หากซึ้งคำพ่อได้ สั่งสอน
จงอย่าได้เกี่ยงงอน ค่ำเช้า
ทั้งยืนนั่งเดินนอน หมั่นตรึก
ระลึกถ้อยพุทธเจ้า ย่างก้าวเดินตาม
ตะวันธรรม
นิวรณ์ ๕ / Let it be
วันอาทิตย์ที่
๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 1 |EP.14| : Let it be
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ อากาศกำลังเหมาะสมในการเข้าถึงธรรม
หลับตาเบาๆ สบายๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี
ขยับตัวสบายๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย อย่าให้มีส่วนใดส่วนหนึ่งเกร็งนะ แล้วก็ต้องแก้ที่ติดนิสัยเอาลูกนัยน์ตากดลงไปดู
เวลาหลับตาแค่ปิดเปลือกตา แล้วก็ช้อนตาเหลือกค้างขึ้นไป
จะได้ช่วยแก้ที่กดลูกนัยน์ตาลงไปดูในท้อง
เราไม่จำเป็นเลยที่จะต้องใช้ตาเนื้อ
เพราะเวลาแสงสว่างหรือภาพภายในเกิดขึ้น มันไม่เกี่ยวกับลูกนัยน์ตาเลย แล้วเป็น
ไปไม่ได้ที่ตาเนื้อจะไปเห็นอะไรในท้อง ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ
ตาเนื้อก็เหมาะสำหรับมองวัตถุภายนอก ไม่เหมาะสำหรับจะกดเข้าไปดูภาพภายใน
ให้สังเกตร่างกายของเรา เขาจะบอกเราเองว่า มันไม่ใช่ คือ พอคิ้วขมวด
มันตึงบริเวณกระบอกตา หน้าผาก เกร็งทั้งเนื้อทั้งตัว
นั่งแล้วรู้สึกเวลามันนานเหลือเกิน หรือรู้สึกเบื่อ ท้อ อย่างนี้ไม่ใช่แล้ว
อย่าฝืนทำต่อนะ ให้รีบปรับใหม่ เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ เรายอมเสียเวลาเริ่มต้นใหม่บ่อยๆ
ตรงนี้สักนิดหนึ่ง จนกว่าเราจะปรับกายและใจเป็น
ถ้าทำเป็นแล้ว ทุกอย่างก็ไม่ยาก หรือยากไม่มาก มันยากพอสู้
คือถ้าสู้แล้วมันก็ไม่ยาก ถ้าเรารู้หลักวิธีการแล้ว มันอยู่ที่ตรงนี้
เพราะว่าพระธรรมกายก็มีอยู่แล้วในตัวของเรา กายภายในก็มีอยู่ ดวงธรรมก็มี แสงสว่างก็มี
แต่ว่าความมืดมันมาบดบังใจเราที่เขาเรียกว่า นิวรณ์
แล้วพอเราทำไม่ถูกวิธีไปอีกก็ยิ่งไปกันใหญ่
นิวรณ์ ๕
กามฉันทะ คือ
การที่ใจหมกมุ่นเรื่องกามฉันทะ เรื่องเพศ เรื่องทรัพย์ อะไรต่างๆ เหล่านั้น
ไปผูกพันมันก็ทำให้ใจไปอยู่กับสิ่งนั้น ไม่ได้อยู่ในตัว
พยาบาท คือ
ผูกโกรธ ความขุ่นมัว ขัดเคือง
วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยว่า
เราจะปฏิบัติได้หรือ คนอื่นเขาปฏิบัติได้จริงหรือ พระรัตนตรัยในตัวมีจริงหรือเปล่า
นึกเอาเองมั้ง อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น
ถีนมิทธะ คือ
ความหดหู่ เคลิบเคลิ้ม ความท้อ ความง่วงเพราะพักผ่อนน้อยบ้าง
หรืออาการเซื่องซึมหลังอาหารเพราะเมาอาหารอย่างนี้ เป็นต้น
อุทธัจจกุกกุจจะ คือ
ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ หมายถึงใจคิดไปในเรื่องราวต่างๆ ที่คุ้นเคย
เรื่องคนสัตว์สิ่งของ หรือถ้าเป็นวิชาการเขาก็เรียก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
ธรรมารมณ์
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เขาเรียกว่า นิวรณ์ ๕
หรือความมืดที่มาบดบังใจเราเหมือนดวงตะวันมีอยู่
