สมาธิเหมือนเส้นผมบังภูเขา
วันอาทิตย์ที่ ๓๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ (๐๙.๐๐ - ๑๑.๐๐ น.)
สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุก ๆ คนนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ
โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ
หลับตาของเราเบา
ๆ หลับตาค่อนลูก เบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ
กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตานะจ๊ะ
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ปล่อยหมด ความผูกพัน ความกังวลอะไรต่าง ๆ จะเป็นเรื่องการศึกษาเล่าเรียน
ธุรกิจ การงาน ครอบครัว เรื่องคน สัตว์ สิ่งของ วางให้หมดเลย ทิ้งไปเสียให้หมด ทำประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลก
ไม่เคยมีเครื่องผูกพันอะไรมาก่อน
แล้วก็มาสมมติว่า
ภายในร่างกายของเรานั้น ปราศจากอวัยวะ สมมติว่าไม่มีปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น
ให้เป็นที่โล่ง ๆ กลวง ๆ ภายใน เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง เป็นที่โล่ง ๆ ว่าง ๆ
กลวงภายใน คล้ายท่อแก้ว ท่อเพชรใส ๆ
ทางเดินของใจ
๗ ฐาน
คราวนี้
เรามาทบทวนคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
พระผู้ปราบมาร ท่านสอนเกี่ยวกับเรื่องทางเดินของใจ ทางไปเกิดมาเกิดของสัตว์โลก
กับทางไม่ไปเกิดกันต่อไป คือ ทางไปสู่อายตนนิพพาน ถ้าไปเกิดมาเกิด มันก็เดินทางหนึ่ง
แต่ถ้าไม่อยากจะไปเกิดกันอีก ก็ต้องเดินอีกทางหนึ่ง
ท่านสอนว่า
ทางเดินของใจซึ่งเป็นทางไปเกิดมาเกิดของสัตว์โลกนั้น มีอยู่ ๗ ฐานที่ตั้ง เราต้องรู้จักเอาไว้
ฐานที่
๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก หญิงอยู่ข้างซ้าย ชายอยู่ข้างขวา
ฐานที่
๒ อยู่ที่หัวตา เพลาตา ตรงที่น้ำตาไหล ท่านหญิงอยู่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ด้านขวา
ฐานที่
๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะ ในระดับเดียวกับหัวตาของเรา
ฐานที่
๔ อยู่ที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก
ฐานที่
๕ อยู่ที่ปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก
ฐานที่
๖ อยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับเดียวกับสะดือ
สมมติว่า
เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง
จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท
จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ อยู่กลางท้องของเราในระดับสะดือพอดี
ฐานที่
๖ ตรงนี้จะมีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบ คือ ทรงรักษากายมนุษย์หยาบนี้เอาไว้
ดวงธรรมนี้จะใสบริสุทธิ์ กลมรอบตัว โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ ถ้าธรรมดวงนี้ สุกใสสว่าง
ผ่องใส ชีวิตของเราก็จะรุ่งเรือง ถ้าธรรมดวงนี้ซูบซีดเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ชีวิตของเราก็จะร่วงโรย
