โอวาทปาติโมกข์
วันพุธที่
๗ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ (๑๗.๐๐ - ๑๘.๓๐ น.)
งานบุญวันมาฆบูชา ณ ลานธรรมมหาธรรมกายเจดีย์
ปรับกาย-ปรับใจ-วางใจ-ทบทวนบุญ
ตั้งใจนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากัน หลับตาเบาๆ พอสบายๆ
ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายเรา ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย
รวมใจกลับเข้าไปสู่ภายใน ให้หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
อย่างเบาๆ สบายๆ ทำใจใสๆ ใจเย็นๆ
ให้นึกถึงบุญ ทุกๆ บุญที่เราทำผ่านมา ทั้งบุญเล็ก บุญน้อย บุญใหญ่
บุญปานกลาง บุญทุกชนิด ทั้งในอดีตชาติรวมกระทั่งถึงปัจจุบันชาตินี้
กระทั่งถึงเมื่อเช้าที่เราได้บูชาข้าวพระ ภาคบ่ายก็ได้สร้างมหาทานบารมี
มารวมเป็นดวงบุญใสๆ ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
บริกรรมนิมิต-บริกรรมภาวนา
ให้ตรึกนึกดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างสบายๆ
พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกาย ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ
ว่า สัมมาอะระหังๆๆ ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างสบายๆ
ส่วนใครที่คุ้นเคยกับการนึกถึงภาพองค์พระก็ตรึกนึกถึงองค์พระใสๆ ใจหยุดอยู่ในกลางองค์พระใสๆ
พร้อมกับประคองใจ สัมมาอะระหัง ไปเรื่อย
มาฆบูชามหาสมาคม
วันนี้เป็นวันมาฆบูชามหาสมาคม
วันที่มีความสำคัญต่อตัวเราและชาวโลกเป็นอย่างมาก
เมื่อราว ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมาได้มีการชุมนุมกันของพระอรหันต์
๑,๒๕๐ รูป ซึ่งท่านมาประชุมพร้อมเพรียงกัน โดยมิได้นัดหมายกันทางวาจา
แต่ทว่ารู้กันด้วยใจของพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้ว ผู้ทรงอภิญญา
และทุกรูปล้วนเป็นผู้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา
วันนั้นพุทธองค์ได้ทรงประทาน โอวาทปาติโมกข์
ซึ่งเป็นหลักธรรมแม่บทที่เป็นหัวใจสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ยังความสุขความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติ
โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ เพื่อให้นำหลักธรรมนี้ไปใช้ในการดำเนินชีวิต
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิตที่สมบูรณ์ตามแบบอย่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
โอวาทปาติโมกข์
หลักโอวาทปาติโมกข์ประกอบด้วยอุดมการณ์ หลักการ
และวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
อุดมการณ์
เริ่มต้นอุดมการณ์ด้วยความอดทน
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา แปลว่า
ความอดทนเป็นตบะธรรมอย่างยิ่ง หมายถึงว่า ผู้ที่จะไปทำหน้าที่เป็นยอดกัลยาณมิตรของโลกจะต้องมีความอดทนเป็นพื้นฐานของคุณธรรม
เริ่มตั้งแต่ต้องอดทนต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนา
อดทนต่อการกระทบกระทั่ง และอดทนต่อกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ถ้าหากอดทนอดกลั้นต่อสิ่งเหล่านี้ได้ จึงจะสามารถฝ่าอุปสรรคทั้งหลายไปสู่อายตนนิพพานได้
เหตุที่ทรงสอนให้อดทนอย่างมีเป้าหมายเพื่อไปนิพพานนั้น เพราะทรงเห็นว่า
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
ท่านผู้รู้ทั้งหลาย คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยม
ทุกๆ พระองค์ทรงเห็นพ้องต้องกันว่า สิ่งที่เยี่ยมที่สุดของชีวิต คือ
พระนิพพาน พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
ดังนั้นเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วจะต้องทำพระนิพพานให้แจ้งเท่านั้น
และในระหว่างสร้างบารมีก็อย่าไปก่อเวรหรือไปเบียดเบียนใคร ดังพระพุทธดำรัสที่ว่า
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต
คือ บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น
เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะผู้สงบเลย
เอตัง พุทธานะ สานะนัง นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
หลักการปฏิบัติ
เมื่อทรงให้อุดมการณ์แล้วพุทธองค์ก็ทรงให้หลักการปฏิบัติเพื่อให้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิตว่า
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง คือ
การไม่ทำบาปทั้งปวง
กุสะลัสสุปะสัมปะทา การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส
เอตัง พุทธานะ สาสะนัง นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พูดง่ายๆ ก็คือ ทรงสอนให้ละชั่ว
ให้ทำแต่ความดี ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส
เพื่อจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยที่มีอยู่แล้วภายในตัวของทุกๆ คน
เพราะขึ้นชื่อว่า เป็นมนุษย์แล้วล้วนมีพระธรรมกายอยู่ในตัวทั้งสิ้น
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงมุ่งเน้นให้ทุกคนแสวงหาตัวตนที่แท้จริงที่อยู่ภายใน
