• label
  • Home

นำนั่งสมาธิ โดย หลวงพ่อธัมมชโย

  • Home
  • Search
  • Title
  • Label
  • List
Menu
2545 เทคนิควิธีการปฏิบัติธรรม 450528F รอบค่ำ

เทคนิควิธีการปฏิบัติธรรม 450528F รอบค่ำ

 


       เทคนิควิธีการปฏิบัติธรรม

วันอังคารที่  ๒๘  พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ (๑๙.๐๐ - ๒๑.๐๐ น.)

วัดพระธรรมกาย  สภาธรรมกายสากล


ปรับกาย-ปรับใจ

 

เมื่อเราบูชาพระรัตนตรัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไป ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานทุกๆ คนนะจ๊ะ

 

ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ

 

หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตานะจ๊ะ

 

แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ ให้ใจใสๆ

 

นึกถึงบุญ

 

แล้วก็สมมติว่า ภายในร่างกายของเราปราศจากตับ ไต ไส้พุง ไม่มีอวัยะภายในเลย เป็นที่โล่งๆ ว่างๆ กลวงๆ ใสๆ คล้ายท่อเพชร ท่อแก้ว ใสๆ ให้เป็นทางไหลผ่านของกระแสธารแห่งความบริสุทธิ์ กระแสธารแห่งบุญบารมี ๓๐ ทัศ ที่เราได้สั่งสมอบรมมา ตั้งแต่ปฐมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ สร้างบารมีเรื่อยมาทุกชาติ มากบ้าง น้อยบ้าง นับชาติกันไม่ถ้วน มาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

 

รวมกับอานุภาพอันไม่มีประมาณของพระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ แล้วก็สังฆรัตนะ และพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ หรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์ รวมเป็นกระแสธารแห่งความบริสุทธิ์ ที่ไหลผ่านกลางท่อแก้ว ท่อเพชรใสๆ

 

ขจัดสิ่งที่เป็นมลทินที่อยู่ในใจของเรา ให้มันหมดสิ้นไป ตั้งแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความหงุดหงิด งุ่นง่าน ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ โงกง่วง ซึมเซา ง่วงเหงาหาวนอน นิวรณ์ทั้ง ๕ อุปกิเลสทั้งหลาย วิบัติ บาปศักดิ์สิทธิ์ วิบากกรรม วิบากมาร อุปสรรคต่างๆ นานาในชีวิต ทุกข์ โศก โรค ภัยต่างๆ ให้ละลายหายสูญไปให้หมด

 

ให้เหลือแต่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ปรากฏเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นดวงใสๆ คล้ายกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย กลมรอบตัว ขนาดเล็กเท่ากับดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน บังเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 

ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 

ถ้าใครไม่รู้จักว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ที่ไหน ให้สมมติว่า หยิบเส้นด้ายขึ้นมาสองเส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาไปด้านซ้ายเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม ให้สมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง สูงขึ้นมาสองนิ้วมือ ตรงนี้เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งจะเห็นได้ต่อเมื่อใจของเราหยุดนิ่งได้สนิท สมบูรณ์ ๑๐๐ % แต่ตอนนี้ ใจเรายังหยุดไม่สนิท ก็ให้จำง่ายๆ ว่า อยู่ตรงกลางท้อง ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือ หรือจำง่ายกว่านี้อีกก็คือ อยู่กลางท้องนั่นเอง

 

ความบริสุทธิ์เบื้องต้นบังเกิดขึ้นที่ตรงนี้ ตรงกลางท้อง อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน บังเกิดขึ้นที่ตรงนี้นะจ๊ะ

 

ให้เอาใจของเราที่แวบไปแวบมา คิดไปในเรื่องราวต่างๆ นำมาหยุดนิ่งๆ อยู่ที่กลางดวงใสๆ ให้ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของดวงใสๆ

 

การตรึก

 

ตรึก ก็คือการนึกถึงดวงใสๆ อย่างสบายๆ คล้ายๆ กับการนึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย สิ่งที่เรารัก ไม่ใช่เป็นการไปเพ่งที่ลูกแก้ว หรือไปบังคับใจ บีบเค้นภาพลูกแก้วให้ทะลักออกมาอยู่ในกลางท้อง แต่เป็นการนึกง่ายๆ คล้ายกับนึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย เช่น เราคุ้นกับลูกทุเรียน ก็จะเห็นลูกทุเรียนชัด คุ้นกับเงาะเพราะขายเงาะ ก็จะนึกเงาะได้ชัด ขายมังคุด เอ้า นึกมังคุดได้ชัด ขายส้ม ก็นึกส้มได้ชัด ขายซาลาเปา นึกซาลาเปาได้ชัด

 

มีลูกหลวงพ่อคนหนึ่ง เขาขายซาลาเปา เขานึกซาลาเปาชัดทีเดียว อยู่กลางท้อง เห็นซาลาเปา ใส แจ่ม อยู่กลางท้องเลย เพราะเขาคุ้นกับซาลาเปา วันนั้นขายซาลาเปาอย่างกับเทน้ำเทท่า ทำอย่างนี้ทุกวัน ขายดีทุกวัน จนหมดหนี้หมดสิน เหลือกินเหลือใช้เลย นึกซาลาเปาได้ง่าย นึกดวงแก้วก็คล้ายๆ อย่างนี้ เหมือนนึกถึงสิ่งที่เราคุ้น ขายทองก็นึกทองง่าย ขายเพชร ขายพลอย ก็นึกเพชร นึกพลอย นึกให้ง่ายๆ อย่างนี้ อย่างสบายๆ โดยที่เราไม่ได้ใช้ความพยายาม เขาเรียกว่า การตรึก นึกเบาๆ อย่างนี้นะลูกนะ

 

แต่แทนที่เราจะนึกอย่างนั้น เราก็นึกเป็นดวงใสๆ บางคนก็ชัดมาก บางคนก็ชัดน้อย แต่ชัดน้อยจะมีอยู่ถึง ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์ ที่ชัดมากจะมีอยู่ไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ ที่ชัดมากเป็นเพราะบุญเก่าของเขาที่สั่งสมการปฏิบัติธรรมกันมายาวนาน นับภพนับชาติไม่ถ้วน

