หยุดนิ่งจึ่งมากล้น บุญญา
หยุดแค่กะพริบตา เท่านั้น
สร้างโบสถ์กว่าล้านนา เทียบได้
หยุดนี่แหละเกินขั้น ล่วงพ้นกามาวจร
ตะวันธรรม
ประสบการณ์ ๑ นาที
ที่ใจหยุดนิ่ง
อาทิตย์ที่
๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๗
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 1 |EP.1| : ประสบการณ์หนึ่งนาทีที่ใจหยุดนิ่ง
(เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ............)
...หลับบ้าง ตื่นบ้าง ฟุ้งบ้างก็ช่างมัน ให้สมํ่าเสมอ ฝึกไปเรื่อยๆ
ประกอบความเพียรไป โดยไม่ให้มีอะไรมาเป็นข้อแม้ ข้ออ้าง หรือเงื่อนไข
เดี๋ยวใจก็จะคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ คุ้นเคยกับกลางท้อง
คุ้นเคยกับการหยุดนิ่ง
หยุดนิ่งแม้เพียงนาทีเดียวนี่ก็คุ้มแล้ว
สำหรับการเริ่มต้นนะ สักนาทีหนึ่ง แวบหนึ่ง ให้เราได้รู้จักกับประสบการณ์ภายในว่า
ใจหยุดนิ่งเป็นอย่างไร แล้วเราก็จะเริ่มรู้สึกชอบ เกิดความพึงพอใจ
เพราะหยุดนิ่งแค่นาทีเดียวเท่านั้น
ความรู้สึกมันจะแตกต่างจากใจไม่หยุดราวฟ้ากับดินเลย เพราะกายมันจะเบา ใจจะเบาสบาย
ตัวขยาย แล้วมันจะเบิกบาน แค่นาทีเดียว และเป็นครั้งแรก เราจะลืมไม่ลงเลย
แล้วก็จะเกิดความรู้สึกว่า มันคุ้มกับการที่เราขยันในการทำความเพียร
เหมือนเป็นรางวัลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีความเพียรอย่างสมํ่าเสมอ
โดยไม่ให้มีอะไรมาเป็นอุปสรรค แค่นาทีเดียวเท่านั้นก็คุ้มแล้ว
แล้วถ้านาทีนั้นหยุดนิ่งได้สมบูรณ์แล้วมันสว่าง
แสงสว่างแห่งความบริสุทธิ์ของดวงจิตที่สงัดจากกาม จากบาปอกุศลธรรม จากนิวรณ์ทั้ง ๕
สว่างแค่แวบเดียว นาทีเดียว
บุญที่เกิดขึ้นจากความสว่างนั้นมันมากกว่าบุญที่เราเอาทรัพย์ไปสร้างโบสถ์
สร้างวิหาร ศาลาการเปรียญ สร้างวัดวาอาราม
ซึ่งจะต้องใช้ทรัพย์มากแต่มันเป็นบุญคนละประเภทกันนะ แต่ได้มากกว่า
เพราะว่าเป็นต้นทางไปสู่พระนิพพาน
ประสบการณ์ ๑ นาทีนี้ หลวงพ่ออยากให้ลูกทุกคนได้รู้จัก ได้พบ
และจะเข้าใจกับ คำว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ เพราะความสุขอย่างอื่นสู้กันไม่ได้เลยกับใจที่หยุดนิ่ง
เพราะเป็นความสุขแบบพูดไม่ออกบอกไม่ถูก หรือพูดง่ายๆ ว่า
จะหาความสุขชนิดนี้ไม่ได้จากการที่มีความสมบูรณ์พร้อมทางด้านวัตถุสมบูรณ์ด้วยลาภยศสรรเสริญ
มันเป็นความสุขที่ไม่ทราบว่าจะใช้คำใดมาพูดพรรณนาให้เข้าใจได้
เพราะภาษาของมนุษย์มันมีจำกัด ดังนั้นจะเข้าใจตรงนี้ได้
ต่อเมื่อเรามีประสบการณ์ภายใน แค่เพียง ๑ นาทีนั้น
ทีนี้จาก ๑ นาทีนั้น มันก็จะเป็นแรงจูงใจให้เราอยากจะนั่งต่อไป
ซึ่งแต่เดิมเราพยายามที่จะนั่ง ต้องฝืน ต้องพยายาม ต้องอดทน เพราะเรารู้ว่ามันดี
