ลูก ต้องหยุดนิ่งได้ เสียก่อน
อย่า เพิ่งสนใจตอน ยากแท้
ท้อ นั้นจักบั่นทอน ห่างเป้า
ถอย จากอธรรมแล้ หยุดให้ใจใส
ตะวันธรรม
อย่าท้อ / เฉย
ในทุกประสบการณ์
อาทิตย์ที่
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 1 |EP.7| : อย่าท้อ/เฉยในทุกประสบการณ์
ตั้งใจนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากัน
หลับตาของเราเบาๆ หลับตาเบาๆ สบายๆ ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น
ให้สะอาดบริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง แล้วก็หยุดใจไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมาสองนิ้วมือ
บริกรรมนิมิต
เราจะกำหนดบริกรรมนิมิตหรือนึกถึงภาพดวงแก้วใสๆ
หรือพระแก้วใสๆ เป็นบริกรรมนิมิตเป็นที่ยึดที่เกาะของใจของเราก็ได้ เอาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อให้ใจอยู่ภายในกลางกายของเรา
คือเคลื่อนย้ายใจของเราจากที่ไปผูกพันติดยึดกับคน สัตว์ สิ่งของ มาอยู่กับดวงใสๆ
หรือองค์พระใสๆ อย่างนี้ใจจะได้คุ้นเคยกับภายใน แต่พอถึงเวลาจริงๆ
เมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนแล้ว ภาพเหล่านี้ก็จะหายไปเอง
เพราะว่าหมดความจำเป็นแล้ว
เนื่องจากเป็นภาพที่เรานึกสมมุติขึ้นมา
จะได้ง่ายต่อการวางใจไว้ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ว่าอยู่ประมาณนี้ โดยมีเครื่องหมายเป็นดวง
ใสๆ ขนาดเล็กใหญ่ขององค์พระหรือดวงใสก็แล้วแต่เรา ชอบขนาดไหนเราก็เอาขนาดนั้น
แต่สำหรับบางท่านที่นึกเป็นภาพแล้ว
มันอดที่จะเค้นภาพไม่ได้ หรือนึกไม่ออก นึกแล้วปวดศีรษะ ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
อย่างนั้นก็ไม่ต้องไปนึกเป็นภาพให้วางใจทำความรู้สึกไว้กลางท้องของเราอย่างนี้ก็ได้นะจ๊ะ
วัตถุประสงค์ที่เรานึกเป็นภาพก็ดี
หรือวางใจนิ่งเฉยๆ ก็ดี ต้องการให้ใจกลับมาอยู่ที่ตั้งดั้งเดิมภายใน
เพื่อให้ใจหยุดใจนิ่งหลังจากที่มันวิ่งไม่หยุดไปในเรื่องราวต่างๆ
ในชีวิตประจำวันมานานแล้ว ทำให้เราไม่พบกับความสุขที่แท้จริง
ดังนั้นเราต้องมาฝึกใจให้หยุดนิ่งอยู่ภายใน ฝึกไปเรื่อยๆ นะลูกนะ
ฝึกไปเรื่อยๆ
อย่าท้อ
หรือเลิกกลางคันกันเสียก่อน หมั่นทำความเพียรไป เราต้องยอมรับว่า เราเป็นมนุษย์ธรรมดา
ไม่ใช่เทวดา เพราะฉะนั้นฝึกใหม่ๆ มันก็มีฟุ้งบ้าง มืดบ้าง เมื่อยบ้าง เบื่อบ้าง
ท้อบ้าง ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปท้อ ให้ทำความเพียรกันต่อไปนะ
