อานิสงส์การฝึกใจให้หยุดนิ่ง
วันอาทิตย์ที่ ๑๑ ธันวาคม
พ.ศ. ๒๕๔๘ (๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย-ปรับใจ
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะจ๊ะ
หลับตาเบาๆ พอสบายๆ แล้วก็รวมใจหยุดไปนิ่งๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ให้หยุดใจนิ่งอย่างเบาๆ สบายๆ
บริกรรมนิมิต-บริกรรมภาวนา
ถ้าใจของเรายังไม่ตั้งมั่น
ยังแวบไปแวบมา คิดไปในเรื่องราวต่างๆ ก็ต้องกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นเป็นดวงใสๆ
หรือพระแก้วใสๆ เอาไว้ แล้วก็ประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหังๆๆ เรื่อยไปเลย
แต่ถ้าหากว่า
เราคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้ว ใจไม่ได้แวบไปคิดเรื่องอื่น เราก็แค่แตะใจเบาๆ
หยุดนิ่งเฉยๆ ในกลางกาย
วางใจ
พอเรานึกว่าจะรวมใจหยุดตรงนี้
ใจก็จะมารวมเลย อยู่ที่ตรงนั้น โดยไม่มีความรู้สึกว่ากดลูกนัยน์ตาไปดู คือ เราลืมเรื่องลูกนัยน์ตาไปเลย
ถ้าเราทำเป็นกันแล้ว เราคุ้นเคย พอหลับตา ใจมันก็จะรวมไปอยู่ในกลางกายกลางท้อง แล้วก็มีความรู้สึกว่า
ตัวโล่งเกิดขึ้น โล่ง โปร่ง เบา สบาย เป็นความรู้สึกพึงพอใจกับการทำอย่างนี้
ฝึกวางใจให้ชำนาญ
แล้วจะพบกับความอัศจรรย์
เมื่อใจกลับมาอยู่ที่ตั้งดั้งเดิม ทำเป็นแล้ว จะคุ้นเคยกับการวางใจ
ซึ่งก็ต้องอาศัยการฝึกฝน เหมือนกับการทำงานทุกประเภท งานทางโลก เราก็ต้องฝึกฝน ล้มลุกคลุกคลานกันไปก่อน
กว่าจะตั้งหลักได้ งานภายในซึ่งเป็นงานที่แท้จริงของชีวิตก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยการฝึกฝน
ให้มีชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่ง ชั่วโมงกลางกายให้มากๆ
ถ้าเราทำเป็นกิจวัตรก็ติดเป็นนิสัย
ไม่ว่าเราจะทำภารกิจอะไร ใจก็จะอยู่ตรงกลางตรงนั้น แล้วก็จะถูกแบ่งออกมาครึ่งหนึ่งสำหรับการทำภารกิจภายนอก
ถ้าเราทำเป็นแล้ว แปลว่า จุดเริ่มต้นของงานภายนอก ตั้งต้นจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ โดยมีพื้นฐานของใจที่โล่ง
โปร่ง เบา สบาย มีความสุขภายใน เป็นฐานรองรับกิจกรรมภายนอก เป็นข้อแตกต่างจากชาวโลกทั่วๆ
ไป หรือก่อนที่เราจะมาฝึกใจอย่างนี้
เราจะเห็นข้อแตกต่างของชีวิตที่ผ่านมา กับชีวิตที่เริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ว่า เป็นชีวิตที่ตั้งมั่น มีความสุข มีความเบิกบานอยู่ภายในลึกๆ แล้วก็ไม่ค่อยจะหวั่นไหวในอุปสรรคของชีวิต
จะไม่มีความคิดว่า เราผิดหวังหรืออะไรต่างๆ เหล่านั้น หรือเรายังไม่สมหวัง แล้วก็จะคิดแต่เพียงว่า
เราก็ต้องหาวิธีการให้ไปสู่เป้าหมายให้ได้อย่างมีความสุข
เพราะฉะนั้น
ต้องฝึกกันไปทุกวัน นี่เป็นงานที่แท้จริงของเรา พอถึงเวลาเราหมดอายุขัยแล้ว ความชำนาญในกิจกรรมภายนอกช่วยอะไรเราไม่ได้เลย
แต่ว่างานภายในตรงนี้ต่างหากที่จะทำให้ใจเราใส ปิดอบาย แล้วก็ไปสวรรค์ แต่ว่าเมื่อชีวิตของเรายังต้องหล่อเลี้ยงด้วยปัจจัย
