โลกุตรธรรม ๙
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ( ๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐ น)
สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไป ให้ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูกพอสบายๆ คล้ายๆ
กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตานะจ๊ะ
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเรา ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น
ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด
ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงานบ้านช่อง
เรื่องครอบครัว หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้
แล้วก็มาสมมติว่า ภายในร่างกายของเรานั้น
ปราศจากอวัยวะ ไม่มีปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น ให้เป็นเป็นที่โล่งๆ ว่างๆ
เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงภายใน คล้ายลูกโป่งที่เราเป่าลมเข้าไป
วางใจ
แล้วเราก็นำใจของเรา ที่คิดแวบไปแวบมาไปในเรื่องราวต่างๆ
นั้น มาหยุดนิ่งๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง
จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสอง
ตัดกันเป็นกากบาท เหนือจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง นี้แหละเรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเราจะต้องทำความรู้จักเอาไว้
แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ ก็ไม่ต้องถึงกับกังวลจนเกินไป ให้ประมาณเอาว่า อยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ซึ่งความเป็นจริงมันอาจจะไม่ตรงเป๊ะเลย ก็ไม่เป็นไรนะจ๊ะ
แต่อยู่ประมาณแถวๆ นั้น อย่างนี้ไปก่อน เอาใจมาหยุดนิ่งๆ หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ
สบายๆ
โลกุตรธรรม ๙ ประการ
ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
เป็นต้นทางที่จะเข้าถึงมรรคผลนิพพาน ที่อยู่ภายในตัวของเรา แต่ว่าซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ
เข้าไป มรรคผลนิพพาน ก็มีมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ หมายถึงพระธรรมกาย
กายธรรมพระโสดาบันหยาบ คือ โสดาปัตติมรรค
กายธรรมพระโสดาบันละเอียด คือ โสดาปัตติผล หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา
กายธรรมพระสกิทาคามิมรรค
กายธรรมพระสกิทาคามิผล หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา
กายธรรมพระอนาคามิมรรค กายธรรมพระอนาคามิผล
หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วาเหมือนกัน
กายธรรมอรหัตมรรค อรหัตตผล หน้าตัก ๒๐ วา
สูง ๒๐ วา เท่ากัน
มรรคผล ๔ คู่ แต่แยกออกแล้วเป็นบุรุษ ๘ ดังกล่าว
เป็นกายธรรมที่ซ้อนๆ กันอยู่ภายใน เมื่อเข้าถึงกายธรรมแต่ละกายธรรม
ก็เข้าถึงนิพพานของกายธรรม เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน
จนกว่าได้เข้าถึงกายธรรมอรหัต ถ้าดับขันธ์แล้วเข้าถึง อนุปาทิเสสนิพพาน
มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ก็อยู่ในตัวเรา เรียกว่า
โลกุตรธรรม ๙ ประการ โดยมีจุดเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗
หยุดนิ่งอย่างเดียว
