ชาวพุทธที่แท้จริง
วันอาทิตย์ที่ ๑๗ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ (๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น.)
ห้องแก้วสารพัดนึก วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย
ตั้งใจนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากัน
หลับตาเบาๆ พอสบายๆ หลับตาเบาๆ พอสบายๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรา
ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี
ให้รู้สึกสบายๆ ผ่อนคลายทั้งเนื้อทั้งตัวเลย
ปรับใจ
แล้วก็ปล่อยวาง
ทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง ให้ใจไม่ไปเกาะ ไปเกี่ยว ไปเหนี่ยว ไปรั้ง
ในสิ่งภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงานบ้านช่อง
การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ปลด
ให้ปล่อย ให้วาง ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง ในช่วงที่เราจะหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนี้นะจ๊ะ
แล้วก็ทำใจของเรา ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส ให้ใจใสๆ
การวางใจ
แล้วก็รวมใจกลับเข้าไปสู่ภายใน
ไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่าเราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา
๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปข้างหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง
ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม
เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ฐานที่ ๗ ที่หยุดใจของพระอริยเจ้า
ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่สำคัญนะจ๊ะ ให้นำใจมาหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกๆ
พระองค์นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน ใจของท่านจะมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ที่เดียว
หยุดนิ่งอย่างเดียว
ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งท่านบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ
ตั้งแต่เป็นปุถุชนจนกระทั่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การเปลี่ยนสภาวะตรงนี้
จากระดับจิตของปุถุชนที่ยังมีกิเลสหนาปัญญาหยาบไปสู่สภาวะของผู้ที่หมดจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย
ท่านทำโดยนำใจมาหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียว
แล้วก็ใจหยุดอย่างเดียวเท่านั้น
ไม่ได้ไปทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ดวงปฐมมรรค ต้นทางพระนิพพาน
ใจหยุดนิ่งอย่างเดียว
พอถูกส่วนใจก็จะเคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน จิตก็จะบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งเห็นความบริสุทธิ์ของดวงจิต เป็นดวงใสๆ บังเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตรงนี้
อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ
อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
ใสบริสุทธิ์ อย่างน้อยเหมือนน้ำใสๆ บ้าง เหมือนกระจกใสๆ บ้าง หรือเหมือนเพชรใสๆ
บ้าง จะใสบริสุทธิ์ สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
แต่ว่าใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ มาพร้อมกับความสุขที่ไม่มีประมาณ
ที่ไม่อาจจะเอาอะไรมาเทียบได้ บังเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้
เมื่อใจหยุดนิ่ง
ไม่เกาะ ไม่เกี่ยว ไม่เหนี่ยว ไม่รั้งในเรื่องอะไรทั้งสิ้น นิ่งอย่างเดียว ก็จะบังเกิดธรรมดวงแรก
ที่เรียกว่า ปฐมมรรค
หรือ ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เป็นดวงใสๆ
จะปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาแบบไหนก็ตาม
ถ้ายังไม่ได้เห็นดวงอย่างนี้ หรือยังไม่เข้าถึงดวงอย่างนี้ ก็แปลว่า หนทางเบื้องหน้าที่เราจะไปนั้นยังไปไม่ได้
