หนีกรรมไม่พ้น
วันเสาร์ที่
๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ (๑๙.๐๐ - ๒๑.๐๐ น.)
บ้านแก้วเรือนทองของคุณยาย
สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เราได้บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไป ให้ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะจ๊ะ
หลับตาของเราเบาๆ
พอสบายๆ คล้ายกับเราตอนใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตานะจ๊ะ
หลับตาสักค่อนลูก อย่าถึงกับให้ปิดสนิท ให้พอสบายๆ
ปรับใจ
ทำใจของเราให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ ให้ใสๆ
ให้เยือกเย็น
นึกถึงบุญ
แล้วก็นึกสมมติว่า ภายในร่างกายของเรา
ปราศจากอวัยวะ ตับไต ไส้พุง เป็นต้น ปราศจากอวัยวะภายใน ให้สมมติว่า เป็นปล่อง
เป็นช่อง เป็นโพรง กลวง เหมือนท่อแก้วใสๆ
ให้เป็นทางไหลผ่านของกระแสธารแห่งความบริสุทธิ์
แห่งความดีงาม ตลอดไปจนกระทั่งบุญบารมี ๓๐ ทัศ ที่เราได้สั่งสมอบรมมาตั้งแต่ปฐมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
สร้างบารมีเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
รวมกับอานุภาพอันไม่มีประมาณของพระรัตนตรัย และคุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์
รวมเป็นกระแสธารแห่งความบริสุทธิ์ ไหลผ่านท่อแก้วใสๆ ภายในร่างกายของเรา
ขจัดสิ่งที่เป็นมลทินของใจให้หมดสิ้นไป
ตั้งแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสอาสวะ วิบัติ บาปศักดิ์สิทธิ์ วิบากกรรม
วิบากมาร อุปสรรคต่างๆ นานาในชีวิต ทุกข์ โศก โรค ภัย ให้ละลายหายสูญไปให้หมด
ให้เหลือแต่ความบริสุทธิ์ปรากฏเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กลางท้องของเรา
ที่เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
เป็นดวงสว่างกลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว
ใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิ ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว
อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน ปรากฏเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ให้เอาใจของเรา ไปหยุดนิ่งๆ
อยู่ที่กลางดวงใสๆ ให้ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดไปที่กลางความใส
ตรึก คือ การนึกอย่างเบาๆ สบายๆ คล้ายๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย
สิ่งที่เรารัก
ให้ตรึกนึกถึงดวงใสอย่างสบายๆ
แล้วก็เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใส ของดวงใสๆ ให้ต่อเนื่องกันไป อย่าให้ขาดตอน
อย่าให้เผลอ แวบไปคิดเรื่องอื่น ให้ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดที่กลางดวงใส
ให้ต่อเนื่องกันไป อย่างสบายๆ กำหนดใจไปตรงนั้นเลย อย่างสบายๆ
ถ้าหากว่าแวบไปคิดเรื่องอื่น เราก็ดึงใจกลับมาหยุดมานิ่งในกลางดวงใสๆ ดังกล่าว
ดึงกลับมาใหม่ เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ สบายๆ
บริกรรมภาวนา
หรือประคองใจไม่ให้แวบไปคิดเรื่องอื่น
ด้วยคำภาวนา สัมมาอะระหังๆๆ ตรึกนึกถึงดวงใส
ใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใส สัมมาอะระหังๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ
อย่าให้ช้าหรือเร็วเกินไป เอาสบาย ๆ
ภาวนาไปเรื่อยๆ จะกี่ครั้งก็ได้ กี่สิบ กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น
กี่แสนครั้งก็ได้ จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง ใจหยุดนิ่งอยู่ที่กลางดวง พอใจหยุดนิ่งจะทิ้งคำภาวนาไปเอง
คล้ายๆ กับเรา เราลืมภาวนา หรือไม่อยากจะภาวนา สัมมาอะระหัง ต่อไป
อยากจะวางใจนิ่งเฉยๆ อยู่ที่กลางดวงใสๆ
ถ้าหากว่าเป็นอย่างนี้
ก็ไม่ต้องหวนกลับมาภาวนาใหม่ ให้รักษาใจ คือ หยุดนิ่งๆ ที่กลางดวงใสๆ
ซึ่งใจตอนนั้นจะไม่ฟุ้งแล้ว อยู่ที่กลางดวงใสๆ ให้ใสเหมือนกับเพชร ยิ่งหยุด
ยิ่งนิ่ง ก็ยิ่งใส ยิ่งชัดเจน ชัดเจนเหมือนลืมตาเห็นทีเดียว ชัดใสแจ่ม ยิ่งหยุด ยิ่งนิ่ง
ก็ยิ่งสว่าง สว่างตั้งแต่สว่างน้อยๆ ก็ค่อยสว่างเพิ่มขึ้นจนสว่างเต็มที่
คล้ายดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวันหรือยิ่งไปกว่านั้น
ให้ใจหยุดนิ่งอย่างนี้นะจ๊ะ
หยุดในหยุดๆ นิ่งในนิ่งลงไปอย่างสบายๆ ประคองใจไปเรื่อยๆ ถ้าแวบไปก็ดึงกลับมาใหม่อย่างสบายๆ
ด้วยใจที่เบิกบาน ที่แช่มชื่น จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง ถูกส่วนไปเอง
แผนผังชีวิต
พอถูกส่วนก็ยิ่งชัด ใส แจ่ม
สว่างทีเดียว จะชัดใสแจ่มอยู่ในกลางกาย แล้วดวงก็จะค่อยๆ ขยายไปเอง
โดยไม่ต้องนึกให้ขยาย ถูกส่วนแล้วจะขยายเอง เดี๋ยวเราจะเห็นดวงธรรมดวงใหม่ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ
เป็นชั้นๆ เข้าไป จนกระทั่งเข้าถึงกายในกาย ถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม
กายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาปัน กายธรรมพระสกิทาคามี
กายธรรมพระอนาคามี แล้วก็กายธรรมพระอรหัต
ทั้งหมดนี้เป็นแผนผังชีวิต
ซึ่งมีอยู่ภายในตัวของเราทุกๆ คน จุดหมายของเราก็มุ่งไปให้ถึงกายธรรมอรหัต ที่คำว่า
ธรรมกาย คือ เป้าหมายของชีวิต ก็หมายเอา กายธรรมอรหัตเป็นเป้าหมาย
ทั้งหมดนี้มีอยู่ในตัวของเรา
ซึ่งจะเข้าถึงได้ด้วยการหยุดกับนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น ใช้วิธีอื่นไม่ได้ผล
ต้องหยุด ต้องนิ่งถึงจะเข้าถึงได้
เพราะฉะนั้น เราต้องฝึกประคองใจให้หยุด
ให้นิ่งๆ อย่างสบายๆ ให้มีสติกับความสบายและสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ถ้าทำได้อย่างนี้ ไม่ช้าก็จะ
เข้าถึงกันทุกๆ คน
ธรรมกายที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด
ถึงธรรมกายเมื่อไร เราก็จะมีที่พึ่งภายใน เพราะธรรมกายนั้น คือ ที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของเรา
เพราะว่า กายทั้งก้อนท่านบริสุทธิ์ ประกอบไปด้วยธรรม ๘๔,๐๐๐
พระธรรมขันธ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก เพราะมีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพมาก
ที่มีอานุภาพมาก เพราะมีความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกฎของไตรลักษณ์