แต่มีหมู่เมฆดำทะมึนมาบดบังเอาไว้เราจึงมองไม่เห็นดวงตะวันภายในใจของเราก็มีนิวรณ์
๕ มาบดบังไม่ให้เราเห็นแสงสว่างภายใน ดวงธรรม กายภายใน กระทั่งพระธรรมกาย
แต่ความมืดนี้จะแพ้ใจที่หยุดนิ่ง คือถ้าเราสามารถรวมใจได้
สามารถดึงใจออกมาจากความสับสนวุ่นวาย จากความผูกพันและหมกมุ่นในเรื่องคน สัตว์
สิ่งของ ธุรกิจการงาน ครอบครัว การศึกษาเล่าเรียน
ประการแรก ดึงใจกลับมาอยู่ในตัวก่อน ตรงกลางท้องแถวๆ บริเวณนั้น
ถ้าใครมั่นใจว่าไม่ฟุ้ง ก็อยู่ตรงนั้น โดยไม่ต้องกำหนดนิมิตเป็นภาพ
ทำอย่างนั้นก็ได้ แต่ถ้าใครเป็นคนชอบฟุ้ง เราก็กำหนดเป็นภาพแทน
เพื่อจะได้เป็นเครื่องหมายว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่แถวๆ ท้องตรงนี้
เราจะกำหนดเป็นดวงใสๆ หรือพระแก้วใสๆ หรือภาพพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ
ของเราก็ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งแทนพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เป็นวัตถุอันเลิศอันบริสุทธิ์สูงส่ง
ให้เป็นประดุจหลักของใจผูกเอาไว้ให้สติอยู่ตรงนี้
นึกถึงศูนย์กลางกายวันละ
๒ เวลา
ให้เรานึกถึงศูนย์กลางกายบ่อยๆ จะมีภาพหรือไม่มีภาพก็ไม่เป็นไร
ให้ใจเราอยู่ในท้อง ตามการบ้านที่ให้ไว้ในโรงเรียนอนุบาลฯ นั่นแหละ ถ้าทำบ่อยๆ
ใจก็จะคุ้น
เพื่อนต่างศาสนิกอิสลามิกชนที่เคร่งครัด เขายังทำละหมาดวันละ ๕ ครั้ง
คือใจระลึกนึกถึงพระผู้เป็นเจ้าที่เขาเคารพสูงสุดถึง วันละ ๕ ครั้ง เขายังทำกันได้
แต่เรานั้นสามารถทำละหมาดได้ตลอดเวลา คือ ทำแค่ ๒ ครั้ง หลับตากับลืมตา
หลับตาก็ทำที ลืมตาก็ทำที หรือหายใจเข้าก็ทำที หายใจออกก็ทำที ของเรา ๒ คราว
ของเขา ๕ ขอยืมคำว่าละหมาดของเพื่อนต่างศาสนิกมาสมมติใช้
ก็แปลว่าเอาใจของเรามาเก็บไว้ภายในกลางท้อง ผูกพันไว้กับพระรัตนตรัย
โดยเริ่มต้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ พอใจหยุดจริงๆ แล้วทั้งสามจะรวมที่เดียวกัน
เหมือนเราเอาของ ๓ อย่าง ใส่ไว้ในกระเป๋าอย่างนั้นแหละ มันอยู่ที่เดียวกัน
ตอนนี้เราก็นึกทีละอย่าง จะนึกถึงดวงก่อนก็ได้ องค์พระก่อนก็ได้
นึกถึงพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ก่อนก็ได้ สมมติเรานึกถึงดวง พอใจหยุดจริงๆ
เดี๋ยวก็ได้พระรัตนตรัยทั้งสาม เพราะฉะนั้นเรามาเริ่มต้นทำให้ถูกต้องกันเสียก่อน
ทำถูกตั้งแต่ต้น
ถ้าทำถูกตั้งแต่ต้น ท่ามกลางหรือเบื้องปลายมันก็ง่าย
หนทางที่เราจะเดินต่อไปมันก็ไม่ยากแล้ว ยากพอสู้ หลังจากนั้นก็เหลือแต่ทำบ่อยๆ
ซํ้าๆ ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า ภาวิตา พหุลีกตา คือ ทำบ่อยๆ ทำซํ้าๆ เรื่อยๆ เนืองๆ ก็จะชำนาญขึ้นไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น อันดับแรกเอาใจมาอยู่ก่อน แล้วก็อย่าลืมตัวว่าเราเป็นมนุษย์ธรรมดา
ไม่ใช่ผู้วิเศษ เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยความเพียรพยายามและทำให้ถูกหลักวิชชา
มันก็แค่นี้เอง อย่าหลงตัวเองว่า เราเป็นเทวดามาเกิด จะทำเมื่อไรก็ได้
นั่นมันก็หลงตัวเองเกินไป
