ประสูติตรัสรู้ปรินิพพานตำแหน่งเดียวกัน
วันจันทร์ที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ (๑๗.๓๐
- ๑๘.๓๐ น.)
งานบุญวันวิสาขบูชา ณ ลานธรรมมหาธรรมกายเจดีย์
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ต่อจากนี้ให้ตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะลูกนะ
ให้หลับตาเบาๆ พอสบายๆ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตานะ ปรือๆ
ตานิดๆ หนึ่ง พอรู้สึกว่า สบายๆ ถ้าเราหลับตาเป็น เราจะเห็นภาพภายในได้ง่าย
เพราะฉะนั้นอย่าดูเบาตรงนี้นะ หลับตาในระดับที่เรารู้สึกว่า เราสบาย ต้องสบายๆ นะ
อย่ามองข้ามตรงนี้นะ
แล้วก็ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย
ไม่ว่าเราจะนั่งอิริยาบถไหนก็ตาม จะนั่งขัดสมาธิเอาขาขวาทับขาซ้าย
มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย นั่งขัดสมาธิอย่างนี้ก็ตาม ก็ต้องสบาย
จะนั่งพับเพียบก็ต้องสบายๆ จะนั่งบนเก้าอี้ก็ต้องสบาย
ปรับตรงนี้ให้ดีนะลูกนะ อย่ามองข้ามไป ปรับแล้วก็ขยับเนื้อขยับตัว
กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย
ถ้าเราสบายกายสบายใจนี่ก็ง่ายนิดเดียว การที่จะหาความถูกส่วนจะง่าย
นี่สำคัญนะ ปรับตรงนี้ให้ดี ทั้งหลับตา ทั้งผ่อนคลาย
ปรับใจ
พอเราปรับร่างกายของเราได้แล้ว ก็หันมาปรับใจของเราให้ไปสู่จุดสบาย
ใจของเราจะสบายได้ ใจจะต้องไม่เกาะ ไม่เกี่ยว
ไม่เหนี่ยว ไม่รั้งเรื่องอะไรเลย อดีตที่ผ่านมาก็มันผ่านไปแล้ว เกิดขึ้น ตั้งอยู่
แล้วก็ดับไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องกับปัจจุบัน
กายสบาย ใจสบาย ก็ง่ายนิดเดียว
ณ ช่วงเวลานี้ ใจจะต้องไม่ไปเกาะ ไปเกี่ยว ไปเหนี่ยว ไปรั้งเรื่องอะไร
ให้ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง ให้ใจเกลี้ยงๆ ให้สังเกตตรงนี้ให้ดีว่า เราทำได้อย่างนี้ไหม
คือปรับทั้งกาย ปรับทั้งใจ ให้สบาย เราสบายจริงไหม
ถ้ากายสบาย ใจสบาย เราจะรวมใจกลับเข้าไปสู่ภายในมันจะง่าย
บางทีมันลงไปเองเลย หรือเราปรารถนาจะลงก็ลง จะลงไปได้อย่างง่ายๆ
ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากปากช่องจมูก หญิงซ้าย ชายขวา หัวตา กลางกั๊กศีรษะ เพดานปาก
ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ศูนย์กลางกายระดับสะดือ หรือยกขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ฐานทั้ง
๗ นี้จะไปได้อย่างง่ายๆ อย่างผ่อนคลาย อย่างสบายๆ
พอเราปรับกายใจได้สบาย นึกน้อมใจไปตามฐานต่างๆ ดังกล่าวมันจะง่าย ใจจะลงไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ ในกลางกายได้อย่างง่ายๆ
จะนึกถึงดวงใสๆ ก็นึกได้ง่าย จะนึกเป็นองค์พระก็นึกได้ง่าย
คำว่า ง่าย ในที่นี้อาจจะยังไม่ชัดเจน
๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เหมือนเราลืมตาเห็นก็ไม่เป็นไร ให้ง่ายในระดับที่เรานึกแล้วมีความรู้สึกว่ามี
มีดวงแก้วที่ไปตามฐานต่างๆ มีองค์พระลงไป
จะนึกได้ในระดับไหนก็ตาม พึงรักษาความสบายทั้งกายและใจเอาไว้ อย่าเพิ่งไปเน้น