 

เขาสั่งสมมามาก พอถึงเวลาตรึกถึงดวงใส เขาก็นึกได้ชัด ใส แจ่ม อย่างนี้มีไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนใหญ่จะมีอยู่ ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์ ที่ใหม่ๆ ไม่ค่อยจะชัด และมักจะเป็นทุกข์ใจที่มันไม่ชัด ไม่ยอมรับว่า เรามองไม่ชัด เหมือนคนไม่มีเงิน ไม่ยอมรับว่า เรายังไม่มีเงิน จะไปทำอย่างเศรษฐีเขา อย่างนี้ลำบาก เมื่อมันไม่ชัด มันมีให้ดูแค่นี้ เราก็ยอมรับสภาพว่า มีให้ดูแค่นี้ เราก็ดูไปแค่นี้ อย่างสบายๆ นิ่งๆ ไปเรื่อยๆ

 

มองผ่านๆ คือ จะว่ามองดวงอย่างจริงจังก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มองดวงในกลางท้องก็ไม่ใช่ อยู่ในระหว่างครึ่งทาง มองผ่านๆ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า การตรึก คือ นึกอย่างเบาๆ สบายๆ มองผ่านๆ จะว่าตั้งใจมองก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ตั้งใจมองมันก็ไม่เชิง มันอยู่ระหว่างตั้งใจก็ไม่ใช่ ไม่ตั้งใจก็ไม่เชิง อย่างนี้เรียกว่า มองผ่านๆ และนี่คือ การตรึก

 

เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ

 

ตรึกอย่างนี้ให้ได้ตลอดเวลา อย่าเผลอไปคิดเรื่องอื่น แต่ถ้าหากว่ามันเผลอ เพราะใจเรามันคุ้นที่จะไปคิดเรื่องอื่น ก็ปล่อยมันไป อย่าไปกังวลกับมัน  รู้ตัวเราก็เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ ให้มีความสุขทุกครั้ง  อย่าเป็นทุกข์ใจ  เมื่อมันแวบไป เราก็ประคองดึงมันกลับมาใหม่

 

เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ คล้ายๆ กับการรับประทานข้าวทุกวัน พอเราตื่นมา ล้างหน้าล้างตาเสร็จ ถึงเวลารับประทานอาหาร ข้าวก็ข้าวสุกเหมือนเมื่อวานนี้ แต่เมื่อวานนี้เราใช้หมดไปแล้ว เราก็ต้องเริ่มต้นรับประทานใหม่ ตอนเช้า ตอนเที่ยง ตอนเย็น วันพรุ่งนี้ ก็ต้องมาเริ่มต้นใหม่อีก

 

นึกถึงดวงใสๆ ก็คล้ายๆ อย่างนี้ เหมือนยินดีกับการเริ่มต้นหายใจใหม่ หายใจออกแล้วก็เริ่มต้นหายใจเข้าใหม่ ไม่ใช่หายใจเข้าทีเดียวมันใช้ได้ตลอดเวลา เอ้า ออกไปอีกแล้ว ก็เริ่มต้นหายใจเข้าใหม่ เริ่มต้นนึกถึงดวงใสๆ ใหม่ ก็คล้ายๆ อย่างนั้นนะลูกนะ

 

เข้าถึงธรรมได้ต้องสบายๆ


แล้วก็ต้องยอมรับว่า ไม่มีทางลัดอื่นใดเลยที่จะทำให้ใจหยุดนิ่งๆ ที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทางลัดอื่น อย่างกินก๋วยเตี๋ยว แล้วจะให้มันใจหยุด มันไม่ได้ ต้องสั่งสม คือ ต้องทำบ่อยๆ ทำทุกวัน แล้วก็หมั่นสังเกตดูว่า เราวางใจของเราอย่างไร มองผ่านๆ จริงไหม หรือว่าเราตั้งใจเกินไป จนเกร็งไปหมดทั้งเนื้อทั้งตัว นั่งแล้วปวดเมื่อย ก็ให้สังเกต แล้วก็ปรับปรุงวิธีการเอา ปรับให้ดีๆ วางใจสบายๆ

 

เวลาจะเห็น มันคล้ายๆ กับตอนใกล้จะหลับ หรือตอนตื่นจากหลับใหม่ๆ อารมณ์จะคล้ายๆ กัน ตอนใกล้จะหลับ แต่ถ้าเราไม่เผลอ มันก็ไม่หลับ มันจะหล่นวูบลงไปเลย เห็นดวงใสขึ้นมา

 

ต้องหมั่นสังเกตในการปฏิบัติธรรม  วิธีไหนที่เราทำแล้วไม่ได้ผล  อย่าไปดันทุรังทำ

การจะเข้าถึงธรรมได้  มันต้องสบายๆ ใจสบายๆ

 

อย่างเช่น ตรึกนึกถึงดวงใสก็อย่างสบายๆ  ถ้าตรึกไม่ได้ หรือพยายามทำอย่างที่ได้แนะนำแล้ว ก็ยังไม่ได้อีก ก็ช่างมัน วางใจนิ่งเอาไว้ เฉยๆ ทำใจให้ใสๆ ให้เยือกเย็น

 

ต้อนรับความมืดที่มีอยู่ด้วยความปีติยินดี เหมือนเราได้รับของรางวัลที่เกินควรเกินคาด มีความปลื้มปีติยินดีอย่างนั้น

 

เพราะฉะนั้น ถ้าหากเรานึกไม่ออก ก็ช่างมัน ไม่ต้องไปนึกมันเลย นิ่งเฉยๆ วางเบาๆ สบายๆ จะภาวนา สัมมาอะระหัง ก็ได้ หรือจะไม่ภาวนาก็ได้ ค่อยๆ ประคองใจไปอย่างสบายๆ ถ้าเมื่อยก็ขยับ ถ้าง่วงก็ปล่อยให้มันหลับ ถ้าฟุ้งก็ลืมตา พอหายฟุ้งก็ว่ากันใหม่ ปรับวิธีการอย่างนี้นะลูกนะ

 

