กรณียกิจ
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ (๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.)
สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย
มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ
หลับตาค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา
อย่ากดลูกนัยน์ตา
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใสไรักังวลในทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ ว่างเปล่าจากเครื่องกังวลทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ เรื่องราวอะไรก็ต้องตัดใจ คลายความผูกพัน
ความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายให้หมดนะลูกนะ
เป้าหมายชีวิต
เราเกิดมาเป็นมนุษย์ในแต่ละชาติ
เราเกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญ สร้างบารมี คือ เป้าหมายของชีวิตที่เราจะต้องคิดให้ได้ทุกๆ
วัน
การคิดอย่างนี้ก็จะให้เราได้ดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง
ถูกวัตถุประสงค์ของการมาเกิดเป็นมนุษย์ พระนิพพานนั้นอยู่ในตัวของเราไม่ได้อยู่ที่ไหน
เป็นที่บรมสุข มีสุขอย่างเดียว แล้วก็เป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่มีความทุกข์เจือปนเลย
สถานที่ตรงนั้นพ้นจากกิเลสอาสวะ พ้นจากกฎแห่งกรรม จากความทุกข์ทรมานต่างๆ ทั้งหมด
อยู่ในตัวของเราไม่ได้อยู่ที่ไหน
วางใจ
เราจึงต้องเอาใจกลับมาหยุดนิ่งๆ
อยู่ภายในตัวของเรา เราถึงจะไปนิพพานได้ หรือทำพระนิพพานให้แจ่มแจ้งได้ จุดเริ่มต้นของการเดินทางไปสู่อายตนนิพพานนั้น
อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ คือ อยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า
เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึงจากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง
จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม
เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ นั่นแหละ คือ ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ซึ่งเราจะต้องรู้จักเอาไว้ อยู่ที่ตรงนี้บริเวณนี้
แต่มันจะเห็นได้ต่อเมื่อใจหยุดนิ่งได้สมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
ดังนั้น ในฐานะเราเป็นผู้ฝึกใหม่
นักเรียนใหม่ เราก็จำง่ายๆ ว่า อยู่ในกลางท้องของเราอยู่บริเวณตรงนี้
บริกรรมนิมิต
แล้วก็ทำความรู้สึกว่า
ในกลางท้องของเรา มีดวงแก้วใสๆ คล้ายเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย เป็นดวงกลมๆ
ไม่ได้เป็นเหลี่ยมที่เขาเจียระไนเพชรพลอยกัน อย่างใดอย่างหนึ่ง เราถนัดอย่างไหน เราก็เอาอย่างนั้น
เป็นที่ยึด ที่เกาะ ของใจเรา
วิธีการนึกภาพดวงแก้ว หรือองค์พระแก้วใสๆ
ในท้อง ก็ให้ทำง่ายๆ เหมือนเรานึกถึงภาพดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว
หรือสิ่งที่เราคุ้นเคย ให้นึกธรรมดาอย่างนั้น อย่าไปตั้งใจมาก
ขนาดใหญ่เล็กก็แล้วแต่เราชอบ ชอบใหญ่เราก็นึกดวงใหญ่ องค์ใหญ่ ชอบเล็กเราก็นึกขนาดให้มันย่อมลงมา
