หยุด
แรกคือหยุดโม้ การคุย
หยุด
ถัดมาคือลุย หยุดไว้
หยุด
สามหยุดฉลุย ในหยุด
หยุด
สี่หยุดห้าไซร้ หยุดให้สุดธรรม
ตะวันธรรม
ยาก ตรงหยุดแรก
อาทิตย์ที่
๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 1 |EP.16| :ยากตรงหยุดแรก
(เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ............)
...ถ้าเราฝึกทุกวัน
ปรับกันไปเรื่อย ๆ เราก็จะคุ้นเคยกับการวางใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ใจก็จะนิ่งได้ง่ายขึ้น แต่เดิมฝึกใหม่ ๆ ก็มีความฟุ้งอยู่ มากบ้าง น้อยบ้าง
แต่พอเราฝึกบ่อย ๆ ความฟุ้งก็จะหมดไปเอง จะเหลือก็แค่ความตั้งใจมากเกินไป
ซึ่งทำให้เกิดอาการตึงเครียดที่ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ตอนนี้เราก็ต้องผ่อนคลาย
ปรับให้พอดี ๆ
ความพอดี = พอใจ
พอดี
สังเกตอยู่ที่เราพึงพอใจ แม้ยังไม่เห็นอะไรก็ตาม มันจะเกิดความพึงพอใจว่า
จะต้องวางใจอย่างนี้ หยุดใจอย่างนี้ อยู่นิ่ง ๆ อย่างนี้
แล้วก็ไม่ต้องไปกังวลอะไรเลย ปล่อยอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ ใจก็จะนิ่งเข้าไปถ้าถูกวิธี
ตัวก็จะโล่ง โปร่ง เบาสบาย สบายในระดับที่เราเกิดความพึงพอใจ
ทำให้กระตือรือร้นที่จะนั่งในรอบต่อ ๆ ไป แม้ยังไม่เห็นอะไรก็ตาม นั่นแปลว่า
เราทำถูกหลักวิชชาแล้ว
ทีนี้เราก็รักษาความนิ่งนั้นให้นานขึ้น
ให้แน่นขึ้น เข้าไปสู่ความนิ่งนี้บ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ก็จะนิ่งได้ง่ายขึ้น
พอใจหยุดถูกส่วนเข้า เราจะรู้สึกว่า ใจมันเกลี้ยง ๆ เหมือนถูกกลั่นให้บริสุทธิ์
และมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้น เมื่อเราหยุดได้แล้วมันจะมีความสุข มีปีติ สบายกาย
สบายใจ อยากอยู่ตรงนี้ไปนาน ๆ นั่นน่ะ เราทำถูกวิธีแล้ว
แต่ถ้านั่งแล้วเรายังตึงกระบอกตา
ตึงหน้าผาก นิ้วกระดก ไหล่ยก ท้องเกร็ง แสดงว่า เราตั้งใจมากเกินไป อย่าไปฝืนทำต่อ
ต้องค่อย ๆ ผ่อน ลืมตาขึ้นมาสักนิดหนึ่ง แล้วก็ปรับใหม่ ฝึกกันไปอย่างนี้แหละ
เดี๋ยวเราก็จะมีผลการปฏิบัติที่ดีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
หลับตาทุกครั้งใจก็ถูกกลั่นให้บริสุทธิ์ขึ้น
การหลับตาแต่ละครั้ง
แม้ว่าเรายังไม่ได้เข้าถึงแสงสว่าง ดวงธรรมหรือกายในกายภายใน ก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่ก้าวหน้า
แม้ไม่มีอะไรใหม่ ๆ มาให้เราดู แค่เราหยุดนิ่งเฉย ๆ
ใจของเราก็จะถูกกลั่นให้บริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ
สักวันหนึ่งเมื่อถึงจุดที่ถูกส่วนก็จะพรึบขึ้นมาเอง มันจะสว่าง
