พระธรรมกายนั่นไซร้ อัตตา
ตนที่เที่ยงจริงนา ของแท้
มนุษย์เสาะแสวงหา ห่อนหยุด
ถูกที่กลางกายแล้ จักได้พบเจอ
ตะวันธรรม
ในท้องมีพระธรรมกาย
วันศุกร์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 2 |EP.12| : ในท้องมีพระธรรมกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ
ปรับกายปรับใจ
ให้ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
หรือจำง่ายๆ ว่าอยู่ในบริเวณกลางท้อง ในระดับที่เรามั่นใจว่า
เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญของใจเรา
เป็นตำแหน่งที่ถูกต้องดีงามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
พระสัพพัญญูพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย
หลังจากที่ใจของท่านทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง
ใจของท่านจะมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้
ที่ทิ้งทุกอย่าง วางทุกสิ่ง
เพราะท่านเห็นภัยในสังสารวัฏภัยจากการเวียนว่ายตายเกิดที่นับครั้งไม่ถ้วนในภพสาม
คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ภัยที่เกิดจากความไม่รู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต
ไม่รู้ว่าตัวเองก็ยังไม่รู้อะไรเลย หรือแม้รู้ว่าตัวเองไม่รู้
แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปศึกษาที่ไหนกับใคร เพราะฉะนั้นมันเป็นภัยในสังสารวัฏ
ชีวิตในสังสารวัฏล้วนตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม กฎแห่งการกระทำของเราทางกาย ทางวาจา ทางใจ
ความคิด คำพูดการกระทำต่างๆ โดยที่เราไม่รู้เรื่องเลยว่ามีกฎนี้บังคับบัญชาอยู่ แล้วยังมีกฎของไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ความเป็นอนัตตา ความไม่เป็นตัวตนของตัวเอง และกฎเกณฑ์ต่างๆ
อีกมากมายที่มนุษย์สมมติขึ้นมา เป็นกฎหมายบ้าง กฎโน่นกฎนี่สารพัดไปหมด
และก็อยู่ภายใต้กฎดังกล่าว อะไรนิดอะไรหน่อยก็ล้วนมีผลทั้งสิ้น
ถ้ามีกิเลสก็มีการสร้างกรรม พอสร้างกรรมก็มีวิบาก มีผลของการกระทำ
ไม่ว่ากรรมดีหรือชั่วก็จะมีภพรองรับ ทั้งทุคติและสุคติ ก็เวียนว่ายตายเกิดซ้ำๆซากๆ
อย่างนี้ เพราะฉะนั้นชีวิตในสังสารวัฏจึงเป็นทุกข์เพราะความไม่รู้นี่แหละ
ช่วงใดที่มาเกิดเป็นมนุษย์ ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตก็คิดแต่จะละชั่ว
ทำความดี ทำใจให้ใส สั่งสมบุญกุศลกันไปชีวิตก็สูงส่ง
ละโลกแล้วไปเกิดในเทวโลกสุคติโลกสวรรค์
ช่วงใดประมาทในการดำเนินชีวิตจะด้วยความไม่รู้หรือเพราะอะไรก็แล้วแต่
ชีวิตก็จะตกต่ำพลัดไปในอบายในมหานรก อุสสทนรกยมโลก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
ชีวิตก็เป็นอย่างนี้ เวียนตายเวียนเกิดนับครั้งไม่ถ้วน
ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นล่าง ชั้นกลาง ชั้นสูง ล้วนมีทุกข์ทั้งสิ้น
ชนชั้นล่างก็ทุกข์แบบชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางก็ทุกข์แบบชนชั้นกลาง ชนชั้นสูงก็ทุกข์แบบชนชั้นสูง
มีทุกข์ประจำตัวกับทุกข์ที่จรมา เช่น การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก
ประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ดังใจ ทุกข์จากความแก่ ความเจ็บ
ความตาย สารพัดทำให้โศกเศร้าเสียใจ คับแค้นใจ พร่ำพิไรรำพัน
เพราะฉะนั้น ท่านจึงเห็นภัยในวัฏสงสาร ก็แสวงหาทางหลุดพ้น