ไม่ชัดเจนก็ไม่เป็นไร เราต้องยอมรับว่านานๆ เรานึกทีหนึ่ง หรือเพิ่งจะมาหัดนึกใน
วันนี้ สำหรับนักเรียนใหม่
จะให้มันชัดแจ๋วเหมือนสิ่งที่เราคุ้นเคยมันคงยาก เพราะฉะนั้นไม่ชัดเจนก็ไม่เป็นไร วัตถุประสงค์เราต้องการให้ใจมาหยุดนิ่งๆ
อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ในกลางท้องของเราตรงนี้เท่านั้นแหละ เพราะใจต้องหยุดอย่างเดียว
จึงจะไปสู่อายตนนิพพานได้ หรือทำพระนิพพานให้แจ้ง
วิธีการมันมีอยู่แค่นี้
คือ ต้องใจหยุด หรือใจของเราไม่หยุดที่ผ่านมา
เพราะเราปล่อยใจไปข้างนอก ไปนึกถึงคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน
ใจมันไปอยู่ตรงโน้น ทีนี้เราจะดึงมาอยู่ภายใน ก็ต้องมีที่ยึด มีหลักของใจเอาไว้
ผูกเอาไว้ เป็นดวงใส องค์พระใส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระรัตนตรัยเป็นของสูงส่ง
นึกแล้วก็จะทำให้ใจเราพลอยสูงขึ้น ประณีตขึ้น ละเอียดขึ้น ผ่องใสขึ้นให้ใจมันอยู่ตรงนี้
เพราะฉะนั้น เห็นไม่ชัดเจน
ก็ไม่เป็นไร ถ้าชัดก็ดีมาก เราก็นึกไปเรื่อยๆ อย่างนี้อย่างสบายๆ
อย่าทิ้งคำนี้นะลูกนะ นึกอย่างสบายๆ เพลินๆ นึกไปเรื่อยๆ แต่ว่าอย่าไปกดลูกนัยน์ตา
นึกด้วยใจ มันก็ไม่ชัดหรอกใหม่ๆ คุ่มๆ ค่ำๆ รัวๆ รางๆ บางทีดวงแก้วกลมๆ นึกแล้วมันยังบูดๆ
เบี้ยวๆ องค์พระก็ไม่ได้ส่วน หรือเห็นเป็นบางส่วนบ้าง ก็ถือว่าใช้ได้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทีเดียว
ทีนี้ เราก็นึกไปให้ต่อเนื่องกันไป
อย่าเผลอนะลูกนะ ถ้าเผลอไปคิดเรื่องอื่นเราก็กลับมาใหม่ ไปคิดเรื่องอื่นในกลางกาย สู้คิดถึงดวงใสหรือองค์พระ
เรื่องเดียวไม่ได้ว่า จะทำให้ใจมันหยุดนิ่ง
บริกรรมภาวนา
เราก็ประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา
สัมมาอะระหังๆๆ เรื่อยไป โดยให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากกลางท้อง ไม่ใช่ที่สมองนะ และทุกครั้งที่เราภาวนา
สัมมาอะระหังๆๆ เราก็จะต้องนึกถึงดวงใส หรือพระแก้วใสๆ ควบคู่กันไปด้วย อย่าเผลอนึกควบไปด้วยกัน
เราจะภาวนากี่ครั้งก็ได้
จนกว่าใจเราไม่อยากจะภาวนาต่อไป อยากหยุดนิ่งอยู่เฉยๆ
ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้แล้ว เราก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนาใหม่นะลูกนะ
เราหยุดนิ่งอย่างเดียว หยุดอยู่ภายในสบายๆ แม้ไม่มีภาพอะไรมาให้ดู เป็นความมืด เราก็ให้นิ่งเอาไว้
หยุดกับนิ่ง นิ่งอย่างสบายๆ เบาๆ
ประสบการณ์ภายใน
จนกระทั่งใจมันนิ่งได้ในระดับหนึ่ง
ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ร่างกายและจิตใจคือ จะปลอดโปร่ง โล่ง เบาสบาย
หรืออะไรที่นอกเหนือจากนี้ เราก็หยุดนิ่งเฉยๆ ยังคงรักษาความหยุดนิ่ง
ไม่ต้องไปวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า
เอ๊ะ ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ มันถูกหรือว่ามันผิด ใช่หรือไม่ใช่อะไรต่างๆ
อย่าไปใช้ความคิด เพราะใจจะหยุดนิ่งได้ มันต้องอยู่ในระบบของความไม่คิด