บางทีเรานั่งไปแล้วดูเหมือนไม่ก้าวหน้า ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ การที่เราไม่ทำสิ
ถึงจะเรียกว่า ไม่ก้าวหน้า แต่ถ้าเราฝึกกันไปทุกๆ วัน มันก้าวไปข้างหน้าทั้งนั้น
แต่มันอาจจะช้าหน่อย
การที่เราค่อยๆ เดิน
แม้มันจะช้า แต่ก็ถึงเป้าหมาย แต่ถ้าเราไม่เดิน มันก็อยู่กับที่ ไปไม่ถึงเป้าหมาย ก็แปลว่า
ถ้าเราไม่นั่งฝึกใจให้อยู่ภายในก็คือการไม่ยอมเดินนั่นเอง
แล้วอย่างนี้มันจะถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างไร
เราต้องฝึกนะ
เราถึงจะสมหวังในชีวิต คือการได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง
ซึ่งมันมีเพียงประการเดียว คือ หยุดกับนิ่ง นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ
สุขอื่นที่นอกจากใจหยุดนิ่งไม่มี
ก็แปลว่า
เราจะไปหาความสุขจากที่อื่น จากคนสัตว์สิ่งของ มันไม่มี ที่ไม่เจอเพราะว่า
มันไม่มี ซึ่งผู้ฉลาด มีปัญญาเขาก็ไม่เสียเวลาไปกับการไปหาในสิ่งที่ไม่มี
เพราะสิ่งที่มีอยู่ที่เดียว คือ หยุดกับนิ่งภายใน
เพราะฉะนั้น
ฝึกไปเรื่อยๆ เห็นไม่เห็น ก็ไม่เป็นไร ฝึกไป แต่ฝึกไปเรื่อยๆ ที่ไม่เห็นเป็นไม่มี
ต่างแต่ว่าช้าหรือเร็ว ถ้าเรามีความเพียรทำอย่างต่อเนื่อง สมํ่าเสมอ ถูกหลักวิชชา
คือ วางใจพอดีๆ เดี๋ยวก็สมหวังกันทุกคน
เมื่อดวงตาปิดสนิทอย่างละมุน
ไม่มีลุ้นเร่งจ้องมองที่หมาย
ก็จะพบผู้รู้อยู่กลางกาย
ธาตุอ่อนแก่มากมายถึงปลายทาง
ยิ่งกว่าได้ดื่มสวรรค์อันเอมโอษฐ์
รสแห่งธรรมชนะโลดไม่ขนาง*
รสอะไรไม่อาจสู้กลางของกลาง
ลองเข้าถึงดูบ้างจะรู้เอง!
ตะวันธรรม
เฉย ในทุกประสบการณ์
อาทิตย์ที่
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
มืดก็มีความสบาย
พยายามฝึกไป แล้วก็ปรับใจไปด้วย ทำอย่างไรจึงรู้สึกพอดี
แม้มืดก็มีความสบาย ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ก็ให้รักษาอารมณ์นั้นเรื่อยไปเลย
จนกระทั่งใจนิ่งได้นานขึ้น แต่มันก็ยังมืดอย่างเดิม นิ่งนานแต่ก็มืด แต่ว่านิ่ง
นุ่ม แล้วก็นาน มันก็จะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ
แล้วก็เหมือนว่า เวลา ๑ ชั่วโมง
แต่ก่อนเรานั่งไปรู้สึกทำไมยาวนานเหลือเกิน เมื่อไรจะถึงชั่วโมงสักที แต่ถ้าเราวางใจเป็น
นิ่งๆ นุ่มๆ นานขึ้น มีความรู้สึกว่าเวลาหมดไปเร็วแต่มันก็ยังมืดอยู่
อย่างนั้นก็ถือว่าก้าวหน้านะ ถือว่าดีขึ้นเยอะ ก็ให้ดีใจไว้เถอะว่า