ถ้าธรรมดวงนี้ดับ ชีวิตของเราก็จะดับไปด้วย คือตาย
ฐานที่
๗ เป็นฐานสุดท้าย จะอยู่เหนือฐานที่ ๖ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมติว่า เราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลาง
มาวางซ้อนกัน และก็นำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสองสูงขึ้นมาสองนิ้วมือ เรียกว่า
ฐานที่ ๗
การมาเกิด
ไปเกิด
ทั้งหมดมี
๗ ฐาน ทุกฐานเป็นทางเดินของใจ เป็นทางไปเกิดมาเกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย
มาเกิด เวลาเรามาเกิด
เราก็ต้องเข้าทางปากช่องจมูกของบิดา หญิงซ้ายชายขวา แล้วก็มาตามฐานต่าง ๆ
จะมาหยุดอยู่ที่ฐานที่ ๗ ของบิดา และก็ดึงดูดไปหามารดา
เพื่อประกอบธาตุธรรมส่วนหยาบระหว่างบิดามารดา ห่อหุ้มกายละเอียดของเรา ซึ่งจะออกจากบิดาเข้าสู่มารดาทางปากช่องจมูกแล้วก็ไปหยุดอยู่ที่ฐานที่
๗ ของมารดา เมื่อธาตุหยาบของบิดามารดาที่ประกอบกันถูกส่วนแล้วก็ห่อหุ้ม
ชีวิตของเราก็เกิดขึ้นที่มารดา ต่อจากนั้นก็เคลื่อนมา นี่เขาเรียกว่า มาเกิด
ไปเกิด เราจะเริ่มที่ฐานที่ ๗ ที่เหนือฐานที่ ๖
ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ใจเราจะไปอยู่ตรงนั้น แล้วก็จะตกศูนย์ไปฐานที่ ๖ ไปที่ ๕, ๔, ๓,
๒, ๑ ออกทางปากช่องจมูก กายละเอียดก็แวบออกไปเลย
ไปเกิดมาเกิดเดินสวนทางกันอย่างนี้
มาเกิดเริ่มจาก ฐานที่ ๑ ไปฐานที่ ๗ ไปเกิดเริ่มจากฐานที่
๗ ไปฐานที่ ๑ เราก็ต้องศึกษากันเอาไว้
ฐานที่
๗ ต้นทางพระนิพพาน
ทีนี้
ถ้าจะไม่ไปเกิดเหมือนพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ที่ท่านจะไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดแล้ว
ท่านจะเริ่มต้นที่ฐานที่ ๗ เอาใจของท่านมาหยุดนิ่งที่ตรงนี้ คือ
ปลดปล่อยเครื่องกังวลทุกอย่าง คน สัตว์ สิ่งของ ทุกอย่าง เพราะสิ่งเหล่านั้นมันเกิดขึ้น
ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต หรือไม่มีชีวิต จะเป็นต้นหมากรากไม้
ภูเขาเลากา ตึกรามบ้านช่อง รถรา ผู้คน แม้กระทั่งโลกใบนี้ ถึงเวลามันก็ต้องผุต้องพัง
เสื่อมสลายไป
ร่างกายเราก็เช่นเดียวกัน
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็เสื่อมสลายไป ทุกสิ่งไปสู่จุดสลายหมด จุดสุดท้ายก็ต้องพัง
ต้องผุ ต้องพังสลายไป เพราะฉะนั้นชีวิตเป็นอย่างนี้ซ้ำ
ๆ ซาก ๆ เกิดกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม คนชั้นล่าง
ชั้นกลาง ชั้นสูง ล้วนแต่ไปสู่จุดสลายทั้งสิ้น
การเกิดบ่อย
ๆ ก็เป็นทุกข์บ่อย ๆ เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้มีบารมีแก่
ๆ ท่านจะมองเห็นชีวิตอย่างนี้ว่า
ไม่เป็นแก่นสาร เพราะต้องตกอยู่ภายใต้กฎของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วก็กฎแห่งกรรม
ที่กระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไม่ว่าดีหรือชั่วล้วนมีผลทั้งสิ้น ถ้าดีผลก็คือสุคติ