ซึ่งเราไม่คุ้น แต่ก็ต้องทำตามคำแนะนำนี้ เดี๋ยวจะมีสิ่งดีๆ บังเกิดขึ้นให้เราดู เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่หยุดใจได้
ใจหยุด ใจมันก็จะหย่อนไม่ตึง
พอใจหย่อน มันก็ผ่อนคลายไปเองแหละ ใจหยุดใจก็หย่อน ใจหย่อนก็ผ่อนคลาย
ผ่อนคลายจากความผูกพันในเรื่องราวต่างๆ ความรู้สึกก็จะขยาย ใจเราก็ขยาย
กายก็รู้สึกว่าขยาย ความรู้สึกโล่ง โปร่ง เบา สบาย จึงเกิดขึ้น อย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อนเลย
มันเบากาย เบาใจ
แต่จะเบาอย่างไร ใจก็ต้องนิ่งอย่างเดิม หยุดนิ่งๆ ให้ใจใสๆ
แล้วมันก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน มันจะเดินทางเข้าไปสู่ภายใน
เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ถึงพุทธรัตนะ ถึงธรรมรัตนะ สังฆรัตนะเอง
มันจะเคลื่อนเข้าไป
เราก็ต้องปล่อยมันไป ปล่อยไปตามเรื่องตามราวของมัน
มันจะเป็นอย่างไร เราก็เฉยๆ ในทุกๆ ประสบการณ์ เพราะความเฉย นิ่งๆ ในทุกประสบการณ์แหละ
เราจะทำให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวได้อย่างง่ายๆ แล้วความสุขที่ดื่มด่ำยิ่งใหญ่ก็จะพรั่งพรูออกมาอย่างที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน
และจะเป็นความสุขที่เราพึงพอใจมาก จนที่ไม่อยากจะได้อะไรเลยที่นอกเหนือจากนี้
เพราะสิ่งที่เราเคยได้มานั้น มันก็ไม่ได้ให้อารมณ์นี้แก่เราเลย คือ
ความสุขที่ไม่มีขอบเขต
พระรัตนตรัยภายใน
เราก็จะได้รู้จักว่า พระรัตนตรัยภายในที่แท้จริง
มีลักษณะเป็นอย่างไร หรืออย่างน้อยก็มีจริงแล้วก็ดีจริง
กายท่านจะสวยงามเป็นพระในตัว
เกตุดอกบัวตูม เหมือนดอกบัวสัตตบงกชไม่ใหญ่ไม่เล็ก ตั้งอยู่บนจอมกระหม่อม บนพระเศียร
ที่มีเส้นพระศก เส้นผมสวยงามขดเวียนเป็นทักษิณาวรรต ตามเข็มนาฬิกา อยู่บนพระวรกายที่ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ
อยู่ในท่านั่งเจริญสมาธิภาวนา ขัดสมาธิอย่างที่ได้แนะนำเบื้องต้นนั่นแหละ
เราถอดแบบจากองค์ท่านมา
เป็นอิริยาบถของผู้พ้นแล้ว
ขีณา
ชาติ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาตีติ
เป็นอิริยาบถของผู้รู้
ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ที่จะรู้เห็นกิเลสอาสวะ ขจัดกิเลสอาสวะถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์
กิจอย่างอื่นที่ยิ่งไปกว่านี้ไม่มี
เพราะฉะนั้น กิจที่หย่อนกว่านี้ก็ไม่เอา
จะอยู่นิ่งๆ อย่างนั้นแหละ เพราะถึงที่สุดแล้วจะนิ่ง ถ้ายังไม่ถึงจุดหมาย จะเคลื่อนไหวไปตามความทะยานอยากของกิเลส
ที่บังคับเพื่อให้เป็นไปตามกระแส เพื่อให้ห่างไกล ออกจากจุดหมายปลายทาง
ให้เป้าหมายเบี่ยงเบน
พระรัตนตรัยในตัวนี้
หมายเอา พระธรรมกายอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วานั่นแหละคือ จุดหมายปลายทางของเรา เป็นกายภายใน ที่ทั้งใสทั้งสวย งามไม่มีที่ติ
เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งของเราให้พ้นจากความทุกข์ จากกฎแห่งกรรม จากภพทั้ง ๓ จากการเวียนว่าย
ตาย เกิด มีแต่สุขอย่างเดียว เป็นบรมสุข จะมีนิพพานรองรับ และกายนั้นอยู่ในตัวเรา
คือ ต้องผ่านกายของเราเข้าไป แล้วก็ถอดออกเป็นชั้นๆ ก็จะถึงตรงนั้นแหละ
