งานที่แท้จริง
วันพุธที่
๖
มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ (๑๙.๐๐ - ๒๐.๓๐ น.)
บ้านแก้วเรือนทองของคุณยาย
สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เมื่อเราบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไป ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานทุกๆ คนนะจ๊ะ
ให้หลับตาของเราเบาๆ
พอสบายๆ คล้ายกับเราตอนใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา
หลับตาสักค่อนลูกพอสบายๆ
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ปล่อย วาง ทำใจให้ว่างๆ ให้ใสบริสุทธิ์
นึกถึงบุญ
แล้วก็ให้สมมติว่า
ร่างกายของเรา เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรงลงไปปราศจากอวัยวะภายใน
ไม่มีตับไตไส้พุง เป็นต้น ให้เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงเหมือนท่อแก้วใสๆ
ให้เป็นทางไหลผ่านของกระแสธารแห่งความบริสุทธิ์ และความดีงาม
ตลอดจนกระทั่งบุญบารมี ๓๐ ทัศ ที่เราได้สั่งสมอบรมมา
ตั้งแต่ปฐมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ สร้างบารมีเรื่อยมานับภพนับชาติไม่ถ้วน
จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
รวมทั้งอานุภาพอันไม่มีประมาณของพระรัตนตรัย
และคุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์
รวมเป็นกระแสธารแห่งความบริสุทธิ์ที่ไหลผ่านท่อแก้วใสๆ
ขจัดสิ่งที่เป็นมลทินในใจของเราให้หมดสิ้นไป ตั้งแต่กามาสวะ ภาวาสวะ อวิชชาสวะ
นิวรณ์ทั้ง ๕ วิบัติบาปศักดิ์สิทธิ์ วิบากกรรม วิบากมาร อุปสรรคต่างๆ นานาในชีวิต
รวมทั้งทุกข์ โศก โรค ภัยต่างๆ ให้มลายหายสูญไปให้หมด สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ
หลงเหลือแต่ความบริสุทธิ์
ที่ผุดเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ในกลางกาย
กลางท้องของเรา เป็นดวงกลมเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์
ที่ใสประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิ ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว
อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
วางใจ
ให้เอาใจของเราที่แวบไปแวบมา
คิดแต่ในเรื่องราวต่างๆ เอามาหยุดนิ่งๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ที่กลางดวงใส
ตรึก คือ นึกเบาๆ นึกถึงดวงแก้วใสๆ
เบาๆ อย่างสบายๆ คล้ายๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย สิ่งที่เรารัก ให้นึกง่ายๆ
สบายๆ อย่างนั้น
เราก็เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของดวงใสบริสุทธิ์
ให้ใจหยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่งลงไปอย่างสบายๆ ให้ต่อเนื่องกันไป
