การเห็นภายใน
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์
พ.ศ. ๒๕๕๔ (๐๙.๐๐ -
๑๑.๐๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล
สวดมนต์บูชาพระ
บัดนี้ถึงเวลาธรรมกาย
คือเวลาปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งมีอยู่ในตัวของพวกเราทุกคน
เป็นที่พึ่ง ที่ระลึกอันสูงสุดของพวกเราทั้งหลาย สิ่งอื่นที่จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
ดังนั้นต่อจากนี้ไปขอเรียนเชิญทุกท่าน ตั้งใจสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย
โดยพร้อมเพรียงกันนะจ๊ะ
(หลวงพ่อธัมมชโย นำสวดบูชาพระรัตนตรัย)
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไป ตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้นั่งขัดสมาธิ
โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย
วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ
ค่อนลูก พอสบายๆ ไม่ถึงกับเปลือกตาปิดสนิท หลับตาพอสบายๆ เหมือนเราปรือๆ ตานิดหนึ่ง
พอแสงลอดได้ พริ้มๆ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกในตา
และก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายของเรา
ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกว่าสบาย ตั้งแต่กล้ามเนื้อบนใบหน้า ศีรษะ ลำคอ บ่า ไหล่
แขนทั้งสองถึงปลายนิ้วมือ ให้ผ่อนคลาย กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว
ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้า ให้ผ่อนคลาย ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน
ต้องผ่อนคลายทั้งเนื้อทั้งตัว
ปรับใจ
แล้วก็ทำใจของเรา
ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคน
สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว
หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ให้คลายความผูกพันจากทุกสิ่ง
ทำประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลก
วางใจ
แล้วก็รวมใจไปหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา
๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง
จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท
จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญ
เป็นที่เราจะต้องนำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ เพราะเป็นตำแหน่งเดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อท่านเห็นภัยในวัฏสงสาร ภัยแห่งการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว
ท่านก็ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง แล้วใจของท่านก็จะมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้
ตำแหน่งเดียวกันเลย คือที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย
หยุดนิ่งอย่างเดียว
ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ และก็เห็นไปตามลำดับ ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แปลว่ามรรคผลนิพพานนั้นก็อยู่ในตัวของเรานี่แหละ
โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเราก็จะต้องนำใจกลับมาหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ ต้องหยุดนิ่งอย่างสบายๆ ผ่อนคลาย
ด้วยอารมณ์บันเทิง ร่าเริง
บริกรรมนิมิต
โดยกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ
เป็นภาพทางใจเอาไว้สำหรับเป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา ใจจะได้ไม่ฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น
ไม่คิดถึงเรื่องโลกภายนอก ให้กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ เป็นดวงแก้วใสๆ
กลมรอบตัว ใหญ่ขนาดไหนก็ได้ กำหนดไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ใสบริสุทธิ์
ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย อย่างน้อยก็ใสเหมือนน้ำใสๆ
หรือน้ำแข็งใสๆ หรือกระจกใสๆ อย่างน้อยก็อย่างนี้
ให้สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน แต่ว่าใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
กำหนดนึกขึ้นมาเป็นภาพทางใจ
เอาไว้สำหรับเป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา ให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
แต่ต้องนึกอย่างเบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ นึกได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน
บริกรรมภาวนา
นึกอย่างเบาๆ สบายๆ
แล้วก็ใจเย็นๆ ค่อยๆ ประคองใจให้หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ ด้วยบริกรรมภาวนาในใจ อย่างเบาๆ
โดยไม่ใช้กำลังในการท่อง ให้เสียงคำภาวนานี้ ดังก้องออกมาจากในท้องของเราเอง
เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังออกมาจากในกลางท้อง ผ่านดวงแก้วใสๆ
ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหังๆ ทุกครั้งที่ภาวนาสัมมาอะระหัง
เราจะต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดนิ่งอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างเบาๆ สบายๆ
และก็ผ่อนคลายใจเย็นๆ
จะภาวนา สัมมาอะระหัง
กี่ครั้งก็ได้ จนกว่าใจจะหยุดนิ่ง แล้วเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากจะภาวนา สัมมาอะระหัง
อีกต่อไป แต่ว่าเมื่อใดใจฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น เราจึงย้อนกลับมาภาวนา สัมมาอะระหัง ใหม่
ให้ประคองใจกันไปอย่างนี้นะจ๊ะ
นึกได้แค่ไหน
พอใจแค่นั้น
นึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นดวงใสๆ
ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นไปก่อน อย่าเร่งรีบอย่างผิดวิธี อย่าไปบีบ อย่าไปเค้น
อย่าไปเน้นภาพ เพราะวัตถุประสงค์ต้องการให้ใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗
เพราะฉะนั้น นึกภาพได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น
แม้นึกไม่ออกก็ไม่เป็นไร ให้ภาวนาสัมมาอะระหังเรื่อยไป แต่ให้ดังออกมาจากในกลางท้อง
ไม่ใช่ที่สมองของเรา อย่างสบายๆ ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ อย่างเบาๆ
สบายๆ ใจเย็นๆ
นึกเห็นได้ ๕
เปอร์เซ็นต์ ก็ดู ๕ เปอร์เซ็นต์ไปก่อน อย่าไปเบื่อ อย่าไปรำคาญใจที่เราเห็นไม่ชัด
๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ให้รักษาการเห็นภาพทางใจที่เรานึกขึ้นมาได้แค่นั้นไปก่อน
และก็ประคองใจไปเรื่อยๆ เดี๋ยวภาพที่เรานึกเห็น มันจะค่อยๆ ชัดขึ้นมา ถ้าเราใจเย็นๆ
เพียงพอ รอคอยได้อย่างสบายๆ ก็จะกลายเป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ชัด ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ๒๐
เปอร์เซ็นต์ ถ้าใจเย็นพอ ภาพก็จะยิ่งชัดขึ้น ถ้าใจเย็นไม่พอภาพมันจะหายไปเลย
เพราะฉะนั้น หยุดให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้
ด้วยใจที่สบายๆ เดี๋ยวก็ได้ชัดเจน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เอง
ตรงนี้สำคัญนะลูกนะ อย่าฟังผ่านนะจ๊ะ
ที่เราเสียเวลามาเนิ่นนานเป็นปี
เป็นหลายๆ ปี เพราะเราทำผิดวิธี ที่ไปใช้วิธีการมองโลกภายนอก
ที่เราลืมตาปุ๊บก็เห็นปั๊บทันที และนำวิธีนั้นมาใช้กับการมองภายใน
ซึ่งมันกลับตาลปัตรกัน ภายในมันต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จากลัวๆ ลางๆ ก็จะชัดเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งถึงจุดที่ใจหยุดนิ่งได้สมบูรณ์ และมันก็จะตกศูนย์กลับเข้าไปสู่ภายใน
และสิ่งที่มีอยู่ดั้งเดิมก็จะลอยขึ้นมา ให้เราเห็นชัดใสแจ่มดังใจปรารถนาของเราได้ เพราะฉะนั้นทำให้ถูกหลักวิชชานะลูกนะ
เดี๋ยวความสมปรารถนาจะอยู่ในกำมือ
เช้านี้อากาศกำลังสดชื่น
แจ่มใส เย็นสบาย เหมาะสมที่ลูกทุกคน ซึ่งเป็นผู้มีบุญจะได้ประกอบความเพียรให้กลั่นกล้าอย่างถูกหลักวิชชา
ก็ให้ตั้งใจประคับประคองใจกันไป
ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระธรรมกายในตัวทุกๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
นะจ๊ะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565