และในที่สุดก็มาพบตอนที่ท่านทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง แล้วใจก็จะมาหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ที่กลางท้องเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
ตำแหน่งตรงนี้จึงเป็นตำแหน่งที่สำคัญ เป็นที่หยุดใจของเรา และของทุกๆ
คนเพราะเป็นต้นทางที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
ซึ่งเป็นสาเหตุความทุกข์ทรมานของชีวิต
สภาวธรรมภายใน
ใจท่านจะมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้แหละ
หยุดนิ่งกระทั่งถูกส่วนก็ตกศูนย์เข้าถึงดวงธรรมภายใน ลอยขึ้นมาเป็นดวงใสๆ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ
อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย
ดวงนี้เรียกว่า ดวงปฐมมรรค
หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นความบริสุทธิ์เบื้องต้นที่เห็นได้ สัมผัสได้ เข้าถึงได้
ที่มาพร้อมกับความสุข ความบริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน
เป็นความสุขที่ลาภยศสรรเสริญสุขให้ไม่ได้ ความพร้อมด้วยกามสุขให้ไม่ได้
ในเบญจกามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ให้ไม่ได้
เป็นความสุขที่เป็นอิสระกว้างขวาง ปรากฏเกิดขึ้น
แล้วก็เห็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัว เห็นไปตามลำดับ คือ มรรคผลนิพพาน มีอยู่แล้วในตัว
แต่ไม่รู้ว่ารู้มีอยู่ และไม่เฉลียวใจว่ามี อีกทั้งไม่ทราบวิธีที่จะเข้าไปถึง
ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ เป็นชีวิตที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน เป็นชั้นๆ เข้าไป ซ้อนๆ
กันอยู่เห็นกายในกาย เช่น
กายมนุษย์ละเอียด
ซ้อนอยู่ในกลาง กายมนุษย์หยาบ
กายทิพย์ ซ้อนอยู่ในกลาง
กายมนุษย์ละเอียด
กายรูปพรหม ซ้อนอยู่ในกลาง
กายทิพย์
กายอรูปพรหม ซ้อนอยู่ในกลาง
กายรูปพรหม
กายธรรมโคตรภู ซ้อนอยู่ในกลาง
กายอรูปพรหม
กายธรรมพระโสดาบัน
ซ้อนอยู่ในกลาง กายธรรมโคตรภู
กายธรรมพระสกิทาคามี
ซ้อนอยู่ในกลาง กายธรรมพระโสดาบัน
กายธรรมพระอนาคามี
ซ้อนอยู่ในกลาง กายธรรมพระสกิทาคามี
กายธรรมพระอรหัต ซ้อนอยู่ในกลาง
กายธรรมพระอนาคามี
จะมีกายซ้อนๆ กันอยู่อย่างนี้
นับตั้งแต่กายมนุษย์หยาบเรื่อยไปถึงกายสุดท้ายมีทั้งหมด ๑๘ กาย จะซ้อนเป็นคู่ๆ
คือมีกายหยาบ-กายละเอียดของกายนั้น เป็นคู่ๆ ซ้อนๆ กันอยู่โตใหญ่หนักขึ้นไปเรื่อยๆ
บริสุทธิ์มากขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ละกายก็จะเชื่อมโยงด้วยดวงธรรม ๑ ชุด ๖ ดวง คือ
ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา
ดวงวิมุตติและดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วข้างใน ไม่ได้ไปปรุงแต่ง
แต่ว่ามนุษย์ไม่ทราบว่ามีอยู่
ทั้งหมดนี้จะซ้อนๆ กันอยู่ภายใน เป็นชั้นๆ กันเข้าไป
สิ่งที่บริสุทธิ์กว่าจะซ้อนอยู่ในสิ่งที่บริสุทธิ์น้อยกว่า
กายที่โตใหญ่กว่าจะซ้อนอยู่ในกลางกายที่เล็กกว่า
ของใหญ่อยู่ในของเล็กได้เพราะละเอียดกว่ากัน บริสุทธิ์กว่ากัน
คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์คือให้ขจัดสิ่งที่เป็นมลทินของใจ
สิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาเป็นต้นเหตุให้ไม่พบกับความสุขมีแต่ความทุกข์ทรมานของชีวิต
ทำให้ไม่เป็นอิสระ ต้องเป็นบ่าวเป็นทาสของเขา เป็นบ่าวเป็นทาสของกิเลสของอาสวะ
พระองค์จะสอนให้ชำระกาย วาจา ใจ
ให้บริสุทธิ์เข้าไปถึงสิ่งที่บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นจนบริสุทธิ์ที่สุด คือ กายธรรมอรหัตหน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐
วา ด้วยวิธีการที่ง่าย
ตรง ลัด ประหยัดสุด ประโยชน์สูง คือ นำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗
ถ้าใครหยุดได้ก็เข้าถึงได้ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม
ถ้าใจหยุดนิ่งอยู่ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้ ก็เข้าถึงได้กันทุกคน ไม่มีเว้นเลย นี้เป็นสัจธรรม เป็นธรรมของพระอริยเจ้า คือเป็นความรู้ของพระอริยเจ้าที่ท่านค้นพบ
แล้วก็เป็นจริง ต้องเป็นอย่างนี้ ผิดจากนี้ไปไม่ใช่
ในท้องมีพระธรรมกาย
เพราะฉะนั้น ก็แปลว่า มรรคผลนิพพานนั้นมีอยู่ในตัวของเราและของทุกคน
มรรคผลนิพพานนั้นไม่พ้นกาลสมัย ไม่ใช่ผูกขาดมีได้เฉพาะในสมัยพุทธกาล
เพราะสัจธรรมมีอยู่ได้ตลอดเวลา เนื่องจากอยู่ในตัวของเราและมนุษย์ทุกๆ คน มีอยู่ในกลางกายของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
โดยเฉพาะมนุษย์ที่เราจะเห็นได้ง่าย มีแต่ไม่รู้ว่ามีอยู่
ตรงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญว่าใครจะประสบความสำเร็จสมหวังในชีวิตหรือไม่
ความสมบูรณ์พรั่งพร้อมไปด้วยวัตถุภายนอกเป็นความสำเร็จในชีวิตระดับหนึ่ง
แต่ก็ยังมีขอบเขตจำกัด แล้วก็มีภาระที่จะต้องคอยรับผิดชอบ คอยดูแล
มีเครื่องกังวลเยอะแยะ คือ ความสำเร็จที่มีภาระมีความกังวลปนอยู่
แต่ถ้าเข้าถึงอริยทรัพย์ภายในดังกล่าวนี้จึงจะได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแท้จริง
เพราะปราศจากเครื่องกังวล ปราศจากภาระ ไม่มีขอบเขต เป็นอิสระ กว้างขวาง
เพราะฉะนั้นใครจะได้ชื่อว่า ประสบความสำเร็จในชีวิตต้องเป็นชีวิต ๒๐๐ เปอร์เซ็นต์
ภายนอก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และภายในอีก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หรือผู้มีบุญในกาลก่อนโน้นที่พรั่งพร้อมไปด้วยสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ อำนาจ วาสนา พวกพ้องบริวาร
แต่พอถึงจุดอิ่มตัวก็แสวงหาสิ่งที่ดีกว่า จึงมีกุลบุตรออกจากตระกูลต่างๆ
ทั้งชนชั้นล่าง ชั้นกลาง ชั้นสูงกระทั่งถึงพระราชา มหากษัตริย์
ผู้มีสมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง ก็จะแสวงหาชีวิตที่สูงส่งกว่านี้ คือ
ทางมรรคผลนิพพานนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ตรงนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราต้องให้ความสำคัญเอาใจใส่
เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวของเรา ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา
เราก็จะต้องใช้กายมนุษย์หยาบให้มีคุณค่าอย่างเต็มที่
โดยเดินรอยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย
ท่านทำอย่างไรเราก็ทำอย่างนั้นท่านเป็นอย่างไรเราก็จะเป็นอย่างนั้นไปด้วย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุธรรมดังกล่าวอย่างนี้
จนกระทั่งกาลเวลาผ่านมาหลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๕๐๐ ปี โดยประมาณนั้น
คำสอนเกี่ยวกับเรื่องการบรรลุมรรคผลนิพพานดังกล่าว
ด้วยการหยุดใจเข้าไปถึงพระธรรมกายที่อยู่ภายในนั้นค่อยๆ แปรปรวนไป เพราะว่ามีนักคิด
นักทฤษฎี นักปรัชญาเกิดขึ้นมาก นักปฏิบัติก็ปลีกวิเวก ส่วนนักคิดอะไรต่างๆ
นั้นก็มักจะไม่ค่อยนิยมสนใจการปฏิบัติก็จะไปตีความหลักธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกไปตามความเข้าใจของตน
