สุขกับเฉยไปด้วยกัน
วันอาทิตย์ที่ ๑๗ กรกฎาคม
พ.ศ. ๒๕๕๔ (๑๓.๓๐ -
๑๕.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เมื่อเราได้จุดเทียนใจไฟนิรันดร์อนันตชัย
บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันทุกๆ
คนนะ
หลับตาเบาๆ
พอสบายๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย
ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี
ต้องผ่อนคลายสบายทั้งร่างกายและจิตใจ หลับตาพริ้มๆ เหมือนเราปรือๆ ตานิดหน่อย
ให้ผ่อนคลาย
อย่ามองข้ามไปนะลูกนะ ตรงนี้สำคัญ ต้องให้สบายทั้งร่างกายและจิตใจ
ทั้งเนื้อทั้งตัวเลย
ปรับใจ-วางใจ
แล้วทำใจของเราให้เบิกบาน
แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่งนะจ๊ะ แล้วก็รวมใจกลับไปหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ค่อยๆ
บรรจงวางน้ำหนักใจของเราให้พอเหมาะพอดี อย่าตั้งใจเกินไป อย่ากังวล ต้องสบายๆ
แล้วก็อย่าไปกดลูกนัยน์ตามองไปในท้อง
แค่ทำความรู้สึกว่า ในกลางกาย หรือกลางท้องของเรา เป็นที่โล่งๆ ว่างๆ
ปราศจากอวัยวะภายใน เหมือนไม่มีตับไตไส้พุงอย่างนั้น ให้โล่งๆ ว่างๆ แล้วค่อยๆ
ทำความรู้สึกว่า ใจของเราอยู่ตรงกลางท้องในระดับที่เรามั่นใจว่า อยู่เหนือสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
เพราะฉะนั้น
ไม่ต้องกังวลว่า เราจะวางใจหรือหยุดใจตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป๊ะเลยไหม เอาว่าอยู่บริเวณแถวๆ
กลางท้อง ที่เรารู้สึกว่าสบายทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้ใจไม่ฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น
อยากจะนั่งเฉยๆ อย่างเบาๆ สบายๆ
ถ้าสามารถนึกถึงบริกรรมนิมิตได้อย่างสบายๆ
ก็ให้นึก แต่ถ้านึกแล้วอดบังคับ หรือไปเพ่ง ไปจ้อง ไปเค้นภาพ ถ้าอดอย่างนี้ไม่ได้ เราก็อย่าไปนึกเป็นภาพ
แค่ทำความรู้สึกว่าในกลางท้องของเรามีสิ่งนี้อยู่แล้ว
ใจสบายตรงไหนเริ่มต้นตรงนั้น
แล้วก็ผ่อนคลาย
ใจสบายตรงไหนก็เริ่มต้นจากตรงนั้นไปก่อน เช่น สมมติว่าเราหลับตาแล้ว
ยังไม่มองไปกลางท้องแล้วรู้สึกสบาย คล้ายๆ กับเราอยู่ในกลางท้อง แต่ท้องขยายความกว้างไปสุดขอบฟ้าที่โล่ง
ทำความรู้สึกเหมือนเราได้ไปอยู่ตรงนั้นแล้ว
ถ้านึกอย่างนี้จะทำให้เราไม่กดลูกนัยน์ตาลงไปกลางท้อง หรือไปเน้น ไปเค้นภาพ
หลักสำคัญ คือ ต้องสบายทั้งร่างกายและจิตใจ เป้าหมายของเรา คือใจจะต้องไปตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ เรารู้จุดหมายของที่หยุดใจของเราแล้ว แต่เราเริ่มต้นจากตรงไหนก่อนก็ได้
กำหนดนิมิตบริกรรมภาวนา..ไล่ตามฐาน
พระเดชพระคุณหลวงปู่
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร
ท่านเริ่มต้นจากภายนอกก่อน เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคย สามารถนึกได้อย่างง่ายๆ
โดยกำหนดบริกรรมนิมิตเป็นเพชรสักเม็ดหนึ่ง
คือ ต้องเป็นของใสๆ เพราะจะทำให้ใจของเราใสตามสิ่งที่เรานึกถึงไปด้วย จะเป็นเพชร
