สติปัฏฐาน ๔
วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ (๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.)
สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไป ให้ตั้งใจให้แน่แน่ว
มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คน
ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย
มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูกพอสบายๆ คล้ายๆ
กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบายๆ
ปรับใจ
ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด
บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจของเราให้ว่างๆ
สมมติว่า ภายในร่างกายของเรานั้น ปราศจากอวัยวะ
ไม่มีปอด ไม่มีตับ ม้าม ไต หัวใจ ไส้ใหญ่
ไส้น้อย เป็นต้น สมมติร่างกายเรา เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง เป็นที่โล่งๆ
ว่างๆ กลวงภายในคล้ายท่อแก้ว ท่อเพชรใสๆ หรือเหมือนลูกโป่งที่เขาอัดลมเข้าไป
ทางเดินของใจ
๗ ฐาน
คราวนี้เราก็มาทบทวนคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร ที่ท่านสอนให้รู้จักทางเดินของใจ ซึ่งเป็นทางไปเกิดมาเกิดของสัตว์โลกว่า มีทั้งหมด
๗ ฐาน ศึกษาเอาไว้ให้รู้จักว่า
๗ ฐานนั้นมีอะไรบ้าง ทุกฐานสำคัญทั้งสิ้นเพราะเป็นทางเดินของใจ
ฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก
ท่านหญิงอยู่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวา
ฐานที่ ๒ อยู่ที่เพลาตา ตรงหัวตาที่น้ำตาไหล
ท่านหญิงอยู่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวา
ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะ
ในระดับเดียวกับหัวตาของเรา
ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก
ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก สมมติว่า
ปากช่องคอเป็นปากถ้วยแก้วกลมๆ อยู่ตรงปากช่องคอเหนือลูกกระเดือกขึ้นไป
ฐานที่ ๖ อยู่ในกลางท้อง ในระดับเดียวกับสะดือของเรา
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น
นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่า
ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ อยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบ ใสบริสุทธิ์ โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่
เป็นดวงธรรมที่ทรงรักษากายมนุษย์หยาบเอาไว้
ธรรมดวงนี้สำคัญมาก
มีอยู่ทุกคนในโลก ถ้าหากผ่องใส ไม่เศร้าหมอง ชีวิตก็รุ่งเรือง ถ้าเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ชีวิตก็ร่วงโรย ถ้าธรรมดวงนี้ดับชีวิตก็ดับไปด้วย
ธรรมดวงนี้จึงสำคัญมาก และเป็นเครื่องยืนยันว่า ถ้าใครลงมือปฏิบัติธรรม ก็จะต้องเข้าถึงกันอย่างแน่นอน
ถ้ามีความเพียร ทำให้ถูกหลักวิชชา จะต้องเข้าถึงธรรมอย่างแน่นอน ธรรมดวงนี้เรียกว่า
ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบ ใส
บริสุทธิ์ โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่
ทรงรักษากายมนุษย์เอาไว้
ฐานที่ ๗ เหนือจากฐานที่ ๖ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
