พุทธภาวะภายในตัว
วันอาทิตย์ที่ ๑๑ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ (๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.)
สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย
มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตา
หลับตาของเราเบาๆ
หลับตาค่อนลูก อย่าถึงกับให้ปิดสนิท พอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ
อย่าไปบีบเปลือกตา แบบคนทำตาหยีอย่างนั้นนะจ๊ะ แล้วก็อย่าไปกดลูกนัยน์ตา หลับพอสบายๆ
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
เรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน เรื่องครอบครัว หรือเรื่องการศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น
ทำใจให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ปลอดกังวลเหมือนเราอยู่คนเดียวในโลก ไม่เคยมีภารกิจเครื่องกังวลมาก่อน
ต้องทำอย่างนี้นะจ๊ะ
ทำใจคล้ายๆ
กับเราอยู่คนเดียวในโลก แล้วก็มาสมมุติว่า
ภายในร่างกายของเรานั้นปราศจากอวัยวะ สมมติว่า ไม่มีปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ
ไส้ใหญ่ ไส้น้อย เป็นต้น กลวงๆ สมมติว่า เป็นปล่อง
เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงภายในคล้ายลูกโป่งที่เราอัดลมเข้าไป หรือคล้ายท่อแก้ว
ท่อเพชรใสๆ
วางใจ
คราวนี้เราก็นำใจที่คิดแวบไป
แวบมา คิดไปในเรื่องราวต่างๆ เรื่องคน เรื่องสัตว์ เรื่องสิ่งของ เป็นต้น
เอาใจนั้นน้อมกลับเข้ามาสู่ภายใน ภายในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ซึ่งอยู่ในกลางท้อง
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ จะเห็นได้
ต่อเมื่อใจหยุดนิ่งได้สนิทสมบูรณ์ ๑๐๐% แล้ว ฐานที่ ๗ นี้จึงจะเห็นได้
อย่ากังวลกับ ฐานที่ ๗
เมื่อเราเริ่มฝึกใหม่ๆ เราก็จำแค่ เอาใจอยู่ในกลางท้องแค่นั้น พอแล้ว
แต่เราก็ต้องรู้จักว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ตรงนี้ อยู่กลางท้อง เหนือสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ และทำความรู้สึกว่า ใจอยู่ตรงนี้ง่ายๆ เราจะได้ไม่กังวลกับฐานที่ ๗
จนเกินไป เพราะบางคนกังวลเกินไป จนเกร็ง ไปมัวควานหาฐานที่ ๗ จนกระทั่งหมดเวลาไป เพราะฉะนั้น
อย่ากังวลเกินไป แต่ต้องรู้จักว่า มันอยู่ตรงนี้ ตรงกลางท้อง
หรือเพื่อให้เข้าใจได้แจ่มชัดขึ้น
เราก็จะต้องสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง
จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท
จุดตัดก็จะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยสมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน แล้วก็นำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒
สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ นั่นแหละฐานที่ ๗
ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี่เราทำความรู้จักแค่นี้พอแล้ว
ในแง่ของการปฏิบัติ
เราทำความรู้สึกว่าใจอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้
พุทธภาวะภายใน
ที่ต้องให้เอาใจมาอยู่ที่ตรงนี้ เพราะว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางเข้าไปสู่ภายใน
ที่จะทำให้เราเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
อย่างที่เราได้ยินคำว่า ไตรสรคมณ์ คำว่า คมน์ หรือ คมนะ
แปลว่า เคลื่อนเข้าไป หรือแล่นเข้าไปสู่ภายใน
เพื่อให้ถึงรัตนะทั้ง ๓ คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ที่มีอยู่ภายในตัวของเร
ของมนุษย์ทุกคนในโลก อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้แต่เทวดา พรหม อรูปพรหม ก็มีพระรัตนตรัยอยู่ในตัว
สรรพสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในวัฏฏะ มีอยู่ตรงนี้ทั้งนั้นแหละ แต่ไม่รู้ว่า มี เท่านั้นเอง
บางทีก็เรียกว่า
พุทธภาวะ คือ ภาวะของความเป็นพุทธะ
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว
รู้อะไร คือ รู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต
ก่อนมาเกิดมาจากไหน มาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต
แล้วเราจะไปสู่เป้าหมายของชีวิตนั้นได้อย่างไร จะเริ่มขึ้นจากตรงไหนเป็นต้น จนกระทั่งรู้เรื่องราวการเวียนว่ายตายเกิดของตัวเราและสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์
เกิดแก่เจ็บตายในสังสารวัฏ
รู้เรื่องราวและรู้วิธีการที่จะนำออกจากทุกข์
จากวัฏฏะ จึงเป็นเสมือน ผู้ตื่น แล้วจากหลับ
หลับด้วยกิเลสที่ทำให้งัวเงีย อยู่แต่ในโลกมายา ไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง
ตื่นแล้ว หลุดแล้ว พ้นแล้ว จึงเป็น ผู้เบิกบาน
คือ ใจมันจะขยายเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครจะมาบังคับบัญชาเรา ไม่เป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร
ทุกข์ทั้งหลายดับไป สุขก็เข้ามาแทนที่ เป็นสุขอย่างยิ่งเรียกว่า
บรมสุข คือ สุขยิ่งกว่าธรรมดาที่ไม่มีทุกข์เจือเลย จะเรียกอีกนัยหนึ่งว่า
เอกันตบรมสุข
นี่แหละผู้รู้
ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว
เป็นพุทธภาวะที่มีอยู่ภายในตัว เพราะฉะนั้นศูนย์กลางกายของเราจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ คือจุดเริ่มต้น
ที่จะเข้าไปสู่ภายใน จะเข้าไปสู่ภายในได้นั้น ต้องอาศัยใจที่ประกอบไปด้วยความเห็น
ความจำ ความคิด ความรู้ ๔ อย่าง
รวมอยู่เป็นจุดเดียวกัน มาหยุดนิ่งๆ
ถ้าภาษาที่ง่ายๆ คือ ทำความรู้สึกนี่แหละมันนิ่ง อยู่ที่ตรงนี้
บริกรรมนิมิต
โดยเรากำหนดเครื่องหมายที่ใส
