ทำความเพียรอย่างถูกหลักวิชชา
วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ (๑๓.๓๐ น.)
ห้องแก้วสารพัดนึก วัดพระธรรมกาย
ปรับกาย ปรับใจ วางใจ
ตั้งใจนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบาๆ พอสบายๆ อย่าไปบีบเปลือกตา
อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับตาค่อนลูกพอสบายๆ แล้วก็ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรา ทั้งเนื้อทั้งตัวให้รู้สึกสบาย
ต้องสบาย ต้องผ่อนคลาย แล้วก็ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวเดินได้สะดวก
จะได้ไม่ปวด ไม่เมื่อย
แล้วก็ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง รวมใจไปหยุดนิ่งๆ นุ่มๆ
อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ
โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง
จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท
จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ เป็นตำแหน่งที่สำคัญ ที่เราต้องทำความรู้จักเอาไว้สำหรับผู้มาใหม่
ฐานที่ ๗ ทางไปสู่อายตนนิพพาน
ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้ นอกจากจะเป็นที่เกิด ที่ดับ
ที่หลับ ที่ตื่นของตัวเราแล้ว ยังเป็นต้นทางที่จะไปสู่อายตนนิพพาน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์
ไม่มีเว้นเลยแม้แต่พระองค์เดียว นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน เมื่อบารมีของพระองค์เต็มเปี่ยมแล้ว
พระองค์ทรงทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง แม้กระทั่งชีวิต แล้วใจของพระองค์ก็จะมาหยุดนิ่งๆ
นุ่มๆ อยู่ที่ตรงนี้ ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ทรงทำใจหยุดใจนิ่งอย่างเดียว
ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หยุดนิ่งอย่างเดียว ไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้
เมื่อบรรลุธรรมแล้ว ก็มาถ่ายทอดแก่พระสาวกทั้งหลาย ทรงสอนให้พระสาวกทำตามอย่างที่พระองค์ทำ
คือ ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง แล้วใจก็หยุด ให้ทำใจหยุดนิ่งอย่างเดียว
ในที่สุด พระสาวกทั้งหลายก็บรรลุธรรมตามกำลังแห่งบารมีของแต่ละท่าน บางท่านเป็นพระอรหันต์
บางท่านเป็นพระอนาคามี บางท่านเป็นพระสกิทาคามี บางท่านเป็นพระโสดาบัน
บางท่านเป็นโคตรภูบุคคล คือ มีพระธรรมกายเป็นที่พึ่งติดแน่นอยู่ที่กลางกาย
อย่างน้อยก็บรรลุฌานสมาบัติ เป็นต้น
การวางใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
สำหรับผู้มาใหม่ เราจำเป็นจะต้องรู้จักศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เอาไว้ แต่ในแง่การปฏิบัติจริงๆ
เราไม่ต้องไปกังวล กับการวางใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จนเกินไปว่า มันจะตรงเป๊ะไหม
ถ้าเรากังวลจนเกินไป จะทำให้เกิดอาการตึงขึ้นที่กายและใจ ทำให้ใจไม่สงบ ไม่ละเอียด
เพราะฉะนั้น สำหรับผู้มาใหม่ ก็ทำความรู้จักเอาไว้ก่อน และคิดประมาณเอาว่า
ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่บริเวณกลางท้องของเรา ในระดับที่เรามั่นใจว่า เหนือจากสะดือขึ้นมา
