ปฏิบัติ
ธรรมนำสุขให้ ชีวา
ต้อง ตรึกกลางกายา อย่าคร้าน
ทำ ได้ตลอดเวลา ดียิ่ง
จริง
อย่างนี้ชัวร์ล้าน
หมื่นร้อยเปอร์เซ็นต์
ตะวันธรรม
วิธีปฏิบัติธรรม
วันอาทิตย์ที่
๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 2 |EP.23| : วิธีปฏิบัติธรรม
ฝึกหยุดใจสม่ำเสมอ
(เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ........)
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบาๆ พอสบายๆ
ทำใจของเราให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง แล้วก็หยุดใจไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
ให้ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ หรือตรึกถึงพระแก้วใสๆ
แล้วก็หยุดในกลางองค์พระใสๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ชัดก็ไม่เป็นไร
ให้ใจเราหยุดอยู่ภายในอย่างเบาสบายแล้วก็ผ่อนคลาย
หมั่นฝึกฝนให้ใจมาหยุดมานิ่งอย่างนี้ให้ได้ทุกวัน อย่าท้อ ให้หมั่นทำทุกวัน
เพราะเรามาเกิดเพื่อการนี้ฝึกไปเรื่อยๆ
วันนี้ใจไม่หยุดก็ไม่เป็นไร
พรุ่งนี้เราฝึกใหม่ ถ้าเราไม่ทอดธุระ ทำสม่ำเสมอทุกวันฝึกไปเรื่อย
ปรับใจของเราไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งจะเป็นวันแห่งความสมปรารถนา
อย่าให้แต่ละวันผ่านไปเฉยๆ
โดยไม่ได้เก็บใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ต้องฝึกควบคู่กับภารกิจประจำวัน
ทั้งนั่ง นอน ยืน เดิน กิน ดื่มทำ พูด คิด หยุดนิ่ง ลิ้มรส ทำควบคู่กันไป
ฝึกทุกวัน
การทำอย่างนี้ได้ชื่อว่า เรายกใจของเราให้สูงส่งใจจะสูงส่งได้ขึ้นอยู่กับว่า
เราเอาใจไปผูกไว้กับอะไร ถ้าเราผูกพันไว้กับพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สูงที่สุด
เป็นวัตถุอันเลิศ อันประเสริฐที่สุด ใจเราก็จะพลอยสูงตามไปด้วย
สิ่งอื่นที่จะสูงส่งเท่าพระรัตนตรัยเป็นไม่มี
มนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหมก็ยังต้องกราบไหว้พระรัตนตรัย
ยกเว้นผู้ที่ไม่มีความรู้ว่าอะไรคือที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงก็ตั้งสมมติฐานกันไปว่า
มีเทพเจ้าองค์นั้นองค์นี้เป็นสิ่งสูงส่ง ที่แตะต้องไม่ได้ เมื่อเซ่นสรวงบูชา
เอาอกเอาใจ ก็จะได้รับประทานพรพิเศษ แต่ว่าความจริงมันไม่มีตัวตน
เหมือนหญิงสาวที่นึกถึงชายหนุ่มในฝัน
หรือชายหนุ่มนึกถึงหญิงสาวที่อยู่ในฝันที่ไม่มีจริง
แต่พระรัตนตรัยมีอยู่จริงภายในตัวเราทุกคน เราสามารถเข้าถึงได้
ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม ถ้าหยุดใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ได้ ก็เข้าถึงได้