อย่าให้เผลอไปคิดเรื่องอื่น ถ้าหากว่า อดเผลอไม่ได้ พอรู้ตัวก็ดึงใจกลับมาใหม่
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับประกอบบริกรรมภาวนาในใจอย่างสบายๆ
ภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ
พร้อมกับตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดที่จุดกึ่งกลางของดวงใส ภาวนาไปจนกว่าใจจะหยุดนิ่งๆ
เมื่อใจหยุดนิ่งๆ
มันก็จะทิ้งคำภาวนา จะมีอาการคล้ายๆ กับว่า เราลืมภาวนา
แต่ว่าใจไม่ฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น หรือไม่มีอารมณ์อยากจะภาวนาต่อไป
อยากจะวางใจหยุดนิ่งๆ ไว้ที่กลางดวงเฉยๆ ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้
ก็ไม่ต้องหวนกลับมาภาวนาใหม่ ให้รักษาใจ หยุดนิ่งๆ เอาไว้ที่กลางดวงใสๆ อย่างสบายๆ
ทำเพียงแค่นี้ แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
เป็นผู้ดูที่ดี
ไม่ต้องใช้กำลังไปบังคับใจ
ไม่วิเคราะห์วิจารณ์ประสบการณ์ภายใน ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ดูที่ดี
ดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยใจที่เบิกบาน แช่มชื่น เป็นปกติ โดยไม่ให้มีความคิดใดๆ
เกิดขึ้น ดูไปเฉยๆ เรื่อยๆ มีอะไรให้ดูเราก็ดูไป ดูไปอย่างสบายๆ
โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่วางใจหยุดนิ่งๆ ทำเพียงแค่นี้เท่านั้น ไม่ช้าใจจะหยุดนิ่งเอง
จะถูกส่วนเอง
สภาวธรรมภายใน
พอถูกส่วน
ดวงก็จะขยาย กายก็ขยาย จนหายไปเหมือนกับเราไม่มีตัวตน
เหลือแต่ดวงสว่างอยู่ที่กลางความว่าง ซึ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ของเรานั่นเอง แต่จะเหมือนกับดวงที่อยู่ในกลางความว่าง เป็นดวงใสๆ ยิ่งหยุด ยิ่งนิ่ง
ก็ยิ่งใส ยิ่งชัด ยิ่งสว่าง ยิ่งขยาย
จะชัดเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ตั้งแต่ชัดน้อยกว่าลืมตาเห็น กระทั่งชัดเท่ากับลืมตาเห็น หรือชัดยิ่งกว่าลืมตาเห็น
คือ ดวงนั้นจะคมชัดเหมือนเราเอาเลนส์ไปส่องดูดวงแก้วใสๆ มันจะชัดเจนและคมอย่างนั้น
ความใสก็จะใสเพิ่มขึ้น
ตั้งแต่ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า ใสเหมือนน้ำบ้าง เหมือนน้ำแข็งบ้าง
เหมือนเพชรใสๆ บ้าง หรือใสยิ่งกว่าเพชรบ้าง ความสว่างก็เช่นเดียวกัน
ตั้งแต่สว่างน้อยๆ เหมือนฟ้าสางๆ ก็ค่อยๆ สว่างเพิ่มขึ้นเหมือนดวงอาทิตย์ยามเช้า
ยามสาย จนกระทั่งถึงเที่ยงวัน หรือสว่างกว่าตอนเที่ยงวัน
เมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน
มันจะเป็นอย่างนี้แหละ แล้วก็จะขยายออกไป
ทำให้เรามองเห็นหนทางสายกลางที่เริ่มจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้วใสๆ ภายใน
เป็นจุดเล็กๆ เล็กเท่ากับปลายเข็ม ยิ่งเราเอาใจหยุดนิ่งก็ยิ่งขยาย
ขยายกว้างออกมาเป็นดวง ดวงที่ใสกว่าเดิม บริสุทธิ์กว่าเดิม สว่างกว่าเดิม
