วัตถุประสงค์ของชีวิต
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ (๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.)
สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไป ให้ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ ขยับเนื้อ
ขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวด ไม่เมื่อย
แล้วก็หลับตาเบาๆ พอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ
อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเรานั้นให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น
ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย
ให้วาง ทำใจของเราให้ว่างๆ
แล้วก็มาสมมติว่า ภายในร่างกายของเรานั้น
ปราศจากอวัยวะ ไม่มีปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจเป็นต้น ให้เป็นที่โล่งๆ ว่างๆ เป็นปล่อง
เป็นช่อง เป็นโพรง คล้ายลูกโป่งที่เราอัดลมเข้าไป กลวงภายใน กลวงๆ ภายใน คล้ายๆ เป็นท่อ
ท่อแก้ว ท่อเพชรใสๆ
วางใจ
เราก็นึกน้อมใจของเรา ให้มาหยุดนิ่งๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น
เรานำมาขึงให้ตรึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง
ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาต จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา
๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ซึ่งเราจะต้องทำความรู้จักเอาไว้ว่าฐานที่ ๗ อยู่ตรงนี้ แต่เราจะเห็นชัดเจนต่อเมื่อใจมันหยุดนิ่งได้สนิท
แล้วเราก็น้อมใจของเรา ให้มาหยุดนิ่งๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ใจที่แวบไป แวบมา ออกไปนอกตัว นำกลับมาหยุดนิ่งๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้
จำง่ายๆ ว่าอยู่บริเวณกลางท้อง ในระดับเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือตรงนี้ ใจหยุดนิ่งๆ
พร้อมกับกำหนดบริกรรมนิมิต
บริกรรมนิมิต
เรานึกถึงเพชรสักเม็ดหนึ่งใสๆ กลมรอบตัว
เหมือนดวงแก้วที่เจียระไนแล้ว กลมรอบตัว นึกเป็นเพชรสักเม็ดหนึ่งใสๆ ขนาดใหญ่โตแค่ไหน
ก็แล้วแต่ใจเราชอบ นึกอย่างสบายๆ ให้เป็นที่ยึด ที่เกาะของใจเรา เพื่อใจจะได้ไม่ไปคิดเรื่องอื่น
นึกให้ใส ให้บริสุทธิ์ แล้วก็ค่อยๆ ประคองใจ ให้อยู่กับบริกรรมนิมิตเพชรเม็ดนี้ที่ใสๆ
กลมรอบตัว นึกอย่างสบายๆ
บริกรรมภาวนา
แล้วก็ประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหังๆๆ
ให้คำภาวนาสัมมาอะระหัง ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา จากกลางเพชรเม็ดใสๆ จะภาวนากี่ครั้งก็ได้
จนกว่าใจเราไม่อยากจะภาวนาต่อไป อยากจะหยุดใจ นิ่งๆ ไว้ที่กลางกายที่เพชรเม็ดนี้ใสๆ
หรือใครจะนึกเป็นพระแก้วใสๆ ก็ได้ เราคุ้นเคยอย่างไหน เราก็เอาอย่างนั้น เป็นบริกรรมนิมิต
วัตถุประสงค์ก็ต้องการดึงใจให้พ้นจากความสับสนวุ่นวายในเรื่องราวต่างๆ
ในชีวิตประจำวันที่ผ่านมา ให้มาหยุดนิ่งๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ เพราะว่า
หยุดเป็นตัวสำเร็จ ที่จะทำให้เราเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
ซึ่งเป็นที่พึ่งและที่ระลึกอันสูงสุดของพวกเราทั้งหลาย สิ่งอื่นไม่ใช่ พระรัตนตรัยจะเป็นที่พึ่งของเรา
จะรู้ได้ต่อเมื่อเข้าถึง
พระรัตนตรัยภายใน
ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง
พระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ
ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ
พุทธรัตนะ มีลักษณะ เหมือนพระพุทธรูป
เหมือนองค์พระ แต่ว่าสวยงามกว่าที่เราเคยเจอ เพราะว่าประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษ ครบถ้วนทุกประการ
เกตุดอกบัวตูม เหมือนดอกบัวสัตตบงกช ขนาดไม่ใหญ่ ไม่เล็ก ตั้งอยู่บนจอมกระหม่อม ที่เป็นลักษณะพิเศษที่เราเคยเข้าใจว่าเป็นมวยผม
บนพระเศียรที่มีเส้นพระศก เส้นผม ขดเวียนเป็นทักษิณาวรรตหมุนขวาตามเข็มนาฬิกา เรียงรายอย่างเป็นระเบียบสวยงามมาก
เป็นพระภายใน
เรียกว่า เป็นพุทธรัตนะ มีชีวิตจิตใจ คล้ายๆ
เรา แต่ว่าบริสุทธิ์ สะอาดเกลี้ยงเกลาจากสิ่งเศร้าหมองทั้งหลาย มีธรรมจักขุ เห็นได้รอบตัว
ทุกทิศ ทุกทางในเวลาเดียวกัน ซ้ายขวา หน้าหลัง ล่างบน จะน้อมไปในอดีตก็ได้ ในอนาคตก็ได้
แล้วก็มี ญาณทัสสนะ มีจักขุ มีญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง
รวมประชุมอยู่ในพุทธรัตนะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ใสบริสุทธิ์
จึงเรียกว่า รัตนะ
เป็นสิ่งที่มีคุณค่าใสๆ ใสเกิน ความใสใดๆ
ในโลก สงบนิ่ง อยู่ในอิริยาบถนั่งเจริญสมาธิ ไม่ยืน ไม่เดิน ไม่นอน เว้นจากการทำกิจแบบมนุษย์
แต่ว่าเป็นผู้รู้ รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในสรรพสัตว์ หรือสรรพสิ่งทั้งหลาย ในเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต
เรียกว่า พุทธรัตนะ หรืออีกชื่อหนึ่งว่าธรรมกาย คือ กายของท่านประกอบไปด้วยธรรมล้วนๆ ความบริสุทธิ์ล้วนๆ
๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวมประชุมกันอยู่ในธรรมกาย
ธรรมรัตนะ มีลักษณะเป็นดวงกลมๆ
ใสๆ อยู่ในกลางพุทธรัตนะ เป็นคลังแห่งความรู้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ รวมประชุมกันอยู่ตรงนั้น
เรียกว่า ธรรมรัตนะ หรืออีกนัยหนึ่งทรงรักษาพุทธรัตนะเอาไว้กับดวงใสๆ
กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว
สังฆรัตนะ คือ ธรรมกายละเอียด
หรือพุทธรัตนะละเอียดที่ซ้อนอยู่ในกลางธรรมรัตนะ ทรงรักษาธรรมรัตนะเอาไว้
รัตนนะทั้ง ๓ อย่างนี้ อยู่ในกลางกายของเรา
จะทำให้เราพ้นจากกิเลสอาสวะ จะดับทุกข์เราได้ แล้วไปสู่อายตนนิพพานแดนบรมสุข ที่มีแต่สุขอย่างเดียวล้วนๆ
แดนบรมสุข นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ เป็นสุขอย่างยิ่งไม่มีทุกข์เจือเลยแม้แต่นิดเดียว
เราเกิดมาทำไม
เราฝึกใจหยุดใจนิ่งก็เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวของเรา
พระรัตนตรัยมีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคนในโลก ต่างแต่ว่าจะรู้หรือไม่รู้เท่านั้น ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ
ศาสนาและเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ ล้วนมีรัตนะทั้ง ๓ ทั้งสิ้น คือที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง
อยู่ในกลางตัวของเรา เมื่อเข้าถึงแล้วจะดับทุกข์ได้ เราจะอบอุ่น จะมีความรู้สึกว่าปลอดภัย
แล้วจะปลอดจากภัยจริงๆ ภัยในอบาย ภัยในสังสารวัฏ และภัยในปัจจุบันนี้
วัตถุประสงค์ที่เรามาเกิดกันแต่ละภพ แต่ละชาติ
ก็เพื่อที่จะฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าไปถึงรัตนะทั้ง ๓ ดังกล่าว คือ กรณียกิจ เป็นงานที่แท้จริง ของการเกิดมาเป็นมนุษย์
ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ สิ่งอื่นยังเป็นเรื่องรองลงมา
เราทำมาหากินก็เพื่อให้ได้ปัจจัย