ไปเค้นภาพที่เรานึกนั้น จะให้มันเป๊ะดั่งใจ เหมือนเราลืมตาเห็นวัตถุภายนอก
มันก็ยังไม่ได้อย่างนั้นนะ ถ้าเราขืนไปทำอย่างนั้น มันก็จะตึง จะมึน กายก็ไม่สบาย
ใจก็ไม่สบาย มันจะเสียเวลา
อย่ามองข้าม “ความสบาย”
เหมือนหลายๆ ท่านที่นั่งกันมานาน
แต่ทำไมไม่ประสบความสำเร็จในการฝึกใจให้หยุดนิ่ง แตกต่างจากบางคนที่เขามาใหม่ๆ
ใจเขา Innocent เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาก็ทำอย่างสบายๆ
ไร้เดียงสาคล้ายๆ เด็กๆ เพราะฉะนั้นเขาจะไปถึงจุดความโล่ง ว่าง
สว่างกลางกายได้อย่างง่ายๆ ได้สัมผัสกระแสแห่งความสุขความบริสุทธิ์ได้อย่างง่ายๆ
ภาพก็เกิดขึ้นมาเองอย่างง่ายๆ
เพราะฉะนั้น ลูกบางคนที่มีความปรารถนาอยากจะได้มานาน เข้าวัดมานาน
ตั้งใจมานาน อาจจะมองข้ามตรงนี้ไป เราจึงไม่สมหวังดั่งคนที่เขามาใหม่หลายๆ
ท่านเขาทำได้ เพราะว่าเรามองข้ามความสบายทั้งกายและใจไปนะ
วันนี้เราจะมองข้ามไปไม่ได้
วันนี้เป็นวันสำคัญ ในการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ประสูติ
ตรัสรู้ กระทั่งปรินิพพาน ดับขันธปรินิพพาน ก็ต้องทำให้ถูกหลักวิชชาอย่างนั้น คือ
ปรับกายปรับใจให้สบายดังกล่าว
ให้ใจใสๆ ให้ใจ Innocent
คล้ายเด็กเยาว์วัยที่ยังไร้เดียงสาอยู่
เพราะฉะนั้นลูกตอนนี้ใช้เวลาช่วงนี้ปรับตรงนี้อีกนิดหนึ่ง ต้องสบาย
สบายในที่นี้ ยังไม่ถึงกับว่า เรามีความสุข
ได้ความสุขจากสมาธิ เอาระดับที่ว่า เรานั่งแล้วเรารู้สึกไม่เบื่อในการนั่ง
อยากนั่งอย่างนี้ไปนานๆ นานแค่ไหนก็ได้
ให้ได้อารมณ์นี้นะ
ให้รู้สึกสบายๆ ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ จะนึกเป็นดวง เป็นองค์พระใสๆ
แทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ หรือจะวางใจให้นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ ก็ได้ จะประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา
สัมมาอะระหัง ไปด้วยก็ได้ แต่ทั้งหมดต้องสบาย ต้องผ่อนคลาย ใจต้องใสๆ ใจต้องเย็นๆ
ใจต้องนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ ซอฟต์ๆ ต้องอย่างนี้นะ
เดี๋ยวการนึกถึงดวงแก้วกลางกายก็ง่าย องค์พระก็ง่าย
นึกเป็นภาพได้แค่ ๕ เปอร์เซ็นต์ ก็เอาแค่นั้นไปก่อน
ประคองใจแค่นั้นไปก่อน แต่ถ้าเรานึกมาในตัวยังไม่ได้
จะนึกว่าองค์พระคลุมตัวเราก็ยังได้นะ องค์พระคลุมตัวเรา ประคองไปเรื่อยๆ นะลูกนะ
ให้ใสๆ จะนึกเป็นองค์พระคลุมตัวเราไปก่อนก็ได้
ถ้าเรายังไม่สามารถนึกเข้าไปไว้ในตัว ใจจะได้กว้างๆ ไม่อึดอัด ไม่คับแคบ
อย่าฟังผ่านนะสำคัญ ที่เราติดขัดมายาวนาน
ติดตรงเส้นผมบังภูเขาตรงนี้วันนี้วันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเขี่ยมันออก
เพราะฉะนั้น ถ้าหากเรานึกเข้าไปในตัวยังไม่ได้ ก็นึกคลุมตัวเราไปก่อน
เอาอย่างนี้ไปก่อนนะว่า ท่านคลุมตัวเราอยู่ อย่างนี้ไปก่อนก็ได้ แต่ก็ต้องสบาย
ถ้าทำถูกหลักวิชชา อิทธิบาท๔ จะเกิดขึ้นเอง
วัตถุประสงค์ก็ต้องการให้สบายทั้งกายและใจนั่นเอง
จับหลักตรงนี้ให้ได้ แล้วการนั่งสมาธิจะง่าย
ฉันทะจะเกิด