๔ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เป็นต้น เราต้องทำมาหากิน ทำมาค้าขาย แล้วก็ต้องทำมาสร้างบารมี
ก็ต้องทำให้ถูกหลักวิชชาควบคู่กันไปอย่างนี้ ชีวิตจึงจะสมบูรณ์
การฝึกใจมีความจำเป็นสำหรับทุกคน
เพราะฉะนั้น
การฝึกใจให้หยุดนิ่ง จึงมีความจำเป็นสำหรับตัวเราเป็นอย่างยิ่ง
ไม่ว่าเราจะอยู่ในอาชีพอะไรก็ตาม จะอยู่ในสถานะใด เป็นพระ เป็นโยม เป็นนักเรียน นิสิต
นักศึกษา ผู้ครองเรือน ผู้บริหาร วัยปลดเกษียณแล้ว ชราแล้ว มีความจำเป็นทุกระดับ
จะอยู่บนเตียงคนป่วย
ก็ป่วยอย่างสง่างาม อย่างมีหลักยึดของใจ จะชราก็แก่อย่างสง่างาม เป็นคนแก่ที่มีความสุขใจ
ลูกหลานอยากเข้าใกล้ อยากลูบเนื้อลูบตัวเรา อยากมาขอศีลขอพร อยู่ใกล้แล้วรู้สึกเย็นกายเย็นใจ
อบอุ่นใจ การทำมาหากินก็จะเกิดความมั่นใจว่า ความล้มเหลวในชีวิตของเรา จะไม่ได้เจอ
จะเจอแต่ความสมหวังไปตามกำลังแห่งบุญ และความเพียรของเรา
เพราะฉะนั้น ก็ต้องหมั่นฝึกฝนอบรมใจของเราให้ได้ ฝึกไปเรื่อยๆ วันนี้ใจยังไม่ตั้งมั่น
ก็ไม่ได้แปลว่า พรุ่งนี้มันจะไม่ตั้งมั่น วันนี้ยังมืดอยู่ ก็ไม่ได้แปลว่า พรุ่งนี้จะมืด
หรือวันถัดๆ ไปมันจะมืดเหมือนเดิม มันก็จะค่อยๆ สว่างขึ้นไปเรื่อยๆ แหละ ต้องฝึกใจเพื่อตัวของเรา
และเพื่อสมาชิกภายในบ้าน ผู้ใกล้ชิดและทุกๆ คนในโลก
ดังนั้นก็ฝึกไป
ใจยังไม่ตั้งมั่นก็ประกอบบริกรรมทั้งสองดังกล่าว บริกรรมนิมิตกับบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง
เรื่อยไป ถ้าใจตั้งมั่นในระดับหนึ่งแล้ว เราก็หมดความจำเป็นที่จะไปนึกถึงบริกรรมทั้งสอง
แค่รวมใจมันก็เคลื่อนเข้าไปสู่ภายในแล้ว
อานิสงส์การฝึกใจให้หยุดนิ่ง
ยิ่งหยุดยิ่งนิ่ง
ก็จะยิ่งดิ่งไม่หยุด ก็จะยิ่งเคลื่อนเข้าไป แล่นไปหาพระรัตนตรัยที่มีอยู่ในตัวของเรา
ความสว่างก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น ความสว่างที่เหมือนแสงแก้ว แสงแห่งความบริสุทธิ์ที่มาพร้อมกับความเบิกบาน
ก็จะมาเมื่อใจเราค่อยๆ นิ่งไป
แล้วเราก็ต้องยอมอนุญาตว่า
บางครั้งมันก็แวบไปคิดเรื่องอื่นบ้าง อย่าไปกลุ้มใจ อย่าไปคิดว่า เรานั่งแล้วไม่ก้าวหน้า
แต่ก็ต้องปล่อยมันไปบ้าง แต่ฝึกบ่อยๆ เข้า ใจมันก็ไม่อยากจะไปไหน เพราะว่าอยู่ตรงกลางกายแล้ว
อยู่เย็นเป็นสุข เย็นกายเย็นใจอยู่ภายใน
การฝึกนี้จะมีอานิสงส์
มีสุขทั้งหลับทั้งตื่น หลับก็ง่าย ไม่ฝันร้าย หรือไม่ฝันเลย ถ้าจะฝันก็ฝันถึงเรื่องดีๆ
มีสิริมงคล ตื่นมาก็เหมือนกับเราออกมาจากแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ แหล่งแห่งความสุขอันไม่มีประมาณ
แหล่งแห่งดวงปัญญา ที่ไม่มีขอบเขต และแหล่งแห่งกำลังใจที่ไม่มีที่สิ้นสุด มันจะถูกดึงออกมา
พร้อมกับการลืมตาตื่นขึ้นมาของเรา
เราจะมีความเบิกบาน
ชุ่มชื่น จากใจก็ขยายไปสู่ระบบประสาทกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำให้ผู้ใกล้ชิดเราในบ้าน
