกิด ก็คือการตายนั่นเอง
จะต้องออกจากกายมนุษย์หยาบ เมื่อกายมนุษย์หยาบหมดสภาพแล้ว เสื่อมสลายไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บบ้าง
ด้วยเหตุต่าง ๆ บ้าง ต้องเริ่มต้นจากตรงนี้ ถ้าตายแบบปกติ ก็จะเคลื่อนไปตามฐาน จากฐานที่
๗, ๖, ๕, ๔, ๓, ๒, ๑ ถ้าตายแบบกะทันหัน เช่น ประสบอุบัติเหตุ มันก็ปุ๊บหลุดออกไปเลย
แต่ก็ต้องเริ่มต้นจากตรงนี้
เวลาไปเกิด ถ้าจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ก็ต้องทำฐานที่
๗ ให้ใส ให้สว่าง ด้วยการสั่งสมบุญกุศลในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ หรือบารมี ๑๐ ทัศ เพื่อทำให้ใจใส
พอใจใส ตรงฐานที่ ๗ ก็จะสว่าง ภาพต่าง ๆ กรรมนิมิตจะมาฉายให้เห็นตรงนี้ คตินิมิตก็สว่าง
หนทางไปก็ไปแบบสุคติสู่เทวโลก เพราะฉะนั้นฐานที่ ๗ นี้สำคัญนะ ถึงได้ให้หมั่นมาหยุดนิ่งอยู่ตรงนี้
เป็นที่หลับ
ที่ตื่นก็ตรงนี้ เวลาหลับใจก็มาอยู่ตรงนี้ มันตกภวังคจิต แล้วกายมนุษย์ละเอียดก็ออกไปทำหน้าที่ฝัน
กลับมารายงานกายมนุษย์หยาบ แต่เนื่องจากกายมนุษย์หยาบไม่บริสุทธิ์ ความฝันบางอย่างก็จำได้บ้าง
จำไม่ได้บ้าง จริงบ้าง เท็จบ้างอะไรอย่างนั้น อยู่ที่ตรงนี้ ตื่นก็ตรงนี้
ไปแบบสุคติ กับแบบสุคโต
เกิด
ดับ หลับ ตื่น ก็ตรงนี้ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ไปแบบ
สุคโต ก็ตรงนี้ สุคติก็ตรงนี้ แต่ว่าเดินสวนทางกัน
ไปแบบ สุคติ เมื่อใจใสแล้ว ก็เริ่มจากฐานที่ ๗ ไปฐานที่
๖, ๕, ๔, ๓, ๒, ๑ ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
ถ้าแบบ สุคโต คือ หลุดพ้นจากภพ ก็เริ่มตรงนี้เช่นเดียวกัน
แต่เข้ากลางไป เข้ากลางถอดกายออกเป็นชั้น ๆ กระทั่งถึงกายธรรมอรหัตผล หน้าตัก ๒๐
วา สูง ๒๐ วา ซึ่งหลุดพ้นจากการบังคับบัญชาของอวิชชา สังโยชน์อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น
โดยมีอวิชชาเป็นรากเหง้า เป็นไส้แกนกลางเหล่านั้น มันหลุดกายอรหัตผลนั้น เขาบังคับไม่ได้
บังคับได้ตั้งแต่กายธรรมพระอนาคามี ลงมาถึงกายมนุษย์หยาบ
ก็จะหลุดเป็นหนึ่งเดียวกับกายธรรมอรหัตผล เป็นพระอรหันต์
เมื่อใจหลุดตรงนั้นได้ มันก็เป็นอิสระจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร
เสวยสุขได้เต็มที่ ท่านเรียกว่า วิมุตติสุข
สุขที่เกิดจากการหลุดพ้นออกมาจากภพซึ่งมันกว้างขวาง มีอิสระ อิสรภาพอย่างแท้จริง มีความสุขตลอด
ด้วยตัวของตัวเอง สุขล้วน ๆ เลย
แล้วก็จะเข้าถึงนิพพานภายใน เขาเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานเป็นในกายธรรมตอนที่ยังมีชีวิตอยู่