ซึ่งมีความรู้ยังไม่สมบูรณ์
เพราะฉะนั้น ความหมายที่แท้จริงเกี่ยวกับเรื่องพระธรรมกายจึงแปรปรวนไป
หาจุดที่จะนำไปสู่การปฏิบัติให้เข้าถึงได้ยาก แต่ยังดีที่ยังคงคำว่า “ธรรมกาย” เอาไว้ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกทั้งเถรวาทและในมหายาน
แต่ความหมายก็แตกต่างกันไป
ดังนั้นหลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๕๐๐ ปี ผู้ที่จะรู้จักธรรมกายอย่างแท้จริงจึงลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ
แม้บางแห่ง เช่น ในแผ่นดินจีน จะมีคำว่า ธรรมกาย หรือสอนกันแล้วก็บอกต่อๆ กันมาว่า
ในตัวในท้องมีพระ แต่ก็อยู่ในวงจำกัด และในที่สุดก็ค่อยๆ เลือนกันไป
ก็เป็นอย่างนี้เรื่อยมายาวนานถึงสองพันกว่าปี
จนกระทั่งเมื่อ ๙๒ ปี* ที่ผ่านมา คำว่า ธรรมกาย ที่มีความหมายอย่างแท้จริง
และวิธีที่จะปฏิบัติเข้าถึงพระธรรมกายก็ถูกค้นพบกลับคืนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านบวชมาได้ ๑๑ พรรษา
กลางพรรษาที่ ๑๒ อายุได้ประมาณ ๓๓ ปี เพราะบวชเมื่ออายุ ๒๒ ปี
หลังจากที่ผ่านการศึกษาทั้งภาคปริยัติ ภาคปฏิบัติ
ตามครูบาอาจารย์ต่างๆ แสวงไปทุกหนทุกแห่งเพื่อจะหาคำตอบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติธรรมอย่างไร
บรรลุธรรมอย่างไรจึงหลุดพ้นจากความทุกข์จากกิเลสอาสวะได้ เมื่อไม่เจอ
ในกลางพรรษาที่ ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ที่โบสถ์ วัดโบสถ์บน บางคูเวียง
จังหวัดนนทบุรี ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่ตรงนั้น ในยามเย็นของวันเพ็ญเดือน ๑๐ นั้น
ท่านก็ตั้งสัตยาธิษฐานว่า
“วันนี้ถ้าเราไม่ได้บรรลุธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุ
ก็จะไม่ลุกจากที่ แม้เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหายไป
เหลือแต่กระดูกหนังช่างมันไม่ได้ตายเถอะ ยอมตาย”
แล้วท่านก็ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง รวมใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ซึ่งปกติก็เป็นธรรมชาติของใจถ้าทิ้งทุกอย่าง วางทุกสิ่ง
มันจะกลับไปนิ่งอยู่ในที่ตั้งดั้งเดิม คือกลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้
แล้วท่านไม่ได้ทำอะไรอีกเลย ไม่ได้คิดอะไรเลย ทำใจให้หยุดนิ่งอย่างเดียว
เพราะท่านยังไม่รู้เลยว่า ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุนั้นอยู่ที่ตรงไหน
เป็นอย่างไร แต่ว่า ณ วันนั้นท่านมีความตั้งใจที่เด็ดเดี่ยวเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
เพราะท่านเบื่อหน่ายจากความทุกข์ เห็นภัยในวัฏสงสารเช่นเดียวกับผู้มีบุญในกาลก่อน
เพราะฉะนั้น ใจของท่านก็ปลอดโปร่ง แล้วก็ทำหยุดทำนิ่งอย่างเดียว
นิ่งไปเรื่อยๆ แล้วท่านก็เห็นไปตามลำดับ จนกระทั่งได้บรรลุพระธรรมกาย
เมื่อบรรลุพระธรรมกายแล้ว ท่านก็เปล่งอุทานในยามดึกว่า “เออ...มันยากอย่างนี้นี่เอง
ถึงได้ไม่บรรลุกัน ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ต้องรวมเป็นจุดเดียวกัน
เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด ถ้าไม่ดับ ก็ไม่เกิด นี่เป็นของจริง
ของจริงต้องอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้ เป็นไม่เห็นเด็ดขาด”
คล้ายๆ
กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ตรัสรู้ใต้โพธิบัลลังก์โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์
ในวันที่พระองค์ตัดสินใจเด็ดเดี่ยว