ถ้าชั่วก็ไปอบาย ก็วนไปเวียนมากันซ้ำ ๆ อย่างนี้ ก็เพราะว่ามีมาร ๕ ฝูง คอยคุมอยู่
โดยมีฉากหลังในฉากหลังบังคับกันมาอีกทีหนึ่ง
เพราะฉะนั้น
ท่านก็เลยเบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิด ในสังสารวัฏ ก็ค้นหาวิถีทาง
ทำอย่างไรจะไม่ต้องมาเป็นอย่างนี้อีก จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏ ซึ่งเป็นความคิดที่ยิ่งใหญ่
ต้องมีธาตุธรรมแก่ ๆ สะอาด บริสุทธิ์ มีบารมีมาก ๆ ถึงจะคิดอย่างนี้ออก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นว่า
ทำอย่างไรเราจะพ้น เพราะมันเบื่อเหลือเกิน เบื่อจริง ๆ นะ ไม่ใช่เบื่อ ๆ อยาก ๆ
พอเบื่อท่านก็คลายความกำหนัด
ความยึดมั่น ถือมั่นผูกพันว่า คนสัตว์สิ่งของ สิ่งมีชีวิต หรือสิ่งไม่มีชีวิตต่าง
ๆ เหล่านี้ เป็นตัวเรา เป็นของ ๆ เรา
ตัวเราของเราเหล่านี้ เพราะมันบังคับบัญชาอะไรไม่ได้ นอกจากตกในกฎของไตรลักษณ์ กฎแห่งกรรม แล้วยังเจอกฎเกณฑ์อะไรต่าง ๆ
อีกสารพัดที่โลกสมมติกัน กฎหมาย กฎเกณฑ์ กฎอะไรต่ออะไรต่าง
ๆ
เพราะฉะนั้น
ก็เบื่อมาก พอเบื่อก็คลาย หาทางหลุดพ้น ก็ค้นพบว่า หยุดนั่นแหละเป็นตัวสำเร็จ หยุดจากความอยากทั้งปวง
อยากได้ อยากมี อยากเป็น อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ความอยากที่ประกอบไปด้วยความเพลิน ไม่ได้ประกอบไปด้วยปัญญา
นันทิราคะ สหคตา ประกอบไปด้วยความเพลิน อยากเป็น อยากได้ อยากมี อะไรก็เพลิน ๆ
กันไปวัน ๆ จนหมดเวลาของชีวิต
ละความอยากเหล่านั้น
ก็คลาย ใจหยุดนิ่ง ใจหยุดนิ่งเลย ไม่เขยื้อนเลย หยุดอยู่ภายในตัวตรงฐานที่ ๗
ตรงนี้แหละ เวลามันหมดความอยากภายนอกใจจะกลับเข้ามาสู่ที่ตั้งดั้งเดิม
จะมาหยุดนิ่ง ๆ คืออยากอยู่เฉย ๆ ไม่อยากได้อะไรแล้ว อยากหยุด อยากนิ่ง ท่านก็หยุดนิ่งอย่างนี้เรื่อยไป
อย่างสบาย ๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ในตัว
พอถูกส่วนเข้า
คือ มันพอดี ไม่ตึงไม่หย่อน สบาย ก็ตกศูนย์ จากฐานที่ ๗ ไปฐานที่ ๖ ก็จะไปยก
ไปยกเอาดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบลอยขึ้นมาอยู่ที่ฐานที่ ๗ เป็นดวงใส ๆ ตอนนี้แหละท่านจะเห็นภายใน
เห็นด้วยปัญญา ปัญญายปัสสติ เห็นด้วยปัญญา
มีแสงสว่างเกิด
เห็นดวงใส เหมือนเราลืมตาเห็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวอย่างนั้น แต่นี่หลับตาเห็นดวงธรรมภายใน
ใสแจ่มทีเดียว ใสอย่างน้อยก็เหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า หรือเหมือนน้ำใส ๆ
เหมือนเพชรบ้าง หรือเกินไปกว่านั้น จนต้องใช้คำว่า ใสเกินใสกว่าความใสใด ๆ
ทั้งสิ้น ใสในใส ใสหนักขึ้นอย่างนั้น โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ ลอยขึ้นมา
มาพร้อมกับความสุขที่แท้จริง
ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนในชีวิต ว่าการแสวงหาวัตถุภายนอก
ไม่เคยให้เกิดความรู้สึกที่ดีอย่างนี้เลย เป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ที่เป็นอิสระ กายมันสบาย
