จิตวิญญาณพระแท้
วันอาทิตย์ที่
๒๐
พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ (๑๓.๓๐ -
๑๕.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย-ปรับใจ
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะจ๊ะ
หลับตาเบาๆ พอสบายๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรา ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกว่า
สบาย
ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน
ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี ให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย
วางใจ
ผ่อนคลายทั้งร่างกายและก็จิตใจ
ให้ทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง รวมใจกลับเข้ามาไปสู่ภายใน ให้ใจหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ ให้รวมใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ผ่อนคลาย ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ
นึกถึงบุญ
/ ดวงบุญ
แล้วนึกถึงบุญทุกๆ
บุญที่เราทำผ่านมา ไม่ว่าบุญเล็ก บุญน้อย บุญปานกลาง บุญใหญ่ กฐิน ผ้าป่า
บุญพิเศษอะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น ให้นึกถึงบุญเหล่านั้น นึกเป็นภาพก็ได้
หรือแค่นึกว่า เราได้ทำบุญต่างๆ เหล่านี้ในทุกๆ บุญ ใจเราจะได้ชุ่มชื่น
ปีติเบิกบาน
ในกาลเวลาที่ผ่านมา
เราได้ใช้ทุกสิ่งที่เรามีอยู่ ทั้งกำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา กำลังพวกพ้อง
กำลังกาย กำลังใจ เป็นต้น ใช้ไปเพื่อการสร้างบารมี ไม่เคยตกบุญเลย ให้นึกทบทวนอย่างนี้
เพื่อที่ใจเราจะได้แช่มชื่น เบิกบาน ใส บริสุทธิ์ จะได้รวมอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ อย่างง่ายๆ
รวมเป็นดวงบุญใสๆ
กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ แต่ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว
ไม่มีตำหนิเลย อย่างน้อยก็ใสเหมือนน้ำใสๆ หรือคล้ายๆ ก้อนน้ำแข็งใสๆ หรือกระจกใสๆ
กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว
สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน อย่างน้อยก็สว่างเหมือนฟ้าสางๆ ตอนตี ๕
ในฤดูร้อน หรือยามรุ่งอรุณ ๖ โมงเช้าบ้าง ๗ โมงบ้าง ๘ โมงบ้าง จนกระทั่งสว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
แต่ว่าใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ คือสว่าง แต่ไม่จ้าตา ไม่เคืองตา
ไม่แสบตา มีแต่ชุ่มตาชุ่มใจ
เป็นดวงใสๆ
กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว สว่างอยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตของเรา ตั้งแต่เรายังเป็นปุถุชนจนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า
ก็ต้องอาศัยบุญนี่แหละ ที่เราได้สั่งสมมาทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งมากเข้าๆ รวมตัวกลั่นไปเป็นบารมีทั้ง
๑๐ ทัศ ทั้งทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน
เมตตา อุเบกขาบารมี
ดวงบารมี
บารมีก็เป็นดวงใสๆ
เหมือนดวงบุญ แต่ละเอียดเพิ่มขึ้นเหมือนเป็นอีกมิติหนึ่ง ถ้าเทียบระหว่างบุญกับบารมี
บุญจะหยาบกว่า บารมีจะละเอียดกว่า บุญเหมือนพระจันทร์บนท้องฟ้าที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่า
บารมีคล้ายพระจันทร์ในน้ำอย่างนั้น แต่ว่าสว่างเจิดจ้ากว่านั้นนะ สว่างสดใส
แต่ว่านุ่มนวลกว่า ให้ความสุขมากกว่า ความบริสุทธิ์มากกว่า
พลังอานุภาพต่างๆ
เหล่านี้ อยู่ในกลางกายฐานที่ ๗ ของเรา เป็นดวงใสๆ ส่งผลให้เรามีความสุข ตั้งแต่ยังเป็นปุถุชน
จนกระทั่งส่งต่อไปเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบัน พระสกิคามี พระอนาคามี
