หยุดเป็นตัวสำเร็จในสมัยพุทธกาล
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ( ๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น.)
สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย – ปรับใจ - วางใจ
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะจ๊ะ
หลับตาเบาๆ พอสบายๆ ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง
แล้วก็หยุดใจไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ หรือจำง่ายๆ ว่าอยู่ในกลางท้องของเรา
บริกรรมนิมิต – บริกรรมภาวนา
หยุดใจนิ่งเบาๆ
สบายๆ จะวางใจหยุดนิ่งเฉยๆ อย่างเดียวก็ได้ หรือจะนึกถึงภาพดวงแก้วใสๆ หรือเพชรใสๆ
หรือองค์พระแก้วใสๆ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เอาอย่างเดียว เพราะวัตถุประสงค์ของการนึกถึงภาพก็เพียงเพื่อไม่ให้ใจของเราไปนึกถึงเรื่องอื่น
ซึ่งจะทำใจของเราให้มันขุ่นมัว คือทำให้ใจละเอียด เพราะใจมันหยาบจากเรื่องคน สัตว์
สิ่งของหรืออะไรต่างๆ เหล่านั้น จึงต้องมาผูกใจไว้กับดวงใสๆ หรือองค์พระใสๆ
ถ้านึกไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
ก็นิ่งๆ เพราะวัตถุประสงค์ต้องการให้ใจหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
เป้าหมายของเราอยู่ที่ตรงนี้ คือ ต้องการฝึกให้ใจมันหยุด ใจมันนิ่งๆ ที่กลางกาย
เพราะฉะนั้น เราจะทำอย่างไรก็ได้
จะนึกเป็นภาพหรือไม่นึกเป็นภาพก็ได้ ให้นิ่งๆ แล้วก็ภาวนา สัมมาอะระหัง ไปเรื่อยๆ
ภาวนาไปจนกว่า เราไม่อยากจะภาวนาต่อไป อยากให้ใจนิ่งๆ นุ่มๆ ละมุนละไมใจใสๆ
เพราะพระธรรมกายมีอยู่แล้วในตัว
ทั้ง ๑๘ กาย ดวงธรรมต่างๆ ก็มีอยู่แล้วภายในตัวของเรา แต่เป็นของละเอียดที่ซ้อนๆ
กันอยู่ หน้าที่ของเราคือ ทำความละเอียดของใจให้เท่ากับกายภายในที่มีความละเอียด ละเอียดระดับไหนเราก็จะเห็นกายนั้น
จะมีความละเอียดเท่ากัน ใจจะมีความละเอียดก็ต้องหยุดกับนิ่งอย่างเดียว
หยุดเป็นตัวสำเร็จ
พระเดชพระคุณหลวงปู่
ท่านผ่านการฝึกมาหลายๆ แบบ หลายๆ วิธีแล้ว แล้วท่านจึงสรุปว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ หยุดนิ่งๆ เท่านั้น
ซึ่งถือว่าเป็นบุญของพวกเรา ที่มารู้ Know how หรือวิธีปฏิบัติแบบทางลัด
ไม่ต้องไปค้น แค่ไปคว้าเอามา จะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาไปลองผิดลองถูก เพราะเวลาในโลกมนุษย์มีจำกัด
ถ้าจะไปลองผิดลองถูกมันก็ต้องใช้เวลากันยาวนาน
เมื่อท่านผู้รู้ท่านบอกว่า
หยุดเป็นตัวสำเร็จ เราก็มาต่อยอด คือ มาทำใจให้มันหยุดให้มันนิ่งๆ
แล้วฝึกตรงนี้ให้ได้ทุกวัน ทุกอิริยาบถ ทั้งนั่ง ทั้งนอน ทั้งยืน ทั้งเดิน ฝึกไปเรื่อยๆ
สังเกตตอนเลิกนั่ง
สังเกตเวลาเราประกอบเหตุว่า