คือ จะรัก จะชอบการนั่งสมาธิ
วิริยะความเพียรก็จะเกิดขึ้นเอง
คือ เราอยากทำให้มันต่อเนื่อง ทั้งหลับตา ทั้งลืมตา เราก็ยังอยากจะทำอยู่
เพราะว่ามันสบาย แม้ยังไม่ชัดเจนแต่มันสบาย เหมือนเราได้กลับมาสู่แหล่งที่สบาย
มีความสุข อบอุ่นใจ
จิตตะ จะทำให้ใจอยากจดจ่อเอง
ด้วยความสมัครใจ ไม่อยากเอาใจไปไว้ที่ไหนเลย อยากเอาใจอยู่ในตัว
อยากเอาใจอยู่ในบริเวณรอบๆ ตัวของเรา อยากให้ใจใสเป็นพระ อยากให้เราอยู่ในองค์พระ
องค์พระคลุมตัวเรา ใจมันก็จะเกิดจดจ่อกันอย่างนี้
แล้วสิ่งที่ลูกจะต้องทำต่อไปคือ ต้องหมั่นสังเกต (วิมังสา) ว่า ที่เราทำวันนี้รู้สึกเราอยากนั่งนานๆ
เพราะอะไร นั่งได้ดีเพราะอะไร ไม่ดีเพราะอะไร ต้องหมั่นสังเกตนะ ไม่สังเกตไม่ได้
สังเกตดูอารมณ์ของเราสบายไหม ใจสบายไหม เราทำอย่างไรถึงได้อย่างนั้น ถ้ารักที่จะเข้าถึงธรรม
ไม่สังเกตไม่ได้ นี่ลูกต้องจำไว้ให้ดีทีเดียว
ถ้าเราเจริญอิทธิบาท ๔ อย่างนี้ทุกวัน อย่างเป็นไปตามธรรมชาติ
ตามประสาบ้านๆ อย่างนี้ ไม่ช้าใจของลูกก็จะกลับเข้ามาสู่ภายใน
อยู่กับเนื้อกับตัวไม่ไปไหน จะสมความปรารถนาอย่างง่ายๆ
สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา พบวิชชาธรรมกาย
จากภายในตัวที่มืดๆ ก็จะเริ่มสว่างแต่เหมือนฟ้าสางๆ
กระทั่งสว่างเหมือนอาทิตย์เที่ยงวัน หรือยิ่งกว่านั้น มันจะเป็นไปเอง
ซึ่งจะมาพร้อมกับองค์ประกอบ คือความสุข สุขกายสุขใจ ความบริสุทธิ์ของกายและใจ
บริสุทธิ์อย่างที่เรารู้สึกว่า มันแตกต่างจากแต่ก่อน จะเกลี้ยงๆ
จะบริสุทธิ์ในระดับที่เราชอบ ปีติ ภาคภูมิใจ
และอยากห่างไกลสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ด้วยความสมัครใจ จะเกิดขึ้นมาเองเลย
นี่สำคัญมากๆ เพราะฉะนั้นเราฝึกตรงนี้ซ้ำๆ
หยุดกับเฉยมาด้วยกัน
ความสุข ความบริสุทธิ์ ความชัดใสสว่างก็มา
มาตอนที่หยุดกับเฉยมาด้วยกัน คือ ใจหยุด นิ่ง นุ่ม เบา สบาย แล้วก็เฉย คือ
เป็นอุเบกขา เป็นกลางๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้ายอะไรทั้งสิ้น
มันจะอยู่ระหว่างกลางที่เฉยๆ ที่เราคุ้นกับคำว่า อุเบกขา
เราจะมารู้จักอุเบกขา เมื่อใจเราหยุดนิ่ง แล้วก็เฉย คือ เฉยอย่างมีความสุข
มันจะไม่ยินดี ไม่ยินร้าย จะปล่อยวาง ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องราวต่างๆ
ลงไปเอง ใจเกลี้ยงๆ
จิตจะเริ่มมีพลัง เมื่อมีความสุข มีความบริสุทธิ์ดังกล่าวนะ
พลังที่อยากจะสร้างความดี อยากจะทวนกระแสกิเลส กระแสโลก จะไม่มองเห็นว่าอะไรๆ
มันเป็นอุปสรรค ใจจะไปสู่เป้าหมายด้วยความสุขภายใน
มีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจตลอดเวลาเลย ความชัด ความใส ความสว่างก็จะมาเองอย่างง่ายๆ
อย่างสบายๆ แตกต่างจากแต่ก่อนนั้น
เวลาเรากลับไปบ้านก็ต้องทำอย่างนี้นะลูกนะ ควบคู่กับชีวิตประจำวัน
ไม่ว่าเราจะทำมาหากิน ทำมาค้าขาย ทำมาสร้างบารมี
จะเรียนหนังสือหนังหาอะไรก็แล้วแต่ ก็สามารถทำสิ่งนี้ควบคู่กันไปได้นะจ๊ะ
วันวิสาขบูชา
วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา วันสำคัญอย่างยิ่งในทางพระพุทธศาสนา และเป็นวันสำคัญสากลของโลก
