อธิปไตยในตัว
วันอาทิตย์ที่ ๘ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ (๑๓.๓๐
น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ ห้องแก้วสารพัดนึก
ปรับกาย ปรับใจ
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบาๆ พอสบายๆ
ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายของเรา ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกว่าสบาย
ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน ให้เลือดลมในตัวเดินได้สะดวก
จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย ต้องสบายๆ ต้องผ่อนคลายนะ
ทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง
ทำใจให้ใสๆ ให้ใจเย็นๆ ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น
วางใจ
แล้วรวมใจกลับเข้าไปสู่ภายใน ไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ จำง่ายๆ ว่าอยู่ในบริเวณกลางท้องของเรา ทำใจให้สบายๆ ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น
นึกถึงบุญ
นึกถึงบุญที่เราทำผ่านมา โดยเริ่มนึกถึงบุญที่เราปลื้มได้ง่ายก่อน
เช่น บุญไปชวนคนมาบวชพระในทุกๆ รุ่น ไปตักบาตรพระ
ซึ่งเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ในภาวะนี้
ที่สิ่งแวดล้อมไม่ได้เกื้อหนุนต่อการสร้างบารมีของเราเลย แต่อะไรๆ
ก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับพวกเรายอดนักสร้างบารมี นึกถึงบุญเหล่านี้ทุกๆ บุญ ด้วยใจที่ใสๆ
ใจเย็นๆ ต้องเย็นๆ นะ ใจถึงจะรวมลงเข้าไปสู่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้อย่างง่ายๆ
เราจะมองข้ามหรือดูเบาในสิ่งที่แนะนำไม่ได้เลย ทั้งผ่อนคลาย
ทั้งหลับตาเบาๆ ทั้งนึกถึงบุญที่ทำให้เราปลื้ม ทั้งหมดนี้จะทำให้ใจไปหยุดนิ่งนุ่มได้อย่างง่ายๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
พอเราทำถูกหลักวิชชาอย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ ตัวของเราจะโล่ง จะว่าง
จะเป็นโพรงกว้างออกไป แล้วใจจะหลุดจากหยาบไปอยู่จุดที่ละเอียด จุดที่โล่งๆ ว่างๆ
ได้อย่างง่ายๆ ใจก็จะนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ ไปเรื่อยๆ ไปเองเลย
วางใจให้เป็น
ถ้าเราวางใจเป็น ความใส ความสว่างจะค่อยๆ เกิดขึ้นมาเองอย่างง่ายๆ
ถ้าเราทำถูกวิธี ดวงธรรมใสๆ หรือดวงแก้วใสๆ จะบังเกิดขึ้นเองอย่างง่ายๆ หรือนึกขึ้นมาได้ง่าย
โดยไม่ได้ใช้ความพยายามอะไรเลย เป็นดวงใสๆ ชัดมากบ้าง ชัดน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนทำซ้ำๆ
สำคัญเบื้องต้น คือ ต้องวางใจให้เป็น จับอารมณ์ให้ได้
จำอารมณ์ที่เราปรับทั้งร่างกายและจิตใจให้สอดคล้องกลมกลืนกันไป ต้องจำตรงนี้นะ
สรุปง่ายๆ คือต้องเบาๆ ต้องง่ายๆ ถ้ายากไม่ใช่ ต้องสบายๆ ต้องผ่อนคลาย
แล้วก็ต้องใจเย็นๆ
ถึงจะเป็นไปอย่างที่กล่าวมาแล้ว คือ จะโล่ง โปร่ง เบา สบาย ตัวจะหายไปเลย
กลมกลืนไปกับบรรยากาศและความใส ความสว่างเกิดขึ้น ดวงเกิดขึ้น ค่อยๆ
ชัดขึ้นมาเรื่อยๆ
ยิ่งถ้าเราทำใจหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ไปเรื่อยๆ ดวงแก้วนั้นจะยิ่งชัดขึ้นมาเองเลย มาพร้อมกับความเบาสบายที่เพิ่มขึ้น
จนเราไม่อยากได้อะไร ไม่อยากคิดอะไร อยากอยู่เฉยๆ นิ่งๆ ที่ดวงใสๆ
ฝึกบ่อยๆ ทำซ้ำๆ
พอเราฝึกตรงนี้เป็นแล้ว ก็ทำให้ชำนาญ คือ ทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ วันละ ๒
เวลา หลับตากับลืมตา ค่อยๆ ชำเลืองดูไปเรื่อยๆ เวลาที่เราอยู่นอกรอบ
พอถึงในรอบมันก็ง่าย ใจจะนิ่งนุ่มเบาสบาย ดวงก็ใสเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วจะใสในใส
เหมือนน้ำใสๆ เหมือนกระจกใสๆ บ้าง กระทั่งเหมือนเพชรใสๆ
เป็นความใสที่มาพร้อมกับความบริสุทธิ์ ความสุข
เราฝึกตรงนี้ให้ชำนาญ ฝึกซ้ำๆ อย่าประมาท อย่าชะล่าใจว่า
เราจะทำเมื่อไรก็ได้ ต้องทำตลอดเวลา เหมือนเราหายใจเข้าออก ค่อยๆ ประคองไป
แม้ว่าเราจะมีภารกิจหยาบทางโลกก็ตาม
ต้องหมั่นชำเลืองดูที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เอาไว้เรื่อยๆ
