ตามใจเขาไปก่อน
วันจันทร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ (๑๙.๐๐ - ๒๐.๑๕ น.)
บ้านแก้วเรือนทองของคุณยาย สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย-ปรับใจ
เมื่อเราบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไป ให้ตั้งใจแน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะจ๊ะ
ให้นั่งขัดสมาธิ
โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก
อย่าถึงกับให้ปิดสนิท หลับตาพอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา
อย่ากดลูกนัยน์ตา
ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น
ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด
ให้ปล่อย ให้วาง ให้ทำใจว่างๆ จากอารมณ์ทั้งหลาย
ร่างกายเราคือท่อธารแห่งความบริสุทธิ์
บุญกุศล
แล้วสมมติว่า ภายในร่างกายของเราตั้งแต่กะโหลกศีรษะ
ภายในปาก ปากช่องคอ กลางทรวงอก กลางกาย กลางท้องของเรา เป็นที่โล่งๆ ว่างๆ
ปราศจากอวัยวะภายใน ไม่มีมันสมอง ปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ ไส้ พุง เป็นต้น เป็นที่โล่งๆ
ว่างๆ เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงภายใน คล้ายๆ กับท่อแก้วใสๆ
ให้เป็นทางไหลผ่านของกระแสธารแห่งความบริสุทธิ์
กระแสธารแห่งความดีงาม กระแสธารแห่งบุญบารมี ๓๐ ทัศ ตั้งแต่ทานบารมี ศีลบารมี
เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี
อุเบกขาบารมี ที่เราได้สั่งสมอบรมมา ตั้งแต่ปฐมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ สร้างบารมีเรื่อยมานับภพนับชาติไม่ถ้วน
จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้
รวมกับอานุภาพอันไม่มีประมาณของพระรัตนตรัย
ของพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ และพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์
คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ทั้งหมดรวมเป็นกระแสธารแห่งความบริสุทธิ์ ไหลผ่านกลางท่อแก้วใสๆ
ภายในร่างกายของเรา
ขจัดสิ่งที่เป็นมลทินของใจให้หมดสิ้นไป
ตั้งแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง อภิชฌา ความพยาบาท มิจฉาทิฐิ อุปกิเลสทั้งหลาย
นิวรณ์ทั้ง ๕ สังโยชน์เบื้องต่ำ เบื้องสูง วิบัติ บาปศักดิ์สิทธิ์
วิบากกรรมที่เราทำเอาไว้ วิบากมาร อุปสรรคต่างๆ นานาในชีวิต ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ
ความโศกเศร้าเสียใจ คับแค้นใจ โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งที่ไม่ดีต่างๆ ผังอดอยากยากจน ขัดสนจนถาวร
ให้มลายหายสูญไปให้หมด
ให้เหลือแต่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ที่ผุดเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ เป็นดวงใสๆ คล้ายกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย ไม่มีขีดข่วน
