• label
  • Home

นำนั่งสมาธิ โดย หลวงพ่อธัมมชโย

  • Home
  • Search
  • Title
  • Label
  • List
Menu
2547 สมถวิปัสสนา 470516C รอบสาย

สมถวิปัสสนา 470516C รอบสาย

 


สมถวิปัสสนา

วันอาทิตย์ที่  ๑๖  พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ (๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.)

งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล


ปรับกาย


เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไป ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกัน ทุก ๆ คนนะ

ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตัก พอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา  อย่ากดลูกนัยน์ตานะ


ปรับใจ


แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจของเราให้ว่าง ๆ

แล้วก็มาสมมติว่า ภายในร่างกายของเรานั้น ปราศจากอวัยวะ  สมมติว่าไม่มีปอด  ตับ  ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น ให้ภายในร่างกายของเรา  เป็นปล่อง  เป็นช่อง  เป็นโพรง  เป็นที่โล่ง ๆ ว่าง ๆ กลวงภายใน  คล้าย ๆ ท่อแก้ว  ท่อเพชร  ใส ๆ


  ทำไมต้องนั่งสมาธิ


คราวนี้เราก็มาศึกษาว่า  ทำไมเราจะต้องมานั่งหลับตา เจริญสมาธิภาวนากัน เหตุผลก็คือ ชีวิตในสังสารวัฏนี้ โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ เราจะเห็นได้ว่า  มันมีแต่ทุกข์มีแต่โทษมีแต่ภัย ภัยที่เรามองเห็นก็มี  ภัยที่มองไม่เห็นก็มี

ภัยที่เรามองเห็นด้วยตาเนื้อ เราเข้าใจ  แต่ภัยที่เรามองไม่เห็น เราไม่เข้าใจ  แต่เราเริ่มมาเข้าใจ ต่อเมื่อมีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ที่พระองค์สั่งสมบุญบารมี ๓๐ ทัศมา ยาวนาน อย่างน้อยก็ ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป  อย่างกลางก็  ๔๐ อสงไขยแสนมหากัป อย่างสูงก็ ๘๐ อสงไขยแสนมหากัป

พระองค์ทรงค้นพบว่า ชีวิตเป็นทุกข์ในสังสารวัฏ ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น จะเป็นมนุษย์ชั้นล่าง ชั้นกลาง หรือชั้นสูง ล้วนมีทุกข์ เศรษฐีก็มีทุกข์แบบเศรษฐี ชนชั้นกลางก็มีทุกข์แบบชนชั้นกลาง  ชนชั้นล่างก็มีทุกข์แบบชนชั้นล่าง

นอกเหนือจากมนุษย์จะมีทุกข์แล้ว แม้แต่เทวดา พรหม อรูปพรหมก็มีทุกข์ แต่ว่าละเอียดอ่อนเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้ กับทุกข์ในอบาย ในมหานรกซึ่งทุกข์อย่างยิ่ง ยาวนาน

ทุกข์ในอุสสทนรก ขุมบริวาร ทุกข์ในยมโลก ทุกข์ของเปรต ของอสูรกาย ทุกข์ของสัตว์เดรัจฉาน ทั้งหมดล้วนแต่มีทุกข์ มีโทษ มีภัยทั้งสิ้น

เนื่องจากว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายดังกล่าวนั้น ต้องตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม  คือการกระทำ ทางกาย วาจา หรือใจ ดีหรือชั่วก็ตาม ล้วนมีผลทั้งสิ้น แต่มักจะไปในทางที่ไม่ดี คือเมื่ออกุศลเข้าสิงจิต ให้กระทำความผิด ทำให้เกิดการกระทำ ทางกาย วาจา  ใจ  เมื่อมีกรรมแล้วก็มีวิบากเป็นผล  ตรงนี้เราไม่เห็น เราไม่เข้าใจเรื่องของเหตุของผล แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงเข้าใจ

เพราะพระองค์เห็นว่า วัฏสงสารมีทุกข์ มีโทษมีภัย จึงหาหนทางที่จะพ้นให้ได้ ใช้ความพยายามมายาวนานดังกล่าว ในที่สุดก็ค้นพบว่า มีหนทางเดียวเท่านั้น ที่จะพ้นจากฎแห่งกรรม คือจะต้องขจัดกิเลสอาสวะ ที่เป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ทรมานของชีวิตให้หมดสิ้นไป แล้วเราจะได้พ้นจากภพ ๓ กามภพ รูปภพ  อรูปภพ  แล้วก็ไปสู่อายตนนิพพาน  ไปสู่ภพที่มีแต่สุขอย่างเดียว  ที่เรียกว่า  เอกันตบรมสุข คือ สุขอย่างเดียว สุขอย่างยิ่ง ซึ่งท่านใช้คำว่า

นิพฺพานํ  ปรมฺ  สุขํ นิพพานเป็นบรมสุข  เป็นสุขอย่างยิ่ง  จะต้องไปสู่ภพภูมินี้

การค้นพบของท่าน เมื่อบารมีเต็มเปี่ยม ซึ่งสั่งสมกันมายาวนาน ทั้งทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ทั้งพุทธการกธรรม คือ ธรรมที่จะทำให้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีทานบารมี ศีลบารมี เนกขัม ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขาบารมี ค้นพบในเพศของนักบวช แล้วก็สั่งสมกันเรื่อยมา

ทรงค้นพบว่า ทางจะหลุด จะพ้น จะรอด จากเงื้อมมือพญามาร หรือกิเลสอาสวะได้ หนทางแห่งความบริสุทธิ์ หมดจดจากสรรพกิเลสนั้นอยู่ภายในตัว เป็นเส้นทางสายกลางภายใน ที่เรียกว่า  เส้นทางของพระอริยเจ้า หรือเราได้ยินคำว่า อริยมรรค  คือทางของพระอริยเจ้า  ทางดำเนินไปสู่ความเป็นอริยะ ความเป็นพระอริยเจ้า  อยู่ภายใน  โดยวิธีการปฏิบัติที่ไม่ตึงเกินไป  ไม่หย่อนเกินไป  อยู่ในระดับกลาง ๆ พอดี ๆ ซึ่งสรุปได้ว่า  ต้องหยุดนั่นเอง

 