สะอาด บริสุทธิ์ เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา เครื่องหมายกำหนดว่า จะเป็นเพชรสักเม็ดหนึ่ง
ดวงแก้วสักดวงหนึ่ง หรือองค์พระสักองค์หนึ่ง อะไรก็ได้ทั้งนั้นแหละ กำหนดของที่เป็นสากลก็ได้
เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว เพชร ซึ่งใครๆ ก็ดูได้ เป็นเครื่องหมาย คือที่หมายว่า
เราจะต้องเอาใจมาหยุดตรงนี้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่า
ฐานที่ ๗ อยู่ตรงไหน เพื่อจะได้เป็นหลักยึดของใจ
คือ เราจะนึกถึงเครื่องหมายนี้ดวงใสๆ ให้ต่อเนื่องกันไปอย่างสบาย
มีสติกับสบายควบคู่กันไป สติกับตึงก็ไม่ได้
สติกับความตั้งใจมากเกินไปก็ไม่ได้ สติปนความอยากก็ไม่ได้ อยากได้เร็วๆ เห็นเร็วๆ
เป็นเร็วๆ ให้สงบเร็วๆ ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน
ต้องสติแบบผ่อนคลาย สบาย
เบิกบาน มีเพชรหรือดวงแก้วใสๆ
แต่ไม่ใช่ เพ่งลูกแก้ว ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติเอาไปพูดมั่วกันไปหมด
กำหนดขึ้นมา คือ นึกแบบธรรมดาคล้ายๆ
เรานึกถึงขันล้างหน้า นึกถึงมะนาว ซาลาเปา หรือนึกดอกบัวที่เราบูชาพระ นึกดอกกุหลาบ
นึกง่ายๆ สบายๆ ภาพในใจเหล่านั้นก็เกิดขึ้น แต่ชัดหรือไม่ชัดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง
ขึ้นอยู่กับความคุ้นของสิ่งที่เราเสพคุ้น เห็นอย่างเจนตา อันไหนคุ้นมาก ก็เห็นได้ง่าย ชัดกว่าปกติ อันไหนไม่คุ้นมันก็เลือนราง จะเลือนรางขนาดไหนก็ตาม คุ่มๆ ค่ำๆ นั่นแหละคือสิ่งที่เราจะต้องนึก
ให้ได้ตลอดเวลา อย่างสบายๆ
สบาย สังเกตตรงไหน ตรงที่เรามีความพึงพอใจ กายไม่เกร็ง
ท้องไม่เกร็ง ตัวไม่เกร็ง ไหล่ไม่กระดก นิ้วมือที่วางบนหน้าตักไม่ยกขึ้น
แล้วความรู้สึกของเรา เหมือนเราไม่ได้กดลูกนัยน์ตาไปดู อย่างนั้นเรียกว่า สบาย
และเราก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ว่ามันจะชัดหรือไม่ชัด เราเฉยๆ ไม่ชัดแต่สบาย อย่างนี้นะ
หรือจะกำหนดเป็นองค์พระที่เราเคารพกราบไหว้บูชาก็ได้
องค์ไหนได้ ทำด้วยวัตถุอะไรก็ได้
แต่ให้ท่านนั่งสมาธิ หรือเราคุ้นกับคำว่า ปางสมาธินั่นแหละ แต่ก็จะมองจากด้านบนลงไปด้านล่าง
เหมือนภาพที่ปรากฏอยู่บนจอทีวี ที่ติดเอาไว้ข้างเสาสภาธรรมกายสากล อย่างนี้ก็ได้
หรือเราอยากจะหลับตาแล้วนิ่งเฉยๆ ไม่อยากนึกนิมิต พอนึกนิมิตทีไรมันตึงทุกทีอดที่จะเอาลูกนัยน์ตากดลงไปดูไม่ได้
ทั้งๆ ที่รู้ว่า มันผิดหลักวิชชา แต่มันก็อดไม่ได้ มักจะเผลอ
กับบางคนที่ขี้สงสัยว่า
ถ้าเรานึกอย่างนี้ ถ้าเกิดเห็นขึ้นมาแล้วก็ไม่ใช่ของจริงนะ
มันเห็นขึ้นมา อ่ะ ถ้าอย่างนั้นก็ให้วางใจนิ่งเฉยๆ
ทำความรู้สึกไว้ในกลางท้องนิดเดียว แต่ไม่ถึงกับก้มมอง ลูกนัยน์ตาก็อยู่ที่เดิม แล้วก็หลับสบายนิ่งๆ
บริกรรมภาวนา
จะประกอบบริกรรมภาวนาว่า