คือ เรายกถอยหลังสูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วก็นำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒
อยู่ตรงฐานที่ ๖ นี้ สูงขึ้นมา
๒ นิ้วมือ เรียกว่า ฐานที่ ๗
๗
ฐานนี้ทำความรู้จักเอาไว้ก่อน
แต่ก็อย่าเป็นเครื่องกังวลว่า
เราจะต้องให้เห็นทุกฐาน ในตอนที่เราเริ่มฝึกกันใหม่ๆ ในแง่ของการปฏิบัติจริงๆ
นั้น ให้เอาใจมาไว้ตรงกลาง ตรงฐานที่ ๗
การสอนธรรมะปฏิบัติของหลวงปู่ (ไล่ฐาน)
สมัยพระเดชพระคุณหลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะต้องให้รู้จักทั้งหมดเลยทั้ง ๗ ฐาน โดยให้สมมติเป็นดวงใสๆ ขนาดเข้าปากช่องจมูกได้ หรือเป็นดวงใสกลมรอบตัว พอที่จะลอดช่องจมูกเข้าไป หญิงซ้ายชายขวา แล้วก็เคลื่อนไปเรื่อยๆ ทำความรู้จักทุกครั้งที่ท่านสอน แล้วก็ให้ประกอบบริกรรมภาวนาให้ทุกฐาน ฐานละ ๓
ครั้ง พร้อมทั้งตรึกนึกถึงดวงใส หยุดในกลางดวงใสด้วย
ท่านสอนอย่างนี้ทุกครั้ง เพราะจะมีนักเรียนใหม่อยู่เรื่อยๆ
ทุกวันพฤหัส ท่านสอนให้เคลื่อนไปตามฐานต่างๆ ตั้งแต่ปากช่องจมูก หญิงซ้ายชายขวา ที่หัวตาตรงน้ำตาไหล หญิงซ้ายชายขวา ในกลางกั๊กศีรษะ เพดานปาก
ช่องปากอาหารสำลัก ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก
มากลางท้องในระดับสะดือ แล้วก็ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ท่านจะให้ค่อยๆ เห็นไปตามลำดับ
แต่การปฏิบัติทุกครั้ง เราอาจจะทำอย่างนั้น หรือลัดมาฐานที่ ๗ เลยก็ได้
เพราะฐานที่ ๗ ตรงนี้ ท่านบอกว่า
เป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่น
มันสำคัญตรงนี้ เกิดตายหลับตื่นอยู่ที่ตรงนี้ จึงต้องศึกษาเอาไว้ เพราะเราต้องตายกันทุกคน
ตายให้เป็น อย่างถูกหลักวิชชา
ตายต้องตายให้เป็น ตายอย่างสง่างาม โดยไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัย โดยการหยุดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ใจใสบริสุทธิ์ ไม่ให้ฟุ้ง ไม่ให้วิตกกังวล ถ้ามันจะฟุ้ง มันจะคิดเรื่องอื่นก็เปลี่ยนเรื่องคิด
ให้มาคิดเรื่องบุญกุศล เท่าที่เราจำได้นึกได้ จะบุญเล็ก บุญปานกลาง บุญใหญ่แค่ไหน ก็ให้นึกให้ได้สักบุญหนึ่ง เดี๋ยวมันก็จะไปดึงดูดบุญอื่นๆ มารวมกัน ทำให้ใจเราใส บริสุทธิ์
จะรวมเป็นดวงใสๆ หรือองค์พระใสๆ
เวลาตาย จะเคลื่อนจากฐานที่ ๗ ไปฐานที่ ๖ , ๕, ๔, ๓, ๒, แล้วก็ ๑
แล้วก็ไปแสวงหาที่เกิด นี่เป็นวิธีเตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ ทุกๆ คนที่จะตายอย่างสง่างาม อย่างถูกหลักวิชชา ตายแบบผู้รู้
ดีกว่าตายแบบผู้ไม่รู้ เพราะว่าอย่างไรก็ต้องตายกันหมด
ถ้าใจใสสุคติก็เป็นที่ไป แต่ถ้าใจหมอง มีแต่ภาพบาป หรือฟุ้งซ่านไป สมมติเราวิตกกังวลเรื่องเจ็บป่วยไข้ จะตายแล้วใจมันหมอง บาปมันก็ได้ช่อง ภาพบาปก็จะฉายให้เห็น ก็หมองหนักเข้าไปอีก
เวลาตายไม่ว่าใจจะหมองหรือใสมันก็เคลื่อนไปทางเดียวกัน
จาก ๗ ไปฐานที่ ๑ ก่อน แต่คติที่ไปคนละทางกัน เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องฝึกเอาไว้
ใจใสกับหมองไม่มีขาย อยากได้เราก็ต้องทำกันเอง
ฐานที่ ๗ ต้นทางพระนิพพาน
เราทำความรู้จักฐานที่ ๗ เอาไว้ เพราะนอกเหนือจากเป็นที่เกิด