สุขอยู่ในนั้น จะเข้านิโรธก็เข้าในนั้น นิโรธ นิโรธะ แปลว่า หยุด ด้วยใจหยุดในหยุดเข้าไปเรื่อย ๆ
มันก็ละเอียดเข้าไป เสวยวิมุตติสุขภายในอย่างเดียวไปเรื่อย ๆ
เพราะไม่มีกิเลสเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง ไปได้เรื่อย ๆ ๗ วัน ๗ คืน ไม่ถอนถอยเลย
จิตบริสุทธิ์ไปสู่แหล่งพลังงานแห่งความบริสุทธิ์ที่กว้างขวางไปเรื่อยเลย
เมื่อหมดอายุสังขาร กายหยาบเสื่อมสลายไป
ก็จะเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ตกศูนย์ไปตามลำดับ ด้วยธรรมกายอรหัตผลหน้าตัก ๒๐ วา
สูง ๒๐ วา
ฝึกหยุดนิ่งเพื่อตัวเรา
เพราะฉะนั้น ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตรงนี้ สำคัญมากจึงพยายามบอกให้ลูกทุกคน ให้เอาใจใส่ ให้ความสำคัญต่อการฝึกใจ ให้หยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้
เพื่อตัวของเรา ไม่ใช่เพื่อใคร ไม่ว่าเราจะมีภารกิจมากน้อยเพียงใดก็ตาม ก็ต้องไม่ให้เป็นข้อแม้
ข้ออ้าง หรือเงื่อนไข ไม่ทำใจให้หยุดนิ่ง เพื่อความสุขและความปลอดภัยในชีวิตของเรา
สุขในปัจจุบันที่หยุดนิ่ง และความปลอดภัยของชีวิต
ซึ่งความตายไม่มีนิมิตหมายว่า
จะตายเมื่อใด ที่ไหน ด้วยวิธีการใด เพื่อความปลอดภัยของชีวิตจึงต้องฝึกใจให้มันหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย
ฐานที่ ๗ ตรงนี้ไปเรื่อย ๆ
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราควรทำ คือ ทำควบคู่กันไปในชีวิตประจำวัน
มีภารกิจอะไรเราก็ทำไป นั่งนอนยืนเดินเราก็ทำกันไปพร้อม ๆ กัน เพราะปกติไม่ว่าเราจะเคลื่อนไหวกายทำภารกิจอะไร
ใจเรายังแวบไปคิด เรื่องนู้น เรื่องนี้ได้ แต่แทนที่เราจะปล่อยให้มันเป็นไปอย่างเดิม
เราก็มาปรับใหม่ ให้ใจมันหยุดนิ่งอยู่ตรงนี้ แปลว่า ข้างในหยุดนิ่ง แต่ข้างนอกเคลื่อนไหว
เศรษฐกิจกับจิตใจไปด้วยกันได้
ภารกิจกับจิตใจก็จะควบคู่กันไป แปลว่า เวลาที่เราสูญเสียไปเราก็ได้สิ่งดี ๆ มาทดแทน
คุ้มกับการเสียไป คือเสียเพื่อได้ ไม่สูญเสียเปล่า
เมื่อใจมาหยุดนิ่งตรงนี้ สติมันก็เกิดขึ้น เมื่อสั่งสมมากเข้าก็เป็นมหาสติ สติมีที่ใดปัญญาก็เกิดขึ้นที่ตรงนั้น
เมื่อสั่งสมมากเข้าก็เป็นมหาปัญญา มหาสติ มหาปัญญาก็บังเกิดขึ้น ก็จะทำให้เราดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง
ไม่ผิดพลาด ก็จะมีความสุข ปีติ และภาคภูมิใจ อยู่ตลอดเวลา
บุญก็จะบังเกิดขึ้น ควบคู่กับภารกิจในชีวิตประจำวัน
ไม่ว่าจะครองเรือน ทำมาหากิน เรียนหนังสือ หรือจะไปทำอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นใจหยุดตรงนี้สำคัญมาก
ดังนั้น
พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเป็นสุขด้วยตัวของตัวเอง ด้วยใจหยุดนิ่งอย่างนี้
ท่านจะไปที่ไหนก็ได้ เพราะใจหยุดแล้ว ไปอยู่ป่า อยู่เขา ห้วย หนอง คลอง บึง ที่ไหนๆ
ก็อยู่ได้
นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญกับตัวของเราเอง
ยังมีสิ่งที่เราจะต้องศึกษาเรียนรู้อีกเยอะ ที่นอกเหนือจากความรู้ปกติที่เราได้อ่าน
ได้ยิน ได้ฟังหรือได้ตรึกนึกคิด คือ ความรู้ที่สิ่งเหล่านี้ไปไม่ถึง ความคิดไปไม่ถึง
จินตนาการไปไม่ถึง แล้วก็เป็นเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต เกิดประโยชน์ด้วย
จะทำให้มโนปณิธานของเรา ที่ตั้งมั่นเอาไว้อย่างดีแล้ว
มันก็มั่นคงขึ้น เพราะฉะนั้นการฝึกใจให้หยุดนิ่งสำคัญ ทุก ๆ
คนต้องให้ความสำคัญกับตรงนี้ให้มาก ๆ
แล้วก็หมั่นสังเกตว่า
วันไหนเรานั่งได้ดี วันไหนเรานั่งได้ไม่ดีเหมือนเดิม เราก็ปรับปรุงเอา
ตึงเกินไปไหม หย่อนเกินไปไหม อยากได้มากเกินไปหรือเปล่า หรือปล่อยเรื่อยเปื่อยให้ฟุ้งซ่านไป
แล้วก็หมั่นสังเกตแล้วก็ปรับปรุงฝึกฝนกันไปเรื่อย ๆ
จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้
จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้ คือ
ฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ไม่ให้มันร่อนเร่พเนจรไปที่ไหน
พอมันมาหยุดนิ่งตรงฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุขที่แท้จริง เมื่อมาอยู่ตรงนี้ก็นำความสุขให้เกิดขึ้นกับตัวของเราอย่างพูดไม่ออกบอกไม่ถูก
สุขกาย สบายใจ เพราะฉะนั้นจิตต้องฝึกให้ดี ให้มันหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้
พวกเรามีบุญ ที่มาเกิดในยุคที่พระเดชพระคุณหลวงปู่
ท่านบังเกิดขึ้น ในร่มเงาของพระพุทธศาสนา ท่านค้นคว้าวิชชาธรรมกายขึ้นมา แล้วก็นำมาถ่ายทอดถึงพวกเรา
แต่เกิดก่อนหน้านี้ก็ดี หรือหลังจากนี้ไปอีกนาน ๆ เมื่อกาลเวลาผ่านไปสิ่งเหล่านี้มันก็จะเลือนไป
ไม่อยู่ในขณะ ในสมัย
ในช่วงนี้อยู่ในช่วงขณะสมัยที่ดี เพราะฉะนั้นก็ต้องหมั่นฝึกฝนใจทุกวัน
อย่าให้โอกาสดีนี้หรือขณะสมัยที่ดีนี้มันผ่านไป เพราะสังขารก็เสื่อมลงไปทุก ๆ วัน
เพราะฉะนั้นก็ฝึกไปเรื่อย ๆ ฝึกหยุด ฝึกนิ่ง ฝึกให้ใจใส ๆ
เวลาที่เหลืออยู่นี้เราก็ฝึกให้หยุดนิ่ง
ให้คุ้นเคย ไปในกลางกาย แต่มืดสว่างไม่สนใจทั้งนั้น นิ่งเฉย ๆ
ประคองใจไปตามหลักวิชชา ค่อย ๆ วางใจเบา ๆ เหมือนขนนกที่ล่องลอยไปในอากาศ ค่อย ๆ ตกไปสัมผัสพื้นผิวน้ำอย่างแผ่วเบาจนน้ำไม่กระเพื่อมอย่างนั้นนะ
ฝึกกันไปนะจ๊ะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ
วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565