นอกบ้าน ที่ทำงานทุกหนทุกแห่ง เห็นความแตกต่างของเราไปเรื่อยๆ แล้วอยากจะเข้าใกล้เรา
เข้าใกล้แล้วก็มีความสุข เราจะได้ยินถ้อยคำที่บันเทิงใจ ที่ชูใจเราให้เบิกบาน
แช่มชื่น เพราะสิ่งที่ปรากฏจากระบบประสาทกล้ามเนื้อ แล้วขยายไปสู่บรรยากาศรอบตัวเรานั่นแหละ
จะช่วยคลี่คลายความเครียด หรือมลทินของใจทุกๆ คน รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ให้มันบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น
เราจะลดความขัดแย้งในบ้าน
ที่ทำงานได้ดี แม้มีอยู่ก็อยู่ในระดับที่ทำงานร่วมกันได้ แล้วก็ไปถึงจุดหมายปลายทางด้วยกัน
เราจะไปอยู่ร่วมกับผู้ที่ยังมีกิเลสหนาปัญญาหยาบ อย่างมีความสุขภายใน มีใจตั้งมั่น
เราจะมองเห็นสิ่งแวดล้อมแตกต่างจากทุกๆ วัน ทั้งๆ ที่สิ่งแวดล้อมมันก็เหมือนเดิมนั่นแหละ
เพราะใจเราแตกต่างจากเดิม เดิมที่ไม่ตั้งมั่น แต่ใจอยู่ภายในมั่นคง ใจเราจะขยายหัวใจ
เพราะฉะนั้น
คน สัตว์ สิ่งของ เราเห็นแล้วจะสดชื่น เบิกบานกว่าทุกๆ วัน จะมีรอยยิ้มปรากฏอยู่บนใบหน้า
ที่เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นปกติ เหมือนดอกไม้ที่เบ่งบาน เมื่อน้ำเลี้ยงดอกไม้มันสดใส
น้ำเลี้ยงหัวใจของเรามันก็จะสดใส เมื่อใจเราหยุดนิ่ง
ฝึกกันไปเรื่อยๆ
ฝึกกันไปทุกวัน เพราะยังมีสิ่งที่เรายังจะต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นไปอีกเยอะแยะ ซึ่งเป็นความรู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านไปรู้ไปเห็นมา
เราจะเข้าใกล้วิชชา ๓ เข้าไปเรื่อยๆ
บุพเพนิวาสานุสติญาณ
ญาณเป็นเหตุแห่งการระลึกชาติหนหลังได้ จุตูปปาตญาณ ความรู้ที่จะทำให้เรา แจ่มแจ้งเรื่องกฎแห่งกรรม
การเวียนว่ายตายเกิดได้ กระทั่งความรู้ที่จะทำให้เราขจัดกิเลสอาสวะให้เบาบางเจือจางลงไปได้เรื่อยๆ
เราจะเข้าใกล้แหล่งแห่งวิชชาทั้งสามนี้ เมื่อใจเราหยุดนิ่ง ถึงระดับเข้าถึงกายในกายได้
กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม กระทั่งถึงกายธรรม ถึงพระรัตนตรัยในตัว
เมื่อเราเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวแล้ว เราแทบไม่ต้องไปถามใครเลยว่า นี่คือ
ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงใช่หรือไม่ พอถึงตรงนั้นแล้วเราก็จะทราบด้วยตัวของเราเอง
จะมีญาณทัสสนะเกิดขึ้น แล้วก็มีธรรมจักขุ แจ่มแจ้งขึ้นมาเอง
ได้ใหม่ๆ
ต้องรักษายิ่งชีวิต
เพราะฉะนั้น
ก็ต้องอาศัยการฝึกกันไปเรื่อยๆ นะ ฝึกฝนไป ได้ใหม่ๆ ในระดับกุศลนิมิต เห็นแสงสว่าง
เห็นดวงธรรม เห็นองค์พระใสๆ หรือกายภายใน ก็อย่าชะล่าใจ ต้องรักษาเอาไว้ให้ยิ่งกว่าชีวิตของเรา
และก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ใจก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน ในระดับที่เป็นสัจจธรรม
คือ เป็นพระธรรมกายจริงๆ ที่มีลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ มีเกตุดอกบัวตูม ที่ตั้งอยู่บนจอมกระหม่อม