เราทำอย่างไร แล้วผลออกมาเป็นอย่างไร ให้หมั่นสังเกตเมื่อเราออกจากสมาธิแล้ว แต่ไม่ต้องไปสังเกตตอนที่เราทำสมาธิ
จะตั้งใจเกินไป กังวลเกินไป
ให้สังเกตตอนเลิกนั่งสมาธิว่า
ที่เราประกอบเหตุอย่างนี้ รักษาอารมณ์ดี อารมณ์สบาย อารมณ์เดียวมาทั้งวัน แล้วก็มาทำให้เรามีผลคือ
หยุดได้ง่าย เมื่อใจสบาย เราก็ทำอย่างนั้น แต่ถ้าวันไหนเราอารมณ์ไม่ดี ขุ่นเคืองใจ
เวลานั่งสมาธิ ถ้าเราตัดใจได้ มันก็เข้าถึงง่าย แต่ถ้าตัดใจไม่ได้ ความอยากนั้นก็จะไปทำให้เราฟุ้งอยู่ภายใน
ขุ่นมัวภายใน ตอนนี้เราได้หลักแล้ว เราก็หยุดเป็นตัวสำเร็จ ก็ฝึกตรงนี้
อย่ากดลูกนัยน์ตา
ฝึกวางใจนิ่งๆ โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงลูกนัยน์ตา
แต่ถ้าเราเผลอกดลูกนัยน์ตาไปดู ร่างกายเราจะบอกว่า ไม่ถูกวิธี โดยการตึง เกร็ง มันมึน
ซึม เราก็อย่าฝืนดันทุรังทำต่อไป ให้เผยอเปลือกตาขึ้นสักนิดหนึ่ง แล้วก็ปรับใหม่ วางนิ่งๆ
หรือช้อนตาเหลือกขึ้นไป เหมือนคนตาเหลือกช้อนค้างขึ้นไปก็จะช่วยได้ ถ้าเราเข้าใจแล้ว
แค่หลับตานิ่งๆ เฉยๆ นุ่มๆ ละมุนละไม
ถ้ามันไม่มีความคิดอื่นใดเข้ามาแทรก
จะทำให้เรานิ่งแน่นเพิ่มขึ้น จนกระทั่งใจมันโล่ง มันละเอียด ก็จะโล่ง โปร่ง เบา สบาย
ตัวก็จะขยายออกไป แล้วก็หายไปเลย มันก็เป็นขั้นเป็นตอนของมันไป
นี่คือข้อสังเกตของเรา
นิ่ง นุ่ม ละมุนละไม จะถึงตรงนี้ได้ก็อยู่ที่ปรับกายและใจ ต้องทำตัวให้สบาย ทำใจให้สงบ
นิ่งๆ อย่างนี้แค่นี้เท่านั้น ไม่ต้องทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
หยุดเป็นตัวสำเร็จ
พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านสอนว่า
หยุดเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์
แปลว่า เราใช้หลักการเดียวกัน วิธีการเดียวกัน คือ หยุดนิ่ง
ไม่ว่ามืดหรือสว่างก็ตาม
มืดก็ยังนิ่ง พอนิ่งแล้วมันไม่มืดสว่าง สว่างก็ยังต้องนิ่งต่อ โดยไม่ต้องไปตื่นเต้นกับแสงสว่าง
หรือสงสัยว่า ใครส่องไฟเปิดไฟอะไรต่างๆ เหล่านั้น คือตรงนี้เราต้องควบคุมใจของเราไม่ให้อยากไปรู้ว่า
ใครส่องไฟ เปิดไฟ คือ เมื่อมันสว่างแล้ว เราก็ต้องนิ่งต่อไปอีก
ปกติของความสว่างเมื่อเกิดขึ้นจะทำให้เห็นภาพภายในแล้วเป็นดวง
เป็นจุดสว่าง เป็นดวงใสๆ เป็นกายภายใน ซึ่งจะเป็นภาพอะไรเกิดขึ้น เราก็ยังหยุดนิ่งต่อไป
แม้เห็นองค์พระเกิดขึ้นมาก็ต้องนิ่งต่อไปอีก ไม่ต้องคิดอะไร เพราะหลวงปู่ท่านบอกแล้วว่า
หยุดตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ มันก็นิ่งกันเรื่อยไป
หยุดเป็นตัวสำเร็จ
มีมาตั้งแต่พุทธกาล
ถ้าเราได้ศึกษาประวัติของพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล
บางคนแค่มีดโกนปลงผม ซึ่งใช้ระยะเวลาช่วงสั้นมาก ไม่ได้พินิจพิจารณาอะไร ใจมันนิ่งๆ