เป็นอย่างนี้ไปทีละดวง จนกระทั่งครบ ๖ ดวง เป็นชุดหนึ่ง
แล้วก็จะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด
เป็นกายมนุษย์ละเอียด แล้วก็ใจของกายมนุษย์ละเอียด หยุดอยู่ตรงกลางฐานที่ ๗
ในทำนองเดียวกัน ก็จะเห็นดวงเป็นชุดๆ ที่ใสกว่าเดิม สว่างกว่าเดิมเข้าไปเรื่อยๆ
กระทั่งเห็นกายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม จนกระทั่งถึงกายธรรม
เกิดมาเพื่อแสวงหากายธรรม
กายธรรมที่มีลักษณะสวยงามมาก
งามไม่มีที่ติ ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ เป็นกายองค์พระที่ใสๆ
มีเกตุเป็นดอกบัวตูมเล็กๆ คล้ายดอกบัวสัตตบงกช ตั้งอยู่บนจอมกระหม่อม บนพระเศียร
ที่เต็มไปด้วยเส้นพระศก หรือเส้นผมขด ขดหมุนเวียนเป็นทักษิณาวัตร
เวียนขวาตามเข็มนาฬิกา เรียงรายอย่างเป็นระเบียบ ใจเราหยุดนิ่งๆ
อย่างเดิมอย่างเดียวเท่านั้น เดี๋ยวเราก็จะเข้ากลางขององค์พระได้ ทำให้เราเห็นได้รอบตัว
ในเวลาเดียวกันทั้งซ้าย ทั้งขวา หน้าหลัง ล่างบน เห็นหมด
กายองค์พระนี่แหละ เป็นแก่นของชีวิต
แก่นของพระพุทธศาสนา เป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรม
เป็นกายที่ชุมนุมหรือที่รวมหมวดหมู่แห่งธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นกายผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว เป็นกายที่เป็นสรณะ
เป็นที่พึ่งที่ระลึกของเราอย่างแท้จริง
เป็นกายที่เป็นอิสระจากการบังคับบัญชาของพญามารที่เขาบังคับบัญชา
เป็นอิสระจึงเป็นตัวเอง ตัวตนที่แท้จริง เรียกว่า อัตตา เป็นตัวจริงแท้ คอยบังคับบัญชาได้
มีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพไม่มีประมาณ เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุข ที่จีรังยั่งยืน
เป็นสาระแก่นสารของชีวิต
เข้าถึงกายนี้ได้
ก็ปิดประตูอบายภูมิ นรก อสูรกาย เปรต สัตว์เดรัจฉานไม่ต้องไป ไปสู่สุคติภูมิ
จนกระทั่งไปสู่อายตนนิพพานได้
กายนี้เป็นกายที่สำคัญ
ที่เราจะต้องฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งให้ได้ ให้เข้าถึงให้ได้ ถ้าเข้าถึงยังไม่ได้ ชีวิตยังไม่ปลอดภัย
และยังไม่ได้ชื่อว่า ประสบความสำเร็จในชีวิต แม้เราจะมีโภคทรัพย์สมบัติมากมาย
มีลาภ ยศ สรรเสริญ มีบริวารสมบัติ มีอำนาจวาสนา ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในชีวิต
ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์มีวัตถุประสงค์อย่างเดียว คือ ทำพระนิพพานให้แจ้ง
ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม มีวัตถุประสงค์เพียงแค่นี้เท่านั้น
เพราะฉะนั้น
หยุดกับนิ่งจึงเป็นกรณียกิจ เป็นกิจที่ควรทำ เป็นงานที่แท้จริงของเรา
ส่วนงานที่นอกเหนือจากนี้ เช่น ทำมาหากิน ทำมาค้าขาย เป็นเรื่องรองลงมา
