หาตัวกลัวให้เจอ
วันเสาร์ที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ (๑๙.๐๐ - ๒๐.๓๐ น.)
สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย
เมื่อเราบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่ว ให้มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตัก พอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับตาให้สบายๆ
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเรา ให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย
ให้วาง ทำใจว่างๆ
แล้วก็มาสมมติว่า
ภายในร่างกายของเรา ปราศจากอวัยวะ ไม่มีมันสมอง ไม่มีปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ
เป็นต้น เป็นที่โล่งๆ ว่างๆ เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงภายใน คล้ายท่อแก้วท่อเพชรใสๆ
วางใจ
วันนี้
เราจะลัดขั้นตอน เพราะว่าได้คุยธรรมะมาเกินเวลา จนกระทั่งมีเวลานั่งนิดเดียว เพราะฉะนั้นเรามาทางลัดเลยนะลูกนะ
ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ อยู่ในกลางท้อง ให้เอาใจไปหยุดนิ่งๆ
อยู่ในกลางท้อง ที่เรามั่นใจว่า ตรงนี้ใช่เลย
ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ประมาณนี้เลย นึกทีเดียว แล้วก็วางใจเฉยๆ หรือเราจะเอาตัวของเรา อยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ที่ขยายเต็มห้อง จนสุดขอบฟ้าก็ได้ ทำใจหยุดนิ่งๆ วางเบาๆ ใจสบายๆ
นึกถึงบุญ
วันนี้
เราได้บุญเยอะแยะ จากการที่เราได้เอาทราย
เอาดินที่บ้านไปร่วมบุญที่จะสร้างมหาวิหารของคุณยาย บุญใหญ่เยอะแยะที่เกิดขึ้นกับเรา
ดวงบุญโต ใส สว่างไสว ซ้อนๆๆ
จนกระทั่งดูเป็นท่อธารแห่งบุญ ที่ละเอียดซ้อนกับที่หยาบ เรามองไปมันจะเหมือนกับเป็นท่อกลวงๆ ใสๆ สว่างไสว เราได้บุญกันเยอะมากมายกันทุกคนเลย ลูกพระราชฯ
หลานคุณยายฯ มีบุญมากๆ
ทำให้ถูกวิธี
วันนี้
เราจะเอาใจมาหยุด นิ่งๆ ให้ใจใสๆ ใครนึกถึง ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้ ก็นึก ถ้านึกแล้วสบาย ใครนึกไม่ได้ก็ลืมไปเลย วางใจให้นิ่งๆ
อย่างเดียว ตรงไหนก่อนก็ได้ ตรงที่สบายเพราะว่าตอนสุดท้าย เราจะมาหยุดที่ ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ฉะนั้นเริ่มต้นจากตรงไหนก็ได้ ด้วยวิธีการต่างๆ
ตั้งเยอะแยะ ที่แนะนำไปทุกๆ วัน เลือกเอานะลูกนะ
ที่สำคัญ คือ หยุดกับนิ่ง เราจะต้องใช้ตลอดเส้นทางสายกลางนี้เลย ต้องจับหลักตรงนี้ให้ได้
ปรับที่ใจ ไม่ใช่ปรับที่ภาพ เหมือนกล้องส่องทางไกล
จะดูภาพให้ชัด ต้องปรับที่กล้อง ใจก็เหมือนกัน ต้องปรับให้มันหยุด ให้มันนิ่ง
มีสติกับสบาย ให้สม่ำเสมอ เดี๋ยวใจก็หยุดนิ่งๆ