มีตัวอย่างเยอะแยะ ที่ต่างเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรมเผ่าพันธุ์ เมื่อทำใจให้หยุดนิ่งในกลางกาย
ก็มีประสบการณ์ภายในเหมือนกับชาวพุทธ คือ
ใจตกศูนย์ ดวงธรรมผุดขึ้นมาเป็นดวงใสๆ
แล้วก็มาพร้อมกับความสุข ความสุขนั้นก็จะทำให้ใจอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา แล้วก็เคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน
จนถึงพระรัตนตรัยในตัว นี่ไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอย
ไม่ได้เป็นสมมติฐานแต่เป็นสิ่งที่มีจริงอยู่ภายในตัวทุกคน
ฝึกฝนอบรมใจของเราไปเรื่อยๆ นึกทุกวัน
ตรึกทุกวันให้ได้มากที่สุดในแต่ละวัน
หรืออย่างน้อยก็ทำการบ้านที่ได้บอกเอาไว้ใจเราจะสูงอยู่ตลอดเวลา
เป็นทางมาแห่งบุญและคุณธรรมอันประเสริฐจะเกิดขึ้นภายในตัวเรา
เราต้องพร้อมเสมอสำหรับการเดินทางไปสู่ปรโลก ในทุกหนทุกแห่ง ถ้าใจหยุดได้
จะไปที่ไหนหรืออยู่ที่ไหนก็ได้ เพราะว่ามีที่พึ่งภายใน
มีความสุขภายในเป็นพื้นฐานแล้ว เพราะฉะนั้นหมั่นฝึกไปเรื่อยๆ
หยุดแรก
มันยากตอนแรกนิดหนึ่ง ไม่ได้ยากเยอะ
คือตอนที่เราจะนำใจกลับมาตั้งไว้กลางกาย ที่ยากเพราะเราคุ้นกับการส่งใจไปภายนอก
ไปติดในคน สัตว์ สิ่งของต่างๆ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสรุปไว้ว่า ติดในรูป เสียง
กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ วัตถุรูปอย่างนี้ เสียงเพราะๆ อย่างนี้
หรือไม่ก็นำมาครุ่นคิดที่จะให้มันออกไป หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ติดในคน สัตว์
สิ่งของ สิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตนั่นแหละ
ที่ยากคือ เมื่อเราเอาใจมาไว้ภายใน
มันก็จะออกไปภายนอกเสมอ เพราะความคุ้น เราจับปลามาไว้ในกระป๋องที่มีน้ำมันก็จะพยายามดิ้นรนลงไปในหนองน้ำ
เพราะมันไม่คุ้นอยู่ในกระป๋องใจเราเอามาไว้ภายในมันก็จะกระโดดโลดเต้นไปกับสิ่งที่เราคุ้น
ในธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน ความสนุกสนานเพลิดเพลินอะไรต่างๆ
เหล่านั้น เพราะฉะนั้นตอนดึงกลับเข้ามาเราก็ต้องยอมรับว่า เราก็ต้องให้เวลากับตัวเราเองให้โอกาสในการฝึก
แล้วถ้ามันหลุดออกไปบ้างก็ช่างมัน แต่พอรู้ตัว เราก็ดึงกลับมาอยู่ภายในใหม่
ความอยากได้
ยากอีกตอนคือ ความอยากได้ เพราะเรารู้ว่าถ้าเข้าถึงแล้วดี
วิเศษ ทำให้เรามีความสุข เป็นมนุษย์มหัศจรรย์ได้รู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิตๆ
เพราะเราฟังมามาก เราก็เลยอยากได้มาก อยากได้มากน่ะ ไม่มีปัญหา แต่มันมากเกินไป
คือเอาความอยากมาใช้ตอนนั่ง ความอยากได้ควรใช้ตอนแรกๆ สมัครใจที่เราจะทำ
แต่ว่าเวลานั่งต้องหยุดความอยากทีนี้มันยากตอนที่อยากจะหยุดใจเลยนี่ มันก็เลยหยุดใจยาก
