สิ่งดีๆ เริ่มต้นที่ใจหยุด
ตะวันธรรม
ปรับกายให้ผ่อนคลาย
ปรับใจให้เบาสบาย
วันอาทิตย์ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 3 |EP.5| : สิ่งดีๆ เริ่มต้นที่ใจหยุด
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบาๆ พอสบายๆ
ทำใจให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใสไร้กังวลในทุกสิ่ง แล้วก็ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี
ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายให้หมด ตั้งแต่ใบหน้า ศีรษะ
คอทั้งเนื้อทั้งตัวของเราให้ผ่อนคลาย
จะนั่งสมาธิให้ดีต้องผ่อนคลายร่างกายให้ดี แล้วก็ปรับใจของเรา
ต้องเบาๆ ทั้งกายและใจ หลับตาก็ต้องเบา อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา เหมือนเรานอนหลับอย่างนั้นแหละ
ซึ่งช่วงนั้นเราก็ไม่ได้คิดอะไร แต่ก่อนหน้านั้นอาจจะมีเรื่องผ่านเข้ามาในใจ
เมื่อเราปล่อยให้มันผ่านไปก็ถึงจุดที่ไม่ได้คิดอะไร เปลือกตาของเราก็จะปิดพอสบายๆ
ต้องทำให้ถูกหลักวิชชานะ ใจจะได้หยุดนิ่งได้เร็ว
วิธีแก้ฟุ้ง
ต้องยอมรับว่าในแต่ละวัน ความคิดมากมายที่ผ่านเข้ามาในใจ
พอถึงเวลาเราเริ่มนั่งสมาธิ ใหม่ๆ มันก็คงจะมีความคิดเหล่านี้ผ่านเข้ามาในใจ
มากบ้าง น้อยบ้าง ก็ให้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าเราไม่สนใจมัน
ความคิดเหล่านั้นก็จะผ่านไปแล้วอย่าไปถือว่าความคิดที่ผ่านไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการงาน
บ้านช่อง หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้เป็นอุปสรรคของการทำสมาธิ
ถ้าเราคิดอย่างนี้แล้วเดี๋ยวเราจะต่อต้าน
คือพยายามจะฝืนจะบังคับไม่ให้ใจของเราไปคิดในเรื่องราวต่างๆ มากจนเกินไป
จนทำให้เกิดอาการตึงเครียดทั้งกายและใจ
ถ้าเราไปต่อต้านไปฝืนสิ่งนั้น
หรือพยายามรวมใจให้เป็นสมาธิ ถ้าทำอย่างนี้จะได้ผลไม่เต็มที่ มันได้สำหรับบางคน
แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่เกิดประโยชน์อันใด เพราะฉะนั้นเรายอมรับธรรมชาติตรงนี้
แล้วเราก็เฉยๆ กับมัน ไม่ว่าสิ่งที่ผ่านเข้ามาในใจนั้นจะเป็นเรื่องดี เรื่องไม่ดี
หรือเรื่องกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เราเฉยๆ เดี๋ยวมันจะค่อยๆ หมดไปเอง
มันจะอยู่กับเราได้ไม่นานหรอก
ถ้าเรารู้สึกว่า มันผ่านเข้ามามากเหลือเกิน
ก็ให้เผยอเปลือกตาขึ้นสักนิด เพราะมันจะฟุ้งตอนเราปิดเปลือกตาเผยอสักนิดหนึ่งความฟุ้งก็จะเบาบางลงไป
แล้วเราก็ค่อยๆ เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ ทำอย่างนี้ทุกวันเลย ให้สม่ำเสมอ
จากฟุ้งมากก็จะมาฟุ้งน้อย จากฟุ้งน้อยก็จะไม่ค่อยฟุ้ง
และมันก็จะหยุดนิ่งเองอย่างสบายๆ ง่ายๆ ถ้าเราทำถูกหลักวิชชา
