เห็นดวงใสติดแล้ว
กลางกาย
ตรึกนิ่งอย่าให้หาย
ลูกแก้ว
มองต่ออย่างสบาย
อย่าเพ่ง เลยนา
ดวงจักขยายแพร้ว
พร่างพริ้งแพรวพราย
ตะวันธรรม
วิธีแก้กดลูกนัยน์ตา
วันอาทิตย์ที่
๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 2 |EP.28| : วิธีแก้กดลูกนัยน์ตา
ตั้งใจหลับตานั่งสมาธิเจริญภาวนากันนะ
หลับตาเบาๆ พอสบายๆ แล้วก็เอาใจหยุดนิ่งๆ ไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างสบายๆ
ตรึกนึกเป็นภาพ
นึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ หรือตรึกนึกถึงองค์พระใสๆ
ใจหยุดลงไปในกลางองค์พระใสๆ หรือวางใจนิ่งๆ เบาๆ สบายๆ ให้ใจหยุดนิ่ง ค่อยๆ
วางเบาๆ สบาย
แต่ถ้าใครเวลาทำความรู้สึกในท้อง
อดจะก้มมองไม่ได้ หรือเหลือบตาลงไปมอง แล้วทำให้มึนศีรษะ ปวดกระบอกตา
ทำให้ใจไม่ละเอียด เราก็อาจจะเริ่มต้นจากจุดที่เรารู้สึกสบายก่อนนะ
ทางเดินของใจมีตั้ง ๗
ฐาน เราจะเริ่มจากฐานที่ ๑ ปากช่องจมูก หญิงซ้าย ชายขวา ก่อนก็ได้
หรือสบายที่ฐานที่ ๒ ที่หัวตาตรงน้ำตาไหล หญิงซ้าย ชายขวา อย่างนั้นก่อนก็ได้
หรือกลางกั๊กศีรษะ ฐานที่ ๓ ระดับเดียวกับหัวตา หรือเพดานปากฐานที่ ๔
ช่องปากที่อาหารสำลัก หรือปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๕
เราสังเกตดูว่า
เราวางใจตรงไหนแล้วรู้สึกสบาย ก็เริ่มจากตรงนั้นไปก่อนก็ได้ แต่ต้องให้รู้ว่า
เป้าหมายของเราอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้เรารู้อย่างนี้
หรือหลับตาแล้วเราก็นิ่งๆ ไม่กังวลเรื่องฐานอย่างนี้ไปก่อนก็ได้ แต่ตอนสุดท้าย
เมื่อนิ่งแล้วก็จะลงมาที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เอง
แต่เวลาเราลืมตาอยู่ในอิริยาบถอื่นก็ควรจะฝึกทำความคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายฐานที่
๗ คือ นึกมองไปในกลางท้องโดยไม่ต้องเหลือบนัยน์ตาลงไปดู
ลูกนัยน์ตาก็ยังอยู่ที่เดิม เมื่อเราลืมตาให้ทำความรู้สึกอย่างนั้นนะ
เพื่อให้ใจเราคุ้นเคยกับฐานที่ ๗
มีข้อสังเกตว่า
ถ้าระบบประสาทกล้ามเนื้อมันตึง มันเกร็ง มันเครียด
ถ้าอย่างนี้แสดงว่าไม่ถูกวิธีการ ไม่ถูกหลักวิชชา เราก็อย่าไปฝืนทำแต่ไม่ใช่เลิก
ทำอย่าไปฝืนทำแบบอย่างนั้นต่อไปแต่อย่าถือโอกาสเลิกนั่งไปเลยก็ไม่ใช่
ให้เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ ตั้งแต่ปิดเปลือกตา ปิดเปลือกตาระดับขนาดไหนรู้สึกสบาย
แล้วเราก็เริ่มไล่ฐานลงไป จนไปถึงจุดที่เราพึงพอใจ รู้สึกสบาย ก็อยู่ตรงนั้นไปก่อน
แต่ตอนสุดท้ายก็ต้องมาลงที่ฐานที่ ๗ นี่คือแบบฝึกหัดของเรานะ
แล้วข้อสังเกต
ซึ่งมันไม่หนีหลักว่า ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป ถ้าหย่อนมันจะฟุ้งไปเรื่อยเปื่อย
หรือไม่ก็เผลอหลับผล็อยไป ถ้าถูกหลักวิชชาแล้วมันจะนิ่ง เบา สบาย นั่งแล้วไม่เบื่อ
เวลาจะหมดไปอย่างรวดเร็ว นั่นคือข้อสังเกตว่า เราทำถูกวิธีการแล้ว
ก็ให้รักษาใจที่หยุดนิ่งๆ เอาไว้ให้สม่ำเสมอ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องเวลา
ภารกิจการงาน หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่นอกเหนือจากนี้
สูตรสำเร็จ
เราฝึกหยุดฝึกนิ่งให้ดีนี่คือสูตรสำเร็จ
ต้องหยุดกับนิ่งเฉยๆ จึงจะเข้าถึงหลักก็มีอยู่แค่นี้ เพราะฉะนั้น
ที่เรายังเข้าไม่ถึง เพราะยังไม่หยุด หรือหยุดแต่มันยังหยาบอยู่ หยุดแบบกดๆ
แต่ถ้าหยุดอย่างสบาย เพลิน มีความสุข สนุกกับการนั่งสมาธิ อย่างนั้นถึงจะถูกวิธีการ
