ชีวิตในสังสารวัฏเป็นทุกข์
วันอาทิตย์ที่
๑๔ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ (๑๓.๓๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย-การหลับตา
เมื่อเราได้จุดเทียนใจไฟนิรันดร์อนันตชัยบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไป ให้ลูกทุกคนนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ
หลับตาเบาๆ
พอสบายๆ ให้เปลือกตาแค่สัมผัสกันเบาๆ เท่านั้นเอง เหมือนเราหลับตาพริ้มๆ
เปลือกตาไม่ถึงกับปิดสนิท คล้ายๆ กับปรือๆ ตานิดหน่อย พอสบายๆ
ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายทั้งเนื้อทั้งตัว
ตั้งแต่ศีรษะ กล้ามเนื้อบนใบหน้า ลำคอ บ่า ไหล่ แขนทั้งสองถึงปลายนิ้วมือ กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว
ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้า ให้ผ่อนคลาย ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี ให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก
จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน ให้พอดีๆ
ปรับใจ
แล้วทำใจเย็นๆ
ให้ใจใสๆ เบิกบาน ให้แช่มชื่น สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
เรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว
หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง
ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง
การวางใจ
แล้วรวมใจกลับเข้าไปสู่ภายใน
ไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ หรือจำง่ายๆ ว่าอยู่ในบริเวณกลางท้อง
บริกรรมนิมิต
ทำใจให้หยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ให้นึกถึงเครื่องหมายที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ เป็นเพชรใสๆ
หรือก้อนน้ำแข็งใสๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว
ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย โตเท่ากับแก้วตาของเรา
หรือขนาดไหนก็ได้ แล้วแต่ใจของเราชอบ ให้นึกถึงเครื่องหมายนี้เป็น Landmark ที่หยุดใจของเราว่า ใจจะต้องมาหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ซึ่งอยู่กลางท้อง ระดับที่เหนือจากระดับสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือนะจ๊ะ
ให้ค่อยๆ
นึกอย่างเบาๆ สบายๆ ธรรมดาๆ คล้ายๆ กับเรานึกถึงภาพดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์
ดวงดาวในอากาศ หรือสิ่งที่เราคุ้นเคย
อย่าไปเน้น
อย่าไปเค้นภาพ นึกได้ชัดเจนแค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน นึกไม่ออกก็ไม่เป็นไร
ให้เรารู้ว่า ใจเราจะต้องนำมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ให้นึกอย่างเบาๆ สบายๆ ผ่อนคลาย ใจเย็นๆ
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ
ว่า สัมมาอะระหังๆๆ โดยให้เสียงของคำภาวนา สัมมาอะระหัง เหมือนดังออกมาจากในกลางท้องของเรา
ผ่านมาที่ดวงใสๆ หรือบริกรรมนิมิตดังกล่าว คล้ายๆ
เป็นเสียงที่มาจากแหล่งแห่งอานุภาพอันไม่มีประมาณ แหล่งแห่งความบริสุทธิ์
ที่จะมากลั่นจิตกลั่นใจของเราให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ หมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลาย หรือวิบากกรรมวิบากมารต่างๆ
หนักเป็นเบา เบาเป็นหาย ร้ายกลายเป็นดีนะจ๊ะ
ให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากในกลางท้องของเราอย่างสม่ำเสมอ
ไม่เร็วไม่ช้านัก ให้พอดีๆ ที่เรามีความรู้สึกว่า สบายทั้งร่างกายและจิตใจ
แต่ทุกครั้งที่ภาวนา สัมมาอะระหัง เราจะต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงดวงใส
ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ
คือจับภาพที่เราพอนึกได้แปะติดไว้ที่บริเวณกลางท้องที่เรามั่นใจว่า
นี่คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ฐานที่
๗ ที่หยุดใจของพระอริยเจ้า
ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อท่านทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่งแล้ว
ใจของท่านจะกลับมาหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้
ตำแหน่งเดียวกัน ไม่มีเว้นเลยแม้แต่พระองค์เดียว ตั้งแต่เบื้องต้นที่ยังเป็นปุถุชน
จนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย ทุกพระองค์จะต้องนำใจมาหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ที่ตรงนี้
เพราะท่านเห็นว่า
ชีวิตในสังสารวัฏ หรือการเวียนว่ายตายเกิดในภพทั้ง ๓ นี้เป็นชีวิตที่ไม่ปลอดภัย