เราทำถูกหลักวิชชาแล้ว ทำต่อไปอีก นิ่ง...นุ่ม...นาน
หรือบางช่วงรู้สึกบางส่วนของร่างกายหายไป มือบ้าง เท้าบ้าง ขาบ้าง
ศีรษะบ้าง แม้บางส่วนหายไปก็อย่าตกใจ นั่นแสดงว่าใจเราเริ่มรวมแล้ว
ตรงไหนบริสุทธิ์ก่อนก็จะหายไปก่อน ก็ค่อยๆ บริสุทธิ์ไปเรื่อยๆ
ทำเฉยๆ
บางคนมาฝึกใหม่ ไม่คุ้นเคยกับประสบการณ์อย่างนี้
พอส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหายไป เกิดความกลัวเลยลืมตา
ซึ่งน่าเสียดายแต่ก็ไม่เป็นไร ดังนั้นก็มีข้อแนะนำว่า ให้ทำเฉยๆ อย่าลืมตา
อย่าขยับตัว แล้วไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น ปล่อยมันไป ทำเฉยๆ แล้วก็นิ่งอยู่ที่เดิม
มันก็ค่อยๆ ขยายส่วนที่หายออกไปเพิ่มขึ้นจนกระทั่งหายหมดทั้งตัวเลย
ตอนนี้ก็อย่าตกใจจนกระทั่งลืมตาและกลัวในการฝึก ขอยืนยันว่าไม่มีอันตรายอะไร จะมีแต่สิ่งดีๆ
เกิดขึ้นตามมาในภายหลังเมื่อตัวหายไป
บางคนรู้สึกตัวยืดก็มี หรือบางทีตัวย่อลงมาเหมือนจะติดพื้นก็ให้ทำเฉยๆ
บางทีมันออกไปทางข้างๆ ไปทางกว้างๆ บางทีก็พองๆ ไปทั้งตัว เราก็ยังคงเฉยๆ
อยู่อย่างเดิม บางทีตัวโยกโคลงบ้างก็ทำเฉยๆ นะ อย่าไปสนใจ แล้วก็อย่าไปเพลินกับความโคลงนั้น
คืออย่าไปคล้อยตาม แต่ไม่ฝืน ให้ทำเฉยๆ เดี๋ยวมันก็หายไปเอง ทำเป็นรู้แล้วไม่ชี้
เฉยๆ บางคนใจเต้นตึ้กตั้ก นึกว่าเป็นโรคหัวใจ ไม่ใช่นะ ให้ทำเฉยๆ
บางทีขนลุกซู่ขึ้นมา นึกว่ามีวิญญาณอะไรมาทำให้เราขนลุก ก็ไม่ใช่อีกน่ะ เฉยๆ
ทำเป็นรู้แล้วไม่ชี้
บางทีตัวเบาเหมือนจะลอยไป พอตัวลอยนี่อาการอย่างนี้ เราไม่เคยเจอ
บางคนกลัว เอามือจับอาสนะซะแน่น เอามือควานหาพื้น หรือบางทีลืมตา
อย่างนั้นก็ไม่ถูกหลักวิชชา บางทีตัวลอยจากพื้นขึ้นไปจริงๆ ก็มี แต่ว่าเป็นบางท่าน
ลอยขึ้นไป เขาเรียกว่า อุพเพงคาปีติ* ก็เฉยๆ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ นิ่งๆ
บางทีนํ้าตาไหลก็แปลกใจ เอ๊ะ เราก็ไม่ได้กลุ้มใจนี่ ทำไมนํ้าตามันไหล
นั่นคือนํ้าตาเย็นเกิดจากความปีติที่เราเอาชนะนิวรณ์ได้ในระดับหนึ่ง
อาการต่างๆ เหล่านี้จะเป็นกับบางคนนะ ไม่ใช่ทุกคน
เพราะฉะนั้นอะไรที่เกิดขึ้นอย่างนี้ หรือนอกเหนือจากนี้ให้ทำเฉยๆ
เพราะเรามุ่งไปที่หยุดกับนิ่ง อาการเหล่านี้ก็คือเครื่องบ่งบอกว่า
เราฝึกก้าวหน้าขึ้น เราเริ่มมีสมาธิอ่อนๆ ขึ้นมาแล้ว เหมือนเริ่มเหยียบฌานของสมาธิ
อยู่ขอบๆ กันแล้วล่ะ
ทีนี้เราก็ยังนิ่งอย่างเดิมไปเรื่อยๆ เดี๋ยวความมืดนั้นก็จะค่อยๆ
สว่างขึ้น บางคนเห็นเป็นจุดเล็กๆ ใสๆ เหมือนดวงดาวในอากาศ
