อิสรภาพที่แท้จริง
วันอาทิตย์ที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ (๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น.)
สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย-ปรับใจ-วางใจ
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ
หลับตาเบาๆ พอสบายๆ แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใสไร้กังวลในทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้
รวมใจหยุดไปนิ่งๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ หรือจำง่ายๆ ว่า อยู่ในกลางท้องของเรา
ธรรมะมีอยู่แล้วในกลางกาย
ทำใจให้หยุดให้นิ่งๆ สบายๆ เพราะว่าพระธรรมกายซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกของเรานั้นมีอยู่แล้วในตัวของเรา
ดวงธรรมใสๆ ก็ดี กายภายในและก็พระธรรมกายมีอยู่แล้วในตัวของเรา แต่ว่าเป็นของละเอียด
เราจะเข้าถึงท่านได้ เห็นท่านได้ ต่อเมื่อใจของเราละเอียดเท่าท่าน
ใจของเราจะละเอียดเท่าท่าน
ก็มีเพียงประการเดียว คือ ใจต้องหยุดต้องนิ่ง ไม่ซัดส่าย คิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่นๆ
เรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ใจต้องหยุดนิ่ง
ถึงจะละเอียดและความสว่างภายในก็จะบังเกิดขึ้น
ความสว่างทำให้เกิดการเห็นภาพ
ภาพภายในที่มีอยู่แล้ว หน้าที่ของเรามีเพียงแค่นี้ คือ
หยุดกับนิ่ง ให้มีสติ กับสบาย สม่ำเสมอ หมั่นสังเกต ดูว่า เราทำใจหยุดนิ่งพอดีๆ
ไหม ตึงเกินไปเพราะความตั้งใจ หรือว่าหย่อนเกินไปเพราะขาดความตั้งใจที่ดี
อะไรที่มันขาด มันเกิน มันก็ไม่ดีทั้งนั้น เราก็ต้องหมั่นสังเกต เพื่อปรับให้สู่สภาวะแห่งความพอดี
วิธีสังเกต..นั่งถูกหลักวิชชาไหม
การฝึกใจให้หยุดนิ่ง ก็คือการแสวงหาความพอดีนั่นเอง ความพอดีในการปฏิบัติธรรม
ให้สังเกตดูที่ความพอใจ ความพึงพอใจ เมื่อเราวางใจอย่างนี้ นิ่งอย่างนี้ รู้สึกมันไม่ตึงเกินไป
ไม่หย่อนเกินไป มีความพึงพอใจ แม้มันยังมืดอยู่ ยังไม่มีภาพอะไรให้ดู ความพึงพอใจนี้จะทำให้เราไม่คำนึงถึงภาพที่จะเกิดขึ้น
เพราะแม้เป็นความมืด ก็มืดสบาย ไม่ใช่มืดมึน มืดตึง มืดแต่สบาย สบายทั้งกาย สบายทั้งใจ
นี้คือข้อสังเกต
กายที่สบาย
เราสังเกตดูว่า นั่งแล้วไม่เมื่อย ไม่เกร็ง ไม่ตึง ผ่อนคลายหมดตั้งแต่ศีรษะ ทั้งเนื้อทั้งตัวถึงพื้นเท้า
กายก็สบาย ใจก็สงบนิ่งๆ เป็นความนิ่งที่ไม่คาดหวังว่า เราจะต้องเห็นภาพ รู้สึกพึงพอใจกับความรู้สึกชนิดนี้
ไปได้ตลอดระยะเวลาการนั่งในแต่ละรอบ เพราะถ้าเรานั่งได้นิ่งดี จนเกิดความพึงพอใจ
ก็จะมีข้อสังเกตว่า เวลาแม้เท่าเดิมก็รู้สึกว่า เวลาหมดไปเร็ว เหมือนเรานั่งแป๊บเดียว
เวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน เรายังไม่อยากจะลืมตาเลย อยากจะนิ่งๆ นุ่มๆ ละมุนละไม
