ความสุขที่หยุดได้
ในกลาง
เป็นสุขสุดตามทาง
พุทธเจ้า
สะอาดสงบสว่าง
พราวแผ้ว
หยุดนิ่งทุกค่ำเช้า
จักได้สุดธรรม
ตะวันธรรม
วิธีใช้บุญ/ความพร้อม ไม่มีในโลก
อาทิตย์ที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 1 |EP.10| : วิธีใช้บุญ/ความพร้อมไม่มีในโลก
(เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ)
ปรับกายปรับใจ
เอาใจหยุดนิ่งๆ หรือทำความรู้สึกว่าอยู่ในกลางท้อง
พร้อมกับนึกถึงบุญที่เราทำผ่านมานับภพนับชาติไม่ถ้วนจนกระทั่งมาถึงวันนี้แม้เราจะจำไม่ได้ว่าในอดีตชาติที่ผ่านมาเราทำบุญอะไร
แต่แค่เพียง เราจรดใจแล้วก็นึกนิดเดียวว่า บุญที่เราทำผ่านมาในอดีตนับภพนับชาติ ไม่ถ้วน
น้อยบ้าง ปานกลางบ้าง มากบ้าง พอเรานึก
ใจซึ่งเป็นธาตุสำเร็จอยู่แล้วก็จะไปเชื่อมกับกระแสธารแห่งบุญ มารวมเป็นดวงบุญใสๆ
ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ใจเป็นธาตุสำเร็จ ถ้าเรานึกถึงใครบางคนที่ทำให้เราขุ่นมัว
นึกถึงคำพูดเรื่องราวทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้รู้เรื่องเลย
และเหตุการณ์ก็ผ่านมานานแล้ว
พอนึกก็จะมีอายตนะไปดึงดูดสิ่งเหล่านั้นมาทำให้เราขุ่นมัวได้บุญก็เช่นเดียวกัน
ถ้าเรานึกถึงบ่อยๆ ซํ้าๆ แม้กาลเวลาผ่านมาเราจำไม่ได้ เพราะมันเป็นภพในอดีตก็ตามหรือปัจจุบันจำได้บ้างไม่ได้บ้างก็ตาม
มันก็จะไปเชื่อมกัน
กระทั่งมาถึงบุญล่าสุดที่เราทำผ่านไปก็จะไปเชื่อมกันมารวมเป็นดวงบุญใสๆ
ติดอยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ในกลางท้องของเรา
ดวงบุญและคุณสมบัติของบุญ
ดวงบุญนี้จะกลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วที่เจียระไนแล้ว
ใสบริสุทธิ์เหมือนเพชรหรือยิ่งกว่านั้น จะใสๆ
แล้วก็สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านั้น แต่ว่าใสเย็น ไม่แสบตา
ไม่เคืองตา เหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ แต่ว่ามันเย็นกว่านั้นนะ เย็นสบายไม่ใช่เย็นหนาวยะเยือก
แต่มันเย็นสบาย
ดวงบุญนี้เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตของเราตั้งแต่ปุถุชนจนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า
เช่น ทำให้เรามีรูปสมบัติที่งดงาม
แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือมีโรคน้อย อายุยืนยาว ทำให้เรามีโภคทรัพย์สมบัติ
มีคุณสมบัติ มีความฉลาด มีความสามารถอะไรต่างๆ เหล่านั้นเป็นต้น
บุญเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งมวลของชีวิต บางทีเราเรียนจบอย่างหนึ่ง จบแล้วก็ไม่ได้ใช้วิชาที่เรียนมา
แต่กลับไปประสบความสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง ทุกอย่างก็เป็นเรื่องของบุญนั่นแหละ