ว่างๆ บุญเก่าก็ได้ช่องส่งไปถึงเป็นพระโสดาบันก็มี คือ เข้าถึงกายธรรมพระโสดาบัน หน้าตัก
๕ วา สูง ๕ วา
พอปลงผม ๑ ใน ๔ ก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน
ปลงผม ๒ ใน ๔ ก็ใช้เวลาต่อจากนั้นอีกไม่มาก
ไม่กี่นาที ท่านก็ไม่ได้มาพิจารณาอะไรเลย คือ นิ่งเฉยๆ ดูกายธรรมพระโสดาบัน คือ ตกศูนย์เข้าไปเรื่อยๆ
ก็ถึงกายธรรมพระสกิทาคามี หรือพระสกทาคามี
พอปลงได้ ๓ ใน ๔
ของศีรษะ ท่านก็ไม่ได้พิจารณาอะไร นิ่งเฉยๆ ก็หลุดจากกายธรรมพระสกิทาคามี ถึงกายธรรมพระอนาคามี
พอปลงหมดศีรษะก็เข้าถึงกายธรรมพระอรหัตตผล
เป็นพระอรหันต์
ช่วงระยะเวลาที่ปลงผม
ใช้เวลาอย่างมากก็ ๑๕ นาที ท่านก็ไม่ได้พิจารณาอะไร มันหลุดไปเพราะใจมันนิ่ง พอใจมันนิ่งก็ถอดออกเป็นชั้นๆ
เข้าไป บุญได้ช่องส่งกันต่อไปจนกระทั่งไปถึงกายธรรมอรหัต ส่วนที่ลำดับญาณอะไรต่างๆ
มามีในภายหลัง แต่ว่าในยุคต้นศาสนาทำนิ่งๆ อย่างเดียว คือ หยุดกับนิ่ง
หรือแม้แต่พระอรหันต์บางองค์
วิบากกรรมทำให้ฆ่าตัวตาย จะเชือดคอ ระลึกนึกถึงศีล ใจหยุดเห็นดวงใสเหมือนดวงจันทร์
มีปีติสุข มือค้างอยู่ตรงนั้นและหลุดพลัวะไปเลย เข้าถึงธรรมได้ เป็นพระอริยบุคคลได้
ตอนนั้นท่านก็ไม่ได้ไปพิจารณาอะไร บุญเก่าได้ช่อง เมื่อใจมันนิ่งๆ
เมื่อพร้อมที่จะตายแล้ว สมัยก่อนเขาเห็นกันอย่างนี้
หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดพระพาหิยะ
ซึ่งยังอยู่ในเพศของคฤหัสถ์ ฟังธรรมระหว่างทางบิณฑบาตอยู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสสอนแค่ไม่กี่คำ
ถ้านับเป็นเวลาก็สองสามนาทีแค่นั้นเอง ซึ่งท่านก็ไม่ได้พิจารณาอะไร ก็ฟังนิ่งๆ แล้วก็เข้าใจแจ่มแจ้ง
ใจมันเลยตกศูนย์วูบไปถึง
ตัวอย่างอย่างนี้มีอยู่เยอะในพระไตรปิฎก
ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้องต้น
กระทั่งเป็นพระอรหันต์
ในสมัยพุทธกาลการเข้าถึงธรรมง่าย
นอกเหนือจากผู้มีบุญมาเกิดในยุคนั้นแล้ว ท่านเหล่านั้นก็ทำง่ายๆ แต่ในยุคหลังๆ
ทำให้มันซับซ้อน ยุ่งยากขึ้นมา คือ ทำให้มันยุ่งเหยิงขึ้นไป แล้วก็เลยยุ่งยาก ยากจนกระทั่งเราท้อ
ไม่มีความมั่นใจว่า คนอย่างเราจะเข้าถึงได้ แล้วก็แนะนำสอนกันต่อๆ มา มีขั้นมีตอน มันซับซ้อนเกินไป
สังเกตดูเด็กๆ หลับตา
มองไปในท้อง ทำใจนิ่งๆ แล้วก็ไม่ได้บอกอะไร ไม่ให้รู้อะไรก่อนล่วงหน้า ให้ทำแค่นี้
ได้ใช้สอนกับเด็กทุกชาติ ทุกศาสนา และก็หลายๆ ภาษา ทุกศาสนา คือ พุทธ คริสต์
อิสลาม สอนให้ทำใจนิ่งๆ ว่างๆ มองไปในท้อง เพื่อว่าเขาจะได้ไม่ขัดแย้ง ในการที่จะปฏิบัติสมาธิ
เพราะไม่ได้บอกว่า ต้องนึกเห็นพระ ต้องอย่างนั้นอย่างนี้
แค่บอกให้เด็กหลับตามองไปในท้อง
ทำใจนิ่งๆ แค่นั้น ไม่กี่นาทีเด็กพูดเอง บางคนก็เห็นดวงใสๆ บางคนเห็นแสงสว่าง
บางคนเห็นตัวเอง บางคนเห็นกายทิพย์ เขาไม่รู้จักว่าเป็นกายทิพย์ แต่เขาบอกลักษณะได้ถูกต้อง