ไม่มีไฝฝ้าเลย กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน บังเกิดขึ้นที่ ศูนย์กลางกายฐานที่
๗
ตำแหน่ง
ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
สำหรับท่านที่มาใหม่
ยังไม่รู้จักฐานที่ ๗ ให้สมมติว่า หยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง
จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท
จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม ให้สมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง
๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละเรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่
๗
จำง่ายๆ ก็คือ อยู่ในกลางท้องของเรา ในตำแหน่งที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ หรือจำง่ายๆ กว่านี้อีกก็คือ ตรงกลางท้องของเรา ที่เรามีความรู้สึกสบาย
พึงพอใจ มั่นใจว่าตรงนี้แหละคือฐานที่ ๗ หรือตรงที่สุดลมหายใจของเรา
จำอย่างนี้ก็ได้นะว่า อยู่ในกลางท้องตรงที่สบาย ที่เราชอบ ที่เราพึงพอใจ
ตรึก คือ นึกอย่างสบาย ๆ
ดวงใสๆ ดังกล่าว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ
อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
บังเกิดขึ้นที่ตรงนี้ ให้เราตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจที่แวบไปแวบมา คิดไปเรื่องราวต่างๆ
มาตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ
ตรึก คือ การนึกถึงดวงแก้วอย่างสบายๆ
คล้ายๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราคุ้นเคย ไม่ใช่ไปบีบบังคับใจ
หรือเค้นภาพออกมาจากในกลางท้อง หรือเพ่งลูกแก้ว ไม่ใช่อย่างนี้
ตรึกนึกถึงดวงใส
คือนึกอย่างเบาๆ คล้ายๆ กับนึกถึงสิ่งที่เราคุ้น สิ่งที่เรารัก จะนึกได้ง่าย หน้าพ่อ
หน้าแม่ หน้าสามีภรรยา หน้าลูกสาวลูกชาย เพชรนิลจินดา เป็นต้น ให้ง่ายๆ อย่างนี้ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง
ฟุ้งก็ช่างมัน
แต่ถ้าหากว่า เราอดฟุ้งไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้
ก็ไม่เป็นไร เพราะใจเราคุ้นกับอะไร ก็ต้องไปอย่างนั้นก่อน อย่าไปรำคาญ อย่าไปกังวล
จะทำให้นั่งไม่ได้ผล กลัวจะไม่สงบใจ อย่าไปฝืนต่อต้าน ปล่อยให้ฟุ้งไป
จะคิดเรื่องอะไรก็ช่างมัน
เมื่อเราสั่งสมเหตุการณ์
ประสบการณ์ต่างๆ ด้วยภาพ เราเก็บเอาไว้ที่กลางใจนี่แหละ เวลาจะคลาย ก็คลายออกมาเป็นเสียงบ้าง
เป็นภาพบ้าง เป็นทั้งเสียงทั้งภาพบ้าง สิ่งที่ต้องทำคือ ทำเฉยๆ ช่างมันนะจ๊ะ
แก้ฟุ้งด้วยบริกรรมภาวนา
ถ้าทำอย่างนี้แล้ว ยังอดฟุ้งไม่ได้
ก็ให้ประกอบบริกรรมภาวนาในใจ ให้เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน แผ่วเบา นุ่มนวล
โดยไม่ได้ใช้กำลังในการท่อง ในการภาวนา แต่เป็นเสียงละเอียด คล้ายๆ
เสียงสวดมนต์ในใจ บทที่เราคล่อง บทที่เราชอบ หรือเพลงที่เราชอบ ดังขึ้นมาเองโดยที่เราไม่ได้ใช้กำลังในการนึกอย่างนั้น
