นั่งยิ้มยิ้มสิจ๊ะหน้าแย้มยิ้ม
หลับตาพริ้มยิ้มละไมดั่งเพชรใส
ให้ใจจิตวิญญาณบานหทัย
แผ่ขยายจนครอบคลุมภพอนันต์
หากนั่งดีมีรางวัลให้นั่งต่อ
ใจของพ่ออยากให้ลูกนั้นสมฝัน
ทำวิชชาครานี้ได้อัศจรรย์
ได้ช่วยกันโรมรันเช่นชาติเดิม
ตะวันธรรม
ทำไมเด็กจึงเห็นธรรมะง่าย
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบาๆ พอสบายๆ
ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรา ทั้งเนื้อทั้งตัวให้มีความรู้สึกว่าสบาย
ทำใจให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้สะอาดบริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง
แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือหรือจำง่ายๆ ว่าอยู่ในบริเวณกลางท้อง
นึกถึงบุญ
ให้นึกถึงบุญทุกบุญที่เราทำผ่านมาตั้งแต่ปฐมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
เราสร้างบารมีเรื่อยมานับภพนับชาติไม่ถ้วน มาจนกระทั่งถึงปัจจุบันชาติให้บุญทุกบุญ
บุญเล็ก บุญน้อย บุญใหญ่ บุญปานกลาง บุญทุกชนิดให้มารวมเป็นดวงบุญใสๆ
ติดอยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว
ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีตำหนิเลย
สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน ใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
ให้ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างเบาสบายๆ
พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่ง ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหัง
ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างเบาสบาย แล้วก็ผ่อนคลาย
พร้อมกับภาวนาไปเรื่อยๆ จนกว่าใจจะหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พอใจหยุดนิ่งก็จะทิ้งคำภาวนา สัมมาอะระหัง
ไปเองเหลือแต่ใจที่หยุดนิ่งอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างเดียว แล้วก็นิ่งในนิ่งเข้าไปเรื่อยๆ
นิ่งอย่างเดียว คือดูไปตรงกลางจุดเล็กๆ ใสๆ ที่อยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างเบาๆ สบายๆ
ใจที่ถูกส่วน
พอถูกส่วนดวงก็ขยายกว้างออกไปเอง
ถ้ายังไม่ถูกส่วนก็นิ่งเฉยอยู่ตรงนั้นแหละ เห็นแต่ดวงใสๆ แต่เข้าไปไม่ได้
ต้องถูกส่วน คือ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป มันจะพอดีๆ จะเบาๆ สบายๆ
ถ้าตึงเกินไปก็ไม่ถูกส่วน ใจจะอยู่ตรงนั้น ภาพจะนิ่ง
ไม่มีความสุขและก็ไม่มีความทุกข์ มันจะเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่ตึงเพราะว่า ตั้งใจเกินไป ไปเน้น ไปเค้นภาพ
ถ้าหย่อนเกินไปก็หาย หย่อน คือเผลอ จนกระทั่งความคิดอื่นได้ช่อง ทำให้เราไปคิดโน่นคิดนี่
หรือไม่ก็เคลิ้มๆ ง่วงหลับไปอะไรอย่างนั้นเป็นต้น ก็ไม่ถูกส่วน
ถูกส่วน ได้จากการทำถูกต้อง คือ ไม่ตึงไม่หย่อนไป ไม่ประมาท หมั่นตรึก
หมั่นนึก หมั่นคิดให้ได้ตลอดเวลา ถูกส่วนนี่สำคัญนะ
เกิดมาชาติหนึ่งถ้าเราสามารถครอบครองคำว่า“ถูกส่วน” ได้ ก็จะได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
มาพบพระพุทธศาสนามา สร้างบารมี
คนเราเกิดมาทำไม
ให้ความสำคัญกับการนำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ นี้ให้มากๆ
เพราะนี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตเราเกิดมาก็เพื่อการนี้เป็นหลัก การทำมาหากิน
ทำมาค้าขาย การครองเรือนหรืออะไรต่างๆ เหล่านั้นยังเป็นเรื่องรองลงมา
แต่เรื่องหลักคือนำใจกลับมาหยุดนิ่งอยู่ตรงนี้ เพื่อเข้าสู่เส้นทางสายกลาง
ซึ่งเป็นทางหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานของชีวิตจากกิเลสอาสวะ
จากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร นี้เป็นเรื่องหลักของชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์ในแต่ละครั้ง
กายอื่นทำได้ไม่เร็วแรงเท่ากายมนุษย์หยาบ แม้เป็นชาวสวรรค์
เป็นกายละเอียดก็ยังไม่เร็วแรงเท่ากับกายมนุษย์หยาบ
เราได้ครอบครองกายมนุษย์หยาบแล้วก็ต้องทำให้ถูกวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์
โดยเฉพาะได้มาพบพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย เราก็จะต้องเดินตามรอยของผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตอันสูงสุดที่ไม่มีใครเทียบเท่าได้
เป็นครูของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายนั่นคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ตั้งใจเดินตามรอยท่าน ท่านสอนให้ทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น เมื่อท่านดับทุกข์ได้
พ้นทุกข์ได้ เราก็จะเป็นอย่างท่าน
เพราะชีวิตที่เรากำลังเป็นอยู่นี้