บางคนก็เห็นองค์พระ
ทั้งๆ ที่นับถือศาสนาอื่น จนกระทั่งครูที่แนะนำถามว่า เธอรู้ได้อย่างไรว่า เป็นพระ
เด็กบอกก็เป็นพระ เหมือนพระที่เคยเห็น แต่ไม่ได้นึกมา แต่ว่าสวยกว่านั้น เด็กบอกพระอะไรก็ไม่รู้
มาแล้วสบายใจ
นี่แปลว่า
หยุดเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้องต้นกระทั่งเป็นพระอรหันต์ ไม่ได้ซับซ้อน
ไม่ได้ยุ่งยาก มายุ่งยากในภายหลังที่จับแพะชนแกะกันไป ให้มันมีขั้นมีตอนอะไรซับซ้อน
แล้วทำให้ยากต่อการปฏิบัติ ยิ่งผู้มาภายหลังก็ยิ่งยาก จนกระทั่งมีคำกล่าวว่า มรรคผลนิพพานมันพ้นกาลสมัยแล้ว
ซึ่งมันก็ไปขัดกับคำว่า อกาลิโก
เพราะฉะนั้น หยุดเป็นตัวสำเร็จนี่สำคัญ
ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ให้ได้ และอย่าลืมว่า หยุดตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์
หน้าที่เราฝึกหยุดนิ่งอย่างเดียว
เมื่อเริ่มต้นไม่เห็นก็ไม่เป็นไร เพราะเรายังฝึกอยู่ ใจมันยังไม่หยุด มันก็ไม่เห็น
ความสว่างมันก็ไม่เกิด เราควรจะหันมาปรับปรุงว่า ทำอย่างไรเราจะฝึกใจให้หยุด ให้นิ่งได้ในทุกอิริยาบถ
นั่งนอนยืนเดินฝึกกันไป ควรจะมาฝึกตรงนี้ แล้วเราจะเห็นว่า การปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายในตัวอยู่ในวิสัยของเรา
เราเป็นผู้มีบุญคนหนึ่งที่มาได้ยินได้ฟัง ได้ลงมือปฏิบัติ และเราก็จะต้องเข้าถึงอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้นให้หมั่นสังเกตตรงนี้
นั่งสมาธิทุกครั้ง
วิบากกรรมถูกตัดรอนไป
การปฏิบัติธรรมนั้น
พอเราเริ่มหลับตานิ่งๆ ใจจะถูกกลั่นให้บริสุทธิ์ไปเรื่อยๆ วิบากกรรมของเราจะถูกตัดรอนไปเรื่อยๆ
ข้อผิดพลาดที่เราพลาดพลั้งมาในอดีตก็จะถูกตัดรอนไป กลั่นไปทุกครั้งที่หลับตานั่งนิ่งๆ
แม้ยังไม่เห็นอะไรก็ตาม เพราะพอเริ่มนิ่ง กระแสธารแห่งบุญก็จะเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ
บุญเกิดขึ้นในการฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง
เพราะฉะนั้น เราก็อย่าไปทุกข์ใจในกรณีนั่งแล้วทำไมไม่เห็นเหมือนคนอื่นเขา
เรายังทำไม่ถูกส่วน ซึ่งถูกส่วนก็ต้องถูกส่วนเอง อยู่ที่เราทำถูกวิธีไหม มีความเพียรต่อเนื่องหรือเปล่า
นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องหันมาสังเกตกัน
เลือกวิธีปฏิบัติให้ตรงกับจริต
ส่วนวิธีการอื่นๆ
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสสอนเอาไว้ให้พุทธบริษัท ๔ ปฏิบัติ ซึ่งท่านผู้รู้เขารวบรวมไว้ในวิสุทธิมรรค มีข้อปฏิบัติทั้ง ๔๐ วิธี ซึ่งก็เป็นไปตามอัธยาศัยของแต่ละคน
บางคนเขาหยาบอยู่ จิตใจยึดมั่น ถือมั่น ผูกพันในเรื่องใดท่านก็หาวิธีการแก้ เช่น
ใครราคจริตติดในความสวย