สัมมาอะระหังๆๆ ไปด้วยก็ได้ แต่ให้เสียงคำภาวนานั้นเป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน
นุ่มนวล ละมุนละไม ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา คล้ายๆ
เสียงเพลงที่เราคุ้นหรือบทสวดมนต์ที่เราคล่องปากขึ้นใจ อย่างนั้นก็ได้
ภาวนาไปจนกว่าเราไม่อยากจะภาวนา
อยากอยู่เฉยๆ หรือบางคนเคยฝึกวิธีอื่นมาคำภาวนาก็ใช้คำอื่น เราจะมาเปลี่ยนใช้ สัมมาอะระหัง
มันสับสน อ่ะ อย่างนั้นไม่ต้องภาวนา ทำนิ่งเฉยๆ หยุดสบาย
บางคนก็บอกว่า
สัมมาอะระหัง มันยาวไป หรือเคยฝึกลมหายใจเข้าออก อ้าว ไม่รู้จะนึกอย่างไร เดี๋ยว สัมมา
ลมเข้า อะระหัง ลมออก มันก็อึดอัด อ่ะ ไม่ต้องภาวนา นิ่งเฉยๆ สบายๆ เห็นไหมจ๊ะว่า มันไม่ได้ยากอะไร มันง่ายนิดเดียว ทำนิ่งๆ
แก้กดลูกนัยน์ตา
แต่บางคนก็มีความคิดว่า
ถึงแม้จะไม่ภาวนาอะไร
หรือทำตามคำที่แนะนำมาตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว มันก็ยังอดกดลูกนัยน์ตามองลงไปในกลางท้องไม่ได้
ทั้งๆ ก็พยายามๆ อ่ะ เอาใหม่เอาวิธีนี้
เราก็นึกว่า ศูนย์กลางกายของเราขยายออกไปแล้ว สุดขอบฟ้าไปเลย
และตัวของเราทั้งเนื้อทั้งตัวนั่งอยู่ในศูนย์กลางกายที่ขยายออกไปสุดขอบฟ้า
เราก็นิ่งเฉยๆ
ถ้าเผลอก็นึกถึงคำภาวนา
อาจจะกลัวจะสับสน เพราะเคยฝึกด้วยคำอื่น อาจจะนึกถึงบทสวดมนต์ก็ได้ ซึ่งเป็นของกลางๆ
อิติปิโส ภควา อะไรก็ว่ากันไป ภาวนาไม่จบก็ไม่เป็นไร
จนกว่าเราอยากจะรู้สึกอยากอยู่เฉยๆ เพราะหยุดเป็นตัวสำเร็จ
หยุดเป็นตัวสำเร็จ
จับหลักตรงนี้ไว้นะลูกนะ
หยุดเป็นตัวสำเร็จ อะไรหยุด ใจหยุดนี่แหละเป็นตัวสำเร็จ สำเร็จให้เข้าถึง
ถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัว คือพอใจหยุดนิ่งๆ ตัวจะโล่ง จากที่อึดอัด ที่คับแคบ
มันจะโล่ง จะโปร่ง จะเบา จะสบ้าย สบายๆ
รู้สึกว่า ตัวขยายออกไป จนกระทั่งมันหายไปเลยกลืนไปกับบรรยากาศ เหลือแต่ความนิ่ง เหมือนอยู่กลางอวกาศโล่งๆ
มาถึงตรงนี้
บางคนก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ เพราะว่าเหมือนเราขับเครื่องบินแล้วหลงฟ้าอย่างนี้ หรือดำน้ำแล้วหลงน้ำ หลงทิศทาง
ไม่รู้ทางเหนือทางใต้ ข้างล่างข้างบน ก็จะกังวลว่า เอ๊ะ เราจะกำหนดศูนย์กลางกายที่ตรงไหน ถ้ามีอาการอย่างนี้นะ คือ มันโล่งขยายไปแล้ว ไม่มีตัวตนแล้ว มันสบายตรงไหนก็เอาตรงนั้น นิ่งๆ อย่าลืมว่า ตอนนี้ศูนย์กลางกายเราขยายไปแล้ว
ตัวเราหายไปแล้ว ขยายออกไปแล้วก็นิ่ง ณ จุดที่นิ่ง ตรงที่สบายนั่นแหละ
สภาวะธรรมภายใน
นิ่งนานๆ
เข้า ใจก็จะตั้งมั่นเป็นเอกัคคตานิ่ง สบาย
ความรู้สึกมันจะเป็นอย่างนี้นะ นิ่ง นุ่ม
แน่น สบาย
พอสบายหนักเข้า
ใจก็เริ่มบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น บริสุทธิ์มากเข้าๆ
จนกระทั่งแสงสว่างแห่งความบริสุทธิ์ปรากฏเกิดขึ้น บางคนถึงตรงนี้เกิดปีติ