ท่านก็เคยเป็นมาก่อนแล้วชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ท่านก็เกิดมาในหลายลักษณะ
เป็นชนชั้นล่างบ้าง ชั้นกลางบ้าง ชั้นสูงบ้าง
ซึ่งท่านสรุปว่าชีวิตทุกระดับมีความทุกข์ทั้งนั้น แม้ว่าจะสมบูรณ์ไปด้วยโลกียสุข โลกียทรัพย์
ทรัพย์ที่เป็นเครื่องปลื้มใจสำหรับชาวโลก ก็ไม่ได้ให้ความเต็มเปี่ยมของชีวิต
ยังดับทุกข์ไม่ได้ ยังสุขน้อยทุกข์มากขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของชีวิตแต่ละช่วง ท่านจึงถึงจุดอิ่มตัวในเพศของคฤหัสถ์
แล้วก็ปลีกตัวออกจากเรือนเหมือนนกที่จากคอนมาสู่เพศนักบวช
เพื่อจะได้ให้โอกาสตัวเองในการแสวงหาชีวิตที่ประเสริฐ
แล้วในที่สุดพระองค์ก็พบหนทางไปสู่ความพ้นทุกข์และดับทุกข์ได้ด้วยการนำใจกลับมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตรงนี้ที่เดียว ซึ่งจะมีทางเอกสายเดียว เป็นแนวดิ่งเข้าไปสู่ภายใน
ที่ปลายทางนั้นเป็นอายตนนิพพาน
ทำไมเด็กจึงเห็นธรรมะง่าย
เส้นทางสายนี้ ทางเอกสายเดียวที่จะดับทุกข์ได้
และเป็นเส้นทางแห่งความสุขที่ไม่มีประมาณ ความหมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลาย
จะต้องผ่านเส้นทางเอกสายเดียวนี้ ซึ่งเป็นเส้นทางสายกลางภายใน
ด้วยการนำใจกลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ให้ใจมารวมเป็นจุดเดียวกัน คือ เอาความเห็น
ความจำ ความคิด ความรู้ ๔ อย่าง มารวมเป็นจุดเดียวกัน
ตอนเป็นเด็กๆ
ใจยังรวมกันอยู่ในระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นเด็กจึงเห็นธรรมะง่าย
เพราะใจยังไม่แตกแยกเป็นเสี่ยงๆ แตกแยก คือ เห็นไปทาง จำไปทาง คิดไปทาง รู้ไปทาง
ที่แตกแยกเพราะมีสิ่งเร้าทางโลกดึงเอาไปคือ
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ดม ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส
นึกคิดอะไรต่างๆ เหล่านั้น ใจก็กระเจิง จากการรวมเป็นหนึ่งก็แตกออกไปเป็นเสี่ยง เพราะฉะนั้น เด็กๆ ใจถึงนิ่งง่าย คนที่ใจนิ่งจะ innocent คือใจจะใสๆ มีความสุขระดับหนึ่งยิ่งโตก็ยิ่งแตก ยิ่งมีอะไรเยอะๆ ก็ยิ่งแตกแยกไปเรื่อยๆ
แตกไปจนกระทั่งตาย ตายพร้อมกับกายแตก คือร่างกายก็แตก ใจก็แตก
เมื่อมีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์จึงสอนให้เราเอาใจมารวมกัน มาติดกันใหม่ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา
พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ พระผู้ปราบมาร ท่านก็สอนให้ใจมาติดกันอย่างนี้ เห็น จำ คิด
รู้ รวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน
พอใจติด ดวงก็เกิดสว่างใส
แล้วพอใจติดก็ติดใจเข้าไปสู่ภายในไปเรื่อยๆ ยิ่งติดยิ่งนิ่งแน่นเข้าไปเรื่อยๆ
จากนิ่งหลวมๆ ก็นิ่งแน่นขึ้น
จนกระทั่งความคิดอื่นไม่ได้ช่องที่จะระเบิดใจให้แตกแยก
ใจก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน ผ่านดวง
ผ่านกาย ผ่านฌานใสๆ ใสทั้งดวง ทั้งกาย ทั้งฌาน ความสุขอันไม่มีประมาณ
ก็เกิดขึ้นมาพร้อมกับความบริสุทธิ์ ความนิ่งแน่น
มาพร้อมกับความสว่างที่ทำให้เห็นแจ้ง เห็นภาพภายใน แล้วก็รู้แจ้งไปตามลำดับ
จนกระทั่งไปถึงกายที่พญามารเอากิเลสอาสวะบังคับไม่ได้ก็หลุดล่อนไป
คือกายธรรมอรหัตตผล หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ใสบริสุทธิ์
นั่นแหละกายแท้จริงของเราจะต้องมีสภาพอย่างนั้นต้องสวยงาม สมบูรณ์ไปด้วยรูปสมบัติ
ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ
รูปสมบัติ คือ
กายงามใส เกตุดอกบัวตูม
ทรัพย์สมบัติ คือ
นิพพานสมบัติ
คุณสมบัติ คือ วิชชา
๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิโมกข์ ๘ จรณะ ๑๕
นั่นแหละตัวจริงของเราจริงๆ จะเป็นอย่างนั้น จะใสสะอาด บริสุทธิ์
ผู้ที่ไปถึงตัวจริงของจริงและนำมาถ่ายทอดให้กับมนุษย์และเทวดาผู้มีบุญได้บรรลุตามได้ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งไม่มีใครสอนได้อย่างนี้ เพราะเขาไม่ได้บรรลุอย่างนี้ เมื่อทำไม่ได้
ก็สอนไม่ได้
ร่มเงาของพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย
ดังนั้นเรามีบุญมากที่ได้เกิดในบุญเขต ร่มเงาของพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย ที่อาศัยพระธรรมกายภายในนี่แหละศึกษาวิชชาธรรมกาย
จากพระธรรมกายที่ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ตามลำดับ
เรามีบุญตรงนี้จึงได้มาศึกษาเรียนรู้กันเพราะฉะนั้น ช่วงนี้ให้ทุกคนรวมใจหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างเบาๆ สบายๆ กันนะ
หลวงพ่อธัมมชโย
วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565