ไม่ต้องไปคำนึงถึงความมืดหรือความสว่างนะลูกนะ
หยุดนิ่งอย่างเดียว มืดก็ช่าง สว่างก็เฉย ใจของเรานิ่งในนิ่งอย่างเดียว
แม้เข้าถึงดวงธรรม ถึงกายภายใน ถึงองค์พระแล้วก็ตาม เราก็ยังคงหยุดนิ่งๆ
ในกลางสิ่งที่เราเข้าถึง นิ่ง เบาๆ สบายๆ เอาใจวางเบาๆ แตะเบาๆ มันก็จะเข้ากลางได้เอง
สำหรับบางท่านที่ยังไม่เข้าใจวิธีการเข้ากลาง จะไปแหวกไปดันอะไร ก็ไม่เอานะลูกนะ
อย่างนั้นปวดหัว ยิ่งเข้ายิ่งเล็ก ยิ่งแคบ เพราะฉะนั้นนิ่งเฉยๆ พอถูกส่วน เดี๋ยวมันถูกดูดเข้าไปเอง
แล้วก็จะชัด จะใส จะสว่าง
ต้องจำนะลูกนะ
ที่แนะนำไป จำเอาไว้ ตรงไหนที่มันเป็นประโยชน์ต่อเรา
จำตรงนั้นไว้
นึกถึงสิ่งเล็กๆ แล้วทุกข์ใจ
มีบางท่าน เป็นทุกข์ใจว่า
นึกถึงสิ่งเล็กๆ แล้ว ไม่มีความสุขเลย หวาดเสียว สะดุ้งกลัว ถ้าเป็นอย่างนี้ มันจะมี ๒ วิธี คือ
๑. เราต้องเอาชนะความกลัวนั้นให้ได้
ด้วยความไม่กลัว เพราะว่าสิ่งที่เรากำหนดเล็กๆ พอใจหยุดแล้วมันจะขยาย กว้างขวาง ใหญ่โตไปอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดทีเดียว
คือ ใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง กลัวตรงไหน เราก็หันหน้าสู้กับมัน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบอกว่า
เมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้ธรรม เมื่อความกลัวเกิดขึ้นกับเรา
ถ้าเกิดขึ้นในอิริยาบถนั่ง
เราก็จะฝืนนั่ง หาตัวกลัวให้มันเจอ
ถ้าเรายืน
แล้วเกิดความกลัว เราก็จะฝืนยืน ไม่นั่ง
ไม่เดิน ไม่นอน จะเอาชนะความกลัวนั้นให้ได้
ถ้าเราเดินจงกรมอยู่
เกิดความกลัว เราก็จะไม่นั่ง ไม่ยืน แล้วก็ไม่นอน
จะอยู่ในอิริยาบถนั้นเพื่อเอาชนะความกลัว
เมื่อเรานอนอยู่
กำหนดจิต เกิดความสะดุ้งกลัวขึ้น เราไม่นั่ง ไม่ยืน แล้วก็ไม่เดินจงกรม ฝืนอยู่ในอิริยาบถนอนอย่างนั้น เพื่อหาว่า ตัวกลัวนั้นอยู่ที่ไหน
เรากลัวผี
เราก็ฝืนเข้าไปในป่าช้า
กลัวในอิริยาบถไหน เราก็อยู่ในอิริยาบถนั้น เพื่อหาตัวกลัว
และเราก็พบว่า กลัวอยู่ที่ใจคิดปรุงแต่งไปเอง
เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้จักตัวกลัวแล้ว เราก็จะไม่กลัวอีกต่อไป เราก็จะเอาชนะมันได้ เราก็นั่งได้ทุกที่ ทุกหนทุกแห่ง นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งนะลูกนะ
๒. อีกวิธี ถ้าหากว่า นึกเล็กๆ แล้วเรากลัว เราก็นึกใหญ่ๆ
ซิจ๊ะ เอาตัวของเราอยู่ในศูนย์กลาง เหมือนเราเข้ากลางได้แล้ว อยู่ในที่ที่ขยาย กว้างขวาง
ใหญ่โต ศูนย์กลางกายขยายสุดขอบฟ้า ตัวเราใสเป็นเพชร ใสเป็นพระ จะเป็นเพชรก็ได้
เป็นพระก็ดี เอาอย่างเดียวนะลูกนะ ความสะดุ้งกลัวในที่แคบก็จะหมดไป
เมื่อใจหยุดดีแล้ว
มันจะเป็นอิสระ จะกว้างขวาง จะไม่แคบ