ให้เป็นเสียงที่ดังออกมาจากกลางดวงใสๆ ที่อยู่กลางท้องของเรา ภาวนาในใจว่า สัมมาอะระหังๆๆ
ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดในกลางดวงใสๆ ในกลางท้องของเรานะ
ตามใจเขาไปก่อน
เดี๋ยวเขาก็จะตามใจเรา
แต่ถ้าดวงเกิดขึ้นข้างหน้า
หรือข้างนอก ก็อย่าไปกังวลว่าผิดวิธีการ พอดวงไม่ได้อยู่กลางท้อง เลยพยายามบังคับ คือ
ดึงเข้ามาอยู่ในกลางท้อง ไม่ต้องไปพยายามดึงเข้ามานะ ถึงตอนนั้นอย่าเพิ่งไปคำนึงว่า
มันผิดหรือถูก เอาเป็นว่ามีให้ดูก่อนก็แล้วกัน
สมมติเกิดขึ้นข้างหน้า
หรือข้างนอก แทนที่จะเกิดในท้อง อย่ารำคาญ อย่ากังวลว่าผิดวิธี เมื่อมีให้ดู
เราก็ดูไปเฉยๆ ก่อน ดูไปเรื่อยๆ สบายๆ ไม่ต้องไปบังคับให้นิ่ง ให้ชัด ให้ใส ให้สว่าง
ไม่ต้องไปบังคับเลย
ถ้าเกิดเห็นเยื้องๆ ไปทางหางตาบ้าง หางตาซ้ายบ้าง
หางตาขวาบ้าง หรือนอกเหนือจากนี้ ก็ไม่ต้องไปชำเลืองดูนะลูกนะ เมื่อไม่มาข้างหน้าให้ดู
ก็ช่าง แล้วถ้าเกิดหายไปล่ะ หายก็ช่างมันอีก ตามใจเขาเสียก่อน เขาจะมาให้ดูตรงหน้า
จะมาให้ดูตรงหางตา จะมาขนาดชัดมาก หรือมาขนาดไม่ค่อยชัด ตามใจเขาก่อน ไม่ผิดวิธีหรอก
ถ้าเกิดในท้องเราก็ดูในท้อง เกิดข้างหน้าก็ดูข้างหน้าไปก่อน ตามใจเขาไป อย่าลืมคำนี้นะลูกนะ
สักพักเดียวแค่นั้น
เดี๋ยวเขาจะตามใจเรา ตอนเขาจะตามใจเรา ตอนนั้นใจเราจะสบ๊ายสบาย จะเบิกบานทีเดียว
ให้สังเกตตอนนี้นะ ตอนที่ใจเบิกบาน ตัวเบา ตัวหายไปแล้ว เห็นแต่ดวงลอยอยู่ในกลางอากาศ
ตอนนี้แหละเขาจะตามใจ พอเขาตามใจเรา เรายิ้มในใจนิดเดียวแค่นั้นแหละ “น่าจะอยู่กลางท้องนะ” นึกแค่นี้
นึกแล้วก็ปล่อยความคิดไป ไม่นึกเป็นครั้งที่ ๒ แล้วเขาจะมาเอง แปลกดีเหมือนกัน มาเองเลย
พอเขาเลื่อน เคลื่อนไปทางซ้ายของท้องบ้าง ขวาบ้าง หน้าบ้าง หลังบ้าง ก็ช่างเขาอีก นิ่ง
เฉย ตามใจเขาไปก่อน
หรือบางท่านเกิดเห็นเป็นองค์พระขึ้นมา
แต่องค์พระแทนที่จะหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา
เกิดท่านมีอารมณ์สนุกหันหน้าเข้าหาเราอีก ก็อย่าไปบังคับพระท่านว่า ให้หันออกไปข้างหน้าทางเดียวกันสิ
ไม่ต้องนะลูกนะ หรือจะไปจับให้ท่านกลับหลังหัน ไม่ต้องอีกเหมือนกัน
หรือท่านจะอยู่ริมๆ แทนที่จะอยู่ตรงกลาง ก็ไม่ต้องพยายามเคลื่อนท่านมา ให้ตามใจพระ
ท่านจะหกคะเมนตีลังกา จะหมุนอยู่ในกลางท้องเรา จะเล็ก จะใหญ่ จะขยาย เล็กกว่าตัวเรา
เท่าตัวเรา หรือใหญ่กว่าตัวเรา ก็ตามใจท่านนะลูกนะ ถ้าเป็นดวงก็ตามใจดวง เดี๋ยวเขาก็จะตามใจเรา
แม้แต่คำภาวนาก็เหมือนกัน พอภาวนา สัมมาอะระหัง
ไปเรื่อยๆ เกิดลืมภาวนา ใจมันอยากจะอยู่เฉยๆ นิ่งๆ ก็ต้องตามใจ คือ อยู่นิ่งๆ ต่อไป
หรือบางครั้งไม่อยากจะภาวนา อยากอยู่เฉยๆ ก็ตามใจอีกเหมือนกัน ตามใจเขา เดี๋ยวเขาก็จะตามใจเรา
ทำอย่างนี้นะลูกนะ
ง่วงก็หลับ
เมื่อยก็ขยับ ฟุ้งก็ลืมตา
แล้วถ้าง่วงล่ะ คือ ใจเราสู้แต่สังขารเขาอยากพัก
ทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน เจอปัญหาบ้าง เจอแรงกดดันบ้าง เจอรถติดบ้าง ฝนตกบ้าง
สารพัดเรื่องราว มาถึงอยากจะหลับ หลับก็หลับไป ตามใจอีกเหมือนกัน แต่ต้องมีเทคนิคในการหลับ หลับแล้วต้องได้บุญ
หลับแล้วใจต้องถูกกลั่นให้สะอาด วิบากกรรม วิบากมารจะต้องถูกเก็บกินมลายหายไป
เพราะฉะนั้นก็ต้องหลับ แล้วเอาใจมาวางไว้ในศูนย์กลางกาย ถ้าจะหลับก็ปล่อยให้หลับ หลับไปเรื่อยๆ
พอเขาอิ่ม เขาสดชื่น เดี๋ยวเขาตื่นมาเองแหละ
อารมณ์หลับกับอารมณ์ที่จะเห็นธรรมะมันใกล้กัน
ต่างแต่มีสติหรือขาดสติ จะนุ่มๆ นิ่งๆ ละมุนละไม จะเป็นอย่างนั้น
ถ้าใครฉลาดก็ทำเป็นเคลิ้มๆ หลอกๆ ค่อยๆ ปล่อยให้เบาๆ สบายๆ แต่เรามีสติอยู่ เราเคลิ้มหลอกๆ
ไปเรื่อยๆ ใจก็ละเอียดไปเรื่อยๆ พอถูกส่วนก็พั๊วะลงไปเลย ดวงใสขึ้นมา บางทีก็ตัวเบา
กายเบา ใจเบา บางคนก็สว่าง อย่างนี้แหละ ต้องรู้วิธีที่จะดูแลเขา ประคองใจเป็นศิลปะอย่างหนึ่งทีเดียว ตามใจเขาก่อนนะลูกนะ ถ้าง่วงก็หลับ
ถ้าเมื่อยอย่าไปฝืนอิริยาบถ
ขยับแข้งขยับขา แต่อย่าให้กระทบกระเทือนคนข้างๆ
เขานะลูกนะ สงสารเขา เขากำลังจะหยุดจะนิ่งแล้ว ถ้าเราไปกระเทือนเขา ใจก็ถอนขึ้นมา
เพราะฉะนั้นต้องเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนสหธรรมิกของเราด้วย
บางท่านเพิ่งมาฝึกนั่งใหม่ ขยับแล้วก็ไม่หายเมื่อย
ลุกไปเดินเลย แต่ลุกเบาๆ ค่อยๆ ย่องไป อย่าให้เกิดเสียงดังนะ ค่อยๆ เปิดประตูไป ไปเดินบิดเส้นสาย
บริหารเส้นสักหน่อยให้หายเมื่อย พอใจเบิกบานแล้ว รีบกลับเข้ามานั่งใหม่
เพราะเวลาเรามีน้อยในการนั่ง เวลาเรามีน้อยในโลกนี้ ต้องสงวนเวลาเอาไว้ พอหายเมื่อยแล้ว
กลับมาใหม่ เริ่มต้นใหม่
แต่ถ้าฟุ้ง ภาวนา สัมมาอะระหัง แล้วยังเอาไม่อยู่
ลืมตาเลย ลืมตาขึ้นมาดูรูปคุณยาย ดวงตาท่านใสแป๋วทีเดียว ใสปิ๊งเลย
ดูท่านยิ้มกับเรา เดี๋ยวก็หายฟุ้ง
จำให้ดีนะ ง่วงก็หลับ
เมื่อยก็ขยับ ฟุ้งก็ลืมตา แล้วก็ว่ากันใหม่ ด้วยใจที่ใสๆ เบิกบาน แช่มชื่น
ไม่ช้าลูกทุกคนก็จะกำความสำเร็จในการเข้าถึงธรรมได้ล้านเปอร์เซ็นต์ และต่อไปก็จะฝันในฝันได้อย่างสนุกสนานทีเดียว
เข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว ต่างคนต่างเจริญสมาธิภาวนากันนะลูกนะ
อธิษฐานจิต-อุทิศส่วนกุศล
คราวนี้เราก็นึกถึงบุญที่เกิดจากธรรมปฏิบัติในคืนนี้
ซึ่งมีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาลนัก นึกถึงบุญด้วยใจที่หยุดนิ่ง ใสๆ เยือกเย็น ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ได้ในคืนนี้
ขอให้เราได้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมอันใดที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ
ภาษีเจริญ ได้บรรลุ ขอให้เราจงบรรลุธรรมนั้น ให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
มีอายุยืนยาว ได้สร้างบารมีกันไปนานๆ
จะประกอบธุรกิจการงานอันใดก็ให้ประสบความสำเร็จเป็นอัศจรรย์