ที่สามารถเอาชนะนิวรณ์ได้ ตัวจะเบา กายเบา ตัวโยก ตัวโคลง ตัวลอย อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น มีปีติ ๕
อย่างใด อย่างหนึ่งเกิดขึ้น กายก็สงบ ระงับเป็นปัสสัทธิ
สงบ ใจนิ่ง แสงสว่างเกิด
ถึงจุดๆ
หนึ่งมันก็วูบลงไปเลย ตกศูนย์ไปอย่างละมุนละไมก็มี พรวดพราดก็มี แล้วก็จะมีจุดเล็กๆ เกิดขึ้น เป็นแหล่งกำเนิดของแสงสว่าง
ที่กระจายไปทุกทาง อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ คล้ายๆ
กับที่เรามองเห็นในยามราตรี ที่มืดมิดไม่มีแสงไฟเลย
ไม่มีแสงจันทร์แต่จะเห็นดวงดาวปรากฏเกิดขึ้น คล้ายๆ อย่างนั้นแหละ เป็นจุดเล็กๆ พอเรายิ่งนิ่ง
ก็ขยายขึ้นมา เหมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญบ้าง
เหมือนพระอาทิตย์ยามเที่ยงวันบ้างหรือโตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ ที่ใสบริสุทธิ์
ใสอย่างน้อยก็เหมือนน้ำใสๆ เหมือนกระจกใสๆ แต่กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วที่เจียระไนแล้วนะจ๊ะ
หรือใสเกินใส
คือเกินความใสใดๆ ในโลก มาพร้อมกับความสุขและความเป็นหนึ่งเป็นเอกัคคตา
และใจจะเป็นกลางๆ เป็นอุเบกขา คือมันจะเป็นกลางๆ อุเบกขาตรงนี้มันจะเป็นกลางๆ เกลี้ยงๆ กลางๆ
สบายมีความสุข
ดวงธรรมจะเกิดตรงนี้
พระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย
ท่านเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นดวงธรรมเบื้องต้นในสติปัฏฐาน ๔
ของการตามเห็นธรรมในธรรมนั่นแหละ
หรือบางทีท่านก็เรียกว่า
ปฐมมรรค คือ หนทางเบื้องต้น ที่จะเดินทางเข้าไปสู่ภายใน ในเส้นทางสายกลางภายใน
เมื่อเราปฏิบัติแบบมัชฌิมาปฏิปทาในเส้นทางสายกลางภายนอกแล้ว
ก็จะเข้าถึงมัชฌิมาปฏิปทาเส้นทางสายกลางภายใน
บางทีเขาเรียกว่า
วิสุทธิมรรค ทางแห่งความบริสุทธิ์
หมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลาย จากความโลภ
ความโกรธ ความหลง คือเส้นทางนี่มันจะ ตั้งแต่บรรเทาเบาบางกระทั่งมันหมดเกลี้ยงไปเลย
หรือบางทีก็เรียกว่า วิมุตติมรรค ทางแห่งความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
คือต้องทางนี้ทางเดียว มันถึงจะหลุดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร
บางทีเขาเรียกว่า อริยมรรค ทางเดินของพระอริยเจ้า
คำแปลมันก็ตรงๆ อย่างนี้อยู่แล้ว
อริยมรรค
ทางเดินของพระอริยเจ้า หรือความไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า มาจากภายใน มันเริ่มตรงนี้
โดยมีดวงปฐมมรรคปรากฏเกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น ตรงนี้แหละเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ
บางท่านปฏิบัติด้วยวิธีการต่างๆ
ตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน แล้วใจมันหยุดนิ่งมันทิ้งอารมณ์หยาบภายนอก