๔ มาหล่อเลี้ยงสังขาร เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทำพระนิพพานให้แจ้ง
สลัดตนพ้นจากกองทุกข์ คือวัตถุประสงค์ของชีวิต
แต่เราจะสลัดตนพ้นจากองทุกข์ และทำพระนิพพานให้แจ้งได้
ก็ต้องเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ ตรงนี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่ควรระลึก ที่เราจะต้องปฏิบัติให้ได้
ความสุขแท้จริงที่พุทธองค์ทรงค้นพบ
จับหลักของชีวิตได้อย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้เราดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างถูกวัตถุประสงค์ของชีวิต
เราได้ดำเนินชีวิตอย่างบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราเป็นต้น
ซึ่งท่านได้ผ่านชีวิตในสังสารวัฏมามากมาย เวียนว่าย ตายเกิด เป็นอะไรมาเกือบจะทุกอย่าง
ยกเว้นพรหมในชั้นปัญจสุทธาวาส ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระอนาคามี
พระอริยบุคคลชั้นที่ ๓ ที่จะไม่ต้องมาเกิดในมนุษย์อีก จะดับขันธ์ปรินิพพานในภพภูมินั้น
นอกนั้นท่านผ่านการเป็นมาหลายๆ อย่างแล้ว เกือบจะหมด
อบายในทุคติภูมิก็เคยไปมาแล้ว สุคติภูมิ
เทวโลกก็ไปมาแล้ว มาเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นทั้งมนุษย์ชั้นล่าง ชั้นกลาง และชั้นสูง จนกระทั่งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ปกครองโลก ปกครองทวีปทั้ง ๔ ที่อยู่รอบเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาและดาวดึงส์
สูงสุดก็เป็นมาแล้ว
ท่านค้นพบว่า ชีวิตเหล่านั้น ล้วนแต่มีพื้นฐานเป็นทุกข์
ทั้งทุกข์จรและก็ทุกข์ประจำ คือเกิดมาก็เป็นทุกข์ เช่น แก่ เจ็บ ตายเป็นต้น แล้วก็ยังเจอทุกข์จรมาอีก
ก็แปลว่า ตั้งแต่เกิดมากระทั่งตาย ชีวิตล้วนมีแต่ทุกข์ทั้งสิ้น สุขไม่เคยเจอเลย มีแต่ทุกข์มากหรือทุกข์น้อย
ทุกข์พอทนได้ กับทุกข์ที่ทนไม่ได้ มีแต่ทุกข์ลดลง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นความสุข กับมีแต่ความเพลินๆ
อยู่ในโลกนี้ เพลินกันไป โดยไม่มีสาระแก่นสาร
ในที่สุดก็ทรงค้นพบว่า สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี คือ เราจะไปหาความสุขที่แท้จริง
ทั้งๆ ที่เราอยากจะเจอ ปรารถนาจะเจออย่างยิ่ง ด้วยวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ใช่หยุดใจ หาเท่าไรก็ไม่เจอ
ความสุขที่เคยเข้าใจว่า อยู่ในคน ในสัตว์ ในสิ่งของ ล้วนแต่ไม่มีทั้งสิ้น แต่มันมีอยู่ที่เดียวเมื่อใจปลดปล่อยวางจากสิ่งเหล่านั้นแล้ว
ไม่ผูกพัน ไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วก็มาหยุดนิ่งๆ อยู่ภายใน
จนกระทั่งถูกส่วน เห็นแสงสว่างเข้ามาแวบหนึ่ง
ชั่วระยะเวลาที่งูแลบลิ้น ช้างพับใบหู หรือเหมือนสายฟ้าแลบแวบเดียว ความสุขนั้นเกิดขึ้น
จนพูดไม่ออกบอกไม่ถูก เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอะไรมาเทียบได้ ไม่ว่าเป็นความสุขที่เกิดจากการเห็นสิ่งที่สวยงามก็ตาม
ได้ยินเสียงเพราะๆ ได้ดมกลิ่นหอมๆ ได้ดื่มรสอร่อยๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวล หรือได้นึกคิดเพลินๆ
กันไปอย่างนั้น
อะไรต่างๆ เหล่านั้นจะประณีตแค่ไหน ไม่มีความพึงพอใจเท่ากับเมื่อใจหยุดนิ่ง
เกิดความรู้สึกโล่ง โปร่ง เบา สบาย ตัวขยาย ตัวหายไป แล้วก็กระแสธารแห่งความสุขก็พลั่งพรูออกมา
ให้เรามีความรู้สึกพึงพอใจ จนไม่อยากจะได้อะไรที่นอกเหนือจากนี้
เป็นสุขที่อยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง เหมือนดวงตะวันที่มีความสว่างอยู่ในตัวเอง