แม้จะไม่เห็นอะไรก็ตาม นั่นละถูกหลักวิชชาแล้ว
ถูกหลักวิชชาของสติ
ความมีสติ คือ ใจอยู่กับตัว และสบาย ไม่ตึง
สม่ำเสมอ คือไม่ขาดจังหวะ ไม่สูญเสียจังหวะในการนิ่ง นั่นแหละพอดี
Let
it be
จากความพอดีในระดับนี้
แม้ยังไม่มีความสุข แต่มันก็ไม่มีความทุกข์ที่ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า อทุกขมสุขะ ไม่สุขแต่ก็ไม่ทุกข์
อยู่ในระดับครึ่งทางระหว่างสุขกับทุกข์ คือ มันเลยความทุกข์มาถึงครึ่งทาง
แต่มันยังไม่ถึงความสุข ตรงนี้ ถ้าเรารักษาอารมณ์อย่างนี้ให้ต่อเนื่องกันไป คือ ความสม่ำเสมอ
นิ่ง นุ่มละมุนละไม จะภาวนา สัมมาอะระหัง หรือไม่ภาวนาก็ตาม นั่นละถูกหลักวิชชาแล้ว
ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น Let it be อย่างนั้นต่อไป ให้มันนิ่ง นุ่มละมุนละไม แม้ไม่เห็นอะไรก็ตาม
และก็ให้ลืมสิ่งที่เคยได้ยินพี่น้องวงธรรมะเขาพูดถึงว่า
เขาเห็นแสงสว่าง เขาเห็นดวงใส เห็นองค์พระ ให้ลืมไปเหมือนเราไม่เคยได้ยิน ให้ใจเราเป็นอิสระจากความอยากได้ธรรมะเร็วๆ
หรือเห็นเหมือนอย่างเขา
ใจเราต้องเป็นอิสระ
อย่าให้ความรู้สึกอยากได้จนเกินไปมาครอบงำ ให้ใจเราได้สมดุลอย่างนี้ คือ นิ่ง นุ่ม
ละมุนละไม ไม่คิดถึงภาพการเห็นภายในเกินไป หรือเรื่องราวที่เราได้ยินได้ฟังมาว่า คนโน้นคนนี้เห็น
จนทำให้เราสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง เกิดความทะยานอยากเข้ามาครอบงำ
ความทะยานอยากนั้นก็จะทำให้เราตั้งใจจนเกินไป
แม้เป็นกุศลจิต คือ อยากได้ธรรมะ แต่ถ้ามากเกินไป มันก็ไม่สมหวัง
จุดที่จะสมหวังได้ มันต้องอยู่ตรงกลางๆ จะว่าอยากได้ก็ไม่ใช่ ไม่อยากได้ก็ไม่เชิง
คือ มันหยุดนิ่งเฉยๆ หยุดนิ่ง นุ่ม ละมุนละไม ให้กาลเวลาผ่านไปด้วยการหยุด นิ่ง
นุ่ม ละมุนละไม และไม่ต้องคิดอะไรที่มันนอกเหนือจากนี้
ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้นตามธรรมชาติ
ไปตามความรู้สึกที่อยากจะเป็นอย่างนั้น แล้วเดี๋ยวจะถูกส่วนเอง คือ ใจจะปรุงพอดีถูกส่วนเอง
ถูกส่วนนี้เราจะไปทำให้มันเกิดขึ้นไม่ได้ แต่เราต้องประกอบเหตุด้วยวิธีการดังกล่าวนั่นแหละ
คือ สติกับสบาย สม่ำเสมอ นิ่ง นุ่ม ละมุนละไม หลังจากนั้นปล่อยให้มันเป็นไปของมันเอง
แล้วการถูกส่วนก็จะเกิดขึ้นเอง
ใจที่ถูกส่วน
เมื่อใจถูกส่วน มันจะไม่ทึบ ไม่แคบ ไม่อึดอัด จะไม่มีความรู้สึกว่า
เอาลูกนัยน์ตากดมองลงไปกลางท้อง เราจะไม่มีความรู้สึกชนิดนี้ แต่จะมีความรู้สึกว่า
ใจของเราจะเริ่มโล่ง โปร่ง เบา สบาย สบายกว่าอยู่บนยอดเขาที่ได้หายใจอากาศดีๆ เป็นความสบายที่เริ่มต้นมาจากภายใน
และขยายมาสู่ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ให้ทุกเซลล์ทุกส่วนของร่างกายของเราชุ่มชื่น มีชีวิตชีวา