ค่อยๆ ปรับไป ใจต้องเย็นๆ ใจต้องสบายๆ ต้องแช่มชื่น เวลานั่งแล้ว อย่างน้อยต้องไม่มีความทุกข์ ต้องไม่มีความเครียด ไม่ใช่ว่าไม่ได้นั่งแล้วรู้สึกว่า อารมณ์จะสบายกว่าตอนนั่ง อย่างนี้นั่งไปก็ไม่เกิดประโยชน์  นั่งแล้วมันต้องดีกว่าไม่ได้นั่ง

 

เพราะฉะนั้น วางใจเบาๆ สบายๆ มองเผินๆ ผ่านๆ ที่กลางกาย ทำอาการคล้ายๆ กับใกล้จะหลับ แต่มีสติ ให้หลับหลอกๆ อย่าไปหลับจริงจัง วางเบาๆ เหมือนไม่ได้ตั้งใจที่จะดูตรงกลางนะจ๊ะ วางสบายๆ ใจเย็นๆ ค่อยๆ ประคองใจไปเรื่อยๆ เดี๋ยวใจก็จะใส ใจก็จะละเอียดลุ่มลึกไปตามลำดับ

 

พอถูกส่วนเข้า เดี๋ยวก็จะเข้าถึงดวงใส ที่มีอยู่ภายในตัวของเรา แล้วเดี๋ยวก็จะเข้าถึงกายในกาย เข้าถึงพระธรรมกายในที่สุด สิ่งนี้มีอยู่แล้วในตัวของเรา แต่เป็นของที่ละเอียด หน้าที่ของเรา คือ ทำใจให้ละเอียดเท่ากับสิ่งที่มีอยู่ในตัว ด้วยวิธีการหยุดการนิ่ง หยุดนิ่งๆ อย่างสบายๆ ทำใจให้เยือกเย็น ให้ใสบริสุทธิ์ อย่างนี้ จึงจะถูกส่วนถูกต้องนะจ๊ะ

 

ให้ใจใสๆ บริสุทธิ์ นิ่งๆ นุ่มๆ ละมุนละไม วางสบายๆ ค่อยๆ ฝึกไป หมั่นสังเกตว่า ระหว่างเรานั่งตอนนี้  เราเอาใจตั้ง หรือว่าเราตั้งใจ  ถ้าตั้งใจ มันจะตึง ถ้าใจตั้งอยู่แล้ว ทำความรู้สึกหลวมๆ เหมือนว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วในตัว  ความรู้สึกสบายก็จะเกิดขึ้น

 

ความมืดไม่ได้เป็นศัตรู

 

นั่งแล้วมืดก็อย่าไปท้อใจนะลูกนะ  ให้ทำความยินดีกับความมืด  ต้อนรับความมืดด้วยความปีติยินดี  เป็นความมืดที่น่ารัก ไม่ใช่น่ากลัว ไม่เป็นอุปสรรคอันใดในการเข้าถึงธรรม เราวางให้มันสบาย มืดกับสบาย ทำตรงนี้ให้ได้เสียก่อน

 

สำหรับท่านที่นึกดวงใสไม่ออก ให้เรานิ่งๆ อยู่ในกลางความมืด ด้วยความสบายใจ ไม่กระสับกระส่าย ไม่ทุรนทุราย ไม่หงุดหงิด งุ่นง่าน ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ให้อยู่อย่างสบายๆ ไปเถิด แล้วความมืดมันก็จะค่อยๆ ให้ความสบายกับเราเพิ่มขึ้น เมื่อเรามีความยินดีที่จะต้อนรับมัน

 

จากมืดมากก็จะมามืดมัว จากมืดมัวก็มาสลัว จากสลัวแล้วมันก็จะค่อยสางๆ เหมือนฟ้าสางๆ ค่อยๆ แจ้งขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วก็แจ้งขึ้น สว่างขึ้น เหมือนแสงอาทิตย์ตอน ๗ โมงเช้า ๘ โมง ๙ โมง ๑๐ โมง ถึงเที่ยงวันไปเอง มันก็ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปอย่างนี้

 

แต่เรามักจะรำคาญ ทุรนทุราย ทนอยู่ในกลางความมืดไม่ได้ จะต้องไปควานหาอะไรในที่มืด มักจะเป็นกันอย่างนี้ แล้วในที่สุดก็ตกม้าตาย คือ พยายามไปควานหา ใจมันก็กระสับกระส่าย ทุรนทุราย แล้วก็จะพาลเบื่อการนั่ง เพราะนั่งแล้วไม่ได้ความสุข สู้คนนั่งอย่างมีความสุขในที่มืดแล้วไม่เห็นอะไรเลยจะดีกว่า บางคนนั่งแล้วไม่เห็นอะไร แต่มันสบาย อย่างนี้ดีกว่าควานหา

 

หรือเห็นดวง หรือองค์พระแต่ว่าเกร็ง คือ เกร็งไปหมด ไม่มีความสุขเลย เห็นดวง เห็นองค์พระ แต่มันเกร็ง มันตึง นั่งแล้วเมื่อย มึน ไม่ม่วนเลย สู้นั่งไม่เห็นอะไร แต่ใจสบาย อย่างนี้ดีกว่า

 

นั่งไปเถอะ ไปเรื่อยๆ ให้สบายๆ ให้ความสบายมันค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเอง มันจะค่อยๆ ดื่มด่ำ ละเอียดลงไป ละเอียดลงไป แล้วก็จะสางๆ แล้วก็จะแจ้ง อย่างที่หลวงพ่อว่า ตัวก็จะค่อยๆ หายไป เป็นไปตามขั้นตอนของมัน

 

ทำอย่างนี้นะลูกนะ นั่งแล้วต้องได้ความสบายใจ สุขที่ได้นั่ง นั่งแล้วมีความสุข อย่างนี้ถึงจะถูกต้อง  ดีกว่านึกออกแต่เกร็ง เมื่อย เหนื่อย

 

