บวชเรียนเพื่อพ้นโลก
วันอาทิตย์ที่
๑๕ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ (๑๓.๓๐ - ๑๕.๓๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ ห้องแก้วสารพัดนึก
ปรับกาย
ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ
หลับตาเบาๆ พอสบายๆ ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกาย ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย
ต้องสบาย ต้องผ่อนคลาย ทั้งร่างกายและจิตใจ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี
ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย
วางใจ
ทิ้งทุกอย่างวางทุกสิ่ง
รวมใจกลับเข้าไปสู่ภายในอย่างง่ายๆ อย่างสบายๆ ให้ใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเราในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒
นิ้วมือ หรือจำง่ายๆ ว่า อยู่บริเวณกลางท้องในระดับที่เรามั่นใจว่า
เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ รวมใจกลับเข้าไปสู่ภายในอย่างง่ายๆ อย่างสบายๆ
ทำใจให้ใสๆ ใจเย็นๆ
นึกถึงบุญ
นึกถึงบุญทุกบุญที่เราทำผ่านมา
โดยเริ่มต้นจากบุญที่เรานึกเมื่อไรก็ปลื้ม ให้นึกถึงบุญนั้นก่อนอย่างง่ายๆ
ใจจะได้ชุ่มๆ ใจจะได้ใสๆ แล้วบุญที่เรานึกแล้วปลื้มนี้จะไปดึงดูดบุญต่างๆ
ที่เราทำผ่านมาทั้งในอดีตชาติและปัจจุบันชาตินี้ ไม่ว่าบุญเล็กบุญน้อย บุญปานกลาง
บุญใหญ่ ทุกบุญที่เราทำ ทั้งทางโลกและทางธรรม มารวมเป็นดวงบุญใสๆ
ติดอยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
เป็นดวงบุญใสๆ
กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว แต่ใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีตำหนิเลย
โตขนาดไหนก็ได้ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน หรือใหญ่กว่านั้น แล้วแต่บุญที่เราสั่งสมมา
เป็นดวงใสๆ อย่างน้อยเหมือนน้ำใสๆ หรือเหมือนก้อนน้ำแข็งใสๆ หรือเหมือนกระจกใสๆ
อย่างน้อยก็อย่างนี้นะ
ใสบริสุทธิ์แล้วก็สว่าง
สว่างเหมือนพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน ถ้าหากใจเรานิ่งน้อยจะสว่างเหมือนฟ้าสางๆ
พอนิ่งมากขึ้นก็สว่างเพิ่มขึ้น
จนถึงความสว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านี้ แต่ไม่จ้าตา ไม่แสบตา
จะใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ คือมาพร้อมกับความสุข ความสบายกายสบายใจ
บริกรรมนิมิต บริกรรมภาวนา
ให้เราค่อยๆ
ประคองตรึกนึกถึงดวงใส แล้วเอาใจหยุดลงไปในกลางดวงใสๆ อย่างง่ายๆ อย่างเบาๆ
อย่างผ่อนคลาย อย่างสบายๆ ให้ตรึกนึกไปอย่างนี้เรื่อยๆ พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ
โดยให้เสียงคำภาวนาดังออกมาจากในกลางท้องของเรา ภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ
ทุกครั้งที่ภาวนา
สัมมาอะระหัง เราก็ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างเบาๆ
เหมือนแตะแผ่วๆ ต้องเบาๆ ต้องสบายๆ ต้องผ่อนคลาย ต้องใจเย็นๆ
ประคองไปจนกว่าใจจะหยุดนิ่ง
เมื่อใจหยุดนิ่งจะทิ้งคำภาวนาไปเอง คล้ายๆ กับเราลืมภาวนา สัมมาอะระหัง ไป
หรือไม่อยากจะภาวนาอีกต่อไป อยากหยุดใจนิ่งเฉยๆ ให้ประคองใจอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
อย่างสบายๆ
หรือถ้าใครคุ้นเคยกับการนึกถึงภาพองค์พระ