ทีนี้พออยากได้มาก เราก็เลยตั้งใจมาก ถ้าเรานึกถึงภาพ
เราก็จะอดเค้นภาพไม่ได้ อดกดลูกนัยน์ตาลงไปดูในท้องไม่ได้ นี่มันยากแค่นี้
ไม่ได้ยากอะไรมากมายไปกว่านี้เลย
ถ้าหากเราเริ่มต้นด้วยความสบาย
ด้วยความสุข แค่ทำความรู้สึกว่า มีดวงใสๆ มีพระแก้วใสๆ อยู่ภายใน แค่เป็นเพียงความรู้สึกว่า
“มีอยู่” ในตัว แต่ว่ามันไม่ได้เห็นหรอกนะ
เราเริ่มต้นด้วยการทำความรู้สึกว่า มีดวงแก้วใสๆ มีพระแก้วใสๆ มันก็จะลดความตั้งใจมากเกินไปกับกดลูกนัยน์ตาไปดูเพราะเราคุ้นกับการเห็นด้วยลูกนัยน์ตา
เราจึงเข้าใจผิดว่าเห็นในท้องมันก็คงจะต้องใช้ลูกนัยน์ตามองลงไปมั้ง มันยากตรงนี้
ทีนี้พอเราเข้าใจว่าตาเนื้อเห็นได้เฉพาะตอนเราเปิดเปลือกตามองข้างนอก
แต่เป็นไปไม่ได้ที่เอาลูกนัยน์ตาเนื้อมองเข้าไปในท้อง
ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมีกล้องเอกซเรย์หรอก เพราะฉะนั้นดวงตา ก็คือดวงตาที่จะเห็นได้เฉพาะข้างนอก
เขาเรียกว่ามังสะจักษุ ส่วนธรรมจักษุเห็นข้างใน เพราะฉะนั้นเราก็อย่าเอาลูกนัยน์ตามาใช้
แล้วถ้าเราป้องกันความอยากที่จะเห็น เราก็ต้องคิดว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาน่ะ ของมันมีอยู่แล้วในตัว
ไม่ใช่ว่าเราไปทำให้มีขึ้น แต่ว่าเป็นของละเอียด
หน้าที่เราก็ต้องทำใจให้ละเอียดเหมือนของที่มี เดี๋ยวเราก็เห็น แล้วก็ยืนยันกับตัวเองว่า
เราต้องเห็นอย่างแน่นอน
แล้วหลังจากนั้นก็ทำใจให้สบาย คล้ายๆเป็นของตายอยู่แล้วยังไงก็ต้องเห็น ก็ทำสบายๆ
ให้ใจนิ่งๆนุ่มๆ ทีนี้พอเราปลงได้อย่างนี้ หรือคิดได้อย่างนี้
การนั่งรู้สึกจะง่ายเข้า
กังวลกับฐานที่ ๗ มากเกินไป
กับอีกพวกกังวลกับฐานที่
๗ มากเกินไป คือพอได้ศึกษาว่า ฐานที่ ๗
เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางไปสู่อายตนนิพพานก็เลยพยายามควานหาฐานที่ ๗ ให้เจอ ก็มัวกังวลอยู่อย่างนี้ว่า เออ ใจเราวางอยู่ตรงนี้ มันตรงฐานที่ ๗
ไหม หรือมันไม่ตรงก็พยายามบังคับให้มันอยู่ตรงนั้น ทีนี้ใจไม่ชอบบังคับ
แต่ชอบประคอง พอไปบังคับ มันก็เกร็ง
ตึงไปหมดเลย มันก็เครียด
เราก็ต้องวางใจเฉยๆ
อย่าไปกังวลกับฐานที่ ๗ มากเกินไป หรือเราคิดอย่างนี้ก็ได้ว่า
ฐานที่ ๗ ขยายกว้างออกไปสุดขอบฟ้าแล้ว ตอนนี้เรานั่งอยู่กลางฐานที่ ๗
แล้วหลังจากนั้นก็นิ่งเฉยๆ คิดอย่างนี้จะช่วยแก้ความรู้สึกที่ควานหาฐานที่ ๗
กับควานหาของในที่มืด คือเราอยากจะควานหาดวงใสๆ องค์พระใสๆ ก็มัวกวาดตามอง
อย่างนี้มันก็ตึงสิ ไม่ถูกวิธี
อย่าไปควานหาอะไร แค่เรานั่งนิ่งๆ เฉยๆ
เพื่อให้ใจเปลี่ยนสภาวะจากหยาบไปละเอียด
แล้วหลุดจากกายหยาบออกจากที่แคบไปสู่ที่กว้าง ถ้านั่งอย่างนี้
มันมีความสุขสบายเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้อง
แล้วถ้านิ่งในระดับที่ตัวหายไปแล้ว
มีความรู้สึกเหมือนอยู่ในกลางอวกาศ ก็เกิดความสงสัยว่า จะเอาใจไว้ตรงไหน
เพราะตัวไม่มีแล้ว ฐานที่ ๗ ก็หาไม่เจอ ก็มัวควานหาสิ พอควานหาอ้าว ใจก็ถอนมาใหม่ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามีความรู้สึกเหมือนตัวเราว่างๆ
อยู่กลางอวกาศ เคว้งคว้าง ไม่ต้องไปมัวควานหาฐานที่ ๗ เราก็นิ่งอยู่ตรงนั้นแหละ
เหมือนเราอยู่ในกลางฐานที่ ๗ แล้ว ไม่ต้องหา และไม่ต้องไปคิดว่า ใจอยู่ตรงไหน
เอาว่าสบายตรงไหนก็เอาใจไว้ตรงนั้น แล้วก็ปล่อยให้มันเป็นไป โดยไม่ต้องคิดอะไร
อย่าลืมว่า เรากำลังจะเปลี่ยนระบบที่เราคุ้นเคย
ไปสู่ระบบความไม่คุ้นเคย เราคุ้นเคยกับระบบของการใช้ความคิดแต่เรากำลังจะเปลี่ยนไปสู่ระบบของการใช้ความไม่คิด
แค่ทำจิตให้หยุดนิ่ง เพราะฉะนั้นก็ให้ทำอย่างที่ได้แนะนำ สิ่งที่ยากมันก็จะง่ายสำหรับเราแล้วล่ะ
ฟุ้ง
แต่ทีนี้แม้ทำอย่างนี้ใจก็อดจะฟุ้งไม่ได้ ถ้าอดไม่ได้ก็ไม่ต้องอด
ก็ปล่อยให้มันฟุ้งบ้าง ตามใจเขาไปก่อน แต่อย่าตามใจมาก
พอรู้ตัวก็มาเริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ นิ่งใหม่ พอเรานิ่ง
อ้ะ ไปอีกแล้ว เพิ่งนิ่งได้แค่ ๕ วินาที อ้ะ ไปแล้ว ๑๐ นาที ก็ช่างมัน รู้ตัวก็มาอีก
๕ วินาที เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ
เดี๋ยวเวลาแห่งความฟุ้งก็จะลดลงมา แล้วจะมาเพิ่มเวลาแห่งความไม่ฟุ้งมาทดแทนกัน เพราะเราเป็นคนธรรมดา เราก็นั่งแบบคนธรรมดา คนธรรมดาก็มีฟุ้งบ้าง
ง่วงบ้าง เมื่อยบ้าง มืดบ้างอะไรต่างๆ เหล่านั้น ก็ให้ทำแบบธรรมดาๆ อย่างนี้
ทีนี้พอทำอย่างนี้แล้วใจก็จะสบาย มันไม่ถึงกับถูกอยู่ในกรอบจนเกินไป
แค่อยู่ในลู่ คล้ายๆ เราอยู่ในเส้นรอบวง แต่เส้นรอบวงนั้นขยายกว้างออกไป คือ
ยังอยู่ในลู่นั่นแหละ เพราะฉะนั้นเราก็แค่นิ่งอย่างเดียว
เฉยกับทุกประสบการณ์
พอเรานิ่งอย่างเดียว ใจมันก็สบาย ตรงสบายนี่แหละมันก็จะวูบวาบเกิดขึ้นภายใน
ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับเรา แต่ก็อย่าไปตื่นเต้นกับทุกๆ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น บางประสบการณ์นี่มันเสียวๆ
เหมือนโดนดึงดูดเข้าไปข้างใน อย่าไปฝืน
อย่าไปยั้งเอาไว้ อย่าไปหิ้วตัวเราออกมา ทำเฉยๆ แต่ถามว่าหวาดเสียวไหม มันก็หวาดเสียว
แต่ถามว่าอันตรายไหมไม่อันตราย
ไม่อันตรายแล้วเป็นไง มันเป็นสิ่งที่ดีมาก
แล้วถ้าสมมติว่ารู้ว่ามันดีมากแล้วนี่ แต่มันยังเสียวแล้วจะทำไง
ก็ปล่อยให้มันเสียวไป แล้วพอเสียวมันจะหลุดออกมาหยาบใหม่ เราก็เริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นใหม่ อ้าว!
