ฐานเจ็ด
เสด็จเข้า นิพพาน
ฐานเจ็ด
เผด็จมาร พ่ายแพ้
ฐานเจ็ด
แหล่งสราญ ใจสุข
ฐานเจ็ด
คือบ้านแท้ ลูกนั้นทุกคน
ตะวันธรรม
ฐานที่ ๗ ตำแหน่งของผู้รู้
อาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
Link ไฟล์เสียงนำนั่งสมาธิใน youtube
ง่ายแต่ลึก 1 |EP.6| :ฐานที่ 7 ตำแหน่งของผู้รู้
(เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ)
ศูนย์กลางกายฐานที่
๗
เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา
ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
เพราะว่าเป็นตำแหน่งเดียวที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะหรือความทุกข์ทั้งปวงได้
อย่างน้อยก็เข้าถึงความสุขภายใน สุขยิ่งใหญ่ที่ไม่มีประมาณอย่างที่เราไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต
ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
นี้เป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน
เมื่อท่านทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่งแล้ว
ใจก็มาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ หยุดนิ่งอย่างเดียวตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อพระองค์นำมาอบรมสั่งสอนพระสาวก
พระสาวกก็ทำตามโดยนำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ เมื่อทิ้งทุกอย่าง
ปล่อยวางทุกสิ่งแล้ว ใจจะกลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วก็ตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน
แล้วก็มีดวงธรรมเป็นดวงใสๆ ลอยขึ้นมา
อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ
อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านั้น
แต่จะใสเหมือนนํ้าบ้าง เหมือนกระจกบ้าง เหมือนเพชรบ้างหรือยิ่งกว่านั้นบ้าง
แล้วแต่ตามกำลังบารมีที่ไม่เท่ากัน แล้วในที่สุดก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
เป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีมากมายนับไม่ถ้วนทีเดียว
เพราะฉะนั้นตำแหน่งฐานที่ ๗ จึงสำคัญมาก
ซึ่งพญามารบดบังเอาไว้ไม่ให้เราได้มารู้ มาเห็น มาเข้าใจหรือมาหยุดนิ่งตรงนี้
บดบังเอาไว้จนกระทั่งเราไม่รู้จักตำแหน่งนี้เลย
ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทำให้เราดับทุกข์ได้
อีกทั้งพญามารยังดึงใจของเราให้หลุดออกจากฐานที่ ๗ ตรึงไปติดในรูป เสียง กลิ่น รส
สัมผัส ธรรมารมณ์แล้วก็เอากฎแห่งกรรมบังคับเอาไว้ ใจก็จะวนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านั้น
ที่เรียกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เนิ่นช้าต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน
เราจึงดำเนินชีวิตผิดพลาดตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วยความไม่รู้ของเรา
จนกระทั่งมีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นแหละ
พระองค์ต้องสละชีวิตจนพบตำแหน่งนี้ ด้วยบารมีธรรม ๓๐ ทัศเต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว
จึงพบตำแหน่งนี้
เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย ในการที่เราได้รู้จักฐานที่ ๗
ต้องถือว่าเป็นบุญของเราที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย
พระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร ท่านสละชีวิตค้นพบสิ่งนี้กลับคืนมาใหม่
แล้วนำมาถ่ายทอดจนกระทั่งถึงเรา เราจึงรู้จักศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
เพราะฉะนั้น พึงหวงแหนตำแหน่งนี้เอาไว้ให้ดี
อย่าให้ใจหลุดจากตำแหน่งศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หลุดจากตำแหน่งนี้
ใจก็จะมีแต่ความทุกข์ เพราะหลุดจากตำแหน่งแห่งความสุข
หลุดจากตำแหน่งนี้ก็กลายเป็นผู้ไม่รู้อะไร ต้องอยู่ในตำแหน่งนี้ ต้องฝึกฝนไปเรื่อยๆ
ให้ชำนาญ ทำทุกวันโดยไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง
เงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
หยุดแรกนี่สำคัญมาก ทำให้เป็น
อย่างนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ ให้เราได้มีประสบการณ์ภายใน รู้จักคำว่า
“ตกศูนย์” มันมีอาการอย่างไร แล้วธรรมดวงแรกที่ปรากฏที่เรียกว่า “ปฐมมรรค”
หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร มีสภาวธรรมเป็นอย่างไร ต้องทำตรงนี้ให้ชำนาญ
ให้รู้จักทำซํ้าๆ อย่างช้าๆ ชัดๆ ซํ้าแล้วซํ้าเล่า อย่างเบาสบาย
ถ้าเราได้ครอบครองศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้ครอบครองดวงปฐมมรรค