บางครั้งก็ได้มาอย่างง่ายๆ บางครั้งก็ต้องหนึ่งสมองสองมือเป็นต้น
แต่ทุกอย่างมีบุญเป็นฉากหลังที่คอยเป็นเครื่องสนับสนุนให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต
ในธุรกิจการงาน ในการศึกษาเล่าเรียน ปราศจากอุปสรรคต่างๆ หรือมีอุปสรรคน้อยเป็นต้น
บุญทำให้เราไปเกิดในสวรรค์ ในเทวโลก มีทิพยสมบัติมากมายมีบริวารอันเป็นทิพย์
เป็นต้น แล้วก็ยังส่งผลให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ไปสู่อายตนนิพพานได้
ทั้งหมดมีบุญเป็นเครื่องสนับสนุนให้เราไปถึงตรงนั้น
บุญคือสิ่งที่เราได้ทำมา ไม่ว่าจะเป็นทาน ศีล ภาวนา
เป็นต้นจะมารวมอยู่เป็นดวงบุญใสๆ ติดอยู่ในกลางกาย ให้นึกถึงบุญนี้นึกเอาไว้เรื่อยๆ
บุญถึงจะสู้กับบาปอกุศลได้
บาปอกุศลก็จะส่งผลตรงกันข้ามให้เรามีอุปสรรคของชีวิตเพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็นึกถึงดวงบุญใสๆ
ติดอยู่ในศูนย์กลางกาย ทำให้ติดเป็นอุปนิสัย
และให้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะหยุดใจเชื่อมกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ และเมื่อใจหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ เบาๆ สบายก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน
การนึกถึงบุญบ่อยๆ
จะทำให้บาปไม่ได้ช่อง แล้วจะทำให้ใจเรามีปีติ มีความสุข มีความเบิกบาน
มีความภาคภูมิใจในกาลเวลาที่ผ่านมาที่เราได้ใช้ทุกสิ่งที่เรามีอยู่นั้นเป็นไปเพื่อการสร้างบุญ
สร้างคุณงามความดีเช่นเดียวกับพระอริยเจ้า พระอรหันต์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หรือบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน
เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็นึกถึงอย่างสบายๆ
ไม่ชัดเจนก็ไม่เป็นไรให้มีความรู้สึกว่า มีดวงบุญอยู่ในกลางท้องของเราที่เป็นดวงใสๆ
อย่างนี้ไปก่อนก็ได้
อย่าไปเพ่ง อย่าไปจ้อง อย่าไปเค้นภาพ
เพราะจะทำให้เราเกิดความตึงเครียดที่ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ แล้วก็ไม่มีผลดีต่อการปฏิบัติ
เรามีวัตถุประสงค์จะให้ใจไปหยุดนิ่ง นุ่ม เบา สบายๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ด้วยการเริ่มนึกถึงบุญเท่านั้น
ส่วนชัดหรือไม่ชัดนั้นเป็นเรื่องที่ใจเราละเอียดแค่ไหน หยุดนิ่งไปได้ในระดับไหน
ถ้าละเอียดมาก มันก็จะเห็นชัดเจนขึ้นมาเอง ถ้าละเอียดปานกลางความชัดเจนก็จะหย่อนลงมา
ละเอียดน้อยก็แค่มีความรู้สึกว่ามีอยู่
แต่ ณ จุดที่เราเริ่มต้นจากความคิดที่ว่า “มีอยู่” นี้จะทำให้เข้าไปถึง “มีจริง” ต่อไป
ถ้าเราให้โอกาสตัวเราโดยนึกอย่างนี้บ่อยๆ ในทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ในทุกๆ