เสียวอีกแล้ว เพราะมันตกวูบลงไปอีกแล้ว ก็ต้องยอมให้เสียวอีก จะเป็นอย่างนี้สักกี่ครั้งก็ช่างมันจนกระทั่งมันชักคุ้น
พอคุ้น คราวนี้ไม่หวาดเสียวแล้ว
กลายเป็นความบันเทิงมีความสุขแล้วก็สนุกกับการเคลื่อนหรือหล่นเข้าไปข้างในอย่างละมุนละไม
เพราะเราคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านั้นแล้ว ใจมันก็นิ่งนุ่ม แม้จะยังไม่สว่าง แต่เป็นความมืดที่น่ารัก ที่เป็นมิตรกับเรา
เราก็อยู่ตรงนี้ไปเรื่อยๆ นานๆ นานแค่ไหนก็ช่างมัน แล้วก็จะเปลี่ยนจากนานๆ
มาเป็นไม่นาน คือมันก็จะอยู่ มันก็จะวูบขึ้นมา สว่างขึ้นมา
แต่ความสว่างข้างในนี่ เราไม่คุ้น ตรงนี้เรามักจะเข้าใจผิดคิดว่ามีใครเอาไฟส่องหน้า
หรือถ้านั่งในห้อง เราก็ลืมไปว่าเราปิดไฟไปแล้ว เรานั่งอยู่ในห้องมืด
นึกว่าใครเดินเข้ามาเปิดไฟในห้อง เพราะความสงสัยทำให้เราลืมตามาดู
เพื่อให้หายสงสัยพอลืมตามาดูใจมันก็ถอนขึ้นมา ปรากฏว่าข้างนอกห้องก็ยังมืดเหมือนเดิม
แต่มันสว่างมาจากภายใน ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเราจะทำอย่างไร ก็ช่างมันนะ
ให้มันหายสงสัย แต่อย่าหลายที สงสัยทีเดียวก็พอแล้ว เพราะความจริงก็คือ
จิตของเราเอาชนะความมืดในใจที่เรียกว่า นิวรณ์ ได้แล้ว สิ่งที่บดบังหรือปิดกั้นใจ ไม่ให้พบความสว่าง
เพราะฉะนั้นเราก็เฉยอีก ช่างมัน
อย่างเดียว สองคำ แล้วก็นิ่งต่อไป
บางคนก็ตัวโยก ตัวโคลงบ้าง โคลงเคลงเหมือนนั่งเรือออกท้องทะเล
เจอคลื่นก็โคลงเคลงๆ บางคนก็กลัว บางคนก็สงสัย บางคนก็สนุกเพลินๆ
สิ่งที่เราควรทำก็คือเฉยๆ
ในทุกๆ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น อย่าไปกังวลกับมัน อย่าไปติดใจอย่าไปกลัว คือเฉยๆ
อยู่กลางๆ ไม่ใช่กลัว
แล้วก็ไม่ใช่กล้าจนบ้าบิ่นคล้อยตามกันไปอย่างนั้น พอเราไม่สนใจ
เดี๋ยวสิ่งเหล่านั้นก็หายไปเอง เราทำเฉยๆ แล้วมันก็จะนิ่งเข้าไปเรื่อยๆ
นี่เป็นบางคนนะ ไม่ใช่ทุกคนที่เจออย่างนี้
หรือบางคนตัวยืดขึ้น ตัวเบา รู้สึกเหมือนลอยขึ้นมา บางคนลอยจริงๆ
ขั้นนี้เขาเรียกอุพเพงคาปีติ ที่มีปีติก็เพราะว่าเอาชนะความฟุ้ง ความง่วง ความท้อ ความโกรธ ความรัก
ความชัง ความสงสัยอะไรเหล่านั้น ตัวมันก็เบา ลอย บางคนลอยจริง แต่วื้ดเดียว
แล้วมันก็หล่นลงมา แต่บางคนเป็นแค่ความรู้สึกว่าลอย แต่ไม่ได้ลอยจริง
บางคนกลัวลอยหลุดออกไปเลยจริงๆ ก็เอามือจับคว้าอาสนะที่นั่งเอาไว้
บางคนลืมตาขึ้นมาให้มันหายสงสัยก็มี เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราควรทำคือเฉยๆ นิ่งๆ ที่ลอยจริงน่ะ ไม่ค่อยจะพบเท่าไร
ล้านคนจะมีสักคนหนึ่งแต่ที่รู้สึกว่าลอยจะมีเยอะ
คนที่ลอยจริงมีเมื่อสมัยสัก ๔๐ กว่าปี มีสามเณรใจนิ่งเกิดอุพเพงคาปีติ
ตัวลอยขึ้นไป แล้วก็ลอยลง
ก่อนหน้านี้ก็มีพระที่ปฏิบัตินั่งอยู่ในกลดแล้วลอยก็มี แต่ก็แวบเดียว
ไม่ได้ลอยนานอีกท่านหนึ่งเป็นคฤหัสถ์ เพิ่งกลับมาจากเมืองนอก
ไปนั่งใต้ต้นไม้ที่เหมืองแร่ของตัว ไม่รู้จะทำอะไร ก็ไปนั่งสงบๆ ทำใจนิ่งๆ