ดับ หลับ ตื่นแล้ว ยังเป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน ซึ่งเป็นบรมสุข เอกันตบรมสุข
สุขอย่างยิ่งอย่างเดียวไม่มีทุกข์เจือปนเลย เป็นทางหลุดทางพ้นจากกิเลสอาสวะที่เขาบังคับบัญชาเรา เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์หมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลายที่เรียกว่า วิสุทธิมรรค
เป็นทางเดินของพระอริยเจ้าที่เรียกว่า
อริยมรรค จะต้องเริ่มต้นตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้กันเสียก่อน
ข้อสังเกตเรามาถูกทางไหม
ต้องรู้จักว่า ทางนั้นมันอยู่ตรงไหน ถ้าไม่รู้จักทาง มันก็ไปไม่ถูก และจะเริ่มต้นกันอย่างไร
จะมีอะไรเป็นข้อสังเกตว่า เรามาถึงจุดเริ่มต้นหรือต้นทางแล้ว ทางที่จะเดินต่อไปนั้นถูกต้อง
ไม่ผิดพลาด มีข้อสังเกต คือ
เวลาใจหยุดนิ่งๆ ที่ฐานที่ ๗ แล้ว หยุดได้ถูกส่วนแล้ว ไม่แวบไปคิดเรื่องอื่น ไม่แวบไปแวบมา มันนิ่ง มั่นคง สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหมด ใจใส บริสุทธิ์
จะหยุดนิ่งๆ ตรงฐานที่ ๗
ตรงนี้ แล้วมันจะตกศูนย์ไปฐานที่ ๖ จะไปยกเอาดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบ
ใส บริสุทธิ์ โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ ลอยขึ้นมาตรงฐานที่ ๗
ถ้ามันหยุดนิ่งตกศูนย์แล้ว พอยกขึ้นมา ตอนนี้แหละ เราถึงจะเห็นเป็นภาพเกิดขึ้น เป็นดวงใสๆ ตรงฐานที่ ๗ ดวงนี้ เป็นเครื่องบ่งบอกว่า เรามาถูกทางแล้ว นั่นคือจุดเริ่มต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน ซึ่งเป็นทางเอกสายเดียวไม่มีสอง
เมื่อเป็นทางเอกสายเดียว
ที่เรียกว่า เอกายนมรรค มันก็ง่ายต่อการปฏิบัติ หรือแปลง่ายๆ ว่า จะไปทางอื่นซ้าย ขวา
หน้า หลัง ล่าง บน
ทางบนบก ในน้ำ ในอากาศ
ทางไหนมันไปไม่ได้ มันไปได้ทางเดียวทางนี้
คือ ทางเดินสายกลางภายใน เมื่อเราปฏิบัติตามทางสายกลางภายนอก คือ
ไม่ตึง ไม่หย่อนเกินไป เป็นกลางๆ
คำว่า ทางสายกลางเขาใช้ตรงนี้
ข้อปฏิบัติไม่ตึงไม่หย่อน คือ
นิ่งๆ เฉยๆ ไม่ใช่ว่าเชื่อหรือว่าไม่เชื่อ อยู่ในระดับเฉยๆ กลางๆ มันนิ่ง
ตกศูนย์เข้าถึงดวงธรรมภายใน
พอถูกส่วนมันตกศูนย์จะมีอาการคล้ายๆ กับเรานั่งรถเร็วๆ
ขึ้นสะพานแล้วลงวูบลงไป หรือขึ้นเครื่องเหมือนตกหลุมอากาศมันวูบลงไป บางคนก็วูบว้าบอย่างพรวดพราด
บางคนก็ไปอย่างนุ่มเนียนค่อยๆ ไป ถ้าพรวดพราดก็ตกอกตกใจหน่อย แต่ถ้าหากนุ่มเนียนมันก็สบายใจ แต่จะอย่างไรก็ตามมันก็จะไปยกเอาธรรมดวงนั้นขึ้นมา
เมื่อธรรมดวงนั้นมาอยู่ที่ฐานที่ ๗ พระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านเรียกชื่อว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรืออีกนัยหนึ่ง เรียกว่า ดวงปฐมมรรค แปลว่า
ถึงทางเบื้องต้นของมรรคผลนิพพาน เข้าถึงทางแล้ว
ธรรมดวงนี้จะมาพร้อมกับความสุขที่แท้จริง
ที่แตกต่างจากความสุขที่เราเคยเจอ
หรือเราเคยเข้าใจ เมื่อความแตกต่างมันชัดเจน เราก็จะรู้อีกนัยหนึ่งว่า ที่เคยเข้าใจว่าความสุข
ที่จริงแล้วมันคือความทุกข์ที่ลดลงอยู่ในระดับที่เราพอจะทนได้ เราเลยเข้าใจว่า มันเป็นความสุข แต่พอถึง ณ ตอนนี้