พระอรหันต์ ทั้งหมดนี้เริ่มต้นมาจากบุญที่เราได้สั่งสมเอาไว้ในทุกๆ บุญ
เพราะฉะนั้น
ให้นึกถึงบุญจนกระทั่งใจชุ่ม พอชุ่มเย็นสบายก็รวมใจหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ
ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ อยู่ตรงกลางกาย นิ่ง นุ่ม เบา สบาย ผ่อนคลาย ใจเย็นๆ
ถ้าเราทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ใจก็จะยิ่งนิ่งนุ่มหนักเข้าไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งหลุดเข้าไปถึงดวงธรรมที่อยู่ภายใน บ้างก็หลุดเข้าไปถึงองค์พระใสๆ เราก็หยุดนิ่งอย่างเดียว
ไม่ต้องทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ใจนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ
บริกรรมภาวนา
ส่วนใครที่ใจยังไม่รวม
จะประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง ไปด้วยก็ได้ จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง
ประคองไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ
ส่วนใครใจหยุดนิ่งแล้ว
คำภาวนาจะหายไปเอง ก็นิ่งอย่างเดียว นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ
สำหรับลูกพระธรรมทายาทที่เข้าถึงประสบการณ์ภายในแล้ว
แสงสว่างบ้าง ดวงธรรมบ้าง หรือองค์พระบ้าง ก็ให้รวมใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ
อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
มีอะไรให้ดูก็ดูไป
มีอะไรให้ดูเราก็ดูไป ดูไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น
มีแสงสว่างให้ดูก็ดูเข้าไปในกลางความสว่าง มีดวงให้ดูก็ดูดวงไป มีองค์พระใสๆ
ให้ดูเราก็ดูไป ดูประสบการณ์ภายในที่บังเกิดขึ้นเอง ดูไปเฉยๆ เหมือนเราดูวิวหรือทิวทัศน์ที่เราก็ดูไปอย่างนั้น
โดยไม่ต้องคิดอะไร ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ ทำอย่างนี้ ประสบการณ์ภายในก็จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ
อย่าไปเน้นภาพ
อย่าไปเค้นภาพ
มีให้ดูแค่ไหนก็ดูแค่นั้นไปก่อน สมมติว่าชัดเจนแค่
๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เราก็ดูไปเท่านั้น ไม่ต้องไปเร่ง ไปเน้น อยากให้ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย
อย่าไปทำอย่างนั้นนะ
มีให้ดู ๕ เปอร์เซ็นต์ เราก็ดู ๕ เปอร์เซ็นต์ รัวๆ รางๆ
เห็นเหมือนความสว่างตอนฟ้าสางๆ เห็นภาพได้ชัดขนาดนั้นก็ดูแค่นั้นไปก่อน เหมือนเราตื่นนอนมาใหม่ๆ
ตื่นจากจำวัดมาใหม่ๆ ฟ้าสางๆ รุ่งอรุณ ดวงตะวันที่ขอบฟ้ามีให้ดูแค่นั้น
ไม่ว่าเราจะไปเร่งแค่ไหนให้มันเที่ยงวันมันก็ไม่ได้ เราก็ดูเหมือนดูดวงตะวันภายนอก
ทำนองเดียวกันอย่างนั้น ข้างในก็เช่นเดียวกัน ให้ทำอย่างนั้นแหละ ดูไปอย่างสบายๆ
พอใจในทุกประสบการณ์
ส่วนลูกพระธรรมทายาทที่ตัวเริ่มโล่งโปร่งเบาสบาย รู้สึกว่านั่งแล้วมันไม่ปวดไม่เมื่อย
ไม่เบื่อหน่าย ก็ให้รักษาสภาวะของใจที่เป็นอย่างนี้ต่อไป โดยไม่ต้องไปคำนึงว่า
เราจะทันได้ใช้งานในการสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ไหม เพราะหากว่าเรากลัวไม่ทัน ความกังวลจะเกิดขึ้น จิตของเราก็จะหยาบ
การลุ้น เร่ง เพ่ง จ้อง ก็จะเกิดขึ้น
เป็นการขยันที่ผิดวิธี ประกอบความเพียรดี แต่วิธีการไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้อง คือ อย่าไปกังวล ใช้สองคำว่า “ช่างมัน”
อารมณ์ของเราโล่งโปร่งเบาสบายขนาดนี้ก็ดีหนักหนา ถึงแม้ไม่ทันใจเราในตอนนี้ แต่ก็จะทันใช้งานสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์อย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้น เมื่อสภาวะของใจของเรามาอยู่ที่ความละเอียด
ณ จุดตรงนี้ ให้พึงพอใจในสภาวะความละเอียดของใจ