เพียงแค่ได้ปัจจัย ๔ มาหล่อเลี้ยงสังขารตอนนั้น แต่ก็ยังไม่ได้ชื่อว่า จะทำให้ชีวิตปลอดภัยจากอบายภูมิ
ภายในสังสารวัฏ
ชีวิตจะปลอดภัย เมื่อใจเข้าถึงธรรมกาย
ถึงธรรมกาย จึงจะได้ชื่อว่า ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะฉะนั้น ธรรมกายนี้
จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่เราจะต้องฝึกฝนอบรมจิตใจของเราให้หยุดนิ่งให้ได้
เพราะหยุดนิ่งเท่านั้นจึงจะทำให้เข้าถึงธรรมกายได้
ถึงแล้วก็มีความสุข
สุขเพิ่มขึ้นเรื่อยไปเลย สุขในธรรมกายเป็นสุขเสรี สุขที่กว้างขวางไม่มีขอบเขต
สุขอย่างเดียว เรียกว่า เอกันตบรมสุข
ไม่มีทุกข์เจือเลย ทุกข์ไม่มีในธรรมกาย ความโศกเศร้า เสียใจ คับแค้น
ร่ำพิไรรำพันไม่มีในธรรมกาย ธรรมกายมีแต่ความสุขกับความบริสุทธิ์ ความรู้แจ้ง
เห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง
เกิดความรู้แจ้งเห็นแจ้งในธรรมทั้งปวง
และเราจะมองเห็นธรรมต่างๆ ได้ชัดเจน ต่อเมื่อเข้าถึงธรรมกายที่ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ
ธรรมกายในธรรมกาย เมื่อใจหยุดนิ่งเพิ่มขึ้น หยุดในหยุดเพิ่มขึ้น
ก็จะเข้าถึงธรรมกายในธรรมกายที่โตใหญ่หนักยิ่งขึ้น ใสบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
จะทำให้เรารู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งหลาย
ทั้งที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล และที่เป็นอัพยากตธรรม จะเป็นธรรม ๓ ประการนี้
ปนเป็นกันอยู่ในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย ปนกันอยู่
เมื่อเข้าถึงธรรมกายละเอียดเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะสะสางแยกธรรมทั้งสามออกจากกัน
ให้เหลือแต่ธาตุล้วนๆ ธรรมล้วนๆ ที่เป็นกุศล ธรรมที่เป็นบุญ เป็นสีขาวใสบริสุทธิ์
เป็นทางฝ่ายบุญ ภาคปราบล้วนๆ
ถ้าหากเป็นธาตุล้วนธรรมล้วนนี่ เป็นวิราคธาตุ วิราคธรรมได้ ก็จะมีฤทธิ์
มีเดช มีอานุภาพ สมบูรณ์ทั้งวิชชาและจรณะ วิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ
๔ วิโมกข์ ๘ จรณะ ๑๕ เป็นต้น
เมื่อเข้าถึงธรรมกายที่ละเอียดๆ
เข้าไปเรื่อยๆ บริสุทธิ์หนักยิ่งขึ้น กายท่านก็ยิ่งขยาย ยิ่งขยายออกไปรอบตัว
ทุกทิศทุกทาง ขยายออกไปเอง ไม่ใช่เรานึกขยาย
แล้วก็จะมีองค์ใหม่ผุดเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไม่ขาดตอน
จนเป็นสายขององค์พระที่ผุดผ่านเข้ามาในกลางของกลาง ที่โตใหญ่หนักยิ่งขึ้น
สุกใสขึ้น สว่างขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น ใจก็ยิ่งมีความสุขเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้งก็เกิดขึ้น
กายก็จะค่อยๆ ทับทวีเข้าไปเรื่อยๆ ส่งกันต่อๆ เข้าไปภายใน องค์แล้วองค์เล่า