เนื่องจากว่าทุกชีวิตตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม กฎแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อสรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลาย
เกิดขึ้นแล้วล้วนไปสู่จุดสลายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ
แม้กระทั่งโลกใบนี้ สักวันหนึ่งก็ต้องล่มสลายด้วยกัปวินาศต่างๆ
เพราะฉะนั้น
ท่านจึงเบื่อหน่ายชีวิตการเวียนว่ายตายเกิด ที่ทำให้มีแต่ความทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเกิดเป็นชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง หรือว่าชนชั้นสูง ชนชั้นล่างก็ทุกข์แบบชนชั้นล่าง
ชนชั้นกลางก็ทุกข์แบบชนชั้นกลาง ชนชั้นสูงก็ทุกข์แบบชนชั้นสูง คนจนก็ทุกข์อย่างหนึ่ง
เศรษฐีก็ทุกข์อีกอย่างหนึ่ง
และทุกคนมีทุกข์ที่เหมือนกัน คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย
ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นของรักของชอบใจ ประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รักบ้าง
หรือปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ดั่งใจบ้าง เป็นต้น เมื่อทุกๆ ชีวิตมีสภาพอย่างนี้
ท่านจึงเบื่อหน่ายชีวิตที่เวียนว่ายตายเกิดในภพทั้ง ๓ ดังนั้น ท่านก็ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง
แล้วใจก็จะกลับเข้ามาสู่ภายใน หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้
ตำแหน่งเดียวกันทุกพระองค์เลย
ลูกทุกคนก็จะต้องเดินรอยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในการนำใจมาหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วประกอบบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง
เรื่อยไปอย่างสบายๆ จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง เมื่อใจหยุดนิ่งก็จะทิ้งคำภาวนาไปเอง
เพราะฉะนั้น
ตอนนี้เราก็ประคองใจให้หยุด ให้นิ่งๆ นุ่มๆ พอใจใสๆ ใจสบายดีแล้ว
เราก็จะพร้อมใจกันประกอบพิธีอธิษฐานจิต
นึกถึงบุญที่เราได้จุดเทียนใจไฟนิรันดร์อนันตชัยบูชาพระรัตนตรัย
ให้ลูกทุกคนต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
(ปฏิบัติธรรม)
เมื่อกายวาจาใจของเรา
ใสสะอาดบริสุทธิ์ดีแล้ว
ต่อจากนี้ไปเราจะได้พร้อมใจกันนึกถึงบุญที่เราได้จุดเทียนใจไฟนิรันดร์อนันตชัยบูชาพระรัตนตรัย
แล้วจะได้อธิษฐานจิต ให้ลูกทุกคนนั่งพับเพียบหลับตาพนมมือขึ้นพร้อมๆ กันนะจ๊ะ
(ตั้งนะโม ๓ จบ)
กล่าวคำอธิษฐานจิต
ข้าพเจ้าทั้งหลาย,
ขอนอบน้อมบูชา, พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์, และมหาปูชนียาจารย์,
ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชชาธรรมกาย,
ด้วยเทียนใจไฟนิรันดร์อนันตชัย,
ในพรรษาแห่งการเข้าถึงธรรมนี้,
ข้าพเจ้าทั้งหลาย,
จะตั้งใจปฏิบัติธรรม, ให้เข้าถึงพระธรรมกาย, และจะทุ่มเทชีวิตจิตใจ, สร้างบารมีอย่างเต็มที่, ขออานิสงส์แห่งบุญนี้, จงดลบันดาลให้, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ได้ประสบความสำเร็จในชีวิต, ในธุรกิจหน้าที่การงาน, และสิ่งที่พึงปรารถนา, ให้มีมหาสมบัติอัศจรรย์, ทันใช้สร้างบารมี, ในปัจจุบันชาตินี้, ให้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง,
มีกำลังใจที่เข้มแข็ง, ในการทำหน้าที่ผู้นำบุญ, ยอดกัลยาณมิตร,
เมื่อไปชักชวนผู้มีบุญใด, ให้มาสร้างบารมี, เป็นประธานกองกฐินสามัคคี, ขอให้สำเร็จเป็นอัศจรรย์, ให้เข้าถึงฐานะอันประเสริฐ, ที่เลิศทั้งมนุษยสมบัติ, ทิพยสมบัติ, และนิพพานสมบัติ,
ให้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด, ทั้งทางโลกและทางธรรม, ให้เป็นบัณฑิตนักปราชญ์, ฉลาดในศาสตร์ทั้งปวง, มีดวงปัญญาสว่างไสว, มีญาณทัสสนะกว้างไกล, มีดวงตาแจ่มใส, ทั้งมังสจักษุ, ทิพยจักษุ, ปัญญาจักษุ,
สมันตจักษุ, และธรรมจักษุ,
ให้ได้บรรลุธรรม,
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, และพระเดชพระคุณหลวงปู่, พระมงคลเทพมุนี, สด จนฺทสโร,
พระผู้ปราบมาร, และคุณยายอาจารย์, มหารัตนอุบาสิกาจันทร์
ขนนกยูง, ให้ความปรารถนาทั้งมวล, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, จงเป็นผลสำเร็จ, จงเป็นผลสำเร็จ, จงเป็นผลสำเร็จ, ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมกาย, ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ทุกๆ พระองค์, จงทุกประการเทอญ, นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565