เป็นพลอย เป็นก้อนน้ำแข็ง หรือหยาดน้ำค้างปลายยอดหญ้า เป็นต้น
เราก็นึกเป็นเพชรสักเม็ดหนึ่งใสๆ
กลมรอบตัว ขนาดพอลอดปากช่องจมูกได้ คือ สามารถเคลื่อนมาสู่ภายในร่างกายของเราได้ โดยเริ่มต้น
ฐานที่ ๑ ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงให้ไปนึกอยู่ที่ปากช่องจมูกซ้าย
ท่านชายอยู่ที่ปากช่องจมูกขวา แล้วก็ค่อยๆ นึกอย่างนุ่มๆ เบาๆ สบายๆ คือ เอาใจของเราจับภาพบริกรรมนิมิตที่เรานึกนั้น
อย่างเบาๆ ใช้ระบบสัมผัส ไม่ใช่บังคับนะ
พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ
ว่า สัมมาอะระหังๆๆ ทุกครั้งที่ภาวนา สัมมาอะระหัง
เราจะต้องจับภาพบริกรรมนิมิตนั้นไม่ให้คลาดจากการนึกคิดด้วยใจ นึกอย่างเบาๆ สบายๆ ชัดเจนได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน
พอภาวนา
๓ ครั้งแล้ว ก็ค่อยๆ เลื่อนเข้าปากช่องจมูกไปหยุดอยู่ที่หัวตา ตรงตำแหน่งที่น้ำตาไหล
หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา ประคองภาพบริกรรมนิมิตไปอย่างเบาๆ แล้วภาวนาในใจ
สัมมาอะระหังๆๆ อย่าให้เร็ว อย่าให้ช้านัก ให้พอดีๆ
พอครบ
๓ ครั้ง เราก็ค่อยๆ เลื่อนเข้าไปที่กลางกั๊กศีรษะ ซึ่งเป็นฐานที่ ๓
เหมือนเราช้อนตาเหลือกค้างขึ้นไป เพื่อให้ความเห็นภาพที่เรานึกนั้นกลับเข้าไปสู่ภายใน
แล้วก็ไปหยุดอยู่กลางกั๊กศีรษะ ระดับเดียวกับหัวตาของเรา กึ่งกลาง ถ้าเป็นแนวดิ่งก็ตรงไปฐานที่
๗ อย่างนั้นแหละ ตรงกลางกั๊กศีรษะตรงนี้ คือ ฐานที่ ๓ ก็จะต้องประคองใจอย่างเบาๆ
นุ่มๆ Soft
Soft ละมุนละไม พร้อมกับบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหังๆๆ
แล้วก็ค่อยๆ
เลื่อนภาพบริกรรมนิมิตลงมาที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก ซึ่งเป็นฐานที่ ๔
ใช้วิธีการเดียวกัน คือประคองภาพบริกรรมนิมิต และภาวนาประคองใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหังๆๆ
แล้วก็ค่อยๆ
เลื่อนลงไปที่ปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก เหมือนลำคอเรา เป็นถ้วยแก้วใสๆ
ภาพบริกรรมนิมิตจะอยู่ตรงกลาง กึ่งกลางปากถ้วยแก้ว คือ ปากช่องคอตรงนั้น
ที่เหมือนคล้ายๆ ปากถ้วยแก้ว ต้องประคองอย่างเบาๆ นิ่งๆ นุ่มๆ สบายๆ
พร้อมกับประคองใจด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหังๆๆ
ครบ
๓ ครั้ง แล้วก็เลื่อนลงไป คล้ายๆ กับเรากลืนเข้าไปในท้อง
ให้ภาพบริกรรมนิมิตเพชรเม็ดนั้น หรือก้อนน้ำแข็งใสๆ นั้น
ไปหยุดอยู่ที่จุดตัดกากบาทระหว่างสะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย ซึ่งเป็นฐานที่ ๖
อย่างเบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ พร้อมกับประคองใจด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า
สัมมาอะระหัง ๆๆ
ครบ
๓ ครั้ง แล้วก็เลื่อนบริกรรมนิมิตเพชรเม็ดนั้นขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
มาอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ตรงนี้ที่เดียว ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้าย