แต่ถ้าหากเราปักใจ กดจิตลงไป มันจะแคบ เพราะฉะนั้นต้องวางให้สบายๆ
ทำใจให้เบิกบาน
ถ้าจำง่ายๆ
คือ ทำตัวให้สบาย ทำใจให้มันหยุด ง่วงก็หลับ หลับอยู่ในกลาง เมื่อยก็ขยับ ฟุ้งก็ลืมตา
แล้วเราเริ่มต้นว่ากันใหม่ จำให้ดีนะลูกนะ
ยอมที่จะเริ่มต้นใหม่อย่างถูกวิธี ถูกต้อง โดยไม่กลัวเสียเวลา
เริ่มที่ถูกต้อง อย่างสบายๆ เดี๋ยวจะสมหวังดังใจนะลูกนะ
แม้ไม่มีทางลัดอื่นใด ที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวได้ แต่ก็มีทางด่วนพิเศษ
ที่จะเข้าไปถึงได้อย่างน่าอัศจรรย์ ก็คือ หยุดกับนิ่งนั่นเอง เพราะ หยุดเป็นตัวสำเร็จ จำตรงนี้ให้ดีนะลูกนะ
นั่งทุกครั้งไม่ต้องไปคาดหวังว่า
วันนี้เราจะต้องนั่งให้ดี
วันนี้จะต้องให้ดีกว่าเมื่อวาน
หรือวันอื่นๆ อย่าไปคาดหวัง เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ ทุกครั้ง เพราะเรายังเป็นนักเรียนอนุบาล
ฝันในฝันวิทยา ค่อยๆ ฝึกฝนอบรมไป
หมั่นสังเกต
หมั่นสังเกตนะลูกนะ
เราทำถูกวิธีไหม หมั่นสังเกต จะพบเหตุแห่งข้อบกพร่อง แล้วก็ช่องทางแห่งความสำเร็จ
หมั่นสังเกตให้ดี ตั้งใจเกินไปไหม หรือหย่อนเกินไปไหม เราก็ปรับกัน
คาดหวังไปหรือเปล่า
ยังติดใจอารมณ์เก่าๆ ที่เราเคยได้ว่า โอ้ วันนั้นนั่งดี โอ้โฮ สว่าง มีความสุข มีความเบิกบาน
ไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อนเลย ในวันโน้น วันในอดีต
เริ่มต้นนั่งทีไร นึกอยากจะได้อย่างนั้น
อย่างนี้ผิดวิธี ให้ลืมไปเลยว่า เราเคยเจอประสบการณ์ที่ดีๆ อย่างนั้น
มาเริ่มต้นใหม่ด้วยการเป็นนักเรียนอนุบาล เริ่มต้นอย่างง่ายๆ ทำตัวให้สบาย ทำใจให้เบิกบาน ให้หยุด ให้นิ่ง ง่วงก็ปล่อยให้หลับในกลาง
เมื่อยเราก็ขยับเบาๆ ไม่ให้สะเทือนคนข้างเคียงเขา ฟุ้งเราก็ลืมตามาดูคุณยาย
มาดูพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ดูดวงแก้ว ดูองค์พระ ให้ใจมันใสๆ
เบิกบาน พอรู้สึกว่า เออ มันชุ่มชื่น มีความสุขแล้ว ก็ค่อยๆ หรี่ตาลงไป จนกระทั่งถึงในระดับที่เราสบาย
จะเริ่มต้นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
การเริ่มต้นอย่างนี้
จะทำให้เราคุ้นเคยกับความถูกต้อง ความถูกต้องจะทำให้เราเข้าถึงทางด่วนพิเศษ Super highway to the diamond
Buddha ทางด่วนพิเศษที่จะเข้าถึงพระธรรมกาย กายแก้ว
กายใส กายเพชรในตัวนะจ๊ะ
เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว
ต่อจากนี้ไป ต่างคนต่างนั่งทำความละเอียดของใจเรา ค่อยๆ ทำไป วันนี้ได้แค่ไหน
เราก็พึงพอใจแค่นั้นไปก่อน แล้วกลับไปบ้านด้วยใจที่เบิกบาน นั่งหน้ายิ้มๆ ยิ้มมาจากภายใน ด้วยใจที่ใสๆ
อย่างนี้นะจ๊ะ
วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2565