พญามารกลัวมนุษย์หยุดใจได้
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์
พ.ศ. ๒๕๕๔ (๐๙.๐๐ -
๑๑.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ
โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
การหลับตา
หลับตาของเราเบาๆ
ค่อนลูก พอสบายๆ อย่าให้เปลือกตาปิดสนิทจนเกินไป หลับตาพอสบายๆ คล้ายๆ
กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา เหมือนเราปรือๆ ตา
หลับตาพริ้มๆ
ปรับใจ
ทำใจของเราให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน
เรื่องครอบครัว หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง
ให้คลายความผูกพันในทุกสิ่ง เพราะทุกสิ่งดังกล่าวนั้น เป็นแค่อาศัยซึ่งกันและกันชั่วคราวเท่านั้น
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ไปสู่จุดสลายทั้งสิ้น
สรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลายก็เป็นอย่างนี้
นี่คือความจริงของชีวิต ที่เรามักจะไม่ค่อยเอามาคิดกัน แต่ความจริงเป็นอย่างนี้
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลาย ไม่เราพลัดพรากจากสิ่งนั้นไปก่อน สิ่งนั้นจะพลัดพรากจากเราไปก่อน
ไม่ว่าจะจากเป็นหรือจากตายก็ตาม ล้วนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยที่เรานึกไม่ถึงเลย
เพราะฉะนั้นต้องปลด ต้องปล่อย ต้องวาง ต้องคลายความผูกพัน
โดยเฉพาะในช่วงที่เรากำลังจะทำภารกิจที่สำคัญ
ให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย นั่นคือการนำใจกลับเข้าไปสู่ภายใน
สู่ที่ตั้งดั้งเดิม ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ท่านทำอย่างไรเราก็จะต้องทำอย่างนั้น ท่านทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง
เราก็เช่นเดียวกัน ต้องทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง
วางใจ
รวมใจกลับมาหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา
๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง
ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม
เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ คือ สมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน นำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสองดังกล่าวนั้น
สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญ ที่เราจะต้องทำความรู้จักให้ดี
ฐานที่
๗ ต้นทางไปสู่อายตนนิพพาน
ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตำแหน่งตรงนี้ นอกจากจะเป็นที่เกิด
ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่นของตัวเราแล้ว ยังเป็นต้นทางไปสู่อายตนนิพพาน
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน ไม่มีเว้นเลยแม้แต่พระองค์เดียว
เมื่อท่านทิ้งทุกอย่าง
ปล่อยวางทุกสิ่งแล้ว ใจของท่านจะมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้
ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้เลย
คือ ทำใจหยุดนิ่งอย่างเดียว อะไรจะเกิด ท่านก็ให้เกิด เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหายไป
เหลือแต่กระดูกหนัง ช่างมัน ท่านไม่ได้สนใจ นิ่งอย่างเดียว แม้ในช่วงที่ท่านผจญมาร
มีมารมาผจญที่ใต้โพธิบัลลังก์ ท่านก็ไม่ได้เกิดความสะดุ้งกลัวอะไร
มารทำเรื่องของมารไป
ท่านก็ทำเรื่องของท่าน เพราะท่านสละชีวิตแล้ว อะไรจะเกิดก็เกิด ใจท่านจะนิ่งอยู่ที่ตรงนี้
เมื่อชีวิตเป็นที่สุดท่านยังสละได้ อะไรที่จะเกิดก็ไม่มีความหมาย ท่านนิ่งอย่างเดียว
สภาวธรรมภายใน
พอถูกส่วนเข้า