ณ ตอนนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจว่าเราไม่ทันเพื่อนสหธรรมิกเขา
อย่าไปคิดอย่างนั้นนะลูกนะ เราทำเท่าที่ประสบการณ์ภายในของเรามาถึง ณ ตอนนี้ เราทำอย่างนี้ไปก่อน
โล่งๆ โปร่ง เบา สบาย พอเรานิ่ง นุ่ม เบาสบาย
เดี๋ยวตัวจะขยาย และหายไปเลย เหมือนไม่มีร่างกาย คล้ายๆ กับตัวเรากับบรรยากาศกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้ยังไม่มีแสงสว่างมาให้ดู ยังไม่มีภาพมาให้ดูก็ ช่างมัน สองคำนี้นะลูกนะ ช่างมัน เฉยๆ นิ่งๆ นุ่มๆ
ต่อไป
เพื่อนสหธรรมิกของเรา ก่อนที่เขาจะถึงแสงสว่าง ถึงดวงใส
เห็นตัวเองภายใน หรือองค์พระ เขาก็ผ่านขั้นตอนนี้มาแล้วทั้งสิ้น แต่เพราะทำเฉยๆ
นั่นเอง นิ่งๆ นุ่มๆ อย่างเดียว เมื่อถูกหลักวิชชา ประสบการณ์ภายในก็ค่อยๆ ดีขึ้นไปเรื่อยๆ
จนถึงสภาวะเข้าถึงแสงสว่าง เข้าถึงดวงธรรม เห็นตัวเองบ้าง เห็นองค์พระภายในเองในภายหลัง
กำลังบุญเก่าของเรามีมากเพียงพอ ถ้าไม่มากพอ เรามาบวชรุ่นนี้ไม่ได้
เข้ามาสู่เส้นทางสถาปนามหาปูชนียาจารย์ไม่ได้ เมื่อบุญเก่าเพียงพอ เหลือแต่วิธีการปัจจุบันเท่านั้น
ทำให้ถูกหลักวิชชา
ส่วนพระพี่ชายที่บวชมาก่อนหน้านี้
ที่คอยประคับประคองพระน้องชาย ก็มีบุญบารมี
มีเชื้อสายกับพระเดชพระคุณหลวงปู่เช่นเดียวกัน ให้ตั้งใจประคับประคองใจให้ละเอียดจนถึงจุดแห่งความบริบูรณ์ของประสบการณ์ภายใน
เราก็จะไปสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์เช่นเดียวกัน แม้เราบวชมาก่อนหน้านี้ ซึ่งมีความจำเป็นมากที่ต้องมาคอยดูแลประคับประคองพระน้องชาย
เพื่อเข้าสู่เส้นทางสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
จิตวิญญาณพระแท้
ดังนั้น ณ ช่วงเวลานี้ ให้ตั้งใจให้ดี
รักษาใจให้สะอาดที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด ตั้งแต่เราเกิดมาเป็นมนุษย์จนกระทั่งได้มาบวชในคราวนี้
ให้ใจเราเกลี้ยงๆ ให้ใส ให้สะอาด
ให้บริสุทธิ์ที่สุด จนกระทั่งเรามีความรู้สึกว่า ชีวิตจิตวิญญาณของเราเป็นพระแท้
เป็นเนื้อนาบุญ เป็นอายุพระศาสนา สมควรแก่การได้ชื่อว่า เป็นสายโลหิตแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ต้องทำใจให้ได้อย่างนี้นะลูกนะ ในทุกอิริยาบถ
ให้เกิดความรู้สึกที่ดีอย่างนี้ กระทั่งเรานับถือตัวเอง เคารพตัวเองได้
ปีติและภาคภูมิใจในตัวเองได้ว่า ใจเราเกลี้ยงเกลา ใสสะอาด บริสุทธิ์ แม้ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอริยเจ้าก็ตาม
แต่เป็นสมมติสงฆ์ที่สะอาด ที่บริสุทธิ์ ที่มนุษย์และเทวดาทั้งหลายเคารพสักการบูชาว่าเป็นแหล่งแห่งบุญ
เราต้องประคับประคองกาย วาจา ใจ ของเราให้ได้อย่างนี้
ง่ายที่สุด ลัดที่สุดก็คือ รักษาจิตดวงเดียว
หรือใจของเราให้ใสๆ ให้บริสุทธิ์ ด้วยการหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ดังกล่าวนี้แหละ จนกระทั่งความบริสุทธิ์ลึกซึ้งเพิ่มขึ้นไปกว่าความรู้สึกว่าบริสุทธิ์
มาเป็นความรู้แจ้งว่า เราบริสุทธิ์จริงๆ เพราะเราได้เห็นความบริสุทธิ์
ปรากฏขึ้นมาเป็นภาพ เป็นดวงใสๆ ความรู้แจ้งว่า บริสุทธิ์กับความรู้สึกว่า บริสุทธิ์
ก็ผสมผสานกลมกลืนกันเป็นหนึ่งเดียวกัน
ลูกจงทำอย่างนี้จึงจะเป็นวิธีที่ลัดที่สุด ง่ายที่สุด
แล้วการสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์จะได้เริ่มต้น ให้เป็นที่เลื่องลือไปยังเทวโลก
ให้เทวดาทั้งหลายโจษจันกันไปในทุกๆ ชั้น ถึงพรหมโลก ถึงอรูปพรหม กระทั่งถึงอายตนนิพพาน
เพราะฉะนั้นลูกพระธรรมทายาทต้องรักษาใจให้ได้อย่างนี้นะลูกนะ
เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว
ต่อจากนี้ไปเราก็ตั้งใจประคับประคองใจให้หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ให้ใจใสๆ
ใจเย็นๆ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565