 หยุด คือ สมถะ


หยุด ตรงกับภาษาบาลีว่า  สมถะ

สมถะ แปลว่า หยุด  นิ่ง  สงบ  ระงับ ต้องหยุดต้องนิ่ง

เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นที่ใจ  ไม่ว่าจะมาทางกายก็มาลงที่ใจ ไม่ว่ามาจากทางไหนก็ลงที่ใจ  มันเกิดขึ้นตรงนี้  ก็ต้องแก้ตรงนี้

ใจที่เป็นทุกข์ เพราะว่า มันหลุดออกจากฐานที่ตั้งดั้งเดิม ไปติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นต้น จะต้องดึงใจกลับมาอยู่ที่ตั้งดั้งเดิม คือ มาอยู่กับเนื้อกับตัว มาอยู่ภายในตัว เมื่ออยู่ภายในตัวนาน ๆ เข้า คุ้นเคยเข้า หลังจากห่างเหินมานาน มันก็หยุดนิ่ง เพราะว่าอยู่เย็นเป็นสุข  

ใจเมื่ออยู่กับเนื้อกับตัวแล้วมันจะเย็น เย็นมันก็เป็นสุข มันไม่ได้เย็นแบบห้องแอร์ ไม่ได้เย็นแบบหน้าหนาว  หรือแช่น้ำแข็งอะไรอย่างนั้น แต่มันเย็นสบาย ถึงเรียกว่า อยู่เย็นเป็นสุข พอเป็นสุขนาน ๆ ก็หยุดนิ่ง  หยุดนิ่งอยู่ภายใน  ในกลางกาย  ในตัว

หยุด นี่แหละถูกคำว่า  สมถะ สมถะ แปลว่า หยุด แปลว่า นิ่ง แปลว่า สงบ  ระงับ ซึ่งมีวิธีปฏิบัติหลายสิบวิธี  แต่มีมาในวิสุทธิมรรค ๔๐ วิธี เช่น กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญาอนุ ๑๐ อนุสติ ๑๐ เป็นต้น

ให้เลือกเอาอย่างเดียว ทำวิธีไหนก็ได้ ให้ใจมาหยุดอยู่ภายในตัว แล้วก็ต้องกึ่งกลางของกายด้วย  ตรงฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้อง ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ จะเห็นได้เมื่อมันหยุดสนิทได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นแล้ว ก็จะเห็นฐานที่ ๗ นี้ชัด ต้องมาหยุดตรงนี้แหละ

หยุดได้สนิทสมบูรณ์  สงัดจากกาม  จากอกุศลธรรม  ละวิตก  วิจารณ์  ปีติ  สุข  เอกกัคตา คือ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง อารมณ์เดียว  ไม่หวั่นไหว  หยุดนิ่ง ไม่ง่อนแง่น  ไม่คลอนแคลน มีความสุข  มีความบริสุทธิ์  เป็นกลาง ๆ นิ่งอย่างเดียว  นี่ล่ะ สมถะล่ะ แล้วก็จะมีขั้นตอนของสมถะ ของหยุดไปเรื่อย ๆ


หยุด คือ นิโรธ


อีกคำหนึ่ง คำว่า  “หยุด” ตรงกับคำว่า “นิโรธ”

นิโรธ แปลว่า  หยุด หรือแปลว่า ดับ คือ ใจมันหยุด  หยุดตรงนี้ได้ มันก็ดับทุกข์  ถ้าใจไม่หยุด มันก็มีทุกข์  เพราะว่าตรงกับคำว่า นตฺถิ สนฺติ  ปรมํ  สุขํ  สุขอื่นนอกจากหยุดกับนิ่ง  ไม่มี  ก็แปลว่า  ถ้าไม่หยุด ไม่นิ่ง ไม่เจอความสุข นอกจากเข้าใจผิด ว่ามันเป็นความสุข หรือขอยืมคำว่า ความสุขเอาไปใช้ เป็นความสุขที่เข้าใจเอาเอง  เหมาเอาเอง  แต่คำนี้จะใช้ได้ต่อเมื่อหยุดกับนิ่งเท่านั้น  คำว่า ความสุขนี่แหละ


หยุดนิ่งถูกส่วน พบประสบการณ์ภายใน


ทีนี้พอใจหยุดนิ่งถูกส่วน ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เท่านั้น พอถูกส่วน มันก็โล่ง โปร่ง เบา สบาย แต่ก่อนนั้นมันทึบ ๆ ไม่ว่าหลับตา หรือลืมตา รู้สึกคับแคบ อึดอัด ไม่โล่ง ไม่กว้าง ไม่โปร่ง แต่พอหยุดแล้วมันก็จะโล่ง กว้าง ตัวจะเบา กายเบา แล้วแสงสว่างแห่งความบริสุทธิ์ของใจ ที่เอาชนะนิวรณ์ได้  หรือออกจากที่มืดได้มันก็เกิดขึ้น  เกิดขึ้นมาพร้อมกับความปีติ  คือภาคภูมิใจว่า เอาชนะนิวรณ์ได้  ชนะความมืดได้  มันก็ปลื้มปีติ ขนลุกขนชันบ้าง  ตัวโยก  ตัวโคลง  ตัวเบา  ตัวลอย  เป็นต้น

จนกระทั่งตัวขยายแล้วก็หายไป มีความสบายกายสบายใจที่เรียกว่า  สุข แต่เป็นสุขในระดับเบื้องต้น สุขเล็ก ๆ แต่ว่าได้เข้าถึงจุดเริ่มต้นของความสุข  หรือเป็นตัวอ่อนแห่งความสุข หรือต้นกล้าแห่งความสุข บังเกิดขึ้น


ใจตกศูนย์ พบดวงธรรมภายใน


พอสุขเข้า ใจก็นิ่งเป็นเอกกัคตา เป็นหนึ่ง ตอนนี้ยิ่งสบาย ๆ มันก็จะตกศูนย์ไปเลย  เหมือนกับหล่นจากที่สูงวูบลงไป  บางคนก็ลงอย่างรวดเร็ว พรวดพราด เหมือนเราแบกของ หาบของหนัก ๆ มา  ถึงเวลาก็ทิ้งโครมลงไปเลย  แล้วเกิดความเบาอย่างกะทันหัน  ฉุกละหุก  นี่เหมือนกัน  เหมือนตกหลุมอากาศ  วูบลงไป แต่บางคนก็ลงไปอย่างนุ่มนวล  ละมุนละไม ใจค่อย ๆ เคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน แต่จะอย่างไรก็ตามใน ๒ ลักษณะ ก็คืออาการตกศูนย์  