ภารกิจกับจิตใจไปด้วยกัน
ในชีวิตประจำวัน เมื่อเราลืมตาทำภารกิจอะไรก็ตาม
ให้ทำความรู้สึกว่าใจอยู่ตรงกลางท้อง เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือให้ใจคุ้นๆ
กับภาพดวงแก้วใสๆ เพชรใสๆ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว องค์พระ
หรือภาพมหาปูชนียาจารย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็นึกธรรมดาๆ นึกไปเรื่อยๆ
โดยไม่คาดหวังว่า จะชัดหรือไม่ชัด
เพราะวัตถุประสงค์ของเราต้องการให้ใจคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
จะช่วยได้มากทีเดียว เวลาเรามานั่งหลับตามันจะได้ง่าย
ทีนี้พอเราลืมตาทำภารกิจอะไรก็แล้วแต่ อาบน้ำ ล้างหน้า
แปรงฟัน รับประทานอาหาร ปัดกวาดบ้าน ถูบ้าน ไปทำงาน เรียนหนังสือ
จะทำอะไรก็แล้วแต่ก็ฝึกไป ลืมตาก็ฝึก นึกไปเรื่อยๆ ให้ใจคุ้นกับศูนย์กลางกาย
ถ้าทำอย่างนี้ได้ทั้งวัน จะมีอานิสงส์ส่งให้ตอนที่เรามานั่งสมาธิ แค่เราหลับตาเบาๆ
ใจเราก็จะมาอยู่ภายในแล้ว เพราะเราตรึกบ่อยๆ นึกบ่อยๆ ชัดไม่ชัดก็ไม่เป็นไร
มันก็จะคุ้น พอหลับตาทำสมาธิภาวนา ใจมันก็จะนิ่งง่าย ใจนิ่งๆ นุ่มๆ ละมุนละไม
ฝึกหยุดนิ่งให้เป็นเสียก่อน
อย่าไปคาดหวังว่า เราจะต้องเห็นโน่น เห็นนี่
เห็นอะไรอย่างที่เราเคยได้ฟังในเบื้องต้น แค่ว่าใจคุ้นกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
แล้วก็ทำหยุดทำนิ่งให้เป็นเสียก่อน ให้ได้ปีติสุขที่เกิดจากสมาธิ
ให้ได้ตรงนี้เสียก่อน สิ่งที่เราจะเห็นภายในมันก็เป็นขึ้นมาเอง
เพราะว่ามันมีอยู่แล้วในตัว เราไม่ต้องไปแสวงหาหรือไปควานหาอะไร
เป็นแต่เพียงสิ่งนั้นเป็นของละเอียด ใจเราต้องละเอียดเท่ากับสิ่งนั้น
จึงจะเห็นกันได้ เพราะฉะนั้นเบื้องต้นเราฝึกให้ใจหยุดใจนิ่งอย่างเดียวก่อน
อย่าเพิ่งไปคาดหวังอะไร
เมื่อหยุดนิ่งแล้ว...ประสบการณ์ภายในจะมาเอง
ใจหยุดใจนิ่งนี่แหละจะทำให้ใจละเอียด
พอใจละเอียดเดี๋ยวมันก็เคลื่อนเข้าไปข้างในเอง ยิ่งหยุด ยิ่งนิ่ง
ยิ่งดิ่งไม่หยุดยั้งเลย มันจะเคลื่อนเข้าไป
แล้วเราก็จะได้สัมผัสกระแสธารแห่งความปีติสุขที่เกิดขึ้น
กายสงบ ใจสงบ กายเบา ใจเบา ที่เรียกว่า ปัสสัทธิ ตัวโล่ง โปร่ง เบาสบาย
ถ้าเรารักษาตรงนี้ให้ต่อเนื่อง ความสุขก็จะมา เป็นความสุขที่เราไม่เคยเจอมาก่อน
ถ้ากระแสธารแห่งความสุขอย่างนี้มา เมื่อกายใจเราสงบระงับ นิ่ง
เราจะเกิดความพึงพอใจ ชอบใจกับอารมณ์นี้มากกว่าสิ่งที่เราเคยเจอในชีวิตประจำวัน
คือ กายเบา ใจเบา ขยาย แล้วมันจะมีกระแสแห่งความสุขเกิดขึ้น
ชนิดที่เราพูดไม่ออกบอกไม่ถูกเหมือนกันว่า เราจะไปอุปมาเปรียบเทียบกับอะไร
เพราะภาษาในเมืองมนุษย์มีข้อจำกัดในการอธิบายความรู้สึกชนิดนี้
ที่ทำให้เราเกิดความพึงพอใจ ชวนติดตามต่อไปอีกอย่างไม่เบื่อหน่าย