ซึ่งเป็นวันที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน มาพ้องตรงในวันเดียวกัน
คือเป็นวันมหัศจรรย์อย่างยิ่ง
การมาประสูติของพระพุทธองค์มีความอัศจรรย์อย่างยิ่ง
ซึ่งก่อนที่พระองค์จะมาประสูติ เทวดา พรหม ทั่วหมื่นโลกธาตุก็ได้มากราบอาราธนาพระบรมโพธิสัตว์ที่บนสวรรค์ชั้นดุสิต
พระองค์พิจารณาเห็นสมควรจึงรับอาราธนา
จากนั้นก็ทรงตรวจตราดู ปัญจมหาวิโลกนะ คือ ทรงพิจารณาดูทวีป กาล ประเทศ ตระกูล
และพุทธมารดา ที่เหมาะสมต่อการมาเกิดสร้างบารมี
เพื่อจะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
แล้วก็จะได้โปรดสัตว์ให้หลุดพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร
พระองค์ท่านมีบารมีที่เต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว
ครั้นประสูติก็ถึงพร้อมด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ
และในทันทีที่ประสูติก็ทรงพระดำเนินไปได้ ๗ ก้าว
ทุกย่างก้าวก็จะมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ จากนั้นได้ทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า
“เราเป็นผู้เลิศในโลก
เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ภพชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเราแล้ว”
ครั้นเมื่อเจริญวัยก็เป็นผู้เลิศกว่าใครๆ ในโลก ทรงมีพระปัญญาสว่างไสว
สามารถสำเร็จความรู้ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ ภายใน ๗ วัน ต่อมาเมื่อทรงเห็นภัยในวัฏสงสารก็ทรงออกผนวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์
ทรงบำเพ็ญเพียรอย่างกลั่นกล้า จนกระทั่งได้ตรัสรู้ ณ ภายใต้ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์
ในวันตรัสรู้นั้น พระองค์ทรงมีพระทัยตั้งมั่น ใจหยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์ที่ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ ของพระองค์ท่าน
ในยามต้น ได้เข้าถึงกายธรรมพระโสดาบัน
บรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถระลึกชาติหนหลังได้
ในยามที่ ๒
ได้เข้าถึงกายธรรมพระอนาคามี บรรลุจุตูปปาตญาณ รู้แจ้งเห็นแจ้งการเกิด ดับ
และการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
และในยามสุดท้าย
ได้บรรลุอาสวักขยญาณ สามารถกำจัดกิเลสอาสวะในหมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ
พร้อมกับได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
แล้วต่อมาพระพุทธองค์ก็ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนามาตลอด ๔๕ พรรษา
ทรงบำเพ็ญพุทธกิจโปรดสรรพสัตว์ ทรงแสดงธรรมพร้อมอรรถะและพยัญชนะ
งดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย จวบจนวาระสุดท้ายก็ได้ปลงอายุสังขาร
และได้ประทานปัจฉิมโอวาทเอาไว้ว่า
“สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
จากนั้นก็ทรงเข้ามหาสมาบัติไม่ซ้ำมหาสมาบัติ
แล้วก็เสด็จดับขันธปรินิพพานเข้าสู่อายตนนิพาน
ตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในโลก
ภายนอกทรงประสูติที่หนึ่ง
ตรัสรู้ที่หนึ่ง และปรินิพพานอีกที่หนึ่ง แต่ในแง่การปฏิบัติภายใน ประสูติ ตรัสรู้
และปรินิพพานอยู่ที่เดียวกัน คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของพระองค์ท่าน
ดังนั้น ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จึงเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในโลก
เป็นทางไปของพระอริยเจ้า พระอรหันต์ เป็นทางบรรลุมรรคผลนิพพานของทุกๆ คนในโลกที่จะต้องเอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้
เพื่อให้ได้บรรลุธรรม บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิตที่เกิดมาเป็นมนุษย์
มาพบพระพุทธศาสนา ได้มีดวงตาเห็นธรรม
วันนี้จึงเป็นวันที่มีความหมายต่อตัวเราและชาวโลกเป็นอย่างยิ่ง
เนื่องจากเพราะมีวันนี้เกิดขึ้น เราจึงมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
และได้รู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ได้รู้ถึงหนทางดับทุกข์
รวมทั้งได้ลงมือปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์เข้าถึงธรรม
เพราะฉะนั้น วันนี้ลูกทุกคนก็จะต้องตั้งใจปฏิบัติธรรม หยุดใจของเราให้สนิท ให้เข้าถึงธรรมภายในให้ได้
ถ้าทำได้อย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่า ปฏิบัติบูชา ในวันวิสาขบูชานี้ซึ่งจะมีอานิสงส์มาก
เพราะการบูชาพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าไม่ว่าพระองค์จะทรงมีพระชนม์ชีพอยู่หรือไม่ก็ตาม
หากมีจิตเลื่อมใสเสมอกัน ย่อมมีอานิสงส์มากมายสุดที่จะนับจะประมาณมิได้
ดังนั้น ก่อนที่เราจะได้ร่วมกันจุดวิสาขประทีปถวายพุทธบูชา
เราก็จะต้องจุดใจของเราให้สว่างไสวก่อน
ด้วยการทำใจหยุดนิ่งให้สว่างไสวที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้วจึงค่อยจุดวิสาขประทีป
พร้อมกับเวียนเทียนประทักษิณถวายเป็นพุทธบูชากันต่อไปนะ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ดีแล้ว
ต่อจากนี้ก็ให้ลูกทุกคนหยุดใจนิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างสบายๆ
ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ
คำอธิษฐานจิตพิธีจุดวิสาขประทีป
ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอจุดวิสาขประทีปนี้,
น้อมบูชา, แด่สมเด็จพระบรมศาสดา, สัมมาสัมพุทธเจ้า, ผู้ทรงพระคุณยิ่งใหญ่, และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย,
ผู้เพียบพร้อมด้วยปัญญาธรรม, บุญใด, ที่เกิดจากการบูชา, วิสาขประทีปนี้, ขอบุญนั้นจงดลบันดาลให้, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดจนเพื่อนร่วมโลก, จงมีดวงตาเห็นธรรม, เข้าถึงพระธรรมกาย, ในกาลปัจจุบันนี้เทอญ
บุญใด, ที่ข้าพเจ้าได้ทำในบัดนี้,
เพราะบุญนั้น, และการอุทิศแผ่ส่วนบุญนั้น, ขอให้ข้าพเจ้า, ทำให้แจ้ง,
โลกุตรธรรม ๙, ในทันที,
ข้าพเจ้าเป็นผู้อาภัพอยู่, ยังต้องท่องเที่ยวไป, ในวัฏสงสาร, ขอให้ข้าพเจ้า,