วิธีที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้
ก็คือ การทำใจหยุดนิ่งอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ใจจะหยุดนิ่งได้ ต้องปลด
ต้องปล่อย ต้องวาง ต้องคลายความผูกพัน ในสังขารทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่มีวิญญาณครอง ไม่มีวิญญาณครอง เป็นสิ่งมีชีวิต หรือไม่มีชีวิต หรือในเรื่องราวต่างๆ
เป็นต้น
มองให้เห็นโลกและภพนี้ ตั้งแต่ตัวเราล้วนไม่จีรังยั่งยืน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา การเกิดบ่อยๆ ก็ทุกข์บ่อยๆ เพราะมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มีการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
ปรารถนาสิ่งใดก็ไม่เจอสิ่งนั้น หรือไม่ประสบในสิ่งที่เป็นที่รัก
ต้องเจอกันอย่างนี้ เป็นเหตุให้เกิดความโศกเศร้าเสียใจ คับแค้นใจ ร่ำพิไรรำพัน ไม่ว่าเป็นชนชั้นล่าง ชั้นกลาง หรือชั้นสูง
ล้วนเจอแต่สิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น เมื่อเบื่อหน่ายก็จะคลายความยึดมั่นถือมั่น
ความผูกพัน ใจก็จะหยุดนิ่งได้อยู่ภายในตัว
สภาวธรรมภายใน
แล้วก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน ตกศูนย์ลงไป จะมีดวงธรรมลอยขึ้นมา
เป็นดวงกลมๆ ใสๆ ไม่ยาว ไม่รี ไม่เหลี่ยม กลมๆ เหมือนดวงแก้วนั่นแหละ
อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ
อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน หรือใหญ่กว่านั้น
ตามกำลังบารมีที่สั่งสมมา
อย่างน้อยก็เท่ากับฟองไข่แดงของไก่
ใสบริสุทธิ์ เหมือนน้ำบ้าง เหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้าบ้าง
เหมือนเพชรบ้างหรือใสกว่านั้นบ้าง เรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หรือดวงปฐมมรรค ปฏิบัติแล้วเบื้องต้นต้องได้อย่างนี้นะ
แล้วหลังจากนั้นก็จะเห็นไปตามลำดับ เห็นกายในกาย
เห็นเวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม กระทั่งได้บรรลุมรรคผลนิพพานไปตามลำดับ
หยุดจึงเป็นตัวสำเร็จ
มันจะยากตอนแรก แต่ยากพอสู้สำหรับหยุดแรก ใจต้องไม่ผูกพันกับอะไรจริงๆ
แม้ร่างกายของเรา ต้องปลด ต้องปล่อย ต้องวาง ใจนิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ที่กลางกายฐานที่ ๗
บริกรรมนิมิต-บริกรรมภาวนา
เราจะต้องกำหนดเครื่องหมายว่า
ตรงนี้แหละ คือ ฐานที่ ๗ ใจจะได้ไม่ไปแวบคิดไปในเรื่องอื่น
จะนึกเป็นดวงใสๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว หรือจะนึกเป็นดวงบุญของเราก็ได้
ที่สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน มารวมเป็นดวงใสๆ กลมรอบตัวเลย แล้วก็หยุดนิ่งๆ
ประคองใจไว้ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ สบาย สัมมาอะระหังๆๆ อย่างนี้เรื่อยไป
ให้ใจมาหยุดตรงนี้
ให้สติ สบาย สม่ำเสมอ ต่อเนื่องกันไป นึกถึงดวงใสๆ หรือพระแก้วใสๆ
อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระรัตนตรัยนั้นนะ ไม่ชัดก็ไม่เป็นไร
เพราะวัตถุประสงค์ต้องการให้ใจมาอยู่ตรงนี้ มันยากตรงนี้ นิดนึง แต่ยากไม่มาก ถ้าหากเราสามารถหยุดใจได้ นิ่งเฉยๆ นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ให้ผ่อนคลาย ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ให้ได้ นิ่ง นุ่ม เบา สบาย