ยังกระตือรือร้นด้วยความสมัครใจเกิดขึ้นนั่งในเบื้องต้นเอาให้ได้ตรงนี้กันเสียก่อน
ความสุขที่เกิดจากสมาธินี่แหละจะเป็นแรงจูงใจให้เราอยากนั่งต่อไป
เหมือนเป็นรางวัลเบื้องต้นสำหรับผู้ทำความเพียร เราจะไม่อิ่มไม่เบื่อในการนั่งสมาธิ หรืออยากทำสมาธิในอิริยาบถอื่น
มันจะเกิดขึ้นมาเอง นั่นแหละรางวัลสำหรับผู้มีความเพียร จนกระทั่งเกิดฉันทะขึ้นมา
อยากอยู่กับอารมณ์นี้นานๆ โดยความสมัครใจ อยากหยุด อยากนิ่ง มีเวลาว่าง ๕ นาที ๑๐
นาที ก็อยากจะอยู่กับตนเองตรงกลางกาย อยู่กับอารมณ์ชนิดนี้ ที่หาไม่ได้จากคน สัตว์
สิ่งของ ธรรมชาติหรือที่ใดๆ เลย ยังอยากจะอยู่กับตรงนี้นานๆ
อย่างนั้นถูกหลักวิชชาแล้ว ใจก็จะนิ่งๆ นุ่มๆ ไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งนิ่งแน่นในระดับที่ความคิดอื่นไม่สามารถดึงใจหลุดจากอารมณ์นี้ได้
จะนิ่งๆ มีอารมณ์เดียว อารมณ์เป็นสุขเป็นกลางๆ บริสุทธิ์จากมลทินของใจ จากความโลภ
ความโกรธ ความหลงในระดับหนึ่ง จากความหงุดหงิด งุ่นง่านฟุ้งซ่าน รำคาญใจ
จากการตรึกในเรื่องกาม เรื่องเพศ เรื่องรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์
เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญหรือความโกรธ ความพยาบาท ขัดเคืองใจ น้อยใจ โศกเศร้า เสียใจ
คับแค้นใจ ร่ำพิไรรำพัน อะไรต่างๆ มันหายไป
ใจจะสบาย จะบริสุทธิ์ จนกระทั่งเรามีความรู้สึกเหมือนกายวาจาใจเราบริสุทธิ์
สะอาด เกลี้ยงเกลา จากสิ่งที่เราเคยทำผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา คล้ายๆ
บาปได้ถูกขจัดล้างออกไปด้วยกระแสธารแห่งบุญ มันจะมีความรู้สึกขึ้นมาเองว่า
เหมือนเราหลุดจากข้อผิดพลาดที่ทำให้เกิดวิบากกรรม ใจเราก็จะปีติภาคภูมิใจ เบิกบานว่า
เราได้หลุดจากกระแสวิบากกรรมที่ทำผ่านมา มันจะเกิดขึ้นมาเองตอนนั้น
แม้ความจริงนั้นอาจจะหลุดจากวิบากกรรมไปในระดับหนึ่ง ๕
เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ โดยความรู้สึกของเรา
เราจะรู้สึกว่ามันสูงส่ง เหมือนบาปอกุศลกรรมวิบากกรรมต่างๆ ได้ถูกถอดออกจากใจ
มันจะยิ้มๆ อยู่ภายในลึกๆ จนกระทั่งขยายมาสู่บนใบหน้า
และกระแสที่ออกไปรอบตัวไปในบรรยากาศ และเราจะเข้าใจคำที่บอกว่า ให้ทำใจใสๆ
ถ้าเราไปถึง ณ ตรงนี้ เราก็เข้าใจในระดับหนึ่ง แต่อารมณ์ใสนั้นยังไม่เกิดขึ้น
คำว่า “อยู่ในบุญ”
ถ้าถึงจุดที่หยุดนิ่งในระดับเห็นดวงใสขึ้นมา
แม้จะเล็กขนาดดวงดาวในอากาศก็ตาม เราจะรู้ว่า ‘อ๋อ
รู้จักแล้วที่ว่าให้ทำ ใจใสๆ นั้นมันเป็นอย่างนี้’ เพราะใจที่ใสมันจะปราศจากนิวรณ์
ใจจะเกลี้ยง โปร่ง เบา สบาย บริสุทธิ์ ในระดับหนึ่งจนกระทั่งมีความมั่นใจว่า เราบริสุทธิ์หลุดพ้นจากวิบากกรรมความรักและปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายจะเกิดขึ้นเองตรงนี้
