เวลามีค่าลํ้า บรรยาย
เกินกว่าทรัพย์มากมาย โกฏิล้าน
ใช้เพื่อหยุดมุ่งหมาย ไปสุดธรรมเฮย
จงอย่าได้เกียจคร้าน ปล่อยฟุ้งซ่านเสมอ
ตะวันธรรม
ม้าพยศ
อังคารที่
๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 1 |EP.9| :ม้าพยศ
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ
คราวนี้เราก็มาทบทวนหลักวิชชาที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ
ท่านได้อบรมสั่งสอนมา ซึ่งสรุปได้ว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ”
คือใจที่แวบไปแวบมาคิดไปในเรื่องราวต่างๆ เรานำกลับมาหยุดนิ่งๆ
ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ตรงกลางท้อง เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
จะเห็นได้ชัดต่อเมื่อใจหยุดได้สนิท
วางใจ
ท่านให้เอาใจมาหยุดนิ่งๆ
อยู่ที่ตรงนี้ จะนึกเป็นภาพหรือจะไม่นึกก็ไม่เป็นไร ภาพที่นึกเพื่อเป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา
จะเป็นดวงแก้ว องค์พระใสๆ หรือเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย จะเป็นเพชรนิลจินดา
ผลหมากรากไม้ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เราคุ้นเคย
จะต้องเป็นวัตถุที่นำมาซึ่งความบริสุทธิ์ของกายวาจาใจ ทำให้ใจเราสูงส่ง
ไม่กำหนัดยินดีในกาม ในความพยาบาท หรือความคิดเบียดเบียน เป็นต้น
นึกอย่างสบายที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พร้อมกับประคองใจของเราด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง
เรื่อยไปเลย คือให้นิมิตนี้เป็นเหมือนกับหลักของใจ
ที่ผูกใจซึ่งซัดส่ายไปในเรื่องราวต่างๆ ให้มันหยุดนิ่งๆ
ถ้าเราไม่เผลอจากบริกรรมทั้งสอง ใจก็จะหยุดนิ่งได้
ใจเรามันเหมือนม้าพยศ
#อุปสรรคและวิธีแก้ไขสมาธิ
ใจเรามันเหมือนม้าพยศ ม้าพยศไม่ค่อยจะอยู่ในอำนาจของเรา มันก็จะแถกๆ
ไถๆ ไปตามอารมณ์ของมัน ใจก็เหมือนกัน เราอยากจะให้นิ่งๆ แต่มันก็จะคิดเรื่องโน้น
เรื่องนี้ เรื่องคนบ้าง สัตว์บ้าง สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง
สิ่งที่ผ่านมาแล้วในอดีตบ้าง สิ่งที่ยังมาไม่ถึงในอนาคตบ้างเหมือนม้าพยศ
เพราะฉะนั้น เราต้องจับมาผูกเอาไว้กับหลัก
เหมือนเราเอาเชือกคล้องคอม้าแล้วผูกเอาไว้กับหลัก ใหม่ๆ มันก็ดิ้นรนอยากจะหลุดจากหลัก
วิ่งไปทางเหนือบ้าง ใต้บ้าง ตะวันออก ตะวันตก วิ่งไปจนสุดสายเชือก
แต่มันก็ไม่หลุดจากหลัก วิ่งไปวิ่งมาในที่สุดมันก็หมดแรง หมดพยศ
ก็จะหมอบอยู่กับที่ไม่ไปไหน
บริกรรมนิมิต บริกรรมภาวนา
การนึกถึงนิมิตดวงใสๆ หรือองค์พระใสๆ หรือวัสดุอะไรที่เราคุ้นเคยก็ตาม
นั่นก็คือหลักของใจ คำภาวนาเหมือนเชือกที่จะประคองใจเอาไว้ให้มาอยู่กับหลัก ใหม่ๆ
มันก็แวบไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เราก็นึกถึงดวงใสๆ องค์พระใสๆ
หรืออะไรก็ได้ที่ใสๆ แล้วก็ภาวนาสัมมาอะระหัง เรื่อยไป จะกี่สิบ กี่ร้อย กี่พัน