เพราะสามารถเป็นที่พึ่งที่ระลึกได้อย่างแท้จริง และเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด
วิธีการเผยแผ่ธรรม
ต่อจากนั้นก็ทรงให้วิธีการในการเผยแผ่ เพื่อนำไปแนะนำถ่ายทอด
และประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสม เพื่อที่จะได้เป็นต้นบุญต้นแบบที่ดีของชาวโลกต่อไป
โดยมีวิธีการตามหลักวิชชาดังต่อไปนี้คือ
อะนูปะวาโท ไม่ให้เข้าไปว่าร้ายใคร
อนูปะฆาโต ไม่ให้ไปทำร้ายใคร
หรือไปขู่บังคับให้ใครเขามาเชื่อเรา
แต่ต้องให้เขาเกิดความเชื่อใจที่ถูกต้องตามเหตุและผล จนเกิดความศรัทธาด้วยตัวเอง
ปาฏิโมกเข จะ สังวะโร ให้สำรวมในศีลและมารยาท
จะได้ไม่ไปกระทบกระทั่งกับใคร และยังก่อให้เกิดความน่าเคารพเลื่อมใสอีกด้วย
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง ให้รู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอดี
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง ให้อยู่ในเสนาสนะที่นอนที่นั่งอันสงบ
ที่เอื้ออำนวยต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม และประการสุดท้าย
อะธิจิตเต จะ อาโยโค ให้ประกอบความเพียรในอธิจิต
คือ หมั่นเจริญสมาธิภาวนา ทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้ใจละเอียดใสบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป
เอตัง พุทธานะ สานะนัง นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
บทโอวาทปาติโมกข์นี้ มีความสำคัญมาก
ไม่ว่าจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้นกี่พระองค์แล้วก็ตาม
จะทรงสั่งสอนอย่างนี้เหมือนกันหมด ตรงกันหมด เหมือนเป็นเนติแบบแผนเดียวกัน
บทสรุป
พุทธโอวาทที่กล่าวมาข้างต้นโดยสรุปนี้
เป็นสิ่งที่ตัวเราและชาวโลกจะต้องนำไปประพฤติปฏิบัติด้วยความเคารพเอื้อเฟื้อในธรรม
เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งต่อตัวเราเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ
และต่อโลกใบนี้
โดยเฉพาะเราเป็นชาวพุทธจะต้องยึดหลักโอวาทปาติโมกข์นี้อย่างเคร่งครัด
และปฏิบัติให้เหมาะสมจึงจะได้ชื่อว่า เป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ที่แท้จริง
ถ้าหากชาวโลกทุกๆ คนได้ศึกษาความรู้สากลนี้
และได้ปฏิบัติตามหลักโอวาทปาติโมกข์ โลกก็จะบังเกิดสันติสุขที่แท้จริงได้
มวลมนุษยชาติจะปรองดองกันเหมือนเป็นประดุจครอบครัวเดียวกัน
จะมีแต่ความรักและปรารถนาดีต่อกันอย่างแท้จริง
รู้จักการให้อภัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปัน
ความรักสากลที่มาพร้อมกับสันติสุขที่แท้จริงก็จะบังเกิดขึ้นในโลกได้อย่างอัศจรรย์
ดังนั้น วันนี้จึงเป็นวันสำคัญของโลก
ถ้าหากไม่มีวันมาฆบูชาโลกก็จะไม่มีวันรู้จักวิถีแห่งการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องสมบูรณ์
ที่จะนำพาทุกชีวิตไปสู่บรมสุขได้เลย เราจึงต้องมาทบทวนโอวาทปาติโมกข์ และระลึกถึงหลักธรรมคำสอนด้วยความเคารพเลื่อมใส
อานิสงส์จุดมาฆประทีป
แล้วเราก็จะได้ร่วมกันจุดมาฆประทีปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย ซึ่งการบูชาด้วยดวงประทีปแสงสว่างนี้ จะทำให้เราเป็นผู้ที่มีจักษุสมบูรณ์พร้อมทั้งมังสะจักษุ
ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ สมันตจักษุ และธรรมจักษุ
เราจะไม่เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา จะมีรัศมีกายสว่างไสว มีดวงปัญญาสว่างไสว
และจะได้รู้ทั่วถึงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายอีกด้วย
เพราะฉะนั้น ก่อนที่ลูกทุกคนจะได้จุดประทีปถวายเป็นพุทธบูชา
ก็ให้จุดใจของเราให้สว่างไสวก่อน ด้วยการหยุดใจให้นิ่งๆ ให้ใสๆ
ให้สว่างที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ
อย่างเบาๆ สบายๆ ผ่อนคลาย ใจเย็นๆ
พร้อมกับประคองใจด้วยบริกรรมภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ไปเรื่อยๆ
จนกว่าใจของเราจะหยุดนิ่ง แสงสว่างภายในกลางกายจะบังเกิดขึ้น
ใจของเราก็จะได้ใสบริสุทธิ์เยือกเย็นเหมาะสมที่จะจุดมาฆประทีปถวายเป็นพุทธบูชาต่อไป
ให้ลูกทุกคนต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
(ปฏิบัติธรรม)
เมื่อกายวาจาใจของเราใสสะอาดบริสุทธิ์เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่กันดีแล้ว
ต่อจากนี้เราจะได้พร้อมใจกันจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยกันต่อไป
(เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย)
(พระเทพญาณมหามุนี นำกล่าวคำบูชามาฆฤกษ์)
(พระเทพญาณมหามุนี จุดประทีปเทียนชัย)
(พิธีเวียนประทักษิณ)
(พระภาวนาวิริยคุณ นำกล่าวคำอธิษฐานจิตจุดโคมมาฆประทีป)
(เจ้าภาพจุดโคมเอกพิเศษสุด และสาธุชนจุดโคมประทีปทั่วลานธรรม)
(พระภาวนาวิริยคุณ นำกล่าวคำอธิษฐานจิต แผ่เมตตา และบูชาพระรัตนตรัย)
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565