ความตายไม่มีนิมิตหมาย
วันอาทิตย์ที่ ๒๓ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ (๑๓.๓๐ น.)
ห้องแก้วสารพัดนึก วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย ปรับใจ
ตั้งใจนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะจ๊ะ หลับตาเบาๆ พอสบายๆ
ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรา ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย
ขยับเนื้อขยับตัวให้ดี ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย ต้องผ่อนคลาย
สบายๆ
แล้วก็ทำใจให้ใสๆ เบิกบาน แช่มชื่น ให้ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง
ให้ใจเกลี้ยงๆ จากอารมณ์ภายนอก ไม่ยึดมั่นถือมั่นผูกพันในคน สัตว์ สิ่งของ
ในช่วงที่เรากำลังจะเจริญสมาธิภาวนา ต้องทำประหนึ่งว่า
เราอยู่คนเดียวในโลก ไม่เคยมีเครื่องผูกพันอะไรเลย ใจต้องใสๆ เกลี้ยงๆ
ต้องผ่อนคลาย สบายๆ
วางใจ
พอเราปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ได้ และใจเกลี้ยงๆ แล้ว ก็ค่อยๆ
รวมใจมาหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยสมมติว่าเราขึงเส้นเชือกหรือเส้นด้ายจากสะดือทะลุหลังเส้นหนึ่ง
ขวาทะลุซ้ายไปอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท
จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละเรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ตำแหน่งหยุดใจของเราที่สำคัญมาก
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ใจท่านก็มาหยุดที่ตรงนี้
เดินตามรอยพระอริยเจ้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสร้างบารมีมายาวนาน อย่างน้อย ๒๐
อสงไขยแสนมหากัป อย่างกลาง ๔๐ อสงไขยแสนมหากัป อย่างมาก ๘๐ อสงไขยแสนมหากัป แต่สุดท้ายจุดที่บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น
ทุกพระองค์จะต้องนำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
เมื่อทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง แม้กระทั่งชีวิต
เนื้อเลือดจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่กระดูกหนังช่างมัน ถ้าไม่ได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
จะไม่ลุกจากที่ พอใจไม่ติดอะไรเลย เกลี้ยงๆ ไม่มีห่วง ไม่มีกังวล
ไม่ผูกพันกับอะไรทั้งสิ้น ใจของท่านจะมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้
หยุดนิ่งอย่างเดียว ไม่ได้ทำอะไรเลยที่นอกเหนือจากนี้ นิ่งเฉยๆ จนกระทั่งใจนิ่งแน่นอย่างนุ่มนวล
ใจก็เคลื่อนเข้าไปสู่ภายใน ตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน มีดวงธรรมลอยขึ้นมาเป็นดวงใสๆ
กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วใสบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย
สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน แต่ว่าใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
มาพร้อมกับความสุขและความบริสุทธิ์ของใจที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลยในชีวิต
ใจท่านก็นิ่งอย่างเดียว นิ่งไปเรื่อยๆ
ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เข้าถึงกายธรรมซ้อนเป็นชั้นๆ
กันเข้าไป กระทั่งถึงกายธรรมกายสุดท้าย
กายธรรมจะมีเกตุดอกบัวตูมใสบริสุทธิ์ ตั้งอยู่บนจอมกระหม่อมที่เป็นลักษณะพิเศษบนพระเศียร
ที่มีเส้นพระศก หรือเส้นผมขดเวียนเป็นทักษิณาวัตร หมุนขวาตามเข็มนาฬิกา เรียงรายอย่างเป็นระเบียบ
บนพระวรกายที่ได้ลักษณะมหาบุรุษสวยงามมากในอิริยาบถสมาธิ กายของท่านจะใสบริสุทธิ์ เป็นแก้ว
เป็นเพชร หรือยิ่งกว่านี้ ถึงเรียกว่า พุทธรัตนะ
เมื่อบรรลุกายธรรมกายสุดท้ายแล้ว วิชชาและจรณะก็เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์
ตั้งแต่วิชชา ๓, วิชชา ๘, อภิญญา ๖, ปฏิสัมภิทาญาณ ๔, จรณะ ๑๕, วิโมกข์ ๘ เป็นต้น ซึ่งเป็นวิชชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วพระองค์ก็ทรงนำมาถ่ายทอดให้ผู้มีบุญทั้งหลาย โดยทรงสอนให้ทำอย่างที่พระองค์ทำ
คือ พระองค์ทรงทำอย่างไร ก็สอนให้ทำอย่างนั้น ดังนั้นเมื่อพระองค์ทรงบรรลุธรรมอย่างไร
ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านก็บรรลุตามท่านอย่างนั้น
อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ ก็มีท่านอัญญาโกณฑัญญะบรรลุตามเป็นท่านแรก
เป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยวิธีการหยุดใจนิ่งอย่างเดียว
ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ความสงสัยในเรื่องอะไรต่างๆ
ก็หมดสิ้นไปจากใจ ใจล่อนเกลี้ยงใสบริสุทธิ์ หยุดนิ่งสงบอยู่ภายใน จิตของท่านบริสุทธิ์
มีความสุขมาก และมีอานุภาพมาก ยิ่งบริสุทธิ์มาก ก็ยิ่งมีอานุภาพมาก
วัตถุประสงค์การเกิดมาเป็นมนุษย์
เราเป็นสาวกของพระองค์ท่านต้องปฏิบัติตามรอยท่าน
ฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง เพราะว่ามรรคผลนิพพานมีอยู่ในตัวเราและชาวโลกทุกๆ คน ต่างแต่จะรู้หรือไม่รู้เท่านั้น
จะหายสงสัยเมื่อเข้าถึงด้วยการหยุดใจของตัวเองให้นิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นนี่เป็นเรื่องหลักสำคัญสำหรับการเกิดมาในชาตินี้
โดยเฉพาะหมู่คณะของเรามุ่งไปสู่ที่สุดแห่งธรรม
อย่างน้อยต้องเข้าถึงรัตนะที่พึ่งที่ระลึกภายใน ได้แก่ พุทธรัตนะ คือ พระธรรมกายในตัว
ธรรมรัตนะ คือ ดวงธรรมที่อยู่ในกลางกายของพระธรรมกาย และสังฆรัตนะที่อยู่ในกลางดวงธรรมรัตนะนั้น
๓ อย่างนี้เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของตัวเรา
สิ่งอื่นนอกจากนี้ไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง
เพราะฉะนั้น เกิดกันมาชาติหนึ่งต้องหาที่พึ่งตรงนี้ให้เจอ
เราจะได้อบอุ่นและปลอดภัยในชีวิต อยู่ตามลำพังก็มีสุขได้ อบอุ่นใจ มีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจ
เป็นอยู่ได้ด้วยตัวเอง เรายังอยู่ในช่วงที่พอมีเรี่ยวแรง
มีความแข็งแรงของร่างกายเราอยู่ ต้องให้ความสำคัญกับตรงนี้
ประคับประคองใจให้หยุดนิ่ง ฝึกกันไปทุกวัน ให้เข้าถึงที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของตัวเราให้ได้ก่อนที่จะหมดเรี่ยวแรง
ความตายไม่มีนิมิตหมาย
ความตายไม่มีนิมิตหมาย เหมือนอย่างลูกอุบาสิกาวาสนาในวันนี้
อายุของเธอน้อยกว่าพวกเราหลายๆ ท่านมาก เพราะอายุเธอแค่ ๓๘ ปี
ไม่มีวี่แววของความเจ็บไข้ได้ป่วยมาก่อน และตั้งใจอุทิศตนเข้ามาสร้างบารมี ๑๕ ปีที่ผ่านมาได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจในการสร้างบารมีอย่างเต็มที่
จนเป็นที่ยอมรับของหมู่คณะ เป็นที่รักของทุกๆ คนที่เข้าใกล้และได้รู้จักเธอ
ช่วงสุดท้ายของชีวิตก็ให้โอกาสตัวเองไปปฏิบัติธรรมที่สุขสันโดษ ๓ เดือน ทั้งๆ
ที่สภาพร่างกายยังดูแข็งแรงอยู่ ไม่มีวี่แววเลยว่าเธอจะจากไปเร็ว แต่ความตายไม่มีนิมิตหมาย
มันปุ๊บปั๊บเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน
นี่เป็นตัวอย่างที่เราจะต้องนำมาเปรียบเทียบกับตัวเราเอง
เพราะเธอเป็นเครื่องยืนยันว่า ความตายไม่มีนิมิตหมาย ดังนั้นเรายังแข็งแรงอยู่
พอมีเรี่ยวแรง ต้องประกอบความเพียรให้กลั่นกล้า ให้เข้าถึงพระธรรมกายที่อยู่กลางกายในตัวเราให้ได้
จะได้มีที่พึ่งที่ระลึก คือ เมื่อมีทุกข์ก็พึ่งท่านได้ สุขก็อยู่กับท่าน
กลางพระธรรมกายไม่มีความทุกข์เลย มีแต่สุขล้วนๆ
เข้าถึงท่านได้จะอบอุ่นและปลอดภัย ไม่เหงา ไม่ว้าเหว่ มีแต่ปีติสุขหล่อเลี้ยงใจ
เป็นใหญ่อยู่ในตัวเอง อิ่มเอิบเบิกบานใจทั้งวันทั้งคืน เป็นสิ่งที่ควรระลึกถึง
นึกถึง คิดถึงให้ได้ตลอดเวลา เหมือนชายหนุ่มรักหญิงสาว ที่นึกคิดกันตลอดเวลาในทุกอิริยาบถ
เพราะฉะนั้น ลูกทุกคนไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต
ต้องหาที่พึ่งที่ระลึกที่อยู่ในตัวเรานี้ให้ได้ ต้องประกอบความเพียรควบคู่กับภารกิจประจำวัน
โดยไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง เงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อตัวเราเองและจะได้เป็นต้นบุญต้นแบบกับทุกๆ
คนที่อยู่ใกล้เรา นี่เป็นเรื่องที่สำคัญ
เวลาที่เหลืออยู่นี้ ฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ
เราจะตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ หรือจะนึกถึงองค์พระแก้วใสๆ
อยู่ในกลางกายของเราก็ได้ พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ
ให้สม่ำเสมอว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565