อย่าลืมจำคำที่หลวงพ่อพูดนะ  นั่งไม่เห็นอะไรเลยแต่สบาย รู้สึกตัวกว้างๆ โล่งๆ ดีกว่านึกเห็นแล้วมันเกร็ง ไม่สบาย มึนหัว ปวดหัว แต่ถ้าเห็นแล้วมันสบาย อย่างนี้ดีกว่าอะไรทั้งหมดแน่นอน เห็นแล้วสบาย อันนี้มันเป็นเฉพาะบุคคลเมื่อเริ่มต้นใหม่ ที่มีไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์

 

แต่ถ้าหากเรานั่งไปเรื่อยๆ แล้วตัวมันขยาย ตัวเบาสบาย มีความสุขกับการนั่ง ไม่เบื่อหน่ายเลย  ไม่เห็นอะไรก็สบาย  แล้วใจก็ไม่ฟุ้ง  อยู่นิ่งๆ นุ่มๆ ละมุนละไม  ใจเยือกเย็นใสเป็นแก้ว อย่างนี้ดีมาก จำนะลูกนะ ต้องจำให้ได้ นั่งแล้วต้องสบาย ต้องเบิกบาน ต้องแช่มชื่น ไม่มากก็น้อย

 

พอใจในทุกประสบการณ์

 

สมมติว่า วันนี้เรานั่งได้ดี ก็อย่าไปคาดหวังว่า วันพรุ่งนี้จะดีเหมือนวันนี้ หรือตั้งใจว่า จะนั่งให้ดีกว่าวันนี้ ก็อย่าไปคาดหวังอย่างนั้น ทำปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุด พรุ่งนี้มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน  เพราะพรุ่งนี้เราจะมีชีวิตอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้  แต่ตอนนี้เรามีอยู่  เมื่อมีอยู่ก็ต้องทำใจให้นิ่ง ให้สบาย บุญเกิดขึ้นแล้ว แม้ยังไม่เห็นอะไร

 

บุญ คือ ธาตุธรรม ธาตุชนิดหนึ่ง ที่มีพลังแห่งความบริสุทธิ์ จะกลั่นธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ของเราให้ใส ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

 

เหมือนพระอาจารย์วิทวัส เมื่อวานนี้ ที่ท่านนึกถึงคำสอนของหลวงพ่อได้ว่า ถ้าตายแล้ว ใจต้องนึกถึงบุญ  ท่านก็นั่งพับเพียบหลับตาพนมมือ หยุดไปตรงกลาง ก็ค่อยๆ เห็นดวงสว่าง จุดเล็กๆ ก็สว่างจ้าขึ้นมา แล้วดวงบุญก็ค่อยๆ กลั่นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด หรือกายฝันให้บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นมาก จนกระทั่งครอบคลุมกายมนุษย์ละเอียด ก็ถอดกายของกายมนุษย์ละเอียดออกไปเป็นกายทิพย์ ได้รูปกายใหม่ที่เป็นกายทิพย์ที่สวยงาม มีเครื่องประดับ รัศมีเรืองรองสว่าง

 

บุญมันก็จะเกิดขึ้นอย่างนี้ แล้วก็นำท่านไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ชั้นดุสิตในวงบุญพิเศษ ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ท่านได้อุทิศชีวิตในการบวช และในการสร้างบารมีทุกวันทุกคืนของท่าน ๑๕ พรรษาที่ผ่านมา

 

เพราะฉะนั้น แม้เราไม่เห็นอะไรก็ตาม อย่าไปคิดว่า เรานั่งไม่ดี ไม่ได้อะไร อย่าไปคิดนะจ๊ะ เราได้โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย เหมือนตักน้ำรดต้นกล้าไม้วันละครั้ง มันก็เจริญเติบโตขึ้นทุกวัน แต่เราสังเกตไม่ออกว่า มันเจริญเติบโตวันละกี่มิลลิเมตร เจริญเติบโตวันละเท่าไร การเจริญเติบโตจากการปฏิบัติธรรมก็คล้ายๆ กันอย่างนั้น มันเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ

 

เพราะฉะนั้น หยุดอยู่กับปัจจุบันตรงนี้ ให้ดีที่สุด ในจุดที่เราเป็นอยู่ตรงนี้ อย่าคิดต่อไปว่า มันจะต้องเป็นอย่างนั้น เพราะเราได้ยินว่า มันเป็นอย่างโน้น อย่างนี้ จากคนโน้น คนนี้ ให้ลืมไปเลย ในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมา ให้เอาใจหยุดนิ่งเฉยๆ สบายๆ แม้ไม่เห็นอะไรก็ตาม วางเบาๆ ค่อยๆ วางไป ค่อยๆ สั่งสมไป ไม่ช้าจากมืดก็จะมาสว่าง จากสว่างก็จะค่อยๆ เห็นภาพ เห็นองค์พระ

 

บางคนใหม่ๆ อาจจะเห็นแค่เป็นภาพพระ แต่ยังไม่เป็นองค์พระ เมื่อเราดูไปเรื่อยๆ ที่เป็นภาพพระ มันก็ค่อยๆ เป็นองค์ขึ้นมา แต่ว่ามันยังแข็งกระด้างอยู่ แล้วก็ไม่ค่อยชัดเท่าไร  ก็ให้ปีติยินดีกับสิ่งที่ตัวมีอยู่อย่างนั้นไปก่อน มีความปีติ มีความยินดี

 

เหมือนเรามีแหวนเพชรในนิ้ว ให้ยินดีตรงนี้ก่อน อย่าเพิ่งไปยินดีกับแหวนเพชรในร้าน มีแค่ไหน ยินดีแค่นี้ไปก่อน แล้วองค์พระท่านก็จะค่อยๆ ชัดขึ้น แม้ชัดมาก บางทีก็ยังกระด้างอยู่ เหมือนพระแก้วที่ตั้งอยู่บนโต๊ะหมู่ ยังไม่มีชีวิตชีวา เราก็รักษาภาพที่เห็นไว้ไปเรื่อยๆ ด้วยความปีติยินดี ดูไปสบายๆ

 

ถ้าองค์พระหาย ก็อย่าไปเสียดาย เรามีองค์พระเป็นล้านๆ องค์ เยอะแยะ ไม่ต้องไปประหยัด กระเหม็ดกระแหม่ ตระหนี่ เสียดาย ทำตัวเหมือนเป็นเศรษฐีเสียหน่อย ไม่ต้องไปประหยัดกับมัน