ก็ตรึกนึกถึงองค์พระแทนดวงแก้วก็ได้ นึกอย่างสบายๆ นึกได้แค่ไหนเอาแค่นั้นไปก่อน
ต้องสบาย ต้องผ่อนคลาย และต้องใจเย็นๆ ถ้าคุ้นเคยอย่างนี้ก็ให้ทำอย่างนี้นะ
แต่ถ้าใครชอบหยุดใจนิ่งเฉยๆ
ไม่อยากนึกนิมิตอะไร พอนึกแล้วมันตึง มันเกร็ง มันเครียด
เราก็ไม่ต้องไปนึกภาพอะไรทั้งสิ้น ให้ใจใสๆ แล้วภาวนาไปเรื่อยๆ ให้ใจสบาย
ฝึกหยุดแรกนี่
ให้ได้เสียก่อน ถ้าใจหยุดแรกนี้ได้ หยุดต่อไปก็ง่าย ใจจะใสๆ เย็นๆ
เปรียญธรรม ๒ ชั้น
สำหรับลูกๆ
นาคธรรมทายาททั้งหลายที่เตรียมตัวจะบรรพชาเป็นสามเณรอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้
ก็ต้องประคองใจดังกล่าวนะ โดยเริ่มจากจุดที่เรานึกได้ง่ายๆ นึกได้สบายๆ
นึกแล้วอยากจะนึกต่อไปเรื่อยๆ อยากนั่งไปนานๆ โดยไม่อิ่มไม่เบื่อ
ให้เริ่มต้นอย่างนั้นไปก่อน เพราะเป้าของเราจะต้องบวชให้ได้ ๒ ชั้น
ข้างนอกครองผ้ากาสาวพัสตร์ ข้างในก็เห็นพระในตัว
อาจจะเริ่มนึกพระในบ้านของเราก่อนก็ได้
คือบิดามารดา จนกระทั่งไปถึงพระภายในที่เป็นองค์พระที่เราเคยเคารพกราบไหว้บูชา
เป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ประคองใจกันอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทำไปอย่างสบายๆ
ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ
โดยเฉพาะลูกพระลูกเณรเปรียญธรรมประโยค
๓,๖,๙ ให้รวมใจหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
เบาๆ สบายๆ ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ พอถูกส่วน ใจจะขยายออกไป กว้างออกไปเรื่อยๆ
ความเบากายเบาใจก็จะเกิดขึ้น ข้างในจะโล่ง โปร่ง เบา สบาย
จนกระทั่งเข้าถึงดวงธรรมภายในดวงใสๆ แล้วก็นิ่งไปเรื่อยๆ
กระทั่งถึงพระภายในที่สว่าง ที่ใสบริสุทธิ์เป็นแก้วเป็นเพชรอย่างนั้นนะ
ให้นิ่งเข้าไปเรื่อยๆ
นุ่มๆ เดี๋ยวองค์พระก็ผุดผ่านมาในกลางกายของเรา อย่างง่ายๆ อย่างสบายๆ
ใจเราก็ยิ่งใส ยิ่งเย็น ยิ่งบริสุทธิ์
ถ้าหยุดนิ่งได้สนิทแม้องค์พระจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม
แต่เราจะเห็นรายละเอียดชัดเจนเหมือนองค์ใหญ่ ใหญ่มากแค่ไหนก็จะชัดเท่ากัน เหมือนๆ
กัน
ถ้าใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนจะได้เป็นเปรียญธรรม
๒ ชั้น ทั้งข้างนอกทั้งข้างใน ให้แตกต่างจากทั่วๆ ไป ให้ใจนิ่งในนิ่งเข้าไปเรื่อยๆ
นุ่มๆ เบาๆ แล้วองค์พระแม้จะเล็กนิดเดียวแต่จะชัดน่าอัศจรรย์ทีเดียว ชัดแจ่มใส
แตะลงไปกลางนั้น เดี๋ยวก็ขยายใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างง่ายๆ
เราเรียนเพื่อพ้นโลก
การมุทิตาในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาของลูกพระลูกเณรเปรียญธรรมที่ได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจ
มีวิริยอุตสาหะศึกษาเล่าเรียนพระบาลี
ซึ่งเก็บคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้ เล่าเรียนเพื่อตัวเรา
และเพื่อเก็บรักษาเอาไว้ให้ผู้มีบุญที่จะมาในภายหลัง
เป็นการเรียนวิชาที่เหมาะสมกับนักบวชที่บวชแล้วต้องเรียน
สิ่งที่เรียน คือ เรียนแต่คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อพ้นโลก พ้นวัฏฏะ
ไม่ใช่เรียนแบบชาวโลก แบบติดโลก หรือทันโลกอะไรต่างๆ เหล่านั้น
พอเรียนแบบชาวโลกจะให้ทันโลกอย่างไรก็ไม่ทัน เราเป็นพระเป็นเณรก็ต้องเรียนให้พ้นโลก
พ้นวัฏฏะ