ที่เราเคยเห็นบนท้องฟ้าในยามราตรี จะเห็นจุดสว่างก็ให้นิ่งอย่างเดียวนะ นิ่ง
แล้วก็ทำเฉยๆ อย่างเดิมนั่นแหละ หรือบางทีแสงมันแวบมาจากด้านซ้ายบ้าง
ด้านขวาของดวงตาบ้าง ก็ไม่ต้องไปชำเลืองดู ทำเป็นรู้แล้วไม่ชี้ ทำเฉยๆ
หรือบางทีเหมือนใครเอาไฟมาส่องหน้า หรือคล้ายๆ ใครเปิดไฟไว้ในห้องทั้งๆ
ที่ตอนเริ่มนั่งมันมืด อย่าไปลืมตานะ ทำเฉยๆ หรือบางทีมันหล่นวูบลงไป
อาจจะทำให้เราผวาบ้างก็ช่างมัน เฉยๆ
* ปีติโลดโผน รู้สึกกายเบา ใจเบา เหมือนตัวลอยขึ้นไปในอากาศ
อย่าเป็นคนช่างสงสัย
ให้ทำเหมือนหุ่นยนต์ที่ไม่มีมันสมอง ไม่ต้องไปวิเคราะห์ วิจัย
วิจารณ์ประสบการณ์ว่า ถึงขั้นนั้นขั้นนี้แล้วหรืออะไรต่างๆ
ให้ทำตัวเหมือนนักเรียนอนุบาล แม้ตัวจะเป็นผู้ใหญ่ แต่ใจให้อินโนเซ้นท์เหมือนเด็ก
เด็กซึ่งไม่มีความรู้อะไรมากมาย ทำเฉยๆ ไป
ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว เป็นสัญญาณว่าเราก้าวหน้าในการทำสมาธิ
สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปคือ เฉยๆ รู้แล้วไม่ชี้ เหมือนกับผู้ที่เจนโลก
ผ่านโลกมามาก เมื่อมีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีคนสรรเสริญนินทา มีสุขมีทุกข์
ใจก็เป็นปกติ ก็ต้องทำอย่างนั้นแหละ
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็เฉยๆ
หรือบางทีมีภาพนิมิตเลื่อนลอยที่ครูบาอาจารย์ต่างๆ แนะนำว่า อย่าไปยึด
อย่าไปติดนิมิต เป็นภาพนรกบ้าง สวรรค์บ้าง เทพบุตร เทพธิดาบ้าง หรือภาพอะไรต่างๆ สารพัด
สมาธิระดับนี้ มันไปเห็นนรกสวรรค์ยังไม่ได้
แต่ภาพเหล่านั้นมาฉายให้เราเห็น เพื่อจะบอกให้รู้ว่าจิตเรายังไม่บริสุทธิ์
ภาพนิมิตตรงนี้แหละที่ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำว่า อย่าไปยึด
อย่าไปสนใจเพราะว่ามันไม่ใช่ของจริงจังอะไร รวมทั้งภาพนิมิตที่เราสมมติเป็นดวงใสหรือองค์พระ
พอถึงเวลาใจหยุดนิ่งแล้วก็ทิ้งไป แต่นิมิตที่เราไม่ได้ติด
เมื่อเวลาเรานิ่งสนิทนิมิตก็มาติดเรา เป็นของจริงอยู่ภายในนั้นมันอีกแบบหนึ่ง
ซึ่งจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นมีอะไรให้ดู เราก็ดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ
โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น หยุดนิ่งๆ ให้ใจใสๆ ไปเรื่อยๆ อย่าตั้งใจเกินไปนะ
วางเบาๆ ค่อยๆ ประคับประคองใจของเราไป
วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565