ใจก็กลับเข้าไปสู่ภายใน ตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน ตกศูนย์ลงไปเอง
เมื่อใจได้ปล่อยวางเรื่องหยาบๆ แล้ว วางใจถูกส่วน เหมือนหล่นลงจากที่สูงไปสู่ที่โล่งกว้าง
ลึกบ้าง กว้างบ้าง
มีดวงธรรมลอยขึ้นมาเป็นดวงใสๆ
เป็นธรรมดวงแรก กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว แต่ว่าใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว
ไม่มีตำหนิเลย ใสอย่างน้อยก็เหมือนน้ำใสๆ หรือน้ำแข็งใสๆ หรือกระจกใสๆ
อย่างน้อยก็อย่างนี้ แต่บารมีของท่านจะใสอย่างน้อยเหมือนเพชรใสๆ และก็ใสเกินความใสใดๆ
ในโลก ปรากฏเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ขนาดอย่างเล็กเท่ากับดวงดาวในอากาศ
เหมือนเห็นจุดสว่างเล็กๆ ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน หรือใหญ่กว่านี้ แล้วแต่ตามกำลังบารมีที่สั่งสมมาไม่เท่ากัน
จะปรากฏเกิดขึ้นตรงนี้ เป็นดวงธรรมใสๆ เป็นความบริสุทธิ์เบื้องต้น
ธรรมที่เป็นรูปเป็นร่าง
เห็นได้ มวลแห่งความบริสุทธิ์ก่อตัวเป็นดวงใสๆ จาก นามธรรมเป็นรูปธรรม คือ ธรรมที่มีรูปมีร่าง
ความบริสุทธิ์ที่เห็นได้อย่างเป็นรูปเป็นร่าง กลมรอบตัวใสๆ ปรากฏเกิดขึ้น
ที่มาพร้อมกับความสุขอันไม่มีประมาณ ใจท่านก็ยิ่งนิ่งแน่นลงไปในกลางดวงนั้น
เพราะว่าทิ้งทุกอย่าง วางทุกสิ่งแล้ว ยิ่งนิ่ง
นิ่งอยู่ในความสุขที่ไม่เคยเจอมาก่อนเลย แล้วท่านก็เห็นไปตามลำดับในสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัว
ธาตุปิดธาตุบัง
แต่พญามารเอาธาตุปิดธาตุบัง
มาบดบังเอาไว้ ไม่ให้มีความรู้ในการที่จะนำใจกลับมาสู่ที่ตั้งดั้งเดิม
ไม่ให้รู้ว่า ฐานที่ ๗ เป็นตำแหน่งที่จะไปเชื่อมกับกายภายใน กายผู้รู้ ผู้ตื่น
ผู้เบิกบานแล้ว คือ กายธรรม กายพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ พญามารก็บดบังไว้
ที่เราคุ้นกับคำว่า อวิชชา คือ ไม่รู้เลย
ไม่รู้เพราะไม่เห็น ไม่เห็นเพราะไม่สว่าง ความสว่างไม่บังเกิดขึ้น ไม่เห็นภาพ
ความสว่างไม่เกิด
เพราะใจไม่มาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ มีแต่ความมืด ไม่เห็น เพราะมืด มืดเพราะใจไม่หยุดนิ่ง
คือ เห็นไปทาง จำไปทาง คิดไปทาง รู้ไปทาง เห็น จำ คิด รู้ ไม่รวมมาเป็นจุดเดียวกัน
ใจจึงมืดๆ แล้วพญามารก็ดึงใจ ระเบิดใจไปตรึงติดกับสิ่งภายนอก ในรูป ในเสียง
ในกลิ่น รสสัมผัส ธรรมารมณ์ คือ สิ่งที่ตาเราเห็นภาพ ตาเนื้อ หูที่เราได้ยินเสียง
จมูกที่เราได้กลิ่น ลิ้นที่เราได้รับรส กายได้รับการสัมผัส ใจก็นึกคิดวนเวียน
วนเวียนในเรื่องรูป
เสียง กลิ่น รสสัมผัส ธรรมารมณ์ ซึ่งวนเวียนอยู่กับความยินดีกับยินร้าย
ยินดีก็อยากได้มา แต่ของได้มามีปัญหาอยู่ในตัว อยู่ด้วยกันไปนานๆ ก็เบื่อ
เบื่อก็ยินร้าย ยินร้ายก็เครียด เซ็ง เครียด เบื่อ กลุ้ม แล้วก็ไปแสวงหาใหม่
หาใหม่ก็เจอมาใหม่ สิ่งที่ใหม่ก็มีปัญหาแบบเดิมแหละ เปลี่ยนหน้าตา รูปร่าง
ไม่ว่าจะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรสสัมผัส ธรรมารมณ์ต่างๆ ก็วนๆ อย่างนี้
เพราะฉะนั้น ใจก็กระเจิงหลุดออกจากตำแหน่งที่ตั้งดั้งเดิม
ที่เต็มไปด้วยความสุข ความบริสุทธิ์ ความรอบรู้ อานุภาพอันไม่มีประมาณ
ความสมปรารถนา ความรู้สึกเป็นนักรบ ฐานที่ ๗ หลุดออกไปหมดเลย
ใจก็จะไปติดกับโลกภายนอก และโลกภายนอก ซึ่งเป็นโลกมายาก็จะถูกสร้างให้เพลิดเพลิน
แล้วมีวิบากกรรมมารองรับ วิบากกรรมที่เกิดจากการกระทำด้วยความไม่รู้นั้น
มีภพภูมิมารองรับ ก็วนเวียนกันไปอยู่อย่างนี้แหละ
ชีวิตเป็นทุกข์
แม้ปรารถนาอยากจะเจอความสุข
แต่สิ่งที่ได้คือ ความทุกข์ ความทุกข์ทรมานของชีวิตก็เกิด มีทุกข์มาก ทุกข์น้อย