บนพระเศียรที่มีเส้นพระศกเรียงรายกันอย่างเป็นระเบียบ ขดเวียนเป็นทักษิณาวัตร เราจะแจ่มแจ้งเรื่องลักษณะมหาบุรุษ
เมื่อเราได้เข้าถึงพระธรรมกายในตัว
เพราะฉะนั้น เห็นใหม่ๆ ได้ใหม่ๆ อย่าไปชะล่าใจ อย่าไปคิดว่า ทำเมื่อไรเราก็คงทำได้
เพราะความจริงอาจจะยังไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป เพราะว่าใจเรามันยังไม่มั่นคง ยังมีสิ่งต่างๆ
ที่มากระทบใจเรา บางครั้งก็กระทบแล้วก็กระเทือน บางครั้งกระทบแต่มันไม่กระเทือน เพราะฉะนั้นดีที่สุด
ปลอดภัยที่สุดก็คือ ฝึกกันไปเรื่อยๆ
ยิ่งหยุดยิ่งนิ่งก็ยิ่งบริสุทธิ์
ใจก็จะยิ่งบริสุทธิ์ บุญในตัวก็จะเกิดขึ้น จะไปตัดรอนวิบากกรรมวิบากมาร อุปสรรคต่างๆ
นานาในชีวิตของเรา หนักเป็นเบา เบาเป็นหาย
พระเดชพระคุณหลวงปู่ของเรา
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านก็เคยกล่าวเอาไว้ว่า
ใจหยุดประเดี๋ยวเดียว แวบเดียว ชั่วระยะงูแลบลิ้น ซึ่งมันไม่นาน ไม่กี่วินาที
หรือช้างพับใบหู หรือฟ้าแลบแปลบ ความสว่างที่เกิดขึ้นนั้น เป็นพลังบุญอย่างมหาศาล มากกว่าการสร้างโบสถ์
สร้างวิหาร ศาลาการเปรียญ หมดเงินทองไปเยอะ แต่ความสว่างภายในมันไม่ได้บังเกิดขึ้น
มันยังไม่เห็น บุญที่เกิดจากความสว่างที่เกิดภายในด้วยใจหยุดนิ่งนั้น ได้มากกว่าตรงนั้น
เพราะว่าจะเป็นบุญที่จะนำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน ส่วนบุญสร้างโบสถ์ วิหาร
ศาลาการเปรียญนั้น ยังเป็นบุญที่ทำให้เรายังเวียนว่ายตายเกิด อยู่ในกามภพ
เพราะฉะนั้น
อานิสงส์ของการฝึกใจให้หยุดนิ่ง จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องพอดีพอร้าย อย่างที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ของเรา
ท่านพูดบ่อยๆ อย่างนั้นแหละ
ใจเคลื่อนเข้าสู่ภายใน
ลูกทุกคนจึงจำเป็นจะต้องศึกษา
ฝึกฝน ทำความเพียรของเราต่อไป วางใจให้มันเป็นกลางๆ ไม่ให้มีความยินดีหรือยินร้ายบังเกิดขึ้น
ให้ใจเป็นกลางๆ ให้ได้สมดุลของใจ เป็นกลางๆ นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ เดี๋ยวเราก็จะดิ่งเข้าไปเองนั่นแหละ
เข้าไปสู่ภายใน
มันจะค่อยๆ เคลื่อนไปเหมือนน้ำที่ไหลริน เข้าไปอย่างนุ่มนวล ใจก็จะค่อยๆ ใส สว่าง เห็นดวงธรรมภายใน
บางครั้งก็เหมือนดวงดาวในอากาศ เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญบ้าง เหมือนพระอาทิตย์ยามเที่ยงวันบ้าง
โตกว่านี้บ้าง เท่าฟองไข่แดงของไก่บ้าง ใส บริสุทธิ์ ประดุจเพชรที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย
ใสเหมือนน้ำบ้าง ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้าบ้าง หรือใสเกินใสบ้าง อะไรจะเกิดขึ้นมา
อย่าให้ความยินดียินร้ายเข้ามาครอบงำใจของเรา ให้หยุดให้นิ่งอย่างเดียว เฉยๆ
ยึดหลักหยุดนิ่งเป็นหลัก วางใจเป็นกลางๆ สบายๆ อย่างนี้จึงจะถูกหลักวิชชากันนะ
เพราะฉะนั้น