ใจสบาย กายเบา ใจเบา มันโล่ง มันโปร่ง มันเป็นอิสระ
ใจท่านก็นิ่งอยู่ในความสุขนั้นกลางดวง
พอถูกส่วนดวงธรรมนั้นก็ขยายไปเห็นดวงธรรมอีกดวงหนึ่งลอยขึ้นมา ลอยขึ้นมาทีละดวงๆ
ลอยขึ้นมาจากตรงกลางดวงนั้น จะมีดวงใหม่เกิดขึ้น ที่ทำให้ก้าวไปสู่อีกมิติหนึ่ง ที่ละเอียดกว่า
ท่านเรียกว่า ดวงศีล
ในกลางดวงศีล
พอใจนิ่ง ๆ ถูกส่วน ดวงศีลขยายออกไป ขยายจนตกขอบไปเลย ก็จะมีดวงสมาธิ ผุดขึ้นมา ที่ใสกว่า
สว่างกว่า บริสุทธิ์กว่า มาพร้อมกับความสุขที่มากกว่าเพิ่มพูนขึ้นไปเรื่อย ๆ แล้วก็จะเข้าถึงดวงปัญญา
ในทำนองเดียวกันอย่างนี้ กลางดวงปัญญาก็มีดวงวิมุตติ ในกลางดวงวิมุตติก็มีวิมุตติญาณทัสนะ
๖ ดวง ชุดหนึ่ง ๖ ดวง เป็นเครื่องกลั่นใจให้ใส ให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น แล้วก็เป็นดวงธรรมที่เชื่อมระหว่างกายต่อกาย
กายในกาย
กายภายใน
ซึ่งมีทั้งหมด ๑๘ กาย ซ้อน ๆ กันอยู่ มีกายมนุษย์ละเอียด
กายทิพย์หยาบ ละเอียด กายอรูปพรหมหยาบ ละเอียด กายอรูปพรหมหยาบ ละเอียด กายธรรมโคตรภูหยาบ
ละเอียด กายธรรมพระโสดาบันหยาบ ละเอียด กายธรรมพระสกิทาคามี หรือพระสกทาคามีหยาบ
ละเอียด กายธรรมพระอนาคามีหยาบ ละเอียด แล้วก็กายธรรมพระอรหัตหยาบ ละเอียด
ทั้งหมด
๑๘ กาย มันจะ ซ้อน ๆ กันอยู่
เชื่อมด้วยธรรม ๖ ดวง ดังกล่าวนั่นแหละ กายเป้าหมายคือ กายธรรมอรหัตตผล หน้าตัก ๒๐
วา สูง ๒๐ วา ใส บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ แล้วเราจะเข้าไปถึงกายตรงนั้น ดำเนินจิตเข้ากลางไปเรื่อย
หยุดกับนิ่งอย่างเดียว ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
แล้วในที่สุดท่านก็เข้าถึงกายธรรมอรหัต
ถ้าพระพุทธเจ้าก็เข้าถึงกายธรรมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้าพระอรหันต์ก็เข้าถึงกายธรรมอรหัตตผล หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา นั่งอยู่ในโลกุตตรฌาณสมาบัติ
เป็นอาสนะอย่างนั้น หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ นั่นกายเป้าหมายนะจ๊ะ
ชาวพุทธต้องมีพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่ง
วันนี้เรามาปฏิบัติธรรม
และในฐานะเป็นชาวพุทธ เราต้องมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง
ที่ระลึกอย่างเดียว อย่างอื่นไม่ใช่ พระรัตนตรัยเท่านั้นเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกที่แท้จริง
สิ่งอื่นไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง พึ่งกันชั่วคราว
ไม่ช้าก็ต้องผุพังกันไป จะเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นสิ่งของอะไรก็แล้วแต่ จะไปพึ่งพาอาศัยจริง ๆ
ไม่ได้ มันชั่วคราว แต่ที่พึ่งที่แท้จริงของเราคือ พระรัตนตรัย ซึ่งมีอยู่ภายในตัวของเราทุกคน
พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และก็สังฆรัตนะ
พุทธรัตนะ รัตนะ ก็แปลว่า แก้ว เป็นวัตถุที่มีคุณค่า
