ทางมรรคผลนิพพาน
วันอาทิตย์ที่ ๑๙ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕ (๑๓.๓๐
- ๑๕.๓๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะจ๊ะ หลับตาเบาๆ พอสบายๆ หลับตาเบาๆ
พอสบายๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายของเรา ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกว่าสบาย
ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี ปรับท่านั่งให้ถูกส่วนจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยกัน
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส
ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง
ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง
การวางใจ
แล้วก็รวมใจกลับเข้าไปสู่ภายใน ให้หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ
แตะใจหยุดเบาๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเราในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ หรือประมาณเอาว่าอยู่บริเวณกลางท้อง
ค่อยๆ วางใจเบาๆ ให้ใจเราค่อยๆ หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ อย่าไปตั้งใจเกินไป
อย่าไปบังคับใจของเรามากเกินไป อย่าไปอยากเห็นจนเกินไป ต้องค่อยๆ
ประคองใจให้หยุดนิ่ง
บริกรรมนิมิต
ค่อยๆ นึกถึงบริกรรมนิมิต จะเป็นดวงแก้วใสๆ หรือเพชรสักเม็ดหนึ่ง
หรือก้อนน้ำแข็งใสๆ กลมก็ได้ หรือเราคุ้นเคยกับการนึกถึงภาพองค์พระ
เราจะนึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก่อนก็ได้
หรือในเทศกาลนี้เรากำลังจะอัญเชิญพระเดชพระคุณหลวงปู่ทองคำไปประดิษฐานที่วัดปากน้ำ
ภาษีเจริญ จะนึกภาพพระเดชพระคุณหลวงปู่อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็ได้ เราถนัดแบบไหนเราเอาแบบนั้นไปก่อน
หรือถนัดวางใจนิ่งเฉยๆ โดยไม่นึกถึงภาพอะไรเลยก็ได้
ถ้าเรามั่นใจว่าใจของเราจะไม่ฟุ้ง แล้วทำให้เราหายสงสัยว่า ภาพที่เห็นนั้น เราไม่ได้คิดไปเอง
เพราะเราเริ่มต้นจากการไม่ได้นึกถึงภาพอะไร จะได้หายสงสัยตั้งแต่เบื้องต้น
สำหรับผู้ที่มีจริตอัธยาศัยแบบนี้นะจ๊ะ
สรุปง่ายๆ ว่า จะนึกเป็นภาพก็ได้
หรือจะไม่นึกอะไรเลยก็ได้ ถ้าเรามั่นใจว่า ใจเราจะไม่ฟุ้ง
ที่สำคัญคือต้องหยุดใจนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ได้
การที่นึกถึงภาพบริกรรมนิมิต เพื่อไม่ให้ใจเราฟุ้งไปคิดเรื่องอื่นเท่านั้น
เพื่อให้บริกรรมนิมิตเป็นสิ่งที่จะเชื่อมโยงใจให้หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้เท่านั้น
ทางมรรคผลนิพพานเริ่มต้นที่
ฐานที่ ๗
ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้
เป็นตำแหน่งสำคัญที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
พระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
ก็เพราะว่าใจของท่านมาหยุดนิ่งนุ่มอยู่ที่ตรงนี้
หลังจากที่ท่านเบื่อหน่ายชีวิตการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
ท่านอยากจะพ้นทุกข์ อยากพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เพราะเกิดบ่อยๆ ก็ต้องแก่ เจ็บ ตายบ่อยๆ พลัดพรากจากสิ่งที่รักบ่อยๆ
ประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รักบ่อยๆ หรือปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นบ่อยๆ ซึ่งทำให้เราเกิดความโศกเศร้าเสียใจ
คับแค้นใจ ร่ำพิไรรำพันอะไรต่างๆ เป็นต้น ทำให้เราไม่สบายทั้งกายและใจ
อีกทั้งชีวิตในสังสารวัฏยังตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม กับกฎเกณฑ์อีกมากมาย
มีสุคติ มีทุคติเป็นที่รองรับชีวิตใหม่หลังจากตายแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเบื่อหน่ายชีวิตการเวียนว่ายตายเกิด
ทั้งหมดนั้นจะสิ้นสุดต่อเมื่อไม่ต้องกลับมาเกิดในสังสารวัฏอีก
ทีนี้วิธีที่จะไม่ให้เกิดจะต้องขจัดแหล่งที่มา
หรือสิ่งที่บังคับบัญชาให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้ นั่นก็คือกิเลสอาสวะ
จะขจัดสิ่งเหล่านั้นได้มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นคือ ใจจะต้องมาหยุดนิ่ง นิ่งๆ
นุ่มๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ใจจะหยุดอยู่ที่ตรงนี้
พบดวงธรรมและกายภายใน
พอใจหยุดนิ่งถูกส่วนแล้ว ใจจะเคลื่อนตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน มีดวงธรรมลอยขึ้นมา
เป็นดวงใสๆ ซึ่งมีเป็นชุด ชุดละ ๖ ดวง
คือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือดวงปฐมมรรค ในกลางธรรมดวงนี้มีดวงศีล
ในกลางดวงศีลมีดวงสมาธิ ในกลางดวงสมาธิมีดวงปัญญา ในกลางดวงปัญญามีดวงวิมุตติ ในกลางดวงวิมุตติมีดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