ช่วงนี้อากาศกำลังดี แม้จะเป็นยามบ่าย หลังอาหารกลางวันก็ตาม แต่ว่าจิตของลูกเป็นจิตที่ห่างไกลจากนิวรณ์ธรรม
กำลังมีจิตที่ผ่องใส ก็ให้ฝึกใจ วางใจเบาๆ
จะกำหนดบริกรรมนิมิตควบคู่กับบริกรรมภาวนา หรือจะภาวนา สัมมาอะระหัง อย่างเดียว
หรือจะไม่ทำอะไรเลย อยากจะนิ่งเฉยๆ ก็เอา เลือกเอา ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ
อธิษฐานจิตตั้งผังสำเร็จ
คราวนี้เราก็นึกถึงบุญ
ที่เราทำผ่านมานับภพนับชาติไม่ถ้วน มาจนกระทั่งถึงวันนี้ ให้มารวมเป็นดวงบุญใสๆ
อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของเรา เป็นดวงบุญใสๆ
แล้วก็ตั้งผังสำเร็จของเราไว้เลยว่า
อานุภาพแห่งบุญทุกบุญที่เราทำผ่านมาถึงวันนี้ ขอให้เป็นผังสำเร็จว่า ภพชาติต่อไปในอนาคต
เราจะต้องเกิดมาสร้างบารมี เพื่อจะไปสู่ที่สุดแห่งธรรม เพื่อจะไปรื้อวัฏฏะ
ให้เราได้มีอุปกรณ์ในการสร้างบารมีนี้ ให้สมบูรณ์ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ
แล้วก็คุณสมบัติ
รูปสมบัติ ให้เรามีร่างกายที่แข็งแรง
ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ อายุขัยยืนยาว ได้สร้างบารมีกันไปนานๆ มีร่างกายที่สวยงาม สมส่วน
เหมาะสมต่อการสร้างบารมี ต่อการปฏิบัติธรรม
ทรัพย์สมบัติ ให้เราได้มีโภคทรัพย์สมบัติ สมบัติตักไม่พร่อง
เหมือนผู้มีบุญในกาลก่อน เช่น ของท่านชฎิลเศรษฐี โชติกเศรษฐี เมณฑกเศรษฐี เป็นต้น มีแล้วก็ให้เราเกิดกุศลศรัทธา
อยากจะสร้างบารมี อย่าได้มีความตระหนี่หรือหวงแหนทรัพย์เลย อย่าได้มีมานะทิฏฐิ
ถือตัว มีอติมานะ ดูถูกดูหมิ่นผู้อื่น ให้เราได้ทำบุญกับเนื้อนาบุญผู้เป็นอายุพระศาสนา
คุณสมบัติ ให้เรามีดวงปัญญาแตกฉานทั้งทางโลกและทางธรรม
ความรู้ดี ความสามารถดี ความประพฤติดี มีเอาไว้สำหรับเพื่อการสร้างบารมีไปทุกภพทุกชาติ
ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
สมบูรณ์ไปด้วยลาภ
ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพาน วิชชาธรรมกาย ให้ได้เกิดในร่มเงาพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายไปทุกภพทุกชาติ
ในครอบครัวธรรมกาย ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีสิ่งแวดล้อมเกื้อหนุนต่อการสร้างบารมี มีบุพการีที่ดี
หมู่ญาติที่ดี เป็นบัณฑิต เป็นนักปราชญ์ได้เป็นเครื่องสนับสนุนการสร้างบารมีของเรา
ให้ได้สะดวกสบายอย่างง่ายดาย
คนภัยคนพาลก็ให้ห่างไกล
เราอย่าได้อยู่ใกล้ อย่าได้เจอ อย่าได้คบ อย่าได้ไปอยู่ในวงจรของคนพาล ให้เราดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท
ฉลาดในการสร้างบารมี ไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
ให้บารมีของเราแก่รอบขึ้นไปเรื่อยๆ นอกนั้นเรามีข้อบกพร่องอะไร เราก็อธิษฐานไป
ส่วนปัจจุบันชาตินี้
เรากำลังสร้างบารมีอยู่ ก็ขอให้เราได้สร้างบารมีอย่างสะดวกสบาย อย่างง่ายดาย
จะทำบุญทุกบุญก็ขอให้เราทำได้ อย่าได้ตกบุญเลย ให้เรามีสายสมบัติเชื่อมโยงมา