ตกลงไปในศูนย์กลางเบาะแห่งความสุข  มันก็จะมีดวงธรรมลอยขึ้นมา เป็นดวงใส ๆ ปรากฏเกิดขึ้น

ธรรมดวงนี้มีอยู่ดั้งเดิม มีอยู่แล้ว แต่เดิมอยู่ที่ฐานที่ ๖ กลางท้องตรงกับสะดือ เขาเรียกว่า ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบ หมายถึงว่า ทรงรักษากายมนุษย์หยาบเอาไว้ ถ้าไม่มีธรรมดวงนี้มาเกิดเป็นมนุษย์ไม่ได้

มนุษย์ทุกคนในโลกจะรู้หรือไม่รู้  เชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ใดก็ตามต้องมีธรรมดวงนี้ เรียกว่า ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบ  รักษากายมนุษย์หยาบไว้  แล้วจะลอยขึ้นมาอยู่ที่ฐานที่ ๗ เป็นดวงใส

เพราะมีธรรมดวงนี้แหละ  จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ใครก็ตามที่ไม่โง่  ไม่บ้า หรือปัญญาอ่อน  เมื่อได้ลงมือปฏิบัติแล้วล่ะก็ต้องเข้าถึงอย่างแน่นอน  

ธรรมดวงนี้จะลอยขึ้นมาที่ฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ กลางท้อง  ดวงใส  อย่างเล็กก็เท่ากับดวงดาวในอากาศ  อย่ากลางขนาดพระจันทร์วันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน  หรือเกินกว่านั้น  แล้วแต่บารมีของแต่ละคนไม่เท่ากัน

หรือโตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ จะเป็นดวงใสบริสุทธิ์ อย่างน้อยก็ใสเหมือนน้ำ เหมือนน้ำแข็ง เหมือนกระจกคันฉ่องที่ส่องเงาหน้า หรือเหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไร้ตำหนิ  ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว ลอยขึ้นมาอยู่ที่ฐานที่ ๗

ธรรมดวงนี้แหละ พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสฺโร) พระผู้ปราบมาร ท่านเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นธรรมเบื้องต้นที่บังเกิดขึ้นมา เป็นเครื่องยืนยันว่ามาถูกทางแล้ว

ธรรมดวงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน เป็นจุดเริ่มต้นของทางสายกลางภายใน  จุดเริ่มต้นของอริยมรรค  ทางของพระอริยเจ้า บางครั้งท่านก็เรียกว่า ปฐมมรรค เป็นทางเอกสายเดียว คือ เป็นทางเดียว ไม่มีทางอื่นใดเลย ทางอื่นพญามารเขาคุมหมดแล้ว เหลือทางเอกสายเดียวที่เขายังคุมไม่ถึง  ที่จะเป็นทางหลุดรอดพ้นจากความทุกข์ทรมานได้ ทันทีที่เข้าถึงความสุขก็ปรากฏแล้ว รู้จักแล้ว แต่เดิมไม่รู้จักไปขอยืมคำมาใช้ เข้าถึงเนื้อหนัง หรือถ้อยคำว่า ความสุข เป็นประสบการณ์ภายในที่บังเกิดขึ้นจริง ดวงใสดวงนี้ปรากฏเกิดขึ้น เป็นต้นทาง

แล้วหลังจากนั้นก็จะหยุดนิ่งในกลางดวงนั้น  เข้าไปเรื่อย ๆ หยุดอยู่แล้วแต่เดิม ก็หยุดในหยุดนิ่งลงไปอีก พอหยุดก็เห็นมรรค

เหมือนที่พระบรมศาสดา ท่านทรงสอนเอาไว้เกี่ยวกับเรื่อง อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อมองเห็นชีวิตว่ามีทุกข์โทษ น่าเบื่อหน่าย เบื่ออย่างสุดขีดจริง ๆ เลย  แล้วก็มองเห็นเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ คือ ความอยาก  ความทะยานอยากที่เบี่ยงเบนเป้าหมาย อยากได้ อยากมี อยากเป็น เว้นแต่อยากไปนิพพาน ความอยากที่เขาทำให้เข้าใจผิด  หลงผิด  หลงทางว่าเป็นความสุข  ไม่ว่าอยากจะอะไรก็แล้วแต่ ถ้าหยุดได้คือ นิโรธะ ก็จะเข้าถึงมรรค ท่านก็พูดตรง ๆ อย่างนั้น เรียงมาตามลำดับ ก็จะเห็นมรรคคือดวงใส ๆ นี่แหละ

ไม่ใช่เป็นการเพ่งลูกแก้ว แต่เป็นการทำใจหยุดนิ่ง ๆ แล้วธรรมดวงนี้ปรากฏเกิดขึ้นมา กลมคล้ายดวงแก้วที่เจียระไนแล้ว กลม ๆ อย่างนั้น แต่ว่าสุกใส สว่าง สว่างเหมือนดวงดาว ดวงจันทร์ หรือดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน จนกระทั่งเกินไปกว่านั้นอีก สว่างกว่าดวงอาทิตย์ยามเที่ยง  แล้วแต่ใครจะหยุดนิ่งได้ละเอียดแค่ไหน

แล้วดวงธรรมดวงนี้ก็จะขยายเอง  เมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน  ก็จะเข้าถึงดวงธรรมถัด ๆ ไปที่มีอยู่ดั้งเดิม คือ ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสนะ ๖ ดวง ชุดหนึ่งมี ๖ ดวง ธรรม ๖ ดวงนี้เป็นเครื่องกลั่นใจให้มันบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น เหมือนรถหลาย ๆ ผลัดที่ส่งต่อไปถึงกายภายใน  กายในกาย  ในสติปัฏฐาน ๔  ก็จะเห็นกายในกาย  


กายในกาย


กายา กาเยนุปัสสนาสติปัฏฐาน  ก็จะเห็นกายในกาย  ตามเห็นเข้าไปเรื่อย ๆ คือ ตามไปเห็นไป  ตามดูไปนั่นแหละ ก็จะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ในทำนองนี้เรื่อยไปเลย เข้าถึงกายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม  เข้าถึงกายธรรมโคตรภู  กายธรรมพระโสดาบัน  กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี  แล้วก็กายธรรมพระอรหัตทั้งหลาย ทั้งละเอียด