๒ นิ้วมือ คิดอย่างนี้ แค่นี้ ไม่ต้องกังวลเกินไป แล้วกำหนดแลนด์มาร์ก
เครื่องหมายที่หยุดใจของเราว่า ตรงบริเวณกลางท้องตรงนี้ คือ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
ด้วยการกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ
บริกรรมนิมิต
กำหนดนิมิต โดยให้นึกถึงของใสๆ จะทำให้ใจเราใสบริสุทธิ์ไปด้วย เช่น
นึกถึงเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย โตขนาดไหนก็ได้ ที่เรานึกได้ง่าย อย่างน้อยก็โตเท่ากับแก้วตาของเรา
เวลาเราส่องกระจกดูดวงตาของเรา แก้วตาเราโตแค่ไหน ก็ประมาณนั้น ถ้านึกของใสๆ
ใจจะบริสุทธิ์ได้ง่าย
หรือจะนึกนิมิตทั้งใส ทั้งสว่าง เช่น นึกถึงดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์
ดวงดาว เป็นต้น หรือดวงแก้วที่เจียระไนแล้ว กลมรอบตัวก็ได้
หรือใครสวดมนต์ไหว้พระเป็นประจำ
ชอบนึกถึงพระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นึกได้ง่าย เราจะนึกเป็นภาพองค์พระก็ได้
แต่ต้องสบาย
เราชอบแบบไหน เราก็เอาแบบนั้น นึกอย่างไหนง่าย เราเอาอย่างนั้นไปก่อน
ต้องนึกอย่างเบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ อย่าไปนั่งฮึดฮัด ในยามที่เรานึกไม่ออก หรือนึกออก
แต่ว่าไม่ค่อยชัด นึกได้แค่ไหน เราก็เอาแค่นั้นไปก่อน นึกได้แค่รัวๆ รางๆ
เหมือนของอยู่ที่สลัวๆ เราเอาแค่นั้นไปก่อน ต้องสบายๆ
การนึกนิมิต
ก็เพื่อให้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเราเท่านั้น ใจจะได้ไม่ซัดส่ายไปคิดเรื่องอื่น
วัตถุประสงค์มีเพียงแค่นี้
หรือใครไม่ชอบนึกนิมิตเป็นภาพ
อยากจะหยุดใจนิ่งเฉยๆ อยู่ในบริเวณกลางท้องอย่างเดียวก็ได้ จริตอัธยาศัย หรือความคุ้นเคยของแต่ละท่านไม่เหมือนกัน
ดังนั้นใครชอบแบบไหน ก็เอาแบบนั้น แต่ต้องสบาย ต้องใจใสๆ ใจเย็นๆ
ความสบายของกายและใจสำคัญมาก
ตลอดเส้นทางของการนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนา ต้องผ่อนคลาย ต้องสบายๆ ต้องใจใสๆ
ใจเย็นๆ
บริกรรมภาวนา
ประคองใจของเราให้หยุดนิ่ง ด้วยบริกรรมภาวนาในใจเบาๆ ว่า สัมมาอะระหังๆๆ
โดยให้เสียงของคำภาวนา ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา
เหมือนมาจากแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ แหล่งแห่งอานุภาพอันไม่มีประมาณ ผ่านกลางท้อง กลางกายของเรา
มากลั่นจิตกลั่นใจของเราให้ใสๆ จนเห็นภาพบริกรรมนิมิตได้ชัดเจน เช่น
เห็นเป็นดวงแก้วใสๆ หรือเพชรใสๆ ได้ชัดเจน หรือเห็นเป็นองค์พระใสๆ อย่างนี้ก็ได้
สำหรับผู้มาใหม่ จะภาวนากี่ครั้งก็ได้ จนกว่าเราไม่อยากจะภาวนาต่อไป
ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ เราก็ไม่ต้องภาวนา สัมมาอะระหัง อีกต่อไป แต่ว่าเมื่อใดใจฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น
เราจึงย้อนกลับมาภาวนา สัมมาอะระหัง ใหม่ ทำง่ายๆ อย่างนี้ สบายๆ
ส่วนผู้ที่ปฏิบัติมานาน แต่ทำหยุดๆ หย่อนๆ มีอารมณ์ก็ทำที
ไม่มีอารมณ์ก็ไม่ได้ทำ อะไรต่างๆ พอกาลเวลาผ่านมาเข้า นึกอยากจะทำจริงๆ จังๆ บ้าง
เพื่อให้เข้าถึงความสุขภายใน เป็นที่พึ่งที่ระลึกภายใน ก็ให้ทำอย่างเบาๆ ง่ายๆ
ในทำนองเดียวกัน
ทำความเพียรอย่างถูกหลักวิชชา