เป็นตำแหน่งที่สำคัญ ไม่ต้องย้ายไปไหนอีก
แล้วก็ค่อยๆ นึกถึงภาพอย่างเบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ
อย่าไปฮึดฮัดเมื่อไม่ได้ดั่งใจ ต้องใจเย็นๆ เราไม่มีทางเลือกอื่น จะใช้วิธีฮึดฮัดเหมือนตอนเราอยู่ทางโลก
ไม่ได้ หรือเหมือนทำมาหากินทางโลกก็ไม่ได้ ได้แค่ไหนเอาแค่นั้นไปก่อน
แล้วก็ประคองใจด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ
ว่า สัมมาอะระหังๆๆ จะกี่ครั้งก็ได้ ให้เสียงคำภาวนา สัมมาอะระหัง ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา
กลาง Landmark
เครื่องหมายที่เรากำหนดเป็นเพชรใสๆ หรือก้อนน้ำแข็งใสๆ
หรือดวงแก้วใสๆ อย่างเบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ
ตามใจเขาไปก่อน
๗
ฐานนี้ ตั้งแต่ปากช่องจมูกถึงเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ที่กลางท้อง สำหรับผู้ฝึกใหม่
เรามีความพร้อมอยู่ที่ฐานตรงไหนก่อน รู้สึกชอบและง่ายสำหรับเรา
เมื่อนึกถึงฐานตรงนี้แล้วรู้สึกสบาย
ไม่ตึง ไม่เคร่ง ไม่กดลูกนัยน์ตา รู้สึกอยากอยู่ ณ ตำแหน่งตรงนั้นนานๆ
ก็อยู่ตรงนั้นไปก่อน อย่างเบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ เราก็ประคองใจไป พอใจมีความพร้อม เดี๋ยวมันก็เลื่อนลงไปเอง
เพราะเรารู้เป้าหมายที่หยุดใจของเราแล้วว่า
ในที่สุดตอนสุดท้ายต้องที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
เพราะฉะนั้น
ตอนนี้ค่อยๆ ประคองไปใจเย็นๆ นึกไม่ออกก็ไม่เป็นไร ให้ใจใสๆ ประคองใจไป
จนกระทั่งรู้สึกว่า มันผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ พอพร้อมแล้ว
เดี๋ยวมันก็ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ศูนย์กลางกายเอง
ส่วนผู้ที่คุ้นเคยแล้วก็ง่าย
ก็เอาใจหยุดนิ่งเบาๆ ไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เลย อย่างสบายๆ ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ
สุขกับเฉยไปด้วยกัน
ส่วนผู้ที่ทำเป็นแล้ว
ใจหยุดนิ่งได้แล้ว ตกศูนย์ได้แล้ว เห็นดวงใสเกิดขึ้นมาที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ใจตั้งมั่นแล้ว ก็ต้องฝึกซ้ำๆๆ ในทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน
ฝึกหยุดแรกให้ชำนาญ ให้คล่อง หยุดนิ่งซึ่งจะมาพร้อมกับความสุข
ความบริสุทธิ์ แสงสว่าง และการเห็นภาพ เป็นดวงใสๆ ถ้าภาษาแบบบ้าน ๆ คือ ต้องสุขกับเฉยไปด้วยกัน
ถ้าภาษาธรรมะ คือ อุเบกขา ใจเป็นกลางๆ
แต่ถ้าเฉย
แล้วเห็นภาพ แต่ยังไม่มีสุข ก็แปลว่า เรายังหยุดนิ่งไม่สมบูรณ์ หยุดไปได้ ๙๙ เปอร์เซ็นต์แล้ว
ภาพจึงเกิด ใจจึงนิ่ง แต่ยังไม่สมบูรณ์ ความสุขจึงยังไม่เกิด ที่ไม่สมบูรณ์อาจเป็นเพราะเราอดตั้งใจมากเกินไปไม่ได้
อดไปเน้น ไปเค้นภาพ ไปบังคับ ไปกำกับภาพนั้น หรือไปคิดนำจนเกินไป แม้เห็นภาพ ใจตั้งมั่น
นิ่ง แน่น แต่มันยังไม่นุ่มนวล เมื่อยังไม่นุ่มนวลก็ยังกะเทาะธาตุแห่งความสุขออกมายังไม่ได้