 

นิ่งๆ ใหม่ เดี๋ยวองค์พระก็จะกลับมาใหม่ กลับมาแล้วก็ยังกระด้างอยู่ แม้ชัดเจน คล้ายๆ องค์พระที่ตั้งอยู่บนโต๊ะหมู่ เราก็ดูไปเรื่อยๆ นะลูกนะ ดูความใส ดูความไม่มีชีวิตนั้น แล้วเดี๋ยวท่านก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ค่อยๆ มีชีวิตขึ้นมา คือ สวยงามกว่าเดิม งามกว่าพระแก้วที่อยู่บนโต๊ะหมู่ เราก็ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวท่านก็จะขึ้นมาทีละองค์ๆ

 

ขึ้นมาใหม่ๆ องค์พระอาจจะโตเท่ากัน แต่เราได้ยินว่า องค์พระใหม่จะต้องใหญ่กว่าเดิม เพราะหลวงพ่อเคยบอกเอาไว้ แต่นี่องค์พระเราโตเท่าเดิม ก็อย่าไปกังวลใจ อย่าไปคิดว่ามันผิดวิธี ดูต่อไปเรื่อยๆ นะลูกนะ

 

ดูที่ขึ้นมาเท่ากันนั่นแหละ อาจจะขึ้นมาทีละองค์ จนกระทั่งเป็นชุด ชุดละ ๑๐ องค์ แต่ยังโตเท่าเดิม ก็ดูไปเรื่อยๆ ทีละชุดๆ แม้โตเท่าเดิม เราก็ดูไป เดี๋ยวใจก็จะละเอียด เพราะการที่เราดูเฉยๆ โดยไม่ต้องคิดอะไร ละเอียดไปเรื่อยๆ เดี๋ยวองค์พระท่านก็เปลี่ยนแปลงไป มีชีวิตชีวาขึ้น ต่างจากพระแก้วที่เห็นอยู่บนโต๊ะหมู่ แล้วก็ค่อยๆ ขยาย ค่อยๆ โตใหญ่ขึ้นไป มันก็จะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปอย่างนี้ ไม่มีทางลัดเลย มีแต่ว่าค่อยเป็นค่อยไป ต้องเข้าใจตัวของเราเองอย่างนี้นะลูกนะ

 

ไม่อย่างนั้น บางทีเราตั้งใจจนเกร็งไปทั้งเนื้อทั้งตัว เห็นองค์พระ เห็นดวง แต่เกร็ง ตึง แล้วไม่ไปไหนเลย นั่งแล้วเหนื่อย ติดมาอย่างนี้ ๑๐ ปีก็มี ๒๐ ปีก็มี เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจให้ดี ทำให้มันถูกวิธี แล้วเราจะมีความรู้สึกเป็นสุข สนุกกับการปฏิบัติธรรม จะไม่มีความรู้สึกว่า พยายามนั่ง หรือว่าฝืนนั่ง ความสุขก็จะค่อยๆ มีขึ้น

 

หรือเราได้ยินว่า นั่งแล้วมีความสุขจากการเห็นองค์พระ แต่เห็นองค์พระแล้วความสุขก็ยังไม่มี ยังกระด้างอยู่ ก็ช่างมันนะลูกนะ ให้มีความยินดีกับการเห็นองค์พระชัดใสสว่าง แต่ยังไม่มีความสุข ดูไปเรื่อยๆ ไปก่อน พอใจละเอียดหนักเข้า องค์พระท่านก็เปลี่ยนไป สมบูรณ์ ความสุขมันก็จะเพิ่มพูน ค่อยๆ มา มันก็ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป อย่างนี้

 

หมั่นฝึกปฏิบัติธรรมให้ได้อย่างสม่ำเสมอทุกวันทุกคืน อย่าให้ขาดเลยแม้เพียงวันเดียว ความละเอียดของใจก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดที่เราจะศึกษาวิชชาธรรมกายต่อไปได้ ถ้าหากลูกทุกคนได้ทำอย่างที่หลวงพ่อแนะนำ ไม่ฟังผ่านๆ เดี๋ยวจะทำได้กันทุกคน

 

เมื่อเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว ให้ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ นะลูกนะ อากาศกำลังสบาย กำลังสดชื่น วางใจนิ่งๆ ดูสิ่งที่มีให้ดู จะเป็นความมืด จะเป็นดวง จะเป็นองค์พระอะไร ก็ดูไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้นนะลูกนะ อย่าลืมนะ จะว่าตั้งใจก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ตั้งใจดูก็ไม่เชิง มันกลางๆ ผ่านๆ สบายๆ ใจเย็นๆ

 

อธิษฐานจิต

 

คราวนี้ เราก็นึกถึงบุญที่เกิดจากธรรมปฏิบัติ ที่มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาล เอาบุญนี้มาอธิษฐานจิต ให้อานุภาพแห่งบุญที่เกิดจากธรรมปฏิบัติในคืนนี้ กลั่นกาย วาจา ใจ ธาตุธรรมเห็นจคิดรู้ของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้หลุดพ้น จากวิบัติ บาปศักดิ์สิทธิ์ วิบากกรรม วิบากมาร อุปสรรคต่างๆ นานาในชีวิต ทุกข์โศกโรคภัยสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ ให้ละลายหายสูญไปให้หมด

 

ให้เราสมบูรณ์ไปด้วยสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง เอาไว้ใช้สร้างบารมีอย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้น ทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม ให้เราได้สมบูรณ์ด้วยสมบัติอัศจรรย์ทันใช้สร้างบารมีในชาตินี้ อย่างสะดวกสบาย อย่างง่ายดาย สมบัติใหญ่ไหลมาเทมา ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับ ทั้งตื่น ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน ให้เราหมดหนี้สิน เหลือกินเหลือใช้ เหลือไว้สร้างบารมี อย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้น

 

จะประกอบธุรกิจการงานอันใดก็ให้ประสบความสำเร็จเป็นอัศจรรย์ ให้ซื้อง่าย ขายคล่อง กำไรงาม เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ เป็นมหาเศรษฐีคู่บุญค้ำจุนพระพุทธศาสนา ประดุจท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และมหาอุบาสิกาวิสาขา