หลุดพ้นจากความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้าถึงความเป็นนิจจัง สุขัง อัตตา
เป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา เพราะเป็นอิสระต่อการบังคับบัญชาของพญามาร พญามารบังคับบัญชาไม่ได้
กายที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์นั้นบังคับบัญชาได้
เช่น กายมนุษย์หยาบของเรานี้ ตกอยู่ในไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
คือ เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มีทุกข์เป็นพื้นฐาน ทุกข์มาก ทุกข์น้อย ทุกข์ปานกลาง
แล้วก็ไม่เป็นอิสระ
ไม่เป็นอิสระ คือ นึกอะไร อยากให้เป็นอะไร
มันก็ไม่ได้ดั่งใจของเรา เราบังคับบัญชาไม่ได้ กายมนุษย์หยาบยิ่งแก่ก็ยิ่งเสื่อมสลาย
ยิ่งเหี่ยวย่นไปเรื่อยๆ อยู่นานไปก็ยิ่งทรุดโทรม กายทิพย์ พรหม อรูปพรหมก็คล้ายๆ
กัน อยู่ไปอย่างมีขอบเขตจำกัด
กายทิพย์อยู่นานไปจนกระทั่งจะหมดบุญ
ก็จะมีนิมิตเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า จะต้องจุติ แล้วรัศมีกายที่เคยมีก็หมด
กายก็เศร้าหมอง เหงื่อไม่เคยมีก็ออก และยิ่งอยู่นานไปก็มีวันเสื่อม พรหม
อรูปพรหมก็คล้ายๆ กันอย่างนั้นแหละ แต่อยู่นานกว่า แต่ถึงนานยังไงก็ไม่ได้เป็นอมตะ
ไม่เป็นนิจจัง ยังเปลี่ยนแปลงได้ พอหมดกำลังบุญก็มีสัญญาณ มีนิมิตหมายเช่นเดียวกัน
รัศมีก็ดับไป กายก็เศร้าหมอง เหมือนกายทิพย์อย่างนั้นแหละ และในที่สุดก็ต้องจุติ
แต่กายธรรม ยิ่งแก่ ยิ่งอยู่นาน
ยิ่งสุกใส ยิ่งสว่าง ยิ่งกาลเวลาผ่านไปก็ยิ่งมีรัศมีเจิดจ้า กายโตใหญ่หนักยิ่งขึ้น
ยิ่งสว่าง ยิ่งบริสุทธิ์ ยิ่งมีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพ มีความรู้กว้างขวางใหญ่โตไปทีเดียว
รู้ได้รอบตัว เห็นได้รอบตัว แล้วก็เป็นนิจจัง เป็นอมตะ เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุข
สุขล้วนๆ ไม่มีทุกข์เจือเลย แล้วก็เป็นอิสระจากการบังคับบัญชาของพญามาร เป็นอิสระ
อยากให้เป็นอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น ให้เล็กก็เล็ก ให้ใหญ่ก็ใหญ่ ให้ใสก็ใส ให้สว่างก็สว่าง
ถึงธรรมกายแล้ว
ความสุขที่แท้จริงก็พรั่งพรูออกมา สุขตลอดเวลา
จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของกายมนุษย์หยาบที่แตกกายทำลายขันธ์ กายธรรมก็ยังสว่างไสว
ตายก่อนตาย คือ ถอดกายออกไปก่อนได้ และก็เลือกที่เกิดได้
จะไปอยู่ภพภูมิไหนก็ได้ทั้งนั้น ดีอย่างนี้
งานที่แท้จริง
ต้องพยายามฝึกใจให้หยุดนิ่ง
ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นกรณียกิจ
เป็นกิจที่ควรทำ เป็นงานที่แท้จริง คือ ทำหยุดทำนิ่ง หยุดกับนิ่งอย่างเดียวเรื่อยไปเลย
ไม่ต้องไปทำอะไรที่นอกเหนือไปจากนี้
พอเราทำชำนาญแล้วเพียงปิดเปลือกตาเบาๆ
ใจก็แล่นไปสู่ภายในแล้ว พอแตะที่กลางกายเบาๆ ก็วูบเข้าไปเลย เข้าไปเรื่อย
กายธรรมในกายธรรมเข้าไปเรื่อยๆ โตใหญ่หนักยิ่งขึ้น ใสหนักยิ่งขึ้น สว่างไสวทีเดียว
ความรู้ก็กว้างขวางใหญ่โตออกไป
เพราะฉะนั้น งานที่แท้จริงของเรานี้