ทั้งหมด ๑๘ กาย โดยเชื่อมด้วยดวงธรรม ๖ ดวง เชื่อมระหว่างกาย  นี่ตามเห็นกายในกาย แล้วในกายก็มีเวทนาในเวทนา มีจิตในจิต แล้วก็ธรรมต่าง ๆ นั้น มีธรรมในธรรม ต้องผ่าน ๖ ดวง ถึงจะไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ อย่างนั้น

กายมนุษย์ละเอียด คือ กายภายในของเรา มีลักษณะเหมือนตัวเรานี่แหละ ที่เรานอนหลับแล้วฝันไปเห็นตัวเองไปพบปะสิ่งนั้นสิ่งนี้ พูดคุยกับคนนั้นคนนี้  เป็นต้น จริงบ้างไม่จริงบ้าง จำได้บ้าง  ไม่ได้บ้าง  แล้วแต่ความสะอาดหรือบริสุทธิ์ของจิตดวงนั้นก่อนหลับ นั่นกายมนุษย์ละเอียด

ทำหน้าที่ไปเกิดด้วย จะไปเกิดเป็นอะไรก็กายนี้แหละ ออกจากกายมนุษย์หยาบ เหมือนตัวเราเลย

ไม่น่าเชื่อว่าชีวิตภายในที่อยู่ในตัวเรา ติดมากับตัวตั้งแต่เราเกิดมานั่น แต่เราไม่รู้เลยว่ามีกายเหล่านี้ มากับตัวเรา มารู้ตอนที่ได้ยินได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ นี่แหละ ก็จะมีกายในกายนี้เข้าไปเรื่อย ๆ

กายทิพย์ก็สำหรับสวรรค์  กายพรหมก็สำหรับรูปพรหม กายอรูปพรหมก็สำหรับอรูปภพ แล้วก็ยังมีกายที่ออกนอกภพ เป็นตัวสรณะ คือกายพระนั่นแหละ กายทั้งก้อนท่านเป็นธรรมล้วน ๆ บริสุทธิ์ล้วน ๆ ประกอบด้วยธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์  ก่อเป็นกายจึงเรียกว่า กายธรรม  หรือธรรมกายอยู่ภายใน

เป็นกายผู้รู้ผู้ตื่น  ผู้เบิกบานแล้ว  เพราะว่ามีธรรมจักขุ มีญาณทัสสนะ มีการเห็นที่วิเศษ  ที่แจ่มแจ้ง  และแตกต่างจากการเห็นของอรูปพรหม  รูปพรหม ทิพย์ มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย สัตว์นรก หรือเครื่องมือวิทยาศาสตร์อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น คือ ธรรมจักขุ เห็นได้รอบตัว  เห็นได้รอบตัวก็รู้ได้รอบตัว  คือมีญาณทัสนะ  ตั้งแต่กายธรรมโคตรภูมิขึ้นไปเลย

กายที่เป็นเป้าหมายคือ กายธรรมอรหัต  หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ลักษณะของท่านสวยงามมาก

ตั้งแต่กายธรรมขึ้นไป งามกว่ากายที่อยู่ในภพสาม งามกว่ากายอรูปพรหม พรหม ทิพย์ มนุษย์ เพราะว่าประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษ ครบถ้วนทุกประการ พร้อมด้วยอนุพยัญชนะ หรือยิ่งไปนั้นอีก  แต่เกตุดอกบัวตูมเหมือนดอกบัวสัตตบงกช  ที่อยู่บนจอมกระหม่อม ตั้งบนพระเศียรที่มีเส้นพระศก คือเส้นผมขดเวียนเป็นทักษิณาวัตร ตามเข็มนาฬิกา เรียงรายอย่างเป็นระเบียบ  อยู่บนพระเศียรของท่าน  กายจะตั้งตรง งดงามกว่ากายพรหม

ไม่มีการยืน ไม่มีการเดิน ไม่มีการนอน เพราะไม่ต้องทำกิจแบบมนุษย์ ไม่ต้องอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ทำมาหากิน พูดคุย ขับถ่าย ไม่มีง่วงเหงาหาวนอน เพราะท่านพ้นแล้ว  จึงอยู่ในอริยาบถของผู้พ้น  คือนั่งอย่างเดียว  ไม่ยืน  ไม่เดิน ไม่นอน

มีความสุข อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด แล้วก็มีความรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง  เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุขล้วน ๆ จึงเรียกอีกนัยหนึ่งว่า เป็นผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบานแล้ว หรือที่เราได้ยินกันว่า  พุทโธ  ธัมโม  สังโฆ เป็นเนมิตกนามที่เกิดขึ้น  พร้อมกับการบังเกิดขึ้นของธรรมกายนี้ เป็นผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบานแล้ว


สมถวิปัสสนาต้องคู่กัน


ดังนั้น สมถะ กับ วิปัสสนา ต้องไปพร้อมกัน จะแยกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะต้องหยุดเสียก่อน จึงจะมีการเห็นได้ หยุดก็คือสมถะ

วิปัสสนา คือ เห็นได้วิเศษ  แจ่มแจ้ง  และแตกต่างจากการเห็นด้วยวิธีการต่าง ๆ ของสิ่งที่มีอยู่ในภพ ๓ วิปัสสนา เราจะใช้ต่อเมื่อเข้าถึงกายธรรมโคตรภู เป็นต้นไปนั่นแหละ ต่ำกว่านั้นไม่ใช้  จะใช้ตั้งแต่ธรรมกายขึ้นไป เพราะฉะนั้นสมถะกับวิปัสสนาก็ต้องคู่กัน  

คนไม่เข้าใจก็ไปแยกว่า สำนักนั้นสมถะ สำนักนี้วิปัสสนา แล้วก็มีมานะทิฐิ เอามาข่มกันว่า วิปัสสนาเหนือกว่าสมถะ อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ก็เป็นการนั่งกันด้วยมานะทิฐิ และโมหะ คือ ไม่ประกอบไปด้วยความรู้ที่สมบูรณ์ ที่ถูกต้อง มันเจือโมหะ เจือมานะทิฐิ