กระทั่งนับพระองค์ไม่ถ้วน ส่งไปให้สุดสายธาตุสายธรรมของตัว
ด้วยการหยุดการนิ่งนี่แหละ หยุดนิ่งจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นตัวสำเร็จ
ให้เราได้เข้าถึงธรรมกาย และก็รู้เห็นอะไรไปตามความเป็นจริง
เห็นสิ่งว่าเที่ยง
ว่าเป็นสิ่งที่เที่ยง
เห็นสิ่งที่ว่า
ไม่เที่ยง ว่าเป็นสิ่งที่ว่าไม่เที่ยง
เห็นสิ่งอะไรเป็นสุข
ก็รู้ว่าเป็นสุข
เห็นอะไรเป็นทุกข์
ก็รู้ว่าเป็นทุกข์
เห็นอะไรเป็นตัวตนที่แท้จริง
ก็รู้ว่าเป็นตัวตนที่แท้จริง
เห็นอะไรเป็นตัวตนที่ไม่แท้จริง
ก็รู้ว่าไม่แท้จริง
จะแยกแยะออกเป็น
๒ ส่วน ส่วนที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์ กับส่วนที่พ้นจากไตรลักษณ์ ไปตามความเป็นจริง
เห็นไปตามความเป็นจริง ความจริงเป็นอย่างไร ก็เห็นเป็นอย่างนั้น
เห็นเรื่อยไปเลยว่า
ตั้งแต่กายธรรมขึ้นไปนั้น เป็นนิจจัง เป็นสุขขัง เป็นอัตตา ที่ต่ำกว่ากายธรรมลงมา
ตั้งแต่กายอรูปพรหม กายพรหม กายทิพย์ กายมนุษย์ เรื่อยลงมาตามลำดับ เป็นสิ่งที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์
เห็นชัดเจนทีเดียว
พอเห็นแล้วก็เบื่อหน่าย
คลายความกำหนัด ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร
ก็จะยึดเอากายธรรมนั้นแหละ เป็นสาระแก่นสารไปสู่ที่สุดสายธาตุสายธรรมของตัว
เห็นธรรมกายในธรรมกาย ธรรมกายในธรรมกาย โตใหญ่หนักขึ้นไปเรื่อยๆ
เมื่อทำอย่างนี้จนคล่อง
จนชำนาญ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน ใจก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายในเอง
จะติดอยู่ในธรรมกาย ชัด ใส แจ่ม กระจ่างเหมือนกลางวันนั่นแหละ
เป็นองค์พระตลอดไปเลย เป็นพระแท้ ธรรมกายในธรรมกาย ธรรมกายในธรรมกาย
ถึงธรรมกาย ศึกษาวิชชาธรรมกายได้แล้ว
ไปนรกก็ได้ ไปสวรรค์ก็ได้ ไปนิพพานก็ได้ จะจับมือถือแขนสัตว์นรกก็ได้ สวรรค์ก็ได้
พรหม อรูปพรหม พระนิพพานได้ทั้งนั้น ไปพูดจาโต้ตอบกันรู้เรื่องรู้ราวทีเดียว
ธรรมกายจึงมีอานุภาพที่ไม่มีประมาณ อัปมาโณ พุทโธ อัปมาโณ ธัมโม อัปมาโณ สังโฆ รวมประชุมอยู่ในกลางธรรมกายนั่นแหละ
ต้องมีอิทธิบาท ๔ ในการฝึกใจให้หยุดนิ่ง
ต้องให้ความสำคัญกับการทำใจหยุดใจนิ่งให้ได้
ฝึกฝนอบรมใจกันไปทุกวัน อย่าท้อแท้ท้อถอย ทำให้ถูกวิธี แล้วก็มีความเพียร
ที่ประกอบไปด้วย อิทธิบาท
๔
มีความพึงพอใจรักใคร่ที่จะเข้าถึงวิชชาธรรมกาย
เข้าถึงธรรมกายได้ศึกษาวิชชาธรรมกาย
มีความเพียร
ทำทุกอิริยาบถ ทำความเพียรต่อเนื่อง ให้ใจจดจ่ออยู่กับธรรมกายอย่างเดียว
แล้วก็หมั่นสังเกตทุกรอบว่า
เราวางใจพอดีไหม ตึงเกินไปไหม ทำให้เกิดความเครียด
หรือหย่อนไปก็ทำให้เกิดความเคลิ้ม หรือความฟุ้ง เกิดความเคลิ้ม เกิดความคิด
แล้วก็วางจิตวางใจของเราเบาๆ อย่างง่ายๆ สบายๆ
สังเกตไปเรื่อยๆ