คือ งานทำหยุดทำนิ่ง ให้เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัว โดยเฉพาะเข้าถึงธรรมกาย
ถึงพุทธรัตนะ ถึงธรรมรัตนะ ถึงสังฆรัตนะ นี่งานที่แท้จริงเป็นอย่างนี้
นอกนั้นเป็นงานเบ็ดเตล็ด ชั่วคราว เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ทำมาหากินกัน ทำมาค้าขาย
เกี่ยวพันกับมนุษย์เพื่อจะให้ได้ทรัพย์ ได้ปัจจัย ๔ มาหล่อเลี้ยงสังขาร
เพื่อเอาความแข็งแรงและการดำรงอยู่นี้มาทำงานที่แท้จริง คือ ทำหยุดทำนิ่ง
เพราะฉะนั้น วิชาชีพกับวิชชาชีวิตนี้ ต้องทำควบคู่กันไป ธุรกิจกับจิตใจต้องไปด้วยกัน
ให้มันควบคู่กันไปอย่างนี้ ชีวิตจึงจะสมบูรณ์ แต่ต้องให้รู้ว่า อะไรเป็นเรื่องหลัก
อะไรเป็นเรื่องรอง
ธรรมกาย
ทำหยุดทำนิ่งให้เข้าถึงธรรมกายเป็นเรื่องหลัก การทำมาหากินนั้นเป็นเรื่องรองลงมา
ใจจะได้ไม่ไปหมกมุ่นพัวพันกับการทำมาหากินมากเกินไป
จนลืมงานที่แท้จริงในการทำหยุดทำนิ่ง
พระอานนท์โปรดพ่อค้า
เหมือนอย่างที่เคยเล่าให้ฟังบ่อยๆ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าชี้ให้พระอานนท์ดูนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่
บรรทุกสินค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม ไปทำมาค้าขายได้ทรัพย์สมบัติมามากมาย
มีความเชี่ยวชาญฉลาดในการทำมาหากิน ตั้งแต่ยังหนุ่มจนกระทั่งถึงบั้นปลายของชีวิต
มัวแต่ทำมาหากินอย่างเดียว จนลืมงานที่แท้จริงกระทั่งพระพุทธเจ้าท่านได้ชี้ให้พระอานนท์เห็นว่า
นั่นเขาเก่งในการทำมาค้าขาย
แต่เขาไม่รู้เลยว่า จะมีชีวิตอยู่อีก ๗ วัน หลังจากนั้นต้องหมดอายุขัย สมบัติที่หามาได้ก็เอาติดตัวไปไม่ได้ ตายไปแล้วก็จะไปทุกข์ทรมาน มีแต่ความทุกข์ทรมาน
เพราะไม่ได้สร้างบุญเอาไว้ ไม่ได้แสวงหาที่พึ่งเอาไว้
เมื่อพระอานนท์ได้ทูลขออนุญาตจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่จะไปบอกกล่าวให้นักธุรกิจผู้นั้นได้รับทราบ เมื่อพระพุทธเจ้าอนุญาตท่านก็ไปบอก
ยังดีที่บุญเก่าของนักธุรกิจยังมีอยู่จึงเชื่อฟัง
แล้วก็เอาทรัพย์ที่แสวงหามาได้บริจาคทาน สร้างมหาทานบารมี เมื่อครบ ๗ วันก็ละโลก
ละโลกแล้วก็ได้บุญเป็นที่พึ่งไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ไปสู่เทวโลก
เพราะฉะนั้น สิ่งนี้ก็เป็นอุทาหรณ์สอนใจเราว่า
สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง คือ ทำหยุดทำนิ่ง ซึ่งจะเว้นไม่ได้เลยแม้แต่วันเดียว ต้องทำให้สม่ำเสมอทุกวัน
โดยไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง หรือว่าเงื่อนไขใดๆ
จนกระทั่งทำให้เราไม่ให้โอกาสตัวเองทำหยุดทำนิ่ง แม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำมาหากินเพียงใด
เราก็จะต้องเจียดเวลาไว้สำหรับทำหยุดทำนิ่ง ฝึกไปบ่อยๆ
ใจจะได้คุ้นเคยกับศูนย์กลางกาย ฝึกไปเรื่อยๆ
พอถูกส่วนเดี๋ยวก็เข้าถึงเองนั่นแหละ
มหาปูชนียาจารย์ช่วยกลั่นแก้ธาตุธรรม
การที่เรามาประชุมพร้อมกัน
ที่หน้าบ้านแก้วเรือนทองของคุณยาย เพื่อมาปฏิบัติธรรม เป็นปฏิบัติบูชา
บูชาธรรมให้กับคุณยายของเรานี้ เป็นสิ่งที่ดี บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายก็สรรเสริญ