ข้างนอกเคลื่อน ไหว ข้างในหยุดนิ่ง ทำควบคู่กันไป ทำซ้ำๆ ที่ภาษาธรรมะเรียกว่า
“ภาวิตา พหุลีกตา” บ่อยๆ เนืองๆ
ใจบริสุทธิ์ กลั่นธาตุให้บริสุทธิ์
จิตของเราจะบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น กลั่นธาตุในตัวของเรา ดิน น้ำ ลม ไฟ
วิญญาณ อากาศ บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น ถ้าพูดง่ายๆ คือ
จะขยายมาสู่ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายของเราให้บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ใจก็ยิ่งใส กายก็ยิ่งใส ขยายไปจนกระทั่งสิ่งแวดล้อมบรรยากาศที่อยู่รอบตัวของเราใสๆ
บริสุทธิ์ตามไปด้วย พลอยทำให้เรามีอารมณ์บันเทิงตลอดเวลา
เราฝึกซ้ำๆ ทำให้ชำนาญ จนกระทั่งดวงใสติดอยู่ในกลางกายตลอดเวลา
ทั้งใส ทั้งสว่าง สว่างเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ สว่างเหมือนดวงดาวในอากาศบ้าง
เหมือนดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญบ้าง กระทั่งสว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
หรือยิ่งกว่านี้ เป็นความสว่างที่เนียนตา ละมุนใจ สว่าง ชัด แจ่มกระจ่าง เหมือนเราลืมตาเห็นวัตถุภายนอก หรือยิ่งไปกว่านี้ คล้ายกับเอาแว่นขยายส่องดู
ชัดแจ่มทีเดียว
ทั้งชัด ทั้งใส ทั้งสว่าง ทั้งอารมณ์ดี อารมณ์สบาย
มีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจ ก็จะไปดึงดูดบุญธาตุมาเพิ่มในตัวของเรามากเข้าไปเรื่อยๆ
ฝึกตรงนี้ให้ดี ให้คล่อง ให้ชำนาญ พอตรงนี้ได้แล้วอย่างอื่นก็ง่าย
จะเห็นไปเอง ใจจะดื่มด่ำดำดิ่งเข้าไปสู่ภายในอย่างง่ายๆ ไปเรื่อยๆ
๔ น. “นิ่ง นุ่ม แน่น นานๆ”
ส่วนใครที่เห็นองค์พระแล้ว ก็มององค์พระในทำนองเดียวกัน
จากทำความรู้สึกว่ามีองค์พระ จนกระทั่งแปรเปลี่ยนเป็นการเห็นที่รัวๆ รางๆ
แล้วกระจ่างชัดขึ้นมาเรื่อยๆ กระทั่งเหมือนเป็นองค์พระพุทธรูปตั้งอยู่ในกลางท้อง
ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เราก็ดูไปเฉยๆ อย่าเพิ่งไปเก็บรายละเอียดอะไร ดูเฉยๆ
วางใจนิ่งๆ นุ่มๆ ให้นานๆ จนกระทั่งความนิ่งนุ่มนี้หนาแน่น คือ
มีแต่ความนิ่งนุ่มอย่างเดียว ใจก็นุ่มนวลนานๆ ฝึกให้ได้ ๔ น. นิ่งนุ่มอย่างนิ่งแน่นให้นานๆ
นิ่ง นุ่ม แน่น นานๆ
ฝึกอย่างนี้ให้คล่อง ให้ชำนาญ แล้วลูกจะรู้สึกตัวเองว่า
เราเป็นผู้โชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย
ได้มาฝึกฝนอบรมตนเอง จนกระทั่งมีประสบการณ์ภายในชัดใสแจ่มกระจ่างกลางกาย ซึ่งน้อยคนในโลกจะได้ ไม่ว่าเขาจะมีทรัพย์สินภายนอก มีอำนาจ
วาสนามากมายแค่ไหน ก็ไม่มีอย่างเรา ไม่มีประสบการณ์ภายในและไม่มีความสุขอย่างเรา
อธิปไตยในตัว
เราจะเป็นใหญ่ด้วยตัวของเราเอง มีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจ
เป็นอยู่ได้ด้วยตัวของเราเอง นั่งตามลำพังก็มีสุข ยืนตามลำพังก็มีสุข
เดินตามลำพังก็มีสุข นอนตามลำพังก็มีสุข สุขแค่อยู่บนอาสนะ ๑ ตารางเมตร
ที่ใช้รองรับร่างกายของเราประดุจรัตนบัลลังก์ มีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจ เป็นใหญ่ในตัว
จะรู้จักคำว่า “เป็นใหญ่ในตัว” “มีอธิปไตยในตัว” เป็นอย่างไร ต่อเมื่อใจหยุด นิ่ง นุ่ม
แน่น นานๆ ต้องฝึกอย่างนี้นะลูกนะ
ความปีติใจ ความสุขและความภาคภูมิใจจะบังเกิดขึ้น
จะเข้าใจชีวิตของผู้ปลีกวิเวกสันโดษอยู่ตามลำพังว่า เป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่
เข้าใจว่าความสันโดษมักน้อย ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ยินดีปัจจัยตามมีตามได้ เขาอยู่เป็นสุขกันอย่างไร
โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองอดอยากยากจนต้อยต่ำ
กลับมีความรู้สึกสูงส่งปีติเบิกบานอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น ต้องฝึกตรงนี้ให้ได้นะ ฝึกให้นิ่ง ทั้งลูกๆ ผู้นำบุญ
ลูกพระ ลูกเณร ต้องฝึกกันอย่างนี้ ฝึกซ้ำๆ เดี๋ยวลูกลองฝึกนะ นั่งฝึกไปอย่างสบายๆ
ต้องสบาย ต้องผ่อนคลายกว่านี้ ต้องวางเบาๆ กว่านี้ ต้องนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ
ปรือๆ ตานิดหนึ่ง ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565