สมถะกับวิปัสสนาต้องไปด้วยกัน จะแยกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เป็นของที่เกื้อกูลกัน เหมือนศีล สมาธิ ปัญญา ก็แยกจากกันไม่ได้  ศีลเป็นบ่อเกิดแห่งสมาธิ  สมาธิเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา  มันเกื้อกูลกัน เหมือนขาที่ไปพร้อมกับลำตัวและหัวของเรา ขาก็เหมือนศีล ลำตัวเหมือนสมาธิ ศีรษะก็เหมือนกับปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา มันต้องไปด้วยกัน สมถะกับวิปัสสนาก็แยกออกจากกันไม่ได้ มันต้องไปด้วยกัน  เหมือนเหรียญต่าง ๆ ต้องมี ๒ ด้านนั่นแหละ มันต้องไปพร้อมกัน  ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้  

ไม่มีสมถะจะไปเจริญวิปัสสนาไม่ได้ จะต้องอาศัยสมถะเป็นพื้นฐาน

แม้บุคคลผู้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมเจ้า แล้วมีคำว่า เจริญวิปัสสนาบรรลุธรรมาภิสมัย  ก็ต้องผ่านสมถะ  คือตอนที่ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจมันนิ่ง  ใจมันนิ่งเลย ด้วยบารมีบุญเก่ามาถึง ไม่ต้องมานั่งทำความเพียรอย่างที่เรากระทำอยู่  แต่ได้ทำความเพียรมาข้ามชาติจนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว เมื่อฟังธรรมคำสอนจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านบอกเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นจริงของชีวิต ใจมันนิ่งแล้วตอนนั้น  พอนิ่งมันก็พรวดไปเลย ทะลุผ่านไปถึงกายธรรม

ถ้าหากบรรลุธรรมาภิสมัยในระดับขั้นไตรสรณคมณ์  มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง  ก็คือเข้าถึงธรรมกายโคตรภูนั่นเอง  ถ้าเป็นพระโสดาบันก็เข้าถึงกายธรรมพระโสดา  หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา ถ้าเป็นพระสกทาคามี  หรือพระสกิทาคามี  ก็พรวดเข้าไปถึงกายธรรมพระสกิทาคามี หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา ถ้าเป็นพระอนาคามีก็พรวดเข้าไปถึงกายธรรมพระอนาคามี  หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา ถ้าเป็นพระอรหัตก็พรวดถึงกายธรรมอรหัต  หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา

เหมือนท่านพาหิยะ บารมีเต็มเปี่ยม ล้นปรี่แล้ว ฟังคำสอนของพระบรมศาสดา ด้วยใจที่นิ่ง ที่หยุด ที่นิ่ง หยุดนิ่งนั่นแหละสมถะ บารมีเก่าก็ได้ช่องที่เต็มเปี่ยมแล้วก็พรวดถึงกายธรรมอรหัตเลย  เป็นพระอรหันต์ หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา

ดังนั้น อย่าไปแยกว่าสำนักนั้นสมถะ สำนักนี้วิปัสสนา  แล้วก็มาถกเถียง มาข่มกันไปอย่างนั้น ไม่เกิดประโยชน์อันใด มีแต่ทุกข์โทษ  แล้วก็ความหลงผิดนั่นแหละ


หยุดเป็นตัวสำเร็จ


วิธีที่ถูกก็คือ หยุดนิ่งกันไปตามลำดับ กระทั่งเข้าถึงกายธรรม

กายธรรมเท่านั้นจึงจะเข้าถึงญาณ ๑๖

ญาณจะใช้ต่อเมื่อเกิดธรรมจักขุ แล้วต้องใช้ตอนเข้าถึง  ไม่ใช่เพราะอธิษฐานถึง  หรือขอถึง  อธิษฐานว่า ขอให้ข้าพเจ้าถึงญาณนั้น ญาณนี้  นั่นยังไม่ใช่  นั่นยังแค่ขอถึง  มันต้องพรวดเข้าถึงเอง  ญาณทัสนะจึงเกิด  ญาณ ๑๖ จะเกิดตอนนั้น  

ทีนี้เมื่อไม่เข้าใจครบวงจร  หรือภาพรวมแล้วล่ะก็ มันก็จะไปแยกกัน แล้วก็จะมาถกเถียงกัน

ดังนั้น วิธีที่ถูกต้องก็คือ  เราวางใจของเราให้เป็นกลาง ๆ หยุดนิ่ง ๆ อยู่ภายในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างนี้  ให้ใจหยุดนิ่ง จะหยุดนิ่งเฉย ๆ โดยไม่คิดอะไรเลยก็ได้

หรือจะประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง ๆๆ อย่างนี้ก็ได้ ภาวนาไปจนกว่าไม่อยากจะภาวนานั่นแหละ  คืออยากหยุดนิ่งเฉย ๆ ซึ่งมีความสุขกว่า สบายใจกว่า เราก็ทำอย่างนั้นไปแล้วอย่างนั้น

ต่อจากนี้ไป ก็ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น  อย่างที่มันอยากจะเป็น คืออยากนิ่งอย่างเดียวก็ให้นิ่งไป  พอถูกส่วนก็จะเห็นไปตามลำดับดังกล่าว

หรือเป็นคนชอบฟุ้ง คิดเรื่องอื่น เราก็ต้องหาเรื่องคิดใหม่ โดยมาตรึกระลึกนึกถึงพระรัตนตรัย สัญญลักษณ์ของพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นวัตถุอันเลิศ วัตถุอันประเสริฐ วัตถุอันบริสุทธิ์ ระลึกนึกถึงแล้วใจจะสูงส่ง จะบริสุทธิ์

เช่น นึกถึงพระพุทธรูป พระแก้วขาวใส ให้ท่านนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนาอยู่ในกลางท้อง  หรือจะนึกเป็นดวงใส ๆ เอาดวงแก้วมาก็ได้  ตรงนี้แหละมักจะไปชี้นำว่า เป็นสำนักเพ่งลูกแก้ว เพ่งเมื่อไรเป็นปวดหัวเมื่อนั้นแหละ ไม่เห็น แค่ว่า แทนที่จะไปคิดเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ก็มานึกถึงดวงแก้วใส ๆ อย่างสบาย ๆ เท่านั้น  นึกธรรมดา เหมือนเรานึกแหวนเพชร ตุ้มหู นึกถึงดอกกุหลาบ ดอกบัว คนที่เรารัก ของที่เราคุ้น ขันล้างหน้า ยาสีฟัน แปรงสีฟัน นึกธรรมดาอย่างนั้น แต่ว่านึกเป็นดวง ส่วนวัตถุอย่างอื่นไปนึกแล้วมันไม่เกิดประโยชน์