เมื่อไปประกอบธุรกิจการงานอันใดที่เป็นสัมมาวณิชชา สัมมาอาชีวะ
ก็ให้ประสบความสำเร็จเป็นอัศจรรย์
ปฏิบัติธรรมะก็ให้พบพระธรรมกาย
ให้หมดหนี้สิน เหลือกินเหลือใช้ เหลือไว้สร้างบารมี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
อายุยืนยาว สร้างบารมีกันไปนานๆ ให้ซื้อง่ายขายคล่อง กำไรงาม เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ
ค้ำจุนพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย เราก็อธิษฐานไป
จะมีหมู่ญาติ
ลูกเต้า พวกพ้องบริวาร ก็ให้อยู่ในโอวาท อยู่ในศีล ในธรรม เป็นบัณฑิต
เป็นนักปราชญ์ สร้างบุญทุกบุญก็ให้ได้สำเร็จเป็นอัศจรรย์ เดินทางไกลไปไหนก็ให้บุญรักษา
ให้ปลอดภัย
จะไปทำหน้าที่ผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตร
ให้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพ พูดจาก็ให้ชนะใจคนหมด ให้เขา
ให้ทำลายความสงสัย แก้ข้อสงสัยของทุกๆ คนให้ได้ ให้เขาได้มีจิตเลื่อมใส ผ่องใส
เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ให้เขาทำความเห็นให้ตรงกับหนทางพระนิพพานได้
ถ้าเป็นบรรพชิต
ก็ขอให้ได้สร้างบารมีให้ได้ตลอดรอดฝั่ง อย่าได้มีอุปสรรคอันใด
เกิดขึ้นมาขัดขวางในหนทางแห่งการสร้างบารมี ให้เป็นเนื้อนาบุญ เป็นอายุพระศาสนา
เราก็อธิษฐานไป ไปให้อย่างที่เราต้องการ
อุทิศส่วนกุศล
แล้วก็บุญในวันนี้
จะมีมากน้อยเพียงไรก็ตาม เราขอแบ่งบุญอุทิศบุญนี้ให้กับบรรพบุรุษ บุพการี ญาติสนิท
มิตรสหาย และสัมพันธชน ตลอดจนคู่กรรมคู่เวร ที่เราเคยพลาดพลั้งไปเบียดเบียนเขาในยามอกุศลเข้าสิงจิต
เบียดเบียนเขาด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ แล้วมีวิบากกรรมติดมาข้ามภพข้ามชาติ ก็ให้เขามีส่วนแห่งบุญนี้
ที่มีทุกข์มากก็ให้ทุกข์น้อย ที่มีทุกข์น้อยก็ให้พ้นทุกข์ ที่มีสุขน้อยก็ให้สุขมาก
มีสุขมากแล้วก็ให้มากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ภพภูมิใดที่เราอุทิศบุญด้วยวิธีธรรมดาไปไม่ถึง
กำลังกุศลส่งไปไม่ถึง ก็ขอบารมีธรรมของมหาปูชนียาจารย์ทุกท่าน มีพระเดชพระคุณหลวงปู่ของเรา
ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย คุณยายอาจารย์ เป็นต้น ได้นำบุญนี้ไปให้กับท่านเหล่านั้น ที่มีทุกข์มากก็ให้ทุกข์น้อย
ที่มีทุกข์น้อยก็ให้พ้นทุกข์ ที่มีสุขน้อยก็ให้สุขมาก มีสุขมากแล้วก็มากเพิ่มขึ้น แล้วเราก็แบ่งบุญนี้ไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ไม่มีประมาณ ตลอดแสนโกฏิจักรวาลอนันตจักรวาล กามภพ รูปภพ อรูปภพ
สัตว์ที่เกิดในกำเนิดทั้ง
๔ ในอัณฑชะ ในชลาพุชะ สังเสทชะ หรือโอปปาติกะ
ก็ให้มีส่วนแห่งบุญที่เราได้แบ่งปันไปนะ ที่มีทุกข์มากก็ให้ทุกข์น้อย
ที่มีทุกข์น้อยก็ให้พ้นทุกข์ ที่มีสุขน้อยก็ให้สุขมาก มีสุขมากแล้วก็มากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
นะ
วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2565