กายที่มีความรู้สึกว่า
มันทึบ อึดอัด คับแคบ จากทึบก็จะมาโปร่ง จากอึดอัดก็จะมาโล่ง จากคับแคบก็จะขยาย
โล่ง โปร่ง เบา สบาย ขยาย ซึ่งมันจะเกิดขึ้นเอง เมื่อเราวางใจหยุดนิ่ง นุ่ม
ละมุนละไม สบายๆ ผ่อนคลาย
ยิ่งเรานิ่งในนิ่งไปเท่าไร
อย่างนุ่มๆ อาการเหล่านี้ก็จะมีเพิ่มขึ้น คือ โล่งมากขึ้น โปร่งมากขึ้น
เบาสบายมากขึ้น มากอย่างที่เราไม่เคยมีประสบการณ์เหล่านี้มาก่อน มันจะสบาย
ตัวจะเบาๆ เบาเหมือนกับไร้น้ำหนัก เหมือนลูกโป่งที่อัดแก๊สเข้าไปแล้วมันจะเริ่มพองขยายจนลอยได้
ตัวของเราก็จะเริ่มนุ่มนวล
นิ่งแน่น ขยาย สบายเพิ่มขึ้น เราจะรู้จักคำว่า สบาย
นี่มันเป็นอย่างนี้ ส่วนใหญ่เราจะรู้จักคำว่า ไม่สบายทั้งกายและใจ พอความไม่สบายมันลดลงมาหน่อยเราก็นึกว่า
มันสบาย แต่จริงๆ แล้ว มันก็ยังไม่สบายอยู่ดี เป็นแต่เพียงปริมาณความไม่สบายมันลดลง
ความสบายจะรู้จักได้เมื่อใจหยุดกับนิ่ง
นุ่ม ละมุนละไมดังกล่าวนี่แหละ จนกระทั่งมันขยาย ความรู้สึกโล่ง โปร่ง เบาสบายขยายออกไป
แล้วมันเบา กายที่เหมือนจะเหาะจะลอยได้มันขยายออกไป พองโตขึ้นจนกระทั่งเต็มสภาธรรมกายสากลนี้
แล้วถ้าเราไม่ตื่นเต้นกับอาการพองโต
ขยาย เบาสบาย ถ้าเรานิ่งเฉยๆ อย่างเดิม นิ่ง นุ่ม ละมุนละไมต่อไปอย่างสม่ำเสมอไม่ไปตื่นเต้น
ใจยังเป็นปกติอย่างนั้นอยู่ เหมือนผู้ที่เจนโลกผ่านชีวิตมามาก เห็นปรากฏการณ์ขึ้นๆ
ลงๆ ของชีวิตแล้วไม่ตื่นเต้น อาการที่เบาสบายก็จะเพิ่มขึ้นมา แต่ถ้าหากว่า เราไปตื่นเต้น
อาการเบาสบายก็จะลดลง มันจะหรี่ลงไปเรื่อยๆนี่เป็นเรื่องที่แปลก
แต่อัศจรรย์ทีเดียว
และความสบายเมื่อเรานิ่งนุ่ม
ตัวก็จะขยายพองโตกว่าสภาธรรมกายสากล แต่ไม่มีความรู้สึกว่า มันจะแตกปริ เป็นแต่เพียงรู้สึกว่า
กายมันละเอียดลงไป มันนุ่มลงไป แล้วมันเริ่มเบาเหมือนสำลี เหมือนปุยนุ่น อาการขยายก็จะไม่มีสิ้นสุด
เมื่อเรายังนิ่งนุ่มต่อไป แต่ถ้าตื่นเต้นมันก็จะหยุดขยาย ถ้าเราหยุดนิ่ง มันก็จะขยายต่อไป
จนกระทั่งโตเต็มอำเภอคลองหลวง
ถ้าเรายังนิ่งนุ่มต่อไป
มันก็จะขยายเต็มจังหวัดปทุมฯ จังหวัดข้างเคียง ทั่วประเทศไทย ขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
นานาชาติ ทั่วโลก พ้นโลก ขยายไปสุดขอบฟ้าเลย จนเราดูเหมือนว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจักรวาล
และขอบฟ้า จะขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนตัดเส้นรอบวงที่ล้อมกรอบชีวิตของเราเอาไว้ให้มันขาดกระเด็นออกไป
คล้ายๆ
ของแข็งเริ่มสลายกลายเป็นของเหลว ของเหลวเริ่มสลายกลายเป็นไอ เป็นแก๊สไป แล้วก็ขยายออกไปเรื่อยๆ
ขยายไปเท่าไร
ปริมาณแห่งความเบาสบายก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นจนเรายอมรับว่า นี่คือความสุข ความสุขที่บังเกิดขึ้นอย่างที่เราไม่รู้จักมาก่อนเลย
