เราเกิดมาเพื่อแสวงหาธรรม
วันอาทิตย์ที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ (๑๕.๐๐ - ๑๖.๓๐ น.)
ห้องแก้วสารพัดนึก วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย-ปรับใจ
ตั้งใจนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะจ๊ะ
หลับตาเบาๆ พอสบายๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรา ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย
ต้องสบาย
ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี
ให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย กายต้องสบาย เราให้เวลากับตรงนี้สัก
๒ นาที ในการปรับกายปรับใจของเราให้สู่สภาวะที่สบาย
แล้วก็ทิ้งทุกอย่าง
ปล่อยวางทุกสิ่ง นิ่งอย่างเดียว อย่าให้ใจไปเกาะ ไปเกี่ยว ไปเหนี่ยว
ไปรั้งเรื่องอะไรเลยนะจ๊ะ
ไม่ว่าเรื่องธุรกิจการงาน
คน สัตว์ สิ่งของ บ้านช่อง เรื่องครอบครัว เรื่องการศึกษา
หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ใจเกลี้ยงๆ ใจใสๆ ใจเย็นๆ
นะจ๊ะ
อย่ามองข้ามความสบาย
ปรับตรงนี้สักนิดหนึ่ง
ให้ถูกหลักวิชชา ให้กายสบาย ให้ใจสบาย หลับตาพอสบาย อย่ามองข้ามไปนะจ๊ะ
ที่บางท่านเสียเวลามานาน แล้วยังไม่ไปถึงจุดที่ใจหยุดนิ่งได้ เพราะเราอาจจะมามองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป
มองข้ามจุดสบายไป
ไปตั้งใจมากเกินไปบ้าง ไปกด ไปดัน ไปเค้น ไปแช่ใจนิ่งเกินไป กดดัน
เค้นภาพอะไรอย่างนี้ เป็นต้น ซึ่งมันก็ทำให้เราสูญเสียอารมณ์สบาย สูญเสียความสบายของกายและใจ
เพราะฉะนั้นเราจึงยังไม่สมปรารถนา ทั้งๆ ที่ธรรมะก็มีอยู่ในตัว บุญก็มีอยู่ในตัว
ความสุข ความบริสุทธิ์ อะไรทั้งหมดเหล่านั้นก็อยู่ในตัว
แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่องส่งผล เข้ามาไม่ได้ เพราะเราปิดกั้นตัวของเราเอง อย่างที่เราไม่รู้ตัว
โดยการทำให้เราสูญเสียความสบายทั้งกายและใจ
เพราะฉะนั้น
เมื่อเราทราบความสำคัญของความสบายแล้ว ต้องปรับสู่สภาวะตรงนี้ ถ้าหลุดจากความสบายเมื่อไร ก็ให้เริ่มต้นใหม่
พร้อมจะเริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ อย่าไปเสียดายสิ่งที่ผ่านมา
มาเริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ
เอาจุดสบายตรงนี้ พอเรารู้สึกว่า เราสบายจริงๆ แล้วล่ะก็
ความพึงพอใจที่เราอยากจะนั่งไปนานๆ มันก็จะเกิดขึ้น คือ เราชอบอยู่กับอารมณ์ตรงนี้
สบายตรงไหน
เราก็เอาตรงนั้นไปก่อน อาทิ จะอยู่ที่ปากช่องจมูก ที่หัวตา ที่กลางกั๊กศีรษะ
เพดานปาก ช่องปากอาหารสำลักหรือกลางท้อง หรือนอกเหนือจากนี้ ก็เอาใจอยู่ตรงนั้นไปก่อน
สบายตรงไหนก็เอาตรงนั้นไปก่อน
หาจุดสบายให้เจอ
พอสบายจริงๆ ใจไม่ไปเกาะ ไปเกี่ยว ไปเหนี่ยว
ไปรั้งเรื่องอะไรจริงๆ มันก็จะนิ่ง นุ่ม เบา เดี๋ยวมันก็จะวื้ดเข้ามาสู่ภายในกลางกายได้อย่างง่ายๆ
เพราะบุญได้ช่องส่งผล ความสุข ความบริสุทธิ์ ก็ได้ช่องที่จะเข้ามา แสงสว่าง ดวงใสๆ
กายภายในหรือองค์พระ ก็จะได้ช่องที่จะเข้ามาตรงจุดที่สบาย
ใจจะเกลี้ยงๆ
ใส ๆ ไม่มีอารมณ์อะไรเลย หาตรงนี้ให้เจอนะจ๊ะ แล้วมันจะง่าย พอได้ตรงนี้แล้วเราจะไม่เบื่อในการนั่งสมาธิ
เราอยากจะทำอย่างนี้ไปทุกอิริยาบถ ทั้งนั่ง ทั้งนอน ทั้งยืน ทั้งเดิน
หมั่นตรึกนอกรอบ
แล้วก็หมั่นตรึกนอกรอบ
ไม่ว่าเราจะอยู่เขตนอกหรือเขตใน เขตไหนก็ตามนี่ ก็ทำควบคู่กันไปกับภารกิจ
หมั่นตรึก หมั่นนึก หมั่นคิด ให้ใจคุ้นเคยกับกลางกายอย่างสบายๆ
การตรึกนอกรอบจะเป็นอุปการะ คือ ช่วยเกื้อกูลในเวลาเรามานั่งในรอบนี่มันจะง่าย
ใจมันวื้ดจึ้กลงไปตรงกลางได้อย่างง่ายๆ ใจจะใสๆ เกลี้ยงๆ
