เวลามีค่าล้ำ บรรยาย
เกินกว่าทรัพย์มากมาย โกฏิล้าน
ใช้เพื่อหยุดมุ่งหมาย ไปสุด ธรรมเฮย
จงอย่าได้เกียจคร้าน ปล่อยฟุ้งซ่านเสมอ
ตะวันธรรม
อย่ากินบุญเก่า
วันพฤหัสบดีที่
๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 4 |EP.8| : อย่ากินบุญเก่า
เมื่อเราบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะ
ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตัก พอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ
อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา
แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ
คราวนี้เราก็มาสมมติว่า
ภายในร่างกายของเราปราศจากอวัยวะ ปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น สมมติเป็นที่โล่งๆ
ว่างๆ เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงภายใน คล้ายๆ ท่อแก้ว ท่อเพชรใสๆ
หยุดเป็นตัวสำเร็จ
คราวนี้เราก็มานึกทบทวนคำสอนที่พระเดชพระคุณหลวงปู่
ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายท่านได้อบรมสั่งสอนมา สรุปได้ว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ”
“หยุด” ก็คือเอาใจมาหยุด
ใจที่แวบไปแวบมา คิดไปในเรื่องราวต่างๆ ให้ดึงมาหยุดนิ่งอยู่ภายใน
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ เอาใจมาหยุดนิ่งตรงนี้ โดยกำหนดบริกรรมนิมิตเป็นภาพ
หรือถ้าเรามั่นใจว่าไม่ฟุ้ง ก็ไม่ต้องนึกเป็นภาพ แต่ถ้าหากใจยังอดฟุ้งไม่ได้
ก็ควรจะนึกเป็นภาพ เพื่อให้ใจมีที่ยึดที่เกาะ ที่ผูกเอาไว้
เพราะใจของเราเหมือนม้าพยศ ไม่อยู่ในอำนาจในบังคับบัญชา จำเป็นจะต้องผูกเอาไว้
เหมือนผูกม้าพยศเอาไว้กับหลัก
เราก็ผูกใจเอาไว้กับบริกรรมนิมิต
คือ ภาพ จะเป็นดวงแก้วใสๆ ก็ได้ จะเป็นพระแก้วใสๆ ก็ได้ หรือจะเป็นภาพหลวงปู่
คุณยายก็ได้ หรือเป็นภาพที่เราคุ้นเคย จะเป็นเพชรนิลจินดาผลหมากรากไม้ เป็นต้น
หรือจะเป็นภาพอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นภาพที่นึกแล้วใจของเราบริสุทธิ์ สูงส่ง สมมติว่า เรานึกถึงดวงใสๆ ก็ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ที่กลางดวงใสๆ
“ตรึก” ก็คือนึกอย่างเบาๆ
สบาย คล้ายๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย สมมติเรานึกถึงดวงใส
ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ นิ่ง พร้อมกับประกอบบริกรรมภาวนาในใจว่า สัมมาอะระหัง
เรื่อยไปเลย กี่ครั้งก็ได้ จนกว่าใจจะหยุดจะนิ่ง
เวลาใจหยุดนิ่ง
มันจะทิ้งคำภาวนาไปเอง จะมีอาการ คล้ายๆ กับว่า เราลืมคำภาวนาไป
แต่ใจไม่ฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น หรือเกิดความรู้สึกว่า ไม่อยากจะภาวนา สัมมาอะระหัง
ต่อไปอยากจะรักษาใจให้หยุด ให้นิ่งเฉย ถ้าเกิดอาการหรือความรู้สึกอย่างนี้
เราก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนาใหม่ ให้รักษาใจให้หยุดนิ่งอยู่ในกลางดวงใสๆ ไปเรื่อยๆ
ไม่ช้าจะถูกส่วนเอง
ดวงภายใน
กายภายใน
พอถูกส่วนเข้า
ก็จะตกศูนย์วูบเข้าไปภายใน ไปที่ฐานที่ ๖ จะไปยกเอาดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบลอยขึ้นมา
เป็นดวงใสๆ บริสุทธิ์ประดุจเพชร โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่
ดวงนี้หลวงปู่ท่านเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือดวงปฐมมรรค
เป็นดวงธรรมเบื้องต้น เมื่อธรรมดวงนี้บังเกิดขึ้น
การเดินทางเข้าไปสู่ภายในก็จะเริ่มต้นในเส้นทางสายกลางของพระอริยเจ้า
โดยมีจุดหมายปลายทางคืออายตนนิพพาน ท่ามกลางเราก็จะพบดวงธรรม พบกายมนุษย์ละเอียด
กายทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม แล้วก็จะพบพระรัตนตรัยคือ ธรรมกาย
พระรัตนตรัยนั่นแหละ
จะนำเราข้ามวัฏสงสารไปสู่ฝั่งพระนิพพานได้ จะเข้าถึงธรรมกายโคตรภู กายธรรมพระโสดาบัน
กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอรหัต คือจุดหมายปลายทาง
นี่สำหรับคนที่สามารถน้อมใจมาที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ได้เลย
เริ่มต้น ณ
จุดที่สบาย
ส่วนบางท่าน
จะน้อมนึกมาไว้กลางกาย กลางท้องมันยาก เราก็เริ่มต้น ณ จุดที่ง่ายก่อน ที่ทำแล้วเรารู้สึกว่า
มีความพึงพอใจ มีความสุขสนุกกับการที่ได้วางใจ ณ ตรงนั้น วางแล้วก็มีชีวิตชีวา
ใจจะใส จะเริ่มต้นจากตรงนั้นก่อนก็ได้ เช่น ที่ข้างหน้า ที่ตรงปากช่องจมูก
หญิงซ้าย ชายขวา หรือที่หัวตา ตรงที่น้ำตาไหล หญิงซ้าย ชายขวา
หรือที่กลางกั๊กศีรษะ ในระดับเดียวกับหัวตาของเรา หรือที่เพดานปาก
ช่องปากอาหารสำลักหรือปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก จนกระทั่งถึงกลางท้อง ที่ฐานที่ ๖
จะเริ่มต้นจากตรงไหนก่อนก็ได้
ที่เรามีความพึงพอใจ เอาตรงนั้นนะ ว่ากันตามถนัด แต่อย่าให้ขัดหลักวิชชา
แล้วเราก็ตรึกนิ่งอยู่ตรงนั้นไปเรื่อยๆ ตรงนั้นไปก่อน จนกระทั่งถึงจุดๆ หนึ่ง
ใจมันนุ่มนวล คือไม่แข็งกระด้างแล้ว เราจะน้อมเข้ามาข้างในที่ฐานที่ ๗ ก็ได้
เราก็ค่อยๆ น้อมมาจากตรงนั้น หรือบางทีมันลงมาเองเลย มันวืดเข้าไปข้างในเลย
อย่างนี้ก็ได้นะลูกนะ เพราะฉะนั้นใครถนัดอย่างไหน เราก็เอาอย่างนั้นไปก่อน แต่อย่าลืมนั่งอย่างมีชีวิตชีวา
อย่าซังกะตายนั่ง นั่งอย่างสบายๆ เบิกบาน แช่มชื่น ให้ใจใสๆ
อย่ากินบุญเก่า
อย่าให้วันหนึ่งคืนหนึ่งผ่านไปโดยการกินบุญเก่า
ใช้บุญเก่า เพราะบุญเก่าใช้ไป มันก็มีวันหมด
เราจะต้องสั่งสมบุญใหม่เพิ่มขึ้นทุกวันทุกคืน ทุกอนุวินาที อย่างที่ให้การบ้านไปนั่นแหละ
บางจังหวะเราก็ให้ทาน บางจังหวะเราก็รักษาศีล บางจังหวะก็เจริญภาวนา
ศีลกับภาวนานี่รักษาไม่ยาก ทานเราอาจจะต้องใช้ในบางจังหวะ
เพราะฉะนั้นง่ายที่สุดคือภาวนา หมั่นทำการบ้านทุกวันให้สม่ำเสมอเถอะ
เดี๋ยวลูกทุกคนก็จะต้องเข้าถึงดวงธรรม ถึงกายภายในถึงพระธรรมกายจนได้ ถ้าได้ทำ
เราก็ทำได้ ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำเท่านั้น
ถึงธรรมกาย
ชีวิตจึงจะปลอดภัย
ต้องถึงธรรมกายนะลูกนะ
ชีวิตจึงจะปลอดภัย แล้วเราจะเลือกไปอยู่ภพภูมิไหนก็ได้
ไม่ว่าวิบากกรรมจะมาตัดรอนชีวิตของเราให้ตายแบบไหนก็ตาม ไม่ต้องไปกังวลกับมัน พระธรรมกายในตัวนี่แหละจะช่วยเราได้
ไม่ต้องไปแวะที่ยมโลก ไม่ไปแวะบนพื้นมนุษย์ มันแวบไปเลย ไม่ต้องแวะ แวบไปเลย
ที่ของเรา
หมู่คณะของเราอยู่บนชั้นดุสิตนะลูกนะ ผูกใจไว้ตรงนั้น
เพราะฉะนั้นต้องสร้างกำลังบุญไปให้ถึงทั้งทาน ศีลภาวนา ทำให้ครบถ้วนบริบูรณ์เลย
ที่ของเรา
วงบุญพิเศษอยู่ตรงนั้น พิเศษอย่างไรก็จะค่อยๆ ทยอยเล่าให้ฟัง
แต่ตอนนี้ต้องปูพื้นฐานกันไปก่อน ให้เราได้คุ้นเคยเกี่ยวกับเรื่องภพภูมิ
เรื่องกฎแห่งกรรม กฎแห่งไตรลักษณ์หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องใส
เรื่องหมองต้องศึกษาตรงนี้ให้คล่องเสียก่อน
เพราะฉะนั้น
ต้องจับหลักให้ได้ จับหลักได้แล้วชีวิตปลอดภัยแล้วก็มีชัยชนะ
มีความสุขตั้งแต่ยังไม่เข้าถึงเลย ถึงธรรมกาย เมื่อไรก็สุขเมื่อนั้น หรืออย่างน้อยก็ให้ได้ดวงธรรมใสๆ
เข้าถึงดวงธรรมเมื่อไรก็สุขเมื่อนั้น สุข สดชื่น เบิกบาน อย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน
เป็นความสุขที่กว้างขวาง มีปริมาณไม่จำกัด เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง
แค่เข้าถึงดวงธรรมใสๆ
อารมณ์ที่จะเข้าถึงธรรมจะคล้ายๆ
กับอารมณ์ใกล้จะหลับแต่ว่ามีสติ มีความรู้ตัว มีความสบาย มันคล้ายๆ กันเลย
กับตอนที่เราใกล้จะหลับ แต่ตอนใกล้จะหลับมันขาดสติ จะสบายอย่างเดียว
แล้วก็วืดหลับไปเลยตรงฐานที่ ๗ แต่จะเห็นธรรม ต้องมีสติเพิ่มขึ้น สติ สบาย
สม่ำเสมอ สังเกตให้ดีนะลูกนะ
สาธุชน : บ้านแก้วเรือนทองของคุณยายอาจารย์ฯ : ๑๙.๐๐ -
๒๑.๐๐ น.
วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565