อย่างน้อยก็ได้บุญ ทำให้จิตใจสงบ หรือเป็นอุปนิสัยของมรรคผลนิพพาน
แต่ว่าพอใจหยุดได้จริงๆ แล้ว มันอยากนั่งเอง มันอยากได้อารมณ์นั้นอีก แล้วก็อยากให้อารมณ์นั้นยาวนาน
ซึ่งก็จะทำให้เราขยันหรือสมัครใจนั่ง
นั่งอย่างมีความสุขสนุกสนานแบบบุญบันเทิงทีเดียว
เพราะฉะนั้น การทำถูกหลักวิชชาและต่อเนื่องด้วยความเพียรมีความสำคัญ
ดังนั้นเราก็ต้องหมั่นทบทวนนะลูกนะ ที่เราฝึกอยู่ทุกวันว่า มันถูกต้องไหม
ถูกหลักวิชชาไหม ตั้งแต่การวางใจว่ามีความสมัครใจอยากเห็นไหม มีสติ มีความสบายไหม
และสมํ่าเสมอต่อเนื่องที่เรียกว่า สัมปชัญญะ หรือเปล่า ก็ให้หมั่นสังเกตดู
แล้วก็ปรับไปเรื่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ ฝึกไปปรับไป
ทำทุกที่ทุกเวลา
ใจนี่มันต้องปรับกันทุกรอบที่เรานั่ง และยิ่งถ้าเราเพิ่มชั่วโมงหยุด
ชั่วโมงนิ่ง ชั่วโมงกลางในอิริยาบถอื่นที่นอกเหนือจากช่วงเวลาที่เรานั่ง
ไม่ว่าจะเป็นการยืน การเดิน การนอน การวิ่งเอ็กเซอร์ไซส์ หรือทำภารกิจอะไรก็ตาม
เราเพิ่มการฝึกหยุดนิ่งไปด้วยก็จะทำให้เราคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายมากขึ้น
หัดหมั่นตรึก “ตรึก” ก็คือการแตะใจไว้กลางกายอย่างเบาๆ สบาย
ไม่ได้แปลว่ากดใจหรือเน้น คือแค่ทำนิ่งๆ ที่กลางกายแต่ไม่ใช่ว่าเน้นหนัก
แต่ว่านิ่งแน่น นิ่งเฉยๆ ตรึกไปเรื่อยๆ
แต่เวลาลืมตานี่อยากแนะนำว่า
ให้นึกเป็นภาพเอาไว้ จะเป็นดวงใส องค์พระใสๆ
หรือพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ของเราอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
เพราะว่าเราลืมตาดูวัตถุภายนอก มันก็ต้องมีภาพภายในที่จะให้เรานึกถึง
ไว้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจ แล้วก็ควรทำทุกสถานที่ ไม่ว่าในห้องนํ้า ห้องส้วม
กำลังจะขับถ่ายปัสสาวะ อุจจาระก็ทำได้ ไม่บาป แถมได้บุญด้วย
เพราะว่าเป็นทางมาแห่งกุศล
เท่ากับเราไม่ปล่อยเวลาให้ว่างเปล่า
เพราะเวลาในเมืองมนุษย์มีคุณค่ามาก เรามีเวลาอย่างจำกัดในโลกมนุษย์
และยิ่งช่วงระยะเวลาแห่งความแข็งแรง สดชื่น ของร่างกายก็ยิ่งมีจำกัดใหญ่
เราจึงควรทำตลอดเวลาทุกหนทุกแห่งทุกสถานที่นะ
ฝึกกันไปเรื่อยๆ ควบคู่กับภารกิจประจำวัน ให้ภารกิจกับจิตใจไปด้วยกัน
เหมือนเราหายใจเข้าออกควบคู่กันไปกับภารกิจในชีวิตประจำวันอย่างนั้น
เมื่อเราไม่อาจขาดลมหายใจได้ เราก็ไม่ควรขาดการฝึกอย่างนี้คู่กันไป ฝึกไปบ่อยๆ
สิ่งที่ยากมันก็จะค่อยๆ ง่ายขึ้นในภายหลัง ที่เคยมืดมันก็จะค่อยๆ
มีแสงสว่างเรืองรองขึ้นไปเรื่อยๆ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565