ใครได้แล้วก็ปลื้ม ชื่นใจ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว คือ รู้แจ้ง
เห็นแจ้งแทงตลอด ในธรรมทั้งปวง เรื่องความเป็นจริงของชีวิต เป็นผู้ตื่น มีชีวิตชีวาตลอด
ไม่งัวเงียแล้ว ตื่น สดใส เป็นผู้เบิกบานแล้ว เพราะว่าหมดจากกิเลส
หรือหลุดจากกิเลส ซึ่งเป็นไปตามลำดับชั้น ตั้งแต่โคตรภู พระโสดาบัน พระสกิทาคามี
พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหัต ๕ ชั้น
ธรรมรัตนะ ก็เป็นดวงธรรมใส ๆ อยู่กลางพุทธรัตนะ
เป็นที่เก็บความรู้ เป็นคลังแห่งความรู้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์อยู่ตรงนี้
และ
สังฆรัตนะ คือ รักษาธรรมรัตนะเอาไว้ เหมือนพระสงฆ์ทรงจำคำสอน
รักษาคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้ แต่อยู่ในกลางธรรมรัตนะ เป็นธรรมกายที่ละเอียด
๓
อย่างนี้แหละ เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง อยู่ภายในตัวของเรา ซึ่งเราจะต้องเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ซึ่งตอนนี้เรารู้แล้วว่า อยู่ในกลางท้อง ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือ
อย่ากังวลกับฐานที่
๗
ทีนี้
ในแง่ของการปฏิบัติจริง ๆ เราก็ไม่ต้องไปกังวลกับฐานที่ ๗ มากเกินไป
ไม่ต้องไปควานหาฐานที่ ๗ หรือเกร็งเกินไป กังวลไปว่าใจเราจะอยู่ตรงฐานที่ ๗
เป๊ะเลยไหม เอาเป็นว่า เราต้องทำความรู้จักฐานที่ ๗ เอาไว้ก่อน ส่วนวิธีปฏิบัติเรานึกน้อมเอาใจมาหยุดอยู่ที่กลางท้อง
ให้ใจมาอยู่กับเนื้อกับตัว ในกลางท้องแถว ๆ นั้น แถว ๆ ฐานที่ ๗
คิดอยู่เพียงแค่นี้ อย่าไปกังวลเกินไป ซึ่งความจริงมันอาจจะตรงฐานที่ ๗
พอดีหรือเหลื่อมกันนิด ๆ หน่อย ๆ อะไรก็ช่างเถอะ เอาเป็นว่ารู้จักฐานที่ ๗ แล้ว แต่ในแง่ของการปฏิบัติจริง
ๆ เราก็เอาใจมาไว้กลางท้อง แล้วก็หาที่ยึดที่เกาะของใจ สร้างที่ยึดที่เกาะของใจ ด้วยการกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้น
บริกรรมนิมิต
บริกรรมนิมิตเราจะกำหนดเป็นดวงแก้วใส
ๆ แทนธรรมรัตนะก็ได้ หรือพระแก้วใส ๆ แทนพุทธรัตนะก็ได้ แล้วก็กำหนดเอาอย่างใดอย่างหนึ่งนะจ๊ะ
สร้างมโนภาพขึ้นมาในใจว่า ในกลางท้องของเรานั้น มีดวงแก้วใส ๆ หรือพระแก้วใส ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง
เอาอย่างเดียว อย่าไปเอาสองอย่าง เราชอบอย่างไหน ถนัดอย่างไหน เราก็เอาอย่างนั้นเป็นบริกรรมนิมิต
คือ เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา
แต่อย่าไปเพ่งนะ
อย่าไปลุ้น ไปเร่ง ไปเพ่ง ไปจ้อง แค่ทำความรู้สึกว่า ในท้องของเรานั้น มีดวงแก้วใส
ๆ หรือพระแก้วใส ๆ อยู่ในตัวเรา ขนาดใหญ่เล็กก็แล้วแต่ใจของเราจะชอบ
ไม่ชัดก็ไม่เป็นไร ชัดบางส่วนก็ไม่เป็นไร อีกเหมือนกัน นึกไม่ออกก็ไม่เป็นไร ให้ใจเราอยู่ในกลางท้องก็แล้วกันเป็นใช้ได้
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับกำหนดบริกรรมภาวนาประคองใจ
ประกอบบริกรรมภาวนา ประคองใจให้หยุดนิ่ง ให้มีสติกับสบาย