เมื่อดวงใสปรากฏเป็นความบริสุทธิ์เบื้องต้น และเราจะเข้าใจคำว่า “อยู่ในบุญ” “ให้นึกถึงบุญ”
ถ้ายังไม่ถึงดวงธรรมใสๆ นี้ เราก็เข้าใจในระดับหนึ่ง คือ เราต้องใช้จินตามยปัญญา
คือต้องคิดว่าวันนั้นเดือนนั้นปีนั้นเราได้ทำบุญอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น
ซึ่งก็ถูกในระดับหนึ่งของความหมายของคำว่า อยู่ในบุญ แต่พอมาถึงดวงใสๆภายในกลางกาย
เราจะเข้าใจเพิ่มขึ้น ‘อ๋อ อยู่ในบุญมันเป็นอย่างนี้นะ’ พอถึงตรงนั้น มันจะแจ่มใส แจ่มกระจ่าง มีความปลื้มปีติเบิกบานในบุญ
แต่นิ่งสงบ เยือกเย็น หนักแน่น มีอารมณ์เดียวและเกิดความรู้สึกว่า
บุญนี่แหละจะคุ้มครองเราให้ปลอดภัยในทุกสิ่ง
และจะนำความสุขความสำเร็จในชีวิตให้บังเกิดขึ้นแก่เรา มันจะเกิดขึ้นเอง
พอถึงดวงใสๆ แต่เบื้องต้นเราก็ต้องฝึกกันไป นี่เป็นภารกิจของเรา เป็นงานที่แท้จริง
กระแสธารแห่งความดีอยู่กลางดวงธรรมใสๆ
ถ้าใจใสอย่างนี้มันก็จะเป็นแหล่งกำเนิดของความคิด คำพูด
และการกระทำที่ดี เพราะกระแสธารแห่งความดีอยู่ตรงกลางดวงธรรมใสๆ
ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความคิด ความคิดเราจะคิดแต่เรื่องดีๆ คิดไม่ดีมันนึกไม่ออก
มันไม่ได้ช่องคิดอยากจะให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำความดีทั้งด้วยตัวเอง
แล้วก็ชวนคนอื่นทำความดีด้วย
กำลังใจที่จะไปชวนคนอื่นทำความดีมีมากมายมหาศาลจนกระทั่งไม่ได้นึกถึงอะไรเป็นอุปสรรค
ไม่ว่าบุคคลที่เราไปเชิญชวนนั้นเขาจะมีความขัดแย้ง
ไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำชักชวนของเราก็ตาม
แต่ดวงปัญญาจะเกิดขึ้นให้เรารู้วิธีที่จะตอบปัญหาขจัดข้อขัดแย้งหรือความไม่เข้าใจของเขาว่า
จะต้องพูดอย่างไร แล้วก็นำเขาไปสู่จุดหมายคือเขาสมหวังในการที่ได้สร้างบุญกุศล
บุญบารมีก็จะเกิดขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นจากดวงใสๆ นี่แหละ
แล้วจะมีอายตนะไปดึงดูดให้ผู้มีบุญที่พอชักชวนเขาทำบุญอายตนะมันจะตรงกัน
แค่เขาเห็นเรา เขาก็จะเกิดความพึงพอใจ ไว้วางใจว่า
ถ้ามอบใจของเขาดวงนี้มาไว้แก่เราเชื่อถือได้ และจะต้องนำเราไปสู่สิ่งที่ดี
เมื่อใจเขาเปิด ตอนนี้ความรู้จากภายในก็จะผ่านจากใจเราสู่ใจเขา ที่เราคุ้นเคยคำว่า heart to heart นั่นแหละ จากใจถึงใจ
ก็จะสามารถชักชวนให้มาทำความดีต่างๆ ได้
อย่าให้หาย
เราก็พยายามทำความคุ้นเคยกับดวงธรรมใสๆ
อย่าปล่อยให้หลุดลอยไป เพราะกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ มันไม่ง่ายนัก
เมื่อได้แล้วก็ต้องรักษาให้อยู่กับตัวเราให้ได้ตลอดเวลาด้วยการหมั่นทำความเพียร
ใจจรดจ่อ แล้วก็สังเกตว่า เราวางใจหยุดใจด้วยวิธีการอย่างนี้จึงเข้าถึงได้