กิจกรรม ไม่ว่าจะทำมาหากิน ครองเรือน หรือศึกษาเล่าเรียนก็ตาม
ให้โอกาสตัวเราเองบ่อยๆ ในการนึกถึงบุญ ไม่ช้าใจก็จะละเอียดขึ้นเอง
ดวงบุญก็จะค่อยๆ ชัดขึ้นๆ
แล้วก็จะเห็นชัดแจ๋วแจ่มแจ้งขึ้นมาในกลางท้องกลางกายของเรา
ซึ่งในตอนนั้นความรู้สึกว่ามีร่างกายมันหายไป แต่ความรู้สึกว่า อยู่ตรงกลาง นั้นมีอยู่
สิ่งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน ทำซํ้าๆ
ให้ความสำคัญต่อสิ่งนี้ยิ่งกว่าชีวิตของเรา หรืออย่างน้อยก็เสมอเหมือนชีวิตของเรา
นึกซํ้าๆ ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวใจก็จะค่อยๆ คุ้นกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ และก็จะเคยชินในที่สุด
เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็นึกไป อย่างสบายๆ
อย่าลืมปรับเปลือกตา ท่านั่ง การผ่อนคลาย ทำความรู้สึกนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ
สบายๆ ไม่ต้องทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ นี่คือวิธีการเดียวที่จะทำให้เราเห็นดวงบุญชัด
แล้วใจก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน เข้าไปถึงพระรัตนตรัยในตัว
ไม่มีอะไรที่จะง่ายไปกว่านี้อีกแล้ว ที่จะทำให้เราสมหวัง สมปรารถนาในชีวิต
และถูกวัตถุประสงค์ของการมาเกิดเป็นมนุษย์
สิ่งที่ยากกว่านี้ที่เจอปัญหาและแรงกดดัน เรายังให้ความสำคัญทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อการนั้น
ทั้งที่ประโยชน์ที่ได้รับก็ไม่ค่อยจะคุ้มค่าเท่าไรกับสิ่งที่เราสูญเสียไป เช่น
เงินตรา เวลาและอารมณ์ เป็นต้นเพราะฉะนั้นสิ่งที่คุ้มค่าสมกับที่เสียเงินตรา เวลา
อารมณ์ ไม่มีอะไรที่จะง่ายหรือดีที่สุดกว่าการทำใจหยุดนิ่งเฉยๆ ตรงนี้
หยุดเป็นตัวสำเร็จที่จะทำให้เราสมหวังในชีวิต
พบกับความพึงพอใจอันสูงสุด เข้าถึงความสุขที่แท้จริง ความบริสุทธิ์ของใจ
อานุภาพของใจ ดวงปัญญา มหากรุณา ความรักและปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
โดยไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนาและเผ่าพันธุ์อย่างแท้จริง
เพราะฉะนั้นตอนนี้ให้เราหยุดใจ นิ่ง นุ่ม เบา สบาย ผ่อนคลาย
ตอนนี้เรากำลังนึกถึงดวงบุญเราก็นึกไป แล้วก็ประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา
สัมมาอะระหัง เรื่อยไป เวลาที่เหลืออยู่นี้เราก็ฝึกฝนกันไป ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
นะ
------------------------
อย่าหายใจทิ้งเปล่านะลูกเอ๋ย
ออกเข้าเคยหยุดนิ่งดิ่งกลางศูนย์
ก็ให้ทำอย่างเคยจักจำรูญ
บุญเพิ่มพูนทับทวีทุกวี่วัน
ตะวันธรรม
ความพร้อม ไม่มีในโลก