ทุกอิริยาบถว่า ทำอย่างไรถึงจะวางใจได้พอดีๆ ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป
ความพึงพอใจคือความพอดีนั่นเอง วางใจอย่างนี้ แล้วรู้สึกใจตั้งมั่น มั่นคง
ไม่ซัดส่าย รู้สึกสบาย เบิกบาน แช่มชื่น นั่นแหละ คือความพอดี ถ้าเกิดความรู้สึกพึงพอใจ
เห็นไม่เห็นก็ไม่เห็นจะเป็นไร
วันนี้เรานั่งยังไม่เห็นอะไร ก็ไม่เป็นไร
เพราะยังไงเราก็จะต้องเห็นอยู่แล้ว เพราะสิ่งที่เห็นมันมีอยู่
แต่เป็นสิ่งที่ละเอียด
หน้าที่ของเราทำใจให้ละเอียดเท่ากับสิ่งที่มีอยู่เพียงแค่นี้เท่านั้น
เมื่อละเอียดเท่ากันก็จะดึงดูดเข้าหากัน ความเห็นก็จะเกิดขึ้น
เกิดขึ้นมาพร้อมความสว่าง ภาพก็จะเกิดขึ้นมา
เพราะฉะนั้น
เวลาเรานั่งให้มุ่งทำความละเอียดของใจ คือ มุ่งฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง ให้วางพอดีๆ
ส่วนการเห็นนั้นให้เป็นผลพลอยได้ เพราะยังไงเราก็จะต้องเห็นอยู่แล้ว ถ้าใจละเอียด
รักษาใจอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าสามารถนึกภาพได้
ก็ให้นึกอย่างสบาย อย่าไปเค้นภาพ ให้นึกสบายๆ ค่อยๆ วางใจหยุดนิ่งๆ เห็นรัวๆ รางๆ
เราก็ค่อยๆ ประคองใจไปเรื่อยๆ
อย่าทำด้วยความใจร้อน
อย่าฮึดฮัด หงุดหงิด รำคาญ เมื่อเรามองยังไม่เห็นภาพ
หรือภาพที่เห็นไม่ชัดเจนตามใจปรารถนา ให้ทำใจให้ใส ให้เยือกเย็น ทำเพียงแค่นี้ ไม่ช้าก็จะสมหวังดังใจ#
การปรารภความเพียรของพระพุทธเจ้า
หลังจากเปลี่ยนอิริยาบถนั่ง
เป็นยืน เป็นเดิน หรือนอน เราก็หมั่นตรึก หมั่นนึก หมั่นนึกเบาๆ บ่อยๆ
ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่เรียกว่า ภาวิตา
พหุลีกตา ทำบ่อยๆ ทำเนืองๆ ทำทั้งวันทั้งคืน
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า
ท่านทำความเพียรอย่างนี้
บางครั้งก็เห็นแสงสว่าง บางครั้งก็ไม่เห็น แต่ท่านก็ไม่ลดละความเพียร
บางครั้งเห็นตลอดกลางวัน แต่กลางคืนไม่เห็น บางครั้งเห็นตลอดทั้งคืน แต่กลางวันไม่เห็น
ท่านก็ฝึกฝนต่อไปเรื่อยๆ บางครั้งก็เห็นทั้งกลางวัน และก็เห็นทั้งกลางคืน
บางครั้งเห็นชั่วแวบเดียว บางครั้งก็เห็นได้นาน
ท่านก็หมั่นฝึกฝนอบรมจิตใจของท่านไปเรื่อยๆ
โดยมีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสารเป็นเป้าหมาย หวังที่จะพ้นทุกข์ ให้เข้าถึงสุขอันเป็นอมตะให้ได้
ท่านจึงให้ความสำคัญต่อการฝึกฝนอบรมใจอย่างนี้
เทคนิคเข้าถึงธรรม
ยิ่งเรามีภาระน้อย
เครื่องกังวลน้อย ใจก็จะยิ่งนิ่งได้ง่าย
ถ้าทั้งวันทั้งคืนมีอารมณ์ดี
อารมณ์สบายตลอดเวลา ก็จะทำให้ง่ายต่อการฝึกใจให้มันหยุดนิ่งได้ อารมณ์ดี
อารมณ์สบายเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ที่มีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสาร
หวังจะทำพระนิพพานให้แจ้ง
แล้วก็ต้องหมั่นสอนตัวเองให้ได้ทุกวัน