ฝึกบ่อยๆ ให้ชำนาญเป็นวสี ทั้งหลับตาลืมตาก็ให้เห็นชัดใสแจ่มอยู่ตลอดเวลา ค่อยๆ
ฝึกกันไปเวลาเรานอน เราก็หลับอยู่ในดวงธรรมใสๆ ซึ่งจะมีความสว่างบังเกิดขึ้นด้วย
ตื่นแรกก็ต้องเห็นดวงธรรมใสๆ อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ขับถ่าย จะรับประทานอาหาร
จะแต่งตัวหรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ก็อยู่ในดวงธรรมใสๆ
ที่เราหลับตาลืมตาเห็นได้ตลอดเวลา
พอหลังจากนั้นมันก็จะละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ
ถ้าเรามีชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่ง ชั่วโมงกลางเยอะๆ ให้โอกาสกับตัวเราเอง
อยู่กับตัวเราที่ศูนย์กลางกายกลางดวงธรรมนั้นบ่อยๆ ก็จะชัดขึ้น สว่างขึ้น
แล้วก็จะขยายออกไปเรื่อยๆ ใจเราก็เคลื่อนเข้าไปสู่ภายในเรื่อยๆ
เดี๋ยวก็มีดวงธรรมต่างๆ ผุดเกิดขึ้นมา
ซึ่งตอนนี้เราก็เริ่มมีความสุขสนุกสนานกับการฝึกใจให้หยุดนิ่ง
ฝึกไปเรื่อยๆหยุดในหยุดไปเรื่อยๆ หยุดอย่างเดียว นิ่งในนิ่งๆ
ตรงกลางแล้วก็จะมีกลางใหม่เกิดขึ้นอีก แล้วก็อยู่ตรงกลางของกลางใหม่
คือกลางของใจเข้าไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องไปลุ้น ไปเร่ง ไปเพ่ง ไปจ้อง
แค่เราหยุดดูไปเฉยๆ
ไตรสรณคมน์
การดูเฉยๆ ก็คือการหยุดใจนิ่งๆ เบาๆ สบายๆ
อย่างเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าหากว่า เราลุ้น พยายามจะเข้าไปข้างในพยายามไปดันมัน
ยิ่งดันก็จะยิ่งเด้งออกมา ใจก็จะถอนจากความละเอียดในระดับต้นออกมา แต่ถ้าเราดูเฉยๆ
มันก็จะดึงดูดดิ่งเข้าไปสู่ภายใน เคลื่อนเข้าไปเรื่อยๆ
อาการที่เคลื่อนเข้าไปนี้เขาเรียกว่า คมนะ
นี่ไง ที่เราได้ยินคำว่า ไตรสรณคมน์
คมนะ แปลว่า เคลื่อนเข้าไป
แต่เข้าใจคำว่าคมนะได้ ต้องเข้าใจหยุดนิ่งอย่างนี้
ไตรสรณคมน์ คือเคลื่อนเข้าไปหาพระรัตนตรัย
ก็แปลว่าพระรัตนตรัย นั้นมีอยู่ในตัวของเรา
ใจของเรากำลังเคลื่อนเข้าไป
เรามีหน้าที่เพียงเป็นผู้ดูที่ดี ดูปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายในด้วยใจที่เป็นปกติ
เหมือนผู้เจนโลกมองชีวิตขึ้นๆ ลงๆ ของมวลมนุษยชาติและสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยใจที่เป็นปกติ
หรือเหมือนเราไปยืนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเห็นเรือผ่านไป ผักตบชวาผ่านไป ใจมันก็เฉยๆ
ไม่ได้คิดอะไรให้ดูอย่างนั้น ดูโดยปราศจากความคิดปรุงแต่ง นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆสบายๆ
เดี๋ยวก็จะมีอะไรใหม่ๆ มาให้เราดู
แต่ถ้าไม่มีอะไรใหม่ๆ มาให้ดู
แสดงว่าใจเราหยุดไม่สนิทหรือเราไปลุ้น ไปเร่ง ไปเพ่ง ไปจ้องแล้ว
ซึ่งถ้ามีอาการอย่างนี้ เราก็ค่อยๆ เผยอเปลือกตาขึ้นมาสักนิดหนึ่ง