ความงามของร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น ทำให้ใจฟุ้ง กระเจิดกระเจิง น้อมไปในความกำหนัดยินดีในกาม
ท่านก็หาวิธีสอนให้ไปศึกษาความเป็นจริงของร่างกายว่า มันไม่สวย ไม่งาม เป็นปฏิกูลอะไรต่างๆ
เหล่านั้นให้ไปดูซากอสุภะ
นั่นสำหรับบางคนที่เริ่มต้นแล้วทำนิ่งๆ
ไม่ได้ ก็ไปดูอย่างนั้นไปก่อน เพื่อจะได้คิด พอได้คิดมันก็คิดได้ มันก็ปลง ปลงก็ปล่อยวาง
พอปล่อยวางได้ก็จะนิ่ง ใจก็มาหยุดมานิ่งๆ
หรือใครเคยเป็นอดีตฤๅษีชีไพรมาก่อน
ท่านก็จะสอนเรื่องกสิณ จำภาพกสิณ ดิน น้ำ ลม ไฟ สีต่างๆ อะไรต่างๆ เหล่านั้น ถ้าใครคุ้นเคยสิ่งไหนก็จำภาพสิ่งนั้นมาเพื่อต้องการให้ใจนิ่ง
ให้ใจหยุดใจนิ่งอย่างนี้ เป็นต้น
ความตายไม่มีนิมิตหมาย
เพราะฉะนั้น
หยุดจึงเป็นตัวสำคัญ ต้องหมั่นฝึกเอาไว้ให้ดี นอกจากเพื่อที่เราจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
มีที่พึ่งที่ระลึกภายใน เข้าถึงความสุขที่แท้จริงแล้ว ยังเป็นการเตรียมตัวของเราเอาไว้
สำหรับจะเดินทางออกจากกายมนุษย์ไปสู่ปรโลก เพราะว่า ความตายไม่มีนิมิตหมาย
เหมือนเพื่อนนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา
เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีสาเหตุอะไรล่วงหน้าว่า จะป่วย จะเจ็บ อยู่ๆ หัวใจขาดเลือด
และก็หลับไป กายก็ถอดออกไป แม้แต่ตัวเองยังไม่รู้ว่า ตัวตาย มามั่นใจเมื่อเห็นร่างของตัวเอง
และคนอื่นที่ตกอกตกใจ
เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีความพร้อมเสมอ
สำหรับการเดินทางไปสู่ปรโลก ซึ่งจะเป็นวันไหนก็ไม่รู้ มันไม่มีนิมิตหมาย นี่ก็เป็นสิ่งที่เราก็จะต้องฝึกกันไปทุกวัน
เพื่อตัวเราเป็นหลัก
ยิ่งถ้าเราได้ฟัง Case study ว่า มีพุทธบุตรองค์หนึ่งทางภาคใต้ ท่านได้ธรรมกาย ท่านปรารถนาจะนั่งตายในท่าสมาธิ
เพราะว่าเป็นลักษณะของท่านผู้รู้ ท่านก็นั่งแล้วถอดกายออกไปก่อน คือ
ถอดออกไปก่อนที่จะตายจริง ไม่ต้องตายด้วยการถูกบีบคั้นด้วยทุกขเวทนา นี่ก็มีเป็นตัวอย่าง
เพราะฉะนั้น การฝึกใจให้หยุดนิ่งจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ที่เราก็จะต้องให้ความสำคัญต่อสิ่งนี้ ยิ่งกว่าสิ่งอื่น เพราะเราต้องตาย ดังนั้นก็ต้องฝึกหมั่นสังเกต
ฝึกให้ดีนิ่งๆ นุ่มๆ ละมุนละไม ทำใจให้ใสๆ
อธิฐานจิตตั้งผังสำเร็จ
ภาคบ่ายของทุกอาทิตย์
เราก็จะมาตามระลึกนึกถึงบุญทุกบุญที่เราทำผ่านมา กระทั่งมาถึงวันนี้เพื่อที่เราจะได้เอาบุญนี้มาอธิษฐานจิตออกแบบชีวิตของเราในภพเบื้องหน้า
ที่จะให้มันสมบูรณ์กว่าในปัจจุบัน เหมาะสมที่จะสร้างบารมีต่อไปในอนาคต เพราะชาติปัจจุบันนี้เราก็มีข้อบกพร่องกันเยอะแยะ
เราก็จะได้เอาบุญนี้มาอธิฐานจิตตั้งผังสำเร็จออกแบบชีวิตของเรา ให้มันติดไปในภพเบื้องหน้า
เช่น
