หยุดนิ่งคืองานที่แท้จริง
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มกราคม
พ.ศ. ๒๕๔๙ (๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบาๆ
พอสบายๆ รวมใจหยุดให้นิ่งๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
บริกรรมนิมิต-บริกรรมภาวนา
กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาเป็นดวงใสๆ หรือพระแก้วใสๆ
อย่างใดอย่างหนึ่ง นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบาย นึกให้ต่อเนื่อง อย่าให้เผลอ
ถ้าเผลอไปคิดเรื่องอื่น ก็ต้องประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา
สัมมาอะระหังๆๆ ภาวนาไปจนกว่าใจจะหยุดจะนิ่งได้ พอใจนิ่งมันจะทิ้งคำภาวนาไปเอง จะมีอาการคล้ายๆ
เราลืมภาวนาไป หรือใจไม่อยากจะภาวนาต่อไป ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็หยุดนิ่งเฉยๆ ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนาใหม่
หยุดนิ่งคืองานที่แท้จริง
ถ้าใครผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้ว สามารถรวมใจหยุดนิ่งๆ
ที่ศูนย์กลางกายได้ คือหยุดนิ่งได้เลย พอหลับตาปุ๊ปก็หยุดใจปั๊บได้เลยอย่างนั้น หยุดใจต่อไป
นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ เดี๋ยวใจจะโล่ง โปร่ง เบา สบาย จะขยายไปเอง
เรามีหน้าที่อย่างเดียว
คือ หยุดนิ่งเฉยๆ นุ่มๆ เบาๆ ต่อไป โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น นิ่งเฉย ใจจะละเอียดเพิ่มขึ้นไปเองเรื่อยๆ
จะนิ่งในนิ่ง แล้วจะสบ๊าย สบาย ปล่อยให้สบายต่อไป อยู่กับความสบาย ซึ่งเราไม่เคยเจออย่างนี้มาก่อนไปเรื่อยๆ
แล้วเราจะรู้สึกว่าการทำสมาธิไม่ยากเกินไป มันอยู่ในวิสัยที่เราสามารถทำได้ ให้นิ่งไปเรื่อย
ๆ
จำไว้เสมอว่า
การฝึกใจให้หยุดนิ่ง คืองานที่แท้จริงของเรา ของชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เราต้องมุ่งเข้าหาความบริสุทธิ์ที่เกิดจากการหยุดนิ่งๆ
เพราะความไม่บริสุทธิ์ของใจด้วยกิเลสอาสวะจึงทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดกันนับภพนับชาติไม่ถ้วน
นับครั้งไม่ถ้วน เกิดบ่อยๆ แก่บ่อยๆ เจ็บบ่อยๆ ตายบ่อยๆ โศกเศร้าเสียใจ คับแค้นใจ ร่ำพิไรรำพันบ่อยๆ
พลัดพรากบ่อยๆ ประสบในสิ่งที่ไม่เป็นที่รักบ่อยๆ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นบ่อยๆ
ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้ง
งานที่แท้จริง คือ การทำความเห็นแจ้งรู้แจ้งให้บังเกิดขึ้นในตัวของเรา
ซึ่งคำๆ นี้มันตรงกันข้ามกับคำว่า อวิชชา
คือ ทำวิชชานี้ให้เกิดขึ้น วิชชา แปลว่า
ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้ง เกิดขึ้นมา
เห็น
ในที่นี้
คือ เห็นจริงๆ เหมือนเราลืมตาเห็นวัตถุภายนอก เห็นคนสัตว์สิ่งของอย่างนั้น แต่นี่เห็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเรา
เห็นความสว่าง ซึ่งเป็นความบริสุทธิ์ของใจที่ปราศจากนิวรณ์
แล้วก็เห็นดวงธรรม เห็นกายในกาย กายมนุษย์ละเอียด
กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระสกิทาคามี
กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอรหัต เห็นกายในกายมาซ้อนกันอยู่ภายใน ที่แต่ละกายก็เป็นชีวิตที่มีระดับขึ้นไปเรื่อยๆ
ละเอียด สุขุม ลุ่มลึกกันไปเรื่อยๆ
กายเป้าหมาย ก็คือ กายธรรมอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เพราะกายนั้นเป็นเพียงกายเดียวที่พ้นจากกิเลสอาสวะ
กิเลสอาสวะมันหุ้มไม่ได้ มันหุ้มได้เฉพาะกายมนุษย์หยาบ-ละเอียด กายทิพย์หยาบ-ละเอียด
กายรูปพรหมหยาบ-ละเอียด กายอรูปพรหมหยาบ-ละเอียด กายธรรมโคตรภูหยาบ-ละเอียด กายธรรมพระโสดาบันหยาบ-ละเอียด
กายธรรมพระสกิทาคามีหยาบ-ละเอียด กายธรรมพระอนาคามีหยาบ-ละเอียด แต่ว่ากิเลสมันหุ้มมันก็ละเอียดขึ้นไป