กี่หมื่น กี่แสนครั้งก็ได้มันก็จะมีสักครั้งหนึ่งที่ใจมันหยุดนิ่ง
เวลาใจหยุดนิ่ง มันจะทิ้งคำภาวนาไปเอง มีอาการคล้ายๆ กับว่า
เราลืมคำภาวนา แต่ใจไม่ฟุ้ง หรือเกิดความรู้สึกว่า อยากอยู่เฉยๆ ไม่อยากจะภาวนา สัมมาอะระหัง
ต่อไป ถ้าเป็นอย่างนี้ แสดงว่าใจหยุดแล้ว เราก็ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนา
สัมมาอะระหัง ใหม่ ตอนนี้ใจมันยอมแล้ว มันหยุดแล้ว หมดพยศแล้ว
ก็จะตรึกอยู่กับดวงใสๆ หรือพระแก้วใสๆ หรือถ้าเรานึกถึงเพชรนิลจินดา
ภาพเพชรนิลจินดาก็จะมาปรากฏเกิดขึ้น
สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปคือหยุดนิ่งเฉยอย่างนั้น มีสติกับสบายและสมํ่าเสมอ
ไม่ช้ามันก็จะถูกส่วนไปเอง
สภาวธรรมภายใน
การถูกส่วน เราจะไปบังคับให้ถูกส่วนไม่ได้
มันจะเป็นของมันเอง เมื่อเรามีสติ มีความสบาย แล้วก็สมํ่าเสมอ
พอถูกส่วนมันก็จะหล่นวูบไปเลย เหมือนตกจากที่สูง วูบไปฐานที่ ๖
แล้วจะไปยกเอาดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบ
ใสบริสุทธิ์โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ขึ้นมาเอง หลังจากนี้ก็ง่ายแล้ว ไม่ยากแล้ว
มันยากตรงหยุดแรกที่ใจยังพยศอยู่
หรือเราจะไม่นึกภาพนิมิต แต่จะวางใจให้หยุดนิ่งเฉยๆ ก็ได้ จะภาวนา
สัมมาอะระหัง ด้วยก็ได้ ไม่ภาวนาก็ไม่เป็นไร แล้วก็วางใจนิ่งๆ
ให้มีสติสบายสมํ่าเสมอ เดี๋ยวใจก็จะค่อยๆ โล่ง ค่อยๆ ว่างไปทีละน้อยๆ
จนกระทั่งมันจะนิ่งไปเอง พอนิ่งแล้วมันก็จะค่อยๆ ใสขึ้น ความใสในกลางความมืด
เหมือนดาวประกายพฤกษ์ที่เจิดจ้าในคืนเดือนมืด
แล้วหลังจากนั้นมันก็จะละเอียดลุ่มลึกลงไปเรื่อยๆ ต้องอาศัยการฝึกฝน ค่อยๆ
สั่งสมบ่อยๆ เราจะใจร้อนใจเร็วทำแบบทางโลกไม่ได้ ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป
สะสมความละเอียดไปเรื่อยๆ
แล้วก็หมั่นสังเกตว่า วันนี้เราทำได้ดีเพราะอะไร ค่อยๆ นึกทบทวนว่า
เออ เราค่อยๆ วางใจเบาๆ อย่างนี้ นิ่งๆ นุ่มๆ ละมุนละไมอย่างนี้
ถ้าจำได้แล้วต่อไปเราก็ทำอย่างนั้นอีก เดี๋ยวมันก็จะละเอียดลงไป
สมมติว่า วันนี้เราได้แค่ ๑ นาที ก็ให้ดีใจไว้เถอะ เออ เราสมหวังแล้ว
หยุดนิ่งได้แล้ว ๑ นาที หรือหยุดนิ่งยังไม่สมบูรณ์ก็ไม่เป็นไร แค่รู้สึกตัวโล่งๆ
ว่างๆ โปร่ง เบา สบาย ก็ถือว่าเราสมหวังแล้ว บางคนเกิดมาในโลกนี้อายุตั้งร้อยปี
ยังไม่รู้จักเลยว่าโล่งใจ โปร่งใจเป็นอย่างไร ใจใสๆ ใจหยุดใจนิ่งเป็นอย่างไร
ยังไม่รู้จักเลย เพราะฉะนั้นเราได้แค่ ๑ หรือ ๒ นาที ดีใจเถอะ
แล้วต่อไปมันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จำวิธีการที่จะไปถึง ณ จุดตรงนี้ให้ได้ แล้วก็หมั่นไปถึงตรงนี้บ่อยๆ
ซํ้าแล้วซํ้าเล่า เหมือนเราตอกตะปูที่ยํ้าๆ เดี๋ยวมันก็มิดจนได้
ใจก็เช่นเดียวกัน หมั่นตรึก หมั่นหยุด หมั่นนิ่ง ค่อยๆ ประคองไปเรื่อยๆ