หายใจให้สบายๆ ไปสุดลมหายใจอยู่ในกลางท้อง ตรวจตราดูสิว่า เราสบายทั้งร่างกายและจิตใจจริงไหม
อย่าไปกังวลเกี่ยวกับเรื่องการเห็นภาพจนเกินไป นี่สำหรับผู้มาเก่าแล้ว แต่ทำความเพียรหยุดๆ
หย่อนๆ และไม่เคยรู้จักว่า ใจหยุดนิ่งเป็นอย่างไร ให้เริ่มต้นอย่างนี้ ง่ายๆ สบายๆ
แตะใจไปเบาๆ ที่บริเวณกลางท้อง ตำแหน่งที่เรามั่นใจว่า คือ ศูนย์กลางกายฐานที่
๗ แตะไปเบาๆ นิ่งๆ นุ่มๆ ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ จะประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง
ไปด้วยก็ได้ หรือจะไม่ภาวนาก็ไม่เป็นไร แต่ต้องสบาย ต้องผ่อนคลาย ใจเย็นๆ
ถ้าเราทำความเพียรให้กลั่นกล้าอย่างถูกหลักวิชชา
ใจจะอยู่กับเนื้อกับตัว จะไม่ฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น แม้ยังไม่เห็นอะไร ก็ยังเกิดความพึงพอใจ
อยากนั่งนิ่งๆ นุ่มๆ สบายๆ อย่างนี้เรามาถูกทางแล้ว
ให้รักษาอารมณ์สบาย นิ่งๆ นุ่มๆ ชุ่มๆ อยู่ในใจต่อไป ก็จะไปถึงจุดๆ
หนึ่ง ที่ใจหยุดได้ในระดับหนึ่ง คือ ตัวจะโล่ง โปร่ง เบา สบาย จากที่แคบๆ
จะขยายกว้างขึ้นเอง จากที่ทึบๆ ก็จะโปร่ง จะโล่ง ที่หนักๆ ก็เบาสบาย แล้วจะเคลื่อนเข้าไปสู่ข้างใน
แม้ไม่เห็นอะไร แต่สบายใจ สบายกาย
นั่นเป็นสัญญาณว่า เรามาถูกทางแล้ว ทำถูกวิธีแล้ว ถ้าเราแตะใจนิ่งนุ่มต่อไปอีก
ข้างในจะยิ่งโล่ง โปร่ง เบา สบาย ตัวจะกลวงๆ ใสๆ เหมือนอยู่กลางอวกาศที่โล่งๆ
ให้เรานิ่งต่อไปอีก สั่งสมความนิ่งนุ่มเอาไว้ไปเรื่อยๆ
พลังแห่งความบริสุทธิ์จะถูกสั่งสม และก่อตัวมากขึ้น จนระดับตัวหายไป
ร่างกายเราไม่มี ถ้าเรานิ่งต่อไป รอเฉยๆ ได้ อีกไม่ช้า เราจะสมหวังแล้ว
นี่สำหรับผู้ที่นั่งมานาน แต่ว่าทำหยุดๆ หย่อนๆ เดี๋ยวทำเดี๋ยวไม่ทำ ต้องมาทบทวนให้ถูกหลักวิชชา
ให้นิ่งนุ่มต่อไปอย่างนี้ อย่างสบายๆ ถ้าเราทำถูกต้อง เดี๋ยวก็ถูกส่วน
ใจจะปรุงให้ถูกส่วน พอถูกส่วน จะตกศูนย์เข้าไปข้างในเองอย่างง่ายๆ สบายๆ แล้วเดี๋ยวก็มีดวงธรรมลอยขึ้นมาให้เราเห็น
เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่มีความเพียรอย่างถูกหลักวิชชา
ใจจะใส บริสุทธิ์ เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่ ไม่ว่าจะทำทาน
รักษาศีล หรือเจริญภาวนาต่อไป ก็จะมีอานิสงส์ใหญ่ จะได้บุญอย่างจะนับจะประมาณมิได้
เพราะฉะนั้น เวลาที่เหลืออยู่นี้ ให้ลูกทุกคน ฝึกหยุด ฝึกนิ่งเอาไว้ อย่างถูกหลักวิชชา
ให้ใจใสๆ ใจเย็นๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จะนึกเป็นภาพก็ได้ หรือจะวางใจนิ่งเฉยๆ ก็ได้
แตะใจไปอย่างสบายๆ ใจเย็นๆ เดี๋ยวก็ถึงจุดหมายปลายทางเอง
ส่วนผู้ที่เข้าถึงดวงธรรม ถึงองค์พระแล้ว ก็ยิ่งง่าย
เราก็ฝึกหยุดนิ่งให้นุ่มกว่าเดิม ฝึกทำซ้ำๆๆ ในจุดเดิม ให้คล่องยิ่งขึ้น
เป็นร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง ก็ทำกันไปเรื่อยๆ
ฝึกให้นิ่งในกลางดวง กลางองค์พระที่เราเห็น สำหรับผู้ที่ทำเป็นแล้ว
ให้คล่องยิ่งกว่าเดิม แตะนิ่งเบาๆ ไปในกลางดวงใสๆ กลางองค์พระใสๆ กลางแสงสว่างใสๆ
นิ่งๆ นุ่มๆ เบาๆ สบายๆ เรื่อยไป ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ
วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2565