แม้ผู้ที่เห็นแสงสว่างแล้วก็ตาม
หรือเห็นดวง เห็นกาย หรือองค์พระภายใน ก็จะต้องหมั่นทำทั้งนอกรอบและในรอบ
ให้สม่ำเสมอ อย่าประมาท ควบคู่กับภารกิจในชีวิตประจำวัน
และเดี๋ยวเราจะสนุกเบิกบานในการปฏิบัติธรรม พอใจมันหยุดนิ่งตั้งมั่นได้ อะไรก็ง่ายหมด
แสงสว่างก็เกิดง่าย ดวงใสๆ ก็เกิดง่าย กายภายใน หรือองค์พระก็เกิดง่าย
ที่ทำได้อยู่แล้วมันก็จะยิ่งชัดขึ้น
ใสขึ้น สว่างขึ้น สว่างขึ้นไปเรื่อยๆ ชัดเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ชัดเอง ใสเอง สว่างเอง
องค์พระก็จะอยู่ในกลางกาย ขยายออกไปเอง ได้อย่างง่ายๆ องค์ใหม่ก็จะผุดเข้ามาแทนที่
มีองค์ใหม่มาเรื่อยๆ อย่างนี้ จะเป็นไปเอง เพราะฉะนั้นหาจุดตรงนี้ให้ได้
จะประคองใจให้หยุดให้นิ่ง ให้นิ่งอย่างเดียว
เราเกิดมาเพื่อแสวงหาธรรมะ
ภารกิจที่สำคัญของชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้ในแต่ละครั้ง
ก็เพื่อแสวงหาธรรมะ หาความสุข ความบริสุทธิ์ เพื่อจะได้ศึกษาเรียนรู้ ได้เข้าถึงวิชชา
ที่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วทั้งหลายท่านบรรลุ
วิชชาทั้งหลายจะเกิดขึ้นต่อเมื่อใจหยุด
ใจนิ่ง ใจสะอาดบริสุทธิ์เท่านั้น ถ้าไม่หยุดไม่นิ่งก็เข้าไม่ถึงวิชชา เช่น วิชชา ๓
บุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติหนหลัง เกี่ยวกับเรื่องราวตัวของเราเอง หรือผู้อื่นนี่ก็ขึ้นอยู่กับหยุดกับนิ่งนี่แหละ
จะศึกษาวิชชาได้ก็ต้องอาศัยหยุดกับนิ่ง
ตรงจิตที่บริสุทธิ์มีความสุขมากๆ ถ้าไม่หยุด ไม่นิ่ง ความสุข ความบริสุทธิ์
ธรรมะก็ไม่บังเกิดขึ้น
เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิตของตัวเราเองก็เป็นความลับของชีวิต
ซึ่งเป็นอันตรายต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละชาติ ถ้าเราไม่รู้เรื่องราวของตัวเราเอง
พญามารกันนักกันหนาทีเดียว
ไม่ให้เราเข้าถึงวิชชา โดยตรึงใจเราไปติดกับเรื่องอื่น ไม่ให้ใจเราหยุด
ใจเรานิ่งที่กลางกาย มีเรื่องราวสารพัดมาเยอะแยะ
ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิต
กว่าเราจะรู้เรื่องนี้ได้ก็ต้องมีผู้รู้
ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว บังเกิดขึ้น มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น
มีพระมหาเถรานุเถระที่บรรลุธรรมบังเกิดขึ้น โดยเฉพาะหมู่คณะของเราก็มีพระผู้ปราบมาร
พระเดชพระคุณหลวงปู่ ได้บังเกิดขึ้น
ที่ท่านสละชีวิตจนกระทั่งใจหยุดนิ่งดิ่งเข้าไปสู่ภายใน แล้วก็เข้าธรรม
แล้วก็นำสิ่งที่รู้ที่เห็นนี้มาเปิดเผย มาเทศนาสั่งสอนต่อไป
เพราะฉะนั้น
หยุดกับนิ่งมีความสำคัญมาก ลูกทุกคนจะต้องฝึกตรงนี้ให้ดี ช่วงนี้เรายังมีเรี่ยวมีแรง
ยังแข็งแรงอยู่ ยังพออดพอทน
ถ้าการประกอบความเพียรในทุกอิริยาบถควบคู่กับภารกิจประจำวันก็ต้องรีบชิงช่วง
ถ้ายังพอมีเรี่ยวมีแรง ก่อนที่จะถูกช่วงชิง กระทั่งความแข็งแรงนี้สูญสลายไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ
เป็นต้น
เพราะฉะนั้น
ต้องหมั่นฝึก หมั่นตรึก หมั่นนึก หมั่นคิด ด้วยอารมณ์สบายที่กลางกายไปเรื่อยๆ พอใจมันว่างเปล่าจากอารมณ์อื่นก็จะหยุดนิ่งได้อย่างง่ายๆ
อย่างสบายๆ นะจ๊ะ
เวลาที่เหลืออยู่นี้
เราก็รวมใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ใครคุ้นกับการนึกถึงดวง
องค์พระ หรือพระเดชพระคุณหลวงปู่ เราก็นึกไปอย่างง่ายๆ อย่างสบายๆ
แล้วก็ประคองใจให้หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหังๆๆ ประคองใจกันไปอย่างนี้
ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565