เป็นดวงธรรมที่ว่าเห็นธรรมในธรรม ต้องเห็นเข้าไปอย่างนี้แหละ
ธรรมทั้ง ๖ ดวง หรือ ๑ ชุดนี้จะเชื่อมให้เข้าถึงกายภายใน ซึ่งมีซ้อนอยู่เป็นชั้นๆ
ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู
กายธรรมพระโสดาบัน กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี และกายธรรมพระอรหัต
แต่ละกายจะมีเป็นคู่ เหมือนกายมนุษย์หยาบก็มีกายมนุษย์ละเอียด หรือกายฝันของตัวเรานั่นแหละ
และเป็นกายที่ทำหน้าที่มาเกิดไปเกิดอย่างนั้น กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม กายธรรมต่างๆ
ก็เช่นเดียวกัน มีหยาบมีละเอียด ทั้งหมดรวมเป็นชุดได้ ๑๘ กาย
แต่ละกายเชื่อมด้วยดวงธรรม ๖ ดวงเป็น ๑ ชุดดังกล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นผังสำเร็จที่มีอยู่แล้วในตัวของเรา
ซึ่งจะเข้าถึงได้ต่อเมื่อใจหยุดนิ่งเท่านั้น หยุดนิ่งอย่างเดียว ไม่ต้องทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
แล้วเราก็จะสมความปรารถนาในชีวิต คือจะเข้าถึงความสุขที่มีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
จนถึงบรมสุข คือสุขที่ไม่มีประมาณที่พระอริยเจ้าท่านได้พบ
เพราะฉะนั้นทางมรรคผลนิพพานเขาทำกันอย่างนี้ เดินทางกันอย่างนี้
โดยเริ่มต้นที่ใจหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้แหละ
หยุดเป็นตัวสำเร็จ
ลูกทุกคนมีบุญมากได้มาเกิดมาเป็นมนุษย์ แม้จะมาไม่ทันการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แต่คำสอนของพระองค์ยังมีอยู่
อีกทั้งมีพระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านมาค้นพบเป็นพยานการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วก็นำมาถ่ายทอดจนกระทั่งตกมาถึง
พวกเราจึงมีบุญมากนะจ๊ะ ที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาเป็นชาวพุทธ
ได้เข้ามาพบวิธีที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานด้วยวิธีที่ง่าย ตรง ลัด คือ หยุดเป็นตัวสำเร็จ
หลักสำคัญก็คือ เราจะต้องรวมใจให้มาหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กันให้ได้ ต้องหยุดนิ่งอย่างเดียว
ทีนี้จะหยุดนิ่งได้ ต้องทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง แล้วค่อยๆ ประคองใจอย่างฉลาด
อย่างมีศิลปะ คือ ไม่บังคับ แต่ค่อยๆ ประคอง ค่อยๆ ตะล่อม ให้ใจหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
โดยนึกถึงบริกรรมนิมิตดังกล่าว หรือวางใจนิ่งเฉยๆ พร้อมกับประคองใจด้วยบริกรรมภาวนาควบคู่กันไปโดยไม่ให้เผลอ
ภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆๆ ประคองใจกันไปอย่างนี้จนกว่าใจจะหยุดนิ่งๆ ถูกส่วนเอง
เมื่อเราทำอย่างถูกวิธี หยุดนิ่งแล้วก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน ใจของเราจะได้ใสสะอาดบริสุทธิ์เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่ที่จะเกิดขึ้น
รองรับพระของขวัญที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่เราได้เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์
ได้ไปสถาปนามีส่วนร่วมในการสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ของพระผู้ปราบมารที่ผ่านมา
และยิ่งในช่วงเทศกาลนี้ เรากำลังจะหล่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ด้วยทองคำแทนองค์ที่อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดปากน้ำ
ภาษีเจริญ ช่วงนี้จะต้องกลั่นกาย วาจา ใจของเราให้ใสๆ ให้สะอาด
ให้บริสุทธิ์ด้วยการหยุดนิ่งอย่างเดียว
ความบริสุทธิ์ของใจจะบริสุทธิ์ได้ไม่ใช่แค่เพียงอธิษฐานให้บริสุทธิ์แค่นั้น
ไม่ใช่อย่างนั้นนะ ใจต้องหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
จนกระทั่งเห็นความบริสุทธิ์เป็นภาพปรากฏเกิดขึ้นตรงกลางกายเป็นดวงใสๆ
อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน หรือใหญ่กว่านี้
แล้วแต่ตามกำลังบารมีที่มีไม่เท่ากัน เป็นความบริสุทธิ์ที่เห็นได้
จะใสบริสุทธิ์ทีเดียว จนเรารู้สึกว่าเราบริสุทธิ์เกลี้ยงเกลาจากนิวรณ์ทั้ง ๕
ที่ทำให้ใจเราเศร้าหมอง ใจจะใสๆ และบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไปตามลำดับ
เพราะฉะนั้น ในช่วงนี้ก่อนที่ลูกจะได้รับพระของขวัญและได้สร้างมหาทานบารมีนี้
ให้ประคองใจให้ใสๆ ให้หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ภายในด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหังๆๆ เรื่อยไปนะจ๊ะ
ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565