และหาไม่เจอในวัตถุสิ่งของ ไม่เจอในคน ในสัตว์ ในสิ่งของ ในสิ่งอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ไม่เคยเจอจากการได้เห็น ได้ยิน เสียงเพราะๆ เห็นสิ่งสวยๆ ได้ดมกลิ่นหอมๆ
ลิ้มรสอาหารอร่อยและเคยถูกต้องสัมผัสสิ่งที่นุ่มเนียน หรือเคยฟุ้งฝันนึกคิดไปต่างๆ
ก็ไม่มีวันรู้จักความรู้สึกชนิดนี้
เพราะฉะนั้น
เราก็จะได้เข้าถึงเนื้อหนังแห่งคำว่า ความสุข เราก็จะเริ่มรู้จักว่า อ๋อ
ความสุขมันจะต้องมีอารมณ์อย่างนี้ อาการอย่างนี้ ประสบการณ์อย่างนี้ แล้วก็มีรสมีชาติเอร็ดอร่อยอย่างนี้
เป็นความสุขที่เกิดขึ้น
พบแสงสว่างภายใน
เมื่อนิ่งถึงจุดที่นิ่งแน่นถูกส่วนเข้า
แสงสว่างจะเกิดขึ้นเอง เป็นแสงแห่งความบริสุทธิ์ภายในที่ใจเราหลุดพ้นจากความมืด
คือ นิวรณ์ จากความนึกคิดในเรื่องกาม เรื่องเพศ เรื่องสมบัติ ฟุ้งฝันอะไรต่างๆ
พ้นจากความโกรธ ความสงสัย ความฟุ้งกระเจิดกระเจิงไปในเรื่องราวต่างๆ ความง่วง ความท้อ
ความเคลิ้ม รู้สึกใจมันเกลี้ยง สงัดจากกามและอกุศลธรรม มีความรู้สึกว่า ใจเราเป็นบุญเป็นกุศลล้วนๆ
สะอาดจนเกิดความปีติภาคภูมิใจ และยอมรับนับถือตัวเองว่า เราสะอาด มันเกลี้ยง มันบริสุทธิ์
ซึ่งเราไม่เคยรู้จักอย่างนี้มาก่อนเลย
และเมื่อความสว่างขยายออกจากปริมาณน้อยเป็นปริมาณกว้างออกไป
กระทั่งไม่มีขอบเขต ความสว่างยิ่งบริสุทธิ์ก็ยิ่งสว่าง ยิ่งใจหยุดก็ยิ่งบริสุทธิ์ ยิ่งบริสุทธิ์
ก็ยิ่งสว่างเพิ่มขึ้น ความสว่างนั้นกระจายไปทั่ว แต่เป็นแสงสว่างที่เนียนตา ละมุนใจ
ถ้าเราไม่สงสัยว่า
มีใครเอาไฟส่องหน้าเรา หรือเปิดไฟในห้อง เรานิ่งนุ่มละมุนละไมอย่างเดิม มันก็จะยิ่งเจิดจ้าเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าหากความสงสัยเข้ามาแทรก เพราะเราไม่คุ้นเคยกับความสว่างภายใน
คิดว่าใครเปิดไฟ และเราเผลอไปลืมตาขึ้น เพราะทนความอยากรู้ไม่ได้ว่า ใครมาเปิดไฟ ความสว่างก็จะหรี่ลงไป
แล้วเราก็จะพบว่า เมื่อเราลืมตามาแล้ว ข้างนอกนี่มันมืดกว่าข้างใน ความสว่างภายในที่นุ่มเนียนตา
ไม่แสบตา ไม่เคืองตา นำพาความสุขที่ไม่มีประมาณที่ประณีตได้พรั่งพรูออกมา
ใจตกศูนย์
เมื่อใจเรานิ่งต่อไปด้วยความเบิกบาน
เพราะว่าใจขยาย กายขยาย เหมือนเราไม่มีตัวตนแล้ว ก็จะเปลี่ยนมิติ คือ ตกศูนย์ เหมือนเราหล่นจากที่สูง บางคนก็หล่นมาอย่างพรวดพราด
วูบลงไปก็ตกใจ แต่บางคนที่ค่อยๆ เคลื่อนไปข้างใน และขยายไปรอบทิศอย่างละมุนละไม มีแต่ความสุขสดชื่นตลอดเส้นทาง
เหมือนเราแบกของมา เราค่อยๆ ปลดของขว้างทิ้งไปทีละอย่าง จนกระทั่งไม่ต้องแบกหามกันต่อไปแล้ว
อาการหนักของใจก็ไม่เกิด
ใจมันก็เบา สบาย แต่ถ้าทิ้งหาบที่เราแบกมาอย่างโครมครามละก็
