ป้อมปราการของชีวิต
วันอาทิตย์ที่ ๑๔
เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ (๑๓.๓๐
- ๑๕.๓๐ น.)
งานบุญวันอาทิตย์
/ พิธีจุดเทียนใจไฟนิรันดร์ ณ ห้องแก้วสารพัดนึก
ปรับกาย
เมื่อเราได้จุดเทียนใจไฟนิรันดร์อนันตชัยบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ไปให้ลูกทุกคนนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ
หลับตาเบาๆ พอสบายๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย
ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี
ให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวด ไม่เมื่อย
ปรับใจ
ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส
ไร้กังวลในทุกสิ่ง
ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ให้คลายความผูกพันในทุกสิ่ง
วางใจ
รวมใจกลับเข้าไปสู่ภายใน ไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา
ในระดับที่เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ หรือจำง่ายๆ ว่า อยู่ในบริเวณกลางท้อง
ในระดับที่เรามั่นใจว่า เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
ทำใจให้ใสๆ ให้ใจเย็นๆ ค่อยๆ ประคองใจให้หยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
บริกรรมนิมิต
เราจะกำหนดเป็นภาพบริกรรมนิมิตก็ได้ หรือจะไม่กำหนดก็ไม่เป็นไร
เราคุ้นเคยแบบไหนเราก็เอาแบบนั้น วัตถุประสงค์ต้องการให้ใจหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ถ้ากำหนดบริกรรมนิมิตก็ต้องตรึกนึกถึงดวงใส คือ นึกถึงดวงใสๆ
หรือเพชรสักเม็ดหนึ่งที่กลมรอบตัว ใสบริสุทธิ์ สว่างเหมือนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน
แต่ใสเย็นเหมือนแสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญ ขนาดไหนก็ได้ที่จะทำให้เรานึกได้อย่างง่ายๆ
ให้นึกอย่างที่ง่ายที่สุด
ถ้าใครคุ้นเคยกับการนึกถึงภาพองค์พระแก้วใสๆ
เราจะตรึกนึกถึงองค์พระใสๆ ก็ได้ โดยให้ท่านอยู่ในอิริยาบถสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา
ขนาดไหนก็ได้ที่เราคุ้นเคย
หรือถ้านึกเป็นพระแก้วใสๆ ยังไม่ได้ จะนึกองค์พระทำด้วยวัสดุอะไรก็ได้
เพราะวัตถุประสงค์ต้องการให้เป็นหลักยึดเกาะของใจ ให้มาหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
บริกรรมภาวนา
ประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหังๆๆ ทุกครั้งที่เราตรึกนึกถึงบริกรรมนิมิต
จะเป็นดวงใสๆ หรือองค์พระใสๆ เราต้องไม่ลืมบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง โดยให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากในกลางท้องของเรา
อย่างต่อเนื่อง ไม่เร็ว ไม่ช้านัก เอาพอดีๆ ที่เรารู้สึกสบาย
เมื่อเราตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดอยู่ในกลางดวงใสๆ แล้วก็ภาวนา สัมมาอะระหังๆๆ
ไปเรื่อยๆ หรือตรึกนึกถึงองค์พระใสๆ ในทำนองเดียวกัน
และประคองใจให้หยุดนิ่งด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหังๆๆ
กี่ครั้งก็ได้จนกว่าใจเราจะหยุดนิ่งเฉยๆ ไม่อยากจะภาวนาต่อไป อยากหยุดใจนิ่งๆ
นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ
ถ้ารู้สึกอย่างนี้แล้วก็ไม่ต้องภาวนา สัมมาอะระหัง อีกต่อไป
ให้นิ่งอย่างเดียว
วางใจเฉยๆ
ส่วนใครที่ถ้านึกเป็นภาพดวงแก้ว หรือองค์พระใสๆ ก็อดที่จะไปเน้น
ไปเค้น ไปบีบบังคับภาพเพื่อที่จะให้ชัดเจนดังที่เราตั้งใจหรือต้องการ เมื่อไปเน้น
ไปเค้น ก็จะทำให้มึน ให้ตึง หรือบางท่านนึกไม่ออกก็ให้ค่อยๆ วางใจเฉยๆ
ให้หยุดใจนิ่งๆ นุ่มๆ อย่างสบายๆ ในจุดหรือตำแหน่งที่เรามั่นใจว่า ตรงนี้แหละคือศูนย์กลางกายฐานที่
๗ นี่สำหรับผู้ที่มาใหม่ ถนัดแบบไหนก็เอาแบบนั้น
ส่วนผู้ที่ทำเป็นแล้ว ก็แค่แตะใจไปเบาๆ ไปตรงกลางกาย ให้ใจนิ่งๆ นุ่มๆ นานๆ ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ ต้องเบาๆ
ต้องผ่อนคลาย ต้องใจใสๆ ใจเย็นๆ พอเรานิ่งถูกส่วนแล้วเดี๋ยวร่างกายของเราก็จะโปร่ง
จะโล่ง กลวงๆ ข้างในเป็นโพรง เบาสบาย ใจก็จะใสๆ เย็นๆ ให้นิ่งกันไปเรื่อยๆ นุ่มๆ
เดี๋ยวใจก็จะหลุดจากสภาวะหยาบไปสู่สภาวะละเอียด ที่ตัวโล่ง โปร่งเบาสบาย จริงๆ
มันจะใสๆ สบายๆ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
ตกศูนย์ พบดวงธรรม
เมื่อเราหยุดนิ่งนุ่มอย่างหนาแน่นได้นานๆ จะเคลื่อนเข้าไปเรื่อยๆ
และนิ่งอย่างเดียว พอถูกส่วนก็จะตกศูนย์เข้าไปข้างใน มันจะวื้ดลงไปเลย แล้วจะมีดวงธรรมลอยขึ้นมาเป็นดวงใสบริสุทธิ์แตกต่างจากที่เรากำหนดเป็นบริกรรมนิมิต
มาพร้อมกับความสุขที่เราไม่เคยเจอ และความบริสุทธิ์ของใจที่เกลี้ยงๆ ใจจะใสๆ
มีปีติสุขหล่อเลี้ยงชุ่มชื่นอยู่ภายใน จะเป็นดวงใสๆ
ที่ทำให้ใจเราหยุดนิ่งเพิ่มขึ้น เพราะใจไม่อยากได้อะไรแล้ว
มันจะมาติดอยู่ตรงกลางดวงใสๆ ของดวงปฐมมรรค
ดวงปฐมมรรค หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นดวงใส
อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ
อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน หรือใหญ่กว่านี้ ตามกำลังบารมีที่ไม่เท่ากัน แต่ว่าใสบริสุทธิ์
อย่างน้อยใสเหมือนน้ำใสๆ หรือเหมือนกระจกใสๆ หรือเหมือนเพชรใสๆ
หรือใสเกินความใสใดๆ ในโลก จะใส จะสว่าง ใจจะชุ่มชื่นเบิกบาน
อยู่ภายในอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ให้นิ่งอย่างเดียวไปเรื่อยๆ
กายในกาย
นิ่งในนิ่ง นิ่งในนิ่งเข้าไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเราจะเห็นสิ่งที่มีมาดั้งเดิม
ซ้อนๆ กันอยู่ภายในกลางนั้นเป็นชั้นๆ เข้าไป
สิ่งที่ละเอียดจะซ้อนในสิ่งที่หยาบกว่า จะเป็นชั้นๆๆ เข้าไป
ดวงธรรมที่ละเอียดกว่าก็จะซ้อนอยู่ในกลางดวงธรรมที่หยาบกว่า
กายภายในก็เช่นเดียวกันที่ละเอียดกว่า ซ้อนอยู่ในกลางกายที่หยาบกว่า
ที่กายใหญ่ซ้อนอยู่ในกายที่เล็กกว่าได้ เพราะละเอียดกว่า เหมือนเราเอากระจกเงาสะท้อนภาพภูเขาที่ใหญ่เข้าไปไว้ในกระจกเงา
กายที่ละเอียดกว่า ใหญ่กว่าจะซ้อนอยู่ในกลางกายที่หยาบกว่า
ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง
กายที่สำคัญคือ กายธรรม หรือ พระธรรมกาย เกตุดอกบัวตูมใสเกินความใสใดๆ
ในโลก สวยงามกว่ารัตนะในโลกนี้ ในโลกอื่น หรือในเทวโลก สวยกว่ารัตนะบนสวรรค์
งามไม่มีที่ติ เกตุดอกบัวตูม อยู่ในอิริยาบถสมาธิอยู่บนแผ่นฌาน ใสๆ
นี่แหละคือที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงของตัวเรา
ยามทุกข์ก็พึ่งท่านได้ สุขก็ไปหาท่านได้ เป็นสิ่งควรระลึกถึง
เพราะยิ่งนึกยิ่งมีสุข อบอุ่นใจ มีความปลอดภัย
จะสมปรารถนาในทุกสิ่งได้ต้องหยุดนิ่งอยู่ในกลางองค์พระธรรมกายให้ได้ตลอดเวลา
กายธรรมโคตรภู จะมีหน้าตักหย่อนกว่า ๕ วานิดหน่อย สวยงามมาก
อย่าประมาทในชีวิต
ให้ลูกทุกคนนิ่งไปเรื่อยๆ
เพื่อเราจะได้หาที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงให้กับตัวของเราเพราะวันเวลาในโลกมนุษย์
ในยุคนี้ประเดี๋ยวเดียว อีกทั้งความตายก็ไม่มีนิมิตหมาย ชีวิตหลังจากตายแล้วยาวนานมาก
สุขก็สุขนาน ทุกข์ก็ทุกข์นาน
เราจะต้องดำเนินชีวิตอยู่ในความไม่ประมาท คือ ต้องใช้วันเวลาที่เรายังมีชีวิตอยู่ทำให้ถูกวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์
ที่จะทำพระนิพพานให้แจ้ง แสวงบุญ สร้างบารมีให้เต็มที่ เต็มกำลัง วันสุดท้ายของชีวิต เราจะได้มีความรู้สึกอบอุ่น
ปลอดภัย ไม่หวาดหวั่นในมรณภัย
เพราะบุญที่เราสั่งสมไว้จะหล่อเลี้ยงใจของเราให้มีแต่ปีติสุขอยู่ตลอดเวลา จะองอาจ
จะสง่างาม และเมื่อจากโลกนี้ไปก็จะไปแบบผู้ที่มีชัยชนะแม้วันเวลาในโลกนี้มีไม่นาน
แต่เราก็ใช้ทุกอนุวินาทีให้เป็นไปเพื่อการสร้างบุญสร้างบารมี
ทำแต่ความดีกุศลธรรมตลอดเวลา นึกเมื่อไรก็มีแต่ความปลื้มปีติและภาคภูมิใจ
พระธรรมกายหรือพุทธรัตนะนี้ จะเป็นประดุจป้อมปราการที่จะปกป้องผองภัยต่างๆ
ให้กับตัวของเรา ทั้งภัยในอบายและก็ภัยในสังสารวัฏ ให้เรามีความสุขอยู่ตลอดไป
ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือละจากโลกนี้ไปแล้ว
ลูกทุกคนก็ต้องตั้งอกตั้งใจหมั่นฝึกฝนอบรมใจให้หยุดให้นิ่งให้ได้
โดยเฉพาะพรรษานี้เป็นพรรษาที่เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจว่า จะให้เป็นพรรษาแห่งการบรรลุธรรมของตัวเรา
ก็เหลืออยู่อีกแค่ ๑๐ กว่าวันเท่านั้น
เพราะฉะนั้นจะต้องกลั่นจิตกลั่นใจของเราให้ใสๆ ให้บริสุทธิ์ให้ได้
เราจะกลั่นจิตกลั่นใจให้ใสบริสุทธิ์ได้
ก็ด้วยการนำใจมาหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้เอง สิ่งอื่นที่จะทำให้เราบริสุทธิ์ใจยิ่งกว่า
นี้ไม่มี มีแต่น้อยกว่านี้
หยุดนี่แหละเป็นตัวสำเร็จที่จะทำให้จิตของเราสะอาดบริสุทธิ์ เกลี้ยงจนกระทั่งไปถึงผู้บริสุทธิ์ภายใน
ผู้มีอานุภาพภายใน คือ พระธรรมกายหรือพระรัตนตรัยในตัวของเราได้
เวลาที่เหลืออยู่นี้
ให้ลูกทุกคนรวมใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ต่างคนต่างประคับประคองใจให้หยุดนิ่ง ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ นะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565