 

ให้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมอันใดที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และคุณยายอาจารย์ ท่านได้บรรลุ ขอเราจงบรรลุธรรมนั้น

 

ให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง อายุยืนยาว ได้สร้างบารมีกันไปนานๆ ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข เป็นครอบครัวแก้ว ครอบครัวธรรมกาย ครอบครัวตัวอย่างของโลก ให้เราเป็นที่รักของมนุษย์ ของเทวดาทั้งหลาย อัคคีภัย โจรภัย ราชภัย ภัยทุกชนิด อย่าได้มากล้ำกราย ให้พบปะแต่สิ่งที่ดีงาม ที่จะนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

 

ที่เป็นบรรพชิตก็ขอให้มีจิตที่สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส มีกำลังใจอันสูงส่ง ไม่มีวันตกต่ำลงมาเลย ให้ได้บวชให้ได้ตลอดรอดฝั่ง ให้ทำพระนิพพานให้แจ้ง ให้แทงตลอดในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยก็ให้แตกฉาน จะเรียนนักธรรม เรียนบาลี ก็ให้เรียนจบนักธรรม จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค

 

จะปฏิบัติธรรมก็ให้ได้บรรลุธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเทศนาสั่งสอนบุคคลใดก็ตาม ก็ให้ไพเราะเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ ใครได้ยินได้ฟังก็ให้มีความปีติ เลื่อมใส ขนพองสยองเกล้า ให้ดีอกดีใจ บรรลุธรรมาพิสมัยกันทุกๆ คน

 

ขอให้บุญนี้ถึงแก่บรรพบุรุษ บุพการี ญาติพี่น้องของเราที่ได้ละโลกไปแล้ว จะไปอยู่ในภพภูมิใดก็ตาม ขออานุภาพแห่งพระธรรมกายของพระพุทธเจ้า พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ และคุณยายอาจารย์ ได้นำบุญที่เกิดจากธรรมปฏิบัติในคืนนี้ไปให้แก่หมู่ญาติดังกล่าว จะอยู่ในภพภูมิใดก็ตาม ที่มีทุกข์มากก็ให้ทุกข์น้อย ที่มีทุกข์น้อยก็ให้พ้นทุกข์ ที่มีสุขน้อยก็ให้สุขมาก ที่มีสุขมากแล้วก็มากยิ่งขึ้นไปตามลำดับ

 

ให้บุญนี้ถึงแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารใน ๓๑ ภูมิ ในกามภพ ในรูปภพ ในอรูปภพ ในกำเนิดทั้ง ๔ ตลอดแสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล ให้ได้มีส่วนแห่งบุญที่เราได้อุทิศไปให้ ที่มีทุกข์มากก็ให้ทุกข์น้อย ที่มีทุกข์น้อยก็ให้พ้นทุกข์ ที่มีสุขน้อยก็ให้สุขมาก ที่มีสุขมากแล้วก็มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

 

แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ให้ประเทศชาติ ศาสนา วิชชาธรรมกายเจริญรุ่งเรือง ให้ประเทศไทยเป็นปิ่นนานาประเทศ มวลมนุษยชาติให้เข้าถึงพระธรรมกาย ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ที่ข้าวยากหมากแพง แห้งแล้ง เหี้ยนเตียน ก็ให้ตรงกันข้าม ให้อุดมสมบูรณ์ด้วยผลหมากรากไม้ มีรสโอชา ให้คนมีปัญญาแก่กล้า มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย ให้แข็งแรง ให้มีจิตใจที่เบิกบาน แช่มชื่น ด้วยความรัก ด้วยความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน

 

Add Comment
2545
วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
  • Share
  • Share