อาทิตย์ที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
การทำใจให้บริสุทธิ์เพื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวไม่จำกัดกาลเวลาและสถานที่
ที่ตรงไหนที่เรานึกถึงพระรัตนตรัย สถานที่ตรงนั้นเป็นอริยะ
เป็นที่สว่างที่บริสุทธิ์เป็นแหล่งกำเนิดแห่งบุญกุศลขึ้นมาในใจของเรา
เพราะฉะนั้นเราหมั่นฝึกฝนไปเรื่อยๆ ทั้งหลับตาลืมตา ทุกอิริยาบถ
ทุกสถานที่ แม้ในห้องนํ้าที่เราจะต้องไปขับถ่ายอาหารเก่าอาบนํ้าอาบท่า ล้างหน้า
แปรงฟัน ก็เป็นสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง
ฝึกทุกวัน แล้วก็หมั่นสังเกตว่า เราวางใจอย่างไร นึกอย่างไร
ประคองใจอย่างไร วันนี้ใจจึงอยู่ที่ศูนย์กลางกายอย่างนิ่งๆ นุ่มๆ
เบาสบายได้ต่อเนื่อง หรือวันใดเราทำอย่างไรจึงได้ผลตรงกันข้าม
สิ่งนี้ไม่มีใครทำแทนกันได้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวของเราเอง เราต้องสังเกต
ต้องแก้ไขและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องโดยไม่จำกัดกาลเวลาและสถานที่
ความพร้อม ไม่มีในโลก
อย่าไปคอยความพร้อมแล้วจึงค่อยทำ
เพราะความพร้อมในโลกมนุษย์นี้หาได้ยากอย่างยิ่ง
ความพร้อมอยู่ที่เราลงมือทำอย่างต่อเนื่องเท่านั้นเอง ทำทุกสิ่งควบคู่กันไป
ปัญหามีเราก็แก้ งานในชีวิตประจำวันเราก็ทำไปบุญก็ต้องสร้าง สมาธิก็ต้องนั่ง
ทำทุกสิ่งไปพร้อมๆ กันอย่าไปคอยให้ทุกสิ่งพร้อม เพราะความตายไม่มีนิมิตหมาย
และความพร้อมจริงๆ หาได้ยากยิ่ง
แม้แต่บรมโพธิสัตว์เจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งพระองค์มีความพร้อมมากกว่าเราในทุกด้าน
ท่านยังต้องสละทุกสิ่ง
ปลีกวิเวกหาที่รื่นรมย์ในการแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าที่ท่านมีอยู่ ก็แปลว่า
ความพร้อมอยู่ที่ใจ ท่านพร้อมลงมือทำทันที นับประสาอะไรกับเรา ซึ่งหยาบๆ
นี้เราไม่มีความพร้อมเท่ากับท่าน ดังนั้นเราก็ต้องทำควบคู่กันไป
เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็ประคองใจไป นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ นึกถึงดวงใสๆ
หรือองค์พระใสๆ ในกลางท้องของเราให้ต่อเนื่อง
บางครั้งใจแวบไปคิดเรื่องอื่นบ้างก็ช่างมัน
เพราะเรากำลังเป็นนักเรียนใหม่ ยังฝึกฝนอยู่ กับเราไม่ค่อยจะให้โอกาสตัวเองนั่งนานๆ
นิ่งนานๆ เรานั่งบ้าง ไม่นั่งบ้าง มันก็นิ่งบ้าง ไม่นิ่งบ้าง
เพราะฉะนั้นเราก็ค่อยประคองใจ ถ้ามันแวบไปเราก็ดึงกลับมาก็แค่นั้นเอง
และก็ประคองต่อไป หยุดใจไว้เรื่อยๆ
ใจที่ถูกส่วน
นึกถึงดวงหรือองค์พระให้ต่อเนื่อง นึกว่า “มีอยู่” และก็อยู่ตรงนั้นอย่างเบาๆ สบายๆ
แล้วเดี๋ยวก็ถูกส่วนเอง ตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราฝึกฝนบ่อยไหม