พอถึงกายธรรมอรหัต เราถึงจะอุทาน
ขีณา
ชาติ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นาปรํ อิตฺถตฺตายาติ ปชานาตีติ
พระขีณาสพชาติสิ้นแล้ว
คือ ไม่ต้องเกิดอีกแล้ว ภพสิ้นแล้ว ไม่ต้องเข้ามาเกิดในภพ ๓ ถึงที่สุดแห่งการประพฤติพรหมจรรย์แล้ว
คือ ไปแต่ผู้เดียว อยู่ตามลำพังสงัดจากกาม จากอกุศลธรรม ละวิตก วิจาร เข้าถึงปีติสุข
เอกัคคตาแล้ว ไปตามลำดับ กระทั่งหลุดพ้น
กิจอย่างอื่นที่ยิ่งไปกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
ก็คือ เครื่องหมายของผู้พ้นแล้วที่เป็นพระอรหันต์
ใครที่เขาเปิดเผยตัวเอง
บอกกล่าวให้เราฟังว่า เป็นพระอรหันต์ เราก็ต้องมีมาตรฐานตรงนี้เป็นเครื่องวัดว่า
กิจอื่นยิ่งไปกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว ก็แปลว่า กิจอื่นที่หย่อนกว่านี้ก็ต้องไม่เอา นั่นแหละพระอรหันต์
สุขล้วนๆ
กิจที่จะต้องทำ คือ เสวยวิมุตติสุข สุขภายในที่เกิดจากการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
เป็นตัวของตัวเอง เป็นอิสระกว้างขยายไม่มีขอบเขต และก็จะมีมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ก็จะให้ธรรมทาน
สิ่งที่ท่านจะให้ คือ ความรู้ที่จะให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
จากภพทั้ง ๓ เช่นเดียวกับตัวท่าน หรืออย่างน้อยก็ดำเนินชีวิตเป็นกัลยาณชน
บำเพ็ญกัลยาณธรรมให้อยู่ในโลกนี้อย่างผาสุก ไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น เมื่อละโลกก็ปิดอบายไปสวรรค์
อย่างน้อยก็อย่างนั้น สิ่งที่ท่านจะให้ คือ กิจของผู้พ้นแล้วจะพึงทำ
เพราะฉะนั้น กิจอะไรที่หย่อนไปกว่านี้
ถ้าเป็นพระอรหันต์จะไม่ทำ ถ้าจะทำก็จะทำอย่างนี้แหละ เสวยวิมุตติสุข เพราะว่ามีความสุข
หยุดนิ่ง ใจมันก็ดิ่งเข้าไปเรื่อยๆ เข้านิพพานภายใน
นิพพานของพระธรรมกายที่เรียกว่า
สอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานของกายธรรมอรหัตตผล
อยู่ในนิพพานนั้น และเมื่อถึงคราวหมดอายุขัยก็ดับขันธปรินิพพานเข้าสู่ อนุปาทิเสสนิพพาน ที่มีแต่พระธรรมกายนับพระองค์ไม่ถ้วน
กรณียกิจ
เป็นกิจที่ควรกระทำสำหรับมนุษย์ที่เกิดมาชาติหนึ่ง นอกนั้นเป็นกิจที่เป็นเครื่องเสริม
เช่น การทำมาหากิน แต่กรณียกิจ กิจที่ควรทำ คือ กิจที่ขจัดกิเลสอาสวะดังกล่าว
ด้วยใจหยุดนิ่ง หยุดอย่างเดียวเป็นตัวสำเร็จ
เพราะฉะนั้น วันนี้วันดีอากาศกำลังสดชื่น
ลูกทุกคนก็เป็นผู้มีบุญที่สั่งสมบุญกันมาอย่างดีแล้ว ถึงวาระที่จะสว่างไสว จะเข้าถึงพระธรรมกายในตัว
ซึ่งเป็นตัวพระรัตนตรัย ก็ขอให้ลูกทุกคน ได้ตั้งใจฝึกใจให้หยุดนิ่ง ด้วยวิธีการดังกล่าว
อย่าไปทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
เราไม่ต้องไปเสียเวลาค้นแล้ว
เรามีบุญในระดับที่คว้าเอาสิ่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
ท่านค้นพบวิชชาธรรมกายมาแล้วมาเปิดเผยให้ฟัง ก็ฝึกหยุด ฝึกนิ่ง เช้านี้ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุกๆ
คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565