ด้วยอานุภาพแห่งบุญนี้ ให้เราสมบูรณ์ไปด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ
สรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพาน วิชชาธรรมกาย เกิดมาก็ให้ระลึกชาติได้
เห็นธรรมะกันตั้งแต่ยังเยาว์วัย สร้างบารมีเรื่อยไปจนหมดอายุขัยไปทุกภพทุกชาติ
ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
ให้ได้เกิดในร่มเงาของพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย
ในครอบครัวที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีสิ่งแวดล้อมเกื้อหนุนต่อการสร้างบารมีของเรา บางคนที่อยากจะเป็นนักบวชตั้งแต่ยังเยาว์วัยก็อธิษฐานจิตไปว่า
ให้ได้บวชตั้งแต่ยังเยาว์วัย บวชให้ได้ตลอดรอดฝั่ง
จนหมดอายุขัยไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
หรือใครอยากจะเป็นกองเสบียงก็ให้มีทรัพย์เยอะๆ
มีทรัพย์มาก และก็มีพวกพ้องบริวาร หมู่ญาติ ที่ดีเกื้อหนุนการสร้างบารมี
ใครเป็นบัณฑิตเป็นนักปราชญ์ก็ให้เข้าใกล้ คนภัยคนพาลก็ให้ห่างไกล เพื่อเราจะได้สร้างบารมีกันอย่างสะดวกสบายจนหมดอายุขัย
หรือบางคนก่อนบวชตั้งแต่ยังเยาว์วัยก็ให้ได้มีทรัพย์บริจาคทำทาน หมดเครื่องกังวลได้ทานบารมีแล้วก็ออกบวชหรือชาตินี้เราขาดตกบกพร่องเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา
ชาติต่อไปเราก็อธิษฐานจิตให้เราได้แทงตลอดเปรื่องปราชญ์แทงตลอดในศาสตร์ทั้งปวง แล้วก็นึกถึงบุญ
คำอธิษฐานจะสำเร็จ
เมื่อบุญเต็มเปี่ยม
บุญจะเป็นธาตุสำเร็จ
ที่จะไปปรุงคำอธิษฐานของเราเป็นผังสำเร็จติดไปในภพเบื้องหน้า
เราตั้งความปรารถนาไว้สูง
บุญก็ต้องพอเหมาะกันกับความปรารถนานั้น แต่ถ้าบุญยังไม่พอเหมาะกับความปรารถนานั้นก็ยังไม่สำเร็จ
แต่ก็ใกล้ความสำเร็จเข้าไปเรื่อยๆ คือ ลู่ทางของชีวิตที่จะไปสู่เป้าหมายที่เราได้อธิษฐานจิตเอาไว้
เหมือนความปรารถนาของพระบรมโพธิสัตว์
ที่อยากจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต ซึ่งเป้าหมายตรงนี้มันสูง เพราะฉะนั้นท่านก็ต้องสั่งสมบารมีเพื่อให้ไปถึงตรงนั้นได้อย่างพอเหมาะกัน
เหมือนเราจะไปอยู่บ้านราคาแพงๆ หลังละพันล้าน แต่เรามีเงินเก็บหนึ่งล้าน ก็ยังซื้อไม่ได้
อยู่ไม่ได้ แต่ความตั้งใจเราไม่เปลี่ยนแปลงจะต้องไปอยู่ให้ได้ ซื้อให้ได้ ก็ต้องค่อยๆ
สั่งสมเงิน สั่งสมทรัพย์ไป พอถึง ณ จุดพันล้าน เราก็ไปอยู่ตรงนั้นได้
ความปรารถนาของเราก็เช่นเดียวกัน
มันเป็นของสากลที่ทุกคนตั้งความปรารถนาได้ แม้ความปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จะไปสู่ที่สุดแห่งธรรม ก็เป็นความปรารถนาที่ทุกคนก็ปรารถนาได้ตามความรู้ความเข้าใจของตัว
ใครเข้าใจระดับไหนก็ปรารถนากันอย่างนั้น
เหมือนบางคนมีความปรารถนาว่า