ให้ซื้อง่าย ขายคล่อง กำไรงาม เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ
เป็นมหาเศรษฐีคู่บุญค้ำจุนพระพุทธศาสนา ประดุจท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและมหาอุบาสิกาวิสาขา
ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข เป็นครอบครัวแก้ว ครอบครัวธรรมกาย ครอบครัวตัวอย่างของโลก
ให้เป็นที่รักของมนุษย์ ของเทวดาทั้งหลาย ให้สมบัติไหลมาเทมา ทั้งวันทั้งคืน
ทั้งหลับทั้งตื่น ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน ให้หมดหนี้สิน เหลือกินเหลือใช้
เหลือไว้สร้างบารมีอย่างไม่รู้จักหมดสิ้น จะค้าขายอะไรที่เป็นสัมมาอาชีวะ
ก็ขอให้ประสบความสำเร็จเป็นอัศจรรย์ทีเดียว
จะเดินทางไกลก็ให้บุญหล่อเลี้ยงรักษาให้ปลอดภัย
จะไปทำหน้าที่ผู้นำบุญ ยอดกัลยาณมิตร ก็ขอให้มีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพ พูดจาชนะใจคนหมดทุกคน
ให้ถูกอกถูกใจ ถูกพระทัยมนุษย์ทุกคน ใครได้ยินได้ฟังให้เกิดกุศลศรัทธาเลื่อมใส
ได้มาสร้างบารมีร่วมกับพวกเรา
ที่เป็นบรรพชิต
ก็ให้อานุภาพแห่งบุญนี้ บันดาลให้เราได้สร้างบารมีได้ตลอดรอดฝั่ง ให้บวชได้ตลอดชีวิต
บวชแล้วก็ทำพระนิพพานให้แจ้ง บรรลุวิชชาธรรมกาย ศึกษาเล่าเรียนปริยัติก็ให้ประสบความสำเร็จ
ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค จะแสดงธรรมเทศนาก็ให้ไพเราะเบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย
ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ใครได้ยินได้ฟังก็เกิดความปีติ
เกิดความเลื่อมใส ขนพองสยองเกล้า ให้ดีอกดีใจ ให้ได้บรรลุธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันทุกๆ
คนทีเดียว
ให้จิตใจของพวกเราทุกคนใส สะอาด
บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากเครื่องกังวล จากปัญหาแรงกดดันต่างๆ ให้มีความเข้มแข็ง
มีกำลังใจที่สูงส่งเพิ่มขึ้นทุกวันทุกคืน ให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท ไม่ชะล่าใจ ได้สร้างบารมีตลอดไป
อย่าได้มีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้นมาขัดขวางในหนทางแห่งการสร้างบารมี จะปรารถนาอะไรที่เป็นสิ่งที่ดีก็ขอให้สมความปรารถนา
ให้อานุภาพแห่งบุญในคืนนี้
ถึงแก่บรรพบุรุษของเราที่ละโลกไปแล้ว บุพการี ญาติพี่น้อง พี่ป้าน้าอา ปู่ย่าตายาย
พ่อแม่ เป็นต้น จะอยู่ในภพภูมิใดก็ตาม ขออาราธนาพระธรรมกายของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ
ภาษีเจริญ และคุณยายอาจารย์ ตลอดจนพระนิพพาน นำบุญนี้ไปให้แก่หมู่ญาติ
และสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีประมาณ ที่มีทุกข์มากก็ให้ทุกข์น้อย ที่มีทุกข์น้อยก็ให้พ้นทุกข์
มีสุขน้อยก็ให้สุขมาก มีสุขมากแล้วก็ให้มากยิ่งขึ้นไปตามลำดับ เราก็นึกไปอย่างสบายๆ
นะจ๊ะ
วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2565