ให้ได้ทั้งวัน สิ่งอะไรที่เป็นบาปอกุศล เราก็เพียรละ ลด เลิก สิ่งอะไรที่เป็นกุศล
ก็เพียรทำให้มันเจริญ
นึกถึงบุญ
นึกถึงความดี ความบริสุทธิ์ของเรา แล้วก็ทำใจให้ใสๆ ให้ละเอียด นึกบ่อยๆ
ความใสจะมาเอง แล้วก็จะเพิ่มพูนความใสทวีขึ้นไปเรื่อยๆ ใจก็จะยิ่งมีปีติ มีความสุข
จะเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เป็นกลาง บริสุทธิ์
แล้วก็มีความสุขเกิดขึ้น
ถ้ารักจะไปนิพพาน
จะไปสู่ที่สุดแห่งธรรม จะต้องทำอย่างที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ
อย่าท้อใจ
วันนี้หรือวันไหนที่เรานั่งแล้วไม่เห็น
อย่าได้ท้อใจ อย่าได้น้อยใจ โทษตัวเองว่า บุญบารมีวาสนาของเรา คงจะมีน้อย
คงทำมาไม่มาก ถึงยังไม่ได้เห็นเหมือนอย่างที่คนอื่นเขาเห็น หรือบางที
เรานึกน้อยใจว่า เราเข้าวัดมาก่อน มาตั้งนาน
ได้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรนำหมู่ญาติสนิทมิตรสหายผู้มีบุญเขามาปฏิบัติ
แต่เขามาภายหลัง เขาวางใจได้ถูกส่วน เขาได้รู้ได้เห็นด้วยตัวของเขาเอง
แต่เรากลับไม่เห็น
ก็อย่าไปมัวเสียเวลาโทษตัวเอง
น้อยใจในโชคชะตาวาสนาบารมี อย่าไปเสียเวลาคิดอย่างนั้นนะลูกนะ ถ้าบุญเราน้อย
เราจะไม่ได้เกิดในร่มเงาพระพุทธศาสนา จะไม่ได้เกิดในยุคที่ธรรมกายเกิดขึ้น
จะไม่ได้ยินคำว่า ธรรมกาย จะไม่ได้เข้ามาใกล้อยู่ในหมู่ของธรรมกาย จะไม่มีศรัทธา
จะไม่มีโอกาสปฏิบัติ
เพราะฉะนั้น
บุญของเรามีมากพอ เหลือเฟือที่จะเข้าถึง ขอเพียงแต่ทำให้ถูกวิธี แล้วก็มีความเพียร
อย่าไปกลุ้มอกกลุ้มใจ จนกระทั่งทำให้เกิดความท้อแท้ ท้อถอย
แล้วก็เลิกปฏิบัติไปในที่สุด ทำอย่างนั้นพญามารเขาก็จะหัวเราะเยาะเรา
แทนที่เราจะหัวเราะเยาะพญามาร เพราะฉะนั้นหมั่นฝึกใจให้หยุด ฝึกใจให้นิ่งๆ ให้ใจใสๆ
ทำใจหลวมๆ
ทำใจหลวมๆ
เหมือนสวมเสื้อผ้าที่ไม่คับเกินไป ทำให้รู้สึกสบายกาย ใจหลวมๆ
ก็จะทำให้รู้สึกสบายใจ ความสบาย เป็นต้นทางของการเข้าถึงธรรม ต้องหมั่นฝึกฝนอบรมไป
หมั่นสังเกต แล้วก็ปรับปรุงแก้ไขตัวเอง
อย่ามัวโทษนั่นโทษนี่
อย่าเอาตัวของเราไปเปรียบกับคนอื่น ใครนั่งดี เราก็อนุโมทนา ถ้าเรานั่ง
วันไหนนั่งดี เห็นความสว่าง เห็นดวงใสๆ ก็อย่าลิงโลดใจจนเกินไป ให้ทำใจเป็นปกติ
เราอย่าไปคิดว่า
วันนี้จะต้องนั่งให้ดีกว่าเมื่อวาน อย่าไปคิดอย่างนั้น แล้วอย่าไปนั่งแข่งกับใคร
แม้กระทั่งแข่งกับตัวของตัวเอง ไม่แข่งกับใครทั้งสิ้น ฝึกใจให้มันหยุด
ให้มันนิ่งอย่างเดียว อย่างนี้แค่นี้เท่านั้นแหละ
เมื่อเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว
ต่อจากนี้ไป ก็ให้ฝึกใจ ให้หยุดให้นิ่ง ให้ใจใสๆ ให้ใจของเราละเอียด
ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ นะลูกนะ
วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2565