ทุกข์ปานกลาง ทุกข์พอทนได้จนเคยชิน พอมีความทุกข์ก็หาทางผ่อนคลาย ผ่อนคลายด้วยสิ่งที่จะสร้างทุกข์ใหม่
ต้องการแก้ปัญหาด้วยวิธีสร้างปัญหาใหม่ ชีวิตก็วนเวียนอยู่อย่างนี้
มีแต่ความเพลินกับความเพลีย มีปัญหาวุ่นวายกันอยู่อย่างนั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราก่อนจะตรัสรู้
ท่านก็เจอมาอย่างนี้ ท่านจึงเบื่อหน่ายจนถึงขีดสุด เกิด นิพพิทา ที่แปลว่า เบื่อ เบื่อหน่ายก็คลาย
คลายความกำหนัด ความผูกพัน พอคลายก็หลุดพ้นจากสิ่งนั้น คือท่านทิ้งสิ่งหนึ่ง เพื่อมาสู่อีกสิ่งหนึ่ง
เหมือนทิ้งเรือขึ้นฝั่ง ไม่แบกเรือขึ้นมาด้วย หรือก้าวขาข้างหนึ่งอยู่บนเรือ
อีกข้างหนึ่งอยู่บนฝั่ง ไม่ยอมตัดสินใจสักทีอย่างนี้แปลว่า ยังไม่ทิ้ง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนเป็นบรมโพธิสัตว์
ท่านทิ้ง พอทิ้งก็หลุดพ้น จิตก็กลับมาสู่ที่ตั้งดั้งเดิม คือ บริสุทธิ์
บริสุทธิ์จนเห็นความบริสุทธิ์ได้เป็นดวงใสๆ ซึ่งเป็นต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน
ท่านจึงเรียงคำสอนมาว่า นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ
วิสุทธิ สันติ นิพพาน
บริกรรมนิมิต
ส่วนในแง่ของการปฏิบัติ
ใจจะกลับมาหยุดนิ่งในที่ตั้งดั้งเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่พญามารกลัวนักกลัวหนา
จึงกันนักกันหนา ไม่ให้รู้จัก ไม่ให้เจอ หรือเจอแล้ว ก็ทำๆ หยุดๆ ทำไม่จริงไม่จัง
ดังนั้น เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว
เราก็นำใจกลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ต้องหยุดให้ได้
ต้องเอาใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวให้ได้ หยุดให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
วิธีที่จะหยุดได้
ต้องผ่อนคลาย ต้องใจเย็นๆ และกำหนดบริกรรมนิมิต สร้างภาพทางใจให้เป็น Landmark เป็นเครื่องหมายที่หยุดของใจเรา ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
เราก็นึกถึงเพชรสักเม็ดหนึ่ง ใสๆ ใหญ่ขนาดไหนก็ได้ที่เราชอบ นึกได้ง่ายๆ
ต้องนึกง่ายๆ
ก่อน ทำง่ายๆ จะได้ง่ายๆ ทำง่ายมาก ก็ได้ง่ายมาก จะนึกเป็นเพชรสักเม็ดใสๆ ก็ได้ แต่ต้องนึกอย่างสบายๆ
และผ่อนคลาย เหมือนชายหนุ่มนึกถึงหญิงสาว นึกถึงคนรักกัน นึกได้ตลอดเวลาในทุกหนทุกแห่ง
นึกได้ตลอด และนึกอย่างสบายๆ นึกถึงบริกรรมนิมิตคล้ายๆ อย่างนั้น แต่ให้ผ่อนคลาย
ไม่เร่าร้อนอย่างนั้น แล้วก็ใจเย็นๆ
บริกรรมภาวนา
ประคองใจให้หยุดนิ่ง
นุ่ม เบา สบาย ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ โดยให้เสียงคำภาวนา ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา
กลางดวงใสๆ ที่เรากำหนดเป็น Landmark เป็นบริกรรมนิมิตนั้น
ต้องดังจากตรงนั้น และต้องเป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน โดยไม่ใช้กำลังในการท่อง คือ ให้เสียงที่ละเอียดอ่อนเหมือนบทเพลงที่เราคุ้นเคย
หรือบทสวดมนต์ที่เราสวดจนคุ้นเคย ให้บริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหังๆๆ
ทุกครั้งที่ภาวนา สัมมาอะระหัง
เราก็ต้องค่อยๆ นึกถึงบริกรรมนิมิตอย่างแผ่วเบา ละเอียดอ่อน ละมุนละไม ใจใสๆ
ใจเย็นๆ แล้วก็ผ่อนคลาย ให้ประคองใจกันไปอย่างนี้
เช้านี้ อากาศกำลังสดใส
สดชื่น เย็นสบาย เหมาะสมที่ลูกทุกคน ซึ่งเป็นผู้มีบุญจะได้ประกอบความเพียรให้กลั่นกล้า
อย่างถูกหลักวิชชา ให้ตั้งใจประคับประคองใจกันไปจนกว่าใจจะหยุดนิ่ง ขอให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระธรรมกายในตัวทุกๆ
คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565