ปฐมมรรคมันเกิด แต่ว่าไม่รู้จักว่านี่คือ ต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน
หรือต้นทางที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ก็มักจะบอกให้ลูกศิษย์อย่าไปสนใจ
หรือพอมันสว่าง มันเห็นขึ้นมา ก็ไปแนะนำให้หายไปเสียอีก มันก็วนๆ เวียนๆ กันอยู่อย่างนั้นแหละ เหมือนพายเรือมาถึงฝั่งแล้วก็
อ้าว พอถึงฝั่งก็ผลักหัวเรือออกมา แล้วก็พายกลับเข้าไปใหม่ วนไปวนมาอยู่อย่างนั้นทั้งชาติ
เพราะฉะนั้น เราต้องทำความรู้จักเอาไว้ว่า ธรรมดวงนี้สำคัญมาก
ธรรมดวงนี้แหละ เป็นต้นทางที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
ธรรมดวงนี้มีอยู่แล้วในตัวของทุกๆ คน เห็นธรรมดวงนี้เมื่อไรก็เห็นพระตถาคตเมื่อนั้น
ถ้าเข้าถึงตรงนี้ได้ เดี๋ยวก็จะเข้าถึงพระตถาคตเจ้าภายใน คือ ธรรมกาย
ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ ตถาคต
คือ ธรรมกาย ก็แปลว่า ไม่ใช่รูปกายของท่าน ที่คือ เจ้าชายสิทธัตถะ
พระราชกุมารองค์รัชทายาทของกบิลพัสดุ์ แต่หมายเอาพระในตัว พระธรรมกายในตัวนี่แหละคือพระตถาคต
ถ้าใครเข้าถึงได้ก็ได้ชื่อว่า
เข้าถึงไตรสรณคมน์ มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก
เป็นพระก็พระแท้ แท้ในระดับหนึ่ง อุบาสก อุบาสิกาก็ อุบาสก อุบาสิกาแท้
อุบาสก
อุบาสิกา แปลว่า ผู้เข้าไปใกล้ๆ พระรัตนตรัย หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระรัตนตรัยนี้
แต่ว่าไม่ได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ มีพระรัตนตรัยปรากฏอยู่ภายใน
หรือเหมือนอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม โปรดพระเจ้าพิมพิสารและบริวาร
มีส่วนหนึ่งบรรลุไตรสรณคมน์
ก็คือเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวนี่แหละ
ถึงพุทธรัตนะ ถึงธรรมรัตนะ ถึงสังฆรัตนะ ก็คือถึงพระธรรมกายที่มีอยู่ภายในตัว
พระธรรมกายในตัวจะแตกต่างจากพระพุทธรูปนอกตัว
เพราะประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ เกตุดอกบัวตูม
ท่านอยู่ในท่านั่งสมาธิเจริญภาวนาตลอด กายสวยงามมาก ส่วนพระนอกตัวนั้นมีหลากหลาย
พระพุทธรูปท่านสร้างไว้ตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มักจะเป็นไปตามเชื้อชาติ พุทธรูปของจีนก็เหมือนจีน พระพุทธรูปญี่ปุ่นเหมือนญี่ปุ่น
ไทยเหมือนไทย เขมร เวียดนาม พม่า ศรีลังกา อินเดีย ก็เหมือนไปตามเชื้อชาติ
ตามจินตนาการของผู้ปั้น ที่จะให้ได้ลักษณะใกล้เคียงกับมหาบุรุษ ตามที่ตัวเข้าใจที่ได้ศึกษามา
หรือเหมือนนักปฏิบัติที่กำหนดองค์พระ แล้วพอใจหยุด องค์พระเกิดขึ้น
แต่องค์พระนั้นก็เปลี่ยนแปลงอยู่ได้ตลอดเวลา
ธรรมกายจริงๆ
นั้นต้องถอดกายออกเป็นชั้นๆ เข้าไป อยู่ในกลางกายอรูปพรหม