ผ่อนคลาย ค่อยๆ หยุดใจไปเบาๆ
อย่าไปใช้ลูกนัยน์ตากดลงมองลงไปในท้อง
เพื่อควานหาดวงแก้วหรือองค์พระ ดวงตาเราก็ยังอยู่ที่เดิม
แต่ใช้ใจนึกเอา ทำความรู้สึกนึกเหมือนเรานึกถึงดวงอาทิตย์
ดวงจันทร์ ดวงดาวในอากาศ ที่เราเคยเห็นด้วยตาเปล่านั่นแหละ แล้วก็นึกนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ
ดูเฉยๆ ปราศจากความคิด
อะไรเกิดขึ้นในกลางท้อง
เป็นสิ่งที่ควรมองทั้งสิ้น แต่ต้องดูให้เป็น
คือ ดูเฉยๆ โดยปราศจากความคิด ปราศจากคำถาม หรือข้อสงสัย ไม่ต้องไปวิเคราะห์ วิจัย
วิจารณ์อะไร หรืออยากจะรู้อะไร
เพราะตอนนี้เราอยู่ในช่วงของการฝึกใจให้หยุดนิ่ง
เพื่อจะดิ่งไปสู่สถานที่ปลอดความคิด ซึ่งเราไม่คุ้นเคย ไม่มีประสบการณ์ วัตถุประสงค์ต้องการให้หยุดให้นิ่งอย่างนั้นนะ เราก็ต้องนิ่งๆ
นุ่มๆ เบาๆ ค่อยๆ ประคองใจไป
ถ้าใจมันจะแวบไปคิดเรื่องอื่นบ้าง
ก็ช่างมัน พอเรารู้ตัวก็ดึงกลับมาใหม่ มาเริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ
ขอแค่
นิ่ง นุ่ม ละมุนละไม
อย่าไปคำนึงถึงความมืด หรือความสว่าง มีภาพหรือไม่มีภาพให้เราดู
ต้องการ คือ
ความนิ่ง นุ่ม ละมุนละไม มีภาพให้ดูเราก็ดูไป ไม่มีภาพให้ดู เราก็นิ่งไป นิ่ง นุ่ม
ละมุนละไม สบาย ผ่อนคลายทุกส่วน ทำอย่างนี้แค่นี้เท่านั้นแหละ เดี๋ยวเราจะอัศจรรย์ใจ
จะได้รับความสุขเป็นรางวัล เป็นความสุขที่แตกต่างจากที่เราเคยเข้าใจว่า เป็นความสุข
แล้วแตะใจลงไปเรื่อยๆ นิ่งเฉย
ฝึกให้ชำนาญ
ส่วนใครที่เข้าถึงดวงธรรมหรือองค์พระใสๆ
ก็ฝึกหยุดกับนิ่งอย่างนี้ต่อไปให้ชำนาญ ให้คล่อง ให้เป็นวสี ชำนาญนิ่งลงไป รัวๆ
รางๆ ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวจะชัดเอง แล้วก็จะชัดเพิ่มขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ
อย่างน่ามหัศจรรย์
แค่เราหยุดนิ่งเฉยๆ แล้วเดี๋ยวจะเข้าใจเองว่า
หยุดเป็นตัวสำเร็จ หมายความว่าอย่างไร ที่แท้จริง เพราะมันเกินกว่าคำบรรยาย
เพราะว่าภาษามันมีจำกัด
ตอนนี้เราหยุด
นิ่ง นุ่ม สบาย ผ่อนคลาย ใครใจยังวอกแวก ก็ภาวนา สัมมาอะระหัง ใครถึงฝั่งแล้ว คำภาวนาก็จะหายไปเอง
จะมีดวงธรรมปรากฏ มีกายปรากฏ มีองค์พระปรากฏ แล้วก็นิ่งต่อไป
นิ่งในนิ่งๆ หยุดในหยุดไปอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
อย่าทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ไม่ต้องไปทดลองทดสอบอะไร เอานิ่งอย่างนี้ไปก่อน ถึงจุดที่เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วกับพระธรรมกาย
เดี๋ยวก็จะมีค่อยๆ ให้บทเรียนไป
ศึกษากันไป ตอนนี้เรากำลังฝึกหยุดกับนิ่ง ต้องทำเพียงแค่นี้นะลูกนะ
อย่าทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
อีก ๒ วันก็จะออกพรรษาแล้ว ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงพรรษาแห่งการบรรลุธรรม
ดังนั้นเช้านี้ให้ลูกทุกคนตั้งใจฝึกหยุดกับนิ่ง อย่างเบาสบาย ผ่อนคลาย
ทำตามคำแนะนำง่ายๆ อย่างนั้นแหละ เดี๋ยวจะสมหวัง เช้านี้ก็ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจ
ในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุกๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ
วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565