อายุพระศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๐
เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ (๐๙.๐๐ -
๑๑.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไป ให้ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ
โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ
ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา
หลับตาพอสบายๆ พริ้มๆ ไม่ถึงกับเปลือกตาปิดสนิท เหมือนเราปรือๆ ตานิดหน่อย ในระดับขนตาชนกัน
ปรับใจ
ทำใจของเรา
ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน
เรื่องครอบครัว หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ทำใจให้เบิกบานอย่างเดียวนะจ๊ะ
วางใจ
แล้วก็รวมใจกลับไปหยุดอยู่ภายใน
ไปหยุด นิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า
เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง
จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท
จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ หรือจำง่ายๆ ว่า อยู่ในบริเวณกลางท้องของเรา ในระดับที่เรามั่นใจว่า
เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
ฐานที่
๗ ตำแหน่งสำคัญที่สุดในชีวิต
ฐานที่
๗ นี้ เราต้องทำความรู้จักไว้ให้ดี เพราะเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา
เพราะนอกจากจะเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่น ของตัวเราแล้ว ยังเป็นต้นทางไปสู่อายตนนิพพาน
ที่เกิด
ที่ดับ ก็คือ ที่เรามาเกิด และที่เราจะไปเกิดใหม่ หรือที่ตายของเราก็อยู่ตรงนี้
หลับตรงนี้ ตื่นตรงนี้ สำคัญมาก ภาพกรรมนิมิตอะไรต่างๆ ที่จะมาฉายให้เห็นก็ตรงนี้
คตินิมิตจะมืดหรือสว่างก็ตรงนี้
จะไม่มาเวียนว่ายตายเกิดอีกก็ตรงนี้
แต่ว่าเดินกันคนละทาง หมายความว่า ถ้าเรายังมีกิเลสอาสวะอยู่ จะไปเกิดก็ต้องเดินสวนทางกัน
จากฐานที่ ๗ ไปฐานที่ ๖ ในระดับเดียวกับสะดือ ฐานที่ ๕ ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก
ฐานที่ ๔ ก็เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๓ ก็กลางกั๊กศีรษะ ฐานที่ ๒
ก็หัวตา หญิงซ้ายชายขวา ฐานที่ ๑ ก็ปากช่องจมูก หญิงซ้ายชายขวา
ทางมรรคผลนิพพาน
ถ้าจะเลิกเวียนว่ายตายเกิดเราก็เดินในเส้นทางของพระอริยเจ้า
ซึ่งอยู่ภายใน โดยมีจุดเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้
มรรคผลนิพพานก็อยู่ในตัวของเรา ของมนุษย์ทุกๆ คนในโลก อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ดังนั้นตำแหน่งฐานที่
๗ นี้จึงสำคัญ เพราะเป็นตำแหน่งเดียวกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระอรหันต์ทั้งหลาย
ตั้งแต่พระสัพพัญญูพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลายทั้งหมดนับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน
ทุกยุคทุกสมัย
เมื่อท่านเบื่อหน่ายชีวิตในสังสารวัฏ
เพราะว่าเป็นชีวิตที่ไม่ปลอดภัย ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม กฎไตรลักษณ์
และกฎเกณฑ์อีกหลายๆ อย่าง เมื่อชีวิตไม่ปลอดภัยจากอบาย จากความไม่รู้อะไรต่างๆ
เหล่านี้ แล้วกฎเกณฑ์ต่างๆ ดังกล่าว ท่านก็เบื่อหน่ายที่จะเวียนว่ายตายเกิดในภพทั้ง
๓ นี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
เมื่อท่านเบื่อหน่ายจนถึงขีดสุด
ท่านก็คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง ใจก็หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น คน
สัตว์ สิ่งของ อะไรต่างๆ เหล่านั้น เป็นต้น เมื่อทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง ใจของท่านก็จะกลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้
ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
พอถูกส่วนก็ตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน
ซึ่งเป็นที่โล่งๆ ว่างๆ แล้วก็มีดวงธรรมที่อยู่ภายใน
มีอยู่แล้วดั้งเดิมลอยขึ้นมาเป็นดวงใสๆ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ
อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน ลอยขึ้นมา
อยู่ในตำแหน่งฐานที่ ๗ เป็นดวงกลมๆ เหมือนดวงแก้วที่เจียระไนแล้ว
ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว
ไม่มีตำหนิเลย สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน แล้วก็ใสเย็น
เย็นสบายคล้ายแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ มาพร้อมกับความสุขที่ไม่มีประมาณ
ความบริสุทธิ์ของใจ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ใจเป็นอิสรภาพจากความผูกพันจากทุกสิ่ง
ดวงใสๆ ดวงนี้ เรียกว่า ดวงปฐมมรรค หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นดวงธรรมดวงแรก
ซึ่งเป็นประดุจประตูที่จะเดินทางไปสู่พระนิพพาน เป็นต้นทางไปสู่พระนิพพาน
ต้นทางสายกลางภายใน ในเส้นทางของพระอริยเจ้า ซึ่งจะเป็นแนวดิ่งเข้าไปสู่ภายใน ขยายไปรอบตัวทุกทิศทุกทาง
ใจท่านจะนิ่งอยู่ในกลางดวงปฐมมรรคนั้น
แล้วก็เคลื่อนเข้าไปตามลำดับ เห็นดวงธรรมในดวงธรรม เช่น เห็นดวงศีลอยู่ในกลางดวงปฐมมรรค
หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในกลางดวงศีลก็เข้าถึงดวงสมาธิ
ในกลางดวงสมาธิก็เข้าถึงดวงปัญญา ในกลางดวงปัญญาก็เข้าถึงดวงวิมุติ
ในกลางดวงวิมุติก็เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสะ
ชุดหนึ่งมี
๖ ดวงซ้อนๆ กันอยู่ภายใน เป็นของมีอยู่แล้วดั้งเดิมภายใน
เป็นธรรมที่จะเป็นจุดเชื่อมให้เราเข้าไปถึงกายภายใน ชีวิตภายในที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
เป็นชีวิตที่ซ้อนๆ กันอยู่ เป็นกายภายใน
ตั้งแต่กายมนุษย์ละเอียดซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์หยาบ กายทิพย์หยาบละเอียดซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียด
กายรูปพรหมก็ซ้อนอยู่ในกลางกายทิพย์ กายอรูปพรหมก็ซ้อนอยู่ในกลางกายรูปพรหม
กายธรรมซ้อนในกลางกายอรูปพรหม
ตั้งแต่กายธรรมโคตรภู หน้าตักหย่อนกว่า ๕ วานิดหน่อย
ในกลางกายธรรมโคตรภู
ก็จะมีกายธรรมพระโสดาบัน หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา ซ้อนอยู่
กลางกายธรรมพระโสดาบัน
ก็มีกายธรรมพระสกิทาคามี หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา ซ้อนอยู่
ในกลางกายธรรมพระสกิทาคามี
ก็มีกายธรรมพระอนาคามี หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา ซ้อนอยู่
ในกลางกายธรรมพระอนาคามี
ก็มีกายธรรมพระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ซ้อนอยู่
แต่ละกายก็จะมีเป็นคู่กัน
เป็นกายหยาบ กายละเอียด เหมือนกายมนุษย์หยาบ ก็มีกายมนุษย์ละเอียดซ้อนอยู่
รวมแล้วทั้งหมด
๑๘ กาย มีอยู่ภายในตัวของเรา
เพราะฉะนั้น ทางมรรคผลนิพพานมีอยู่ในกลางกายของเรา
โดยมีจุดเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เข้าถึงได้ด้วยการนำใจกลับมาหยุดนิ่ง
นุ่ม เบา สบาย อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ อย่างเดียว
ไม่ต้องทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์
ดังนั้นมรรคผลนิพพาน จึงไม่จำกัดกาลเวลา เพราะมีอยู่ในตัวของทุกคนในโลก
เราลงมือปฏิบัติธรรมเมื่อไร ใจหยุดนิ่งถูกส่วนที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ก็จะเห็นไปตามลำดับอย่างนี้
เป็นอายุพระศาสนา
อายุพระศาสนา ขึ้นอยู่กับตรงนี้ ตรงที่ใครจะให้ความสำคัญกับการหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตรงนี้ แล้วก็เคลื่อนเข้าไปสู่ภายในดังกล่าว ก็บรรลุได้ อย่างน้อยก็เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว
คือ กายธรรมโคตรภู หน้าตักหย่อนกว่า ๕ วา นิดหน่อย
เกตุดอกบัวตูมใสบริสุทธิ์ประดุจรัตนะ เป็นกายผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว
เรียกว่า พุทธรัตนะ
ในกลางพุทธรัตนะก็มี ธัมมรัตนะ เป็นดวงใสๆ
เป็นคลังแห่งความรู้ ในกลางธัมมรัตนะก็มี สังฆรัตนะ
เป็นกายธรรมละเอียด ซ้อนอยู่ภายใน
พุทธรัตนะ
ธัมมรัตนะ สังฆรัตนะ ๓ อย่างนี้เรียกว่า พระรัตนตรัย
เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของตัวเราเอง เพราะว่ารัตนะทั้ง ๓ ที่อยู่ภายในนี้
มีแต่ความสุขล้วนๆ สุขอย่างอมตะ เป็นสุขนิรันดร อบอุ่น ปลอดภัย เป็นตัวจริงของเรา
กายดั้งเดิมของเราที่เป็นอิสระ อิสรภาพจากกิเลสอาสสวะทั้งหลาย
ไปตามลำดับขั้นของความละเอียด ในกลางกายธรรมนี้ไม่มีทุกข์ มีแต่ความสุขล้วนๆ
ธรรมกายคือเป้าหมายชีวิต
ชีวิตภายนอกที่เราเผชิญอยู่
ไม่มีอะไรใหม่ในสังสารวัฏนี้ มีแต่เรื่องกาม เรื่องกิน เรื่องเกียรติ เป็นต้น ชีวิตเหล่านี้มีแต่ความทุกข์ทรมาน
ไม่เคยเจอความสุขที่แท้จริงเลย ได้อย่างมากก็แค่ความเพลิน แล้วก็เพลีย
ไม่มีสาระไม่มีแก่นสารอะไร
เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ของการมาเกิดเป็นมนุษย์ในแต่ละภพแต่ละชาติ
ก็เพื่อที่จะแสวงหาที่พึ่งที่ระลึก ที่อยู่ภายในตัว เพื่อจะได้ดับทุกข์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะได้
เมื่อยังไม่เจอก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดกันต่อไป
เกิดบ่อยๆ ก็แก่บ่อยๆ เจ็บบ่อยๆ ตายบ่อยๆ พลัดพรากจากสิ่งที่รักบ่อยๆ
ประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รักบ่อยๆ ปรารถนาสิ่งใดก็ไม่ได้ดังใจ
บ่อยๆ มีความโศก ความเศร้าเสียใจ คับแค้นใจร่ำพิไรรำพันบ่อยๆ ซ้ำๆ ซากๆ เหล่านี้ เพราะว่าไม่พบที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงที่อยู่ภายในตัว
บริกรรมนิมิต
วันนี้
ลูกทุกคนเป็นผู้มีบุญมาก นอกจากได้มาเกิดเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา ยังได้มาเข้าใจว่า
ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของชีวิตเรานั้น อยู่ที่ตรงไหนเพราะฉะนั้น ต่อจากนี้ไป
ให้ตั้งใจประกอบความเพียรกันให้กลั่นกล้า อย่างถูกหลักวิชชา
ด้วยการกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ เป็นภาพทางใจที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา
ต้องกำหนดของที่ใสๆ
ของที่บริสุทธิ์ นึกแล้วสบายใจ เช่น กำหนดเครื่องหมายให้ใส สะอาด บริสุทธิ์
เป็นเพชรสักเม็ดหนึ่ง โตขนาดไหนก็ได้ที่เราจะนึกได้ง่ายๆ
เช่น โตเท่ากับแก้วตาของเรา หรือโตใหญ่กว่านั้น เท่าลูกมะนาวบ้าง อย่างนี้เป็นต้น
ให้กำหนดบริกรรมนิมิต
คือ นึกขึ้นมาในใจ เป็นภาพทางใจอย่างสบายๆ ต้องนึกง่ายๆ สบายๆ ให้ตรึกนึกถึงดวงใส
วางใจ
แล้วก็เอาใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒
นิ้วมือ
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ
โดยเสียงคำภาวนาเป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา ภาวนาว่า
สัมมาอะระหังๆๆ
ทุกครั้งที่ภาวนาสัมมาอะระหัง
เราก็จะต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างเบาๆ สบายๆ
ผ่อนคลาย ใจเย็นๆ
อย่าๆ
ไปบีบไปเค้นภาพ อย่าไปเน้นภาพขึ้นมา นึกได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน เช่น นึกได้ชัดเจนแค่
๕ % ๑๐ % ก็เอาแค่นั้นไปก่อน แล้วก็ค่อยๆ
ประคองใจให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ สัมมาอะระหังๆๆ ภาวนากี่ครั้งก็ได้
จนกระทั่งใจหยุดนิ่ง
เมื่อใจหยุดนิ่งแล้ว
มันก็จะทิ้งคำภาวนาไปเอง หรือเกิดความรู้สึกว่า ไม่อยากจะภาวนาสัมมาอะระหังอีกต่อไป
เมื่อใดเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เราก็ไม่ต้องภาวนาสัมมาอะระหังอีกต่อไป แต่ว่าเมื่อใดใจฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น
เราจึงย้อนกลับมาภาวนาสัมมาอะระหังใหม่ ให้ประคับประคองใจกันไปอย่างนี้จนกว่าใจจะหยุดนิ่งนะจ๊ะ
เช้านี้อากาศกำลังสดชื่น
แจ่มใส เย็นสบาย เหมาะสมที่ลูกทุกคน ซึ่งเป็นผู้มีบุญ จะได้ประกอบความเพียรให้กลั่นกล้าอย่างถูกหลักวิชชา
ก็ให้ตั้งใจประคับประคองใจกันไป ขอให้ลูกทุกคนสมหวังดั่งใจ
ในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุกๆ คนนะลูกนะ
ต่างคนต่างนั่งกันไป เงียบๆ นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565