Related Posts

Newer Older 🏠

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Translate

นำนั่งสมาธิโดยหลวงพ่อธัมมชโย

  • ▼  พ.ศ.2565 (362)
    • ►  เดือน สิงหาคม (233)
    • ▼  เดือน กรกฎาคม (123)
      • ความเพลินส่วนเกินของชีวิต 481030C รอบสาย
      • มรรคผลนิพพานอยู่ในตัว 481023C รอบสาย
      • โลกุตรธรรม ๙ 481016C รอบสาย
      • พิจารณามี ๒ อย่าง 481009D รอบบ่าย
      • เส้นทางสู่มรรคผลนิพพาน 481009C รอบสาย
      • มรรคผลนิพพานอยู่ในตัวเรา 480828C รอบสาย
      • ที่มาของพระพุทธรูป 480717C รอบสาย
      • วัตถุประสงค์ของชีวิต 480710C รอบสาย
      • เมื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว 480605D รอบบ่าย
      • เหตุการณ์วันตรัสรู้ 480522C รอบสาย
      • หยุดเป็นตัวสำเร็จในสมัยพุทธกาล 480515D รอบบ่าย
      • อิสรภาพที่แท้จริง 480417D รอบบ่าย
      • กรณียกิจ 480313C รอบสาย
      • สมาธิเหมือนเส้นผมบังภูเขา 480130C รอบสาย
      • ชีวิตในสังสารวัฏมีภัยมาก 480123C รอบสาย
      • HOW TO เข้าถึงธรรม 480116C รอบสาย
      • พุทธภาวะภายในตัว 470711C รอบสาย
      • สมถวิปัสสนา 470516C รอบสาย
      • สติปัฏฐาน ๔ 470620C รอบสาย
      • ป่วยอย่างสง่างาม 470502D รอบบ่าย
      • หยุดนิ่งคืองานที่แท้จริง 490122D รอบบ่าย
      • มรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน 481211D รอบสาย
      • การเห็นด้วยปัญญา 481225C รอบสาย
      • อานิสงส์การฝึกใจให้หยุดนิ่ง 481211D รอบบ่าย
      • การตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 460316C รอบสาย
      • ภาพที่สำคัญของชีวิต 460309C รอบสาย
      • มโณปริธานอันยิ่งใหญ่ 460119D รอบบ่าย
      • จริงต้องได้ 460504D รอบบ่าย
      • ลูกมีบุญที่จะเข้าถึงธรรมได้ 450515F รอบค่ำ
      • ฝึกใจหยุดนิ่งอย่างสบาย 450516F รอบค่ำ
      • งานที่แท้จริง 450306F รอบค่ำ
      • ตามใจเขาไปก่อน 450520F รอบค่ำ
      • นึกถึงสิ่งที่คุ้นเคย 450525F รอบค่ำ
      • หยุดนิ่งสำคัญที่สุด 450529F รอบค่ำ
      • ชีวิตเป็นของน้อย 450428C รอบสาย
      • หยุดแค่พริบตาเดียวได้อานิสงส์ยิ่งใหญ่ 450305F รอบค่ำ
      • หลับตื่นในอู่ทะเลบุญ 450510F รอบค่ำ
      • ทางเดินของใจ 7 ฐาน 450613F รอบค่ำ
      • อานุภาพหยุดเป็นตัวสำเร็จ 450930F รอบค่ำ
      • กิเลสประจำกายและวิธีแก้ 450912F รอบค่ำ
      • ปรับที่ใจใช่ที่ภาพ/แก้กดลูกนัยน์ตา 450615F รอบค่ำ
      • เทคนิควิธีการปฏิบัติธรรม 450528F รอบค่ำ
      • นึกบริกรรมนิมิตด้วยสิ่งที่คุ้นเคย 450524F รอบค่ำ
      • หนีกรรมไม่พ้น 450302F รอบค่ำ
      • แผนผังชีวิต 450514F รอบค่ำ
      • หาตัวกลัวให้เจอ 450629F รอบค่ำ
      • ลูกไก่เจาะกระเปาะไข่ 450518F รอบค่ำ
      • วิธีแก้ กดลูกนัยน์ตา 450607F รอบค่ำ
      • อานิสงส์การเข้าถึงพระรัตนตรัย 451022F รอบค่ำ
      • การตอบประสบการณ์ภายใน 560212D รอบบ่าย
      • ฝึกเป็นผู้ให้ 571205D รอบบ่าย
      • นอกรอบให้หมั่นประคองใจ 571211
      • สิ่งที่แสวงหาอยู่ที่ใจหยุดนิ่ง 451028F รอบค่ำ
      • อโห พุทโธ 451113F รอบค่ำ
      • เจริญมรณานุสติ 451118F รอบค่ำ
      • หวงห่วงแบบอริยะ 451209F รอบค่ำ
      • นึกได้ก็เห็นได้ 460309C รอบสาย
      • ต้องฝึกบ่อยๆ ให้ชำนาญ 460202D รอบบ่าย
      • ชีวิตเป็นของน้อย 460126C รอบสาย
      • นิ่งแล้วต้องขยาย 460101D รอบบ่าย
      • สมบัติที่แท้จริง 451231C รอบสาย
      • วันพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม 451227F รอบค่ำ
      • ฐานที่7ที่เกิดดับหลับตื่น 451222D รอบบ่าย
      • กายสบาย ใจสบาย บุญเก่าก็ได้ช่อง 481221
      • หมั่นทบทวนบุญ 451123F รอบค่ำ
      • บุญคือที่พึ่ง 451119F รอบค่ำ
      • ทำไมเด็กจึงเห็นธรรมะง่าย 521025D รอบบ่าย
      • ในท้องมีพระธรรมกาย 520904C รอบสาย
      • มหัศจรรย์สมาธิ 530314C รอบสาย
      • ภาวิตา พหุลีกตา 550806D รอบบ่าย
      • อวิชชา 550722D รอบบ่าย
      • Set Zero 590304D รอบบ่าย
      • คนเราเกิดมาทำไม/ในตัวเรามีองค์พระ 511207C รอบสาย
      • นิมิตเลื่อนลอยหลุมพรางของพญามาร 451013D รอบบ่าย
      • ธรรมกายเอฟเฟค 430423C รอบสาย
      • นิวรณ์ 5 451010F รอบค่ำ
      • นั่งอย่างมีชีวิตชีวา 450924F รอบค่ำ
      • อย่ากินบุญเก่า 450926F รอบค่ำ
      • หยุดเป็นตัวสำเร็จ 450930F รอบค่ำ
      • หลับในอู่ทะเลบุญ 451004F รอบค่ำ
      • เริ่มต้นจากจุดสบายแล้วจะง่าย 451008
      • ตำแหน่งแห่งความสมปรารถนา 521206D รอบบ่าย
      • คำภาวนา สัมมาอะระหัง 510622C รอบสาย
      • บุญพลังแห่งความสุขและความสำเร็จ 511109D รอบบ่าย
      • อริยมรรคมีองค์๘ 510706C รอบสาย
      • หลักสูตรชีวิต 510203D รอบบ่าย
      • เห็นสิ่งใดฝึกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งนั้น 51...
      • เริ่มต้นจากจุดที่ง่าย 510629D รอบบ่าย
      • จุดเล็กใสที่คล้ายเมล็ดโพธิ์เมล็ดไทร 511005C รอบสาย
      • หยุดนิ่งได้แล้วฝึกขยายย่อ 510615D รอบบ่าย
      • พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมใด 511010C รอบสาย
      • พระคุณของ หลวงปู่ฯพระผู้ปราบมาร 511005D รอบบ่าย
      • นั่งมาตั้งนาน ทำไมยังไม่ได้ผล 481127D รอบบ่าย
      • ต้องสบายทุกขั้นตอน 480821D รอบบ่าย
      • หลักวิชชาใจหยุดนิ่งและอาการตกศูนย์ 481218D รอบบ่าย
      • อุปสรรคและหลักวิชชาในการปฏิบัติธรรม 490604C รอบสาย
      • การปฏิบัติธรรมคือการแสวงหาความพอดี 480626C รอบสาย
      • อย่าท้อ_เฉยในทุกประสบการณ์ 471205D รอบบ่าย
      • วิธีปฏิบัติธรรม 480206D รอบบ่าย
      • ง่ายแต่ลึก 480130D รอบบ่าย
    • ►  เดือน มิถุนายน (1)
    • ►  เดือน พฤษภาคม (5)