ชาติต่อไปให้รวย เพราะเขาเข้าใจแค่นั้นก็รวย การมีทรัพย์มาก ทำให้ได้ลดปัญหาความกดดัน
ปัญหาต่างๆ จะมีอำนาจวาสนา ได้จับจ่ายใช้ทรัพย์อะไรต่างๆ เหล่านั้น
เพราะตัวเห็นแค่นั้น
แต่ถ้าบัณฑิตนักปราชญ์จะปรารถนาไปไกลกว่านั้น
เพราะรู้ว่าทรัพย์ไม่ได้ซื้อทุกสิ่งทุกอย่างได้ ได้บางอย่างเท่านั้นและก็ชั่วคราว ท่านก็จะศึกษาดูว่า
อะไรคือสุดยอดแห่งความปรารถนา
อย่างพระบรมศาสดาก็ปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะเห็นว่าการเป็นบรมศาสดาดีกว่าการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เพราะการได้มีความรู้กระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
พ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามารถือเป็นสุดยอด เพราะชีวิตในสังสารวัฏนั้นมันเวียนว่ายตายเกิดขึ้นๆ
ลงๆ
ชีวิตทุกระดับ ระดับไหนก็มีทุกข์ทั้งนั้น
มันไม่พ้นทุกข์ ท่านก็มุ่งพ้นทุกข์ แต่มุ่งในการค้นหาวิธีการพ้นทุกข์ด้วยตัวเอง ค้นหาความรู้ตรงนี้
ความรู้ Know
how แล้วก็มีความสุขที่จะเป็นพระบรมครู ที่จะถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับผู้มีบุญได้เดินทางกันต่อไป
นี่ก็เป็นความปรารถนาสากล มีความรู้ว่า พ้นจากภพ ๓ แล้ว ไปนิพพานได้เป็นสุดยอด
นักสร้างบารมี
ภาคปราบ
แต่บรมโพธิสัตว์อีกประเภทหนึ่งที่มีความรู้กว้างขวางขึ้นไปอีก
ซึ่งตรงนี้มันเป็นอจินไตย ยากที่ใครๆ จะเข้าใจได้ ผู้ไม่เข้าใจก็วิพากษ์วิจารณ์กันไป
ตามความรู้ความเข้าใจของตัว เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟัง ก็ดูว่ามันเป็นการขัดแย้งกับการได้ยินได้ฟังดั้งเดิม
ดูแปลกและแตกต่างไป ก็มีข้อขัดแย้งในใจก็มี
ผู้ที่มีเชื้อสายความปรารถนาจะไปสู่ที่สุดแห่งธรรมนั้น
ไม่ใช่เป็นของใหม่เป็นของเก่าที่มันติดกันมานับภพนับชาติกันไม่ถ้วน ซึ่งจะระลึกถึงความปรารถนานี้ได้
เมื่อได้บรรลุธรรมได้เข้าถึงธรรมกาย ได้ศึกษาวิชชาธรรมกาย ได้ก้าวไปสู่วิชชา ๓
แล้วเป็นวิชชาเบื้องต้น คือ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ
ย้อนหลังไปก็ไป เห็นความปรารถนาดั้งเดิมที่ทำกันต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลที่จะไปปราบมารประหารกิเลส
ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ทรมานทั้งหมด
แล้วก็มาทำต่อตามความปรารถนาดั้งเดิม
ซึ่งไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นสายของการมุ่งไปสู่การปราบมารทั้งหมด คือ
ขจัดกิเลสอาสวะทั้งหมด เหมือนโรงงานแหล่งผลิตกิเลสอาสวะ ไม่ใช่แค่เป็นสถานีย่อยของแหล่งผลิตกิเลสอาสวะ
ดังนั้นก็จะมุ่งอธิษฐานไปตรงนั้น ผู้ที่มีเชื้อสายเคยทำมา พอได้ยินได้ฟังเรื่องนี้
ใจมันก็จะน้อมไปในความปรารถนาไปสู่ที่สุดแห่งธรรม ส่วนผู้ที่ไม่เคยก็ไม่ยินดี ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา
เพราะฉะนั้น ความปรารถนานี้เป็นของกลางๆ
ไปตามความรู้ ความเห็น ความเข้าใจ เขาปรารถนากันไปได้ ก็จะมุ่งกันไปสู่ตรงนั้น แต่ว่าภูมินั้นเป็นภูมิใหญ่
ก็ต้องสั่งสมบารมีให้มาก แทนที่บ้านจะหลังละพันล้าน มันอาจจะหลังละแสนล้าน
หรือล้านๆ คือมันเพิ่มขึ้นไป นี่ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา
แล้วก็การพักอยู่ในวงบุญพิเศษก็เป็นเรื่องของเก่า
ไม่ใช่ของใหม่ เพราะมันอยู่ตรงนั้นมาตั้งนานแล้ว จะไปอยู่ตรงนั้นได้ก็ต้องอาศัยการศึกษาวิชชาธรรมกาย
ที่เรียนวิชชาเบื้องต้นของวิชชา ๓ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ กับจุตูปปาตญาณ ก็ดู บอกว่าเคยไปอยู่ตรงนั้นมาเป็นเวลายาวนาน
นับครั้งกันไม่ถ้วน ผู้ที่มีเชื้อสายก็เข้าใจ ผู้ไม่มีเชื้อสายก็ไม่เข้าใจ ก็เป็นเรื่องธรรมดา
แล้วการปราบมารก็อยู่ในสายวิชชา
๓ คือ อาสวักขยญาณ แต่ขยายขอบเขตจากสถานีย่อยไปยังโรงงานต้นแบบ แหล่งผลิตใหญ่
มันก็แค่นั้นเอง ก็ขยายใหญ่กันขึ้นไป
เพราะฉะนั้น เราจะตั้งความปรารถนาอะไรก็เอา
ระลึกนึกถึงบุญที่เราทำผ่านมา เราอยากจะไปอยู่ทางตรงไหน จะแค่ นิพพานะ ปัจจโย โหตุ
ทำพระนิพพานให้แจ้ง เราก็ทำได้ แจ้งแล้วก็อยู่ตรงนั้นไปเลย แต่ถ้าหากว่า มุ่งไปสู่ที่สุดแห่งธรรม
ก็ต้องขยายขอบเขตกันออกไป กว้างขวางกันออกไป แต่ก็ยังอยู่ในเส้นทางของวิชชา ๓ แต่เป็นวิชชา
๓ ที่ขยายส่วนออกไป ที่กว้างเข้าไป ลึกเข้าไปอีก ละเอียดเข้าไปอีกเรื่อยๆ
ช่วงบ่ายนี้เราก็จะมาทำกันอย่างนี้
จะไปสู่ตรงนั้นได้ ความปรารถนาของเรา จะต้องมีอุปกรณ์การสร้างบารมีให้พร้อม ถึงจะไปถึงตรงนั้นได้อย่างรวดเร็ว
ปลอดภัย และมีชัยชนะ นี่ก็เป็นส่วนที่เราจะทำในภาคบ่าย
นอกเหนือจากการอุทิศบุญกุศลไปให้บรรพบุรุษ
บุพการี หมู่ญาติสนิทมิตรหาย สัมพันธชนที่ละโลกไปแล้ว รวมทั้งเจ้ากรรมนายเวร หรือคู่กรรมคู่เวร
ที่กิเลสบังคับเราให้สร้างกรรมทั้งกาย วาจา และใจ และก็มีวิบากผูกเวรกันไป
เราก็จะได้อธิษฐานเอาบุญนี้ไปตัดรอนวิบากหนักเป็นเบา เบาเป็นหาย พ้นจากการผูกเวรกันไป
แล้วก็แผ่เมตตากันไปยังสรรพสัตว์ทั้งมวล ตลอดแสนโกฏิจักราวาล อนันตจักรวาล
ทั่วภพทั้งสาม กามภพ รูปภพ อรูปภพ ไปให้ทั่วถึงกันไปให้หมด เพราะฉะนั้นช่วงนี้เราก็หยุดใจนิ่งๆ
แล้วก็ทำดังกล่าว อธิษฐานจิตของเราทั้งอุทิศบุญกุศลไปด้วย
แล้วถ้าภพภูมิไหนหมู่ญาติเราไปอยู่ในภูมิที่อุทิศไปด้วยวิธีธรรมดาไปไม่ถึง
เราก็ไปกราบอาราธนามหาปูชนียาจารย์ นำบุญนี้ไปให้ท่านเหล่านั้น จะได้หนักเป็นเบา
เบาเป็นหาย ทุกข์มากเป็นทุกข์น้อย ทุกข์น้อยก็จะได้พ้นทุกข์ สุขน้อยก็สุขมาก สุขมากๆ
เพิ่มขึ้นไปกันเรื่อยๆ นะจ๊ะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565