ถ้าไม่ได้บรรลุธรรมที่ทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ก็จะไม่ลุกจากที่
นั่งบำเพ็ญเพียรไปตั้งแต่ย่ำค่ำเรื่อยไปเลย ค่อนคืนจึงได้บรรลุธรรมเข้าถึงกายธรรมพระโสดาบัน
แล้วก็เปล่งอุทานว่า
“เมื่อใดธรรมทั้งหลายบังเกิดขึ้นแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ชัดธรรมพร้อมทั้งเหตุ”
คำว่า “พราหมณ์”
หมายถึง นักบวช, บรรพชิต
ที่มีความเพียรอย่างถูกหลักวิชชา
เพียรเพ่งอยู่ “เพ่ง”
ไม่ได้หมายถึงว่า จ้อง หรือลุ้น หรือเค้น หรือเน้นภาพ หรือตั้งใจมากเกินไป
แต่หมายถึง ใจที่หยุดนิ่งอย่างสบายๆ พอถูกส่วนธรรมก็บังเกิดขึ้น
ทำให้ความสงสัยในสิ่งที่ตัวสงสัยในเรื่องหนทางแห่งการพ้นทุกข์มีจริงหรือ
เราจะทำได้หรือ และก็พบว่า มันมีจริง เราทำได้จริง เข้าถึงได้จริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี พระองค์ก็อุทานอย่างนั้น
จนถึงรุ่งอรุณตอนเช้าเมื่อได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
บรรลุกายธรรมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วพระองค์ทรงอุทานอย่างนั้นเหมือนกันว่า
“เมื่อใดธรรมทั้งหลายบังเกิดขึ้นแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่
พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้
ดำรงอยู่เหมือนดวงอาทิตย์ผุดขึ้นมากำจัดมืด กระทำอากาศให้สว่างฉะนั้น”
หมายถึง ความมืด ด้วยความไม่รู้จริงอันใดในใจหมดสิ้นไปเลย
พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ เมื่อ ๙๒ ปี ท่านก็เป็นอย่างนั้นแต่ท่านอุทานว่า “เออ...มันยากอย่างนี้นี่เอง
ถึงได้ไม่บรรลุกันความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้
ต้องรวมเป็นจุดเดียวกันเมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด ถ้าไม่ดับ
ก็ไม่เกิด นี่เป็นของจริง ของจริงต้องอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้
เป็นไม่เห็นเด็ดขาด”
ดับวูบลงไป แล้วก็เกิดมาเป็นดวงใส เป็นกายภายใน แล้วก็พบพระธรรมกาย
เพราะฉะนั้น ท่านจึงเข้าใจคำว่า ธรรมกาย ได้ซาบซึ้งกว่าเดิมมากมายนัก
เพราะเข้าถึงตัวจริง เมื่อเข้าถึงแล้วก็รู้ว่าคือพระธรรมกาย เพราะกายนั้นบอกเองว่า
นี่ธรรมกาย คือกายทั้งก้อนประกอบไปด้วยธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ หรือจะเรียกว่าเป็นที่รวมประชุมหมวดหมู่แห่งธรรม
แห่งความบริสุทธิ์ทั้งหมด
กายก้อนนี้เป็นธรรมที่พ้นจากกฎของไตรลักษณ์ไปสู่สภาวะที่เที่ยง เป็นอมตะ มั่นคง
เป็นสุขล้วนๆ แหล่งกำเนิดแห่งความสุข และก็เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระ
ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเองโดยไม่อาศัยสิ่งอื่น
เหมือนดวงอาทิตย์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง มีพลังงานในตัวเอง
ไม่เหมือนดาวเคราะห์ทั้งหลาย
เมื่อรู้จักคำว่าพระธรรมกาย
และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกายในตัวแล้วตั้งแต่นั้นท่านก็ค้นคว้าเรื่อยมาเวลาที่เหลืออยู่นี้
ให้ทุกคนตั้งใจประกอบความเพียรให้กลั่นกล้าอย่างถูกหลักวิชชา
ให้สมกับว่าได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย
ให้ทุกคนประคับประคองใจให้หยุดนิ่งให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระธรรมกายในตัวทุกๆ
คนนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ
วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565