ตามรอยพุทธองค์
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๕ (๑๓.๓๐
- ๑๕.๓๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์/
พิธีปิดแผ่นทองดวงแก้ว ณ ห้องแก้วสารพัดนึก
ปรับกาย-ปรับใจ-วางใจ
ตั้งใจนั่งหลับตาเจริญภาวนากันนะ หลับตาเบาๆ พอสบายๆ
ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรา
ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบายปรับท่านั่งให้ถูกส่วน ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี
จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย
แล้วทำใจของเรา ให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส
ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง
ให้คลายความผูกพันจากทุกๆ สิ่ง
แล้วรวมใจกลับเข้าไปสู่ภายใน ไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ วางใจอย่างเบาๆ สบายๆ แตะใจไปตรงกลางฐานที่ ๗ อย่างเบาๆ สบายๆ ต้องเบาๆ
ต้องผ่อนคลาย
บริกรรมนิมิต
แล้วตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างเบาๆ สบายๆ ค่อยๆ
นึก นึกธรรมดาๆ เหมือนนึกถึงภาพที่เราคุ้นเคย เช่น ภาพดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว
ดอกบัว ดอกกุหลาบเป็นต้น นึกธรรมดา ง่ายๆ สบายๆ เป็นดวงใสๆ หรือองค์พระแก้วใสๆ
อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เราคุ้นเคย ที่เราชอบ และง่ายสำหรับการนึก
ให้เริ่มต้นในสิ่งที่ง่ายๆ ก่อน ชัดเจนแค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน แม้จะนึกได้อย่างรัวๆ รางๆ ชัดน้อยกว่าลืมตาเห็นก็ไม่เป็นไร
เพราะสิ่งที่เรานึกนี้แค่เป็นบริกรรมนิมิตที่ยึดที่เกาะของใจเรา
เพื่อให้ใจของเราหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
สำหรับผู้มาใหม่ต้องค่อยๆ นึกไปอย่างง่ายๆ สบายๆ
แล้วก็ใจเย็นๆ อย่าไปเน้นภาพ อย่าไปเค้นภาพ มีให้ดูแค่ไหน
หรือนึกได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน
บริกรรมภาวนา
นึกนิมิตพร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า
สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง
โดยให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากในกลางท้องของเรา
เหมือนเป็นเสียงที่มาจากแหล่งแห่งความบริสุทธิ์
แหล่งแห่งอานุภาพอันไม่มีประมาณผ่านกลางกายของเรา มากลั่นจิตกลั่นใจของเรา ให้ใสๆ
ให้บริสุทธิ์จากสรรพกิเลสทั้งหลาย
ให้จังหวะของคำภาวนา ไม่เร็วเกินไป ไม่ช้าเกินไป เอาพอดีๆ
ให้เหมาะกับจริตอัธยาศัยของตัวเรา
ทุกครั้งที่ภาวนาสัมมาอะระหัง เราจะต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงดวงใส
เอาใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างง่ายๆ สบายๆ ใจเย็นๆ หรือตรึกนึกถึงพระแก้วใสๆ
ในอิริยาบถสมาธิ ให้ท่านนั่งหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา ขนาดไหนก็ได้ที่เราชอบ
ที่เราคุ้นเคย
ถนัดดวงแก้วก็เอาดวงแก้ว ถนัดองค์พระก็เอาองค์พระ
แต่ต้องภาวนาสัมมาอะระหังไปเรื่อยๆ จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง แล้วทิ้งคำภาวนาไปเอง
หรือจนกว่าใจเราอยากหยุดนิ่งเฉยๆ ไม่อยากจะภาวนาสัมมาอะระหังอีกต่อไป
อยากนึกถึงแต่ดวงใสๆ หรือองค์พระใสๆ หรือหยุดใจนิ่งเฉยๆ
ถ้าเกิดความรู้สึกว่าอยากจะอยู่อย่างนี้ ไม่อยากจะภาวนาต่อไป
ก็ไม่ต้องภาวนาสัมมาอะระหังอีก แต่ว่าเมื่อใดใจฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น
เราจึงย้อนกลับมาภาวนาสัมมาอะระหังใหม่ หรือใครคุ้นเคยอยากจะอยู่นิ่งๆ
ไม่นึกไม่คิดอะไรทั้งสิ้น ไม่อยากจะภาวนาด้วย ก็ให้นิ่งเฉยๆ คือนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ
สบายๆ ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ
ที่กล่าวมาทั้งหมดมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่มาใหม่ฝึกใจให้หยุดนิ่ง
อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือต้องการให้นำใจไปหยุดนิ่งอยู่ตรงนี้
เพราะว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้ เป็นตำแหน่งสำคัญ
เป็นจุดเริ่มต้นของทางสายกลางภายใน เป็นต้นทางของเส้นทางแห่งพระอริยเจ้า ที่พระอริยเจ้าท่านหยุดใจนิ่ง
และเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน ในกลางกายของท่าน
การบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้า
การบรรลุมรรคผลนิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เริ่มที่ตรงนี้
หลังจากที่ท่านทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง นิ่งอย่างเดียว ตั้งสัตยาธิษฐานว่า เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่กระดูกหนังช่างมัน