เมื่อได้ดวงใสๆ เกิดขึ้นมา เราจึงจะเข้าใจ มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เหมือนฟ้ากับดินอย่างนั้น มันต่างกันมาก
ไม่ได้เพ่งลูกแก้ว
เมื่อเป็นดวงใสๆ กลมรอบตัวอย่างนี้ บางทีผู้ไม่เคยปฏิบัติฟังไม่เข้าใจ
ก็ไปเหมาว่า เป็นการเพ่งลูกแก้ว ที่จริงความเพ่งนั้นเอามาใช้ไม่ได้เลย
เพราะยิ่งเพ่ง ยิ่งตึง ยิ่งเครียด
มันต้องวางนิ่งๆ นุ่มๆ ละมุนละไม หยุดใจอย่างเดียวเท่านั้นถึงจะเข้าถึง
แล้วมันก็ไม่เหมือนลูกแก้วทั้งหมด มันเหมือนแค่ลักษณะกลม
เหมือนดวงแก้วที่เขาเจียระไนกลมๆ เพราะว่ามันนุ่มเนียน มันใส
มันสว่าง ใสเหมือนเพชร เหมือนน้ำ เหมือนกระจก หรือยิ่งกว่านั้น มันสว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน หรือยิ่งกว่านั้น
สว่างยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยง เราไม่ค่อยจะรู้จักกันหรอก
เขาเอามาใช้ตรงที่เข้าถึงปฐมมรรค พอถึงตรงนี้แล้ว มันจะสว่าง จะใส เพราะฉะนั้นไม่ได้เป็นการเพ่งลูกแก้วแต่เป็นการหยุดใจ
สมถะวิปัสสนาต้องไปด้วยกัน
หยุด ตรงกับคำว่า
สมถะ
สมถะ แปลว่า หยุด ,นิ่ง , สงบ , ระงับ
คือ
ใจมันหยุด มันนิ่งๆ ถึงจะถูกคำว่า
สมถะ หรือเข้าถึงคำว่า สมถะ
สมถะกับวิปัสสนาเกื้อกูลกันและต้องไปพร้อมๆ กัน สมถะเป็นบ่อเกิดแห่งวิปัสสนา
มันไปด้วยกัน เหมือนลูกนัยน์ตากับจมูกบนหน้า มันไปพร้อมกัน แยกออกจากกันไม่ได้
แต่ว่าลักษณะต่างกัน
ใจหยุดเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเข้าถึงความเห็นอันวิเศษ แจ่มแจ้ง
เหมือนดึงของอยู่ที่มืดออกมาอยู่กลางแจ้ง เห็นชัดและแตกต่างจากที่เราเคยเห็นทั่วๆ
ไปด้วยตาเนื้อ หรือดวงตาของเทวดา พรหม
อรูปพรม สมถะกับวิปัสสนามันต้องไปด้วยกัน
เราจะเอาวิปัสสนาโดยไม่เอาสมถะ เพราะรังเกียจว่าเป็นของต่ำต้อยไม่ได้
แสดงว่า ไม่ได้เข้าใจ มันต้องไปด้วยกัน
มันแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นถูกอย่างนี้เรียกว่า สมถะ
จะเป็นดวงใสขึ้นมา
ไตรสรณคมน์
ถ้าเราปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด
ซึ่งมีอยู่หลายวิธี โดยเฉพาะที่มาในวิสุทธิมรรคก็ถึง ๔๐ วิธี
ล้วนแต่มีเป้าหมายให้ใจหยุด
แต่หยุดแล้วดวงธรรมต้องเกิด พอเกิดแล้วก็เดินทางต่อเข้าไปในกลางดวงธรรม
เข้าไปในจุดศูนย์กลางของดวงธรรม นั่นเป็นทางเดินของใจ ที่เรียกว่า
เส้นทางของอริยมรรค ทางของพระอริยเจ้า
ที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านเดินเข้าไปอย่างนั้น ไม่ใช่เดินด้วยขา แต่เดินด้วยใจ
เมื่อใจหยุดนิ่งแล้วมันจะมีอาการเคลื่อนเข้าไปข้างในซึ่งตรงกับคำว่า คมนะ
หรือเราคุ้นกับ คมน์
ไตรสรณคมน์ ไตร แปลว่า สาม รัตนะ แปลว่า แก้ว
สรณะ แปลว่า ที่พึ่งที่ระลึก ไตรสรณคมน์ ที่พึ่งที่ระลึกทั้ง ๓ อย่าง คมน์ แปลว่า
เคลื่อนเข้าไป หรือการเดินทางเข้าไปสู่ภายใน เหมือนเราเอาขาเดินอย่างนั้น หรือเวลาเคลื่อนรถยนต์ยวดยานพาหนะ มันก็จะเคลื่อนเข้าไปภายในกลางดวงนั้นเอง เคลื่อนเข้าไปเอง ไม่ต้องไปอธิษฐานให้มันเคลื่อนเพื่อไปเจอสิ่งนั้นสิ่งนี้
สติปัฏฐาน ๔ กับการเข้าถึง ๑๘ กาย
พอมันเคลื่อนเข้าไป มันก็จะเห็นไปตามลำดับ เห็นกายในกาย
เห็นเวทนาในเวทนา
เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม ๔ อย่างนี้ มารวมประชุมกันอยู่ เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์มีอุปกรณ์ตั้งเยอะแยะมารวมกันในกล่องนี้ แต่มันทำหน้าที่กันคนละอย่าง กายทำหน้าที่อย่างหนึ่ง เหมือนเป็นบรรจุภัณฑ์ เวทนา สัญญา เวทนา จิตธรรมก็ทำหน้าที่กันคนละอย่าง
มารวมอยู่ตรงนั้น
ลักษณะมันคล้าย ๆ กัน เหมือนคนเหมือนกัน แต่ทำหน้าที่กันคนละอย่าง คนบางคนทำหน้าที่เป็นเจ้านาย บางคนทำหน้าที่เป็นลูกน้อง ทำหน้าที่ต่างๆ กัน คนละอย่างกัน แต่เป็นคนเหมือนกัน นี่ก็เช่นเดียวกัน ดวงกลมๆเหมือนกัน แต่ทำหน้าที่กันคนละอย่าง เลยเรียกกันคนละชื่อ กาย เวทนา จิตในจิต
ธรรมในธรรม มารวมกัน
กายในกาย ๑๘ กาย
ทีนี้เรามาศึกษาเรื่องกายในกายทั้งหมดว่า
มันมีกี่กาย และกายอะไรคือเป้าหมาย กายทั้งหมดมี
๑๘ กาย มันซ้อนกันอยู่ภายใน
กายที่ละเอียดกว่าจะซ้อนอยู่ในกายที่หยาบกว่า
กายที่ละเอียดกว่าจะใส จะสว่าง จะบริสุทธิ์ ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ของใหญ่จะซ้อนอยู่ในของเล็ก เพราะละเอียดกว่า จะซ้อนกันเข้าไปข้างใน
๑๘ กายก็มี กายมนุษย์หยาบ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์หยาบ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหมหยาบ กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหมหยาบ กายอรูปพรหมละเอียด กายธรรมโคตรภูหยาบ กายธรรมโคตรภูละเอียด กายธรรมพระโสดาบันหยาบ กายธรรมพระโสดาบันละเอียด กายธรรมพระสกิทาคามีหยาบ กายธรรมพระสกิทาคามีละเอียด
กายธรรมพระอนาคามีหยาบ
กายธรรมพระอนาคามีละเอียด
กายธรรมพระอรหัตหยาบ กายธรรมพระอรหัตละเอียด
เราต้องรู้จักเอาไว้ว่า มีทั้งหมด ๑๘ กาย
๑๘ ชั้น ซึ่งเราจะต้องตามเห็นเข้าไปเรื่อยๆ ด้วยวิธีหยุดนิ่ง
เห็นไหมจ๊ะว่า
สมถะ ทิ้งไม่ได้ หยุดอย่างเดียวจึงเห็น หยุดนิ่งแล้วเดี๋ยวก็จะเห็นไปตามลำดับ
โดยแต่ละกายที่แตกต่างกันนั้น จะมีดวงธรรมเชื่อมเอาไว้ จะกลั่นใจให้บริสุทธิ์ แล้วก็เชื่อมกายชุดละ ๖
ดวง มีชื่อเรียก ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล
ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ
ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
ที่เรียกว่า เป็นดวงเพราะมันกลมๆ มันเป็นดวง ไม่ยาว ไม่รี ไม่เป็นแท่ง
ไม่เป็นสี่เหลี่ยม กลมหมดเลย กลมนี่มันจะขยายไปรอบทิศได้
ทุกทิศทุกทาง จะเชื่อมกัน
กายในกาย แบ่งเป็น ๒ ภาค
กายก็จะแบ่งออกเป็น ๒ ภาค
คือ กายที่อยู่ในภพ
กับกายที่พ้นออกจากภพสาม
กายอยู่ในภพจะตกอยู่ในไตรลักษณ์ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์
เป็นอนัตตา กายที่ออกนอกภพ
มันก็พ้นจากไตรลักษณ์ เป็นนิจจัง เป็นสุขัง เป็นอัตตา เราแบ่งเป็น
๒ ซีก จะได้ง่ายต่อความเข้าใจ
เราจะพบว่า ความเป็นโคตรภูบุคคล
ความเป็นพระโสดาบัน ความเป็นพระสกิทาคามี ความเป็นพระอนาคามี หรือความเป็นพระอรหันต์ มีอยู่แล้วในตัว เหลือแต่เราเข้าถึงให้ได้ แล้วก็เป็นสิ่งนั้น
การบรรลุธรรมของบัณฑิตในกาลก่อน
เวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านแสดงธรรม เนื่องจากแต่ละคนสั่งสมบารมีมามาก ถึงจุดที่จะบรรลุธรรมาภิสมัยได้ พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรม
คือ ดึงใจให้ละชั่ว ให้ทำดี ทำใจให้ใส
อยู่ในหลักการอันนี้
แต่คำสอนก็แล้วแต่ท่านจะขึ้นด้วยอะไร ด้วยทาน ด้วยศีล หรือด้วยอะไรอย่างอื่น ใจก็สบาย
จะทาน จะศีล จะสวรรค์
จะโทษของกาม หรืออานิสงส์ของกามออกจากกาม
ที่เรียกว่า อนุปุพพิกถา
พอฟังแล้วใจจะสบาย เพลิน พอใจสบาย
มันก็หยุดนิ่ง พอมันนิ่งก็ตกศูนย์ พอตกศูนย์บุญเก่าก็ได้ช่องสอดละเอียดดึงวูบไปถึงกายธรรมโคตรภู
ก็เป็นโคตรภูบุคคล ที่เราได้ยินว่า มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก เข้าถึงที่พึ่งที่แท้จริง พอไปถึงตรงนั้นจะรู้เลยว่า
สิ่งอื่นไม่ใช่ที่พึ่ง
มันต้องเข้าถึงมันถึงจะรู้ว่า จิ้งจกสองหัว
แมวสองหาง ปู่เต่า ต้นไม้
ภูเขา อารามศักดิ์สิทธิ์ จอมปลวก
เจ้าพ่อ เจ้าแม่อะไรต่างๆ นั้นไม่ใช่ที่พึ่ง หรือทรัพย์สินเงินทองก็ไม่ใช่ที่พึ่ง
ปรากฏว่าที่พึ่งจริงๆ คือ พระรัตนตรัยในตัว บุญเขาก็ฉุดไปเลย
เพราะบารมีมันเต็มเปี่ยมแล้ว ฉุดไปถึงกายธรรมโคตรภู ก็เป็นโคตรภูบุคคล
ฉุดไปถึงกายธรรมพระโสดาบัน กำลังบุญมันถึงก็ละสังโยชน์ได้ทันทีเลย ปุ๊บไปเลย
ละสังโยชน์ได้ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นต้น
คือ จำง่ายๆ ว่า ละกิเลสไปได้ มันบางลงไป ถึงระดับเป็นพระโสดาบันเลย วูบไปถึง แล้วก็ไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
พอเป็นสิ่งนั้นจริงๆ เป็นอันเดียวกับกายธรรมพระโสดาบันจริงๆ ความรู้สึกว่าเป็นพระโสดาบันก็เกิดขึ้น แล้วก็จะล่อนออกจากสังโยชน์ มันล่อนไปเอง
ติดเป็นอันเดียวไปเลย
กายธรรมพระโสดาบัน หน้าตัก
๕ วา วัดจากเข่าถึงเข่า กลางเข่าสูง ๕ วา จากเกตุดอกบัวตูมถึงพื้นแผ่นโลกุตตรฌานเป็นแนวดิ่งลงไป
กายธรรมพระสกิทาคามี หน้าตัก
๑๐ วา สูง ๑๐ วา
พระอนาคามี หน้าตัก ๑๕ วา สูง
๑๕ วา
พระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ว่าลัดกันไปเลย
ในทำนองเดียวกัน
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมแล้ว
ฟังด้วยความเบิกบาน มีความปลื้มปีติ ยกใจให้สูงด้วยทาน ด้วยศีล
สวรรค์ ยกตัวอย่างอนุปุพพิกถา
โทษของกาม อานิสงส์ของการออกจากกาม แล้วต่อด้วยอริยสัจ ๔ พอใจมันใส มันก็เข้าใจง่าย ต่อด้วยว่า ชีวิตเป็นทุกข์ เหตุที่เกิดทุกข์
มี ๓ อย่าง
ถ้าหยุดความอยากได้เรียกว่า นิโรธะ พอหยุดแล้วมรรคก็เกิดเป็นดวงใสกลม ส่งใจคล้อยตามท่านไป แล้วบุญเก่าก็ฉุดพรวดไปเลย
ถึงโคตรภูบุคคลบ้าง ถึงพระโสดาบันบ้าง พระสกิทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง ถึงกายธรรมพระอรหัตบ้าง
กายธรรมอรหัต คือ เป้าหมายสุดท้าย อรหัตตผลนั่นหมดกิเลสแล้ว
ล่อนหมดแล้ว สังโยชน์เบื้องสูง พูดง่ายๆ กิเลสหมดแล้ว ก็หลุดเลย
หลุดก็เห็นว่า หลุด เรียกว่า วิมุตติญาณทัสนะ หลุด ก็เรียกว่า วิมุตติ เห็นว่าหลุดแล้วจริงๆ
เหมือนเสื้อผ้าอาภรณ์หลุดจากกายเรา หลุดเราก็รู้ว่ามันหลุด แล้วเราก็เห็นว่ามันหลุด เดินออกจากกางเกง เราก็รู้ว่า กางเกงมันหลุดไปแล้ว
หลุดจากภพ ๓ ก็ในทำนองเดียวกัน เครื่องที่ผูกไว้ เหนี่ยวรั้งไว้ ที่ห่อหุ้มใจ
หรือหุ้มจำ หุ้มจิต หุ้มรู้
ดินน้ำลมไฟ วิญญาณ อากาศธาตุ
ธาตุธรรมเห็น จำ คิด รู้ หลุดหมดเลย