จะต้องได้ดวงใสๆ อย่างนี้ก่อน เป็นเบื้องต้น ที่เรียกว่า ปฐมมรรค เพราะเป็นต้นทางไปสู่อายตนนิพพาน
ที่จะไปขจัดกิเลสอาสวะทั้งหลายที่หุ้มเป็นชั้นๆ ๆ เข้าไปให้หมดสิ้น
พระรัตนตรัยภายใน ที่พึ่งที่แท้จริง
เห็นธรรมดวงนี้เมื่อไร
ไม่ช้าก็จะเห็นกายของพระตถาคตเจ้า คือ กายของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว
ซึ่งเป็นกายภายในที่ซ้อนๆ กันอยู่ข้างใน เป็นกายที่สวยงามมาก ได้ลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ
เกตุดอกบัวตูมตั้งอยู่บนจอมกระหม่อม บนพระเศียรที่เรียงรายไปด้วยเส้นพระศก หรือเส้นผมที่ขดเวียนเป็นทักษิณาวรรตตามเข็มนาฬิกา
ในอิริยาบถของสมาธิ อยู่บนแผ่นฌานกลมเป็นวงเวียนอย่างนั้น
ใสเกินความใสใดๆ
ทั้งสิ้น อย่างน้อยก็คล้ายรัตนชาติในเมืองมนุษย์ หินที่มีค่าที่ใสๆ
แต่มันยิ่งกว่านั้น
กายผู้รู้
ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ที่ใสเป็นแก้วเป็นรัตนะอย่างนี้ เขาเรียกว่า พุทธรัตนะ
เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของเรา เพราะในกลางกายของท่านนั้นไม่มีความทุกข์เลย
เมื่อเข้าถึงกายนี้ได้ก็จะดับทุกข์ได้ มีแต่ความสุขอย่างเดียวที่ยั่งยืนเป็นอมตะ
กายนี้แหละคือกายที่แท้จริง ที่มีอยู่ในตัวที่เราจะต้องเข้าถึงให้ได้
ในกลางกายท่านก็มี
ธรรมรัตนะ เป็นดวงธรรมใสๆ
เป็นคลังแห่งความรู้ ความรู้อันบริสุทธิ์ เป็นความรู้ที่แท้จริง ที่อยู่ภายในกลางกายท่าน
เรียกว่า ธรรมรัตนะ
เพราะใสเป็นแก้ว
ในกลางธรรมรัตนะก็จะมีกายธรรมที่ซ้อนอยู่ภายใน
เป็นผู้รักษาธรรมรัตนะเอาไว้ เรียกว่า สังฆรัตนะ ซ้อนอยู่ภายใน
พุทธรัตนะ
ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ๓ อย่างนี้
คือที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของตัวเราและของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
เรียกว่าพระรัตนตรัยที่อยู่ภายในตัว
ที่ขอถึงไตรสรณคมน์
ก็หมายถึง ๓ อย่างนี้ที่อยู่ภายในตัว ที่เป็นที่พึ่ง ที่ระลึก
มีทุกข์ก็พึ่งท่านได้ เพราะท่านไม่มีทุกข์ มีแต่สุขล้วนๆ และมีอานุภาพอันไม่มีประมาณ
ควรในการระลึกถึง นึกถึงท่านเห็นท่านอยู่ตลอดเวลา นั่ง นอน ยืน เดิน
ความทุกข์ก็ดับไป มีแต่สุขล้วนๆ นั่งเป็นสุข ยืนเป็นสุข เดินเป็นสุข นอนเป็นสุข
พระมหากัปปินะ
เหมือนอดีตพระราชาพระองค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล
คือ พระมหากัปปินะ ตอนเป็นพระราชาก็ไม่ได้มีความสุขอะไร แต่พอออกบวช ปฏิบัติธรรม
บำเพ็ญสมณธรรม เข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ นี้ ภายในกายของพระองค์
ท่านก็เปล่งอุทานในทุกหนทุกแห่งว่า “สุขจริงหนอ” ตอนเป็นพระราชายังไม่สุขอย่างนี้ แล้วก็ไม่รู้จักคำว่า
ความสุข ด้วย
เพราะฉะนั้น
เมื่อเข้าถึง ๓ อย่างนี้แล้วท่านจึงมีความสุขมาก
แปลว่าความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ที่รัตนะทั้ง ๓ นี้เอง จึงเป็นที่พึ่ง
ที่ระลึกที่แท้จริง
ชาวพุทธที่แท้จริงต้องเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน
เป็นชาวพุทธต้องเข้ามาถึงตรงนี้ให้ได้
ต้องนำใจให้แล่นมาถึงตรงนี้ ใจที่แล่นนี้เขาเรียกว่า คมนะ เพราะฉะนั้นเราจะได้ยินจนคุ้นเคยว่า ไตรสรณคมน์ คมหรือ คมนะ
แปลว่า แล่นมาถึง หรือหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
แล้วใจก็เคลื่อนเข้ามาสู่ภายใน จนเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ อย่างนี้จึงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง
เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่แท้จริง ที่แปลว่า ผู้เข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย คือ ใจแล่นมาถึงตรงนี้ได้
แม้อยู่ในเพศของคฤหัสถ์ เมื่ออยู่ในเพศคฤหัสถ์ก็เป็นอุบาสกอุบาสิกา
ถ้าจะเป็นพระเป็นเณร ถ้าเข้าถึงตรงนี้ได้ก็เป็นพระแท้ นี่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์ นอกนั้นไม่ใช่
