วิชชา ๓
วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ธันวาคม
พ.ศ. ๒๕๕๓ (๐๙.๐๐ -
๑๑.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ ไม่ถึงกับเปลือกตาปิดสนิท
หลับตาค่อนลูกพอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะนอนหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา
อย่ากดลูกนัยน์ตานะจ๊ะ
ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายของเรา
ทั้งเนื้อทั้งตัวให้มีความรู้สึกว่าผ่อนคลาย ตั้งแต่กล้ามเนื้อบนใบหน้า ศีรษะ ลำคอ บ่า ไหล่ แขนทั้งสองถึงปลายนิ้วมือ กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้าให้ผ่อนคลาย ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี อย่าให้มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายของเรา มันตึงหรือว่าเกร็ง
ต้องผ่อนคลาย
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น
ให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เรื่องคน
สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง เรื่องการศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ปลด
ให้ปล่อย ให้วาง ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง เหมือนเราอยู่คนเดียวในโลก ทำใจให้เบิกบาน
ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส
วางใจ
ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง
แล้วก็รวมใจกลับเข้าไปสู่ภายใน ไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น เรานำมาขึงให้ตึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง เส้นหนึ่ง
จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท
จุดตัดของเส้นด้ายทั้งสองจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เราจะต้องนำใจมาหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ อยู่ที่ตรงนี้นะ
หรือจำง่ายๆ ว่า อยู่ในบริเวณกลางท้องของเรา
ในระดับที่เรามั่นใจว่า เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ แต่ก็ไม่ต้องถึงกับไปกังวลจนเกินไปว่า เราจะนำใจกลับมาหยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายฐานที่
๗ พอดีเป๊ะไหม เอาแค่ให้รู้จักว่า ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ อยู่ที่ตรงนี้
ความสำคัญของฐานที่ ๗
ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดของการมาเกิดเป็นมนุษย์ในแต่ละภพแต่ละชาติ
โดยเฉพาะชาตินี้ เพราะว่านอกจากจะเป็นที่เกิดที่ตายของเราแล้ว ยังเป็นที่หลับ ที่ตื่นและเป็นตำแหน่งเดียวกันกับตำแหน่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ
พระองค์นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน จะเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า
หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เมื่อท่านเบื่อหน่ายชีวิตการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารแล้วท่านก็คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง
ท่านก็จะทิ้งทุกอย่าง วางทุกสิ่ง แล้วก็นำใจกลับมาหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ อยู่ที่ตรงนี้ที่เดียว ใจท่านจะหยุดนิ่งอยู่ตรงนี้ หยุดอย่างเดียวไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นพระอรหันตสาวก
สภาวธรรมภายใน
ใจท่านหยุดนิ่งตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้อย่างเดียว
พอถูกส่วนใจก็จะตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน เหมือนหล่นลงไปจากที่สูงไปสู่ที่โล่งกว้างที่ไม่มีขอบเขต
แล้วก็จะมีดวงธรรมลอยขึ้นมาเป็นดวงใสๆ ใสเหมือนกับเพชรที่เจียระไนแล้ว
เพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวันหรือใหญ่กว่านี้
แล้วแต่กำลังบารมีที่แต่ละองค์ไม่เท่ากัน
จะเป็นดวงใสๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว อย่างน้อยก็ใสเหมือนกับน้ำใสๆ เหมือนน้ำแข็งใสๆ
บ้าง ใสเหมือนกระจกคันฉ่องที่เราส่องเงาหน้าบ้าง ใสเหมือนกับเพชรบ้างหรือยิ่งกว่านั้นนะจ๊ะ
สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน แต่ว่าใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
คือดูแล้วสบายตาพาสบายใจ ไม่แสบตา ไม่จ้าตา ไม่เคืองตาเหมือนเรามองดูดวงอาทิตย์นะจ๊ะ