ล่อนไปหมด ก็เห็นว่าหลุด
ตรงเห็นว่าหลุดจริงๆ
นี่แหละ จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าหลุด ซึ่งมันมีระดับ หลุดในระดับไหน แต่ที่พูดนี่หลุดในระดับสมบูรณ์แล้ว คือ จากกิเลสอาสวะทั้งหมด ก็หลุดจากภพสามไปเลย ถอดออกหมดทุกกาย เหลือแต่กายธรรมอรหัต กายธรรมอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา
เราจะเห็นได้ว่า มรรคผลนิพพานอยู่ในตัวของเรา ไม่ได้อยู่ที่ไหน ไม่ได้เกี่ยวกับยุคกับสมัยเลย ไม่หมดยุคสมัย ไม่มีล้าสมัย ไม่มีทันสมัย
แต่อยู่ในสมัยเสมอ เพราะเขาอยู่ในตัวของเรา
มันซ้อนๆ กันเป็นชั้นๆ เข้าไป แล้วแต่ว่าเราจะหยุดใจกันไปได้ถึงแค่ไหน เจาะเข้าไปเรื่อยๆ เหมือนน้ำใต้ดิน เจาะเข้าไปทีละชั้นๆๆ เจาะตื้นๆ น้ำไม่ไหลนะ เจาะไปถึงแหล่งน้ำ น้ำจึงไหลขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน เราก็ต้องหยุดไปถึงตรงนั้น หยุดอย่างเดียวนี่แหละเป็นตัวสำเร็จ
คำว่า วิปัสสนา
ใช้ตั้งแต่กายธรรมโคตรภูขึ้นไป เพราะมันเห็นได้รอบทิศ ทุกทิศทุกทาง
เนื่องจากมีธรรมจักขุ จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา
แสงสว่าง มันจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน
มันพร้อมๆ กัน แต่มันคนละอย่างกัน
เห็นไปด้วยกันพร้อมๆ กัน รวมประชุมกันตรงนั้น เห็นได้ทุกทิศทุกทาง นี่คือสิ่งที่เป็นภาคทฤษฎี ที่เราจะต้องศึกษาเอาไว้
ทำให้ถูกหลักวิชชา ๔ ส. สติ สบาย สม่ำเสมอ สังเกต
ในแง่ของการปฏิบัติ เมื่อเราเกิดความมั่นใจแล้วว่า เราต้องเดินอย่างนี้ เข้าใจแล้ว มั่นใจแล้วว่า เราทำอย่างนี้ ไม่มีบ้า
ไม่เห็นโน่นเห็นนี่ที่น่ากลัว หลุดตายออกไป
พอเราผ่านจุดนี้ได้
จุดความรู้สึกอย่างนี้ได้ ก็เหลือแต่ขั้นตอนที่เราจะต้องทำกันให้เป็น
ขั้นตอนที่จะต้องทำกันให้เป็น คือ
ต้องขยัน ทำความเพียร ที่เรียกว่า มีความเพียรแล้วก็ให้ถูกหลักวิชชา ตรงหลักวิชชาตรงนี้
ลูกทุกคนจะต้องศึกษากันเอาไว้ จะว่ายากก็ยาก แต่ว่ายากไม่มาก จะว่าง่ายก็ง่าย ง่ายสำหรับคนที่เข้าใจ
ถ้าเราจับหลักได้ว่า หยุด เป็นตัวสำเร็จ ต้องหยุดใจ
เราก็ต้องหยุดอย่างเบาสบาย คือ มีสติ
มีความสบาย แล้วก็ให้สม่ำเสมอต่อเนื่องกันไป มีอยู่แค่นี้เอง สติ สบาย สม่ำเสมอ
อย่าให้ตึง ถ้าตึงแล้วเกร็ง ระบบประสาทจะบอกเรา ร่างกายจะบอกเรา ไม่ถูกแล้ว
ถ้าถูกมันจะโล่ง จะโปร่ง
จะเบา จะสบาย แล้วเดี๋ยวมันก็เป็นไปเอง
เป็นไปตามขั้นตอน เราจะนึกเป็นภาพองค์พระ ดวงแก้วก็ได้ หรือจะไม่นึกก็ได้ วางนิ่งเฉยๆ
ให้มันมีสติอยู่กับตัว คือใจต้องอยู่ในท้องโดยไม่กังวลกับ ฐานที่ ๗
ว่าเราจะถูกเป๊ะไหม ตรงเลยไหม ไม่ไปคำนึงถึงมัน
ทำความรู้สึกว่า ใจอยู่ในท้อง
ใจอยู่กับเนื้อกับตัวของเรา นิ่งๆ เฉยๆ
แล้วก็ให้สบาย แบบผู้มีบุญ ทำแบบสุขุมาลชาติ
ให้สบาย คือ นิ่งๆ นิ่งเฉยๆ สบายๆ
แล้วก็รักษาความสบายให้ต่อเนื่อง
อย่าให้ขาดตอน อย่าให้เสียจังหวะของการเชื่อมต่อของสติกับสบาย ที่เรียกว่า
สม่ำเสมอ
เมื่อเลิกนั่งแล้ว ก็หมั่นสังเกตด้วยว่า
เราทำถูกหลักวิชชา ว่า สติ สบาย สม่ำเสมอหรือเปล่า ตึงไปไหม
หย่อนไปไหม พอได้ยินตามทฤษฎี เห็นดวง
เห็นกายโน่น กายนี่ เราเลยอยากได้จนเกินไป