ฝึกสมาธิก็ไม่เป็น แล้วก็ไม่ค่อยเชื่อ เพราะเป็นหนุ่มนักเรียนนอก
แล้วใจมันนิ่งเองถึงระดับอุพเพงคาปีติ
ตัวก็ลอยจนหัวไปชนกิ่งไม้ ตรงก้อนหินใต้ต้นไม้ที่ตัวนั่งอยู่
เกิดความสงสัยว่าลอยจริงไหม ก็ลืมตาดูปรากฏว่า ลอยจริง เลยหล่นตุ้บลงมา แต่อย่างนี้นานๆ
ก็จะเจอสักคน บางคนสงสัย ขณะปฏิบัติก็จะถือผ้าเอาไว้ พอตัวลอยก็ทรงสมาธิขั้นนี้ไว้
เอาผ้าไปคล้องกิ่งไม้ แล้วก็เคลื่อนลงมา ลืมตาขึ้นดู เออ ลอยจริง แต่ว่านานๆ
จะเจอสักคน
อาการตัวลอยอย่างนี้ เป็นปีติในระดับอุพเพงคาปีติ
ต้องประกอบไปด้วยบุญเก่าที่เคยทำเอาไว้ ไม่สาธารณะทั่วไป
แต่รู้สึกว่าลอยจะเป็นส่วนใหญ่ หนุ่มนักเรียนนอกท่านนั้นต่อมาก็บวชเป็นพระ
ตอนนี้เป็นพระเถระไปแล้ว
ทีนี้ถ้ามีอาการอย่างนี้
เราก็ทำเฉยๆ เพราะใจเราไม่ได้มุ่งเกี่ยวกับเรื่องลอย
เรามุ่งเพื่อให้เข้าไปถึงพระรัตนตรัย มันก็จะผ่านอารมณ์นี้ไปได้ แล้วก็แล่นไปถึงพระรัตนตรัยภายในเพราะฉะนั้นถ้าอาการใดอาการหนึ่งเกิดขึ้น เราก็เฉยๆ หยุดนิ่งๆ
ทำสบายๆ มีสิ่งที่น่าศึกษาเรียนรู้อีกเยอะแยะ เป็นความรู้ภายใน ที่เรียกว่าวิชชา ๓
นั่นแหละ บุพเพนิวาสานุสติญาณระลึกชาติหนหลังได้ จุตูปปาตญาณ รู้เรื่องภพภูมิ
กฎแห่งกรรมแล้วก็อาสวักขยญาณ มุ่งไปขจัดกิเลส ต้นเหตุแห่งความทุกข์
ตอนนี้เราก็วางใจให้นิ่งๆ หยุดนิ่งอย่างสบายๆ หยุดเบาๆ
จะประคองใจหรือบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง ไปด้วยก็ได้ จะไม่ภาวนาก็ไม่เป็นไร
ภาวนาไปด้วยใจที่เบิกบาน โดยไม่ใช้กำลังในการภาวนา เหมือนบทสวดมนต์ หรือเนื้อเพลงที่เราคุ้นที่ดังออกมาจากใจเราเองโดยไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้น
ถ้าจะภาวนาความละเอียดของเสียงต้องระดับนั้น ใจจะได้รวมเร็ว
แต่ว่าพอใจเราหยุดเป็นสักครั้งหนึ่ง ตอนหลังก็ไม่ต้องภาวนาแล้ว แค่วางนิ่งๆ
พอนิ่งๆ ก็โล่งแล้ว โปร่ง เบา สบาย ตัวขยาย แล้วก็เห็นไปตามลำดับ
พอเห็นองค์พระแล้วนี่ เราฝึกให้คุ้นเคย นั่ง นอน ยืน
เดินหลับตาลืมตาก็เห็นองค์พระให้ชัดเจนเท่ากัน พอฝึกบ่อยๆ มันก็ชำนาญ
เดี๋ยวเราก็จะเห็นองค์พระผุดผ่านเกิดขึ้นมาใส สว่างองค์ใหม่ๆ
ที่ผุดขึ้นมาก็จะมีลักษณะที่งามยิ่งขึ้น จนได้ลักษณะมหาบุรุษที่ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการทีเดียว
พอถึงตรงนี้ใจก็จะอยู่กับพระแล้วล่ะ จะมีความรู้สึกพระเป็นเรา
เราเป็นพระ จะผุดขึ้นมาเป็นพระ หรือพระผุดผ่าน หรือพระครอบเราอยู่อย่างนั้น
ก็จะเข้าไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวก็จะเห็นพระในพระ พระในพระ พระในพระ เข้าไปก็จะใสสว่าง
เพราะฉะนั้นตอนนี้เราฝึกนะ ฝึกหยุดนิ่งอย่างสบายๆ ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น
อากาศกำลังสดชื่น เหมาะสมต่อการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว ให้ประคองใจ ให้หยุดนิ่งๆ
กันทุกคน
วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565