เพราะฉะนั้น เอาแค่ว่า เราเป็นคนธรรมดาก็จะต้องทำแบบคนธรรมดาที่ยังมีกิเลสหนาปัญญาหยาบ
ยังตกเป็นเชลย เป็นบ่าวเป็นทาสของพญามารอยู่เช่นเดียวกับเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย
ต่างแต่ว่าเราเป็นเชลยผู้รู้หนทางที่จะหลุดพ้นได้ แล้วก็เริ่มลงมือทำไปทุกวัน
อย่าไปท้อ เดี๋ยวก็จะต้องเข้าถึงธรรมสักวันหนึ่ง
เหมือนเรารับประทานข้าว เราอย่าไปท้อว่า โอ
ต้องหุงต้องหาต้องตักเข้าปาก แล้วยังต้องเคี้ยวอีก เคี้ยวแล้วยังไม่พอ
ยังต้องกลืนอีก เลยท้อไม่ยอมรับประทานต่อไป มันก็ตาย อาหารทางกายยังอย่างนั้น
อาหารทางใจก็คล้ายๆ กัน เพราะฉะนั้นก็ให้มีความเพียร ทำให้สมํ่าเสมอ
ทุกครั้งที่เรานั่งหลับตา แม้มืด เมื่อย ฟุ้ง บุญก็ยังเกิดขึ้นในตัว
แม้ไม่มากมันก็ยังมี ก็เท่ากับว่าบุญได้ถูกสั่งสมไปเรื่อยๆ ทุกวัน
จนกระทั่งถึงจุดที่เราประสบความสำเร็จ แปลว่า ทันทีที่เรานั่งหลับตา
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ได้ชื่อว่ากำความสำเร็จที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวล้านเปอร์เซ็นต์แล้ว
ความไม่สำเร็จมีเพียงประการเดียว
คือ ไม่ได้ทำ ถ้าได้ทำก็จะค่อยๆ ทำได้ จะสว่างช้าหรือเร็วไม่สำคัญ
สำคัญขอให้เริ่มลงมือทำ ทำให้สมํ่าเสมอ เดี๋ยวเราก็ได้
ที่เราสว่างช้ากว่าคนอื่น หรือหยุดได้ช้ากว่าคนอื่นก็ต้องโทษตัวเรา
ชีวิตที่ผ่านมาในภพอดีตโน้น เราไม่ขยันน่ะ เราไม่เห็นความสำคัญในการปฏิบัติธรรม
ไม่ให้โอกาสตัวเองในการฝึกใจให้หยุดนิ่งแต่ให้โอกาสตัวเองไปทำอย่างอื่นที่มันไม่เกิดประโยชน์
ไม่เป็นสาระแก่นสาร
ถ้าอดีตเราสั่งสมการนั่งมามาก ปัจจุบันชาติก็ได้อย่างง่ายๆ
เหมือนเราฝากเงินไว้ในแบงค์มันก็เพิ่มพูนขึ้น แต่ว่าอดีตผ่านไปแล้วก็ช่างมันเถอะ
ปัจจุบันนี้ให้เราทำความเพียรให้เต็มที่ เพราะการฝึกใจหยุดนิ่ง
จะมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ตรงที่ว่าเราสามารถหยุดใจนิ่งได้
ถ้าทำถูกหลักวิชชา ให้เร็วก็ได้ จะเร็วขนาดไหนก็ได้แต่อย่างอื่นเราควบคุมไม่ได้
มันไม่อยู่ในอำนาจของเรา แต่ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ เราฝึกได้ หยุดนิ่งได้
ฝึกใจเย็นๆ
แล้วก็ต้องใจเย็นๆ ต้องฝึกใจเย็นๆ ค่อยๆ ประคองใจไป
บางครั้งก็ยอมอนุญาตให้ง่วงบ้าง ฟุ้งบ้างก็ช่างมัน เราก็เฉยๆ ฟุ้งหยาบก็ลืมตา
ง่วงก็หลับ เมื่อยก็ขยับ ก็ปรับกันไปอย่างนี้ วนเวียนกันไป
เดี๋ยวมันก็สู้เราไม่ได้ ความมืดในใจก็จะต้องหายไป หมดไปจากเรา
หรือล่มสลายจากเราไปสักวันหนึ่ง วันนี้อากาศกำลังสดชื่น ไม่หนาว
แต่ว่ากำลังเย็นสบาย เหมาะในการฝึกใจหยุดนิ่งมากทีเดียว
ใจหยุดนิ่งเราจะใช้ตลอดเส้นทางจนถึงที่สุดแห่งธรรมจะใช้วิธีการอย่างอื่นไม่ได้
นอกจากหยุดกับนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น เรารู้วิธีการแล้วมันก็ง่าย
เหลือแต่การฝึกฝนให้หยุดให้นิ่งๆ นิ่ง ถ้าเราทำถูกหลักวิชชาตัวจะไม่ทึบ ตัวจะโปร่ง
โล่ง และเบาๆ สบาย ตัวจะพองโต ขยาย เบาๆ สบายๆ ต้องสบาย....