จะมีอาการเหมือนตกศูนย์อย่างฮวบฮาบ เหมือนหล่นวูบลงไป ก็กลัวสะดุ้ง กลัวจะไปนรก
ไปเห็นภาพไม่ดี แล้วก็หวาดเสียว แต่ก็เป็นบางคนเท่านั้น แต่ว่าขอยืนยันว่า ไม่มีสิ่งที่ไม่ดี
หรืออันตรายเกิดขึ้น
เข้าถึงดวงธรรมภายใน
จะมีสิ่งดีๆ
ที่เราไม่คาดคิดเลยว่า คนอย่างเรานี่จะทำได้ขนาดนี้ คือ มันจะมีดวงลอยขึ้นมาเป็นดวงใส
ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแสงสว่างดังกล่าว เหมือนดวงอาทิตย์เป็นแหล่งกำเนิดของแสงสว่างในเวลากลางวัน
เหมือนดวงจันทร์สว่างในเวลากลางคืน แต่นี่เราก็จะเห็นแหล่งกำเนิดของแสงสว่างภายใน
จะเป็นดวงใสๆ อย่างน้อยก็ใสเหมือนกับน้ำใสๆ
หรือเหมือนกระจกคันฉ่องที่เราส่องเงาหน้า หรือใสเหมือนเพชรบ้าง ใสกว่านั้นบ้าง
บางทีเป็นความใสที่มันดูดตา
ไม่ดีดตาเหมือนเพชรที่ต้องแสง ที่มันผลักลูกนัยน์ตาเราออก เพราะดูแล้วมันเคืองตา แต่จะเป็นแสงที่ดึงดูดตาให้ดื่มด่ำลงไปกับความสุขนั้น
กับดวงใสๆ ที่กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วที่เจียระไนแล้วกลมดิ๊กเลย อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ
อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน หรือใหญ่กว่านั้นตามกำลังบารมี
บางทีก็โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่
แต่ว่าใส ใสเกินความใสใดๆ ในโลกที่เราไม่เคยเจอมาก่อน นี่แหละเขาเรียกว่า ความบริสุทธิ์เบื้องต้นที่พระเดชพระคุณหลวงปู่เรียกว่า
ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือดวงปฐมมรรค
เป็นดวงใสบริสุทธิ์ของกุศลธรรมเบื้องต้น สัมมาทิฏฐิก็ตั้งอยู่ตรงนี้
เห็นดวงอย่างนี้ บุญได้มากกว่าสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ
วัดวาอารามเยอะทีเดียว เพราะว่าเป็นต้นทางไปสู่อายตนนิพพาน ส่วนบุญที่สร้างโบถส์
วิหาร ศาลาการเปรียญนั้นแค่เป็นมหาทานบารมี ยังทำให้เราวนเวียนอยู่ในกามภพอยู่
ภพที่ยังต้องใช้เรื่องทรัพย์ แต่นี่มันจะเลยความรู้สึกอย่างนั้นไป
จะเป็นดวงใส
สว่างอยู่ในกลางกาย ถ้าเรานิ่งต่อไปอย่างเดิม ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมไปกว่านี้ ใจก็จะยิ่งนิ่งนุ่ม
ละมุนละไม สบายๆ ดวงธรรมก็จะขยาย แล้วก็จะดึงดูดให้เราเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หรือดวงปฐมมรรค ซึ่งแปลว่า ต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพานแล้ว ก็หมายความว่า ถ้าเราได้เข้าถึงธรรมดวงนี้ได้ก็ยืนยันว่า
เราไปสู่อายตนนิพพานได้ เราทำพระนิพพานให้แจ้งได้
แต่ถ้ายังไม่ได้ธรรมดวงแรกเป็นปฐม
ปฐมมรรคต้นทางนี้ ถ้ายังไม่ได้ มันก็ไปไม่ถูก ไม่รู้จะไปอย่างไร แต่ถ้าเข้าถึงได้แล้ว
ก็ยืนยันได้ว่าไปถูก คือ จะถูกดึงดูดไปตรงกลางตรงนั้นแหละ กลางดวงเข้าสู่เส้นทางสายกลางภายใน