จนกระทั่งความรู้สึกลุ้น เร่ง เพ่ง จ้องหายไปจากใจ
เมื่อมันอันตรธานไปจากใจแล้วก็ค่อยๆ เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ
สอนตัวเราเองว่า เราเป็นนักเรียนอนุบาล อย่าเพิ่งไปเรียนอะไรให้มันลึกซึ้ง
ทำหยุดทำนิ่งตรงนี้ให้มันเป็นอย่างถูกหลักวิชชาที่มหาปูชนียาจารย์
หรือบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อนเขาได้ทำกัน ก็ฝึกไปเรื่อยๆ สบายๆ
เดี๋ยวใจก็จะเคลื่อนเข้าไปเอง
แปลว่าเราบังคับให้เคลื่อนเข้าไปไม่ได้
แต่จะไปเองเมื่อใจหยุดนิ่งได้สนิทสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วความสุขก็จะ
เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เคลื่อนเข้าไป
สมมติว่าเราเคลื่อนเข้าไปในระยะแรกๆ ความสุขได้สัก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
แต่พอเรานิ่งเพิ่มขึ้น ความสุขจะเพิ่ม ๑๐๐, ๒๐๐,
๓๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไปเรื่อยๆ เลย
อานิสงส์ของใจที่หยุดนิ่ง
การฝึกใจให้หยุดนิ่งกระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวนี่แหละคือสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต
ยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองใดๆ แม้ว่าสิ่งนั้นจะจำเป็นเพื่อให้ได้ปัจจัย ๔ มาหล่อเลี้ยงสังขาร
แต่ว่าทรัพย์สินเงินทองเรานำติดตัวไปในภพเบื้องหน้าไม่ได้ ยกเว้นเราเปลี่ยนมาเป็นบุญนั่นแหละถึงจะเอาไปได้
และเวลาใกล้จะละโลก จะไปนึกถึงทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ
สรรเสริญ ก็ช่วยเราไม่ได้ แต่ตรงนี้ที่เราเห็นดวงธรรมก็ดีกายภายในก็ดี
องค์พระก็ดีจะช่วยเราได้ ให้เรามีความสุขแม้มีทุกขเวทนาที่กายเนื้อ
แต่ใจมันจะล่อนออก เหมือนเงาะกับเปลือกไม่ติดกันอย่างนั้น ใจจะเกลี้ยงๆ
ข้างนอกอาจจะมีอาการทุกขเวทนาบ้าง
เพราะสังขารก็เป็นของมันอย่างนั้นเวลาจะแตกดับมันก็มี
แต่ว่าใจข้างในจะนิ่งสงบมั่นคง และมีสุขเกิดขึ้น มั่นใจ อบอุ่นใจ ปลอดภัยว่า
ถ้าเราหลุดออกไปแล้วไม่ไปอบาย มีแต่ไปสุคติโลกสวรรค์ก็จะเป็นที่พึ่งได้
การอยู่กับตัวเองอย่างนี้ดีที่สุด อยู่กับคนอื่นนั้น
แต่ละคนก็มีปัญหาส่วนตัวด้วยกันทั้งนั้น คนมีปัญหามารวมกับคนที่มีปัญหาเยอะๆ
มันก็ทำให้สิ่งแวดล้อมมีปัญหา ความทุกข์ทรมาน ความเครียดก็ระบาด
เพราะเราไม่อาจจะแก้ตรงนั้นได้จะปรับปรุงคนอื่นให้เป็นไปตามความปรารถนาของเราได้ เราแก้ไม่ได้ก็ต้องทำอย่างนี้
หยุดกับนิ่งอยู่กับตัวเองนี่แหละ
พอใจใส เห็นดวงธรรมใส กายภายในใส องค์พระใสๆ เราก็จะอยู่เหนือสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษเหมือนลิ้นที่อยู่ในปากงูพิษ
งูพิษกัดคนตาย แต่ลิ้นอยู่ใกล้เขี้ยวพิษไม่เป็นไร หรือจุดเย็นในกลางเตาหลอมอย่างนั้น