กิเลสในตระกูลเดียวกัน แต่ละเอียดเข้าไป ชื่อก็เรียกแตกต่างกันไป
กายสุดท้ายที่เป็นเป้าหมาย
คือ กายธรรมอรหัตตผล ทุกครั้งที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็มุ่งไปสู่กายนั้น
ถ้ายังไม่ถึงกายนั้น ชีวิตก็ยังไม่พ้นทุกข์ แต่การที่จะไปถึงกายนั้นได้ต้องหยุด ต้องนิ่งอย่างเดียว
แล้วที่จะรู้เห็นอะไรไปตามความเป็นจริง
นอกจากกายในกายดังกล่าวแล้ว ยังเข้าถึงวิชชาที่ทำให้เห็นแจ่มแจ้งขึ้น
รู้เรื่องราวได้แจ่มแจ้งขึ้น คือ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ
การระลึกชาติได้ โดยอาศัยธรรมกายที่มีธรรมจักขุ เห็นได้รอบตัว ทุกทิศทุกทาง แล้วก็ญาณทัสนะ
จึงจะศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ได้
ความลับที่ถูกปกปิดมานาน ก็ถูกเปิดเผยขึ้นมา
พญามารเขาเอากิเลสอาสวะบังคับเป็นชั้นๆ อย่างนี้ ปกปิดจนกระทั่งเราไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร
ถ้าไม่รู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต การดำเนินชีวิตก็ผิดพลาด แล้วมันก็มีกติกาของชีวิต
คือ กฎแห่งกรรม บังคับให้ชีวิตวนเวียนอยู่ในทะเลแห่งความทุกข์
ในอบาย อย่างนี้ เป็นต้น
พญามารเขาพยายามจะดึงให้ไปติดเรื่องราวภายนอก
ชวนตื่นเต้นเร้าใจ แต่ถูกครอบงำด้วยความหายนะ ติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์
เรื่องราวต่างๆ ก็ปรุงแต่งกันไปเรื่อยๆ ให้ใจหลุดจากฐานที่ ๗ ยาวนาน มนุษย์จึงไม่รู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต
เมื่อไม่รู้เรื่อง ความเห็นก็เห็นผิด
พระพุทธเจ้าท่านเข้าถึง แล้วท่านก็มาสอนให้มีความเห็นให้ถูก
คิดถูก พูดถูก ทำถูก เป็นต้น ถึงจะไปนิพพานได้ หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
ดังนั้น หยุดสำคัญมาก หยุดนิ่งได้ เราเข้าถึงได้
เราก็จะเอาตัวรอดได้ และยังเป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย
ยังเป็นกำลังใจให้เพื่อนมนุษย์เกิดแรงบันดาลใจอยากจะปฏิบัติตามเราไปด้วย
ต้องมีความเพียร
ฝึกไปเรื่อยๆ
ต้องฝึกไปเรื่อยๆ หยุดอย่างเดียว นิ่งๆ
เบาๆ ไม่ต้องทำอะไรนอกเหนือจากนี้ หยุดนิ่งไปเรื่อย
มีอะไรให้ดูเราก็ดูไป มีความมืดให้ดูก็ดูความมืด
มีความสว่างให้ดูก็ดูความสว่าง มีภาพอะไรให้ดูเราก็ดูภาพไป ภาพดวงธรรม กายในกาย พระธรรมกาย
องค์พระในองค์พระ ก็ดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ
ซึ่งการที่ภาพเหล่านั้นเกิดขึ้นมาพร้อมกับความสุขเพราะความบริสุทธิ์
คือ จิตจะบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น ความสุขก็เพิ่มขึ้น ความรู้ก็เพิ่มขึ้น ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่
คือ มหากรุณาก็เพิ่มขึ้น บังเกิดขึ้นเองจากหยุดจากนิ่ง
ต้องทำกันอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกวัน ให้มีความขยันหมั่นเพียร
เพราะเวลาในโลกมนุษย์ เราเหลือจำกัดกันแล้ว เดี๋ยววันเดี๋ยวคืนก็จะหมดเวลาไปเปล่าๆ
อีกทั้งความตายก็ไม่มีนิมิตหมาย จะตายเมื่อไรเราไม่ทราบ เพราะชีวิตที่ผ่านมาเราดำเนินชีวิตผิดพลาด
ในยามที่อกุศลเข้าสิงจิต ให้กระทำความผิดด้วยกาย วาจา ใจ และมันก็แปรไปเป็นวิบากกรรมที่จะมาตัดรอนเราเมื่อไรก็ไม่ทราบ
เราต้องทำความเพียรเรื่อยๆ
ฝึกไปทุกวันควบคู่กับการทำมาหากิน ฝึกหยุดฝึกนิ่งไปเรื่อยๆ อย่าท้อ ให้ใจใสๆ
ใจสบายๆ เดี๋ยวจะเห็นเอง เข้าถึงเอง เพราะของมันมีอยู่แล้ว
ค่อยๆ ประคับประคองกันไปเรื่อยๆ ที่เห็นดวงธรรมก็หยุดไปในดวงธรรมไปเรื่อยๆ
หยุดตรงกลางนั้น เห็นองค์พระก็หยุดในกลางองค์พระให้ใจใสๆ สว่างไปเรื่อยๆ องค์พระจะผุดผ่านมากี่องค์เราก็ดูไปเฉยๆ
ดูไปไม่ต้องคิดอะไร
วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2565