กายรูปพรหมก็อยู่ในกลางกายอรูปพรหม กายรูปพรหมก็อยู่ในกลางกายทิพย์ กายทิพย์ก็อยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียด
กายมนุษย์ละเอียดก็อยู่ในกลางกายมนุษย์หยาบ จะซ้อนๆ กันอยู่อย่างนี้
นอกจากผู้มีบารมีแก่จริงๆ
แล้ว ที่พรวดผ่านกายเหล่านี้ไป มนุษย์ละเอียด ทิพย์ พรหม อรูปพรหม ไปถึงกายธรรมไปเรื่อยๆ
ถึงไตรสรณคมน์ไปเลย พรวดไปเลย
หรือเหมือนอย่างฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถูกส่วนบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว
พรวดไปเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหัต
ซึ่งก็คือกายธรรมนั่นเอง ที่ซ้อนอยู่ภายใน ลักษณะโตใหญ่ขนาดความใสไม่เท่ากัน
ถ้ากายธรรมพระโสดาบัน
หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา วัดจากความกว้างของหน้าตัก
ความสูงตั้งแต่พื้นอาสนะที่ท่านนั่งแท่นฌานนั้น เป็นแนวดิ่งถึงปลายเกตุดอกบัวตูมนั่นแหละ
ขนาดแตกต่างกันตามกิเลสที่บังคับบัญชา หุ้มเอาไว้หลุดจากสังโยชน์ตรงนี้ ก็ไปเจอสังโยชน์ตรงนั้น ก็จะหุ้มเป็นชั้นๆ เข้าไป จนกระทั่งล่อนไปเลย
หลุดล่อนกันไป เหมือนกับเงาะที่เนื้อกับเปลือกมันไม่ติดกัน
เนื้อมะขามกับเปลือกไม่ติดกัน พรวดไปแต่ก็ต้องผ่านในแต่ละกาย
แต่ผ่านอย่างรวดเร็ว
ด้วยกำลังบารมีที่ได้สั่งสมมา
เขาก็ฉุดพรวดไปเลยอย่างนี้ก็มี
ทีนี้เราจะต้องทำอย่างไร
ในกรณีองค์พระเกิดขึ้นในตัว เมื่อใจนิ่ง เราก็ดูเฉยๆ ไม่ต้องไปคิดว่าใช่หรือไม่ใช่ คิดไปเองหรือว่าเกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งตรงนี้มักจะตกม้าตาย พอไปถึงจริงๆ แล้วแม้ได้ยินอย่างนี้ ไปถึงจริงๆ
ก็ลืม แต่ตราบใดที่ยังมีคำถามเกิดขึ้นมาอย่างนี้แสดงว่า ยังถึงไม่จริง
ถ้าถึงจริงแล้วมันหายสงสัย มันไม่มีคำถามเหล่านี้
ไม่มีในความคิด ถึงจริงหรือไม่จริง เมื่อเราเข้าไปถึงแล้ว
ทีนี้เมื่อเราปฏิบัติถึงจุดหนึ่ง
องค์พระเกิด สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปคือ สิ่งที่จะต้องจำ ก็คือ หยุดนิ่งเหมือนเดิมนั่นแหละ
ดูไปเรื่อยๆ มีอะไรให้ดูก็ดูไป ตามเห็นไป กายา กายานุปสฺสนาสติปฏฺฐาน ตามเห็นกายในกายไปเรื่อยๆ
ถ้าเป็นดวงก็ตามเห็นธรรมในธรรมเข้าไปเรื่อยๆ ตามกันไป ตามเห็นไปตาม สติปัฏฐาน ๔
ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านก็ มีอะไรให้ดูเราก็ดูไป ดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ
โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น
เหมือนเรานั่งรถดูทิวทัศน์สองข้างทาง ไม่เห็นเราจะต้องไปคิดอะไรเลย ดูไป เรื่อยๆ ไม่ช้าก็ถึงที่หมาย
นี่เรามีภาพให้ดูภายในนี่ก็บุญนักหนาแล้ว
ไม่เห็นจะต้องไปคิดอะไร ก็ดูไปสบายๆ
การดูไปเฉยๆ
โดยไม่ต้องคิด ก็คือการทำจิตให้หยุดนิ่งนั่นเอง มันนิ่งของมันในระดับหนึ่งแล้ว