พึ่งตัวเองได้ เรียกว่า นิรามิสสุข เป็นสุขที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุภายนอก
นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นนอกจากใจหยุดใจนิ่งไม่มี
แค่แสงสว่างแวบเดียว แล้วก็ยังสุขไม่มีประมาณขนาดนั้น
แต่สุขในสุขนั้นก็ยังมีอีก สุขใจ หยุดชั่วแวบเดียว
ยังเป็นสุขพอประมาณ แต่ถ้าสุขเข้าถึงดวงธรรมภายในใสๆ จะสุขยิ่งกว่านั้นเข้าไปอีก อย่างพูดไม่ออก
บอกไม่ถูกเหมือนกัน ยิ่งใจหยุดนิ่ง ดิ่งเข้าไปสู่ภายใน
สุขที่เข้าถึงกายในกาย ถึงกายมนุษย์ละเอียด
สุขยิ่งกว่าเห็นดวงธรรมนั้นอีก
สุขที่เข้าถึงกายทิพย์ สุขยิ่งกว่าเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด
สุขที่เข้าถึงกายรูปพรหม สุขยิ่งกว่าเข้าถึงกายทิพย์
สุขที่เข้าถึงกายอรูปพรหม สุขยิ่งกว่าเข้าถึงกายรูปพรหม
สุขที่เข้าถึงกายธรรม หรือพุทธรัตนะ สุขยิ่งกว่าเข้าถึงกายอรูปพรหม
สุขที่เข้าถึงกายธรรมพระโสดาบัน หน้าตัก
๕ วา สูง ๕ วา สุขยิ่งกว่าเข้าถึงกายธรรมโคตรภู ที่หน้าตักหย่อนกว่า ๕ วา นิดหน่อย
สุขที่เข้าถึงกายธรรมพระสกิทาคามี หน้าตัก
๑๐ วา สูง ๑๐ วา สุขมากกว่าเข้าถึงกายธรรมพระโสดาบัน
สุขที่เข้าถึงกายธรรมพระอนาคามี หน้าตัก
๑๕ วา สูง ๑๕ วา สุขยิ่งกว่าเข้าถึงกายธรรมพระสกิทาคามี หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา
สุขที่เข้าถึงกายธรรมอรหัต ที่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะหมดสิ้น
สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษเลย หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา มีสุขมากกว่าเข้าถึงกายธรรมพระอนาคามี
หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา
หยุดอย่างเดียวเท่านั้น เป็นตัวสำเร็จ
เมื่อเข้าถึงกายธรรมอรหัตแล้ว ใจก็จะนิ่ง
ไม่เคลื่อนไหว จะนิ่งอยู่ภายใน ไม่เขยื้อน ไม่แวบไปโน่นไปนี่แล้ว เป็นสุขด้วยตัวของตัวเอง
เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านดำเนินชีวิตอย่างนี้ เมื่อประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วจึงถ่ายทอดความรู้ให้แก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
ผู้มีบุญได้ศึกษาปฏิบัติตามพระองค์ พระองค์ทำอย่างไรก็ให้ทำอย่างนั้น เมื่อพระองค์เป็นอย่างไร
ผู้มีบุญก็จะเป็นอย่างนั้น นี่คือวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ในแต่ละภพ แต่ละชาติ
เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว ต่อจากนี้ไป
เวลาที่เหลืออยู่นี้ ก็ให้ตั้งใจฝึกใจให้หยุด นิ่งๆ อยู่ภายใน โดยการกำหนดบริกรรมนิมิต
เป็นเพชรใสๆ หรือพระใสๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง
แล้วก็ประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหังๆๆ
เรื่อยไปอย่างสบายๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น มีอะไรให้ดูเราก็ดูไปอย่างสบายๆ ใจเย็นๆ
ทำอย่างนี้แค่นี้เท่านั้น เดี๋ยวเราก็จะเข้าถึงที่พึ่ง ที่ระลึกภายใน
เช้านี้ให้ลูกทุกคน สมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุกๆ
คนนะลูกนะ ต่างคน ต่างนั่งกันไปเงียบๆ จนกว่าจะถึงเวลาอันควร เวลาแห่งความสว่างแล้วจะได้ประกอบพิธีบุญ
ถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน แด่ภิกษุ สามเณรผู้ประพฤติธรรมกันต่อไป
วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565