นึกเป็นดวงใส ๆ หรือนึกเป็นพระ ทีนี้ที่นึกเป็นพระเอาไว้ในกลางท้อง  บางคนก็ไปคิดว่าขาดความเคารพท่าน  พระควรจะอยู่ที่สูง  แต่มาอยู่ในท้อง  ซึ่งเต็มไปด้วยตับ ไต ไส้ พุง นั่นก็ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง

เรากำลังฝึกใจให้หยุดนิ่งอยู่ภายใน แล้วที่ตั้งของพระรัตนตรัยมันต้องผ่านกลางกายตรงฐานที่ ๗ ซึ่งมันอยู่กลางท้อง เหนือสะดือ ๒ นิ้ว เป็นที่สิงสถิตของพระรัตนตรัย  ผ่านกลางท้องกลางกายของเราไป  แต่ว่าใช้คำเพื่อให้เราเข้าใจง่ายว่า อยู่ในท้อง เวลาเข้าถึงจริง ๆ มันหลุดจากกายหยาบไปแล้ว  ไปอีกมิติหนึ่ง  อีกหลาย ๆ มิติที่ผ่านกลางกาย  เพราะมันผ่านทางอื่นไม่ได้นี่  ทางอื่นมันไม่เจอ

เหมือนผ้าโพกศีรษะ  ผ้าขาวม้าเราโพกบนศรีษะ  มันอยู่ที่ศีรษะเรา  แต่เราดันไปหาที่ห้องนอน  ห้องน้ำ  ห้องรับแขก  นอกบ้าน  ในบาร์  ในคลับ  มันก็ไม่เจอ  เพราะมันอยู่บนหัวของเรา มันต้องหาในที่ที่เขาอยู่ มันจึงจะเจอ

พระรัตนตรัยท่านอยู่ในกลางกาย ซึ่งต้องผ่านกลางกายเราไป  ตรงฐานที่ ๗  จึงจะเจอ  การนึกถึงองค์พระไว้กลางกาย  จึงได้ชื่อว่าตั้งถูกทาง ถูกที่  ถูกทิศแล้ว  ถูกทิศถูกทางแล้ว ทิศของท่าน ทางของท่านอยู่ตรงกลางกาย ระลึกนึกถึงอย่างนี้ ถึงจะเรียกว่า มีความเคารพ เลื่อมใสในพระบรมศาสดาอย่างแท้จริง เพราะนึกในจุดที่ท่านอยู่  สถานที่ท่านสิงสถิต  ที่ท่านประดิษฐานอยู่ตรงนั้น  ไปนึกผิดที่มันก็ไม่เจอ

ดังนั้น เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว  ต่อจากนี้ไป  เวลาที่เหลืออยู่นี้ ให้ลูกทุกคนฝึกใจให้หยุดให้นิ่งที่กลางกาย กลางท้องของเรา ทำความรู้สึกนิดเดียวอยู่ในกลางท้องอย่างสบาย  แต่อย่าไปเพ่ง  อย่าไปลุ้น ไปเร่ง ไปเพ่ง ไปจ้อง ให้ทำความรู้สึกว่า ใจเราอยู่ที่ตรงนี้ จะด้วยวิธีการนึกเป็นภาพ  หรือไม่เป็นภาพก็ได้  นึกแล้วภาวนาก็ได้  ไม่ภาวนาก็ไม่เป็นไร  ได้ทั้งนั้น เพราะวัตถุประสงค์ของเราต้องการให้ใจหยุด

หยุดนี่แหละเป็นตัวสำเร็จให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริงของเรา สิ่งอื่นไม่ใช่ จับหลักให้ได้อย่างนี้ มองภาพรวมให้ออก แล้วก็เจาะเฉพาะจุดไปเลย  หยุดนิ่งอย่างนี้แหละ  จึงจะประสบความสำเร็จนะลูกนะ

ต่อจากนี้ไป เราก็เอาใจหยุดนิ่ง ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จะภาวนาสัมมาอะระหังประกอบไปด้วยก็ได้ดังกล่าว หรือไม่ภาวนาก็ไม่เป็นไร  เช้านี้ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจ ในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ทุก ๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ นะ

Add Comment
2547
วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565
  • Share
  • Share