เป็นทางมาแห่งบุญของเรา และคุณยายท่านก็จะได้ช่วยกลั่นแก้เก็บผังวิบัติบาปศักดิ์สิทธิ์
วิบากกรรม วิบากมาร อุปสรรคต่างๆ นานาในชีวิต ทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ ให้ละลายหายสูญ
เพื่อจะคุมธรรมะเรา ให้เข้าถึงพระรัตนตรัย
เพราะฉะนั้น ต้องหมั่นมานั่งบ่อยๆ
นั่งกับคุณยาย ท่านจะได้ฉุดเราเข้าไปในกลางของกลางไปเรื่อยๆ ยิ่งเข้ากลางหนักเข้าไปเท่าไร ใจก็ยิ่งบริสุทธิ์
หลุดพ้นจากที่เขาบังคับบัญชาเอาไว้
วิบากรรมไม่เว้นแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วิบากกรรม วิบากมาร
ไม่เว้นแม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ในชาติสุดท้ายที่ท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เศษแห่งวิบากอกุศลกรรมที่ทำเอาไว้ ยังตามส่งผลให้เกิดแก่พระองค์
ยกตัวอย่าง เช่น ช้างนาฬาคีรี
ที่พระเทวทัตไปยุพระเจ้าอชาตศัตรู ให้เอาเหล้าให้ช้างดื่ม แล้วก็ปล่อยมา
เพื่อจะให้มาทำร้ายพระพุทธองค์ เรื่องนี้มีเหตุ เป็นเศษกรรมเก่า ในอดีตท่านเคยเป็นนายควาญช้าง
เคยจะขับช้างทำร้ายพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ด้วยความโมโห
อกุศลจิตเข้าไปสิงจิต ที่พระปัจเจกพุทธเจ้าบิณฑบาตขวางทาง
แต่ตอนหลังรู้ตัวก็ไปขอขมาท่าน ท่านก็ไม่ถือโทษอะไร ขนาดยกโทษให้นะ ในภพนั้น
ตายแล้วยังไปอบาย ใช้กรรมเรื่อยมาเลย กรรมเกี่ยวกับช้างนี่ แม้กระทั่งชาติสุดท้าย
เศษกรรมที่เป็นวิบากอกุศล ยังส่งผลมาอย่างนี้
ลูกทุกคนผ่านการเวียนว่ายตายเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน
บางชาติเราก็ประมาทชะล่าใจ
ปล่อยให้อกุศลเข้าสิงจิต ได้กระทำความผิดต่อผู้มีศีลมีธรรม เพราะฉะนั้นมันติดมาเป็นวิบาก
ดังนั้นเราจะต้องแก้ไข เก็บผังที่เขาบังคับบัญชาเอาไว้ให้หมดเลย ช่วยตัวเราเองด้วยการหยุดการนิ่งไปเรื่อยๆ
แล้วคุณยายอาจารย์ของเรา
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านก็จะได้อาราธนาพระนิพพาน
ให้ลงแก้ไขเราด้วย เพราะผังนี้มันติดอยู่ทุกกาย ติดอยู่ในกลางนั่นแหละ ต้องไปแก้ไปเก็บให้หมด
จนกระทั่งธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ เราสะอาด บริสุทธิ์ จะได้หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้
ดังนั้น การมาปฏิบัติธรรมกันทุกวัน
หลังจากเราเลิกงานแล้ว ก็มาประชุมกันที่นี่ มานั่งธรรมะ มาบูชาพระเจดีย์
ก็เป็นทางมาแห่งบุญ และความบริสุทธิ์ของเราที่จะถูกกลั่นแล้วกลั่นเล่า
ด้วยหยุดกับนิ่ง แล้วก็อานุภาพของคุณยาย ของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ
ภาษีเจริญ ของพระนิพพาน เราก็จะได้ใสสะอาดบริสุทธิ์ หลุดพ้นกันไปเรื่อยๆ เป็นชั้นๆ
เข้าไป
ตั้งแต่หนักก็เป็นเบา
เบาก็ให้หายไปเลย ต้องแก้กันไปอย่างนี้ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว ต่อจากนี้ไป
เอาใจหยุดนิ่งๆ ที่ศูนย์กลางกาย ทำใจให้ใสๆ ให้ละเอียด ให้บริสุทธิ์ ให้หยุด
ให้นิ่ง ทุกๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ
วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2565