เดี๋ยวจากฟุ้งมากก็จะฟุ้งน้อย จากฟุ้งน้อยก็จะไม่ฟุ้ง จากไม่ฟุ้งก็จะโล่งๆ โปร่ง
เบา สบาย ใจเบิกบาน เดี๋ยวแสงสว่างก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น
เป็นแสงแก้วที่เนียนตาละมุนใจ แล้วมันก็จะละเอียดลงไป จนกระทั่งค่อยๆ เจิดจ้าขึ้น
นานขึ้น มีความสุขไปทุกขั้นตอนเลย เดี๋ยวดวงใสๆ ก็จะปรากฏเกิดขึ้นเอง
เพราะดวงธรรมมีอยู่แล้ว พอถูกส่วนก็มาเอง
ใหม่ๆ ดวงใสก็ยังไม่ค่อยชัด เราก็หมั่นฝึกฝนไป ฝึกทำกันไปทั้งวัน
ควบคู่กับการทำมาหากิน หรือภารกิจที่เรามีอยู่ในชีวิตประจำวัน
แล้วก็พยายามตรวจตราให้กายวาจาใจเราสะอาดบริสุทธิ์เท่าที่เราจะทำได้
ดวงธรรมก็จะค่อยๆ ชัดขึ้นๆ กระทั่งสุกใสสว่าง
ใจหยุดได้บุญมากกว่าสร้างโบสถ์วิหาร
พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากนํ้าบอกว่า
ใจหยุดประเดี๋ยวเดียวได้บุญมากกว่าสร้างโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ
สร้างวัดวาอารามเสียอีก เพราะอย่างนั้นยังเป็นแค่กามาวจร ทำแล้วบางทียังไม่มีความปลื้มยังไม่มีความสุขเท่ากับใจที่หยุดนิ่งเลย
แต่ใจหยุดประเดี๋ยวเดียว
เรามีความปลื้มปีติมีความสุขแผ่ซ่านไปทุกอณูเนื้อทุกขุมทุกขนเลย มีความเบิกบาน
แช่มชื่น ใจใส
ความบริสุทธิ์ของใจก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นตรงนี้ได้อานิสงส์มากกว่าสร้างโบสถ์สร้างวิหาร
ได้ไปเกิดในภพภูมิที่ประณีตกว่า ละเอียดกว่า
สิ่งเหล่านี้ลูกทุกคนทำได้ บารมีก็มีมากพอ เหลืออย่างเดียวคือ
ความเพียรกับทำให้ถูกหลักวิชชาเท่านั้น เดี๋ยวก็สมหวัง
ส่วนใครที่ทำได้แล้ว เห็นดวง เห็นกาย เห็นองค์พระ ก็แตะใจเบาๆ
แตะไปเรื่อยๆ ใช้ระบบสัมผัส แตะดวงใสๆ แตะกายภายในใสๆ แตะองค์พระใสๆ
เดี๋ยวท่านก็จะดูดวูบเข้าไปข้างใน
องค์พระในองค์พระก็ผุดผ่านขึ้นมามากมายก่ายกองทีเดียว ความสุขสดชื่น เบิกบาน
ก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้น จากองค์หนึ่งไปสู่อีกองค์หนึ่งก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไปเลย
ทำให้ได้นะ
ใครเหนื่อย ใครเพลีย ใครง่วง ใครตึง ใครเครียด
ปล่อยให้มันหลับไปเลยในกลางกาย ใครเมื่อยก็ขยับเบาๆ ใครฟุ้ง ถ้าฟุ้งหยาบ
คือฟุ้งที่ควบคุมไม่ได้ก็ลืมตา แต่ถ้าฟุ้งละเอียดที่ควบคุมได้ เราก็ทำเฉยๆ
ไม่ต้องลืมตา ทำเฉยๆ
ไม่รู้ไม่ชี้เหมือนแขกมาเยือนบ้านเราไม่ต้อนรับเดี๋ยวเขาก็เก้อเขินกลับไป
ความฟุ้งที่รู้ตัวแล้วคุมได้ ไม่ต้องลืมตา ทำหยุดทำนิ่งเฉยๆ
เดี๋ยวฟุ้งนั้นก็จะหายไป แต่ถ้าฟุ้งหยาบ ควบคุมไม่ได้ สู้ไม่ไหว
ให้ลืมตามาดูดวงแก้ว ดูองค์พระ เป็นต้น ให้ใจใสๆ พอใจสบายดีแล้ว เราก็ค่อยๆ
หลับตาเบาๆ ต้องฝึกซ้อมกันอย่างนี้นะลูกนะ
ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยทุกๆ คน ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ
วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2565