Related Posts

Newer Older 🏠

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

Translate

นำนั่งสมาธิโดยหลวงพ่อธัมมชโย

  • ▼  พ.ศ.2565 (362)
    • ►  เดือน สิงหาคม (233)
    • ▼  เดือน กรกฎาคม (123)
      • ความเพลินส่วนเกินของชีวิต 481030C รอบสาย
      • มรรคผลนิพพานอยู่ในตัว 481023C รอบสาย
      • โลกุตรธรรม ๙ 481016C รอบสาย
      • พิจารณามี ๒ อย่าง 481009D รอบบ่าย
      • เส้นทางสู่มรรคผลนิพพาน 481009C รอบสาย
      • มรรคผลนิพพานอยู่ในตัวเรา 480828C รอบสาย
      • ที่มาของพระพุทธรูป 480717C รอบสาย
      • วัตถุประสงค์ของชีวิต 480710C รอบสาย
      • เมื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว 480605D รอบบ่าย
      • เหตุการณ์วันตรัสรู้ 480522C รอบสาย
      • หยุดเป็นตัวสำเร็จในสมัยพุทธกาล 480515D รอบบ่าย
      • อิสรภาพที่แท้จริง 480417D รอบบ่าย
      • กรณียกิจ 480313C รอบสาย
      • สมาธิเหมือนเส้นผมบังภูเขา 480130C รอบสาย
      • ชีวิตในสังสารวัฏมีภัยมาก 480123C รอบสาย
      • HOW TO เข้าถึงธรรม 480116C รอบสาย
      • พุทธภาวะภายในตัว 470711C รอบสาย
      • สมถวิปัสสนา 470516C รอบสาย
      • สติปัฏฐาน ๔ 470620C รอบสาย
      • ป่วยอย่างสง่างาม 470502D รอบบ่าย
      • หยุดนิ่งคืองานที่แท้จริง 490122D รอบบ่าย
      • มรรคผลนิพพานอยู่ที่ไหน 481211D รอบสาย
      • การเห็นด้วยปัญญา 481225C รอบสาย
      • อานิสงส์การฝึกใจให้หยุดนิ่ง 481211D รอบบ่าย
      • การตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 460316C รอบสาย
      • ภาพที่สำคัญของชีวิต 460309C รอบสาย
      • มโณปริธานอันยิ่งใหญ่ 460119D รอบบ่าย
      • จริงต้องได้ 460504D รอบบ่าย
      • ลูกมีบุญที่จะเข้าถึงธรรมได้ 450515F รอบค่ำ
      • ฝึกใจหยุดนิ่งอย่างสบาย 450516F รอบค่ำ
      • งานที่แท้จริง 450306F รอบค่ำ
      • ตามใจเขาไปก่อน 450520F รอบค่ำ
      • นึกถึงสิ่งที่คุ้นเคย 450525F รอบค่ำ
      • หยุดนิ่งสำคัญที่สุด 450529F รอบค่ำ
      • ชีวิตเป็นของน้อย 450428C รอบสาย
      • หยุดแค่พริบตาเดียวได้อานิสงส์ยิ่งใหญ่ 450305F รอบค่ำ
      • หลับตื่นในอู่ทะเลบุญ 450510F รอบค่ำ
      • ทางเดินของใจ 7 ฐาน 450613F รอบค่ำ
      • อานุภาพหยุดเป็นตัวสำเร็จ 450930F รอบค่ำ
      • กิเลสประจำกายและวิธีแก้ 450912F รอบค่ำ
      • ปรับที่ใจใช่ที่ภาพ/แก้กดลูกนัยน์ตา 450615F รอบค่ำ
      • เทคนิควิธีการปฏิบัติธรรม 450528F รอบค่ำ
      • นึกบริกรรมนิมิตด้วยสิ่งที่คุ้นเคย 450524F รอบค่ำ
      • หนีกรรมไม่พ้น 450302F รอบค่ำ
      • แผนผังชีวิต 450514F รอบค่ำ
      • หาตัวกลัวให้เจอ 450629F รอบค่ำ
      • ลูกไก่เจาะกระเปาะไข่ 450518F รอบค่ำ
      • วิธีแก้ กดลูกนัยน์ตา 450607F รอบค่ำ
      • อานิสงส์การเข้าถึงพระรัตนตรัย 451022F รอบค่ำ
      • การตอบประสบการณ์ภายใน 560212D รอบบ่าย
      • ฝึกเป็นผู้ให้ 571205D รอบบ่าย
      • นอกรอบให้หมั่นประคองใจ 571211
      • สิ่งที่แสวงหาอยู่ที่ใจหยุดนิ่ง 451028F รอบค่ำ
      • อโห พุทโธ 451113F รอบค่ำ
      • เจริญมรณานุสติ 451118F รอบค่ำ
      • หวงห่วงแบบอริยะ 451209F รอบค่ำ
      • นึกได้ก็เห็นได้ 460309C รอบสาย
      • ต้องฝึกบ่อยๆ ให้ชำนาญ 460202D รอบบ่าย
      • ชีวิตเป็นของน้อย 460126C รอบสาย
      • นิ่งแล้วต้องขยาย 460101D รอบบ่าย
      • สมบัติที่แท้จริง 451231C รอบสาย
      • วันพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม 451227F รอบค่ำ
      • ฐานที่7ที่เกิดดับหลับตื่น 451222D รอบบ่าย
      • กายสบาย ใจสบาย บุญเก่าก็ได้ช่อง 481221
      • หมั่นทบทวนบุญ 451123F รอบค่ำ
      • บุญคือที่พึ่ง 451119F รอบค่ำ
      • ทำไมเด็กจึงเห็นธรรมะง่าย 521025D รอบบ่าย
      • ในท้องมีพระธรรมกาย 520904C รอบสาย
      • มหัศจรรย์สมาธิ 530314C รอบสาย
      • ภาวิตา พหุลีกตา 550806D รอบบ่าย
      • อวิชชา 550722D รอบบ่าย
      • Set Zero 590304D รอบบ่าย
      • คนเราเกิดมาทำไม/ในตัวเรามีองค์พระ 511207C รอบสาย
      • นิมิตเลื่อนลอยหลุมพรางของพญามาร 451013D รอบบ่าย
      • ธรรมกายเอฟเฟค 430423C รอบสาย
      • นิวรณ์ 5 451010F รอบค่ำ
      • นั่งอย่างมีชีวิตชีวา 450924F รอบค่ำ
      • อย่ากินบุญเก่า 450926F รอบค่ำ
      • หยุดเป็นตัวสำเร็จ 450930F รอบค่ำ
      • หลับในอู่ทะเลบุญ 451004F รอบค่ำ
      • เริ่มต้นจากจุดสบายแล้วจะง่าย 451008
      • ตำแหน่งแห่งความสมปรารถนา 521206D รอบบ่าย
      • คำภาวนา สัมมาอะระหัง 510622C รอบสาย
      • บุญพลังแห่งความสุขและความสำเร็จ 511109D รอบบ่าย
      • อริยมรรคมีองค์๘ 510706C รอบสาย
      • หลักสูตรชีวิต 510203D รอบบ่าย
      • เห็นสิ่งใดฝึกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งนั้น 51...
      • เริ่มต้นจากจุดที่ง่าย 510629D รอบบ่าย
      • จุดเล็กใสที่คล้ายเมล็ดโพธิ์เมล็ดไทร 511005C รอบสาย
      • หยุดนิ่งได้แล้วฝึกขยายย่อ 510615D รอบบ่าย
      • พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมใด 511010C รอบสาย
      • พระคุณของ หลวงปู่ฯพระผู้ปราบมาร 511005D รอบบ่าย
      • นั่งมาตั้งนาน ทำไมยังไม่ได้ผล 481127D รอบบ่าย
      • ต้องสบายทุกขั้นตอน 480821D รอบบ่าย
      • หลักวิชชาใจหยุดนิ่งและอาการตกศูนย์ 481218D รอบบ่าย
      • อุปสรรคและหลักวิชชาในการปฏิบัติธรรม 490604C รอบสาย
      • การปฏิบัติธรรมคือการแสวงหาความพอดี 480626C รอบสาย
      • อย่าท้อ_เฉยในทุกประสบการณ์ 471205D รอบบ่าย
      • วิธีปฏิบัติธรรม 480206D รอบบ่าย
      • ง่ายแต่ลึก 480130D รอบบ่าย
    • ►  เดือน มิถุนายน (1)
    • ►  เดือน พฤษภาคม (5)