รู้สึกตัวอยู่ตลอด ไม่ใช่เคลิบเคลิ้มไป รู้สึกว่าใจอยู่ในตัว
แต่ต้องสบาย และก็ภาวนาในใจเบา ๆ อย่าให้เร็วอย่าให้ช้านัก แล้วอย่าไปใช้กำลังในการท่อง
ทำคล้าย ๆ บทสวดมนต์ ที่เราคุ้นเคย และให้เสียงดังออกมาจากในกลางท้อง
เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน เหมือนดังออกมาจากแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ แหล่งพลังที่ไม่มีที่สิ้นสุดภายใน
ภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆๆ ภาวนาไปเรื่อย ๆ
อย่างสบาย ๆ ไม่ช้าไม่เร็วนัก
ทุกครั้งที่ภาวนา
สัมมาอะระหัง เราจะต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงดวงใส
หยุดอยู่ที่กลางดวงใส หรือตรึกนึกถึงพระแก้วใส ๆ หยุดอยู่กลางพระแก้วใส ๆ
อย่างใดอย่างหนึ่งนะจ๊ะ
เราจะภาวนากี่ครั้งก็ได้
จนกว่าจะเกิดความรู้สึกว่า ไม่อยากจะภาวนาต่อไป อยากจะหยุดใจนิ่งเฉย ๆ
อย่างนี้อย่างเดียวเท่านั้น ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้เราก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนาใหม่
ก็ให้รักษาใจหยุดนิ่งอย่างนี้ อย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
หยุดนิ่งเรื่อยไป
ดูเฉยๆ
ไม่ต้องคิดอะไร
เมื่อมีภาพอะไรเกิดขึ้นมาให้เราดู
ซึ่งเป็นผลจากการหยุดนิ่งได้ในระดับหนึ่ง ก็ให้ดูไปโดยปราศจากความคิด อย่าไปวิเคราะห์
วิจัย วิจารณ์ หรือสงสัยอะไร ที่จะไปใช้ความคิด ให้ดูอย่างเดียวเฉย ๆ เรื่อยไป อย่างสบาย
ๆ
มีอะไรให้ดู
เราก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น อย่าลืมคำนี้นะ มีอะไรให้ดู
ก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องไปคิดว่า มันใช่หรือไม่ใช่
ไม่ต้องไปคิดว่า ที่เราเห็นนี่ คิดไปเอง หรือว่าเป็นของจริง หรืออะไรที่นอกเหนือจากนี้
อย่าไปคิดนะจ๊ะ
แต่เวลาถึงเวลาจริง
ๆ เรามักจะลืมประโยคนี้ และก็ไปใช้ความคิด
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าไปใช้ทำไม มันไม่เกิดประโยชน์ แถมเกิดโทษ โทษคือภาพนั้นมันก็จะเลือนหายไป แต่ถ้าเราดูเฉย
ๆ เหมือนดูทิวทัศน์ เวลาเรานั่งรถ เราก็ดูทิวทัศน์ ดูตึกรามบ้านช่อง ผู้คน สัตว์ สิ่งของ ภูเขา
เลากา เราก็ดูเฉย ๆ อย่างนั้นแหละ ให้ดูเหมือนดูทิวทัศน์ ดูไปอย่างสบาย ๆ
โดยไม่ต้องไปคิดอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องไปสงสัยว่า
มันใช่ หรือว่าคิดไปเอง ให้วางใจนิ่งเฉย ๆ ดูไปสบาย ๆ ทำอย่างนี้แค่นี้เท่านั้น
เข้าใจวิธีการก็ไม่ยาก
สมาธิจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แต่ว่ายากไม่มาก ยากพอสู้ ถ้าเรารู้วิธีการมันก็ไม่ยาก
คือ ให้ทำตามอย่างที่ได้บอกไว้นั่นแหละ ทำอย่างนี้ แค่นี้เท่านั้นมันก็จะง่าย อย่างที่เรานึกไม่ถึงเลย
เพราะฉะนั้น
มีอะไรให้ดู เราก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น
ไม่ต้องไปสงสัยอะไร ไม่ต้องคิดว่าใช่หรือไม่ใช่ ถูกหรือผิด คิดไปเองหรือเปล่า