ต่อไปก็ง่ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ
ที่เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ นั้นก็จะปรากฏเกิดขึ้นให้เราได้รู้ ได้เห็น
ได้เป็น ได้มีสภาวธรรมอย่างนั้น รู้จักอย่างแจ่มแจ้งว่า ทำไมเรียกว่า ดวงศีล
เรียกว่า ดวงสมาธิ เรียกว่า ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
ก็จะแจ่มแจ้งกันไปเรื่อยๆ
ขึ้นอยู่กับหยุดแรก
ถ้าเราวางใจเป็น ให้ความสำคัญกับตรงนี้ไม่ให้หลุดจากตำแหน่งนี้เลย
แม้ว่าเราจะหลุดจากตำแหน่งอื่นทางโลกมาแล้วก็ตาม แต่ตำแหน่งนี้รอคอยเราอยู่
หลุดไม่ได้หลุดเราก็กลายเป็นผู้ไม่รู้
หลุดก็เป็นผู้ที่มีแต่ความทุกข์ทรมานของชีวิต จิตก็จะไม่ผ่องใส
ไม่บริสุทธิ์เต็มที่
เมื่อใดเห็นธรรมเมื่อนั้นเห็นตถาคต
ธรรมดวงแรกนี้สำคัญมาก ถ้าเราทำจนชำนาญ
ทำได้คล่องแล้วเราจะเข้าใจคำว่า เมื่อใดเห็นธรรมเมื่อนั้นเห็นพระตถาคตเจ้า
คือวันใดที่เราเข้าถึงปฐมมรรค หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง
ในกลางของกลางดวงปฐมมรรค พอถูกส่วนเราก็จะค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปข้างใน แล้วก็เห็นไปตามลำดับ
เห็นดวงธรรมในดวงธรรม เห็นกายในกายจนกระทั่งไปถึงกายของพระตถาคตเจ้า
คือ พระธรรมกายที่อยู่ในตัว เป็นกายผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว
เป็นสรณะทีพึ่งที่ระลึก ที่แท้จริงของเรา มีลักษณะสวยงามมาก
ได้ลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ เกตุดอกบัวตูม อิริยาบถสมาธิ นั่งอยู่บนแผ่นฌาน
กลมแบนใสๆ หันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา
นั่นแหละพระตถาคตเจ้าที่แท้จริงที่อยู่ภายในตัวของเรา
ซึ่งมีลักษณะเหมือนพระตถาคตเจ้าที่อยู่ในกายพระมหาบุรุษ
หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราก็เป็นกายธรรมเช่นเดียวกัน
แต่ของท่านเป็นกายธรรมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีลักษณะหน้าตาเหมือนกัน ต่างแต่ขนาด
ความบริสุทธิ์ ความใสที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเมื่อใดเห็นธรรมก็จะเห็นพระตถาคตเจ้า
และก็จะเข้าใจคำว่า “พระตถาคตเจ้า” เพิ่มขึ้น
ชีวิตของโลกมายาจะสิ้นสุดเมื่อใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
เราจะเข้าถึงชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงซึ่งเป็นสัจธรรม คือสิ่งที่เป็นจริง
เป็นชีวิตภายใน ชีวิตภายนอกเป็นชีวิตของโลกมายาไม่จีรัง
ไม่มีสาระแก่นสารอะไรทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ใจหยุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่
พระผู้ปราบมาร ท่านเทศน์ยํ้าอยู่เสมอว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” ที่จะทำให้แจ่มแจ้งทั้งเรื่องทางโลกและทางธรรม
ทำให้แจ่มแจ้งเหมือนเราดึงของออกจากที่มืดมาอยู่กลางแจ้ง ก็จะเห็นชัดเจนว่า
มันคืออะไรใจหยุดนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
ชีวิตคือการเข้ากลาง กลางใจที่หยุดนิ่งนั้นเรื่อยไป
จึงจะพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามารที่เขาเอากิเลสอาสวะมาบังคับบัญชาให้เราตกเป็นบ่าวเป็นทาสของเขา
บังคับให้เรากระทำผิดทางกาย วาจา ใจ ด้วยความไม่รู้
แล้วก็เอาวิบากกรรมมาบังคับซํ้าไปอีก
อีกทั้งเอาธาตุปิดธาตุบังไม่ให้รู้เรื่องราวสิ่งเหล่านี้ด้วย
เราจึงต้องเสียเวลาในการเวียนว่ายตายเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน
การเกิดมาด้วยความไม่รู้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
เพราะชีวิตก็จะวนเวียนอยู่ในภพ ๓ อยู่ในคติทั้งสอง คือ สุคติกับทุคติ
วนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้
เพราะฉะนั้นเมื่อมีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สิ่งเหล่านี้ก็หมดไป ด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ที่ให้ทิ้งทุกอย่าง
ปล่อยวางทุกสิ่ง นิ่งอย่างเดียว นิ่งๆ นุ่มๆ เรื่อยไปเลยอย่างสบายๆ เอาตรงนี้ให้ได้ซะก่อน
ให้รู้จักว่าใจหยุดนิ่งเป็นอย่างไร ตกศูนย์เป็นอย่างไร ธรรมดวงแรกเป็นอย่างไร
ความบริสุทธิ์เป็นดวงใสๆ ถูกส่วนเป็นอย่างไร
ทำความรู้จักตรงนี้ให้ดีให้แจ่มแจ้ง
เพราะฉะนั้นเวลาที่เหลืออยู่นี้ เราก็ฝึกใจให้หยุดนิ่งนุ่มๆ อย่างเบาๆ สบายๆ ใจใสๆ ใจเย็นๆ ประคองใจให้หยุดนิ่งด้วย บริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหัง เรื่อยไปนะ
ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565