ถ้าฝึกฝนทุกวันมันจะค่อยๆ ปรับปรุงของมันเอง
จนกระทั่งก้าวไปสู่ความถูกส่วน ซึ่งตอนนั้นเราก็จะรู้ได้ด้วยตัวของเราเองว่า
ถูกส่วนเป็นอย่างนี้ เพราะว่าเมื่อถึงตรงนั้นใจมันอยากจะอยู่อย่างนั้น นานๆ
และก็ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการเห็นหรือไม่เห็น
อยากอยู่กับอารมณ์อย่างนี้ พึงพอใจอย่างนี้นานๆ
โดยไม่หวังสิ่งใดเป็นเครื่องตอบแทน อะไรจะเกิดหรือไม่เกิดก็ไม่ได้กังวล
จะมืดหรือสว่างก็ไม่กังวล จะมีภาพมาให้เห็นหรือไม่มีให้เห็นก็ไม่กังวล
สรุปว่าไม่กังวลกับอะไรทั้งสิ้น นั่นแหละถูกส่วน และใจก็จะเริ่มรู้สึกนุ่ม
ไม่กระด้าง ความนุ่มของใจที่สัมผัสได้ เหมือนเราสัมผัสผ้านุ่มๆ วัตถุที่นุ่มๆ
แล้วเราก็มีความรู้สึกว่านุ่มๆ
ใจที่นุ่มนวล
ใจเมื่อนุ่มนวล เราก็จะรู้ด้วยตัวของเราเองว่าใจนุ่มนวลแล้ว
ถ้านุ่มนวล ใจก็จะนิ่งนาน นานขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจกับสิ่งใดๆ
ทั้งสิ้น
แล้วจะไม่สนใจสิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟังจากเพื่อนกัลยาณมิตรที่มาเล่าประสบการณ์ภายในของตัวเองหรือของคนโน้นคนนี้
เราจะไม่สนใจมากเกินไป สนใจแค่เป็นเพียงกำลังใจให้กับตัวเองว่าสักวันหนึ่งเราก็จะมีประสบการณ์ภายในเช่นเดียวกับเขา
ที่จะนำมาเล่าเป็นธรรมทานแบ่งปันให้กับเพื่อนมนุษย์
ถึงตอนนั้นใจก็จะเริ่มนิ่ง นุ่ม นาน แล้วก็มีความสุขเล็กๆ
หรืออย่างน้อยก็ไม่สุขไม่ทุกข์ ที่เขาเรียกว่า อทุกขมสุข คือ
ไม่สุขแต่มันก็ไม่เป็นความทุกข์ มันจะเป็นกลางๆ เฉยๆ แต่ยังไม่มีความสุขอย่างที่เรายอมรับว่ามีความสุข
แต่ ณ จุดนั้น ถ้าเราประคองต่อไป จากอทุกขมสุขหรือไม่สุขไม่ทุกข์นั้น
ใจก็จะประณีตขึ้น เหมือนถูกกรองถูกกลั่นให้ละเอียดเข้าไปเป็นชั้นๆ ใจจะใสขึ้น
บริสุทธิ์ขึ้น ความสุขก็จะเริ่มมา ในเบื้องต้นจะรู้สึกโล่ง โปร่ง เบา สบาย
ไม่อึดอัด ไม่คับแคบ ไม่มีข้อจำกัดสำหรับกายมนุษย์ว่า จะต้องโตเพียงแค่นี้
มีขอบเขตเพียงแค่นี้แต่ดูเหมือนเส้นรอบวงขอบเขตของกายถูกตัดออกไป
ถ้าเป็นบ้านก็เหมือนกับพังฝาออกไป แล้วก็จะค่อยๆ ขยายขึ้นไป กว้างขึ้น
รู้สึกตัวโตขึ้น พองขึ้น ขยายขึ้น เบ่งบานขึ้น ซึ่งความเบ่งบานของใจที่ขยาย
มาพร้อมกับความสุขที่เราสัมผัสได้ และยอมรับว่า เออ เรามีความสุข
ซึ่งแตกต่างจากที่เราเคยเจอบ้างนิดหน่อยแล้ว เหมือนไปเหยียบชานเรือนแห่งความสุข
คล้ายๆ กับเราเข้าไปใกล้แหล่งนํ้าตก หรือชายทะเล เราได้ยินเสียงนํ้าตก
เสียงคลื่นกระทบฝั่ง แล้วมีความรู้สึกว่า เออ เราใกล้สิ่งนั้นเข้าไปแล้ว
ถ้าได้รับละอองนํ้ากระเซ็นมาก็เริ่มมีความรู้สึกสดชื่นเล็กๆ
ขึ้นมาความสุขภายในก็เช่นเดียวกัน มันก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น