ที่เรียกว่า วิสุทธิมรรค ทางแห่งความบริสุทธิ์หมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลาย
บางทีก็เรียกว่า อริยมรรค คือ
ทางเดินของพระอริยเจ้าหรือทางที่จะดำเนินไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า บางทีก็เรียกว่า
วิมุตติมรรค เป็นทางแห่งความหลุดพ้นจากโลภะ
โทสะ โมหะ กิเลสอาสวะ ที่ดึงดูดตรึงเราไว้ติดในภพ ๓ นี่แหละ
ดวงใสดวงนี้จึงสำคัญมาก รักษาเอาไว้ก็ปิดอบาย ไปสวรรค์ และจะเป็นต้นทางที่จะทำให้เราได้เข้าไปถึงพระรัตนตรัยในตัว
จะเข้าไปถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ที่มีอยู่ในตัวของเรา
พอถึงตรงนี้
ความสุขใจเพิ่มขึ้นที่จะกระตุ้นให้เราอยากเรียนรู้ความรู้ภายในมากขึ้น ใจเราก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน
เหมือนเรือที่ออกฝั่งไปสู่ทะเล แต่ว่าเป็นทะเลแห่งความรู้ที่ไม่มีขอบเขต มันจะก้าวเข้าไปตรงนั้น
ดวงธรรมจะขยายออกไปใส
บริสุทธิ์ สว่าง เราจะเริ่มเป็นตัวของเราเองเพิ่มขึ้น เริ่มรู้จักตัวเราเองเพิ่มขึ้น
แต่เดิมเรายังไม่รู้ว่า เราต้องการอะไร เกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายชีวิต
และความต้องการที่แท้จริงของเราคืออะไร เรายังไม่รู้เลย ยังหาคำตอบให้กับชีวิตไม่ได้
เพราะยังไม่รู้จักตัวเอง
ทีนี้
เมื่อใจดำเนินไปเรื่อยๆ ด้วยการหยุดการนิ่ง มันก็เคลื่อนเข้าไปข้างใน
เคลื่อนเข้าไปเขาเรียกว่า คมน คือ แล่นไป
เคลื่อนเข้าไป มันจะเคลื่อนเหมือนเราขับรถอย่างนั้น ขับรถจะเคลื่อนได้ มันต้องเหยียบคันเร่ง
แต่จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน จะขับเคลื่อนสรีรยนต์นี้ต้องหยุดใจ ยิ่งหยุดยิ่งเร็ว
ยิ่งหยุดยิ่งนิ่ง ยิ่งดิ่งไม่หยุด มันไปเรื่อยเลย เข้าไปสู่ภายใน
เดี๋ยวก็เห็นไปตามลำดับ
เห็นดวงธรรมต่างๆ ผุดผ่านขึ้นมาจากกลางดวงนั้น เหมือนจุดศูนย์กลางดวงนั้นขยายออกมาเป็นดวงใหม่ที่ใสกว่า
สว่างกว่าเดิม ละเอียดกว่านี้ เราจะเทียบได้ทีเดียว คือ เหมือนสัมผัสได้เลย ความละเอียดกว่าของดวงธรรมที่ถัดไปข้างใน
มันจะนุ่มนวลเนียนตากว่ากัน มันจะเนียนตา ละมุนละไม เหมือนเราถือดวงแก้วส่องกระจกอย่างนั้นแหละ
ดวงที่เราถือมันหยาบ แต่ดวงในกระจกมันจะละเอียดไปอีกชั้นหนึ่ง อันนั้นก็เป็นข้ออุปมา
แต่นี่ก็คล้ายๆ อย่างนั้น แต่มันละเอียดกว่า เพราะมันโปร่งเบากับความรู้สึกที่ละเอียดกว่า
มันนุ่มเข้าไปเรื่อยๆ
ยิ่งละเอียดก็ยิ่งขยาย
ใจขยายเข้าไปเรื่อยๆ มันก็จะไปอย่างนี้ในทำนองนี้ แต่ความบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไปถึง ดวงศีล
ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุต ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
รู้จักตัวเองมากขึ้น