แล้วเราก็จะมีความรู้สึกพึงพอใจกับความบริสุทธิ์นั้น
ใจที่บริสุทธิ์นี้มันมีความสุขมากกว่าใจที่ไม่บริสุทธิ์ที่ถูกเคลือบด้วยเบญจกามคุณ
ด้วยความยินดียินร้ายในรูป เสียง กลิ่น รสสัมผัส ธรรมารมณ์
ปริมาณความสุขจะแตกต่างกันเลย ยิ่งแสงสว่างภายในเกิดขึ้น
ก็จะยิ่งเพิ่มปริมาณแห่งความพึงพอใจมากขึ้นไปเรื่อย ๆ มันชวนให้เราติดตาม อยากศึกษาเรียนรู้เพิ่มขึ้นไปอีก
ใจยิ่งนิ่งนุ่มเบาสบาย
แสงสว่างนั้นก็จะค่อย ๆ ขยายครอบคลุมไป
เราก็จะเห็นจุดกึ่งกลางแหล่งกำเนิดของแสงสว่างเป็นจุดเล็ก ๆ ใส ๆ
เหมือนดวงดาวในอากาศบ้าง
เหมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญบ้างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวันบ้าง
หรือบางคนโตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่บ้างเกิดขึ้นมา
นั่นแหละคือรัตนะภายใน
เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างสูง เป็นธรรมดวงแรก รัตนะดวงแรก ที่เทียบกับรัตนะ
เพราะมันใสเหมือนแก้ว เหมือนเพชรใส ๆ ที่มีทั้งมูลค่าและคุณค่า
หลังจากนั้นเราไม่ต้องทำอะไรเลย ให้ทำอย่างเดิม คือ หยุดนิ่งเฉยไปเรื่อย ๆ
นั่งหน้ายิ้ม ๆ หลับตาพริ้ม ๆ
มันยากอยู่ที่หยุดแรก หยุดแรก ๆ
นี่จะยากสักนิดหนึ่ง เพราะเราไม่คุ้นเคยกับการหยุดใจไว้ภายใน
เราคุ้นกับการหยุดใจไว้ภายนอก ไปที่คน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง
อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น หยุดใจภายนอกได้แค่ความเพลิน ๆ หมดเวลาไปวัน ๆ แต่ถามว่า
มีความสุขไหม มันก็ไม่ได้มีความสุข มันก็แค่เพลิน ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่เราคิดว่า
มันเป็นความสุข เพราะเราไม่รู้จักว่า ความสุข เป็นอย่างไร
จะรู้จักคำว่า ความสุข
หรือสิ่งที่ความสุขมี หรือเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่า ความสุข
เข้าถึงจิตวิญญาณของความเป็นสุข เนื้อหนังของความสุข มันต้องใจหยุดนิ่ง คำ ๆ
นี้จึงจะปรากฏเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น
อย่าท้อในกรณีที่เรายังทำไม่ได้ ยังไม่เป็น ไม่ได้แปลว่า เราจะทำไม่ได้ตลอดชาติ
แต่ฝึกบ่อย ๆ นั่งไปทุกวัน แม้ในอิริยาบถอื่น ยืน เดิน นอน
ก็ฝึกทำความคุ้นเคยกับการวางใจเบา ๆ นึกเบา ๆ แตะใจเบา ๆ ในกลางท้อง
โดยไม่กดลูกนัยน์ตา ต้องอาศัยการฝึกนะลูกนะ ต้องฝึก อยู่ ๆ
จะให้เป็นมาตั้งแต่เกิดมันคงเป็นไปได้ยาก แล้วก็ยังไม่เห็นมีใครเป็นกัน
ต้องอาศัยการฝึกทั้งนั้น ลูกทุกคนอยู่ในวิสัยที่ฝึกได้ ที่จะเข้าถึงได้ ไม่ยากนัก