เป็นเหมือนพระโพธิสัตว์, ผู้เที่ยงแท้,
ได้รับพยากรณ์, แต่พระพุทธเจ้าแล้ว,
ไม่ถึงฐานะ, แห่งความอาภัพ, ๑๘ ประการ, ขอให้ข้าพเจ้า, พึงเว้นจากเวรทั้ง ๕, พึงยินดีในการรักษาศีล, ไม่เกาะเกี่ยวในกามคุณทั้ง
๕, พึงเว้นจากเปลือกตมดังกล่าว,
คือกามคุณ,
ขอให้ข้าพเจ้า, ไม่พึงประกอบด้วย, ทิฏฐิชั่ว, พึงประกอบด้วย, ทิฏฐิที่ดีงาม, ไม่พึงครบมิตรชั่ว, พึงคบแต่บัณฑิตทุกเมื่อ, ขอให้ข้าพเจ้า, เป็นบ่อที่เกิดแห่งคุณ, คือศรัทธา, สติ, หิริ, โอตตัปปะ, ความเพียร,
และขันติ, พึงเป็นผู้ที่,
ศัตรูครอบงำไม่ได้, ไม่เป็นคนเขลา,
คนหลงงมงาย, ขอให้ข้าพเจ้า,
เป็นผู้ฉลาดในอุบาย, แห่งความเสื่อม,
และความเจริญ, เป็นผู้เฉียบแหลม, ในอรรถและธรรม, ขอให้ญาณของข้าพเจ้า, เป็นไปไม่ข้องขัด, ในธรรมะที่ควรรู้, ประดุจลมพัดในอากาศฉะนั้น,
ความปรารถนาใดๆ, ของข้าพเจ้า, ที่เป็นกุศล, ขอให้สำเร็จ,
โดยง่ายทุกเมื่อ, คุณที่ข้าพเจ้า,
กล่าวมาแล้วทั้งปวงนี้, จงมีแก่ข้าพเจ้า, ทุกภพทุกชาติ, เมื่อใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ผู้แสดงธรรมเครื่องพ้นทุกข์, เกิดขึ้นแล้วในโลก, เมื่อนั้น, ขอให้ข้าพเจ้า, พ้นจากกรรมอันชั่วช้าทั้งหลาย, เป็นผู้ได้โอกาส, แห่งการบรรลุธรรม, ขอให้ข้าพเจ้า, พึงได้ความเป็นมนุษย์, ได้เพศบริสุทธิ์, ได้บรรพชา,
อุปสมบทแล้ว, เป็นคนรักศีล, มีศีล, ทรงไว้ซึ่งพระศาสนา, ของพระบรมศาสดา,
ขอให้ข้าพเจ้า, เป็นผู้มีการปฏิบัติธรรมได้,
โดยสะดวก, ตรัสรู้ได้พลัน,
กระทำให้แจ้ง, ซึ่งอรหัตผลอันเลิศ,
อันประกอบด้วย, ธรรมะ, มีวิชชา เป็นต้น, ถ้าหากพระพุทธเจ้า, ไม่บังเกิดขึ้น, แต่กุศลกรรมของข้าพเจ้า, เต็มเปี่ยมแล้ว, เมื่อเป็นเช่นนี้, ขอให้ข้าพเจ้า, พึงได้ญาณ, เป็นเครื่องรู้,
เฉพาะตน, อันสูงสุดเทอญ
บทแผ่เมตตา
สัพเพสัตตา, สัตว์ทั้งหลาย, ที่เป็นเพื่อนทุกข์,
เกิดแก่เจ็บตาย, ด้วยกันหมดทั้งสิ้น, อะเวรา, จงเป็นสุขๆ เถิด, อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย,
สัพเพสัตตา, สัตว์ทั้งหลาย, ที่เป็นเพื่อนทุกข์, เกิดแก่เจ็บตาย, ด้วยกันหมดทั้งสิ้น, อัพยาปัชฌา, จงเป็นสุขๆ เถิด,
อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย,
สัพเพสัตตา, สัตว์ทั้งหลาย, ที่เป็นเพื่อนทุกข์,
เกิดแก่เจ็บตาย, ด้วยกันหมดทั้งสิ้น, อะนีฆา, จงเป็นสุขๆ เถิด, อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย,
สัพเพสัตตา, สัตว์ทั้งหลาย, ที่เป็นเพื่อนทุกข์,
เกิดแก่เจ็บตาย, ด้วยกันหมดทั้งสิ้น, สุขี อัตตานัง, ปริหะรันตุ,
จงมีความสุขกายสุขใจ, รักษาตน,
ให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด,
ท่านทั้งหลาย, ที่ท่านได้ทุกข์, ขอให้ท่านมีความสุข, ท่านทั้งหลาย, ที่ท่านได้สุข,
ขอให้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป,
สัพเพสัตตา, สัตว์ทั้งหลาย, ที่เกิดเป็นอัณฑชะ, ที่เกิดเป็นชลาพุชะ, ที่เกิดเป็นสังเสทชะ, ที่เกิดเป็นโอปปาติกะ, จงมารับกุศลผลบุญ, ให้ถ้วนทั่วทุกตัวเทอญ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565