วัตถุประสงค์ของการมาบวชเป็นพระเป็นเณรก็เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
สลัดตนให้พ้นจากกองทุกข์วิชชาที่จะทำพระนิพพานให้แจ้ง สลัดตนให้พ้นจากกองทุกข์ก็มีแต่วิชชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เก็บรักษาไว้ด้วยภาษาบาลี
เรียนพระบาลี มนุษย์และเทวาสาธุการ
ลูกพระลูกเณรทุกรูปเป็นผู้มีบุญมีบารมีมากที่สอบได้ประโยค ๓ ประโยค
๖ ประโยค ๙ การมุทิตาสักการะในวันนี้ ไม่ใช่เพียงมนุษย์อย่างเดียว แต่เทวดาก็ร่วมอนุโมทนาสาธุการด้วย
จนกระทั่งถึงพรหม อรูปพรหม ในอายตนนิพพานก็โจษขานกันไปทั่ว พระเดชพระคุณหลวงปู่
มหาปูชนียาจารย์ทุกท่านก็รับรู้รับเห็นเป็นพยาน และอนุโมทนาสาธุการ
การที่ลูกพระลูกเณรได้ใช้วิริยอุตสาหะศึกษาเล่าเรียนพระบาลี
ทั้งที่มีกิจวัตรกิจกรรมต่างๆ มากมายแตกต่างจากทั่วๆ ไป
แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาพระบาลี ไม่เป็นข้ออ้าง ข้อแม้
หรือเงื่อนไขให้เราทิ้งบุญต่างๆ แล้วศึกษาอย่างเดียว แต่ได้ทำทุกอย่างพร้อมกันไป
ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง แต่เมื่อลูกพระลูกเณรทำได้ก็เป็นที่อนุโมทนาสาธุการของมนุษย์
เทวดา พรหม อรูปพรหม พระนิพพานทั้งหลาย ตลอดจนมหาปูชนียาจารย์ทุกท่าน
ให้ลูกดีใจไว้เถิดว่าวิริยอุตสาหะในแต่ละครั้ง
จนกระทั่งครั้งนี้เป็นที่ชื่นชอบชื่นอกชื่นใจของทุกๆ ท่าน
นักบวชต้องเรียนธรรมะ
คนในโลกนี้ที่จะมีโอกาสอย่างลูกพระลูกเณรมีไม่มาก
แม้บางคนมีโอกาสก็ไม่ได้ใช้โอกาสนี้มาบวชมาเรียนมาศึกษาพระบาลี
เพราะฉะนั้นวันนี้จึงเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งของลูกพระลูกเณรเปรียญธรรมประโยค ๓, ๖, ๙ รวมทั้งมีนาคหลวงอีก ๑ รูป
ให้ปลื้มอกปลื้มใจให้ดี
ต้องเตรียมเนื้อเตรียมตัวให้เหมาะสมต่อการชื่นชมอนุโมทนาสาธุการของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
ด้วยการทำใจให้หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ อย่างเบาๆ สบายๆ เราจะต้องบวชให้ได้หลายๆ ชั้น
ให้สมกับที่เราได้ทิ้งทุกอย่างวางทุกสิ่งวิ่งเข้าวัดมาบวช ศึกษาเล่าเรียนพระบาลี
เป็นต้นบุญต้นแบบสำหรับผู้ที่จะมาภายหลัง
หรือแม้ผู้ที่อยู่ในปัจจุบันนี้ก็จะได้เห็นความสำคัญของการศึกษาพระบาลี
ไม่ใช่บวชมาแล้วก็ไปเรียนวิชาทางโลกด้วย
โดยเรียนวิชาทางธรรมนิดหน่อย
ถ้าไปเรียนทางโลกเยอะแยะ แล้วส่งเสริมสนับสนุนกันไป
ทำให้ผู้มีอินทรีย์อ่อนต้องจากเพศสมณะ จากเพศบรรพชิตไป พระศาสนาก็ทรุดลงไปเรื่อยๆ
วัดวาอารามที่เคยรุ่งเรืองก็ร้างลง แต่ลูกพระลูกเณรจะไม่เป็นอย่างนั้น
เรากำลังเชิดชูพระพุทธศาสนา ยกย่องชื่นชมหวงแหนเก็บรักษาเอาไว้
พระศาสนาจะรุ่งเรืองในยุคของเรา วัดร้างจะเป็นวัดรุ่งเหมือนยุคโบราณกาลที่ผ่านมา
กระทั่งถึงยุคพุทธกาล
เพราะฉะนั้น
ให้ลูกพระลูกเณรเปรียญธรรม ๓, ๖, ๙ ในวันนี้ปลื้มอกปลื้มใจกันเอาไว้เถิด ที่ได้ประโยค ๓
ก็ต้องมุ่งไปให้สุดตามที่คณะสงฆ์เขากำหนดการศึกษามา ประโยค ๓ ประโยค ๖ ประโยค ๙
พอสิ้นสุดที่การคณะสงฆ์เขากำหนดเราก็มาเรียนวิชาต่อไปอย่างนี้จนกระทั่งหมดอายุขัย
ก่อนที่ลูกพระลูกเณรเปรียญธรรมจะได้รับการมุทิตาสักการะก็ต้องเตรียมเนื้อเตรียมตัวเตรียมใจกันให้ดี
ให้ใจใสๆ นะลูกนะ ให้ใจตรึกไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565