เมื่อเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด
เราก็จะเข้าถึงกายภายใน
เราจะรู้จักตัวของเรา ต่อเมื่อเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดที่เหมือนตัวเรา แต่ว่าสดใสกว่า
อยู่ในท่านั่งทำสมาธิ นิ่ง สงบ สง่างาม กายภายนอกจะอ้วน จะผอม ดำ ขาว แค่ไหนก็แล้วแต่
แต่พอกายละเอียดภายในของเราจะดูดีกว่านั้นเยอะ ดูดี จะใส นั่งทำสมาธินิ่ง
ความรู้ที่จะเพิ่มขึ้น
คือ กายหยาบแต่เดิมว่า มันเป็นตัวเรา มันเป็นของของเรา ถ้าถึงตรงนี้มันก็เป็นแค่เพียงตัวเรา
แต่ไม่ใช่ของของเรา ถ้าเป็นของเรา เราก็ต้องบังคับได้ ให้มันสะอาด ให้มันหอม ให้มันไม่เหี่ยว
ไม่ห้อย แต่มันบังคับไม่ได้เพราะมันไม่ใช่ของเรา แต่เราสมมติว่าเป็นตัวเรา
เราพอถึงกายมนุษย์ละเอียด
เราจะมีความรู้สึก เอ้อ กายหยาบเหมือนเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็เปื่อยก็เน่าไป
และเหมือนบ้านเรือนที่เราอาศัยอยู่ชั่วคราว ความรู้สึกมันจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ
เลย ของแต่ละกายที่มีอยู่ภายในเรานั่นแหละ จนกระทั่งถึงกายธรรม กายองค์พระใสๆ
ก็จะยิ่งมองอะไรได้ชัดเจน กว้างขวางกว่าเดิมไปอีกเยอะ
รู้จักอิสรภาพที่แท้จริง
เมื่อเข้าถึงพระธรรมกาย
จะเริ่มรู้จักว่า เราเป็นตัวของเราเองที่แท้จริง ตอนเข้าถึงกายองค์พระนี่แหละว่า
รู้สึกว่าเป็นอิสระ เราเรียกร้องความเป็นตัวของตัวเอง อยากเป็นอิสระ
แต่เราหาไม่ถูกที่ มันก็ไม่เคยเป็นอิสระ นอกจากทำตามใจตัวเอง และเราก็เหมาเข้าใจเอาเองว่า
นั่นคืออิสรภาพของเรา แต่จริงๆ เรากำลังทำตามใจกิเลสในตัว ที่มันบังคับบดบังดวงปัญญาทำให้เขาไม่รู้
นึกว่าการทำ ตามใจตัวเอง คือการใช้ชีวิตเป็นอิสรภาพ แต่จริงๆ ยังไม่ใช่เลย เพราะเราไม่รู้จักคำว่า
อิสรภาพอย่างแท้จริง ยังถูกครอบงำด้วยความไม่รู้ ยังถูกครอบงำด้วยความหายนะอยู่
เราจะรู้จักความเป็นอิสระ เป็นตัวตนที่แท้จริง เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายในตัว
ถ้าไม่ถึงตรงนี้ไม่รู้จัก นอกจากเข้าใจไปเองมั่วๆ กันไปอย่างนั้น
นี่คือสิ่งที่ตัวเราและมวลมนุษยชาติยังขาดแคลนความรู้ตรงนี้อยู่
เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเราก็ต้องให้รู้จักตรงนี้เสียก่อนว่า การเป็นอิสรภาพที่แท้จริง
สิทธิ เสรีภาพเหล่านั้น มันอยู่ตรงไหน เป็นอย่างไร นอกนั้นก็มั่ว เพราะเขาขัดใจเรา
เราก็ว่าเราไม่เป็นอิสระ แต่ถ้ามีใครตามใจเรา หรือเราตามใจตัวเราเอง เราก็นึกว่า เราเป็นอิสระ
แต่ที่จริงยังไม่ใช่เลย ยังเป็นบ่าวเป็นทาสของความไม่รู้ครอบงำอยู่ มันต้องเข้าถึงกายผู้รู้
คือ กายธรรมภายในนี่แหละ จึงจะรู้จักกันอย่างแท้จริง
วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565