เพราะฉะนั้นเราสามารถทำกันได้ทุกคน ถ้ามีความเพียรพยายาม
ทำกันให้ถูกหลักวิชชา
เพราะฉะนั้นถ้าหากวันไหนเราทำไม่ได้ผล ก็แสดงว่าเราทำไม่ถูกหลักวิชชา เราก็ทบทวนสิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟัง ว่า เอ้อ
ดูเหมือนง่ายๆ แล้วเราฟังผ่าน จริงๆ
คำมัน “ง่าย” แต่คำมัน “ลึก” นะ ง่ายแต่ลึก
เพราะเป็นภาษาประสบการณ์ภายใน
ตอนนี้เรานั่งเราปล่อยนิ่งๆ เบาๆ นะจ๊ะ ตาปรือๆ
อย่าไปบีบเปลือกตานะ นิ่งๆ
เดี๋ยวมันก็นิ่ง นิ่งเข้าไปอีก นิ่งเบาสบายผ่อนคลาย นิ่ง นุ่ม เบา สบาย ผ่อนคลาย
ไม่คาดหวังว่าจะเห็นอะไร เห็นไม่เห็น ก็ไม่เห็นจะเป็นไร นิ่งนุ่มเบาสบาย
ผ่อนคลายเรื่อยไปเลย แล้วพอนิ่งนุ่มจริงๆ ผ่อนคลายจริงๆ ให้ปล่อย
ให้เป็นของมันไปเอง let it be ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้นเรื่อยๆ สม่ำเสมอ
แม้ไม่มีอะไรให้เราดู
Let it be
ทีนี้บางคนจะเอาใจไปไว้ในท้อง รู้สึกมันก็ยังยากอยู่ดี
ถ้าอย่างนั้นเอาอย่างนี้ เราหลับตาเฉยๆ สบายตรงไหน เอาตรงนั้น คล้ายๆ
กับศูนย์กลางกายมันขยายไปแล้ว โตเท่ากับสภาธรรมกายสากล
แล้วเราเข้าไปอยู่ในศูนย์กลางกายแล้วทั้งก้อนกายนั่น
ซึ่งความจริงตรงนั้นความรู้สึกเราอาจจะอยู่ที่ลูกนัยน์ตาก็ช่างมัน
มันสบายตรงนั้น เราก็เอาตรงนั้นก่อน
เหมือนเราไปนั่งอยู่ในศูนย์กลางกายทั้งตัว ถ้าอย่างนั้นมันจะไม่มึนศีรษะ จะนิ่ง
แล้วก็รักษาอย่างนั้นน่ะ ปล่อยให้มันเป็นไป Let it be
ทีนี้บางทีแสงสว่างมันก็แวบเกิดขึ้นที่หางตาบ้าง หัวตาบ้าง ข้างหน้าบ้าง
หรือบนศีรษะบ้าง เราก็ยังคงนิ่งอย่างเดิม ไม่ต้องไปดึงลงมาไว้ในท้อง
แสงสว่างอยากอยู่ตรงไหนก็ปล่อยไปก่อน ตามใจเขาไปก่อน เดี๋ยวเขาก็จะตามใจเรา
เราก็นิ่งเฉยๆ
การที่แสงสว่างเกิดขึ้นแม้ไม่ถูกที่ที่เราต้องการก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
แสดงว่าเราเริ่มชนะความมืดในใจไปในระดับหนึ่งแล้ว เหมือนลมที่ค่อยๆ
เคลื่อนย้ายเมฆที่บดบังดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ไปทีละน้อย
ให้นิ่งต่อไปอีกอย่างเบาสบาย ผ่อนคลาย
ไม่คาดหวังว่าจะเห็นอะไร เห็นไม่เห็นก็ไม่เห็นจะเป็นไร
เราทำใจหยุดนิ่งเฉยๆ แค่นั้นเอง ยิ่งเราไม่อยากได้อะไร เราจะได้ทุกสิ่งที่ต้องการ