อะไรไม่ต้องไปคิด อย่าลืมนะจ๊ะ ซึ่งบางคนมักจะลืมเสมอ มันก็ไปชะงักความก้าวหน้าของใจที่จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน
ไม่เกิดประโยชน์อันใดหรอก
อย่าลืมคำนี้นะลูกนะ
ถ้าลืมก็นับหนึ่งไปตลอดชาติ จะไปหายสงสัยอีกทีตอนใกล้จะตายนั่นแหละ ซึ่งเราไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น
เราหายสงสัยตั้งแต่ตอนนี้ มีความมืดให้ดู เราก็ดูความมืด มีดวงให้ดู เราก็ดูดวง มีองค์พระให้ดู
เราก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ เหมือนเด็ก
เด็กนี่ไม่ค่อยจะมีความคิดอะไรเยอะแยะเหมือนผู้ใหญ่
ไม่รู้มาก เลยไม่คิดมาก ก็สบาย ก็มีความสุข
ทำใจให้มันอินโนเซ้นแบบเด็ก ๆ แบบนี้แหละ เดี๋ยวเราจะอัศจรรย์ใจทีเดียวว่า
คนอย่างเรานี่ก็สามารถเข้าถึงได้
มีความมืดให้ดู
เราก็ดูไป มีความสว่างให้ดู เราก็ดูไปเฉย ๆ ไม่ต้องไปตื่นเต้น ดีใจอะไรหรอก มีดวงให้ดู
เราก็ดูดวง มีกายภายในให้ดู เราก็ดูกายภายใน มีองค์พระให้ดู เราก็ดูองค์พระ ดูไปธรรมดาอย่างนี้
สมาธินี่เหมือนเส้นผมบังภูเขานะ ถ้าเข้าใจแล้วก็ง่าย ใครก็ทำได้ ยกเว้นคนบ้า
คนปัญญาอ่อนไม่มากเขายังทำกันได้เลย พวกปัญญาอ่อนที่ไม่มากนัก เด็กดาวน์อะไรต่าง ๆ
บางคนยังทำได้ เราคนดี ๆ ทำไมจะทำไม่ได้ ถ้าได้ทำ อย่างถูกหลักวิชชา
เพราะฉะนั้น
มีความมืดให้ดู เราก็ดูความมืด ดูไปอย่างสบาย ๆ ทำใจหลวม ๆ อย่าไปตั้งใจ
อย่าไปเพ่ง อย่าเอาลูกนัยน์ตากดลงไปดู หลับตาเฉย ๆ แค่ปิดเปลือกตา หลังจากนั้นทำใจหยุดใจนิ่งอย่างเดียว
เห็นไหมจ๊ะว่า
มันง่าย มันไม่ได้ยาก แต่ว่าเราไปเข้าใจว่า มันยาก แล้วก็ไปทำสิ่งที่ง่ายให้มันยาก
มันก็เลยยาก แต่สิ่งยาก ๆ นี่เราทำให้ง่ายได้ อย่างที่ได้แนะนำนั่นแหละ จะเป็นวิธีลัดที่สุด
ที่เราจะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ถึงเมื่อไรก็มีความสุขเมื่อนั้น แล้วจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์
มีพระรัตนตรัยในตัว
พุทธรัตนะ
คือ พระธรรมกายนั่นแหละ เกตุดอกบัวตูม ใส ใสเกินใสใด ๆ ในโลก งามไม่มีที่ติเลย ทีนี้
ถ้าเราเห็นองค์พระขึ้นมา เกตุท่านเกิดแหลม ๆ ขึ้นมา เราก็ไม่ต้องไปสงสัยอะไรเลย ก็ดูไปเฉย ๆ ดูจนกว่าท่านจะตูมเป็นดอกบัวสัตตบงกช
ถ้ารูปร่างองค์พระท่านอ้วน ๆ บ้างผอม ๆ บ้างก็ไม่ต้องไปสงสัย
เราก็ดูไปจนกว่าท่านจะเปลี่ยนไปเป็นกายมหาบุรุษ
ถ้ายังไม่เป็นกายมหาบุรุษ เราก็ดูไปจนกว่าจะเป็น ก็แค่นี้เอง
ทำง่าย
ๆ นะลูกนะ ทำแบบผู้มีบุญ ผู้มีบุญจึงจะได้มานั่งอยู่ตรงนี้ หรือนั่งหน้าจานดาวธรรม แล้วก็ลงมือปฏิบัติ วันนี้บุญของลูกมาถึงแล้ว อากาศกำลังสดชื่น สบาย
เหมาะสมในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ต่อจากนี้ไปเวลาที่เหลืออยู่ ให้ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ
เช้านี้ให้ลูกทุกคนสมหวังดั่งใจ ในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ทุก ๆ คนนะลูกนะ
วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565