หยุดในระดับหนึ่งแล้ว เราดูไปเรื่อยๆ ก็คือการหยุดในหยุดนั่นเอง หยุดในหยุด หยุดในหยุด
ดูไปเรื่อยๆ อย่าง สบายๆ
สบายนี่มันสบายเอง
มันจะสบายเบิกบาน ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งถึงปลายทาง เพราะฉะนั้นต้องทำอย่างนี้นะ
ทุกๆ คน ทำอย่างนี้ ทำง่ายๆ
ธรรมะแม้เป็นของลึกซึ้งแต่เข้าถึงได้ ถ้ามีความเพียร
แล้วก็ทำตามหลักวิชชา คือ หยุดนิ่งเฉยๆ ทำตัวให้สบาย ทำใจให้สงบ
เดี๋ยวเราก็จะพบสิ่งที่มีอยู่ในตัว ตั้งแต่ดวงธรรมจนกระทั่งถึงกายธรรมภายใน
ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง
เวลาที่เหลืออยู่นี้นะ ให้ฝึกใจให้หยุดนิ่ง ด้วยวิธีการที่ได้แนะนำมาตั้งแต่เบื้องต้น
เอาง่ายๆ สบายๆ เราเป็นมนุษย์ธรรมดา เราก็ต้องทำแบบคนธรรมดา เราไม่ใช่เทวดา
จะมาเนรมิตอะไรให้มันได้ดั่งใจนี่ ไม่ได้
เวลานั่งก็อย่าไปฮึดฮัดว่า ทำไมเราอยู่ทางโลกจะทำอะไรสำเร็จทุกอย่าง
ทำไมอย่างนี้มันทำไม่ได้ ก็เลยฮึดฮัด แล้วก็อย่าไปเอาวิธีทางโลกมาใช้
กับวิธีการปฏิบัติธรรม
ทางโลกแสวงหาโลกียทรัพย์
เราต้องวิ่ง ต้องเต้น ต้องต่อสู้ ต้องเจอแรงกดดัน เจอปัญหา
ต้องเอาจริงเอาจังกันสารพัด วิธีการนั้นเอามาใช้กับการแสวงหาอริยทรัพย์ภายในไม่ได้
ภายในต้องเยือกเย็น สุขุม ละมุนละไม ค่อยๆ ประคับประคองใจไป
เดี๋ยวมันก็หยุดเอง เดี๋ยวก็ถึงที่หมายเอง ต้องนิ่งๆ นุ่มๆ ละมุนละไม สบายๆ
ทำเหมือนกับรถไฟที่แล่นอยู่บนราง
เวลามันแล่นไป มันจะมีเสียงหนึ่งที่เราคุ้นเคย คือ ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง นั่งไปเรื่อยๆ
เดี๋ยวก็ถึงสถานี ถึงจุดหมายปลายทาง ปฏิบัติธรรมะก็เช่นเดียวกันนะลูกนะ
ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ทำใจเย็นๆ อย่าไปฮึดฮัด อย่าไปตั้งใจเกินไป ทำใจหลวมๆ
เหมือนสวมเสื้อผ้าที่ไม่คับมันสบายเนื้อสบายตัว ใจหลวมๆ ก็สบายอกสบายใจ
เราเป็นผู้มีบุญที่สั่งสมกันมายาวนาน
จึงได้มีกุศลศรัทธาอยากปฏิบัติธรรม และเราก็ได้มาปฏิบัติธรรมแล้ว กำลังบุญเรามันถึงแล้วเราถึงมาได้
เหลือแต่วิธีการกับความเพียรเท่านั้น เราทำถูกต้องไหม สม่ำเสมอไหม สมัครใจที่จะเห็นไหม
มีฉันทะไหม มีสติ มีสบายไหม สม่ำเสมอไหม เลิกนั่งแล้วเราก็มาสังเกตดูว่า
เราทำถูกหลักวิชชาไหม ก็ปรับปรุงแก้ไขกันไป สักวันหนึ่งก็จะต้องเป็นของเราอย่างแน่นอน
อย่าลืมว่า ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง นั่งไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึงจุดหมายปลายทางเอง
เช้านี้ให้ลูกผู้มีบุญทุกคนได้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
อากาศกำลังสบายเหมาะสมในการประพฤติธรรม
ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะลูกนะ
วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565