บทความที่ได้รับความนิยม

  • มีความสุขทุกวันแม้วันตาย 500527D รอบบ่าย
    กายธรรมควรเทิดไว้    ในใจ เป็นสรณะภายใน        เที่ยงแท้ กว่านี้ บ่ มีใด               เทียบได้ น้อมนบท่านไว้แล… อ่านต่อ
  • ๔ ส. สำเร็จ/เราเป็น ศูนย์กลางของจักรวาล 470102C รอบสาย
    จำคำนี้ “สักแต่ว่า” นะลูกเอ๋ย จะเปิดเผยสิ่งล้ำค่าให้ลูกเห็น เห็นความมืดติดตาอย่าลำเค็ญ สักแต่ว่าฉันเห็นก็เป็นพอ … อ่านต่อ
  • ทำลาย สุสานแห่งความกลัว 450621F รอบค่ำ
    กระรอกวิ่งไม่วิ่งเหมือนชะมด วิ่งแล้วหยุดร้อง “อด อด” กระดกหาง นั่งธรรมะเดี๋ยวทำเดี๋ยวทิ้งขว้าง ก็เหมือนอย่างกระ… อ่านต่อ
  • วิธีใช้บุญ/ความพร้อม ไม่มีในโลก 500708D รอบบ่าย
    ความสุขที่หยุดได้ ในกลาง เป็นสุขสุดตามทาง พุทธเจ้า สะอาดสงบสว่าง พราวแผ้ว หยุดนิ่งทุกค่ำเช้า จักได้สุดธรรม ตะวั… อ่านต่อ
  • หยุดเป็นตัวสำเร็จ 450620F รอบค่ำ
    หยุด คือสุดยอดแท้ ศาสตร์ศิลป์ หยุด พระธรรมหลั่งริน ธารแก้ว หยุด อาจเผด็จสิ้น มารพ่าย หยุด นิ่งดิ่งได้แล้ว สุขล้… อ่านต่อ
  • อานิสงส์บุญบูชาข้าวพระ 530502D รอบบ่าย
    อานิสงส์บุญบูชาข้าวพระ วันอาทิตย์ที่   ๒   พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ( ๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น.) งานบุญวันอาทิตย์ ณ  สภาธรรมกายสากล ปรั… อ่านต่อ
  • ตามใจเขาไปก่อน 450520F รอบค่ำ
    ตามใจเขาไปก่อน   วันจันทร์ที่  ๒๐  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๔๕    ( ๑๙.๐๐ - ๒๐.๑๕ น.)   บ้านแก้วเรือนทองของคุณยาย  สภา… อ่านต่อ
  • หยุดเป็นตัวสำเร็จ 470208D รอบบ่าย
    หยุดใจนิ่งสนิทไว้      กลางกาย เป็นจุดสำคัญหมาย            สู่เป้า ตัวสมมติถูกมลาย               สลายหมด สำเร็จ… อ่านต่อ
  • นิวรณ์5_Let it be 480116D รอบบ่าย
    หากซึ้งคำพ่อได้ สั่งสอน จงอย่าได้เกี่ยงงอน ค่ำเช้า ทั้งยืนนั่งเดินนอน หมั่นตรึก ระลึกถ้อยพุทธเจ้า ย่างก้าวเดินต… อ่านต่อ
  • สิ่งที่สำคัญที่สุด 500225D รอบบ่าย
    สิ่งที่สำคัญที่สุด วันอาทิตย์ที่   ๒๕   กุมภาพันธ์ พ . ศ . ๒๕๕๐ ( ๑๓ . ๓๐ - ๑๕ . ๓๐ น .) งานบุญวันอาทิตย์ ณ  สภาธรรมก… อ่านต่อ
นำนั่งสมาธิ โดย หลวงพ่อธัมมชโย. ขับเคลื่อนโดย Blogger.

ป้ายกำกับ

2536 2540 2543 2545 2546 2547 2548 2549 2550 2551 2552 2553 2554 2555 2556 2557 2558 2559 กระแสธารแห่งความบริสุทธิ์ กายดั้งเดิม กายตรัสรู้ธรรม กายธรรม กายสบายใจสบาย การแก้ไขอุปสรรคการปฏิบัติธรรม การตรึก การนึกนิมิต การหลับตา การเห็นภาพ การเห็นภาพภายใน กำลังใจการปฏิบัติธรรม ความใจเย็น ความพอใจ ความมืดเป็นมิตร ความสบาย ความสำคัญของ ฐานที่ ๗ ความหมายของธรรมะ ความหมายวิปัสสนา ง่ายแต่ลึก1 ง่ายแต่ลึก2 ง่ายแต่ลึก3 ง่ายแต่ลึก4 จุดเทียนใจ จุดไฟแก้ว จุดสบาย ฐานทั้ง7 ดวงธรรม ดวงปฐมมรรค ตกศูนย์ ตถาคตคือธรรมกาย ตามติดยาย ทางเดินของใจ ทางสายกลาง ทำง่ายมาก ได้ง่ายมาก นิวรณ์5 นึกนิมิต บวชสองชั้น บวชอุบาสิกาแก้ว ประโยชน์ของสมาธิ ไปเกิดมาเกิด พระผู้ปราบมาร วันวิสาขบูชา วิชชา ๓ วิสาขบูชา ศูนย์กลางกาย ศูนย์กลางกายฐานที่7 สติกับสบาย สติสบาย สบาย สม่ำเสมอ สายตึง สายหย่อน สิ่งที่เกื้อหนุนการปฏิบัติธรรม หยุดเป็นตัวสำเร็จ หลวงปู่บรรลุธรรม เห็นไม่เห็นก็ไม่เห็นจะเป็นไร เห็นแสงสว่าง อธิษฐานจิต อนุสติ10 อวิชชา อานิสงส์ใจหยุด อานิสงส์ถวายประทีป อานิสงส์บูชาข้าวพระ อุปสรรคและวิธีแก้ไขสมาธิ โอวาทปาติโมกข์ vstar

copyright © นำนั่งสมาธิ โดย หลวงพ่อธัมมชโย All Right Reserved . Created by PhotoTheme . Powered by Blogger