ค่อย ๆ ทำไป
เพราะฉะนั้น
วันนี้แม้เรายังไม่มีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาให้เราดูในกลางกาย
ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ก้าวหน้า แต่ว่ามันดีขึ้นไปเรื่อย ๆ เราก็ฝึกไป แล้วก็นั่งนาน ๆ
ขึ้น นิ่งนาน ๆ เข้า อย่างที่เขียนไว้ในบทเพลงนั่นแหละ
นั่นถอดประสบการณ์ออกมาเป็นบทเพลง ต้องทำอย่างนี้แค่นี้เท่านั้นถึงจะได้
ประสบการณ์เมื่อใจตกศูนย์
ทีนี้พอถึงจุดที่ใจจะตกศูนย์
มันกลวงข้างในแล้ว เป็นโพรงเหมือนท่อบ้าง เหมือนหลุมลึก ๆ เหวลึก ๆ
หรือบางทีเป็นที่โล่งลึก ๆ มีความมืด จนกระทั่งเราหวั่นไหว
เพราะไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนี้มาก่อน มักจะกลัวกัน สะดุ้งหวาดเสียว
กลัวว่ามันจะมีอะไรลึก ๆ ในนั้น จะตายหรือเปล่า ชีวิตเราจะสิ้นสุดวันนี้หรือ
หรือจะหลุดไปเห็นสิ่งที่ไม่ดีอะไรต่าง ๆ จะเกิดความสะดุ้งหวาดเสียวก็มีบ้างบางคน
สิ่งที่ลูกควรทำก็คืออย่าสูญเสียความสงบของใจ
ให้ใจหยุดนิ่งเฉย
ๆ อย่างนั้นเรื่อยไป อย่าให้ใจสูญเสียความเป็นกลาง ๆ ไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์ต่าง
ๆ หรือประสบการณ์ใด ๆ นิ่งต่อไป แล้วมันก็จะผ่านไป แต่ถ้าหากมันวื้ดลงไป
แล้วเราสะดุ้งหวาดเสียว เราก็อนุญาตให้หวาดเสียวได้สักครั้ง สองครั้ง บ่อย ๆ
เข้ามันก็จะค่อย ๆ คุ้นไป เพราะมันไม่มีอันตรายอะไร จะมีแต่สิ่งดี ๆ เกิดขึ้น
พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านถึงยํ้าว่า
หยุดนี่ให้ใช้ได้ตลอดตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์
เราก็หยุดนิ่งไปเรื่อย ๆ
แม้แสงสว่างแสงแรก
แสงแก้วแสงแรกบังเกิดขึ้นก็อย่าลิงโลดใจ ตื่นเต้นจนเกินไป
แต่ถ้าห้ามไม่ได้ก็ช่างมัน ถ้ามันหายไปก็เริ่มต้นใหม่อย่างง่าย ๆ
นี่ก็เป็นสิ่งที่ลูกทุกคนอย่าฟังผ่านนะ เพราะไปถึงตรงนั้นจริง ๆ แล้ว
เรามักจะลืมสิ่งที่ได้แนะนำเอาไว้ ลืมหลักวิชชากันหมด ก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาเมื่อใจบริสุทธิ์หยุดนิ่งในระดับหนึ่ง
แสงสว่างภายในมันก็เกิดขึ้น เราก็นิ่งไปเรื่อย ๆ
แล้วก็อย่าเพิ่งไปแสวงหาคำตอบว่า
แสงมันมาจากไหน เป็นอย่างไร นี่ถูกหรือผิด แสงอะไร ใครฉาย ใครส่อง
ใครเปิดไฟหรือลืมปิดไฟอะไรอย่างนี้ ให้นิ่งต่อไป
เพราะกว่าจะเห็นแสงนี้ได้
เราก็นั่งกันมาหืดขึ้นคอแล้ว มันไม่ใช่ช่วงที่เราจะแสวงหาคำตอบอะไร
สิ่งที่จะต้องทำ คือ หยุดนิ่งเฉย ๆ อย่างเดิม ลองทำกันดูนะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565