ชีวิตที่ผ่านๆ
มาของมนุษย์มีแต่เรื่องทำมาหากิน ทำมาค้าขาย มีขึ้นมีลงกันไปอย่างนั้น
แต่ก็ไม่ได้พบที่พึ่งที่ระลึก หรือความสุขที่แท้จริงเลยแม้แต่นิดเดียว
เจอแต่ความเพลินกับความเพลีย หมดไปวันๆ หนึ่ง แค่กลบทุกข์
เมื่อมีทุกข์มาก็หาเรื่องเพลินๆ กลบทุกข์ แล้วก็มีความเพลียตกค้าง
มีปัญหาที่ต้องสะสางทั้งร่างกายจิตใจสิ่งแวดล้อมทั้งหมด
ต้องหยุดนิ่งอย่างนี้จึงจะเข้าถึงได้ เรื่องที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์
พญามารกลัวมนุษย์เข้าถึงธรรม
เป้าหมายที่แท้จริงของการเกิดมา ก็คือการเข้าถึงรัตนะทั้ง
๓ นี่แหละ ซึ่งเป็นสิ่งที่พญามารกลัวนักกลัวหนา กลัวมนุษย์จะเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓
ภายใน
และจะรู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต
ถ้ารู้เรื่องราวอย่างนี้แล้ว เขาก็จะปกครองไม่ได้ จะเอามนุษย์มาเป็นบ่าวเป็นทาสของเขาไม่ได้
จะขังมนุษย์ไว้ในภพ ๓ ในวัฏสงสารไม่ได้
อริยสัจ ๔
พญามารไม่อยากให้มนุษย์ใจหยุดนิ่ง
จึงมีวิธีทางเดียวเท่านั้น เขาก็ต้องสร้างความอยากให้เกิดขึ้นกับมนุษย์ อยากได้
อยากมี อยากเป็น ที่ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า สมุทัย
สมุทัย เป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์
คือ ทำตรงกันข้ามกับของฝ่ายพระ ซึ่งเป็นฝ่ายบุญ พระใจต้องหยุดนิ่งจึงจะหลุดพ้นจากการบังคับบัญชาของเขาได้
แล้วก็เข้าถึงความสุขที่แท้จริง เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงได้
ส่วนของพญามารทำตรงกันข้าม ต้องให้มีความทะยานอยาก
เพราะฉะนั้น
เวลาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเรื่อง อริยสัจ ๔ ถ้าอธิบายแบบบ้านๆ คือ
ทุกข์ ทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะ สมุทัย คือ ความอยาก
จะดับทุกข์ได้ต้องหยุด นิโรธะ แปลว่า หยุด แปลว่า นิ่ง คือใจหยุดนิ่ง
หรือแปลว่า ดับ ก็ได้ แต่คำเดิมแปลว่า หยุดนิ่ง แล้ว มรรค ก็เกิดเป็นดวงใสๆ
ดังกล่าวตั้งแต่เบื้องต้น พอมรรคเกิดเห็นทางก็นิ่งอย่างเดียวเรื่อยไปจนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน
โดยเฉพาะลูกนาคธรรมทายาทที่รักทั้งหลายกำลังจะเตรียมตัวที่จะเข้าไปสู่เพศของบรรพชิต
จะยกตัวเองขึ้นเป็นนักบวช พ้นจากเพศภาวะของความเป็นคฤหัสถ์
เราก็จะต้องฝึกตรงนี้ให้ได้ ฝึกให้ใจหยุดใจนิ่งตรงนี้ให้ได้เสียก่อน
ให้รู้จักว่า
หยุดแรก เป็นอย่างไร
ความสุขที่แท้จริงในเบื้องต้นเป็นอย่างไร หนทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทาที่อยู่ในภายในนั้นเป็นอย่างไร
ด้วยการฝึกใจให้หยุดนิ่งๆ อย่างนี้
เพราะฉะนั้น
เวลาที่เหลืออยู่นี้ ให้แตะใจไปเบาๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ดังกล่าว หยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ เราจะกำหนดเครื่องหมายหรือแลนด์มาร์กที่หยุดของใจเราที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗
เป็นเพชรสักเม็ดหนึ่งก็ได้ นึกให้เป็นของใสๆ เป็นดวงแก้วก็ได้ ของกลมๆ ใสๆ
หรือจะนึกเป็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวอะไรก็ได้
ชอบอย่างไหนถนัดอย่างไหนเราก็เอาอย่างนั้น แต่ต้องนึกอย่างเบาๆ สบายๆ
พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่ง
ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ โดยให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากในกลางท้องของเรา
ไม่ใช่ที่สมองนะ ดังออกมาจากในกลางท้อง เหมือนมาจากแหล่งแห่งความบริสุทธิ์
แหล่งแห่งอานุภาพอันไม่มีประมาณ มากลั่นจิตกลั่นใจของเราให้ใสๆ ให้สะอาด
ให้บริสุทธิ์ จนเห็นความบริสุทธิ์ได้ ด้วยบริกรรมภาวนาในใจว่า สัมมาอะระหังๆๆ
กี่ครั้งก็ได้ จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง เวลาที่เหลืออยู่นี้ก็ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565