ถ้าหากว่าดับทุกข์ไม่ได้ก็ยอมตาย นิ่งอย่างเดียว ทุกพระองค์ทำอย่างนี้เหมือนกันหมด
แม้แต่พระเดชพระคุณหลวงปู่ของเรา พระผู้ปราบมาร ท่านก็นิ่งอย่างเดียวอย่างนี้
ไม่ได้ตายเถอะ นิ่งอย่างเดียวที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ใจตกศูนย์ พบดวงธรรม
พอถูกส่วนใจก็จะหลุดจากกายหยาบ จากลมหยาบๆ มันจะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน
ตกศูนย์เข้าไปเหมือนหล่นจากที่สูง แล้วจะมีดวงธรรมลอยขึ้นมา ดวงธรรมที่มีอยู่แล้ว
แต่ถูกบดบังด้วยนิวรณ์ทั้ง ๕ มีกามฉันทะ
พยาบาท เป็นต้น ทำให้เราหลับตาแล้วมันมืด ใจฟุ้งกระจัดกระจายไปในที่ต่างๆ
แต่พอหยุดนิ่งได้ เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดก็ตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน
แล้วจะมีดวงธรรมลอยขึ้นมาเป็นดวงใสๆ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ
อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
หรือใหญ่กว่านี้ แล้วแต่กำลังบารมีของแต่ละท่านที่ไม่เท่ากัน แต่จะเป็นดวงใสๆ
ลอยขึ้นมาหยุดนิ่งอยู่ที่ฐานที่ ๗ เป็นดวงใส มาพร้อมกับความสุขที่ไม่มีประมาณ
เป็นความสุขที่แท้จริง มาพร้อมกับความบริสุทธิ์ของใจ
ดวงธรรมนั้นจะใสอย่างน้อยเหมือนน้ำใสๆ หรือเหมือนกระจกใสๆ
หรือเหมือนเพชรใสๆ หรือใสเกินความใสใดๆ ในโลก แล้วจะสว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
แต่ว่าไม่จ้าตา ไม่แสบตา ใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้คือดวงปฐมมรรค
หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นปากประตูไปสู่อายตนนิพพาน
เป็นจุดเริ่มต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
พระอรหันต์ทั้งหลายท่านได้อย่างนี้ แล้วท่านก็หยุดนิ่งอย่างเดียวเรื่อยไป
หยุดในหยุด นิ่งในนิ่งไปอย่างสบายๆ ไปในกลางดวงใสๆ
ยิ่งหยุดยิ่งนิ่งก็ยิ่งดิ่งไม่หยุดยั้ง
ดวงธรรมก็จะขยายกว้างออกไป จุดกลางของดวงธรรมจะขยายเป็นดวงใสๆ ที่บริสุทธิ์กว่า
สว่างกว่า ละเอียดประณีตกว่า เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ท่านนิ่งอย่างเดียวตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์
กายธรรม ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง
เราจะต้องเดินตามรอยท่าน ท่านทำอย่างไรเราก็ทำอย่างนั้น ท่านเป็นอย่างไรเราก็จะได้เป็นอย่างนั้น
คือดับทุกข์ได้ พ้นจากความทุกข์ได้
นิ่งอย่างนี้เรื่อยไปกระทั่งเข้าไปถึงกายธรรมที่อยู่ภายใน ซึ่งเป็นตัวพระรัตนตรัย
เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของตัวเรา เป็นพระแก้วใสๆ สวยงามมาก เกตุดอกบัวตูม
จะใสจะสว่างอยู่ในกลางกายของเรา นั่นแหละคือที่พึ่งที่ระลึกของเรา
เข้าถึงท่านแล้วดับทุกข์ได้ ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นปลอดภัย มีความสุข
เป็น สิ่งเดียวเท่านั้นที่ควรระลึกนึกถึง เพราะนึกแล้วมีความสุข
มีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจ มีความบริสุทธิ์
และก็มีความรู้แจ้งในเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิตได้
ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้ง
เห็นแจ้งเพราะว่าท่านมีธรรมจักขุ รู้แจ้งว่าท่านมีญาณทัสนะ จักขุ ญาณ ปัญญา วิชชา
แสงสว่าง รวมประชุมอยู่ในกลางองค์พระธรรมกายนั่นแหละ นี่คือสรณะ
ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของเรา สิ่งอื่นไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึก
พระแท้ต้องมีพระภายใน
ช่วงนี้เรายังแข็งแรงอยู่
ยังพอมีเรี่ยวมีแรงก็ควรจะแสวงหาที่พึ่งภายในให้ได้
โดยเฉพาะบวชเป็นพระแล้วต้องเป็นพระแท้ เป็นพระดี พระดีต้องมีธรรมะ
ต้องมีพระภายในให้เห็นชัดใสแจ่มอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นพระแท้
แม้ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้าก็ตาม ก็ยังจัดอยู่ในขั้นโคตรภูบุคคล
คือเหนือกว่าความเป็นปุถุชนชาวโลกทั่วๆ ไป แต่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า
อยู่ระหว่างครึ่งทาง ท่านก็ได้ชื่อว่าเป็นพระแท้ เป็นเนื้อนาบุญ
บวชเป็นพระก็ต้องมีธรรมะภายในอย่างนี้จึงจะคุ้มกับการมาบวช
เพราะฉะนั้นเวลาที่เหลืออยู่นี้ก็ให้หยุดนิ่งกันไป
แม้ไม่ได้บวชพระ
ก็บวชใจได้
ส่วนลูกๆ ผู้นำบุญ ถ้าเก็นพระภายใน ก็ได้ชื่อว่า เป็นอุบาสก อุบาสิกา
ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย หรือเข้าใกล้ในระดับที่เห็นอยู่ภายใน แม้ภายนอกไม่ได้บวชเป็นพระ แต่ภายในเราก็บวชใจได้
เข้าถึงพระภายใน จะได้ปิดอบายเปิดประตูสวรรค์ มีสุขในปัจจุบัน และดับทุกข์ได้
เวลาที่เหลืออยู่นี้ให้กลั่นจิตกลั่นใจให้ใสๆ ด้วยการทำใจหยุดใจนิ่ง ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565