นี่ก็เป็นเรื่องแปลก
วางใจนิ่งเฉยๆ ไม่ผูกพันกับคนสัตว์สิ่งของ เพราะว่าคนก็ดี สัตว์ก็ดี
สิ่งของก็ดี เดี๋ยวมันก็พังกันไปทั้งนั้น แม้ชีวิตของเราเองก็เช่นเดียวกัน
ก็ต้องไปสู่จุดสลาย แต่ก่อนไปสู่จุดสลายเราต้องทำความสว่างภายในให้ปรากฏ
เราต้องครอบครองให้ได้ก่อน
เอาไว้ตรงไหนก่อนก็ได้
ใจเอาไว้ในท้องไม่ได้ เอาไว้ตรงไหนก่อนก็ได้ เหมือนไม้แขวนเสื้อ
ตอกตะปูไว้ตรงไหนก็แขวนไว้ตรงนั้นก่อน วันหลังค่อยไปตอกที่อื่น ค่อยๆ ย้ายไป
พอซื้อตู้มาก็เอาเสื้อไปแขวนในตู้ยังไม่มีตู้ก็แขวนไว้ตรงไหนก่อนก็ได้
นี่ก็เหมือนกัน มันอยู่ในท้องไม่ได้ เอาไว้ตรงไหนก่อนก็ได้ หน้าผาก ศีรษะ
หรือระหว่างตีนผมตรงนั้นก็ได้ คล้ายๆ ตาเราจะเหลือกดูข้างบน
เหมือนมองอะไรข้างบนอย่างนั้นก็ได้
ทางเดินของใจมีตั้ง ๗ ฐาน เราก็เลือกเอา แล้วเราจะมีความรู้สึกว่า
การทำสมาธิเราทำได้ ไม่ได้ยากอะไร ลูกทุกคนทำได้ สบาย ตรงไหนเอาตรงนั้น
ไม่ต้องกลัวว่ามันผิดหลักวิชชา เพราะเรารู้แล้วว่าเป้าหมายเราไปฐานที่ ๗
แต่ว่าเริ่มต้นตรงไหนก็ได้ สบายๆ
ใครนึกดวงได้ก็นึก นึกไม่ได้ก็ช่างมัน นึกถึงองค์พระ เอ้า พระไม่สวย
ก็ไม่เป็นไร ตามใจท่านไปก่อน หรือนึกได้แต่มันไม่ชัด ไม่ชัดก็ไม่เป็นไร
นั่งแล้วรู้สึกตัวหายไปก็ช่าง นิ่งเฉยๆ เคว้งคว้าง อยู่กลางอวกาศเราก็นิ่ง
ลองทำดูนะ ทำไปเรื่อยๆ สบายๆ
ส่วนใครสามารถเอาใจไว้ในท้องได้แล้วดวงเกิด เราก็ดูเท่าที่มีให้ดูนะ
อย่าไปเร่งด้วยวิธีผิดๆ คือ ไปบีบเค้นภาพ ดูเท่าที่มีให้ดู แล้วก็ Let
it be ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น
เดี๋ยวมันก็จะชัดขึ้นมาเองอย่างน่าอัศจรรย์
ถ้าเราไปบีบเค้นภาพมันจะปวดหัว เพราะมันผิดวิธี ให้ดูเฉยๆ
ถ้าใครองค์พระชัดขึ้นมาแล้ว เราก็ดูธรรมดาๆ เหมือนดูก้อนอิฐก้อนหินอย่างนั้น
เราดูพระจะสีอะไรก็ตาม ทำด้วยวัสดุอะไรก็ตาม เราก็ดูเฉยๆ ดูโดยไม่มีอารมณ์ร่วม
หรือดูไปงั้นๆ สักแต่ว่าดู เดี๋ยวเราจะเห็นความอัศจรรย์ของคำว่า “สักแต่ว่า” คือ
พระจะค่อยๆ ชัดขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ใสเอง สว่างเอง ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565