พออยากได้เกินไป มันไม่สบายแล้ว
สังเกตร่างกายเราจะฟ้อง บอกเราว่า อย่า มันตึงแล้ว มันเกร็งท้อง ไหล่ยก
นิ้วกระดกขึ้นมาแล้ว ท้องเกร็งแล้ว ลูกนัยน์ตากดลงไปดูแล้ว ผิดวิธีแล้ว
ต้องเลิกทำ คำว่า เลิกทำ
คือ เลิกทำด้วยวิธีการนั้น
และก็มาเริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ ง่ายแบบนักเรียนอนุบาล
เรายังเป็นผู้ฝึกอยู่ จะมียศถาบรรดาศักดิ์ทางโลกแค่ไหน
จะมีทรัพย์มากแค่ไหนก็ตาม มันคนละเรื่องกัน
เราเป็นใหญ่ทางโลก แต่เป็นหนูน้อยในทางธรรม ต้องฝึกให้มันถูกหลักวิชชา สติ สบาย ความสม่ำเสมอ ในทุกอิริยาบถทั้ง ๔ นั่ง นอน
ยืน เดิน หลับตาลืมตา
ฝึกกันไปเรื่อย
ไม่คาดหวังว่าจะเห็นอะไร แล้วก็ไม่ตั้งความหวังว่า วันนี้จะนั่งให้ดีกว่าเมื่อวาน รอบนี้นั่งให้ดีกว่ารอบที่ผ่านมา
หรือไปนั่งแข่งกับคนอื่นเขาว่า เราจะต้องเอาให้ดีกว่าเขา หรือเท่าเขา หรือไปนั่งน้อยเนื้อต่ำใจว่า เราชวนเขาเข้าวัดมาทีหลังแท้ๆ แต่เขากลับพบความสว่างบ้าง พบดวงธรรมบ้าง
พบกายภายในบ้าง พบองค์พระบ้าง ไปนั่งน้อยเนื้อต่ำใจว่า ทำไมเรามาก่อน ถึงทำไม่ได้เหมือนเขาที่เราเพิ่งพามาในภายหลัง เราคงมีบุญน้อยบ้าง วาสนาน้อยบ้าง
ที่จริงไม่ใช่ แต่เราทบทวนจริงๆ นะ บุญเราไม่น้อย แต่เราทำน้อย แม้ผ่านกาลเวลามา ขาดความเพียร
ความพยายามกับทำไม่ถูกหลักวิชชาเท่านั้น
เพราะฉะนั้น เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว เราแค่ทำวางเบาๆ เหมือนขนนกที่ลอยในอากาศ ค่อยๆ บรรจงตกไปบนผิวน้ำอย่างละมุนละไมและไม่จมเลย หรือเราค่อยๆ วางเข็มเย็บผ้า วางอย่างบรรจงบนผิวน้ำ
อาศัยความตึงของผิวน้ำเข็มก็ลอยบนผิวน้ำได้ หรือการจะขีดบนใบบัวให้เป็นรอยแต่ไม่ให้มันขาด มันก็ต้องค่อยๆ บรรจงในการขีด หรือการจะสนเข็มก็ค่อยๆ บรรจง เอาด้ายค่อยๆ
สอดรูเข็มก้นเข็ม
อีกมือหนึ่งก็จับปลายเข็มอย่างมั่น
และค่อยๆ บรรจง
จะมานั่งแบบฮึดฮัดใจร้อนๆ
แบบวิธีการทางโลกนั้นมันไม่ได้ เราไม่ใช่นักมวย
เรานักปฏิบัติธรรม มันก็ต้องทำแบบนักปฏิบัติ สบายๆ แล้วเราก็ต้องยอมรับว่า เราไม่ใช่เทวดา เราเป็นคนธรรมดา มันก็มีล้มลุกคลุกคลานบ้าง บางวันเราก็นั่งได้ดี บางวันมันก็ไม่ดี มันก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร เห็นไม่เห็นก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร แค่ทำใจหยุดนิ่งเฉยๆ นะลูกนะ
เข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว ต่อจากนี้ไป เวลาที่เหลืออยู่
อากาศกำลังสดชื่น ฝึกวางใจเบาๆ สบายๆ
ให้นุ่มเนียน ละมุนแบบสุขุมาลชาติ แบบผู้มีบุญ
ไม่คาดหวังว่า เราจะได้อะไร เราจะเห็นอะไร
ทำเฉยๆ นิ่งๆ
ใหม่ๆ มันมืดก็ช่างมัน สว่างก็อย่าไปตื่นเต้น อย่าไปลิงโลดใจ ทำเฉยๆ ในทุกๆ ประสบการณ์ หยุดใจนิ่งเฉยๆ อย่างนี้แหละ อย่างนี้
แค่นี้ เท่านั้น เดี๋ยวลูกทุกคนก็จะสมหวังดังใจ มีความสุขภายในเป็นรางวัล
ต่อจากนี้ไป ให้ลูกทุกคนฝึกใจอย่างละมุนละไม หยุดไปที่กลางท้องอย่างสบาย
จะนึกเป็นภาพหรือไม่นึกก็ไม่เป็นไร ให้ใจใสเย็นเป็นพอ เช้านี้ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุก
ๆ คนนะลูกนะ
วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565