บทความที่ได้รับความนิยม

  • มีความสุขทุกวันแม้วันตาย 500527D รอบบ่าย
    กายธรรมควรเทิดไว้    ในใจ เป็นสรณะภายใน        เที่ยงแท้ กว่านี้ บ่ มีใด               เทียบได้ น้อมนบท่านไว้แล… อ่านต่อ
  • ๔ ส. สำเร็จ/เราเป็น ศูนย์กลางของจักรวาล 470102C รอบสาย
    จำคำนี้ “สักแต่ว่า” นะลูกเอ๋ย จะเปิดเผยสิ่งล้ำค่าให้ลูกเห็น เห็นความมืดติดตาอย่าลำเค็ญ สักแต่ว่าฉันเห็นก็เป็นพอ … อ่านต่อ
  • ทำลาย สุสานแห่งความกลัว 450621F รอบค่ำ
    กระรอกวิ่งไม่วิ่งเหมือนชะมด วิ่งแล้วหยุดร้อง “อด อด” กระดกหาง นั่งธรรมะเดี๋ยวทำเดี๋ยวทิ้งขว้าง ก็เหมือนอย่างกระ… อ่านต่อ
  • วิธีใช้บุญ/ความพร้อม ไม่มีในโลก 500708D รอบบ่าย
    ความสุขที่หยุดได้ ในกลาง เป็นสุขสุดตามทาง พุทธเจ้า สะอาดสงบสว่าง พราวแผ้ว หยุดนิ่งทุกค่ำเช้า จักได้สุดธรรม ตะวั… อ่านต่อ
  • หยุดเป็นตัวสำเร็จ 450620F รอบค่ำ
    หยุด คือสุดยอดแท้ ศาสตร์ศิลป์ หยุด พระธรรมหลั่งริน ธารแก้ว หยุด อาจเผด็จสิ้น มารพ่าย หยุด นิ่งดิ่งได้แล้ว สุขล้… อ่านต่อ
  • อานิสงส์บุญบูชาข้าวพระ 530502D รอบบ่าย
    อานิสงส์บุญบูชาข้าวพระ วันอาทิตย์ที่   ๒   พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ( ๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น.) งานบุญวันอาทิตย์ ณ  สภาธรรมกายสากล ปรั… อ่านต่อ
  • ตามใจเขาไปก่อน 450520F รอบค่ำ
    ตามใจเขาไปก่อน   วันจันทร์ที่  ๒๐  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๔๕    ( ๑๙.๐๐ - ๒๐.๑๕ น.)   บ้านแก้วเรือนทองของคุณยาย  สภา… อ่านต่อ
  • หยุดเป็นตัวสำเร็จ 470208D รอบบ่าย
    หยุดใจนิ่งสนิทไว้      กลางกาย เป็นจุดสำคัญหมาย            สู่เป้า ตัวสมมติถูกมลาย               สลายหมด สำเร็จ… อ่านต่อ
  • นิวรณ์5_Let it be 480116D รอบบ่าย
    หากซึ้งคำพ่อได้ สั่งสอน จงอย่าได้เกี่ยงงอน ค่ำเช้า ทั้งยืนนั่งเดินนอน หมั่นตรึก ระลึกถ้อยพุทธเจ้า ย่างก้าวเดินต… อ่านต่อ
  • สิ่งที่สำคัญที่สุด 500225D รอบบ่าย
    สิ่งที่สำคัญที่สุด วันอาทิตย์ที่   ๒๕   กุมภาพันธ์ พ . ศ . ๒๕๕๐ ( ๑๓ . ๓๐ - ๑๕ . ๓๐ น .) งานบุญวันอาทิตย์ ณ  สภาธรรมก… อ่านต่อ
นำนั่งสมาธิ โดย หลวงพ่อธัมมชโย. ขับเคลื่อนโดย Blogger.

ป้ายกำกับ

2536 2540 2543 2545 2546 2547 2548 2549 2550 2551 2552 2553 2554 2555 2556 2557 2558 2559 กระแสธารแห่งความบริสุทธิ์ กายดั้งเดิม กายตรัสรู้ธรรม กายธรรม กายสบายใจสบาย การแก้ไขอุปสรรคการปฏิบัติธรรม การตรึก การนึกนิมิต การหลับตา การเห็นภาพ การเห็นภาพภายใน กำลังใจการปฏิบัติธรรม ความใจเย็น ความพอใจ ความมืดเป็นมิตร ความสบาย ความสำคัญของ ฐานที่ ๗ ความหมายของธรรมะ ความหมายวิปัสสนา ง่ายแต่ลึก1 ง่ายแต่ลึก2 ง่ายแต่ลึก3 ง่ายแต่ลึก4 จุดเทียนใจ จุดไฟแก้ว จุดสบาย ฐานทั้ง7 ดวงธรรม ดวงปฐมมรรค ตกศูนย์ ตถาคตคือธรรมกาย ตามติดยาย ทางเดินของใจ ทางสายกลาง ทำง่ายมาก ได้ง่ายมาก นิวรณ์5 นึกนิมิต บวชสองชั้น บวชอุบาสิกาแก้ว ประโยชน์ของสมาธิ ไปเกิดมาเกิด พระผู้ปราบมาร วันวิสาขบูชา วิชชา ๓ วิสาขบูชา ศูนย์กลางกาย ศูนย์กลางกายฐานที่7 สติกับสบาย สติสบาย สบาย สม่ำเสมอ สายตึง สายหย่อน สิ่งที่เกื้อหนุนการปฏิบัติธรรม หยุดเป็นตัวสำเร็จ หลวงปู่บรรลุธรรม เห็นไม่เห็นก็ไม่เห็นจะเป็นไร เห็นแสงสว่าง อธิษฐานจิต อนุสติ10 อวิชชา อานิสงส์ใจหยุด อานิสงส์ถวายประทีป อานิสงส์บูชาข้าวพระ อุปสรรคและวิธีแก้ไขสมาธิ โอวาทปาติโมกข์ vstar

copyright © นำนั่งสมาธิ โดย หลวงพ่อธัมมชโย All Right Reserved . Created by PhotoTheme . Powered by Blogger