ทำตัวเหมือนหุ่นยนต์
สิ่งที่เราจะต้องทำมีเพียงอย่างเดิมอย่างเดียว คือ หยุดนิ่งนุ่มเบา
สบาย เฉยๆ ไม่ว่าจะมีความสุขเพิ่มขึ้นแค่ไหนก็เฉยๆ มีภาพมาปรากฏให้เห็นก็เฉยๆ
มีแสงสว่างเกิดขึ้นก็เฉยๆ อย่าไปแสวงหาคำตอบ
ต้องหัดทำตัวเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ที่ไม่มีมันสมอง คิดไม่เป็นวิเคราะห์ไม่เป็น
วิจัยวิจารณ์ไม่เป็น นิ่งอย่างเดียว แช่อิ่มอยู่ในความสุขสบายนั้นไปเรื่อยๆ
อย่าเพิ่งไปอยากรู้อะไร ในเมื่อมันยังไม่ถึงเวลา
อย่าเพิ่งไปชิงสุกก่อนห่ามในการเรียนรู้ เพราะเราเพิ่งจะฝึกให้ได้หยุดแรก
และหยุดแรกเกิดขึ้นก็มีประสบการณ์ภายในระดับหนึ่ง เหมือนเพิ่งเรียน ก.ไก่ ข.ไข่
อย่าไปถึงขั้น Advance ว่า
ทำไมไม่เรียก ก.ไผ่ ทำไมเรียก ก.ไก่ เพราะมันยังไม่ถึงเวลา
หน้าที่ของเราคือ นิ่ง นุ่ม เบา
สบาย ผ่อนคลาย เฉยๆ ไม่คิดอะไร ทำตัวเหมือนหุ่นยนต์อย่างนั้นแหละ นิ่งๆ
มีอะไรให้ดู เราดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น
เดี๋ยวเราจะสมปรารถนาในชีวิต ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ อย่างที่มหาเศรษฐีของโลกไปไม่ถึง
ไม่มีอะไรที่จะง่ายไปกว่านี้ ที่ทำใจหยุดนิ่งนุ่ม เบา สบาย ผ่อนคลาย
มีอะไรให้ดูก็ดูไป ดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น
มีดวงมาให้ดู เราก็ดูดวง มีแสงสว่างมาให้ดู
เราก็ดูแสงไม่ต้องไปคิดต่อว่าแสงมาจากไหน ใครเอาไฟมาส่องเรา เราลืมปิดไฟหรือเปล่า
ซึ่งมักจะเป็นกันเป็นส่วนมาก สำหรับนักเรียนใหม่ที่ทำตัวเหมือนหุ่นยนต์ไม่เป็น
ทำให้ใจต้องถอยหลังกลับมาสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีก
ก็เท่ากับเราไปสกัดกั้นความก้าวหน้าของใจที่ต้องการความละเอียด
ด้วยความขี้สงสัยของเรานั่นเอง
เมื่อมันยังไม่ถึงเวลาที่จะสงสัย เราก็อย่าเพิ่งไปทำตอนนั้น
แต่ถ้ามันถึงเวลาแล้ว เมื่อเราเข้าถึงธรรมกาย ศึกษาวิชชาธรรมกายได้แล้ว
ตอนนั้นแหละเราจะเริ่มเอาคำถามขึ้นมาใช้ถามกับเราอย่างเช่น ทำไมต้องเป็นดอกบัว
ดอกบัวมีความเกี่ยวข้องกับความดีและพระพุทธศาสนาอย่างไร ก่อนเรามาเกิดเรามาจากไหนอะไรอย่างนี้เป็นต้น
แต่ตอนนี้เราเป็นนักเรียนอนุบาล กำลังฝึกเรื่องหยุดนิ่ง
ซึ่งเราไม่เคยฝึกกันมาก่อนในชีวิต
ก็ต้องให้มันเป็นไปตามขั้นตอนของการศึกษาเรียนรู้ชีวิตภายใน
มันมีความลับของชีวิตอีกเยอะแยะที่เราจะต้องเรียนรู้
ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ด้วยว่าอะไรคือความลับของชีวิตอีกมากมาย
เวลาที่เหลืออยู่นี้เราก็ฝึกฝนกันไป ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ
วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2565