ความสุขและความบริสุทธิ์จึงยังไม่ได้ช่องที่จะออกมา
แต่ถ้าหากว่า
เราค่อยๆ บรรจงวางใจอย่างละเอียดอ่อน แผ่วเบา นุ่มนวล คล้ายๆ กับเราค่อยๆ
แตะใจไปเบาๆ เหมือนขนนกที่ล่องลอยไปในอากาศ
แล้วค่อยๆ บรรจงวางอยู่บนผิวน้ำ
โดยไม่ทำให้น้ำกระเพื่อม ฝึกอย่างนี้ซ้ำๆ ก็จะชำนาญขึ้น คือใจจะนิ่งแน่น
แล้วก็นุ่มนวล และจะมีความสุขอย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน
สุขกับเฉยจะไปด้วยกัน ความสว่าง ความชัด ใส สว่าง
ความสุขมาพร้อมกัน และเราจะไม่เบื่อการนั่ง แต่มีความอยากจะนั่ง ไม่อยากจะเลิกนั่ง
อยากอยู่ตรงนี้นานๆ ไม่อยากให้ใจไปที่ไหนเลย แม้อยู่เพียงลำพังก็มีความสุขได้
ไม่มีความรู้สึกว้าเหว่ ขาดแคลนอะไรต่างๆ เลย จะรู้สึกอิ่มใจ มีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจ
อยากนั่งไปนานๆ หาความสุขได้แม้อยู่ในอิริยาบถเดียว ในอาสนะที่นั่งเดียว
แค่ความกว้าง ๑ ตารางเมตร ก็หาความสุขได้แล้ว ไม่ต้องทุรนทุรายไปที่ไหน
ไม่มีความกระหาย เพราะอิ่มแล้ว อิ่มในระดับที่ใจตั้งมั่น นิ่งแน่น และนุ่มนวล
เราฝึกตรงนี้ให้ชำนาญ
ทำซ้ำๆ พรรษานี้ทำได้อย่างนี้ เราก็สมความปรารถนาแล้ว
เพราะว่าสิ่งที่เราทำได้นี้จะเป็นอุปการคุณที่จะทำให้ใจละเอียดอ่อน
และเคลื่อนเข้าไปสู่ภายในเองอย่างมั่นคง นิ่งแน่น นุ่มนวล จิตควรแก่การงาน
ต้องนั่งแบบไฮโซ
งานที่จะรื้อผังวิบากกรรมวิบากมาร รื้อภพรื้อชาติ รื้อวัฏฏะได้ ใจจะมีความพร้อมที่จะเดินทางสายกลางภายในอย่างไฮโซ
สบายๆ ไม่ทุรกันดารเหมือนเมื่อก่อน ใจจะใสๆ เย็นๆ ลองทำดูนะ
แม้ใครที่กำหนดบริกรรมนิมิตได้
หรือเข้าถึงภาพภายในได้ จะเป็นดวงใส จะเป็นองค์พระใสๆ ลองแตะๆ ใจเบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ
เดี๋ยวเราจะมีความรู้สึกว่า โอ้ เป็นสุขจังเลย วันคืนผ่านไปเร็วเหลือเกิน
แต่คุ้มกับวันเวลาที่ผ่านไป เวลาของชีวิตแม้ผ่านไปก็สุดคุ้ม
สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกาย
ถ้าทำได้อย่างนี้ตลอดเวลา
พรรษานี้ก็จะหมดไปเร็วเหลือเกิน ผ่านไปเร็วมากอย่างที่เรานึกไม่ถึงเลย
จะมีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจให้ใสๆ
ใจใสจะดึงดูดธาตุแห่งความสำเร็จ
ถ้าใจใสได้ จิตก่อตัวได้ ธาตุแห่งความบริสุทธิ์ก่อตัว ก็จะกลั่นดิน
น้ำ ลม ไฟ วิญญาณ อากาศธาตุ เห็นจำคิดรู้หรือจิตใจของเราให้ใสๆ
ให้มีความสุขเพิ่มขึ้นได้ แล้วจะดึงดูดธาตุแห่งความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรมก็สำเร็จได้
ทางโลกก็จะสำเร็จในด้านการแสวงหาโลกียทรัพย์
ทางธรรมก็จะสำเร็จในด้านแสวงหาอริยทรัพย์ ถ้าทำทั้งสองด้าน ชีวิตของเราก็เป็นชีวิต
๒๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทั้งโลกภายนอกและโลกภายในที่สมปรารถนา
เพราะฉะนั้น
ช่วงเวลานี้ให้ลูกทุกคนประคองใจกันไปอย่างเบาๆ สบายๆ เมื่อใจเราใสๆ เมื่อใด
ก็จะพร้อมใจกันจะอธิษฐานจิตกัน ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565