เราจะอยู่เหนือสิ่งแวดล้อมได้เองด้วยตัวของตัวเองเลย เป็นไปตามธรรมชาติและเดี๋ยวสิ่งดีๆ
ก็จะค่อยๆ ขยายจากตัวเราไปสู่คนข้างเคียง
พอไปถึงจุดนี้ได้
การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นก็จะเกิดกับเรา โดยที่เราไม่รู้สึกตัว
แต่ผู้ที่สังเกตเราอยู่ เพราะเราอยู่ในสายตาเขาตลอดเวลา
ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของเราไปในทางที่ดีขึ้น
เมื่อเป็นอย่างนี้เขาก็จะเกิดแรงบันดาลใจอยากจะทำตามบ้าง ถ้าเราเย็น
เขาก็จะเย็นตาม ค่อยๆ เยือกเย็น สงบนิ่งไปเรื่อยๆ สิ่งดีๆ ก็จะค่อยๆ
ขยายจากตัวเราถึงผู้ที่อยู่รอบข้าง และขยายต่อๆ กันไป เป็นบ้าน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ
จังหวัด ประเทศ นานาชาติแล้วก็ทั่วโลก
สิ่งดีๆ ในโลกนี้ เริ่มต้นจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จากจุดเล็กๆ
ที่เราหยุดนิ่งได้นี่แหละ ถ้าลูกทุกคนให้ความสำคัญ ทำให้ได้ เราก็จะมีความสุขในทุกหนทุกแห่ง
และพลอยทำให้เพื่อนมนุษย์มีความสุขตามไปด้วย
ต้นไม้ต้นเดิมที่บ้านเรา หรือที่ไหนก็ตาม
ถ้าเราดูด้วยสายตาที่มาจากรากฐานของความสุขภายใน ต้นเดิมต้นเดียวกันนั้น
บางวันเราดูไม่สดชื่น เมื่อเรายังเข้าไม่ถึงตรงนี้ต้นไม้ก็ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร
แต่เราเปลี่ยนแปลงภายในตัวภายในใจของเรา เราก็จะมองต้นไม้ต้นนั้นด้วยความผาสุก คน
สัตว์ สิ่งของก็จะเป็นอย่างนั้นแหละ
หยุดกับนิ่งนี่สำคัญนะลูกนะ
ให้โอกาสกับตัวเราเองฝึกเอาไว้ เพื่อตัวเราและเพื่อชาวโลกทุกๆ คน
หยุดกับนิ่งนี่แหละมีอานิสงส์และอานุภาพอันยิ่งใหญ่
พลังแห่งคำพูดของผู้ที่หยุดนิ่งได้แล้วจะมีพลัง คำเดียวกัน
ประโยคเดียวกัน แต่ถ้าออกมาจากใจของผู้ที่หยุดนิ่งได้ คนรับฟังเขาจะมีความปีติ เบิกบาน
อาจหาญ ร่าเริง อยากจะทำตามแต่ถ้าออกมาจากใจของผู้ที่ยังไม่หยุดนิ่ง เขาฟังแล้วเขาก็ผ่านไป
หยุดกับนิ่งนี่สำคัญ
การที่จะก้าวไปข้างหน้า ไปได้ไกลอย่างปลอดภัย และมีชัยชนะ
มันต้องหยุดนิ่งให้มั่นคงเสียก่อน หยุดจึงเป็นจุดเริ่มต้นของทุกๆ กิจกรรม
ไม่ว่าจะอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ขับถ่าย รับประทานอาหาร แต่งตัว เรื่องครอบครัว
การศึกษาเล่าเรียน ธุรกิจการงาน
แม้กระทั่งวัยชราที่จะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนดูแลลูกหลานก็ให้ความอบอุ่นลูกหลาน
หรือเมื่อเผชิญต่ออุปสรรคของชีวิต ทุกข์ โศก โรคภัย มรณภัย อะไรต่างๆ
ใจก็จะเป็นปกติ ไม่ได้พรากหรือห่างไกลจากความสุขที่แท้จริงเลย
เพราะฉะนั้น ต้องขยันนั่งกันนะ นั่งกันไปทุกวัน
เวลาที่เหลืออยู่นี้ก็หยุดใจนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2565