ถูกหลักวิชชา ต้องสังเกต และก็ปรับปรุงให้อยู่ในภาวะที่สบาย นิ่งอย่างสบาย ใจเย็นๆ
ผู้ที่ทำไม่ได้ก็มี
คนตาย คนบ้า คนที่ไม่ได้ทำ คนบ้าเพราะเขาสูญเสียระบบการรับรู้ไปแล้ว ถ้าคนดีๆ
ไม่มีปัญหาระบบประสาทจิตใจอะไรต่างๆ เหล่านั้น ต้องเข้าถึงทุกคนเข้าไม่ถึงเป็นไม่มี
ต้องทำเป็นทุกคน เพราะพระธรรมกายท่านก็อยู่ในตัวของเรา มีอยู่แล้ว
ท่านอยากจะมาให้เราเห็นใจจะขาดถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้าน คือ พร้อมที่จะให้เราเห็นเสมอ
พร้อมที่จะผุดผ่านมากลางกายเรา ดวงใสๆ ก็เช่นเดียวกัน อยากจะให้เราเห็น
แต่เราต้องทำให้เป็น ทำให้ถูกหลักวิชชาอย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว คือ
ต้องหยุดนิ่งอย่างสบาย
เราลองฝึกกันดูนะ
ฝึกหยุดนิ่งเฉยๆ อย่างสบาย นึกองค์พระได้ เราก็นึก นึกดวงแก้วได้เราก็นึก
นึกแล้วมันตึง หรือนึกไม่ได้ก็ไม่ต้องไปนึก นิ่งอย่างเดียว อย่างสบายๆ
แล้วมือที่วางที่หน้าตักของเรานั้นจะต้องวางพอดีๆ
กล้ามเนื้อทุกส่วนต้องผ่อนคลาย ตั้งแต่ศีรษะเรื่อยไปเลย กระบอกตาหน้าผาก คอ บ่า
ไหล่ แขนทั้งสอง ถึงปลายนิ้วมือ ทั้งตัวของเรา ถึงขาทั้งสอง
ถึงปลายนิ้วเท้าให้ผ่อนคลาย
แล้วก็ทำใจให้เบิกบาน
แช่มชื่น ว่างๆ นิ่งๆ นุ่มๆ ละมุนละไม ให้ใจใสๆ วางใจเบาๆ อย่าชำเลือง
หรือเหลือบตาลงไปในท้อง อย่ากดลงไป แค่ทำความรู้สึก
เหมือนตอนนี้เรานั่งหันหลังให้มหาวิหารพระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี
พระผู้ปราบมาร เรายังนึกภาพมหาวิหารได้เลยทั้งๆ เราหันหน้าตรงกันข้าม
หรือเรานึกภาพมหาธรรมกายเจดีย์ มีองค์พระสามแสนองค์เต็มไปหมดเลยอยู่ข้างหน้าเรา
เรายังนึกได้เลย ถ้าจะนึกภาพต้องนึกอย่างนั้นนะ
การเห็นทางตากับการเห็นทางใจ
การเห็นทางใจจะต่างจากการเห็นด้วยลูกนัยน์ตาตอนแรกคือลูกนัยน์ตาพอลืมตาก็มองเห็นเลย
แต่ใจจะค่อยๆ เห็นแล้วแต่ความคุ้นเคยกับสิ่งนั้น คุ้นเคยมากก็เห็นง่าย ไม่ค่อยคุ้นเคยก็นึกไม่ค่อยออกอะไรอย่างนั้น
แต่จะอย่างไรก็ตาม หลักวิชชาก็อยู่ที่หยุดนิ่งเฉยๆ อย่างสบายๆ
อย่าไปคำนึงถึงความมืด
แล้วก็อย่าไปเร่งให้สว่างเร็วๆมันมีขั้นตอนของมัน อย่าไปลัดขั้นตอน อย่างนี้ยาก
แล้วก็อย่าเอาตัวของเราไปเปรียบเทียบกับเพื่อนกัลยาณมิตรบางท่าน ที่แม้มาใหม่ๆ
พอเขาหลับตา เขาก็นึกถึงดวงหรือองค์พระได้ถ้าดูในปัจจุบันเราจะมีความรู้สึกว่า เราเพิ่งพาเขามา
เรามาก่อนเขาด้วยซ้ำแต่ทำไมเขาถึงเห็น ปัจจุบันเราเห็นเพียงแค่นี้แต่ถ้าย้อนหลังไป
สาวไปเรื่อยๆ ในอดีต กว่าที่เขาจะง่ายในวันนี้ ก็เคยยากมาก่อนในอดีต
แต่เขาทำความเพียรอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เมื่อบุญส่งผล
วางใจถูกส่วนถูกหลักวิชชามันก็พรึบขึ้นมาได้ เราจะมองแค่สั้นๆ ไม่ได้
และที่เราช้ากว่าเขาเพราะที่ผ่านมาในอดีตเราทำผลุบๆ โผล่ๆ ไม่ต่อเนื่อง
เพราะฉะนั้น
ชาตินี้เราก็ต้องมาแก้ไขใหม่ ปรับปรุงใหม่แต่มันก็ไม่ใช่ยากมาก ยากพอสู้
แต่ก็ไม่ใช่ง่ายมาก มันก็ง่ายพอดีๆ ถ้าวางใจได้นิ่งๆ ถูกหลักวิชชา มันก็ง่าย
ก็จะทำได้
ตอนนี้เราฝึกหยุดนิ่งเบาๆ
สบาย วางใจเบาๆ นิ่งๆ เดี๋ยวกายก็จะเบาไปเอง ต้องนิ่งๆ สบายให้ใจใสๆ
แล้วก็ผ่อนคลายระบบประสาทกล้ามเนื้อ ค่อยๆ ประคับประคองใจอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด
คือ นิ่งเฉยๆ ไม่ต้องไปทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2565