จะเป็นดวงใสๆ กลมรอบตัว
นี่คือธรรมดวงแรก หรือความบริสุทธิ์เบื้องต้น
ที่ท่านเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หรือดวงปฐมมรรค เป็นจุดเริ่มต้น ประดุจปากประตูพระนิพพาน
ที่จะนำไปสู่อายตนนิพพาน ดวงธรรมดวงแรกนี้ หรือดวงปฐมมรรคนี้ จะมาพร้อมกับความสุขที่ยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต
มาพร้อมกับความบริสุทธิ์ของใจ ที่เกลี้ยงเกลาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ที่เราที่จะรู้สึกว่า
มีความบริสุทธิ์ ความสุข ความบริสุทธิ์นี้ มาพร้อมกับดวงธรรมดวงแรกนี้ ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือดวงปฐมมรรค
กายธรรม
เมื่อธรรมดวงแรกเกิดขึ้นแล้ว
ใจท่านก็นิ่งอย่างเดียว นิ่งไปเรื่อยเลย ก็จะเห็นธรรมในธรรม จนกระทั่งเห็นกายในกาย
แล้วก็เข้าไปถึงกายของพระตถาคตเจ้า คือ กายธรรม จะมีลักษณะคล้ายกับองค์พระพุทธรูปที่เราเคยเห็น
แต่ว่าสวยงามกว่ามาก เพราะประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ อยู่ในอิริยาบถสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา
มีเกตุดอกบัวตูมไม่ใหญ่ไม่เล็ก คล้ายๆ ดอกบัวสัตตบงกช สวยงามมาก
ตั้งอยู่บนจอมกระหม่อมที่สูงนูน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของลักษณะมหาบุรุษ
บนพระเศียรที่เรียงรายด้วยเส้นพระศก หรือเส้นผมที่ขดเวียนเป็นทักษิณาวัตร
หมุนขวาตามเข็มนาฬิกาอย่างนั้นแหละ
กายนี้สวยงามมาก งามไม่มีที่ติ ใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่าความใสใดๆ
ในโลก สิ่งที่พอจะเทียบได้คือ รัตนะหรือพวกเพชรนิลจินดา จึงเรียกกายนี้ว่า พุทธรัตนะ คือ กายของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว
ผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย
ในเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต เป็นต้น ด้วย ธัมมจักขุ
คือ ดวงตาที่เห็นแตกต่างจากตามนุษย์ ตาทิพย์ ตารูปพรหม หรือตาอรูปพรหม
คือเห็นได้รอบตัวทั้งอดีต ทั้งปัจจุบันและในอนาคต โดยไม่มีอะไรกำบังธัมมจักขุของพระธรรมกายได้
วิชชา ๓
กายที่ใสเป็นแก้วเป็นเพชรอย่างนี้
เห็นถึงไหนท่านก็จะรู้แจ้งถึงนั่น เพราะมีญาณทัสสนะ กายนี้แหละเป็นกายที่สำคัญที่ทำให้วิชชาทั้ง ๓
บังเกิดขึ้น คือ
วิชชาที่ ๑ .ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ความรู้เรื่องการระลึกชาติหนหลังของตัวท่านได้
รู้ว่าก่อนที่เราจะมาเกิดนี้ เรามาจากไหน
เห็นไปตามลำดับ เห็นแจ้งพร้อมกับรู้แจ้งในเรื่องราวของการเวียนว่ายตายเกิดของตัวเองในวัฏสงสาร
บางครั้งก็เกิดในสุคติภพ
เมื่อตอนเป็นมนุษย์ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ได้สั่งสมบุญบารมีก็ไปเกิดในสุคติ บางชาติประมาทในการดำเนินชีวิต
ทำแต่บาปอกุศลธรรม อกุศลกรรม ก็พลัดไปเกิดในอบาย เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของตัวเอง
ด้วยปุพเพนิวาสานุสติญาณ จากธัมมจักขุของพระธรรมกายและญาณทัสสนะ
ที่เป็นเครื่องรู้แจ้งของพระธรรมกาย
วิชชาที่ ๒ จุตูปปาตญาณ นอกจากเห็นการเวียนว่ายตายเกิดของตัวเองแล้ว
ก็ยังเห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลายในภพทั้งสาม
ซึ่งก็มีลักษณะคล้ายๆ กับของตัวเอง
ที่เมื่อประมาทในการดำเนินชีวิตก็ไปอบาย เมื่อไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตก็ไปสู่สุคติ
เพราะว่าสรรพชีวิตทุกๆ ชีวิต
ยังตกอยู่ในภายใต้กฎแห่งกรรม กฎแห่งการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ
ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ และก็มีภพภูมิรองรับ ทั้งภูมิของอบาย นรก มหานรก อุสสทนรก
ยมโลก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปพรหม
วนเวียนกันอยู่อย่างนี้แหละ
ทำให้เกิดความสลดใจ เบื่อหน่ายในการเวียนว่ายตายเกิด
ก็คิดที่จะหลุดจะพ้นจากภพทั้งสาม
เพราะชีวิตในสังสารวัฏไม่ปลอดภัยดังกล่าว ใจก็ของท่านก็จะนิ่งดิ่งอย่างเดียว โดยไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้งก็เข้าถึงวิชชา ๓
วิชชาที่ ๓ อาสวักขยญาณ กลั่นจิต กลั่นใจ
กลั่นธาตุ กลั่นธรรม เห็น จำ คิด รู้ ให้สะอาด บริสุทธิ์ จนหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ
หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ เข้าถึงกายธรรมอรหัตผล กายธรรมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
วิชชาทั้งสามนี้เกิดขึ้นเมื่อได้บรรลุกายธรรมที่มีอยู่ในกายของทุกๆ
คน ในร่างกายของมนุษย์ทุกคน รวมทั้งผู้รู้เก่าแก่ดั้งเดิม
คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดังกล่าวนั้น เพราะฉะนั้นคำตรัสที่พระองค์คงตรัสไว้ว่า เมื่อผู้ใดเห็นธรรม
ผู้นั้นเห็นพระตถาคตเจ้า ก็คือวันใดที่ใจเรากลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ถูกส่วนแล้วก็ตกศูนย์เข้าไปสู่ภายใน เห็นธรรมดวงแรกดังกล่าว เป็นดวงใสๆ
ไม่ช้าก็จะเข้าถึงพระตถาคตเจ้า พระธรรมกายดังกล่าวนั่นแหละ
ซึ่งมีตั้งแต่ กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาบัน
กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี และก็กายธรรมพระอรหัต ซ้อนๆ กันอยู่ภายใน
ต่างแต่ว่าที่ผ่านมาเราไม่ได้รู้ ไม่รู้ว่าตัวเองยังไม่รู้อะไร ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้
ไม่รู้ว่าทำไมถึงไม่รู้ หรือรู้ว่าตัวเองยังไม่รู้
แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปแสวงหาความรู้อย่างไร
ชีวิตจึงเลื่อนลอยสะเปะสะปะเหมือนกองสวะที่ลอยไปตามน้ำ จึงมีแต่ความทุกข์ทรมานของชีวิต
เพราะฉะนั้น ลูกอุบาสิกาแก้วทุกๆ คนผู้มีบุญ
จะต้องใช้วันเวลาที่มีจำกัด ในช่วงที่เราได้ทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง
วิ่งเข้าวัดมาบวชเป็นอุบาสิกาแก้วนี้แสวงหาธรรมะภายในให้ได้
ให้เข้าถึงดวงธรรมภายใน ให้เข้าถึงพระธรรมกายในตัว จึงจะได้ชื่อว่า ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต สมกับเป็นผู้มีบุญที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์มาพบพระพุทธศาสนา
ได้มาบวชเป็นอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน ได้ฟังธรรม ได้ปฏิบัติธรรม จนมีประสบการณ์ภายในนี่แหละ
บริกรรมนิมิต
ดังนั้น เราจะต้องทำใจ
ให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ด้วยการนำใจกลับมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ
ให้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา เรานึกถึงของใสๆ จะเป็นเพชรสักเม็ดหนึ่ง
หรือก้อนน้ำแข็งใสๆ ที่กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว เป็นดวงใสๆ โดยนึกอย่างเบาๆ สบายๆ แล้วก็ผ่อนคลาย ไม่เพ่ง ไม่จ้อง แค่ค่อยๆ ประคองใจ ค่อยๆ นึกไปอย่างเบาๆ สบายๆ
นึกถึงดวงใสๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว
ใหญ่ขนาดไหนก็ได้เท่าที่ใจเราชอบ แต่ต้องนึกอย่างเบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ นึกอย่างสบายๆ
คล้ายๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย
ที่เราเคยเห็น เช่น เราเคยเห็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว เราก็สักแต่ว่าดู
สักแต่ว่าเห็น ให้ทำอาการคล้ายๆ อย่างนั้นนะจ๊ะ อย่าไปเพ่ง อย่าไปจ้อง
อย่าไปตั้งใจเกินไป ต้องค่อยๆ นึกอย่างนั้น อย่างเบาๆ สบายๆ ผ่อนคลาย ใจเย็นๆ
บริกรรมภาวนา
พร้อมกับประคองใจให้หยุดนิ่ง ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่เร็ว
ไม่ช้านัก โดยให้เสียงของคำภาวนาเป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน
ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา ประหนึ่งว่าเสียงนี้ มาจากอายตนนิพพาน
แหล่งแห่งความบริสุทธิ์ แหล่งแห่งของผู้ที่มีอานุภาพอันไม่มีประมาณ
มากลั่นจิตกลั่นใจของเราให้ใสๆ ผ่านกลางกายของเรา
กลั่นบริกรรมนิมิตที่เรานึกอย่างนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ
เป็นดวงใสๆ ประคองใจด้วยบริกรรมภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆ
ทุกครั้งที่เราภาวนา สัมมาอะระหัง
เราก็จะต้องตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ อยู่ที่กลางดวงใสๆ อย่างสบายๆ
และก็ผ่อนคลาย ใจเย็นๆ สัมมาอะระหังๆ ค่อยๆ ประคับประคองใจกันไปนะจ๊ะ
เช้านี้อากาศกำลังสดชื่น แจ่มใส เย็นสบาย เหมาะสมต่อลูกทุกคนผู้มีบุญ
จะได้ประกอบความเพียรให้กลั่นกล้าอย่างถูกหลักวิชชา ก็ให้ตั้งอกตั้งใจประคับประคองใจกันไปให้หยุดนิ่ง
ขอให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระธรรมกายในตัว ทุกๆ คนนะลูกนะ
ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565